วันเสาร์ที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2556

ปัญหาอาชญากรรมในสังคมไทย นางสาววิชุตา พวงมาลัย 53242568

บทความเชิงวิชาการ
เรื่อง ปัญหาอาชญากรรมในสังคมไทย
บทนำ

สภาพสังคมและเศรษฐกิจของประเทศไทยในยุคปัจจุบัน  อยู่ในช่วงที่เศรษฐกิจโลก  กำลังซบเซา สถานประกอบการต่างๆ  ต่างก็พร้อมใจกันปลดพนักงานบางส่วนออก หรืออาจล้มเลิกกิจการ ก่อให้เกิดผู้คนว่างงานเป็นจำนวนมาก สภาพสังคม เกิดความแตกต่างระหว่างคนจนกับคนรวย เทียบกับไม่ติด เกิดปัญหาขาดแคลนที่อยู่อาศัย ซึ่งเหล่าปัญหานี้ รัฐบาลควรให้ความเอาใจใส่กับเรื่องเศรษฐกิจเป็นอย่างยิ่ง เพื่อความอยู่ดีกินดีของประชาชน รวมไปถึงปัญหาที่เกี่ยวกับการศึกษา ซึ่งเด็กผู้ด้อยโอกาสจำนวนมาก กำลังรอโอกาสได้รับการศึกษา เพื่อให้เด็กๆ เหล่านั้น ได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียน และเป็นผู้ใหญ่ที่มีอนาคตที่ดี ได้พัฒนาชาติบ้านเมืองต่อไป
แน่นอนว่า หากรัฐบาลยังคงเมินเฉยกับการแก้ปัญหาๆ หนึ่งที่สำคัญยิ่งต่อสภาพสังคมไทย ปัญหานั้นก็คือ ปัญหาอาชญากรรมที่กระทบต่อชีวิตและทรัพย์สิน เช่น คดีฆ่าผู้อื่น  ทำร้ายร่างกาย  ข่มขืนกระทำชำเรา  ลักทรัพย์  วิ่งราวทรัพย์  ชิงทรัพย์  และปล้นทรัพย์  เป็นต้น  เพราะเป็นปัญหาร้ายยิ่ง ต่อสังคมไทย ที่มีผลกระทบชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน เป็นปัญหาที่สร้างความไม่สงบให้แก่สังคม สร้างความเดือดร้อนต่อชีวิตและทรัพย์สิน อีกทั้งการก่อปัญหาอาชญากรรม ได้เพิ่มความรุนแรงเป็นการก่อการร้าย หรือเป็นในรูปแบบสงครามกลางเมือง ซึ่งใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กำลังประสบกับปัญหานี้อยู่ การแก้ไขของหน่วยงานภาครัฐ ยังคงแก้ไขไม่ถูกจุด ยังคงทวีความรุนแรงอยู่อย่างไม่จบสิ้น นับว่า ปัญหาอาชญากรรม เป็นปัญหาสำคัญยิ่ง ที่ต้องแก้ไขให้หมดไปอย่างเร่งด่วนที่สุด
ปัญหาอาชญากรรม จะหมดสิ้นได้ ถ้าประชาชนทุกคนในสังคม ร่วมกันสอดส่องดูแล รัฐบาลควรสนับสนุนให้ประชาชนอยู่ดีกินดี อยู่อย่างพอเพียง เพราะปัญหาอาชญากรรมส่วนหนึ่ง เกิดจากความยากจน ไม่พอมีพอเพียง อาชญากรจึงต้องก่อเกิดการ ปล้นทรัพย์สินของประชาชน เพื่อประทังชีวิตให้อยู่รอด โดยการสร้างอาชีพ ให้ประชาชนมีรายได้จากอาชีพนั้นๆ เพื่อความพอเพียง เลี้ยงตนได้อย่างไม่ต้องพึ่งพาใคร รวมไปถึงทำให้ปัญหาอาชญากรรมลดลงหรือหายไปจากสังคมก็จะเป็นการที่ดี

ความเป็นมาของอาชญากรรม
            อาชญากรรม  เป็นสิ่งที่สังคมส่วนใหญ่มองว่าเป็นการกระทำผิดที่มีอันตรายมีความรุนแรง  และเป็นการกระทำที่ควรจะจัดการให้สาสม  ซึ่งผู้กระทำผิดควรต้องได้รับผลตอบแทนจากสังคมโดยรวม  ทุกคนจะเดือดร้อนต่างต้องการให้ขจัดคนร้ายด้วยวิธีการใดก็ตามออกไปจากสังคม  ดังนั้นการกระทำความผิดจึงเป็นการแยกคนออกเป็นสองกลุ่ม  คือ  คนดี  และคนชั่ว  การที่คนรวมตัวกันเป็นกลุ่ม  ชุมชน  สังคม  เมื่อวันเวลาผ่านไปสังคมย่อมมีการขยาย  จำนวนสมาชิกเพิ่มมากขึ้น  เกิดการขัดแย้ง  เบียดเบียน  รังแก  เอาเปรียบ  วิวาท  และทำร้ายกันทั้งร่างกายและจิตใจ  โดยมีรูปแบบต่างๆ  หลากหลาย  ความสลับซับซ้อนในวิธีการและกลุ่มคนกระทำผิดมีจำนวนเพิ่มขึ้น  ความรุนแรงก็มีมากขึ้นด้วย  ลองพิจารณากันดูว่าเมื่อเรากล่าวถึง  อาชญากรรม  เราหมายถึงอะไร

