วันพฤหัสบดีที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2556

ครอบครัวแตกแยกต้นตอปัญหาเด็กและเยาวชน นางสาวศิริพร คงเมือง 53410882

บทความเชิงวิชาการ
เรื่อง ครอบครัวแตกแยกต้นตอปัญหาเด็กและเยาวชน


สถาบันครอบครัว
สถาบันทางครอบครัว คือ สถาบันที่ชายหญิงอยู่กินกันเป็นครอบครัวและเป็นสถาบันที่จะยังให้สังคมดำรงอยู่ได้ตลอดไป ยอมรับกันว่า สถาบันครอบครัวเป็นสถาบันพื้นฐานของสังคม ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมความสัมพันธ์ทางเพศ การมีบุตร การอบรมเลี้ยงดู ตลอดถึงการสร้างระบบเครือญาติ แต่เดิมมานั้น ครอบครัวทำหน้าที่เป็นสถาบันเบ็ดเสร็จ กล่าวคือ กิจกรรมทั้งปวงของบุคคลมีศูนย์กลางอยู่ที่ครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา การแพทย์ การสังคมสงเคราะห์ ตลอดจนพิธีกรรมต่างๆ ในสมัยหลังจึงได้มีองค์การอื่นๆ รับไปปฏิบัติแทนครอบครัว การอยู่กันเป็นครอบครัวมีระเบียบปฏิบัติซึ่งตั้งขึ้นเป็นแบบแผน เป็นมาตรฐานในเรื่องการสืบพันธุ์และการเลี้ยงดูบุตร ครอบครัวปฏิบัติหน้าที่ทั้งในด้านเฉพาะตัวและหน้าที่ของสังคมเป็นส่วนรวม และหน้าที่อันสำคัญยิ่งของครอบครัว คือ การสร้างคน การที่สังคมจะดำรงอยู่ได้ ก็ต้องมีสมาชิกมาแทนที่สมาชิกเดิมที่ล้มตายไป การสร้างคนจึงเป็นสถาบันขึ้นมา เรียกว่า สถาบันครอบครัว 
สถาบันครอบครัว เป็นสถาบันทางสังคมที่เล็กที่สุดแต่มีความสำคัญที่สุดเป็นสถาบันแรกของมนุษย์มีในทุกสังคม

 ความหมายของครอบครัว
     นักสังคมวิทยาและนักมานุษยวิทยาได้ให้ความหมายของ “ครอบครัว” ไว้ต่างๆ กันดังต่อไปนี้
                ไพฑูรย์  เครือแก้ว (2513 : 134) ได้ให้ความหมายว่า  ครอบครัวนั้นจะต้องประกอบด้วยบุคคลต่างเพศตั้งแต่  2  คนขึ้นไป  มีความสัมพันธ์ทางเพศซึ่งกันและกัน มีข้อผูกพันที่จะให้ความสัมพันธ์ทางเพศที่มีต่อกันนั้นเป็นไปด้วยความแน่นอนและมีระยะเวลายาวนานพอที่จะทำให้เกิดมีบุตรธิดาด้วยกันได้ นอกจากนั้นจะต้องมีข้อตกลงทางเศรษฐกิจและสังคมร่วมกัน สามารถที่จะเลี้ยงบุตรและธิดาให้มีโอกาสเจริญเติบโตขึ้นมาได้ 
                สนิท  สมัครการ (2525 : 8) ได้ให้ความหมายว่า  “ครอบครัว” ได้แก่  กลุ่มญาติสนิทกลุ่มหนึ่งซึ่งอยู่ร่วมหลังคาบ้านเดียวกัน หรืออยู่ในบริเวณรั้วบ้านเดียวกัน (ในกรณีที่มีบ้านมากกว่า 1 หลังตามปกติแล้วครอบครัวย่อมทำหน้าที่เบื้องต้นที่จำเป็นต่าง ๆ เพื่อสนองความต้องการพื้นฐาน (basic  needs) ของมนุษย์ 
                สุพัตรา  สุภาพ (2541 : 23) ได้ให้ความหมายของ “ครอบครัว” โดยสรุปว่า  ครอบครัวประกอบด้วยบุคคลตั้งแต่  2 คนขึ้นไปที่มีความสัมพันธ์กันทางเพศด้วยการเป็นสามีภรรยาโดยมีลูกหรือไม่มีก็ได้  (เพราะทุกคนไม่สามารถจะมีบุตรเองได้เสมอไป  แต่ก็อาจมีบุตรบุญธรรม  เช่น สังคมไทย)  หรือบางส่วนของหมู่เกาะเมลานีเซีย (Malanesia)  เด็กไม่จำเป็นต้องเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของตนเท่านั้น  เพียงแต่ช่วยจ่ายค่าหมอตำแยหรือค่าคลอดให้หญิงใดก็จะได้เป็นบิดาของเด็กนั้น
                ฮอร์ตัน และฮันต์  (Horton and Hunt, 1972: 214) ได้ให้ความหมายไว้ว่า “ครอบครัว”  คือ  ระบบเครือญาติกลุ่มหนึ่งซึ่งจัดเตรียมและสนองความต้องการต่างๆ ของมนุษย์
                เบอร์เกส (Burgess, 1925 : 35) ได้ให้ความหมายว่า  ครอบครัวจะต้องมีลักษณะสำคัญ สำคัญ4  ประการ  คือ 
                                (1)  ครอบครัวประกอบด้วยบุคคลที่มารวมกันโดยการสมรสหรือความผูกพัน ทางสายเลือด  หรือการมีบุตรบุญธรรม  การแต่งงานแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างสามี - ภรรยา ส่วนความสัมพันธ์ระหว่าง พ่อ แม่ และลูก ส่วนบุตรบุญธรรมนั้นมิได้เกิดจากความสัมพันธ์ทางชีววิทยา หากเกิดจากความสัมพันธ์ตามกฎหมายที่สังคมกำหนดเป็นสำคัญ
                                (2)  สมาชิกของครอบครัวเหล่านี้อยู่รวมกันภายในครัวเรือนเดียวกันหรือบางครั้งก็แยกกันไปอยู่ต่างหาก ในสมัยโบราณครอบครัวหนึ่งจะมีขนาดใหญ่ กล่าวคือ ในครอบครัวหนึ่งจะมีสมาชิก 3 – 4 – 5 ชั่วอายุคน (ปู่  ย่า  ตา  ยาย  ลูก  หลาน  เหลน ฯลฯแต่ปัจจุบันนี้ครอบครัวจะมีขนาดเล็กลงมาก  คือ จะประกอบด้วย  สามี  ภรรยา  และมีบุตร 1 – 2 คนเท่านั้น  บางครอบครัวอาจไม่มีบุตรเลย (ปัจจุบันนี้ขนาดครอบครัวจะมีขนาดเล็กหรือใหญ่เพียงใดนั้นมักขึ้นอยู่กับนโยบายการวางแผนครอบครัวของสังคมนั้นๆ เช่น  สังคมไทยมีนโยบายให้มีบุตรประมาณ 2 -3 คน สิงคโปร์ 2 คน สาธารณรัฐประชาชนจีน 1 คน เป็นต้น)
                                (3) ครอบครัวเป็นหน่วยของการติดต่อโต้ตอบระหว่างบุคคล ได้แก่พ่อ แม่ ลูก พี่ น้อง และญาติ โดยสังคมได้กำหนดหน้าที่และบทบาทของสมาชิกแต่ละครอบครัวได้  ซึ่งขึ้นอยู่กับขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมของสังคมนั้น ๆ เช่น ความรัก  ความผูกพันความเอาใจใส่ต่อกัน  ความเห็นอกเห็นในซึ่งกันและกัน ตลอดจนการอบรม  สั่งสอน  เป็นต้น
                                (4)  ครอบครัวถ่ายทอดการอนุรักษ์วัฒนธรรม  สมาชิกในครอบครัวจะถ่ายทอดและรักษารูปแบบของการประพฤติปฏิบัติต่อกันระหว่างพ่อ  แม่  ลูก  ด้วยวัฒนธรรมประจำชาตินั้นๆ
                                มรดกตกทอดทางสังคมจะอยู่รอดได้ก็ต้องอาศัยพลังจากพ่อแม่ช่วยอบรมสั่งสอนลูก โดยการถ่ายทอดวัฒนธรรมทั้งทางด้านจิตใจและทางด้านวัตถุแก่สมาชิกในครอบครัวตลอดมา
                จากความหมายที่นักสังคมวิทยาและนักมานุษยวิทยาได้ให้ไว้ดังกล่าวข้างต้นอาจสรุปได้ว่า  ครอบครัว  เป็นสถาบันทางสังคมที่ประกอบด้วยบุคคลต่างเพศตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป มีความสัมพันธ์ทางเพศซึ่งกันและกัน อาจมีบุตรด้วยกันโดยการสืบสายเลือด หรือมีบุตรบุญธรรมโดยกฎเกณฑ์ของสังคมก็ได้ มีความผูกพันกัน และรับผิดชอบร่วมกันในการอบรมสั่งสอนสมาชิกในครอบครัวให้มีระเบียบวินัยตั้งอยู่ในขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมอันดีงาม

