วันอังคารที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2556

ความรุนแรงในครอบครัว นางสาวสุพัตรา อภัย 53242735


บทความเชิงวิชาการ
เรื่อง ความรุนแรงในครอบครัว


 ปัจจุบันปัญหาความรุนแรงในครอบครัวถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่สร้างผลกระทบต่อสังคม จากปัจจัยทางเศรษฐกิจและสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป ทำให้สมาชิกในครอบครัวมีเวลาที่จะอยู่ด้วยกันน้อยลง ก่อให้เกิดความไม่เข้าใจภายในครอบครัว ซึ่งอาจก่อให้เกิดความรุนแรงในครอบครัวขึ้น ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว เป็นปัญหาสังคมที่แก้ไขได้ยากและนับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากไม่มีหน่วยงานไหนเข้ามาดูแลอย่างจริงจัง รูปแบบของความรุนแรงก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่นการทารุณทางกาย การทารุณทางจิตใจ และการทารุณทางเพศ ซึ่งแสดงออกในลักษณะข่มขู่ทำร้ายร่างกาย กักขังหน่วงเหนี่ยว ไม่ให้ข้าวปลาอาหาร หรือละเมิดทางเพศ อีกลักษณะหนึ่งคือ การปล่อยปละละเลย ไม่ให้การดูแลเอาใจใส่เด็กในด้านปัจจัยสี่และการดูแลยามเจ็บป่วยทำให้เด็กขาดอาหารไม่เจริญเติบโตตามเกณฑ์ปกติ ไม่ให้ความรักไม่ตอบสนองความต้องการด้านจิตใจของเด็ก หรือไม่ปกป้องคุ้มครองให้เด็กปลอดภัย รวมถึงสนับสนุนให้เด็กเป็นโสเภณี เป็นต้น
นอกจากนั้นปัญหาความรุนแรงในครอบครัวยังส่งผลให้เกิดปัญหาแก่สังคมไทยตามมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นการขาดการดูแลบุตรหลาน ส่งผลให้เกิดพฤติกรรมการเลียนแบบ การศึกษาของบุตรตกต่ำ ทำให้บุตรหาที่พึ่งโดยการคบเพื่อนที่ไม่ดีแล้วถูกชักจูงไปในทางที่ผิด เกิดปัญหายาเสพติด การล่วงละเมิดทางเพศ มีการลักเล็กขโมยน้อย ค้าประเวณี ทำให้เกิดการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ ปัญหาโรคเอดส์
ดังนั้นบทความนี้ก็จะสะท้อนให้เห็นในรูปแบบของความรุนแรง การใช้ชีวิตอยู่ภายใต้ความรุนแรงว่า เจ็บปวดแค่ไหน แล้วเมื่อไหร่การใช้ความรุนแรงจะหายไปจากโลกนี้เสียที

ความหมายของความรุนแรงในครอบครัว

ความรุนแรงในครอบครัวโดยทั่วไป หมายถึง การใช้ความรุนแรงใดๆระหว่างบุคคลที่มีความสัมพันธ์กันภายในครอบครัว  ซึ่งมีผลหรือมักมีผลให้เกิดอันตรายหรือความเดือดร้อนทางกาย  ทางเพศ  หรือทางจิตใจต่อฝ่ายที่ถูกกระทำ และรวมไปถึงการขู่เข็ญคุกคามว่าจะใช้ความรุนแรง การบีบบังคับเพื่อการทำให้สูญเสียอิสรภาพโดยพลการ ทั้งนี้ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในชีวิตสาธารณะหรือชีวิตส่วนตัวก็ตาม  จากความหมายดังกล่าว  จึงสามารถจำแนกปัญหาความรุนแรงในครอบครัวออกตามตัวผู้กระทำได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้
กระทำโดยผู้ใหญ่  ได้แก่  ความรุนแรงต่อเด็ก ( Child Abuse) ความรุนแรงต่อคู่สมรส (Spouse Abuse) และความรุนแรงต่อคนชรา  (Elder Abuse)
                กระทำโดยเด็ก  ได้แก่  ความรุนแรงต่อญาติพี่น้องสายเลือดเดียวกัน  (Sibling Abuse)  และความรุนแรงต่อพ่อแม่  (Parent  Abuse)