 ความหมายของอาชญากรรม      

อาญา  หมายถึง อำนาจ โทษ                                                                          
กรรรม หมายถึง การกระทำที่สนองผลร้ายที่ทำไว้แต่ปางก่อน                                                              
อาชญากรรม คือ การกระทำซึ่ง                                                                                                           
1. มีการกระทำผิด เจตนา                                                                                                                     
2. ลักษณะความผิด                                                                                                                                
3. ได้รับโทษ
อาชญากรรม  คือ การกระทำความผิดทางอาญา  ซึ่งเป็นปัญหาของสังคมอย่างหนึ่งที่มีผลกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก โดยการกระทำผิดทางอาญานั้น ได้กระทำขึ้นโดย อาชญากรเช่น คดีฆ่าผู้อื่น  ทำร้ายร่างกาย  ข่มขืนกระทำชำเรา  ลักทรัพย์  วิ่งราวทรัพย์  ชิงทรัพย์  และปล้นทรัพย์  เป็นต้น
อาชญากรรม สามารถแปลความหมายแตกต่างกันไปตามแนวคิดของนักกฎหมาย       นักสังคมวิทยา  นักอาชญาวิทยา และนักจิตวิทยา  ดังนี้ 
1. อาชญากรรมในแง่ของนักกฎหมาย  ได้แก่  การกระทำหรือละเว้นการกระทำใด ๆ  อันเป็นปฏิปักษ์ต่อบทบัญญัติ  หรือข้อห้ามแห่งกฎหมายมหาชน  ซึ่งสาระสำคัญแห่งการตีความหมายของปฏิปักษ์ต่อบทบัญญัติ  หรือข้อห้ามแห่งกฎหมายมหาชน  ซึ่งสาระสำคัญแห่งการตีความหมายของอาชญากรรมตามความหมายในมาตรา  2  แห่งประมวลกฎหมายอาญา  ซึ่งบัญญัติว่าบุคคลจะต้องรับโทษทางอาญา  ต่อเมื่อได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้ขณะนั้นบัญญัติไว้ในกฎหมาย  ถ้าตามบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังการกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป  ให้ผู้ที่ได้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด  และได้มีคำพิพากษาถึงที่สุด ให้ลงโทษแล้ว  ก็ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดนั้นถ้ารับโทษอยู่ก็ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลง  จากบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวจะเห็นได้ว่า  กฎหมายให้สันนิฐานไว้ก่อนว่า  ผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์  จนกว่าจะได้มีการพิสูจน์ความคิดโดยกระบวนการพิจารณาของศาลตามกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
2. อาชญากรรมในแง่ชีววิทยา  จิตวิทยาและจิตแพทย์  เห็นว่า  อาชญากรรมเป็นผลเสียเนื่องมาจากความแตกต่างในโครงสร้างทางสรีรวิทยาและกรรมพันธุ์  รวมตลอดถึงความบกพร่องในทางความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกของครอบครัว  ความพิการ  โรคภัยไข้เจ็บ  ยาเสพติดให้โทษ  โรคพิษสุราเรื้อรัง  สติปัญญา  การศึกษา  แรงจูงใจ  อารมณ์  บุคลิกภาพ  สัญชาติญาณ  เพศ  อายุ  และความเจริญเติบโตทางร่างกาย  ฉะนั้นวิธีปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาอาชญากรรมในลักษณะนี้จึงมุ่งไปในด้านใช้หลักจิตวิทยาว่าด้วยอาชญากรรมเป็นปัจจัยสำคัญในการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด  โดยมุ่งเน้นใช้หลักสังคมวิทยา  จิตวิทยา  จิตแพทย์สมัยใหม่ปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดเป็นรายบุคคลและการบำบัดทางจิตเป็นกลุ่มเป็นส่วนใหญ่
3. อาชญากรรมในแง่นักอาชญากรรมวิทยา  เป็นการมุ่งพิจารณาถึงปรากฏการณ์อาชญากรรมและพฤติกรรมของอาชญากรในลักษณะสหวิทยาการ  ซึ่งมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับกฎหมายสังคมวิทยา มานุษยวิทยา  จิตวิทยา  จิตแพทย์และสังคมศาสตร์แขนงอื่น ๆ  ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายอย่างใกล้ชิด  และมุ่งความสนใจศึกษาเกี่ยวกับลักษณะสภาพปัญหา  พฤติการณ์ของผู้กระทำผิดธรรมดาจิตผิดปกติ  สถิติอาชญากรรม  การวิจัยของอาชญากรรม  ผลสะท้อนความเสียหายของอาชญากรรมต่อสังคม  องค์กรอาชญากรรมต่อสังคม  องค์การอาชญากรรม  วิทยาการว่าด้วยผู้ถูกทำร้ายอาชญากรรมเปรียบเทียบการจัดระบบบริหารและการประสานงานในหน่วยงานกระบวนการยุติธรรม  รวมตลอดถึงทัศนคติความรู้สึกของชุมชนที่มีต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ  อัยการ  ศาล  และราชทัณฑ์  การคุ้มครองป้องกันความเป็นธรรมกับสิทธิมนุษยชน  และแนวการกำหนดนโยบายที่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของสังคม
4. อาชญากรรมในแง่สังคมวิทยาสังคม
1. อาชญากรรมเป็นสิ่งที่มีคู่กันกับสังคมทุกสังคม เป็นปัญหาสังคมที่สำคัญคุกคามความสงบสุขของประชาชนและเป็นภัยต่อสังคม ทำลายชีวิตและทรัพย์สิน แสดงถึงความไม่สมบูรณ์และความบกพร่องของระเบียบสังคม
2. การศึกษาอาชญากรรมในแวดวงสังคมวิทยาจะเป็นการศึกษาถึง พฤติกรรมที่เบี่ยงเบนของบุคคลต่อสังคม วิเคราะห์หาสาเหตุแห่งความขัดแย้ง
3. ในอดีตปัญหาอาชญากรรมยังไม่เกิดมีมากนัก เนื่องจากว่าสังคมแบบเดิมเป็นสังคมที่มีจารีตประเพณี กำหนดไว้แน่นอน ทุกคนจะต้องปฏิบัติตามแบบแผนการดำเนินชีวิตวัฒนธรรมและสังคมของตนอย่างเคร่งครัด ผู้ใดฝ่าฝืนจะเป็นที่รังเกียจของสังคม
4. พฤติกรรมของคนเราจะแตกต่างกันไปในแต่ละกลุ่ม แต่จะมีความคิดเห็นสอดคล้องกันเกี่ยวกับการกระทำบางอย่างที่เห็นว่า ดีและสมควรให้ปฏิบัติ ถ้าใครไม่ปฏิบัติตามก็ไม่เสียหาย ในสังคมที่เจริญก้าวหน้ามติต่าง ๆ เกี่ยวกับพฤติกรรมที่ไม่ต้องการให้สมาชิกของสังคมปฏิบัติจะออกมาในรูปบทบัญญัติทางกฎหมาย ผู้ใดฝ่าฝืนทำให้สังคมปราศจากความปกติสุขกระทบกระเทือนสวัสดิภาพและสิทธิของผู้อื่น ผู้นั้นก็จะต้องได้รับโทษ