ประวัติความเป็นมาของครอบครัว 
                ดร.ไพฑูรย์ เครือแก้ว ได้กล่าวถึงประวัติความเป็นมาของครอบครัวไว้ โดยแบ่งออกเป็น 4 ระยะด้วยกัน คือ 
                - ระยะที่หนึ่ง เรียกว่า ระยะเสน่หาก่อนแต่งงาน (Prenuptial stage) ซึ่งเริ่มตั้งแต่หนุ่มสาวพบปะกันครั้งแรก มีการถูกตาต้องใจกันไปจนกระทั่งถึงการตกลงปลงใจจนแต่งงาน ระยะนี้เป็นระยะที่เรียกว่า “Romantic Love” ซึ่งเป็นความรักที่มีความเสน่หาทางกายและใจอย่างรุนแรงห้ามกันไม่ได้ 
                - ระยะที่สอง เรียกว่า ระยะข้าวใหม่ปลามัน (Nuptial stage) ระยะนี้เริ่มตั้งแต่คู่หนุ่มสาวร่วมชีวิตกันตั้งแต่ต้นจนเข้าหอแต่งงาน จนกระทั่งถึงตอนเริ่มจะคลอดบุตรคนแรก เป็นระยะของความหวานชื่น หรือระยะนี้ อาจเรียกว่า “Honey Moon” เป็นระยะเริ่มครอบครัว เริ่มอยู่ด้วยกัน มีความรับผิดชอบทุก ๆ ด้าน นับตั้งแต่แต่งงาน อาชีพ ความเป็นไปในครอบครัว การสร้างอนาคต 
                - ระยะที่สาม เรียกว่า ระยะมีบุตรสืบสกุล (Child bearing stage) เริ่มจากหญิงเริ่มต้นตั้งครรภ์จนกระทั่งคลอดบุตรคนแรก ซึ่งระยะนี้ถือว่าทวีความรู้สึกสัมพันธ์ต่อกันยิ่งขึ้น รวมทั้งความตื่นเต้นดีใจ การมีบุตรถือว่าเป็นผลิตผลของความสัมพันธ์ ทางเพศ ในระยะนี้ เป็นระยะที่ต่างฝ่ายต่างหันเหความสนใจและความชื่นชมมาสู่บุตรของตน ซึ่งจะทำให้พ่อแม่มีความกระตือรือร้นในการประกอบภารกิจของตน ตลอดจนสำนึกในความรับผิดชอบต่อชีวิตครอบครัวเพิ่มขึ้น 
                - ระยะที่สี่ เป็นระยะที่ลูก ๆ ได้พ้นอกพ่อแม่ (Maturity stage) เริ่มจากบรรดาลูก ๆ มีอายุโตพอสมควร พ้นภาระความรับผิดชอบของพ่อแม่แล้ว ภาระของ พ่อแม่ก็ย่อมลดน้อยลงไปด้วย พ่อแม่จะหันความสนใจมาสู่กันอีกครั้งหนึ่งและ หวนรำลึกถึงความสดชื่นแต่หนหลัง ทำให้เกิดความรักความเข้าใจห่วงใยต่อกันและ มีความหวังที่จะอยู่ร่วมกันตราบเท่าชีวิต โดยมีบุตรเป็นหลักและที่พึ่งของตน เมื่อยาม แก่เฒ่าด้วย 

ประเภทของครอบครัว
ครอบครัวในสังคมต่างๆ  ย่อมมีโครงสร้างและลักษณะแตกต่างกันไป  ซึ่งถ้าจะแบ่งครอบครัวเป็นประเภทใหญ่ๆ เพื่อสะดวกในการศึกษาจะแบ่งได้เป็น 2 ประเภท
1.  ครอบครัวเดี่ยวหรือครอบครัวเฉพาะ
ประกอบด้วยบิดา  มารดาและบุตรเท่านั้น  ซึ่งสมาชิกในครอบครัวจะมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด คือทั้งทางสายโลหิตและทางกฎหมาย (การรับจดทะเบียนบุตรเป็นบุตรบุญธรรม) ขนาดของครอบครัวขึ้นอยู่กับจำนวนบุตรที่ถือกำเนิดจากบิดา  มารดา  ถึงแม้จะมีการรับบุตรบุญธรรมบ้างก็มีจำนวนไม่มาก  สังคมสมัยใหม่ทั่วไปมักมีครอบครัวประเภทนี้เป็นจำนวนมาก จนมีผู้กล่าวว่าสังคมใดมีความเจริญทางอุตสาหกรรมและการค้า ครอบครัวในสังคมนั้นจะเป็นครอบครัวเดี่ยวหรือครอบครัวเฉพาะเป็นส่วนใหญ่
2.  ครอบครัวขยายหรือครอบครัวเสริม
ครอบครัวประเภทนี้มีพื้นฐานจากครอบครัวเดิมมาจากครอบครัวเฉพาะ ซึ่งสมาชิกประกอบด้วย  บิดา  มารดา  และบุตร นอกจากนี้ยังมีญาติพี่น้องอื่นๆ เป็นสมาชิกอาศัยร่วมอยู่ด้วย  ซึ่งอาจจะเป็น  ปู่  ย่า  ตา  ยาย  หรือ ลุง  ป้า  น้า  อา และอาจจะมีหลานร่วมด้วย  ครอบครัวขยายจึง  มีสมาชิกมากกว่าครอบครัวเฉพาะ นอกจากครอบครัวขยายหรือครอบครัวเสริมมีความแตกต่างกับครอบครัวเดี่ยวหรือครอบครัวเฉพาะในเรื่องของสมาชิกแล้ว ความสัมพันธ์และโครงสร้างระหว่างสมาชิกก็มีความแตกต่างกันด้วย
                ในสมัยก่อนครอบครัวของสังคมไทยมีลักษณะเป็นครอบครัวขยายหรือครอบครัวเสริมเป็นจำนวนมาก  ทั้งนี้เนื่องจากการดำรงชีวิตของคนไทยในอดีต เป็นสังคมเกษตรกรรม ต้องอาศัยแรงงานจากครอบครัวในการทำเกษตร  แต่ปัจจุบันของคนไทยเปลี่ยนแปลงและมีความหลากหลายอาชีพ ทำให้ครอบครัวขยายหรือครอบครัวเสริมมีมากขึ้นเช่นกัน  แต่ข้อดีของครอบครัวขยายหรือครอบครัวเสริมที่ น่าสนใจเมื่อเปรียบเทียบกับครอบครัวเดี่ยวหรือครอบครัวเฉพาะ  เนื่องจากในสังคมไทยปัจจุบันสามีภรรยามักออกทำงานนอกบ้านทั้งคู่  ลูกจ้างที่ต้องเลี้ยงดูบุตรที่ยังเล็กอยู่หาได้ยากหรืออาจได้ลูกจ้างที่ ไม่เหมาะสม  ซึ่งมีผลทำให้บุตรเจริญเติบโตมาด้วยความว้าเหว่  ขาดความอบอุ่น  ถ้ามีญาติผู้ใหญ่อาศัยอยู่ด้วยแบบครอบครัวขยายหรือครอบครัวเสริมก็สามารถดูแลให้การอบรมคุณธรรม จริยธรรม ด้วยความรักความเอาใจใส่  ทำให้บุตรเจริญเติบโตเป็นคนดี มีคุณธรรม เป็นพลเมืองที่ดีของสังคมและประเทศชาติ  ซึ่งบิดาและมารดาที่มีภาระหน้าที่พิเศษทางสังคมเป็นจำนวนมากไม่สามารถทำได้