                อย่างไรก็ตาม  ในบรรดาความรุนแรงในครอบครัวลักษณะต่างๆ  ดังกล่าว  ความรุนแรงต่อคู่สมรสนับได้ว่าเป็นปัญหาที่มีความสำคัญและยังจะเป็นปัจจัยที่นำไปสู่ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวในลักษณะอื่นๆ  ตามมา แต่แนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวยังมีข้อจำกัด  เนื่องจากความรุนแรงต่อคู่สมรสเป็นปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับความสัมพันธ์ของสามีภรรยาที่แสดงออกได้ในหลายระดับ ตราบใดที่การกระทำความรุนแรงยังมีระดับบางเบา   การกระทำนั้นก็มักยังไม่ถูกดำเนินการแก้ไขด้วยมาตรการต่างๆ  ด้วยเหตุที่ถูกมองว่าเป็นเรื่องส่วนตัว  ต่อเมื่อการกระทำความรุนแรงนั้น  มีระดับของความรุนแรงมากขึ้นจนเข้าข่าย  การกระทำผิดกฎหมายหรือเมื่อผู้ถูกกระทำความรุนแรงร้องขอความช่วยเหลือจากกระบวนการยุติธรรม หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การกระทำความรุนแรงนั้นจึงจะได้รับการแก้ไข  ซึ่งก็มักเป็นสภาวะที่ปัญหา ได้ถูกบ่มเพาะจนสุกงอม ยากแก่การแก้ไขเยียวยามากขึ้นตามลำดับ อีกทั้งยังส่งผลเสียหายต่อสถาบันครอบครัวและคุณภาพชีวิตของทั้งคู่สามีภรรยาที่เป็นเจ้าของปัญหาความรุนแรงนั้นเอง และบุคคลรอบข้าง  ตลอดจนบุคคลที่เกี่ยวข้องและความสงบสุขปลอดภัยของสังคมไทยส่วนรวมด้วยเช่นกัน  จากผลกระทบซึ่งก่อให้เกิดความสูกเสียดังกล่าวข้างต้น สังคมไทยจึงได้ตื่นตัวกับปัญหาความรุนแรงในครอบครัว หลายหน่วยงานของภาครัฐและเอกชนให้ความสนใจในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนขององค์กรและระบบการให้ความช่วยเหลือผู้ถูกกระทำความรุนแรง
 “ ความรุนแรง ”’ คือ พฤติกรรมการใช้อำนาจในการควบคุมหรือบังคับขู่เข็ญผู้อื่นให้เกิดความกลัว เช่น การทำร้ายร่างกาย การข่มขืน และการทารุณกรรมทางด้านจิตใจ  เป็นการแสดงออกทางอารมณ์ที่ผิดปกติ และสาเหตุส่วนใหญ่จะมาจากปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาทางเพศ ปัญหาการกดขี่แรงงานเด็ก ฯลฯ
ผู้ที่กระทำความผิดหรือมีพฤติกรรมของความรุนแรงที่เราพบเห็นในสังคมส่วนใหญ่มักเป็นผู้ชายในครอบครัวและ ผู้หญิงมักจะตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง รวมไปถึงเด็กและผู้สูงอายุก็มักได้รับผลกระทบไม่แพ้กัน ความรุนแรงต่อสตรีและเด็กส่วนใหญ่ 70 - 80 % เป็นความรุนแรงในครอบครัว
สาเหตุของความรุนแรงในครอบครัว ได้แก่
1.ทัศนคติของสังคมที่ส่งเสริมให้เกิดความรุนแรง เช่น แนวคิดที่ว่า บุตรเป็นสมบัติของพ่อแม่ ผู้ชายมีอำนาจเหนือกว่าผู้หญิงเป็นต้น
2.การเรียนรู้การแก้ปัญหาด้วยความรุนแรง ผู้ใช้ความรุนแรงส่วนใหญ่เคยได้รับ หรือเรียนรู้การแก้ปัญหาด้วยความรุนแรงเราจะพบได้ว่า เด็กที่ถูกทุบตี ทำร้าย หรือเห็นความรุนแรงเสมอๆ จะฝังใจและมักแก้ปัญหาด้วยความรุนแรง
3.ความกดดันจากปัญหา ทั้งปัญหาเศรษฐกิจ การทำงาน ครอบครัว ล้วนเป็นสาเหตุกระตุ้นให้เกิดความรุนแรง
4. ปัญหาด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิต
5.การมีกฎหมายที่ไม่เข้มแข็งและผู้บังคับใช้กฎหมายละเลยการปฏิบัติหน้าที่
6.การนำเสนอของสื่อในรูปแบบต่างๆ

สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดปัญหาความรุนแรงแทบ ทั้งสิ้น รวมถึงความเชื่อผิดๆ ที่ว่า ความรุนแรงเป็นปัญหาภายในครอบครัว เป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยว ยิ่งทำให้ปัญหานี้เพิ่มและรุนแรงมากยิ่งขึ้น
ลักษณะของพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงในครอบครัว
1.       การทำร้ายร่างกาย  เป็นการทำร้ายโดยการใช้กำลัง  เช่น  ตบ  ตี  เตะ  ต่อย  รวมถึงการใช้อาวุธหรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต  ผู้ชายบางคนชอบใช้ความรุนแรงกับภรรยาทำร้ายภรรยาทางร่างกาย  ทางวาจา  ทางจิตใจ  อารมณ์  และทางเพศ  ข่มขู่และทำร้ายลูก  โดยเฉพาะผู้หญิงตั้งครรภ์มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกทำร้ายบาดเจ็บจากความรุนแรงในครอบครัว