ทฤษฎีทางสังคมวิทยาเกี่ยวกับสาเหตุแห่งอาชญากรรม
   นักสังคมวิทยามีความเห็นว่าผู้ที่ประกอบการกระทำผิดนั้นเนื่องมาจากสภาพแวดล้อมผลักดันให้ประกอบการกระทำผิด  บางคนไม่อาจปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้  ปัจจัยที่ส่งเสริมการกระทำผิด  นักสังคมวิทยาให้ทฤษฎีเกี่ยวกับอาชญากรรมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างของสังคมและสถาบันสังคม  รวมทั้งทฤษฎีเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของบุคคลต่อสิ่งแวดล้อม
             ทฤษฎีเกี่ยวกับโครงสร้างของสังคมและสถาบันสังคม
            1. ทฤษฎีสภาพไร้กฎหมาย (Anomie  theory)  ได้แก่  การที่บุคคลในสังคม  ยึดวิธีกระทำผิดกฎหมายเพื่อบรรลุจุดประสงค์หรือเป้าหมายของตน  เช่นค่านิยมในสังคมกำหนดว่า  บุคคลที่ประสบผลสำเร็จในชีวิตจะต้องถึงพร้อมด้วย  ความมั่งคั่ง  ร่ำรวย  เกียรติยศ  อำนาจ  และปริญญาบัตร  บางคนหันไปค้ายาเสพติดเพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายของตน  บางคนค้าของหนีภาษี  บางคนปลอมใบปริญญาบัตร  หรือทุจริตในการสอบด้วยการนำโน้ตย่อมาคัดลอก  ในขณะที่คนอื่นๆ  ตั้งใจดูหนังสืออย่างไม่พักผ่อนนอนหลับ  หรือกล่าวโดยสรุป  เมื่อคนเราเกิดมาในสภาพสังคมที่ยากจน  ขาดโอกาสที่จะบรรลุเป้าหมายแห่งความมีหน้ามีตาและความเท่าเทียมกับเพื่อนฝูงในวงสังคม  จึงหันมาประกอบอาชญากรรม  เพื่อให้บรรลุเป้าหมายหรือความหวังหรือจุดประสงค์ของตน
             2. Anomie  theory  เจ้าของทฤษฎีก็คือ  Durkheim  นักสังคมวิทยาผู้มีชื่อเสียงดังทฤษฎีที่กล่าวถึงการไร้กฎเกณฑ์ทางพฤติกรรมและไร้กฎหมาย  ได้แก่การที่ผู้กระทำผิดไม่ยอมรับรู้กฎหมายและไม่ยอมรับกฎเกณฑ์ในการปฏิบัติแบบเดียวกับคนในสังคมนั้น  โดยทั่วไปแล้วคนเราจะมีความต้องการอยู่ 2 ชนิด  คือ  ความต้องการทางร่างกาย  ได้แก่  อาหาร  ที่อยู่อาศัย  น้ำ  ยารักษาโรค  การดำรงชีวิตที่ปลอดภัย  และความต้องการทางด้านจิตใจ  ได้แก่ความร่ำรวย  อำนาจ  เกียรติยศ  ชื่อเสียง  ถ้าไม่สามารถควบคุมจิตใจได้ก็จะเป็นสาเหตุที่ทำให้ประกอบการกระทำผิดได้ง่าย  ทั้งนี้เนื่องจากความรู้สึกนึกคิดของผู้ประกอบการกระทำผิดคิดว่า  สภาพการดำรงชีวิตในขณะนี้ลำบากต้องดิ้นรนต่อสู้แข่งขันกัน  ศีลธรรมกำลังเสื่อมลง  การเป็นอยู่ในปัจจุบันที่มองไม่เห็นอนาคต  คนทั่วไปทำอะไรไม่ค่อยคำนึงถึงศีลธรรม  รัฐบาลไม่สนใจต่อปัญหาของคนธรรมดาทั่วไป
              Merton  นักสังคมวิทยาชาวอเมริกันได้ขยายแนวความคิดของ  Durkheim  ไปว่าโครงสร้างทางสังคมมีส่วนประกอบอยู่  2  อย่างคือ  จุดหมายปลายทาง  goal  หรือความหวังและตัวการหรือกระทำ  Mean ที่ทำให้ความหวังนั้นสัมฤทธิ์ผล  ในกรณีที่คนเราอยากสร้างความร่ำรวยในระยะสั้น  ทางนี้จะทำให้บรรลุจุดหมายปลายทางแม้จะเป็นการผิดกฎหมายแต่ก็ทำโดนการค้ายาเสพติด  และในที่สุดก็โดนจับ

