วันอาทิตย์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2556

ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นางสาวธารทิพย์ เทพบุญยืน 53242049


บทความเชิงวิชาการ
ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
บทนำ
ปัจจุบันทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติ ทั้งภายในประเทศและในท้องถิ่นมีแนวโน้มถูกทำลายเพิ่มมากขึ้น  ทั้งนี้เนื่องจากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีทั้งสิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ โดยเฉพาะมนุษย์เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงทั้งในทางเสริมสร้างและทำลายและในปัจจุบันจำนวนประชากรมนุษย์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มีการประดิษฐ์และพัฒนาเทคโนโลยี  มาใช้อำนวยประโยชน์ต่อมนุษย์เพิ่มมากขึ้น
ผลจากการทำลายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ  ส่งผลกระทบต่อ มนุษย์หลายประการ เช่น ปัญหาการแปรปรวนของภูมิอากาศโลกการร่อยหรอ ของทรัพยากรธรรมชาติภัยพิบัติมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น   มลพิษสิ่งแวดล้อมขยายขอบเขต กว้างขวางมากขึ้น  ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำรงอยู่และการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของมนุษย์

ความหมายของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจน เราสามารถแยกการให้คำจำกัดความได้ ดังนี้ คือ
ทรัพยากรธรรมชาติ หมายถึง สิ่งต่าง ๆที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติซึ่งมนุษย์นำมาใช้ประโยชน์ทางใดทางหนึ่ง เช่น บรรยากาศ ดิน น้ำ ป่าไม้ ทุ่งหญ้า สัตว์ป่า แร่ธาตุ พลังงาน เป็นต้น ดังนั้นในแง่เศรษฐกิจ ทรัพยากรธรรมชาติเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดการผลิต ซึ่งจะมีประโยชน์ก็ต่อเมื่อได้นำมาใช้เพื่อเศรษฐกิจ การใช้จึงต้องใช้ด้วยความประหยัด การนำมาใช้ต้องคำนึงถึงหลักการอนุรักษ์พร้อมกันไปด้วย
ประเภทของทรัพยากรธรรมชาติสามารถแบ่งตามการนำมาใช้งานและผลที่เกิดขึ้นได้ 3 ประเภท ดังนี้
1.  ทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วไม่หมดสิ้น(non-exhaustible natural resources)   คือทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วไม่หมดหรือไม่สูญหายไป ทรัพยากรธรรมชาติประเภทนี้ ได้แก่ บรรยากาศ น้ำและในวัฎจักร แสงอาทิตย์ เป็นต้น
2.  ทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วหมดไป (exhausting natural resources) คือทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป หรือไม่สามารถทดแทนขึ้นหรือใช้ระยะเวลาในการทดแทนขึ้นใหม่   ทรัพยากรธรรมชาติประเภทนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องศึกษาเพื่อหาแนวทางในการอนุรักษ์ให้สามารถมีใช้ประโยชน์ได้นานที่สุด ซึ่งทรัพยากรประเภทนี้ได้แก่  แร่ธาตุ พลังงาน  ที่ดินในสภาพธรรมชาติเป็นต้น
3.  ทรัพยากรธรรมชาติที่ทดแทนได้หรือรักษาไว้ได้ (renewable  natural resources) เป็นทรัพยาการที่เกิดขึ้นใหม่ได้ตลอดเวลา  ทรัพยากรธรรมชาติประเภทนี้หากมีการจัดการในการใช้อย่างถูกวิธีจะสามารถเกิดขึ้นหรือทดแทนขึ้นใหม่ได้  แบ่งได้ดังนี้ น้ำที่อยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง ดิน  ป่าไม้ ทุ่ง สัตว์ป่า