หน้าที่ของครอบครัว 
หน้าที่อันสำคัญของครอบครัว พอจะแบ่งได้ดังต่อไปนี้ 
1. สร้างสรรค์สมาชิกใหม่ (Reproduction) เพื่อให้สังคมอยู่ได้ เพราะสังคมจะต้องมีสมาชิกใหม่แทนที่สมาชิกเดิมที่ตายไป 
2. บำบัดความต้องการทางเพศ (Sexual Gratification) ซึ่งออกมาในรูปของการสมรส เป็นการลดปัญหาทางเพศบางอย่าง เช่น การข่มขืนกระทำชำเรา การสมรสเป็นสิ่งจำเป็นในสังคมที่มีการจัดระเบียบ 
3. เลี้ยงดูผู้เยาว์ให้เจริญเติบโตขึ้นในสังคม (Maintenance of Immature Children or Raising the Young) เราจะเห็นได้ว่า ไม่มีสถาบันใดทำหน้าที่ได้ดีกว่าสถาบันนี้ เพราะความรักความอบอุ่น เด็กจะหาที่อื่นใดเสมือนครอบครัวนั้นยากมาก พ่อแม่ส่วนใหญ่มีความรักลูก ย่อมประคับประคองเลี้ยงดูลูกของตนเป็นอย่างดี แม้จะยากดีมีจนก็ตาม ครอบครัวจะเลี้ยงดูบุตรตั้งแต่เกิดจนกระทั่งเติบโต 
4. ให้การอบรมสั่งสอนแก่เด็กให้รู้จักระเบียบของสังคม (Socialization) ครอบครัวเป็นแหล่งการอบรมเบื้องต้นที่มีอิทธิพลต่อเด็กมาก เป็นสถาบันที่เตรียมเด็กให้ออกไปเผชิญกับสิ่งที่พ้นออกไปจากบ้าน ครอบครัวช่วยอบรมเด็กให้รู้จักกฎเกณฑ์ คุณค่า แบบของความประพฤติ ฯลฯ สอนให้เด็กปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมในสังคม 
5. กำหนดสถานภาพ (Social Placement) เราได้ชื่อสกุลจากครอบครัว ซึ่งส่วนมากก็เปลี่ยนได้ในเวลาต่อมาโดยเฉพาะเป็นหญิง แต่งงานแล้วก็เปลี่ยนตาม ชื่อสกุลของสามี สถานภาพที่ครอบครัวให้นี้ทำให้เรารู้ว่าเราเป็นใครอยู่กับคนกลุ่มไหน 
6. ให้ความรักและความอบอุ่น (Affection) ครอบครัวเป็นแหล่งที่สมาชิกได้รับความรักความอบอุ่นอย่างบริสุทธิ์ใจ เป็นแหล่งที่ให้ประกันว่าจะมีคนที่เรารักและคนที่รักเราเสมอ เช่น ความรักของสามีภรรยา ความรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูก นอกจากนั้น ถ้าสมาชิกคนใดประสบกับความผิดหวัง ครอบครัวจะเป็นแหล่งให้กำลังใจและ ปลุกปลอบใจเพื่อให้สามารถผ่านอุปสรรคไปได้ 

ปัญหาความไม่มั่นคงทางครอบครัว
1. การหย่าร้าง
ชีวิตมีการเริ่มต้นก็ต้องมีจุดจบ มีเกิดก็ต้องมีตาย เมื่อถึงจุดจบ แต่ละคนก็เป็นไปตามวิถีชีวิตของตน ชีวิตการแต่งงานก็เช่นกัน มีการสิ้นสุดลงโดยวิธีการหย่าร้าง การตายจากกัน การละทิ้ง การแยกกันอยู่ คู่สมรสอาจจะอยู่กันนาน บางคู่ก็อาจจะอยู่กันสั้น
การหย่าร้าง คือ การสิ้นสุดชีวิตแต่งงานของคู่สมรส เป็นการแตกแยกของบุคคลที่เคยมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิด การหย่าร้างในตัวของมันเองเป็นเรื่องเศร้า เป็นการทำลายความรัก ความเชื่อของบุคคลที่เคยผูกพันกันอย่างลึกซึ้ง แต่การหย่าร้างก็ไม่ใช่ความเศร้าที่ถาวร เพราะอาจเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความสุขได้เหมือนกัน

การหย่าร้างเป็นปัญหาการแตกแยกของครอบครัว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทยเรา การหย่าร้างมีกรณีที่จะยกเป็นข้ออ้างได้หลายกรณีคือ
   - สามีหรือภรรยามีชู้ นอกใจซึ่งกันและกัน
   - ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง หรือทำร้ายร่างกายอีกฝ่ายหนึ่งบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่งถึงบาดเจ็บ หรือหมิ่นประมาทอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่งเป็นการร้ายแรง อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
   - สามีหรือภรรยาจงใจละทิ้งอีกฝ่ายหนึ่งไปเกินกว่าหนึ่งปี หรือไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูตามควร หรือทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภรรยาอย่างร้ายแรง จนอีกฝ่ายหนึ่งไม่อาจจะอยู่กินเป็นสามีภรรยาต่อไป อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
   - สามีภรรยาต้องคำพิพากษาถึงที่สุด ให้จำคุกฐานลักทรัพย์ ชิงทรัพย์ปล้นทรัพย์โจรสลัด หรือปลอมแปลงเงินตรา หรือต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกในความผิดอย่างอื่นเกินกว่าสามปี อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
   - สามีหรือภรรยาถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญและศาลยังไม่เพิกถอนคำสั่งนั้น อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
   - สามีหรือภรรยาถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ เพราะเหตุวิกลจริตตลอดมาเกินกว่าสามปีนับแต่วันศาลสั่ง และความวิกลจริตนี้ ไม่มีทางรักษาให้หายได้ถึงขีดที่จะอยู่กินเป็นสามีภรรยาต่อไปไม่ได้อีกแล้ว อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
   - สามีหรือภรรยาผิดทัณฑ์บนที่ทำให้ไว้เป็นหนังสือในเรื่องความประพฤติ อีกฝ่ายหนึ่ง
ฟ้องหย่าได้
   - สามีหรือภรรยาเป็นโรคติดต่อร้ายแรงอันอาจเป็นภัยอีกฝ่ายหนึ่ง และโรคนี้ไม่มีทางรักษาให้หายได้ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
   - สามีหรือภรรยามีอวัยวะสืบพันธุ์ไม่สมบูรณ์จนไม่มีความสามารถจะอยู่ด้วยกันฉันสามีภรรยาได้ตลอดกาล อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