             นักสังคมวิทยาบางคนมีความเห็นว่า  การประกอบอาชญากรรม  เนื่องมาจากสภาพแวดล้อมในสังคมที่ตนอยู่  เป็นผลของการเปลี่ยนแปลงทางสังคม  เช่น  การขยายตัวจากเมืองเล็กเป็นเมืองใหญ่  การแออัดของประชากร  ทำให้เกิดแหล่งปัญหาเสื่อมโทรมมากขึ้น  และผู้ประกอบอาชญากรรมก็มักจะเกิดสาเหตุทางสภาพแวดล้อมผลักดัน  คนในเมืองใหญ่ๆ  จะไม่ค่อยมีการติดต่อสัมพันธ์กัน  มีความแออัดยัดเยียด  มีช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยต่างกันมากเมื่อประกอบการกระทำผิดแล้วจะมีผู้ทราบได้ยาก  มีโอกาสหลบหนีได้ง่าย  โดยทั่วไปแล้วในเขตที่ใกล้ชิดกับใจกลางเมือง  ใกล้กับที่ทางทำมาหากินเป็นที่อยู่ของผู้มีรายได้น้อย  มีลักษณะเป็นสลัม  ยากจนซึ่งเป็นบ่อเกิดของอาชญากรรมได้ง่าย  เด็กได้เรียนรู้ในสิ่งที่ผิดๆ  จนอาจจะเห็นเป็นของธรรมดา  เช่น  การโจรกรรม  พ่อแม่ญาติพี่น้องกระทำ  ดังนั้นจึงควรที่จะทำได้ด้วยไม่ใช่สิ่งผิดปกติ
             3. ทฤษฎีตราบาป  ( labeling  Theory)  เมื่อบุคคลประกอบการกระทำผิดครั้งแรก  สังคมเป็นผู้ตราบาปว่า  อาชญากร  นักโทษ  ขี้ยา  มือปืนรับจ้าง  โสเภณี  ฯลฯ  ซึ่งอาจทำให้บุคคลผู้นั้นมีพฤติกรรมเบี่ยงเบนตลอดไป  หรือ  อาชญากรรมเกิดขึ้นเพราะสังคมเป็นผู้ตราบาปซึ่งอาจทำให้เขามีพฤติกรรมเบี่ยงเบนตลอดไป
              4.        ทฤษฎีหลายสาเหตุ  ในปัจจุบันได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง
              1. ทฤษฎีของแมนไฮม์  (Mannheim’s  theory)  เป็นนักอาชญาวิทยาชาวอังกฤษ  ได้อธิบายถึงสาเหตุการเกิดอาชญากรรมไว้ดังนี้  ปัจจัยทางกายภาพ (physical  factors)  และปัจจัยทางสังคม (social  factors)  ปัจจัยทั้ง  2  อย่างนี้  กระตุ้นจิตใจ  หรือก่อให้เกิดแรงจูงใจ  ทำให้เกิดการประกอบอาชญากรรม  ทฤษฎีนี้เน้น  ความสำคัญของจิตใจ  เช่นวัยรุ่นชายหญิงต้องการเงินเพื่อจะไปเที่ยวดิสโก้เธค  จึงกระทำการจี้  ชิงทรัพย์แท็กซี่
              2. ทฤษฎีของกิบบอนส์  (Gibbons’s  theory)  ได้อธิบายให้ทราบถึงสาเหตุการประกอบอาชญากรรมไว้ดังนี้
              2.1 สาเหตุพื้นฐาน  (root  causes)  ได้แก่  การเปลี่ยนแปลงทางสังคม  การขาดความมั่นคง  ทางเศรษฐกิจ  สังคม  การเมือง  เช่น  การว่างงาน
            2.2 สาเหตุแทรกซ้อน  (intervening  variables)  เป็นต้นว่า  เหตุบังเอิญ  ประสบการณ์  ความจำเป็น  เช่น  ติดยาเสพติด
            2.3 ปัจจัยหนุน  (Precipitating  factors)  ได้แก่  โอกาส  สถานการณ์เอื้ออำนวย  เช่น  เกิดอาการลงแดงจากยาเสพติด  อยากได้เงินไปซื้อมาเสพ  จึงกระทำการโจรกรรมทรัพย์สิน
              3. ทฤษฎีของเวสตันและเวลส์  (Weston  &  Wells’  theory)  มีสาระดังนี้
              3.1 บางคนประกอบอาชญากรรม  เพราะสาเหตุเพียงอย่างเดียว  บางคนกระทำผิดเนื่องจากสาเหตุหลายอย่าง  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจิตใจเป็นสำคัญ  เช่น  การบุกเดี่ยวปล้นธนาคาร  ของคุณครูหนุ่มจากชนบท  ในกทม.  เพราะต้องการเงินให้คนรักไปทำแท้ง  เนื่องจากบิดามารดาได้ไปขอหมั้นสาวไว้ให้และได้กำหนดวันวิวาห์ไว้แล้ว
              3.2 ปัจจัยด้านร่างกายและจิตใจ  ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม  และปัจจัยสถานการณ์  รวมตัวเข้าในระยะหนึ่งจะก่อให้เกิดอาชญากรรมได้  ซึ่งอาจจะเป็นอาชญากรตามโอกาส  อาชญากรที่กระทำผิดซ้ำ  อาชญากรที่พัฒนาอีกระดับหนึ่งสำเร็จการศึกษาชั้นปริญญาตรีแล้วหางานทำไม่ได้  ถูกล้อว่า  เป็นบัณฑิตตกงาน  ไม่มีเงินใช้จ่าย  เพื่อนฝูงหนีหน้า  จึงไปรับจ้างขนยาเสพติด

ประเภทของอาชญากร         
              ความรุนแรงของการประกอบอาชญากรรมขึ้นอยู่กับการฝืนระเบียบของสังคมของผู้ที่กระทำผิดแยกตนออกมาจากการควบคุมของระเบียบของสังคมมากน้อยแค่ไหน และความมากน้อยของระเบียบสังคมไม่อาจสนองความต้องการของผู้กระทำความผิด ประเภทของผู้ประกอบอาชญากรรมจำแนกออกเป็น 9 ประเภทคือ
              1. ผู้กระทำผิดโดยผิวเผิน (Causal offende Criminal) เป็นการกระทำผิดโดยเอาความสบายเป็นที่ตั้ง โดยปกติแล้วเคารพกฎหมาย เช่นขับรถฝ่าไฟแดงเพราะความเร่งรีบ เป็นต้น
              2. อาชญากรผู้กระทำความผิดเป็นครั้งคราว (Occasional Criminal)  กระทำผิดเพราะความประมาทเลินเล่อไม่มีเจตนากระทำเช่นนั้น  และจะไม่กระทำผิดซ้ำอีก เช่น ขับรถชนคนตายโดยประมาท เป็นต้น
              3. อาชญากรผู้กระทำความผิดเพราะถูกกดดันทางจิตใจ (Episodie Criminal) กระทำผิดเนื่องจากถูกยั่วอารมณ์ หรือถูกกดดันทางจิตใจจนไม่สามารถตั้งสติได้ มักจะกระทำผิดร้ายแรงและจะไม่กระทำผิดซ้ำอีก เช่น ลูกจ้างฆ่านายจ้าง เพราะนายจ้างกดขี่ข่มเหง เป็นต้น
              4. อาชญากรผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการเงิน อาชญากรผู้ดี หรืออาชญากรคอเชิ๊ตขาว (White Collar Criminal) มักจะมีความผิดเกี่ยวกับการเงิน ประกอบอาชีพงานด้านธุรกิจทำงานเบาๆ สบายๆ แต่งตัวเรียบร้อยสะอาด เช่น ข้าราชการคอรัปชั่นกันเป็นทีมๆ ผู้จัดการการเงินโกงเงินบริษัท เป็นต้น
              5. อาชญากรที่กระทำเป็นนิสัย (Habitual Criminal) เป็นการกระทำผิดชองผู้ที่ไม่สามารถทำตัวให้เข้ากับสังคมได้ มักจะติดยาเสพติดและสุราเรื้อรัง กระทำโดยไม่นึกถึงผลที่เกิดขึ้น เช่น การลักทรัพย์ เป็นต้น
              6. อาชญากรอาชีพ (Professional Criminal) ประกอบอาชีพเป็นอาชญากรและมีวิธีการปฏิบัติงานอย่างแยบยล ถือว่า งานอาชญากรรมเป็นงานสบาย เช่น ล้วงกระเป๋า ต้มตุ๋นหลอกลวง เป็นต้น
              7. องค์การอาชญากร (Organized Criminal) ทำงานกันเป็น ทีมมีสายงานและแบบแผนปฏิบัติ  แบ่งงานเป็นขั้นตอน  มีหัวหน้าควบคุมตามลำดับชั้น เช่น การค้ายาเสพติด คุ้มครองร้านค้าเพื่อหวังทรัพย์สิน เป็นต้น
              8. อาชญากรที่จิตผิดปกติ (Mentally Abnormal Criminal) อันได้แก่
                      ก. พวกโรคประสาท (Neuroses)
                      ข. พวกโรคจิตชนิด Psychoses
                    ค. พวกโรคจิตชนิด Psychopath