สิ่งแวดล้อม คือ ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ล้อมรอบตัวมนุษย์มีทั้งสิ่งที่มีชีวิตและสิ่งที่ไม่มีชีวิต เห็นได้ด้วยตาเปล่า และไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า ทั้งสิ่งที่เป็นรูปธรรมและสิ่งที่เป็นนามธรรม   มีทั้งสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น  สิ่งแวดล้อมจะประกอบด้วยทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรที่มนุษย์สร้างขึ้นในช่วงเวลาหนึ่งเพื่อสนองความต้องการของมนุษย์ซึ่งมีอิทธิพลเกี่ยวโยงถึงกัน เป็นปัจจัยในการเกื้อหนุนซึ่งกัน ผลกระทบจากปัจจัยหนึ่งจะมีส่วนเสริมสร้างหรือทำลายอีกส่วนหนึ่ง อย่างหลีกเลี่ยงมิได้ สิ่งแวดล้อมเป็นวงจรและวัฏจักรที่เกี่ยวข้องกันไปทั้งระบบ
สำหรับประเภทของสิ่งแวดล้อมนั้นสามารถแบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ 2 ประเภท
1.  สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ ( Natural Environment) หมายถึง สิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นเองหรืออยู่ตามธรรมชาติแบ่งออกเป็น 2 ประเภทย่อย คือ
สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ หรือสิ่งแวดล้อมที่ไม่มีชีวิต (Abiotic Environment) เป็นสิ่งแวดล้อมที่ธรรมชาติสร้างขึ้นมา และสามารถสูญสิ้นไปได้ ได้แก่ แร่ธาตุ แร่เชื้อเพลิง บางชนิดเป็นสิ่งแวดล้อมที่ปรากฏให้สัมผัสได้ ไม่มีวันสูญสิ้นไปจากโลก ได้แก่ ดิน หิน น้ำ อากาศ ความร้อน แสงสว่าง เสียง เป็นต้น
สิ่งแวดล้อมชีวภาพหรือสิ่งแวดล้อมที่มีชีวิต ((Biotic Environment) เป็นสิ่งแวดล้อมที่ใช้ระยะเวลาสั้นๆ ในการเกิด เป็นสิ่งแวดล้อมที่สามารถเพิ่มจำนวนขึ้นมาทดแทนใหม่ได้   แต่เป็นสิ่งแวดล้อมที่สูญสิ้นไปได้ หากทำให้ธรรมชาติเสียสมดุล ได้แก่ป่าไม้ สัตว์ป่า ทุ่งหญ้า สัตว์น้ำ และมนุษย์เป็นต้น
2.  สิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น (man-made  environment)   สิ่งแวดล้อมประเภทนี้มนุษย์อาจสร้างขึ้นโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ได้ มีทั้งสิ่งที่มองเห็นได้ จับต้องได้ และสิ่งที่ไม่สามารถมองเห็นได้หรือไม่สามารถจับต้องได้ เป็นสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อสนองความต้องการของตนเองหรืออาจสร้างขึ้นด้วยเหตุจำเป็นบางอย่าง สิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้นนั้น  สามารถแบ่งย่อยออกเป็น 2 ลักษณะ
สิ่งแวดล้อมทางกายภาพหรือสิ่งแวดล้อมที่เป็นรูปธรรม  (physical  environment) สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ  เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น เป็นสิ่งแวดล้อมที่มองเห็นได้ จับต้องได้ หรือเรียกว่า สิ่งแวดล้อมรูปธรรม เช่น บ้านเรือน ถนน สนามบิน เขื่อน โรงงาน วัด เป็นต้น
สิ่งแวดล้อมทางสังคมหรือสิ่งแวดล้อมที่เป็นนามธรรม ((social  environment)   อาจสร้างขึ้นโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ หรืสร้างขึ้นเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของการอยู่ร่วมกันในสังคม เช่นกฎหมาย ประเพณี ระเบียบ ข้อบังคับ เป็นต้น
โดยคำนิยามแล้วจะเห็นได้ว่า ทรัพยากรธรรมชาติทุกประเภทนั้นจะเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อม แต่สิ่งแวดล้อมทุกชนิดไม่เป็นทรัพยากรธรรมชาติทั้งหมด ซึ่งอาจกล่าวสรุป ได้ว่าการที่จะจำแนกสิ่งแวดล้อมใด ๆ เป็นทรัพยากรธรรมชาตินั้น มีปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายประการ
- ประการแรก เกิดจากความต้องการของ มนุษย์ที่จะนำสิ่งแวดล้อมมาใช้ให้เกิดประโยชน์ กับตนเอง
- ประการที่สอง การเปลี่ยนแปลงตาม กาลเวลา ถ้ายังไม่นำมาใช้ก็เป็นสิ่งแวดล้อม แต่ ถ้านำมาใช้ประโยชน์ได้ก็จะกลายเป็นทรัพยากรธรรมชาติในช่วงเวลานั้น ๆ
- ประการที่สาม สภาพภูมิศาสตร์และ ความห่างไกลของสิ่งแวดล้อม ถ้าอยู่ไกลเกินไปคนอาจไม่นำมาใช้ ก็จะไม่สามารถแปรสภาพเป็นทรัพยากรธรรมชาติได้
นอกจากนี้ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะอยู่รวมกันเป็นกลุ่มคละกันไปโดยอยู่ร่วมกันอย่างมีกฎ ระบบ ข้อบังคับทั้งที่เกิดขึ้น เองโดยธรรมชาติและทั้งที่มนุษย์กำหนดขึ้นมาการอยู่เป็นกลุ่มของสรรพสิ่งเหล่านี้ จะแสดงพฤติกรรมร่วมกันภายในขอบเขตและแสดงสรรพสิ่ง เหล่านี้จะเรียกว่า ระบบนิเวศ หรือระบบสิ่งแวดล้อม  นั่นเอง

ความสำคัญและผลกระทบของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
มนุษย์เรามีความสัมพันธ์กับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างใกล้ชิด ทั้งในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ และในขณะเดียวกันทรัพยากรธรรมชาตินั้นก็เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์และ มีความสำคัญต่อมนุษย์มากมายหลายด้าน ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม และเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเอง ดังนั้นทรัพยากรธรรมชาติจึงมีความสำคัญต่อมนุษย์ในด้านต่าง ๆ ดังนี้
1.  การดำรงชีวิต ทรัพยากรธรรมชาติเป็นต้นกำเนิดของปัจจัย 4 ในการดำรงชีวิตของมนุษย์พบว่า มนุษย์จะต้องพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติเพื่อสนองความต้องการทางด้านปัจจัยสี่ คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค
2.  การตั้งถิ่นฐานและการประกอบอาชีพ  ทรัพยากรธรรมชาติเป็นปัจจัยพื้นฐานในการตั้งถิ่นฐานและประกอบอาชีพของมนุษย์ เช่น แถบลุ่มแม่น้ำหรือชายฝั่งทะเลที่อุดมสมบูรณ์ด้วยพืชและสัตว์ จะมีประชาชนเข้าไปตั้งถิ่นฐานและประกอบอาชีพทางการเกษตรกรรมประมง เป็นต้น
3.  การพัฒนาทางเศรษฐกิจ  จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพราะมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศทั้งทางตรง เช่น ทรัพยากรพลังงาน ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ หรือโดยทางอ้อม เช่น เป็นสถานที่ท่องเที่ยว พักผ่อนหย่อนใจ นำรายได้จากการท่องเที่ยวเข้าสู่ประเทศ
4.  มีความสำคัญด้านวิชาการ    ทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การประดิษฐ์เครื่องมือ เครื่องใช้ต้องอาศัยทรัพยากรธรรมชาติเป็นปัจจัยที่สำคัญในการผลิต หรือเป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรม
5.  มีความสำคัญต่อการรักษาสมดุล    ของระบบนิเวศการหมุนเวียน ของแร่ธาตุและสารอาหารในระบบนิเวศ เนื่องจากทรัพยากรธรรมชาติเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศทั้งระบบนิเวศบนบก ระบบนิเวศทางน้ำ
ดังนั้น บริการต่างๆ ที่มนุษย์เราได้รับจากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงช่วยให้มีชีวิตรอดอยู่ได้ และสามารถทำให้คุณภาพชีวิตของมนุษย์ดีขึ้น แต่จะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขของการรู้จักใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างชาญฉลาดและมีการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เป็นระบบอย่างเหมาะสม ต้องคำนึงถึงขีดความสามารถในการรองรับ เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน เพราะหากใช้ประโยชน์ที่มากเกินขนาด และขาดความระมัดระวังในการใช้ จะก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม จนกลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ย้อนกลับมาส่งผลกระทบต่อชีวิต และความเป็นอยู่ของมนุษย์ในที่สุด

กิจกรรมของมนุษย์ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ได้แก่
1.  กิจกรรมทางด้านอุตสาหกรรม   โดยไม่มีการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม มีการนำใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากมาย และก่อให้เกิดมลพิษ ต่อสิ่งแวดล้อม
2.  กิจกรรมทางการเกษตร   เช่นมีการใช้ยาฆ่าแมลงส่งผลให้เกิดอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของมนุษย์ เนื่องจากมีการสะสมสารพิษ ไว้ในร่างกายของสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดอันตราย ในระยะยาวและคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่แย่ลง
3.  กิจกรรมการบริโภคของมนุษย์ ส่งผลให้ มีการใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือย ขาดการคำนึงถือสิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดปัญหา สิ่งแวดล้อมตามมา

ปัญหาและสาเหตุความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย
สาเหตุของปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย
ในหลายทศวรรษที่ผ่านมาประเทศไทยได้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไปมาก ส่งผลให้เกิดความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างกว้างขวาง และยังส่งผลกระทบต่อคุณภาพและวิถีการดำรงชีวิตของประชาชนเป็นวงกว้างและรุนแรงขึ้นตามลำดับ
สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ได้แก่  ปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติทั้งในด้านปริมาณที่ลดน้อยลงจนใกล้ ภาวะขาดแคลน และด้านคุณภาพ เช่น ดินเสื่อมสภาพ  แม่น้ำเน่าเสีย เป็นต้น ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร ทำให้การใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพิ่มสูงขึ้นจนเกิดสภาพเสื่อมโทรมและลดลงอย่างรวดเร็ว และการพัฒนาที่ผ่านมาได้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะที่ดิน ป่าไม้ แหล่งน้ำทรัพยากรชายฝั่งทะเล ทรัพยากรธรณี ในอัตราที่สูงและเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ จนมีผลทำให้ทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้ เกิดการร่อยหรอและเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว รวมทั้งเริ่มส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชนในชนบท ที่ต้องพึ่งพาทรัพยากรเป็นหลักในการยังชีพ
ปัญหาวิกฤตการณ์ทรัพยากรดินในประเทศไทย
ปัญหาการพังทลายของดินและการสูญเสียหน้าดินโดยธรรมชาติ เช่น การชะล้าง การกัดเซาะของน้ำและลม ปัญหาดินเค็มซึ่งเกิดจากโครงสร้างทางธรณีวิทยา และ ปัญหาจากการกระทำของมนุษย์เช่น การชะล้างพังทลายของดิน  เกิดจากการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า ทำให้ดินขาดต้นไม้ยึดเกาะหน้าดิน เมื่อฝนตกจึงเกิดการชะล้างพังทลาย ปัญหาดินเสื่อมคุณภาพ  เกิดจากการปลูกพืชซ้ำซากและการใช้ดินไม่ถูกวิธี ใช้ปุ๋ยเคมีหรือสารเคมีมากเกินไป ตลอดจนการปล่อยน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม ก่อให้เกิดการสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ของดิน รวมทั้งปัญหาการขยายตัวของเมืองที่รุกล้ำเข้าไปในพื้นที่เกษตรกรรม และการนำมาใช้เป็นที่อยู่อาศัย ที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรม และการขาดการจัดการที่ดี ล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และก่อให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจ
วิกฤตการณ์ทรัพยากรธรณี ในประเทศไทย
การนำทรัพยากรธรณีทั้งในรูปแร่ธาตุ พลังงาน มาใช้ประโยชน์ ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมเป็นอย่างมากโดยเฉพาะการทำเหมืองแร่ในพื้นที่ต้นน้ำลำธารการทำเหมืองแร่ทั้งบนบกและในทะเล ได้ก่อให้เกิดปัญหาน้ำเสียและดินตะกอน ปัญหาเรื่องฝุ่นและอากาศเป็นพิษ และปัญหาดินเสีย สาเหตุประการสำคัญก็คือ การใช้เทคโนโลยีที่ไม่เหมาะสมการละเลยไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องในการควบคุม ป้องกันและแก้ไขปัญหา
วิกฤตการณ์ทรัพยากรน้ำในประเทศไทย
ปัญหาน้ำกร่อย  เกิดจากน้ำทะเลหนุนขึ้นตามแม่น้ำลำคลองในช่วงฤดูแล้ง ตลอดจนการทำนากุ้ง และปล่อยน้ำลงสู่แม่น้ำลำคลอง เกิดปัญหาปริมาณเกลือปะปนอยู่ในน้ำเกินระดับพอดี ปัญหาขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง  และการใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำเพื่อกิจกรรมต่างๆ ยังมีความขัดแย้งกันอยู่ต่อการจัดการทรัพยากรน้ำและการพัฒนาแหล่งน้ำ เนื่องจากปริมาณน้ำที่เก็บกักได้มีจำนวนจำกัด แต่ความต้องการใช้น้ำมีปริมาณเพิ่มขึ้นตลอดเวลา ทั้งในด้านเกษตรกรรมอุตสาหกรรม และการอุปโภคบริโภค เป็นผลให้มีน้ำไม่พอกับความต้องการ การบริหารการจัดการยังไม่มีระบบที่ชัดเจนต่อเนื่องและประสานสอดคล้องกัน
 วิกฤตการณ์ทรัพยากรป่าไม้ในประเทศไทย ได้แก่
พื้นที่ป่าไม้มีสภาพเสื่อมโทรมและมีแนวโน้มลดลงอย่างมาก  เนื่องจาก ปัญหาการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ สาเหตุมาจาก การขยายพื้นที่อุตสาหกรรม การบุกรุกทำลายป่าเพื่อต้องการที่ดินเป็นที่อยู่อาศัย และทำการเกษตร การเผาป่า  ตลอดจนการลักลอบตัดไม้ของนายทุนและชาวบ้าน และปัญหาการสูญเสียพื้นที่ป่าชายเลน  เนื่องจากการขยายตัวของเขตอุตสาหกรรม และการกัดเซาะของน้ำทะเลและปัญหาเหล่านี้ได้ส่งผลกระทบต่อการควบคุมระบบนิเวศโดยส่วนรวม เช่น ปัญหาความแห้งแล้ง และปัญหาน้ำท่วม เป็นต้น
วิกฤตการณ์ทรัพยากรสัตว์ป่าในประเทศไทย
วิกฤตการณ์ทรัพยากรสัตว์ป่าในประเทศไทย ได้แก่ สัตว์ป่าในเมืองไทยลดลง บางชนิดใกล้สูญพันธุ์ สาเหตุเนื่องจากการล่าสัตว์เพื่อการค้า และการทำลายป่าซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า
วิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย
วิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในไทย คือสิ่งแวดล้อมเป็นมลพิษ หมายถึง สภาพของสิ่งแวดล้อมที่ไม่น่าพึงพอใจ ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพและร่างกาย ปัญหามลพิษในประเทศไทย ได้แก่
1.  มลพิษทางอากาศ    หรืออากาศเป็นพิษ สาเหตุเกิดจากควันพิษจากท่อไอเสีย และโรงงานอุตสาหกรรม ตลอดจนควันที่เกิดจากการเผาขยะและฝุ่นละอองจากการก่อสร้างอาคารสูง
2.  มลพิษทางน้ำ    เกิดจากน้ำเสียจากอาคารบ้านเรือนและโรงงานอุตสาหกรรม ตลอดจนการเพาะปลูกและการเลี้ยงสัตว์ การปล่อยน้ำเสียลงสู่แม่น้ำลำคลอง
3.  มลพิษทางกลิ่น  เกิดจากนิคมอุตสาหกรรมปล่อยน้ำเสียและอากาศเป็นพิษ
4.  มลพิษทางเสียง   เกิดจากเสียงที่ดังเกินปกติจากยานพาหนะ จากสถานประกอบการ และจากอาคารบ้านเรือน
5.  สารมลพิษ      เกิดจากสารตะกั่ว   และสารพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม  ตลอดจนการใช้สารเคมีในการเกษตร ทำให้เกิดพิษตกค้างในสิ่งแวดล้อม และถ่ายทอดสู่คนในระบบห่วงโซ่อาหาร ทำให้มนุษย์ได้รับสารพิษในที่สุด
6.  มลพิษจากขยะมูลฝอย   เกิดจากการเพิ่มของประชาชน การเก็บขยะและการกำจัดขยะมูลฝอยและ  สิ่งปฏิกูลเกิดการตกค้าง ตลอดจนขยะบางชนิดย่อยสลายยากและประชาชนบางส่วนขาดจิตสำนึกที่ดีในการรักษาความสะอาด