สาเหตุของการหย่าร้างมิได้เกิดขึ้นจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งโดยเฉพาะ แต่เกิดจากหลายๆ ปัจจัยรวมกัน ดังนี้ 
     1. ปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งเกิดจากรายได้ไม่พอกับรายจ่าย ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ไม่คิดทำมาหากิน เมื่อ ฐานะทางการเงินไม่มั่นคง คู่สมรสอาจหงุดหงิด ทะเลาะเบาะแว้งกันง่ายๆ หรือแก้ปัญหาวิธีผิดๆ
     2. ปัญหาด้านความประพฤติและสังคม เช่น การชอบดูหมิ่น เยาะเย้ย ประชดประชัน ก้าวร้าว หยาบคาย ไม่ซื่อตรง นอกใจ ขาดความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจกัน ขาดความรับผิดชอบ ฯลฯ
     3. ปัญหาด้านอารมณ์ และจิตใจ หากผู้สมรสไม่บรรลุวุฒิภาวะทางอารมณ์ เช่น เอาแต่ใจตัวเอง ขาดเหตุผล ชอบหึงหวง โมโหฉุดเฉียว โกรธง่าย ฯลฯ
     4. ปัญหาสุขภาพอนามัย เช่น คู่สมรสมีกลิ่นตัวแรง ร่างกายสกปรก เป็นโรคเจ็บป่วยเรื้อรัง ติดสุรา และเสพยาเสพติดเป็นต้น
     5. ปัญหาเรื่องเพศสัมพันธ์ เช่น การไม่ยอมร่วมหลับนอนด้วย ความจำเจในบทบาทและพฤติกรรมทางเพศ ความเบี่ยงเบนทางเพศ เป็นต้น
เมื่อเกิดปัญหาต่าง ๆ ไม่ใช่เรื่องผิดปกติวิสัย คู่สมรสควรแก้ปัญหา และข้อขัดแย้งอย่างมีเหตุผลถ้อยทีถ้อยอาศัยและให้อภัยกัน เพื่อเป็นการประคับประคองชีวิตสมรส และป้องกันมิให้เกิดเหตุอันจะนำไปสู่การหย่าร้าง คู่สมรสสามารถป้องกันการหย่าร้างได้ คือ การปรับตัวในเรื่องเพศสัมพันธ์ ยกย่องให้เกียรติซึ่งกันและกัน ร่วมไปถึงญาติพี่น้องของอีกฝ่ายหนึ่งด้วย ไม่กล่าววาจาหรือถ้อยคำรุนแรงอันจะนำไปสู่โทสจริต นอกจากนี้คู่สมรสต้องรู้จักประหยัด ขยัน ประกอบอาชีพสุจริต ไม่เสพสุรา ไม่เล่นการพนัน ไม่ทำร้ายร่างกายคู่สมรส พยายามรักษาสุขภาพอนามัยให้สะอาด สมบูรณ์แข็งแรงอยู่เสมอ

แนวทางการแก้ไขปัญหาการหย่าร้าง  
     1. อดทน ถนอมน้ำใจกัน เอาใจเขามาใส่ใจเรา
     2. เวลาอารมณ์ดีๆ ควรพูดจากกันถึงสิ่งบกพร่องต่างๆ
     3. หมั่นขยันทำงาน อดออม เพื่อจะได้ไม่เกิดปัญหาทางการเงิน
     4. ฝ่ายชายควรมีความรับผิดชอบเมื่อสมรสแล้ว และฝ่ายหญิงควรสำรวจข้อบกพร่อง ของตนเองเสมอ
     5. รักและเอาใจใส่ญาติพี่น้องของแต่ละฝ่าย
     6. ควรให้อภัยซึ่งกันและกัน


ผลกระทบจากการหย่าร้าง 
มีผลกระทบทำให้เด็กในสังคมไทยก่อปัญหาทางสังคมมากมาย ด้วยสาเหตุที่เด็กอยู่ในครอบครัวแตกแยก จะขาดความรัก ความอบอุ่น มีความรู้สึกไม่มั่นคง เนื่องจากลูกเคยชินต่อสภาพพ่อแม่ให้ความรัก ความอบอุ่น และความมั่นใจแก่เขา แต่ความสัมพันธ์แบบนี้ต้องถูกทำลายไป ทำให้มีผลกระทบ กระเทือนต่อการพัฒนาบุคลิกภาพของบุคคล เช่น เด็กที่เคยยึดพ่อแม่เป็นแบบฉบับ ในเรื่องค่านิยม อารมณ์ แบบของความประพฤติที่ช่วยให้เด็กมีบุคลิกภาพที่ดี แต่เมื่อหน่วยของครอบครัวถูกทำลายลง ลูกๆ บางครั้ง

2. ความรุนแรงในครอบครัว
ความรุนแรงในครอบครัวเป็นปัญหาเบื้องต้นของความสงบสุขของสังคมปัญหาความรุนแรงที่พบบ่อย ได้แก่ สามีทำร้ายภรรยา การทารุณเด็ก การใช้แรงงานเด็ก ความรุนแรงเหล่านี้มีผลกระทบต่อบุคคลทำให้เกิดพฤติกรรมก้าวร้าว เก็บกด อาฆาต ขาดความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน นอกจากนั้นครอบครัวที่พ่อแม่ดื่มเหล้า ใช้สารเสพติด ใช้อาวุธต่อสู้กัน ทำร้ายบุตร รวมทั้งการหย่าร้าง เป็นสาเหตุให้เด็กหวาดระแวงผู้ใหญ่และสูญเสียสัมพันธภาพกับบุคคลอื่นอาจทำให้ตั้งแก๊งก้าวร้าวทารุณเด็กอื่น หนีออกจากบ้าน รู้สึกว่าตนเองหมดคุณค่าหันไปหาที่พึ่งอื่นๆ เช่น สารเสพติด มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันสมควรและขาดความรับผิดชอบ ผลต่อครอบครัวคือขาดสัมพันธภาพภายในครอบครัว แยกตัวกลายเป็นเด็กเร่ร่อน ส่งผลกระทบต่อสังคมกลายเป็นเด็กก่ออาชญากรรม สร้างปัญหารุนแรงเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ ทำให้สูญเสียกำลังบุคคลของประเทศ
ความรุนแรงภายในครอบครัว มีสาเหตุพื้นฐานของปัญหาจาก ความเชื่อ ประเพณี ทัศนคติต่อคุณค่าและศักดิ์ศรีของปัจเจกบุคคล เป็นต้น ซึ่งก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิ การที่บุคคลในครอบครัวมีฐานะ และสถานภาพที่แตกต่างกัน ทำให้มีการใช้กำลังบังคับกันในครอบครัว ซึ่งคนภายนอกมักไม่เข้ามายุ่งเกี่ยว เด็กและสตรีจึงมักตกอยู่ในสภาพของการถูกกดขี่ หรือครอบครัวใดที่พ่อดื่มเหล้า ทำทารุณต่อลูกเมียมักก่อให้เกิดปัญหาความแตกแยกตามมา การงาน ฐานะทางเศรษฐกิจเป็นภาวะกดดันเบื้องต้นในครอบครัว เด็กไม่สามารถแก้ปัญหาได้เพราะขาดทักษะชีวิต เช่นทักษะในการลดความขัดแย้งและความกดดัน จึงกลายเป็นคนเก็บกด มีอารมณ์ไม่อยู่กับร่องกับรอย ก้าวร้าว และเปราะบางกับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น