                       หากผู้กระทำผิดเหล่านี้ เจ้าหน้าที่พิสูจน์ได้ว่า จิตผิดปกติจริง ก็เอาความผิดไม่ได้
              9. อาชญากรที่ไม่มีเจตนาชั่วร้าย (Non-malicious Criminal)   กระทำผิดเพราะมีวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมความเชื่อถือแตกต่างกันไปจากค่านิยมของคนส่วนใหญ่ ได้แก่ผู้ที่เคร่งศาสนาถือว่าการฆ่ากันเป็นบาปเมื่อได้รับมอบหมายให้ไปรบก็ไม่ยอมไป นักโทษการเมือง เป็นต้น

สาเหตุของปัญหาอาชญากรรม
              โดยพื้นฐานแล้วสาเหตุแห่งการประกอบอาชญากรรมของคนในประเทศต่างๆ  จะคล้ายคลึงกัน  เกิดจากปัญหาทางด้านเศรษฐกิจและสังคม  และการเพิ่มขึ้นของประชากรเมื่อคนเราหมดที่พึ่ง  ก็หันมาประกอบอาชญากรรม  หรือคิดว่า  การค้าขายของผิดกฎหมาย  การค้ายาเสพติด  ของหนีภาษี  ฯลฯ  สามารถสร้างความร่ำรวยได้ในระยะเวลาสั้นจึงประกอบอาชญากรรม
-                   สภาพครอบครัว  มักจะมาจากครับครัวที่บ้านแตกสาแหรกขาด  พ่อแม่แยกกันไปคนละทางไม่มีเวลาอบรมดูแลลูก  หรือบิดามารดาอยู่ด้วยกันแต่ทะเลาะกันทุกวัน  ทำให้เบื่อบ้านและออกไปคบหาสมาคมกับเพื่อน  เมื่อเกิดความขาดแคลนก็มักจะประกอบอาชญากรรม
-                   ฐานะทางเศรษฐกิจ  ผู้ที่ประกอบอาชญากรรมมักจะมาจากคนที่มีฐานะยากจนมีสภาพจิตใจไม่ปกติ  เนื่องจากต้องต่อสู้เพื่อความอยู่รอด
-                   การเปลี่ยนแปลงทางสังคม  เนื่องจากเมืองไทยได้รับอิทธิพลของอารยธรรมตะวันตกซึ่งมีบางสิ่งบางอย่างขัดกับวัฒนธรรมสังคมไทย เป็นต้น  การนิยมวัตถุความสัมพันธ์ทางเพศ  การแต่งกาย  เมื่อมีความต้องการมากๆ  ก็ทำให้ประกอบการกระทำผิดได้
-                   การว่างงาน  ในปัจจุบันสภาพเศรษฐกิจรัดตัว  ทุกชีวิตต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อตนเองและครอบครัวเมื่อคนเราว่างงาน  สภาพจิตใจและอารมณ์ย่อมสับสนฟุ้งซ่านมักใช้เวลาว่างไปทางด้านอบายมุขต่างๆ  เป็นต้นว่า  สุรา  นารี  เล่นม้า  การพนัน  เที่ยวเตร่  เป็นต้น
-                   ความเสื่อโทรมทางศีลธรรมในปัจจุบันความคำนึงถึงศีลธรรมและความอะลุ่มอล่วยกันในสังคม  จะไม่ค่อยพบนัก  ทั้งนี้เนื่องจากต่างคนต่างอยากที่จะหาความสุขให้กับชีวิตทุกคนต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อการดำรงชีวิต  ความเจริญก้าวหน้าของวัฒนธรรมทางวัตถุที่ไปเร็วกว่าวัฒนธรรมทางจิตใจไม่ค่อยใกล้ชิดกับศาสนา  ขาดการศึกษาและอบรมจิตใจที่ดีทำให้ประกอบอาชญากรรมได้ง่าย

สภาพของปัญหาอาชญากรรมในสังคมไทย
              ในสังคมกรุงเทพฯ  เป็นสังคมศูนย์รวมของความเจริญก้าวหน้าทางด้านวัตถุต่างๆ  อันเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ  สังคม  ประชาชนต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อความอยู่รอดก็มีการแก่งแย่งกันในการทำมาหากินและการขัดผลประโยชน์ต่างๆ  สังคมในกรุงเทพฯ  จะมีปัญหาอาชญากรรมมากกว่าสังคมชนบท อาชญากรรมในกรุงเทพมักจะเอาแบบอย่างจากสื่อมวลชนต่างๆ  เป็นต้นว่า  หนังสือพิมพ์  ภาพยนตร์  ทีวี  วิธีการประกอบอาชญากรรมไม่สลับซับซ้อนมาก
                ในสังคมกรุงเทพฯ  มีสถานเริงรมย์ให้การบริการในด้านต่างๆ  และแหล่งอบายมุขต่างๆ  เมื่อมีผลประโยชน์ขัดกัน  เป็นต้นว่า  การพนัน  เล่นโกงกัน  ปัญหาทางเพศ  ฯลฯ  ทำให้ประกอบอาชญากรรมได้ง่าย ชาวชนบทพากันอพยพเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ  มักจะเข้ามาอยู่ในแหล่งสลัมใช้แหล่งสลัมเป็นที่เรียนรู้สภาพชีวิตของคนในเมือง  ทำให้ได้ภาพพจน์ที่ไม่ถูกต้อง  เมื่ออพยพมามากๆ  เข้ายังหางานทำไม่ได้ก็ใช้ชีวิตไปทางด้านอบายมุขต่างๆ  ลักษณะของอาชญากรในสังคมไทยมักจะมีสถานภาพทางสังคมการศึกษาต่ำ  มีฐานะยากจน เนื่องจากการคมนาคมสะดวก  อาชญากรเมื่อกระทำผิดแล้วมักจะหลบหนีไปทำให้ยากแก่การจับกุมตัวมาลงโทษ
              ประเภทของอาชญากรรมที่ทำกันมักจะเป็นไปในรูปการปลอมแปลงสินค้า  ปลอมเช็ค  ยารักษาโรค  เครื่องสำอาง  เนื่องจากการขยายตัวทางการค้าและการอุตสาหกรรม  ประชาชนในกรุงเทพฯ  เพิ่มมากขึ้น  ค่าครองชีพสูงขึ้นทำให้คนเราต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อการดำเนินชีวิต  มีการฉ้อราษฎร์บังหลวง  การทุจริตต่อหน้าที่  การขโมยเศียรพระพุทธรูป  การทุจริตเกี่ยวกับที่ดิน  (ในปัจจุบันกิจการบ้านจัดสรรเป็นความต้องการของผู้ซื้อที่ต้องการบ้านอยู่อาศัยเป็นอย่างมาก)  ปัญหายาเสพติดให้โทษ  คนที่เสพยาเสพติดเนื่องจากอยากลอง  ถูกเพื่อนชักชวน  ต้องการหนีความจริง  เมื่อเสพไปแล้วให้โทษแก่ร่างกายสติสัมปชัญญะไม่อยู่กับตัว  ประกอบกับยาเสพติดมีราคาแพงและยากแก่การซื้อหา  เมื่อต้องการเสพมากๆ  ก็ประกอบการกระทำผิดเพื่อให้ได้มาซึ่งยาเสพติด  สภาพของอาชญากรรมในประเทศต่างๆ  จะคล้ายคลึงกัน  บางคนประกอบอาชญากรรมทางเพศ  บางคนฉ้อราษฎร์บังหลวง  ปล้นรถไฟ  ลักขโมย  จี้ปล้นทรัพย์  ค้าของเถื่อน  ค้ายาเสพติด  ความมากน้อยในบางประเภทของการกระทำผิดขึ้นอยู่กับสถานภาพและแบบแผนการดำเนินชีวิตของสังคมนั้น  ในสังคมที่มีเศรษฐกิจดีแต่ประชากรดิ้นรนต่อสู้แข่งขัน  เผชิญกับความจำเจ  ซ้ำแล้วซ้ำเล่า  ทำให้หันมาเสพยาเสพติด  ในที่สุดก็นำไปถึงการประกอบอาชญากรรม