2.       การทำร้ายจิตใจ  เป็นการทำร้ายโดยใช้คำพูดหยาบคาย  ดูถูกเหยียดหยาม  ทำให้ผู้ถูกกระทำอับอาย  ได้รับความเสียหาย  ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง  หรือมีการปล่อยปละละเลย  ไม่สนใจ  ไม่ให้ความรัก  ความอบอุ่น  ความเป็นมิตร  ทำให้เกิดผลกระทบทางด้านจิตใจ
3.       การใช้ความรุนแรงทางสังคม  เป็นการจำกัดสิทธิที่พึงมีทางสังคม  มีการกักกันหน่วงเหนี่ยว  กีดขวางไม่ยอมให้คบเพื่อน  หรือไม่ให้ติดต่อกับญาติพี่น้องและเพื่อนบ้าน
4.       การใช้ความรุนแรงทางเศรษฐกิจ  เป็นการจำกัดค่าใช้จ่าย  ควบคุมทรัพย์สินรวมทั้งไม่รับผิดชอบค่าใช้จ่ายของครอบครัว  ไม่รับผิดชอบดูแลจัดหาสิ่งจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตให้กับผู้ที่อยู่ในความดูแล  เช่น  อาหาร  เสื้อผ้า  ที่อยู่อาศัย  ยารักษาโรค  การศึกษาและสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย
5.       การกระทำทารุณกรรมทางเพศ  เป็นการทำร้ายร่างกายทางเพศต่อเด็กและผู้หญิงการข่มขืนกระทำชำเราบังคับให้มีเพศสัมพันธ์การคุกคามทางเพศ  การกระทำผิดทางเพศต่อผู้เยาว์  เช่น  ภรรยาถูกสามีข่มขืน  พ่อเลี้ยงข่มขืน  ลูกเลี้ยง  ญาติพี่น้องผู้ชายข่มขืนญาติผู้หญิงในครอบครัวรวมทั้งการถูกบังคับให้ขายบริการทางเพศ 
รูปแบบของความรุนแรงที่เราพบเห็นมีหลายรูปแบบ คือ
        ความรุนแรงต่อสตรี หมายถึง การกระทำใด ๆ ก็ตามที่เป็นผล หรืออาจเป็นผลให้เกิดการทำร้ายร่างกาย ทางจิตใจ และทางเพศ เป็นผลให้เกิดความทุกข์ทรมานแก่สตรี รวมทั้งการขู่เข็ญกีดกันจำกัดเสรีภาพ ทั้งในที่สาธารณะและในชีวิตส่วนตัว
        ความรุนแรงต่อเด็ก หมายถึงการที่เด็กได้รับการปฏิบัติจากผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นในหรือนอกครอบครัว จนเป็นเหตุให้เด็กได้รับอันตราย บาดเจ็บ กระทบกระเทือนทางด้านร่างกาย จิตใจ และทางเพศ ตลอดจนการถูกละเลย ไม่สนองตอบความต้องการพื้นฐาน เช่น อาหาร การดูแลสุขภาพ และการอบรมเลี้ยงดู
        สิ่งบอกเหตุ 8 ประการ ของพ่อแม่ที่มีแนวโน้มในการทำร้ายบุตร
1. ทะเลาะเบาะแว้ง ตบตีกันตลอดเวลา
2. ติดยาเสพติด
3. ถูกทอดทิ้งตั้งแต่เด็ก เก็บกด และขาดที่พึ่ง
4. คิดว่าลูกเป็นสมบัติของตนเอง
5. หมกมุ่นเรื่องเพศ
6. ไม่ผูกพันกับลูก
7. เมาสุราเป็นอาจิณ
8. ชอบเล่นการพนัน
ความรุนแรงต่อร่างกาย เป็นความรุนแรงที่ใช้กำลัง หรืออุปกรณ์ใด ๆ เป็นอาวุธ แล้วมีผลทำให้ผู้ถูกกระทำบาดเจ็บต่อร่างกาย เช่น การตบ ผลัก หยิก กัด ขว้าง ปา ทุบ ตี เตะ ต่อย และร้ายแรงถึงขั้นใช้อาวุธจนนำไปสู่การฆาตกรรม ซึ่งระดับความรุนแรงจะแตกต่างกันออกไป ทำให้ผู้เป็นเหยื่อเกิดอาการฟกช้ำดำเขียว บวมช้ำ แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก กระดูกหัก และเสียชีวิตได้ที่รุนแรงที่สุดคือความรุนแรงทางเพศ หมายถึง การกระทำในในลักษณะข่มขืน ลวนลามทางเพศ บังคับให้ร่วมหลับนอน และมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ยินยอมพร้อมใจ การละเมิดสิทธิทางเพศต่าง ๆ รวมตั้งแต่การอวดอวัยวะเพศ การจับต้อง ลูบคลำ ทั้งการทำกับเด็ก หรือว่าให้เด็ก จับอวัยวะเพศของตน ให้เด็กดูสื่อลามก ถ่ายรูปโป๊เด็ก การสำเร็จความใคร่กับเด็ก หรือกระทำต่อหน้าเด็ก การใช้ปากกับอวัยวะเพศเด็กหรือให้เด็กใช้กับตน ถือว่าเป็นการลวนลามทางเพศทั้งสิ้น