ความรุนแรงในครอบครัว (Violence in the Family)   สามารถจำแนกเป็น 2 ประเภท คือ
               1.  การทำร้าย ทุบเฆี่ยนตีภรรยา (Wife Battering)
               2.  การกระทำทารุณต่อเด็ก (Child Abuse)
1. การทำร้าย ทุบเฆี่ยนตีภรรยา   (Wife Battering)
               การทำร้าย  ทุบเฆี่ยนตีภรรยา  เกิดขึ้นได้ทุกชนชั้นในสังคม (Lenore E. Walker) สาเหตุเกิดจากความผิดปกติของสมาชิกครอบครัว (Steinmetz, 1977)  ทำให้เกิดข้อขัดแย้งและการพิพาทในครอบครัว  ถ้าปล่อยทิ้งให้เป็นความขัดแย้งที่เรื้อรังไม่ได้ขจัดแก้ไข ผลสุดท้ายจะเกิดภาวะที่ไม่สามารถควบคุมได้  นักวิชาการหลายท่านแสดงความคิดเห็นว่า ความรุนแรงในครอบครัวเกิดจากการใช้อำนาจอาวุโสระหว่างเพศ เช่น Goode (1971) และ O'Brien (1971) ได้เสนอว่า สามีที่ไม่ประสบความสำเร็จทางสังคมในหน้าที่การงาน มักจะแสดงความวิตกกังวลหงุดหงิดไปสู่ภรรยา Goode (1971) ได้สรุปว่า ความรุนแรงในครอบครัวเกิดขึ้นเมื่อสามีไม่สามารถมีสถานภาพทางสังคม ประสบความล้มเหลวต่อการมีอำนาจนอกบ้าน ไม่สามารถทำงานบรรลุวัตถุประสงค์เพื่อนำมาสนับสนุนการมีอำนาจในบ้าน ประเด็นเหล่านี้ ต้องทำการศึกษาต่อไปอีก โดยจะต้องนำปัจจัยอื่นมาทำการศึกษา เช่น กระบวนการขัดเกลาทางสังคม ปัจจัยทางจิตวิทยา ปัจจัยความกดดันทางสังคม เช่น ปัญหาการว่างงาน ปัญหาด้านการเงิน และปัญหาด้านสุขภาพ
2. การกระทำทารุณต่อเด็ก (Child Abuse)
              การกระทำทารุณต่อเด็ก เกิดขึ้นได้หลายสถานการณ์ตั้งแต่เรื่องความขัดสนด้อยโอกาส ขาดแคลนความจำเป็นพื้นฐานของชีวิต ด้านอาหาร เสื้อผ้า ที่อยู่อาศัย ไปจนถึงเรื่องการขาดความรัก ความอบอุ่นในครอบครัว  การกระทำทารุณทางร่างกาย ถูกกักขังหน่วงเหนี่ยว นำไปเร่ขาย ทอดทิ้งให้อดอยากหิวโหย ต้องเร่ร่อนและการฆาตกรรมเด็กตั้งแต่เป็นทารกอยู่ในครรภ์ การฆ่าทิ้งถ้าพบเป็นเพศหญิง และการทำแท้งจากการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ บางประเทศที่อยู่ระหว่างการทำสงครามจะให้เด็กจับอาวุธ ทำหน้าที่เป็นทหาร  และเด็กต้องตกเป็นเหยื่อจากการสู้รบตั้งแต่อายุระหว่าง 7 – 8 ขวบ การกระทำทารุณต่อเด็กที่นักวิชาการหลายท่านได้สรุปสาเหตุ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคม สังคมเกิดภาวะไร้ระเบียบวินัย รวมทั้งการเกิดสภาพความเป็นเมือง (Urbanization) ทำให้สังคมละทิ้งคุณค่าทางวัฒนธรรม และการปฏิบัติหน้าที่ของครอบครัวล้มเหลว ทำให้เสี่ยงต่อการกระทำทารุณต่อเด็กยิ่งขึ้น

ครอบครัวที่มีสุขภาพที่ดีจะต้องประกอบด้วย  คุณลักษณะสำคัญ  6 ประการ แต่มิได้หมายความว่าครอบครัวสุขภาพดีจะต้องมีครบองค์ประกอบทั้ง 6 ประการ
1.  ทำความตกลงแหล่งการใช้อำนาจภายในครอบครัว
2.  กำหนดกติกาและทำการตัดสินใจในการใช้กติกาอย่างมั่นคง
3.  แสดงพฤติกรรมเชิงแลกเปลี่ยนความเอื้ออาทรในการพิทักษ์คุ้มครองซึ่งกันและกันอย่างสม่ำเสมอ
4.  ทำการเลี้ยงดูผู้เยาว์และเด็ก และรักษาสถานภาพชีวิตสมรสอย่างมีประสิทธิภาพและมั่นคง
5.  ทำการกำหนดเป้าหมายของครอบครัวที่สมาชิกแต่ละคนมีส่วนร่วม
6.  มีความยืดหยุ่นและการปรับตัวยอมรับพัฒนาการที่เกิดขึ้นอย่างปกติ และรวมถึง เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด

ผลกระทบจากปัญหาครอบครัวแตกแยก
1. ครอบครัวที่แตกแยกโดยการหย่าร้าง  
การหย่าร้าง ได้ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ติดตามมามากมาย เพราะไม่เพียงแต่จะมีผลกระทบต่อคู่ชาย-หญิงที่หย่าร้างเท่านั้น แต่ยังได้ส่งผลถึงบุตรอีกด้วย ที่มักจะมีปัญหามากหลังจากครอบครัวแตกแยก และพบว่าในสังคมไทยนั้นภาระเลี้ยงดูบุตรหลังการหย่าร้างมักจะตกเป็นของฝ่ายหญิง ด้วยความคิดที่ว่าลูกมีความใกล้ชิดผูกพันกับแม่มากกว่าพ่อ หรือแม่สามารถเลี้ยงลูก (กรณีลูกเล็ก) ได้ดีกว่าพ่อ แม้ว่าทางกฎหมายจะได้มีการบังคับว่าผู้เป็นสามีต้องรับภาระส่วนหนึ่งในการให้การเลี้ยงดูบุตรภายหลังการหย่าขาดกับภรรยา แต่บทบังคับดังกล่าวมักถูกละเลยเสียเป็นส่วนใหญ่ ข้อมูลจากโครงการวิจัยครอบครัวไทย ปี พ.ศ.2537 ชี้ให้เห็นชัดเจนถึงภาระที่ผู้หญิงต้องรับภายหลังการแยก/หย่าร้าง คือ ประมาณร้อยละ 54 ของชายที่หย่าร้างและอายุต่ำกว่า 45 ปี (ประมาณ 40 ราย) รายงานว่าอดีตภรรยารับลูกไปเลี้ยงดูเอง ส่วนหญิงที่แยก/หย่าร้างประมาณร้อยละ 80 (ประมาณ 150 ราย) รายงานว่าต้องรับภาระดูแลลูกเอง และร้อยละ 44 ของหญิงที่แยก/หย่าร้าง อายุ 24 ปีหรือต่ำกว่า ต้องผลักภาระเลี้ยงดูบุตรให้กับญาติผู้ใหญ่ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือพ่อแม่ของตนเอง ที่น่าสนใจก็คือ ในกลุ่มของผู้ที่แยกหรือหย่าร้างทั้งหญิงและชายประมาณร้อยละ 60-80 รายงานว่าเมื่อเลิกร้างกันแล้วก็มิได้มีการช่วยเหลือจุนเจือต่อกันในการเลี้ยงดูบุตรไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงินทองข้าวของหรือการดูแลทั่วไป แต่พบว่าในกรณีของผู้ที่ยังติดต่อช่วยเหลือกันบ้างในการดูแลลูก มีชายอายุ 25-45 ปี ถึงร้อยละ 36 เปรียบเทียบกับเพียงร้อยละ 11 ของหญิงวัยเดียวกันได้รับการจุนเจือจากคู่สมรสเดิม และจากจำนวนคู่สมรสที่ระบุว่ามีปัญหาภายหลังการหย่าร้าง พบว่าหญิงร้อยละ 27 เปรียบเทียบกับชายเพียงร้อยละ 6 มีปัญหาด้านเศรษฐกิจ ทั้งนี้เพราะหญิงจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้ทำงานนอกบ้านแต่ต้องเพิ่มภาระในการเลี้ยงดูลูกภายหลังการหย่าร้าง
 2. ผลกระทบจากการถูกทำร้ายร่างกาย
ผลพวงจากการที่หญิงถูกทำร้าย โดยสามีก็คือการที่หญิงพยายามฆ่าตัวตาย หรือฆ่าตัวตายมากขึ้นในกลุ่มหญิงที่ประสบปัญหาดังกล่าว และหาทางออกให้ตนพ้นจากภาวะดังกล่าวไม่ได้ 5 หรือมักจะมีปรากฏเป็นข่าวในสื่อมวลชน อยู่บ่อยครั้งที่หญิงมักจะใช้วิธีรุนแรงในการตัดต้นตอปัญหา เช่น การฆาตกรรมผู้เป็นสามี เนื่องจากถูกกดดันทางจิตใจ และการถูกทำร้ายร่างกายมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งหญิงขาดที่พึ่งในการแก้ปัญหาจำนวนตัวเลขที่เพิ่มขึ้นของผู้ใช้บริการบ้านพักฉุกเฉินตามที่ต่างๆ เพื่อช่วยเหลือสตรีที่ถูกสามีทำร้าย ก็อาจใช้เป็นตัวบ่งชี้อีกทางหนึ่งถึงความไม่ปกติสุขของครอบครัวไทย โครงการศึกษาสถานภาพสตรีและภาวะเจริญพันธุ์ในประเทศไทยที่สัมภาษณ์สตรีวัย 15-44 ปี จำนวน 2,800 ราย เมื่อปี พ.ศ. 2536 พบว่าสตรีจำนวน 1 ใน 5 (ประมาณ 600 ราย) ที่ถูกสัมภาษณ์รายงานว่าเคยถูกสามีทุบตี ขณะที่สตรีเพียงร้อยละ 1 รายงานว่าตนเป็นฝ่ายทุบตีสามี สตรีในกรุงเทพมหานครที่รายงานว่าเคยถูกสามีทุบตี มีอัตราส่วนที่สูงกว่าสตรีในเขตอื่นๆ และเมื่อพิจารณาเฉพาะกลุ่มสตรีที่เคยถูกสามีทุบตี พบว่าร้อยละ 13 รายงานว่าถูกทุบตีบ่อย ยิ่งไปกว่านั้น เกือบครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 47) ของผู้ถูกทุบตี ยอมรับการกระทำนั้นหรือไม่ก็พยายามวิ่งหนีเอาตัวรอด นอกนั้นรายงานว่าตนต่อสู้กลับทำให้เกิดการทุบตีกัน อย่างไรก็ตาม สตรีที่ถูกสัมภาษณ์ในโครงการนี้ประมาณร้อยละ 81 เห็นว่าหญิงควรเลิกกับสามีหากถูกทุบตีบ่อยครั้ง ส่วนผลที่ได้จากการสำรวจโครงการครอบครัวไทยปี พ.ศ.2537 พบว่ามีเพียงร้อยละ 15 ของสตรีผู้ตอบรายงานว่าเคยทะเลาะกับคู่สมรสจนถึงขั้นทุบตี ทำร้ายร่างกาย แต่คาดว่าตัวเลขที่รายงานเหล่านี้อาจต่ำกว่าความเป็นจริงก็ได้ เพราะผู้ถูกทำร้ายไม่ต้องการรายงาน1
ปัญหาความรุนแรง และการทำร้ายร่างกายที่เกิดขึ้นในครอบครัวไทย ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงการที่สามีทำร้ายร่างกายภรรยาเท่านั้น หากแต่ความรุนแรงยังได้เกิดต่อเนื่องไปถึงการล่วงละเมิดทางเพศที่ชายหัวหน้าครอบครัวในฐานะพ่อ กระทำต่อลูกสาวที่อยู่ในวัยเด็กหรือรุ่นสาว แต่ไม่มีการเปิดเผยฟ้องร้องให้สาธารณชนรับทราบ เพราะชายมักใช้การข่มขู่ หลอกล่อ และอ้างว่าเป็นเรื่องของความน่าอับอายที่จำต้องปกปิด ทำให้ในหลายกรณีพบว่าชายกล้ากระทำความผิดดังกล่าวซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนเกิดปัญหาต่อเด็กหญิงที่ถูกล่วงเกิน หรือในภาคเหนือพบว่ามีครอบครัวจำนวนหนึ่งขายบุตรสาวเพื่อให้เข้าประกอบอาชีพในธุรกิจบริการทางเพศ เพื่อนำเงินมาเลี้ยงครอบครัว หรือนำเงินไปใช้หนี้สินของครอบครัวที่เกิดขึ้นด้วยหลายสาเหตุ ซึ่งรวมทั้งการก่อหนี้โดยชายหัวหน้าครอบครัว จากการดื่มเหล้า หรือเล่นการพนัน เป็นต้น

 แนวทางการแก้ไขปัญหา และการสร้างสถาบันครอบครัวที่ดี
ครอบครัวอบอุ่น คือครอบครัวที่สมบูรณ์แบบ การ มีครอบครัวที่อบอุ่นทำให้เราดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุข คนที่มีครอบครัวอบอุ่นย่อมมีความได้เปรียบ เพราะสามารถ ทำหน้าที่ได้เหมาะสม และทำให้สมาชิกในครอบครัวมีสุขภาพจิตดีไปด้วย นิยาม "ครอบครัวที่อบอุ่น"Ž  
     1. มีขอบเขตที่เหมาะสม ทั้งขอบเขตส่วนบุคคล และคนในครอบครัว
     2. มีความผูกพันทางอารมณ์ที่เหมาะสม ไม่ห่างเกิน ไป และไม่ใกล้ชิดกันเกินไป สมาชิกในครอบครัวมีความเป็นตัวของตัวเอง แต่ยังคงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในครอบครัวได้
     3. มีการจัดลำดับอำนาจ และความเป็นผู้นำที่ชัดเจน
     4. สมาชิกมีบทบาทหน้าที่ชัดเจน และปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างสอดคล้องกัน
     5. โครงสร้างและการปฏิบัติหน้าที่ของครอบครัวมีความยืดหยุ่นดีและเหมาะสม
     6. สามารถแก้ไขความขัดแย้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ
     7. มีการจัดระบบภายในครอบครัวอย่างมีประสิทธิ-ภาพ
     8. มีการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ
     9. มีเครือข่ายทางสังคมที่ดี และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับครอบครัว
     10. สมาชิกในครอบครัวใช้เวลาอยู่ร่วมกันตามสมควร