ตัวอย่างอาชญากรรมที่เกิดขึ้นเป็นประจำในสังคมไทย

-                   ไม่อยู่บ้าน บ้านถูกงัด เลี้ยงสุนัขดุไว้อย่างดี แต่ก็โดนยาเบื่อ
-                   จอดรถยนต์ในห้างก็หาย เหลือแต่บัตรจอดรถไว้ดูต่างหน้า จอดรถยนต์ในบ้าน ยางอะไหล่ก็หาย
-                   เดินในที่เปลี่ยว หรือกลับบ้านดึกก็โดนปล้น โดนจี้ ถูกฉุดคร่า อนาจาร ข่มขืน
-                   ใส่สร้อยทอง หรือเครื่องประดับราคาแพง สะพายกระเป๋า ก็โดนกระชากสร้อย กระชากกระเป๋า
-                   เดินทางโดยรถแท็กซี่ ก็ถูกลวงไปปล้น ไปข่มขืน
-                   ไม่พอใจ โกรธ เกลียดกัน ก็สั่งอุ้มฆ่า ไล่ยิงไล่ฟันกัน
-                   ปล้น จี้ ร้านทอง ร้านสะดวกซื้อ ธนาคาร ฯลฯ

ตัวอย่างข่าวอาชญากรรมที่โด่งดังและเป็นที่สนใจในสังคมไทย

 

ถือได้ว่าเป็นข่าวครึกโครมแห่งปี และมีการนำเสนอข่าวยาวนานที่สุดข่าวหนึ่ง สำหรับคดี พ.ต.อ.นพ.สุพัฒน์ เลาหะวัฒนะ แพทย์โรงพยาบาลตำรวจ ผู้ต้องหาฆ่า ฝังแรงงานพม่าในไร่ของตัวเอง ต.กลัดหลวง อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี และผู้ต้องสงสัยอุ้มฆ่า 2 ผัวเมีย นายสามารถ นุ่มจุ้ย และภรรยา ซึ่งปัจจุบันก็ยังหาร่างของทั้งสองไม่พบ ขณะที่นายอัคร เลาหะวัฒนะ และ นายเอก เลาหะวัฒนะ ลูกชายทั้งสองก็ตกเป็นผู้ต้องหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และร่วมกันฝั่งปิดบังซ่อนเร้นศพ หรือเหตุแห่งการตายและกระทำการใดๆด้วย อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวยังมีการต่อสู้ในชั้นศาลอีกนาน และคาดว่ายังไม่จบในเร็ววัน


เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2555 เจ้าหน้าที่รับแจ้งว่า พบศพ น้องเบิร์ด อายุ 13 ปี เด็กนักเรียนชั้น ม. 1 ที่บันไดหนีไฟ อาคารยงเจริญคอมเพล็กซ์ ย่านอ่อนนุช กทม. หลังเกิดเหตุ ผู้เป็นยายแท้ๆ ได้มาดูศพด้วยตัวเองด้วย แต่แล้วสังคมก็ต้องตะลึง เมื่อได้รู้ความจริงว่า ฆาตกรที่ลงมือฆ่าน้องเบิร์ด และนำศพมาทิ้งอำพรางเป็นยายแท้ๆ พร้อมสารภาพผิดทั้งน้ำตาว่า ที่ลงมือเพราะโกรธที่หลานไม่เชื่อฟัง แถมยังขู่ทำร้าย จึงตัดสินใจใช้ไม้ตีที่ท้ายทอยจนเสียชีวิต


วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2555 เกิดเหตุการณ์ระเบิดขึ้นภายใน ซอยปรีดีพนมยงค์ 35 และมีเหตุปาระเบิดใส่ตำรวจ แต่ผลกลับตกลงข้างขาตัวเอง ทำให้ นายฟาอิต โมราติ อายุ 28 ปี ชาวอิหร่าน 1 ในคนร้ายขาขาด 2 ข้าง ซึ่งต่อมาก็สามารถจับกุมได้ นายโมฮัมเหม็ด คาซาอี อายุ 42 ปี ขณะกำลังหลบหนี ส่วน นายมาซูด เซดากัต ซาเดห์ อายุ 30 ปี สามารถหนีรอดไปได้ ส่วนปมการลงมือครั้งนี้มีรายงานว่ากลุ่มคนร้ายดังกล่าวพุ่งเป้าโจมตีทูตอิสราเอลในประเทศไทย

ผลกระทบของการก่ออาชญากรรมเกี่ยวกับชีวิตและทรัพย์สินต่อสังคม
              ในปัจจุบันอาชญากรรมเกี่ยวกับชีวิตและทรัพย์สินได้มีการพัฒนาควบคู่ไปกับความเจริญของสังคมและเทคโนโลยี เพราะผลของการกระทำของบุคคลในสังคมนั้นเอง สังคมยิ่งมีความเจริญมากเท่าใด  อาชญากรรมก็จะเจริญเติบโตมากขึ้นเป็นเงาตามตัว และส่งผลกระทบต่อสังคมในหลายด้านดังนี้