              ส่วนความรุนแรงต่อจิตใจ คือ การกระทำหรือละเว้นไม่กระทำ ทอดทิ้ง เพิกเฉย ไม่ดูแลไม่ใส่ใจ ไม่ให้เกียรติ การทำร้ายจิตใจมีผลทำให้ผู้ถูกกระทำได้รับความเสียใจ เสียสิทธิและเสรีภาพ เช่น การพูดจาดูถูก ด่าทอ เหยียดหยาม การก้าวร้าวทางวาจา การรบกวนรังควาน ปล่อยปละทอดทิ้ง ปฏิเสธสิทธิที่พึงมีพึงได้ การแสดงความเป็นเจ้าของที่มากเกินควร การลิดรอนสิทธิด้านทรัพย์สินเงินทอง และทำลายทรัพย์สินของผู้อื่น
อุปสรรคของการหลีกหนีความรุนแรงในครอบครัว และเหตุผลหลัก 3 ประการที่ผู้หญิงทั่วไปยังคงตกอยู่ในวังวนเหล่านี้
1. การขาดแคลนทรัพยากรหรือปัจจัยที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต
       - ผู้หญิงส่วนมากจะมีลูกอย่างน้อยหนึ่งคน
       - ผู้หญิงจำนวนมากไม่ได้ประกอบอาชีพนอกบ้าน
       - ผู้หญิงส่วนมากไม่มีสิทธิครอบครองทรัพย์สินเพียงลำพัง
       - ผู้หญิงบางคนไม่มีเงินสดหรือเงินในบัญชีหมุนเวียนเพียงพอ
       - ผู้หญิงไม่กล้าทิ้งครอบครัวที่ต้องดูแลไปเพราะนั่นหมายถึงต้องสูญเสียลูกไปด้วย
       - ผู้หญิงพร้อมจะเผชิญหน้ากับมาตรฐานการมีชีวิตอยู่ที่ลดลงของตนเอง และลูก
2. หน่วยงานที่รับผิดชอบ
       - ผู้ให้คำปรึกษาหรือทนายมักจะแนะนำให้รักษาชีวิตการแต่งงานมากกว่าจะเป็นผู้ยุติความรุนแรง
       - ตำรวจไม่ได้สนับสนุนหรือช่วยเหลือผู้หญิง แต่จะเข้ามาดูแลความรุนแรงในครอบครัวในกรณีที่เกิดทะเลาะวิวาทเท่านั้น
       - ตำรวจพยายามตักเตือนและแนะนำผู้หญิงหลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้เกิดการกระทำรุนแรง อัยการเองก็มักฝืนใจที่ต้องดำเนินคดี และตัดสินเป็นค่าปรับเมื่อมีการพิสูจน์ว่า มีการกระทำทารุณ หรืออาจภาคทัณฑ์ หรือรอลงอาญาเท่านั้น
       - ไม่มีที่พักเพียงพอที่จะดูแลผู้หญิงเหล่านี้ให้ปลอดภัยจากการกระทำทารุณซ้ำซากหรือการข่มขืนที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง
3. สิ่งที่ปฏิบัติกันสืบทอดกันมา
       - ผู้หญิงส่วนมากไม่เชื่อว่าการหย่าร้างหรือการแยกกันอยู่จะเป็นทางเลือกที่ทำให้สามารถ มีชีวิตอยู่ต่อไปได้
       - ผู้หญิงส่วนมากเชื่อว่าครอบครัวที่มีพ่อหรือแม่เพียงคนเดียวเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ยาก ถึงแม้ว่า จะมีพ่อที่ก้าวร้าวหรือรุนแรงก็ยังดีกว่าไม่มีพ่อเลย
       - ผู้หญิงส่วนมากเชื่อว่าสามารถรับผิดชอบชีวิตการแต่งงานได้ ความล้มเหลวของชีวิตการแต่งงานจะทำให้ชีวิตของผู้หญิงล้มเหลวไปด้วย
       - ผู้หญิงส่วนมากกลายเป็นคนโดดเดี่ยว ห่างไกลจากเพื่อนฝูงและครอบครัว หรือกลายเป็นคนที่มีความอิจฉาริษยาหึงหวงและอยากเป็นเจ้าของที่รุนแรง หรือหลบหนีจากโลกภายนอก ความโดดเดี่ยวที่มีอยู่ทำให้ความรู้สึกต่อทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนไป
       - ผู้หญิงส่วนมากจะอธิบายด้วยหลักและเหตุผลว่าพฤติกรรมความรุนแรงเกิดจากการถูกบีบคั้นหรือความกดดัน จากแอลกฮอลล์ จากปัญหาการทำงาน การถูกเลิกจ้างงานหรือปัจจัยอื่นๆ
       - ผู้หญิงส่วนมากจะถูกสอนว่าการรักษาชีวิตคู่ไว้คือสิ่งที่มีค่า แม้ว่าการทารุณกรรม ทำให้ผู้หญิงเหนื่อยล้าตลอดเวลา แต่ระหว่างที่ไม่มีสภาวะของความรุนแรง ผู้ชายจะทำให้ผู้หญิงใฝ่ฝันถึงชีวิตรักที่โรแมนติก และทำให้เชื่อว่าจริง ๆ แล้วพื้นฐาน ผู้ชายคนนี้เป็นคนดี และถ้าเชื่อเช่นนี้ก็จะสำนึกตลอดเวลาว่าเขาเป็นคนดี และความเชื่อนี้จะยังคงอยู่ต่อไป โดยจะอธิบายด้วยหลักและเหตุผลที่ดีถึงความรุนแรงที่เธอได้รับ จนกระทั่งมีเหตุการณ์เลวร้ายเกิดขึ้นที่เกิดจากการกระทำของผู้ชาย
แนวทางการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในครอบครัวโดยไม่ใช้ความรุนแรง
การใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในครอบครัวไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้อง  ส่วนมากพบว่าผู้ที่นิยมแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในครอบครัวโดยใช้ความรุนแรง  จะมีประสบการณ์ชีวิตซึ่งถูกเลี้ยงดูมาในครอบครัวที่ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา  เช่น  ถูกทุบตี  ตบหน้าหรือถูกลงโทษอย่างรุนแรง  จากพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่ภายในครอบครัว  มีแนวทางการปฏิบัติตนในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง  ในครอบครัวโดยไม่ใช้ความรุนแรง  ดังนี้
1. เรียนรู้วิธีการควบคุมอารมณ์  และระบายความโกรธ  โดยไม่ทำร้ายผู้อื่น
2. ให้ความรักความเข้าใจต่อคนในครอบครัว
3.  สร้างสัมพันธภาพที่อบอุ่น  เอาใจใส่  มีบรรยากาศของความเป็นมิตร
4.  มีเทคนิคการหลีกเลี่ยงหรือการจัดการอย่างเหมาะสมเมื่อถูกก้าวร้าว
5.  สร้างความภาคภูมิใจในครอบครัวและวงศ์ตระกูล
6.  สร้างความมั่นคงในอารมณ์  มีความเชื่อมั่นใจตนเอง  เพิ่มความรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง
7.  มีภูมิต้านทานแรงกดดันของพฤติกรรมก้าวร้าวจากบุคคลในครอบครัว
8.  ลดความเครียด  ด้วยการเข้าร่วมกิจกรรมกีฬา  นันทนาการ  ดนตรี  สวดมนต์  นั่งสมาธิ
9.  ขอปรึกษาจากญาติหรือเพื่อนที่ไว้ใจได้  หรือหน่วยงานของภาครัฐและเอกชน  เพื่อช่วยเข้ามาไกล่เกลี่ยประนีประนอม  เจรจาตกลงปัญหาความขัดแย้ง  เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมความรุนแรง  และยุติการใช้ความรุนแรง
ครอบครัวที่มีสุขภาพที่ดีจะต้องประกอบด้วย  คุณลักษณะสำคัญ  6  ประการ  แต่มิได้หมายความว่าครอบครัวสุขภาพดีจะต้องมีครบองค์ประกอบทั้ง  6  ประการ
              1.  ทำความตกลงแหล่งการใช้อำนาจภายในครอบครัว

              2.  กำหนดกติกาและทำการตัดสินใจในการใช้กติกาอย่างมั่นคง
              3.  แสดงพฤติกรรมเชิงแลกเปลี่ยนความเอื้ออาทรในการพิทักษ์คุ้มครองซึ่งกันและกันอย่างสม่ำเสมอ
              4.  ทำการเลี้ยงดูผู้เยาว์และเด็ก  และรักษาสถานภาพชีวิตสมรสอย่างมีประสิทธิภาพและมั่นคง
              5.  ทำการกำหนดเป้าหมายของครอบครัวที่สมาชิกแต่ละคนมีส่วนร่วม
              6.  มีความยืดหยุ่นและการปรับตัวยอมรับพัฒนาการที่เกิดขึ้นอย่างปกติ และรวมถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด
                ครอบครัวสุขภาพดีจะต้องรู้จักการสื่อสารด้วยการพูด และทำความเข้าใจกันอย่างเปิดเผย  รู้จักยอมรับและเข้าใจแนวคิดของแต่ละฝ่ายด้วยการตกลง ยอมรับมากกว่าการขัดแย้ง  รูปแบบลำดับขั้นตอนการดำเนินชีวิตการแต่งงาน (Stages of a Marriage)  ที่จะนำเสนอต่อไปนี้เป็นส่วนหนึ่งของวัฏจักรชีวิตครอบครัวที่จะทำความเข้าใจถึงการผสมผสานความเป็นปัจเจกบุคคลในครอบครัว และการรับรู้ปฏิสัมพันธ์ต่อกันในช่วงชีวิตการแต่งงาน   
อุปสรรคของการแก้ไขปัญหาความรุนแรง
1.ทัศนคติของสังคมที่ยังไม่ยอมรับและเข้าใจในสิทธิของผู้หญิง  และมองว่าการทำร้ายร่างกายจากสามีเป็นเรื่องปกติ และเป็นเรื่องไม่สำคัญ
2.ความไม่เข้าใจปัญหาความรุนแรง  โดยเฉพาะผู้หญิงที่ไม่มองว่า ความรุนแรงที่ตนได้รับคือการละเมิด  แต่คิดว่าเป็นความชอบธรรมของฝ่ายชายที่สามารถกระทำได้ 
3.สังคมมองว่าปัญหาความรุนแรงเป็นเรื่องส่วนตัวของคนสองคนหรือของคนในครอบครัวที่บุคคลที่ 3 ไม่กล้าเข้าไปช่วยเหลือหรือยุ่งเกี่ยวได้  ในขณะที่ผู้ถูกกระทำรุนแรงเองก็ไม่ทราบวิธีการแก้ปัญหา และไม่รู้ว่าจะไปขอความช่วยเหลือจากที่ใด