ความผูกพัน : ตัวแปรความอบอุ่นในครอบครัว 
ครอบครัวจะมีแรงผลักดันอยู่ 2 แรงที่ต่อสู้กันอยู่เสมอคือ แรงที่ดึงสมาชิกให้เข้าหากัน เป็นอันหนึ่งอันเดียว กัน ทั้งความคิด ความรู้สึก การกระทำ และแรงผลักดันที่ทำให้สมาชิกอยู่ห่างออกจากกัน เพื่อใช้ชีวิตอย่างอิสระและเป็นตัวของตัวเอง แรงผลักดันทั้ง 2 จะสมดุลกันในครอบครัวที่อบอุ่น แม้บางครั้งแรงผลักดันแบบหนึ่งอาจมากกว่าอีกแบบหนึ่ง แต่ก็จะเป็นอยู่ชั่วคราว และจะกลับคืนสู่สภาวะสมดุลในที่สุด โดยความผูกพันทางอารมณ์แบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ คือ
ครอบครัวที่ผูกพันแน่นแฟ้นเกินไป  
เกิดขึ้นจากการที่สมาชิกในครอบครัวทำในสิ่งที่แตกต่างไปจากที่เคยทำมา ก็จะเกิดความเครียดขึ้นมาในครอบ-ครัวทันที ความเครียดนี้อาจกระทบถึงความสัมพันธ์ และการปฏิบัติหน้าที่ด้านอื่นๆ ของครอบครัว เช่น ลูกทำใน สิ่งที่พ่อแม่ไม่ชอบ หรือไม่เห็นด้วย และให้ลูกตัดสินใจว่า จะทำตามใจตัวเอง หรือยอมทำตามที่พ่อแม่ต้องการ
ผลของความผูกพันที่มากเกินไปนั้น จะทำให้สมาชิกในครอบครัวไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ เช่น แม่ที่ผูกพันแน่นแฟ้นกับลูกมากเกินไป อาจทำให้พ่อห่างเหินไปโดยอัตโนมัติ โดยเด็กจะพึ่งแม่ไปโดยอัตโนมัติและไม่รู้จักโต
ครอบครัวที่เหินห่างทางอารมณ์ 
สำหรับครอบครัวที่ผูกพันระหว่างกันน้อย แม้สมาชิก ในครอบครัวจะมีอิสระมาก ก็จะเป็นความอิสระที่ไม่สมบูรณ์ เพราะขาดความรู้สึกเป็นส่วนตัวและความรู้สึกที่พึ่งพิงกันในยามจำเป็น นอกจากนี้ การที่ต่างคนต่างอยู่จะทำให้ไม่สามารถร่วมทำภารกิจที่สำคัญให้สำเร็จได้ เช่น ครอบครัวที่พ่อกับแม่ไม่มีความผูกพันใกล้ชิดกัน ย่อมไม่สามารถร่วมมือกันปกครองลูกได้
ความผูกพันทางอารมณ์ที่เหมาะสมที่สุดคือ ความผูกพันระดับกลาง เพราะคนในครอบครัวจะมีความเป็น อิสระ แต่ยังคงความผูกพันกับครอบครัวเดิมอยู่ ทั้งนี้ การจะมีครอบครัวที่อบอุ่นได้นั้น ครอบครัวจะต้องสร้างความสมดุลระหว่างความเป็นอิสระและความผูกพันกับครอบครัว ได้อย่างเหมาะสม

ผู้นำในครอบครัว : บทบาทผู้สร้างความอบอุ่นในครอบครัว
ทุกครอบครัวต่างก็มีผู้นำในการตัดสินใจและแก้ไขปัญหาต่างๆ แต่ความเป็นผู้นำไม่ควรถูกจำกัดให้อยู่กับ คนใดคนหนึ่ง เช่น พ่อแม่ไม่ควรเป็นผู้นำคนเดียว หรือ แม่ไม่ควรเป็นผู้นำคนเดียว เพราะหากครอบครัวต้องตกอยู่ในภาวะความตึงเครียด ผู้เป็นพ่อและแม่ต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และร่วมกันเป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน
หากต้องการมีครอบครัวที่อบอุ่น สมาชิกแต่ละคนในครอบครัวจะต้องมีบทบาทความเป็นผู้นำในวาระที่แตกต่างกันออกไป เช่น แม่จะเป็นผู้นำและเป็น ผู้ตัดสินใจเกี่ยวกับการดูแลครอบครัวและการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น เรื่องอาหารการกินในบ้าน ส่วนพ่อจะเป็นผู้นำในเรื่องที่สำคัญ เช่น เรื่องภายนอกบ้าน และสมาชิก ในบ้านควรมีส่วนในการสนับสนุนความคิดของผู้นำในครอบครัว
เมื่อใดก็ตามที่เกิดปัญหาความขัดแย้งในครอบครัว คนในครอบครัวจะต้องช่วยกันแก้ไขความขัดแย้งให้กลับคืน สู่สภาพปกติโดยเร็วที่สุด โดยสามารถแก้ไขความขัดแย้ง ได้ 3 วิธีคือ
     1. การร่วมมือกัน โดยคนในครอบครัวต้องหันหน้าเข้าหากัน และพูดคุยถึงปัญหาอย่างตรงไปตรงมา เพื่อหาข้อยุติที่เหมาะสม
     2. การยอมเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหา โดยที่อีกฝ่ายหนึ่งยอมลงให้อีกฝ่ายหนึ่ง เพื่อเป็นการยุติความขัดแย้ง หรือเพื่อไม่ให้ปัญหาลุกลามออกไป
     3. การพยายามเอาชนะ เป็นการช่วงชิงอำนาจว่าใครจะเป็นใหญ่ ใครจะแพ้ ใครจะชนะ ซึ่งไม่ทำให้ปัญหายุติได้ แต่จะทำให้สถานการณ์รุนแรงยิ่งขึ้น เพราะการแก้ไขปัญหาด้วยการเอาชนะกันนั้นไม่ใช่วิธีการที่ได้ผล ยิ่งถ้ามีการดึงบุคคลที่ 3 เข้ามาก็จะทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาเป็นลูกโซ่
เมื่อมีความขัดแย้งเกิดขึ้นในครอบครัว เรามักจะดึงเอาบุคคลที่ 3 เข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้ความขัดแย้งโยงใยในรูปแบบต่างๆ ดังนี้
     1. การทำให้เป็นแพะรับบาป เป็นความขัดแย้งที่เกิด จากบุคคล ๒ คน แต่ไม่ได้แก้ไขปัญหาอย่างตรงไปตรงมา กลับเป็นการโยนบาปให้บุคคลที่ ๓ แทน เช่น พ่อกับแม่ ทะเลาะกัน แต่โยนความผิดให้ลูก ทำให้ดูเหมือนพ่อแม่ไม่มีปัญหากัน แต่แท้ที่จริงปัญหาความขัดแย้งยังคงอยู่
     2. การเข้าพวกกันแบบข้ามรุ่น เป็นวิธีที่พ่อหรือแม่ดึงลูกเข้ามาเป็นพวก เพื่อที่จะต่อต้านอีกฝ่ายหนึ่ง โดยจะเลี้ยงลูกแบบตามใจ เพื่อให้ลูกมาเป็นพวกของตน ทำให้มีการสลับบทบาทหน้าที่กัน โดยแทนที่พ่อแม่จะมาดูแลลูก กลับเป็นลูกทำหน้าที่ดูแลพ่อแม่เสียเอง
     3. การร่วมมือกันเพื่อเอาใจใส่ลูก เป็นวิธีที่พ่อและแม่ต่างก็ร่วมมือให้ความสนใจ เพื่อแก้ไขปัญหาของลูก ทำ ให้ลืมปัญหาระหว่างกันไปชั่วขณะ โดยจะมองว่าลูกเป็น คนอ่อนแอ หรือเป็นเด็กไม่ดีที่ต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิด
     4. การแข่งขันระหว่างพ่อและแม่ โดยพ่อแม่ต่างก็ดึงลูกเข้ามาเป็นพวกของตน ทำให้ลูกเกิดความสับสนว่า จะเป็นพวกของพ่อดี หรือพวกของแม่ดี ไม่รู้ว่าจะจงรักภักดีกับใครดี
ครอบครัวที่พ่อแม่แก้ไขความขัดแย้งในลักษณะ ดังกล่าว จะทำให้เกิดผลเสียดังนี้
1. การดึงเอาบุคคลที่ 3 เข้ามาเกี่ยวข้อง อาจทำให้ความรู้สึกของพ่อแม่ดีขึ้นบ้าง เพราะไม่ต้องแก้ไขปัญหา เอง แต่ก็ไม่ได้เป็นการแก้ไขความขัดแย้งที่ถูกต้องและเหมาะสม
2. พ่อแม่จะเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง จะทำให้พ่อแม่ มีนิสัยเอาแต่ใจตนเอง เพราะได้รับการดูแลเอาใจใส่จากลูกมากเกินไป
3. พัฒนาการของเด็กไม่ได้รับการตอบสนอง เพราะแทนที่พ่อแม่จะเป็นคนดูแลเอาใจใส่ลูก กลับเป็นฝ่ายลูกต้องมาดูแลเอาใจใส่พ่อแม่แทน เด็กที่ถูกดึงเข้าไปโยงใยกับปัญหาจะทำให้ไม่สามารถพัฒนาตัวเองได้ดีพอ และไม่สามารถแยกตัวเองออกจากครอบครัวได้เมื่อถึงเวลา
4. สูญเสียความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับพ่อหรือแม่ เช่น แม่ที่เข้าพวกกับลูกสาวและกีดกันพ่อ จะทำให้ลูกสาวห่างเหินพ่อ และทำให้มีผลต่อพัฒนาการทางอารมณ์ของ เด็ก
หนทางที่ถูกต้องในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในครอบครัวคือ การสื่อสาร เพราะการสื่อสารทำให้ครอบครัวมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่การสื่อสารที่ดีย่อมต้องอาศัยทักษะและความสามารถที่ดี เช่น การเข้าใจความรู้สึกของอีกฝ่าย การฟังผู้อื่น การพูดจาประคับประคองอีกฝ่ายหนึ่ง เพื่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว
ในทางกลับกัน การพูดจาตำหนิติเตียน หรือทำให้เกิดความรู้สึกในเชิงลบ จะยิ่งทำให้อีกฝ่ายหนึ่งรู้สึกโกรธ เสียใจ ตึงเครียด ขัดแย้ง และนำมาซึ่งความรุนแรงในครอบครัวทั้งในด้านท่าที วาจา และการกระทำที่รุนแรงกับบุคคลอื่นในที่สุด