1.    ประชาชนขาดความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน 
              เพราะว่าปัญหาอาชญากรรมดังกล่าวได้เกิดขึ้นบ่อยครั้งและไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ที่ไหน และเกิดขึ้นกับใคร เป็นปัญหาที่อาจเกิดขึ้นกับเราได้ตลอดเวลาอาทิเช่น ลักทรัพย์ ปล้น ฆ่า เป็นต้น ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาที่ติดตามเราทุกฝีก้าว ไม่ว่าจะอยู่ที่บ้านหรือที่ไหนๆก็ตามก็อาจเกิดขึ้นได้
              2.    ทำให้ผู้คนเกิดความหวาดระแวง
              เพราะปัญหาหาดังกล่าวได้กระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน ทำให้ขาดความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน สถานที่สาธารณะขาดความปลอดภัยหรือมีความปลอดภัยน้อยกว่าที่ควรจะเป็น สภาพสังคมโดยทั่วไปขาดความสงบสุข ประชาชนรู้สึกว่าอันตรายอยู่รอบตัวต้องระมัดระวังตัวเองอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยและไม่อาจคาดเดาได้ ด้วยเหตุนี้ประชาชนจึงไม่อยากเข้าร่วมกิจกรรมของสังคม ยอมสละโอกาสในการหาความสุขเพื่อปกป้องตนเองจากภัยอันตรายที่จะเกิดขึ้น
              3.   ทำให้ประชาชนขาดความไว้เนื้อเชื่อใจกัน
            เนื่องมาจากความหวาดระแวงภัยอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากปัญหาดังกล่าว ทำให้ประชาชนไม่ไว้ใจคนรอบข้าง เพราะผลกระทบของปัญหาอาชญากรรมดังกล่าวที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งและมากขึ้น ทำให้มีอาชญากรเพิ่มมากขึ้นและมีอยู่ทั่วทุกแห่งหน โดยไม่มีใครสามารถรู้ได้แน่ชัดว่าใครเป็นอาชญากรดีไม่ดีคนที่อยู่ข้างๆเราก็อาจเป็นอาชญากรและเข้ามาทำร้ายเราก็เป็นได้ เพื่อเป็นการป้องกันตัวเองแล้วประชาชนส่วนใหญ่จึงระมัดระวังตัวเองเพิ่มมากขึ้น และไม่ไว้ใจอะไรง่ายๆ ทำให้การติดต่อสัมพันธ์กันและความไว้วางใจกันมีน้อยลง
              4.    เกิดข่าวสะเทือนขวัญ
            จากข่าวที่นำเสนอโดยสื่อต่างไม่ว่าจะเป็น หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ อินเตอร์เน็ต ฯ มักจะพบเห็นข่าวเกี่ยวกับการก่ออาชญากรรมดังกล่าวอยู่เป็นประจำ ซึ่งเป็นสิ่งที่สะเทือนขวัญประชาชนในฐานะผู้รับสื่อเป็นอย่างมาก เพราะลักษณะการประกอบอาชญากรรมของอาชญากรในปัจจุบัน ยังมีความรุนแรง อุกอาจ ท้าทายมากขึ้น ประกอบกับมีการนำอาวุธสงครามร้ายแรงมาใช้เป็นเครื่องมือในการก่ออาชญากรรมอย่างไม่เกรงกลัวอำนาจกฎหมาย สร้างความสะเทือนขวัญแก่ประชาชนทั่วไป
              5.    ก่อความไม่สงบในสังคมและทำให้สังคมเสื่อมโทรม
            ปัญหานี้เป็นภัยคุกคามต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตของประชาชนโดยทั่วไป และเกี่ยวข้องกับความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองเป็นผลทำให้ผู้คนในสังคมได้รับความเดือดร้อน ในชีวิตและทรัพย์สิน ประชาชนไม่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สังคมไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยขาดความสงบสุขเกิดความวุ่นวาย รวมไปถึงการพัฒนาและความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การลงทุนและการท่องเที่ยวจะลดน้อยลง ระดับความเจริญลดลงและมีความเสื่อมโทรมเพิ่มมากขึ้น รัฐบาลต้องเสียเวลาในการแก้ปัญหาอาชญากรรมดังกล่าวแทนที่จะเอาเวลาส่วนใหญ่ไปใช้ในการบริหารและพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า ทำให้เกิดความเสียเปรียบทางการเมืองและเสียภาพพจน์ของประเทศ แม้ในปัจจุบันได้เน้นการควบคุมอาชญากรรมดังกล่าว แต่ปัญหาก็ยังคงปรากฏให้พบเห็นอยู่บ่อยๆและมีมากขึ้น จนไม่สามารถดูแลได้ทั่วถึง
              6.    ทำให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย
              เนื่องจากปัญหาอาชญากรรมดังกล่าวได้เกิดขึ้นบ่อยและมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ประชาชนจึงต้องหาวิธีการต่างๆเพื่อรักษาความปลอดภัย ซึ่งทำให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายไปมากพอควร และนอกจากประชาชนแล้วหน่วยงานของรัฐก็ยังต้องเสียงบประมาณใช้จ่ายในการแก้ปัญหาดังกล่าวเช่นกัน
              7.    ทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ
              จากปัญหาอาชญากรรมดังกล่าวที่เกิดขึ้นบ่อยในสังคมปัจจุบันทำให้เด็กและเยาว์ชนได้เรียนรู้พฤติกรรมที่เบี่ยงเบนจากบรรทัดฐาน จนเกิดการลอกเลียนแบบพฤติกรรมดังกล่าว เช่น ลูกเห็นพ่อแม่ลักขโมยของคนอื่นลูกจึงเลียบแบบและเจริญรอยตาม หรือเห็นคนตีกัน ทำร้ายกัน ก็จะซึมซับแล้วทำตามในที่สุด ทำให้เกิดปัญหาดังกล่าวมากขึ้น โดยเฉพาะในปัจจุบันสื่อได้มีอิทธิพลอย่างมาก คนส่วนใหญ่ต่างก็รับรู้ข่าวสารผ่านสื่อ เมื่อมีคดีอาชญากรรมดังกล่าวเกิดขึ้นก็ทำให้เกิดข่าวอาชญากรรมแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว เพื่อต้องการประณามผู้กระทำความผิดและให้ผู้รับสื่อได้ตระหนักถึงโทษและพิษภัยของอาชญากรรมแต่กลับมีเด็กและเยาว์ชนที่ไม่รู้จักตระหนักถึงโทษและพิษภัยของอาชญากรรมเกิดการลอกเลียนแบบพฤติกรรมตามข่าวที่สื่อได้นำเสนอซึ่งผิดวัตถุประสงฆ์ของสื่อ จึงทำให้ปัญหาดังกล่าวเพิ่มมากขึ้นและมีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้นเรื่อยๆ
              8.    ทำให้เกิดความแค้น
             ผลจากการก่อปัญหาอาชญากรรมดังกล่าวทำให้เกิดความเสียหายในชีวิตและทรัพย์สิน ทำให้ผู้เสียหายหรือผู้เกี่ยวข้องเกิดความแค้นใจจนไม่สามารถหยุดยั้งหรือยับยั้งได้จนถึงขั้นก่อเหตุอาชญากรรมขึ้นอีก ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการก่อเหตุโดยเจตนา โดยการก่อเหตุโดยเจนนานี้ แสดงให้เห็นถึงจิตใจของผู้กระทำซึ่งไม่สามารถเอาชนะใจตนเองได้ ขาดความยับยั้งชั่งใจ และกระทำการลงไปโดยไม่เกรงกลัวต่อบาป ไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย ไม่สนใจว่ากระบวนการยุติธรรมจะดำเนินการอย่างไรทำให้บุคคลนั้นละเลยไม่สนใจที่จะปฏิบัติตามกฎหมาย ก่อให้เกิดปัญหาอาชญากรรมดังกล่าวอย่างต่อเนื่องต่อเนื่องซ้ำแล้วซ้ำเล่าและไม่มีที่สิ้นสุด
              9.    เกิดความเสื่อมโทรมทางศีลธรรม
            จากปัญหาอาชญากรรมดังกล่าวที่เกิดขึ้นได้แสดงให้เห็นถึงจิตใจของผู้กระทำว่าเป็นผู้ไรซึ่งศีลธรรมใจจิตใจ เห็นแก่ตัวนึกถึงแต่ประโยชน์ส่วนตน เป็นผู้ที่ขาดศีลธรรม ผู้กระทำความผิดบางคนที่พ้นโทษออกมาแล้วก็ยังคิดหาทางที่จะกระทำความผิดอีก ถ้าผู้นั้นได้กระทำความผิดมากเท่าไรยิ่งทำให้เกิดความเสื่อมโทรมทางศีลธรรมมากขึ้น ในกรณีนี้บุคคลรอบข้างก็มีส่วนเช่นกันถ้าคนเหล่านั้นไร้ซึ่งศีลธรรมไม่เปิดใจให้ผู้ที่เคยกระทำผิดได้แก้ตัวย่อมทำให้ผู้กระทำผิดหลงอยู่ในวังวนแห่งความผิดนั้นตลอดการ หางมองในอีกแง่มุมหนึ่งมีผู้กระทำความผิดหลายรายที่หลบหนีจากการจับกุมของเจ้าหน้าที่ไปได้แล้วหนีไปเสพสุขอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่งบนกองทรัพย์สินของผู้อื่น เป็นตัวกระตุ้นให้คนบางส่วนที่พบเห็นการกระทำเกิดความคิดที่อยากจะทำบ้างโดยคิดว่า ทำดีได้ดีมีที่ไหนทำชั่วได้ดีมีถมไปเป็นสาเหตุให้คนเหล่านั้นละเลยการประกอบอาชีพที่สุจริตและหันไปก่ออาชญากรรมเพิ่มขึ้น
              10.    ทำให้บุคคลผู้กระทำผิดถูกรังเกียจจากคนรอบข้าง
            สำหรับผู้ที่ทำผิดครั้งแรกก็จะถูกรังเกียจและไม่เป็นที่ยอมรับจากคนรอบข้าง จนผลักดันให้เขาได้กระทำผิดเป็นครั้งที่สอง กล่าวคือ เมื่อคนรอบข้างต่างรังเกียจและดูถูกไม่เปิดโอกาสให้ผู้กระทำผิดได้แก้ตัวย่อมส่งผลให้ผู้กระทำผิดมีความเสื่อมโทรมทางด้านจิตใจสูงขึ้นแท้ที่เขาจะกลับใจเป็นคนดี กลับทำให้ผู้กระทำความผิดคิดที่จะก่อปัญหาเป็นครั้งต่อไป