4.ขนบธรรมเนียมความเชื่อบางอย่างที่มองความรุนแรงต่อผู้หญิงเป็นเรื่องธรรมดา เช่น บางท้องถิ่นยังมีการส่งลูกสาวมาขายตัว  นอกจากนี้ การขาดการศึกษา และการขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องก็เป็นอุปสรรคที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว
5.การตีค่าภาระหน้าที่ของหญิงและชายแตกต่างกัน  เช่น งานบ้านมีคุณค่าน้อยกว่างานหารายได้นอกบ้าน ซึ่งส่งผลให้เกิดความรู้สึกที่เหลื่อมล้ำที่ฝ่ายหญิงจะต้องพึ่งพาฝ่ายชาย และเกิดความเชื่อที่ว่าผู้ที่มีอำนาจทางการเงินคือผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่า
6. วัฒนธรรมของสังคมไทยให้ความสำคัญอย่างมากต่อความเสียหายของผู้หญิงในเรื่องเพศ  ผู้หญิงจะถูกมองเชิงลบมาก  จึงเกิดเป็นช่องโหว่ที่ทำให้ผู้หญิงถูกเอาเปรียบ  ถูกทำร้าย  ถูกข่มขืน  เพราะผู้กระทำมีโอกาสที่จะไม่ได้รับโทษสูง  เพราะผู้หญิงรู้สึกอับอายและไม่อยากเอาความ 
7. การดำเนินคดีความในด้านความรุนแรงของครอบครัวยังไม่เป็นไปตามมาตรฐาน  และประเด็นปัญหาก็แตกต่างกันออกไป  อย่างเช่นกรณีข่มขืนก็ยังเป็นคดีที่ยอมความกัน
8. ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเป็นปัญหาที่ซับซ้อน  ทำให้การดำเนินคดียุ่งยาก และไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด 
9.สังคมยังมีทัศนคติ  ความเชื่อ  และความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับสิทธิ  ซึ่งเป็นผลให้มีการต่อต้านกลุ่มที่ทำงานด้านผู้หญิง  และการยอมรับของผู้ชายในเรื่องของความเสมอภาคก็เป็นไปแบบยอมจำนน  เพราะผู้หญิงหลายคนไม่ต้องพึ่งผู้ชายทางเศรษฐกิจต่อไป
10.การปลูกฝังในเรื่องสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นประเด็นสำคัญของปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิงยังไม่มี  เมื่อพูดถึงสิทธก็จะเน้นในเรื่องของการละเมิดอำนาจรัฐที่เป็นความผิด
11. สังคมไม่ได้ให้ความสำคัญของปัญหาความรุนแรงในครอบครัวอย่างจริงจัง  และไม่รู้ถึงข้อเท็จจริงว่า ประเทศไทยได้ลงนามในปฏิญญาต่าง ๆ ในระดับสากลที่จะต้องดำเนินการแก้ไขและลดความรุนแรงต่อผู้หญิงแล้ว 
12.  การไม่ดำเนินการอย่างจริงจัง ทั้งที่มีนโยบายระดับประเทศรองรับการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงแล้ว
 ปัญหาในการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความรุนแรง
1.เมื่อเข้ารับการรักษาจากแพทย์ ผู้หญิงบางคนจะปิดบังไม่ยอมบอกถึงสาเหตุของการถูกกระทำโดยเฉพาะเด็กเมื่อถูกกระทำมักจะไม่กล้าเล่าให้ฟัง บ่อยครั้งที่ปัญหาของเด็กเป็นผลกระทบมาจากพ่อแม่ เมื่อพ่อแม่และญาติปิดบังและไม่เปิดเผยปัญหาของตนเอง แพทย์ก็ไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลืออะไรได้มาก   
2.กรณีที่แพทย์ผู้รักษาไม่สามารถติดตามผลการรักษาได้อย่างต่อเนื่อง อาจทำให้เกิดการละเลยในการเก็บหลักฐานต่าง ๆ ยิ่งหากฝ่ายหญิงไม่ได้แจ้งจะดำเนินคดี ทำให้ไม่มีการเก็บหลักฐาน หรือเก็บได้ไม่ครบถ้วนยกเว้นแต่กรณีที่ถูกกระทำรุนแรงมากและฝ่ายแพทย์ได้พิจารณาเห็นว่าน่าจะแจ้งความแต่ผู้ถูกกระทำไม่ติดใจเอาความก็จะทำให้แพทย์เกิดความลำบากใจ เพราะไม่แน่ใจในบทบาท และคนนอกก็จะทำตัวลำบาก
3.เมื่อเข้ารับการบำบัดจากแพทย์  หากให้ผู้ชายเข้ามาคุยปัญหาด้วย  ความสัมพันธ์ระหว่างสามีและภรรยาอาจเลวลงก็ได้ เพราะผู้ชายซึ่งเป็นผู้กระทำมักไม่ยอมรับว่าตัวเองเป็นผู้สร้างปัญหา
4.ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวต่างจากปัญหาอาชญากรรมทั่วไป เพราะผู้หญิงยังต้องติดต่อกับผู้กระทำตลอดเวลา 