สาเหตุที่มนุษย์ทำลายทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมมีหลายสาเหตุดังนี้
1.  การเพิ่มของประชากรโลก เป็นไปอย่างรวดเร็ว เนื่องจากความเจริญทางด้านการแพทย์ ช่วยลดอัตราการตาย โดยการเพิ่มประชากรนี้ ก่อให้เกิดการบริโภคทรัพยากรมากขึ้น มีของเสียมากขึ้น
2.  พฤติกรรมการบริโภค    อันเนื่องมาจาก      ต้องการให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น   มีความสุขสบายขึ้น มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติสิ้นเปลือง มีขยะและของเสียมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อ สิ่งแวดล้อมและตัวมนุษย์เอง
3.  ความโลภของมนุษย์ โดยนำทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมมาใช้เพื่อให้ตนเองมีความร่ำรวย ขาดสติยั้งคิด ถึงสิ่งแวดล้อม เป็นผลส่งให้เกิดปัญหา สิ่งแวดล้อม ที่มากระทบต่อมนุษย์เองในที่สุด
                4.    ความไม่รู้ทำให้มนุษย์  ขาดการรู้เท่าทันบนรากฐานแห่งความจริงในสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ส่งผลให้มนุษย์ขาดสติในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ มีพฤติกรรมการบริโภค อันเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อม โดยขาดการคาดการณ์

แนวคิดเกี่ยวกับปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
แนวทางการมองแบบ  นิเวศวิทยาการเมือง(Political Ecology) ที่มองประเด็นปัญหาสภาพแวดล้อม ว่าไม่ได้เกิดจากปัญหาระบบนิเวศพังทลาย  แต่เกิดจากโครงสร้างทางการเมือง  ความไม่เป็นธรรม  และความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ก่อให้เกิดปัญหาแย่งชิงทรัพยากรและนำไปสู่การทำลายธรรมชาติและสภาพแวดล้อมในที่สุด ดังนั้นเราจึงต้องมอง กายภาพทั้งหมดของโลกธรรมชาติ”  เสียก่อน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในนิเวศวิทยาของมนุษย์  (Holistic ecology)  ทั้งนี้แนวคิดนิเวศวิทยาเชิงระบบ  มีรายละเอียด  ดังนี้
Holistic ecology  มีข้อสรุปที่สำคัญ  คือ  วิกฤตการณ์ทางสิ่งแวดล้อมของสังคมไม่ได้เกิดมาจากปัจจัยตัวเดียว  หากแต่เป็นผลผลิตร่วมกันของระบบความสัมพันธ์ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับประชากรทรัพยากร  เทคโนโลยี  เศรษฐกิจ  สังคมวัฒนธรรม  และการเมือง  สาเหตุสำคัญของวิกฤตการณ์ทางสิ่งแวดล้อมมีดังนี้
ปัญหาประชากร : การมีประชากรมากเกินสร้างแรงกดดันให้แก่ระบบทรัพยากรในชนบท  รวมไปถึงสร้างความตึงเครียดให้แก่การใช้ทรัพยากรทั่วไป  และก่อให้เกิดการขยายตัวของมลภาวะหลายรูปแบบ

วิกฤตการณ์ของสังคมเมือง:วิกฤตการณ์ในชนบทผลักดันให้ผู้คนเป็นจำนวนมากต้องอพยพเข้ามาในเมืองใหญ่  ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาสังคมเมือง
ความล้มเหลวในการจัดการเกี่ยวกับการควบคุมมลภาวะ : รัฐ  และระบบราชการไม่ประสิทธิภาพในการใช้กฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมประเภทต่างๆ
ลัทธิบริโภค : แบบแผนการบริโภคที่ได้รับอิทธิพลมาจากอุดมการณ์ทุนนิยม  เร้าให้มีการบริโภคมากขึ้นๆ  ซึ่งเป็นการเผาผลาญทรัพยากรอย่างไร้เหตุผล  เพื่อส่งเสริมธุรกิจทุนนิยมที่มุ่งแสวงหากำไร
ลัทธิบูชาเทคโนโลยี : ความหลงใหลในไฮเทคทำให้การละเลยเทคโนโลยีแบบสายกลาง  การใช้เทคโนโลยีเป็นไปเพื่อการแสวงหากำไรมากกว่าที่จะคำนึงผลกระทบต่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม
การละเลยความคิดแบบนิเวศ : การไม่คำนึงถึงกฎพื้นฐานของนิเวศวิทยาก่อให้เกิดการกระทำหลายอย่างมีผลกระทบทำลายระบบนิเวศ  รวมไปถึงความหลากหลายทางนิเวศของป่าเขา  แม่น้ำ  ชีวิตสัตว์ป่า
วิกฤตการณ์ของการจัดการทางเศรษฐกิจ : ยุทธศาสตร์ที่เน้นเรื่องความเจริญเติบโตส่งเสริมการใช้ทรัพยากรและการทำลายล้างธรรมชาติอย่างกว้างขวางในระยะสั้น  จนก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ของโลกธรรมชาติในระยะยาว
พฤติกรรมของปัจเจกชนที่เน้นผลประโยชน์ส่วนตน : ทัศนคติที่ต้องการพิชิตธรรมชาติและจริยธรรมทุนนิยม  ส่งเสริมให้ปัจเจกชนมุ่งแสวงหาอรรถประโยชน์สูงสุดเพื่อตัวเองโดยไม่คำนึงถึงสังคมส่วนรวม ไม่คำนึงถึงอนาคต  ไม่คำนึงถึงชนรุ่นหลัง
เป็นเพียงปัจจัยบางประการเท่านั้นที่มีส่วนก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ทางสิ่งแวดล้อม  แต่สิ่งสำคัญ  คือ  ปัจจัยเหล่านี้ล้วนแต่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างระบบใหญ่ของสังคมมนุษย์  ดังนั้นการเคลื่อนไหวเพื่อแก้ไขปัญหาทางสิ่งแวดล้อม  จึงต้องมุ่งไปที่การเปลี่ยนแปลงระบบความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม  รวมทั้งระหว่างสังคมกับธรรมชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  แต่การเปลี่ยนแปลงเช่นว่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผู้คนเป็นจำนวนมากขึ้น  มีจิตสำนึกทางนิเวศแบบมหภาคและเริ่มมองเห็นความจำเป็นของการเปลี่ยนแปลง  รวมทั้งพร้อมที่จะเข้าร่วมเคลื่อนไหวในระดับชาติได้อย่างต่อเนื่อง

การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
                การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หมายถึง การดำเนินงานต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ ด้านการจัดหาการเก็บรักษา กระบวนการจัดการ แผนงานหรือกิจกรรมในการจัดสรรและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อสนองความต้องการของมนุษย์และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายสูงสุดของการพัฒนาคือเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ - สังคมและคุณภาพ สิ่งแวดล้อม โดยยึดหลักการอนุรักษ์ด้วยการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างฉลาดประหยัด และก่อให้เกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดรวมทั้ง การสงวนเพื่อให้ทรัพยากรธรรมชาติสามารถให้ผลได้อย่างยาวนานและดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อทำให้สิ่งที่อยู่รอบ ๆ ตัวเรามีผลดีต่อคุณภาพชีวิต

แนวทางการป้องกันแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ
ปัญหาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ก่อให้เกิดความเสียหายต่าง ๆ ตามมาอย่างมากมาย มีผลต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตบนโลก ทั้งยังเกี่ยวโยงถึงสภาพเศรษฐกิจและสังคม นอกจากนี้ยังส่งผลให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมที่เป็นผลเสียโดยตรงต่อสิ่งมีชีวิต ซึ่งอาจทำให้เกิดการสูญเสียสิ่งมีชีวิต หรือนำไปสู่สภาวะที่พืชและสัตว์บางชนิดสูญพันธุ์ไปได้
ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องมีการจัดทำแนวทางและวิธีดำเนินการในการป้องกัน ยับยั้ง ชะลอ และขัดขวาง การเกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ โดยแนวทางการป้องกันแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ขั้นตอน ดังนี้
1.  การป้องกัน  หมายถึงการป้องกันคุ้มครองทรัพยากร  ที่สามารถเกิดขึ้นใหม่ได้เอง เพื่อให้การนำทรัพยากรมาใช้อยู่ในระดับที่สามารถเกิดขึ้นมาทดแทนได้ทัน ช่วยให้มีทรัพยากรนั้นไว้ใช้อย่างยั่งยืนรวมถึงการป้องกันทรัพยากรที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ไม่ทำให้สภาวะสิ่งแวดล้อมเสียสมดุลไป  โดยใช้มาตรการต่าง ๆ ตั้งแต่การใช้กฎหมาย ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน ในการใช้ทรัพยากรอย่างเหมาะสม เพื่อมีทรัพยากรเกิดขึ้นหมุนเวียนสำหรับใช้งานได้อย่างยั่งยืนสืบไป
2.  การแก้ไขและฟื้นฟู  เป็นขั้นตอนดำเนินการภายหลังที่เกิดการเสื่อม  หรือเสียสภาพของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นการแก้ไขปรับปรุง ตลอดจนการบำบัดฟื้นฟูสภาพของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้กลับมาอยู่ในสภาพที่ดีขึ้นและเหมาะสมสำหรับการใช้ประโยชน์ต่อไป
3.  การอนุรักษ์ หมายถึง การใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วยความฉลาดและใช้อย่างเหมาะสม เพื่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุด หลีกเลี่ยงให้เกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดกระบวนการดำเนินการอนุรักษ์อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ ต้องครอบคลุมทั้งปัญหาด้านการทำลายสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติจนเกิดความเสื่อมโทรมรวมถึงปัญหาการก่อมลพิษแก่สิ่งแวดล้อมที่จะส่งผลกระทบกลับมาสู่ตัวมนุษย์เองด้วย

แนวทางการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
การเพิ่มประชากรอย่างรวดเร็ว (Exponential) ทำให้มีการนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้สนองความต้องการในการดำรงชีวิตมากขึ้นทั้งทางด้านปริมาณและคุณภาพ ซึ่งบางครั้งเกินความจำเป็น จนทำให้ระบบนิเวศต่าง ๆ เสียสมดุล ทรัพยากรธรรมชาติบางอย่างเสื่อมโทรม จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาวิธีการ ในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างเหมาะสมและมีเหตุผล ทั้งนี้รวมไปถึงการควบคุมขนาดประชากรโลกให้มีความเหมาะสมกับทรัพยากรของโลก ขณะเดียวกันก็ต้องอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมควบคู่ไปด้วย
แนวคิดการพัฒนาแบบยั่งยืน (Sustainable Development-S.D.)
WCED World Commission on Environment and Development ได้ให้ความหมายของการพัฒนา แบบยั่งยืนไว้ว่า เป็นการพัฒนา ที่สามารถตอบสนอง ต่อความต้องการขั้นพื้นฐาน ของคนในรุ่นปัจจุบัน เช่น อาหารเครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัย ฯลฯ โดยไม่ทำให้ ความสามารถ ในการตอบสนอง ความต้องการดังกล่าว ของคนรุ่นต่อไปต้องเสียไป
จะเห็นว่า S.D เป็นเรื่องเกี่ยวข้อง กับความเท่าเทียมกัน ของคนในปัจจุบันรุ่นเดียวกัน และความเท่าเทียมกัน ของคนระหว่างรุ่นปัจจุบัน และรุ่นต่อไป เป็นความเท่าเทียมกัน ที่มุ่งให้เกิดความยุติธรรม ในการกระจายความมั่งคั่ง (รายได้) และการให้ทรัพยากร ตลอดจนการอนุรักษ์ สิ่งแวดล้อมโดย S.D. จะเกี่ยวข้องกับ ความสัมพันธ์ของระบบ 3 ระบบ คือ ระบบนิเวศ/สิ่งแวดล้อม ระบบเศรษฐกิจ และระบบสังคม เพื่อให้มีความเจริญเติบโต พร้อมกันจากคนในรุ่นปัจจุบัน และมีความยั่งยืน ไปจนถึงลูกหลานในอนาคต
แนวทางการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อสิ่งแวดล้อม
ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นนี้  ล้วนเป็นเหตุมาจาก การเพิ่มจำนวนประชากรและการบริโภคทรัพยากร ของมนุษย์ ซึ่งเกิดจากการขาดความรู้ความเข้าใจความเป็นจริง ของสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ โดยที่มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ ดังนั้นในการที่จะทำให้มนุษย์ รู้จักธรรมชาติ ที่อยู่รอบตัวมนุษย์อย่างแท้จริง ให้ศึกษาถึง นิเวศวิทยา และความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สร้างจิตสำนึกการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เห็นคุณค่าและตระหนักในผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ ดำเนินชีวิต อย่างมั่นคงเหมาะสม และการสร้างจิตสำนึกไม่เบียดเบียนธรรมชาติ และมีความสอดคล้องกลมกลืนกับสิ่งแวดล้อมได้ทั้งในปัจจุบัน และอนาคต

หลักการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
ในการอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรธรรมชาติให้เหมาะสมและได้รับประโยชน์สูงสุด ควรคำนึงถึงหลักต่อไปนี้
1.  การวางแผนการจัดการ   ทรัพยากรธรรมชาติอย่างชาญฉลาด ต้องเชื่อมโยงกับการพัฒนา สังคม เศรษฐกิจ การเมือง และคุณภาพชีวิตอย่างกลมกลืน ตลอดจนรักษาไว้ซึ่งความสมดุลของระบบนิเวศควบคู่กันไป
2.  การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ต้องร่วมมือกันทุกฝ่าย ทั้งประชาชนในเมือง ในชนบท และผู้บริหาร ทุกคนควรตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมตลอดเวลา โดนเริ่มต้นที่ตนเองและท้องถิ่นของตน ร่วมมือกันทั้งภายในประเทศและทั้งโลก
3.  ความสำเร็จของการพัฒนาประเทศ   ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์และความปลอดภัยของทรัพยากรธรรมชาติ   ดังนั้นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติจึงเป็นการทำลายมรดกและอนาคตของชาติด้วย
4.  มนุษย์สามารถนำเทคโนโลยี มาช่วยในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติได้ แต่การจัดการนั้นไม่ควรมุ่งเพียงเพื่อการอยู่ดีกินดีเท่านั้น ต้องคำนึงถึงผลดีทางด้านจิตใจด้วย  และให้การศึกษาเพื่อให้ประชาชนเข้าใจถึงความสำคัญในการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ
5.  รักษาทรัพยากรธรรมชาติที่จำเป็นและหายากด้วยความระมัดระวัง พร้อมทั้งประโยชน์และการทำให้เพิ่มทั้งทางด้านกายภาพและเศรษฐกิจเท่าที่ทำได้ ตระหนักเสมอว่า การใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มากเกินไปจะไม่เป็นการปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม มีความรู้ในการรักษาทรัพยากรธรรมชาติที่จะให้ประโยชน์แก่มนุษย์ โดยคำนึงถึงการสูญเปล่าอันเกิดจากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติด้วย
6.  รักษาทรัพยากรที่ทดแทนได้ โดยให้มีอัตราการผลิตเท่ากับอัตราการใช้และปรับปรุงวิธีการใหม่ ๆในการผลิต และใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งพยายามค้นคว้าสิ่งใหม่มาใช้ทดแทน
7.  ให้การศึกษาเพื่อให้ประชาชนเข้าใจถึงความสำคัญในการรักษาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม

ในการอนุรักษ์ประกอบด้วยวิธีการต่าง ๆ ดังนี้
1.  การใช้อย่างยั่งยืน หมายถึง การใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ในธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในปริมาณที่เหมาะสม โดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม และเกิดผลกระทบต่อทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ทำให้ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมสามารถฟื้นตัวหรือเกิดขึ้นมาใหม่ได้ทันกับความต้องการใช้งานมนุษย์
2.  การเก็บกักทรัพยากร หมายถึง การรวบรวมและการเก็บกักทรัพยากรที่มีแนวโน้มจะเกิดการขาดแคลนในบางช่วงเวลาไว้ เพื่อให้สามารถนำมาใช้ในกิจกรรมที่เหมาะสมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3.  การรักษา หมายถึง การดำเนินการกับทรัพยากรที่ลดลงหรือเสื่อมโทรมให้ฟื้นคืนกลับสู่สภาพเดิมโดยอาศัยวิธีทางเทคโนโลยีที่สร้างขึ้นมาช่วยดำเนินการซ่อมแซมส่วนที่เสียหาย จนทำให้สิ่งแวดล้อมสามารถกับสู่สภาพเดิมได้อีก
4.  การพัฒนา หมายถึง การพัฒนาปรับปรุงสิ่งที่เป็นอยู่ให้ดีขึ้น เป็นการเร่งหรือเพิ่มประสิทธิภาพให้ได้ผลผลิตทีดีขึ้น นำเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามาใช้ควบคู่กับกระบวนการพัฒนา ทั้งยังรวมถึงการพัฒนาเทคนิควิธีที่ทำให้ใช้ทรัพยากรในปริมาณน้อยแต่ได้ผลผลิตที่เพิ่มมากขึ้น และมีประสิทธิภาพสูงขึ้นด้วย
5.  การสงวน หมายถึง การเก็บสงวนทรัพยากรไว้ไม่ให้มีการนำมาใช้งาน เนื่องจากทรัพยากรนั้นกำลังจะหมดหรือสูญสิ้นไป โดยมีกฎเกณฑ์หรือมาตรการต่าง ๆ ควบคุม
               6.  การแบ่งเขต หมายถึง การจัดแบ่งกลุ่มหรือประเภทของทรัพยากรเพื่อให้สามารถดำเนินการอนุรักษ์ได้ผลดีขึ้น อาจมีการแบ่งพื้นที่ควบคุมเพื่อให้มีสภาวะที่เหมาะสมสำหรับการเปลี่ยนแปลงของทรัพยากร การแบ่งเขตยังช่วยให้สามารถกำหนดมาตรการดำเนินการต่าง ๆ ได้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ด้วย

บทสรุป
มนุษย์ ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้เพราะทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่เอื้อประโยชน์ให้มนุษย์ได้รับปัจจัยสี่ ซึ่งได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค และที่อยู่อาศัย แต่ขณะเดียวกันการกระทำของมนุษย์เองได้ส่งผลกระทบต่อสภาพของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเนื่องจากความจำกัดของทรัพยากรธรรมชาติรวมทั้งการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของจำนวนประชากร ทำให้เกิด การแก่งแย่งการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยิ่งไปกว่านั้น มนุษย์ยังได้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างฟุ่มเฟือยและไม่มีแผนการจัดการ จึงมีผลทำให้เกิดปัญหาความเสื่อมโทรมและการขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติรวมทั้งก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม หรือการแพร่กระจายของภาวะมลพิษจากขบวนการใช้ทรัพยากรธรรมชาตินั้น ๆ ด้วย
ประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนาได้มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อการเร่งรัดการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศโดยขาดความระมัดระวังและคำนึงถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เพียงพอมาโดยตลอด ทำให้ปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและการแพร่กระจายของปัญหามลพิษ ได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นและมีผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน จนเห็นได้อย่างชัดเจนในปัจจุบัน อาทิเช่น พื้นที่ป่าไม้ถูกบุกรุก ทำลาย จนมีสัดส่วนไม่เหมาะสมกับการรักษาสภาพความสมดุลของระบบธรรมชาติหรือระบบนิเวศ หรือภาวะอากาศเสียในเขต กรุงเทพมหานคร อันเนื่องมาจากควันพิษรถยนต์ การเกิดปฏิบัติการเรือนกระจก (โลกร้อน) เป็นต้น
ดังนั้น เพื่อให้ ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็น ปัจจัยสำคัญของการพัฒนาประเทศมีสภาพที่พร้อมสนับสนุนการพัฒนาประเทศในอนาคตต่อไปนั้น การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างถูกต้องและเหมาะสมตามหลักวิชาการจึงเป็นวิธีการที่จำเป็นที่จะต้องเร่งดำเนินการทั้งนี้เพื่อที่จะสงวนและรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมไว้ให้มนุษย์ได้พึ่งพาอาศัยอย่างยาวนานต่อไป รวมทั้งยังจะก่อให้เกิดความมั่นคงแก่ประเทศด้วย.
บรรณานุกรม
ศศินา ภารา.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม..พิมพ์ครั้งที่1.กรุงเทพฯ:เอ็กซ์เพอร์เน็ต,2250
ดร.ฤทธิ์ วัฒนชัยยิ่งเจริญ . ชีวิตกับสิ่งแวดล้อมสิ่งมีชีวิตกับกระบวนการดำรงชีวิต . พิมพ์ครั้งที่ 1 . กรุงเทพ ฯ : อักษรเจริญทัศน์ .
นายพรชัย ธรณธรรม และ นางจินตนา ทวีมา .หนังสือ สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ ๑๙ พิมพ์ขึ้นใน พ.ศ. ๒๕๓๘
นายสันทัด สมชีวิตา.หนังสือ สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ ๒๑ พิมพ์ขึ้นใน พ.ศ. ๒๕๓๙
เย็นจิตร ถิ่นขาม.ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  และวิธีแก้ไขปัญหา  แนว Holistic ecology
อ.จันทวัน เบ็ญจวรรณ์. Human Being and Environment







1 ความคิดเห็น:

  1. ครับได้รับ ข้อมูลความรู้ที่ดัมาก ขอบคุณมากครับ

    ตอบลบ