บทสรุป
             ครอบครัว คือ ความสัมพันธ์ของกลุ่มคนทางสายโลหิต และการแต่งงาน อันวัฒนธรรมการจัดระบบครอบครัวและเครือญาติของสังคมไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อการกำหนดวิถีชีวิตของชุมชน  จากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมที่มีความซับซ้อนและเป็นไปอย่างเร็ว ปัจจุบันโครงสร้างและรูปแบบของครอบครัวซึ่งเคยเป็นครอบครัวขยายกลายเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น ขนาดของครอบครัวเริ่มเล็กลง ครอบครัวไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างเหมาะสม สถาบันครอบครัวซึ่งเคยเป็นทุนทางสังคม มีระบบเครือญาติที่มีความผูกพันอย่างใกล้ชิด มีความเกื้อกูล เอื้ออาทร และการอบรม ขัดเกลาบุตรหลาน การปลูกฝังวัฒนธรรมและค่านิยมประเพณี กลับอ่อนแอลง ซึ่งมีผลต่อปฏิสัมพันธ์ทั้งภายในและภายนอกครอบครัวทั้งทางลบและทางบวก 
ครอบครัวที่เคยเหนียวแน่นในอดีตปัจจุบันเริ่มเปราะบางลง  มีปัญหามากมายตามมา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการอย่าร้าง  การทอดทิ้งผู้สูงอายุ   การทำแท้ง และอื่นๆอีกมากมายหรือกระทั้ง ความรุนแรงในครอบครัวที่ไม่น่าเชื่อว่าคนที่มีความผูกพันฉันสามีภริยา   หรือคนที่มีสายโลหิตเดียวกันแล้วจะมีปัญหาเช่นนี้เกิดขึ้นได้  สังเกตได้จากกฎหมายซึ่งเป็นตัวรองรับเพื่อป้องกัน  แก้ไขและปรามให้สังคมมีความสงบสุข   อันจะเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพสังคมเพื่อแก้ไขปัญหาที่แตกต่างกันตามยุคสมัยนั้นๆ  ซี่กฎหมายครอบครัวในปัจจุบันนั้น  มีลักษณะเป็นกฎหมายตั้งรับ ที่ครอบคลุมเรื่องของหมั้น  การสมรส  การหย่า  ทรัพย์สินระหว่างสามี-ภรรยา  บุตรนอกสมรส  บุตรบุญธรรม  และมรดก ของครอบครัวในทุกระดับสิ่งเหล่านี้เราปฏิเสธไม่ได้ว่าถูกเขียนขึ้นเพื่อรองรับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในครอบครัวทั้งสิ้น ทั้งนี้เห็นได้ว่าปัญหาครอบครัวนั้นมีสาเหตุมาจากคนในครอบครัวเอง  เป็นสำคัญ
การที่ไม่อาจปรับตัวให้เข้ากับสภาพเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน ส่งผลกระทบให้ครอบครัวไม่อาจทำ หน้าที่ บทบาทของตนได้อย่างสมบูรณ์  เกิดความห่างเหินของคนในครอบครัว  ไม่มีเวลาพูดคุยปรึกษาหารือกัน  ทำให้เกิดความไม่เข้าใจกัน  เกิดปัญหาการอย่าร้าง  การทอดทิ้ง   เสี่ยงต่อการที่บุตรประพฤติในทางไม่เหมาะสมตามมา
และสาเหตุหนึ่งที่สำคัญและพบมากขึ้นในสังคมไทยปัญหาครอบครัวที่เกิดจากความไม่พร้อม   คือความไม่พร้อมที่จะมีครอบครัว   ไม่ว่าจะด้วยวุฒิภาวะและอายุ  ที่จะเป็นพ่อและแม่ได้อย่างสมบูรณ์  หากแต่เกิดจากการรักใคร่ในวัยหนุ่มสาว  จนพลาดพลั้งตั้งครรภ์และมีบุตร  เช่นนี้ทำให้เกิดการลองผิดลองถูกในการดำเนินกลุ่มชีวิตที่เรียกว่า  ครอบครัว  ด้วยวุฒิภาวะแล้วการที่จะอดทน  และดูแลบุคคลอื่นภายในครอบครัว  แบกรับภาระอันใหญ่หลวงของคำว่าพ่อและแม่จึงยากนักสำหรับพวกเค้า
อนึ่งความสำคัญของการมีครอบครัวที่สมบูรณ์  และจะสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพสังคมได้นั้น  สิ่งสำคัญที่จะป้องกันและปกป้องครอบครัวได้นั้นก็คือ   การวางแผนการมีครอบครัว  เราควรมีการวางแผนชีวิตครอบครัว  ไว้ล่วงหน้าก่อนที่จะมีครอบครัว   อาทิ   ตั้งเป้าหมายว่าจะแต่งงานตอนอายุเท่าไหร่   มีบุตรกี่คน  มีในช่วงเวลาไหนจะเหมาะสม  อายุควรห่างกันเท่าไหร่   ฯลฯ เช่นนี้ก็จะช่วยในเรื่องของเศรษฐกิจในครอบครัวได้เป็นอย่าดีทำให้เรารู้ว่าจะต้องใช่จ่ายในครอบครัวยังไง  ทำให้มีเวลาดูแลบุตร   และทำหน้าที่ของตนในครอบครัวได้ออย่างสมบูรณ์ 
นอกจากนี้แล้วภาครัฐมีส่วนสำคัญยิ่งในการช่วย   สนับสนุน  มีนโยบายเสริมสร้างความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวให้มากขึ้น   สนับสนุนให้คนในครอบครัวทำกิจกรรมร่วมกัน  การพูดคุย  ปรับความเข้าใจเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้รักยาวนานและความผูกพันของครอบครัวแน่นแฟ้นขึ้น   ครอบครัวแม้จะเป็นหน่วยเล็กที่สุดของสังคมแต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นของสังคมขนาดใหญ่  และถือได้ว่าเป็นสายป่านสำคัญของสังคมไทย  ปัญหาที่เกิดขึ้นในครอบครัวจะเป็นห่วงโซ่ส่งผลต่อสังคมที่รัฐจะละเลยเสียไม่ได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น