5.เมื่อนักสังคมสงเคราะห์ที่ให้ความช่วยเหลือผู้ถูกกระทำรุนแรงโทรศัพท์ไปเพื่อติดตามผล ก็มักไม่ได้รับความร่วมมือ และกฎหมายก็ยังไม่เอื้ออำนายต่อการทำงานของนักสังคม สงเคราะห์เท่าที่ควร จึงทำให้การทำงานเสมือนการละเมิดเรื่องครอบครัว 
6.ผู้ประสบปัญหาไม่กล้าก้าวออกจากปัญหา ไม่กล้าเปลี่ยนแปลงชีวิตตัวเอง ดังนั้น การจะเปลี่ยนความคิดของผู้ถูกกระทำจึงเป็นเรื่องยาก การแก้ปัญหาการกระทำรุนแรงจึงเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุที่ไม่จบสิ้น
7.การประสานความช่วยเหลือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ฝ่ายสังคมสงเคราะห์ ยังเป็นไปตามเวลาราชการ และไม่สามารถปฏิบัติงานได้ตลอด 24ชั่วโมง จึงไม่สามารถช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาได้อย่างเต็มที่ 
8.เมื่อปัญหาความรุนแรงไปถึงตำรวจ ภรรยาเข้าแจ้งความเพื่อประสงค์ให้ตำรวจช่วยยุติความรุนแรงมากกว่าจะดำเนินคดีกับสามีของตน หรือในกรณีที่ภรรยาบางรายยืนยันจะดำเนินคดี ก็หมายความว่าจะต้องขังและส่งศาล ปัญหาที่ตามมาคือ เมื่อขังแล้วจะเกิดภาระว่า ลูกเมียจะมาเยี่ยมหรือไม่
9.เมื่อภรรยาแจ้งความกับตำรวจแล้ว ภายหลังเกิดเปลี่ยนใจบอกไม่เอาความ และอาจไม่ให้ความร่วมมือในการมาเป็นพยาน หรือหลบหนีการเป็นพยาน ตำรวจเองก็ลำบากใจ จึงไม่แน่ใจว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ถูกทางหรือไม่
10.การดำเนินคดีจะดูแค่การกระทำและปลายเหตุ โดยไม่มีการถามถึงสาเหตุพื้นฐานและที่มา
11.การลงโทษผู้กระทำตามกระบวนการทางกฎหมายเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะหากดำเนินกับผู้กระทำด้วยการจับเข้าคุกเพียงอย่างเดียว แต่ไม่มีการบำบัด รักษาหรือฟื้นฟูจิตใจก็เป็นการแก้ปัญหาไม่ถูกจุด เพราะปัญหาเดิมก็จะเวียนกลับมาอีกไม่รู้จบ
12.ขั้นตอนการของพิจารณาคดียังซ้ำเติมผู้เสียหาย โดยเฉพาะกรณีการข่มขืน เมื่อมีการพิจารณาคดี ชื่อของผู้ถูกกระทำจะปรากฏในคำพิพากษาและฎีกา
13.เมื่อเกิดความรุนแรงขึ้น ผู้หญิงมักเป็นฝ่ายที่ต้องย้ายออกจากบ้าน เพราะกลไกทางกฎหมายยังไม่เอื้อให้ผู้ถูกกระทำต้องย้ายออกจากบ้าน

ผลกระทบของความรุนแรงต่อครอบครัว
สัมพันธภาพอันดีของมนุษย์เกิดจากสถาบันพื้นฐานของสังคม คือครอบครัว ปัจจุบันทุกๆ จุดของสังคมมีแนวโน้มที่จะใช้ความรุนแรงเป็นแนวทางแก้ปัญหา ตั้งแต่ระดับนักการเมืองจนถึงชาวบ้าน เรียกได้ว่า แทบไม่มีความปราณีต่อแก่กัน ประหนึ่งชีวิตของผู้อื่นไม่มีค่า
ความรุนแรงในสังคมที่เราเห็น เป็นเพราะความเครียดซึ่งมีสาเหตุหลายประการ เช่นความเครียดจากภายในครอบครัว จากการงาน จราจร มลพิษที่เราต้องทนอยู่ สิ่งแวดล้อมอันเลวร้าย สภาวะเศรษฐกิจ ความเครียดเหล่านี้ย่อมทำให้เราหมดความอดทนอดกลั้นพร้อมที่จะแสดงปฏิกิริยาปะทะที่รุนแรง
อย่างไรก็ตาม ปฏิกิริยาแรงนี้จะเกิดขึ้นได้ชั่วขณะ เมื่อผ่านพ้นไปแล้วทุกคนต่างไม่ประสงค์ที่จะใช้ความรุนแรง อีกด้วยรู้สึกไม่สบายใจ รู้สึกขายหน้า ถ้าได้รับฟังคำพูดที่กระตุ้นเตือนคุณธรรมที่มีอยู่ในใจ ก็จะเกิดความเมตตากรุณาขึ้นมาในใจ แต่ความรุนแรงกลุ่มหนึ่งซึ่งน่ากลัว เป็นอภัยต่อสังคม เป็นอันตรายต่อชีวิต คือความรุนแรงต่อครอบครัว ซึ่งที่เกิดบ่อยๆ คือ การลงโทษลูกด้วยความรุนแรง ใช้วิธีข่มขู่ด้วยอารมณ์ การกล่าววาจาที่รุนแรง เหน็บแนม ให้ได้อายและความขัดแย้งกันระหว่างพ่อ แม่ หรือระหว่างสมาชิกอื่นที่เป็นผู้ใหญ่ในครอบครัว ทำให้เด็กแลเห็นตัวอย่างของการตัดสินปัญหาด้วยความรุนแรงเข้าไว้เป็นประสบการณ์ และนำมาใช้ในวิถีชีวิตของตน ซึ่งจะมีอิทธิพลต่อการพัฒนาทางด้านจิตใจ แบ่งเป็นผลกระทบระยะสั้น และผลกระทบระยะยาว
ผลกระทบระยะสั้น ถ้าเป็นเด็กเล็กๆ จะหงุดหงิด ไม่มีความสุข เลี้ยงยาก หวาดผวาเมื่อผู้ที่ลงโทษมาใกล้ บางรายหงอย ซึม ไม่สนใจเล่น ไม่แจ่มใส ถ้าโตขึ้นจะมีอารมณ์หงุดหงิดง่าย ไม่มีความสุข โกรธนาน โกรธเพื่อน ระงับความโกรธไม่ได้ ใช้ความรุนแรงกับเพื่อน น้องหรือเลี้ยงสัตว์ หากกับเด็กโต นอกจากจะหงุดหงิดง่าย ไม่สุขสบายส่งผลให้ระบบการเรียนต่ำลง สมาธิและความสนใจลดลง เบื่อหน่าย ไม่ยากเรียน มีแนวโน้มจะขัดคำสั่งครู ไม่ยอมทำตามกฎระเบียบของโรงเรียนและสังคม
ผลกระทบระยะยาว เด็กที่ถูกเลี้ยงดูด้วยวิธีรุนแรง หรืออยู่ในบรรยากาศสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงจะรู้สึกว่าสังคมแรกคือ สังคมในบ้านเป็นสิ่งไม่ดี และจะมีแนวโน้มแง่ร้าย นิยมความก้าวร้าวรุนแรง ดังนั้นเด็กที่ได้รับความรุนแรงอย่างมากๆ จะมีแนวโน้มที่จะต่อต้านสังคม
ความรุนแรงในครอบครัวมีผลเสียต่อจิตใจ และพัฒนาการทางด้านบุคลิกภาพของเด็กซึ่งถ้าเราไม่ช่วยกันลดการใช้ความรุนแรงในครอบครัวให้หมดไป หรือลดน้อยลง ในที่สุดเราก็ได้ประชากรที่นิยมความรุนแรง การเดินถนนของเราคงจะไม่มีความปลอดภัยแล้ว และถ้าใช้ความรุนแรงกับลูกของเรา ลูกของเราก็ใช้ความรุนแรงกับหลานแหลนของเราต่อไปดังนั้นเรามาอยู่ด้วยกันด้วยความรัก ความเมตตา ลูกๆ ก็จะมีความสุข และในที่สุด สังคมประเทศชาติก็จะมีความสุขด้วย

บทสรุป
จากผลการสำรวจสะท้อนให้เห็นว่าการจะแก้ไขปัญหาความรุนแรงในสังคมนั้น ควรเริ่มจากการสร้างความรักความเข้าใจอันดีของสมาชิกในครอบครัวให้เกิดขึ้นก่อน โดยสมาชิกแต่ละคนควรตระหนักถึงบทบาทและหน้าที่ของตนเองและทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด โดยเฉพาะพ่อแม่นั้นควรให้เวลากับลูกและให้ความรัก ความอบอุ่น ตลอดจนอบรมคุณธรรมจริยธรรมให้กับลูกอย่างสม่ำเสมอ เพราะคงปฏิเสธไม่ได้ว่าครอบครัวที่อบอุ่นนั้นจะช่วยสร้างเยาวชนที่มีคุณภาพให้กับประเทศต่อไป 
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้จัดโครงการ รณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัวโดยมีการใช้ริบบิ้นสีขาวเป็นสัญลักษณ์เพื่อยุติความรุนแรง อีกทั้งองค์การสหประชาชาติเพื่อเด็กและสตรี (UNIFEM) ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาความรุนแรง ด้วยการจัดตั้งกองทุนการพัฒนาเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ โดยมีพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงเป็นองค์ทูตสันถวไมตรี
การจะทำให้ปัญหาความรุนแรงในสังคมไทยลดลงควรเริ่มจากการสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นในสถาบันครอบครัว โดยการให้ความรักความเข้าใจอันดีซึ่งกันและกันภายในครอบครัว มีความซื่อสัตย์ต่อครอบครัว รู้จักปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างเหมาะสม ปลูกฝังทัศนคติที่ดีในเรื่องของความเสมอภาคของหญิงและชาย รู้จักให้เกียรติซึ่งกันและกัน ให้ความรู้เกี่ยวกับพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 แก่ประชาชนทั่วไป ตำรวจและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องควรใช้กฎหมายควบคุมอย่างเข้มงวด ตลอดจนคนในสังคมควรให้การสนับสนุนและผลักดันให้ปัญหาความรุนแรงลดน้อยลงด้วยการแจ้งเจ้าหน้าที่เมื่อพบเห็นความรุนแรงในครอบครัว เพราะความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องของสาธารณชน ไม่ใช่เรื่องส่วนตัวอีกต่อไป








ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น