 ข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหาอาชญากรรม
             1.ควรศึกษาข้อมูลและพิจารณาแก้ไขปัญหาอาชญากรรมโดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง                
              ควรมีการพิจารณาปัญหาอาชญากรรมไม่ว่าจะในประเทศไทยหรือต่างประเทศล้วนแล้วแต่มีอยู่ทั่วไปแล้วไม่มีใครรู้ได้ว่าจะเจอกับปัญหาเหล่านี้ตอนไหนอาชญากรจะแฝงตัวมาในทุกรูปแบบโดยเฉพาะในยุคปัจจุบัน  เทคโนโลยีต่างๆที่ผลิตขึ้นมาในยุคปัจจุบันที่มีความทันสมัยและให้ความสะดวกสบายแก่ผู้คนจำนวนมากแต่ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่แอบแฝงมากับเทคโนโลยีที่นิยมเหล่านี้ คือปัญหาที่ทำให้ทุกคนต้องพบหรือบางคนที่เจอ คืออาชญากรรม ที่แทรกซึมเข้ามาได้หลายวิธี  เช่น โดยวิธีการซื้อขาย จ่ายโอน ผ่านทางอินเตอร์เน็ต อาจถูกหลอกได้ง่าย                                                                                                        
           การแก้ไขปัญหาอาชญากรรมด้วยการได้รับความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่นกรมประชาสงเคราะห์ กรมราชทัณฑ์ กรมการปกครองไม่เฉพาะแต่กรมตำรวจเท่านั้น ทุกฝ่ายควรปฏิบัติตามนโยบายของตน ทั้งนี้เพื่อความสงบสุขของสังคมควรมีการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับสื่อต่างๆที่เราบริโภคกันอยู่ทั่วไปไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่สื่อเหล่านี้ยังมีทั้งข้อดีและข้อเสียดังจะกล่าวต่อไปนี้
                ข้อดี

ทำให้สะดวกในการใช้บริการในด้านการรับและส่งข้อมูลข่าวสาร

มีความรวดเร็วในด้านการนำเสนองาน

ในด้านการแลกเปลี่ยนซื้อขายสะดวก
                ข้อเสี

อาจก่อให้เกิดอาชญากรรมตามมาเช่นโดนหลอกในการซื้อขาย

หรือแม้กระทั้งมีการเสนอการซื้อขายบริการทางเพศเป็นต้น
              2.ควรมีการให้ความรู้แก้นักเรียนเพื่อป้องกันปัญหาอาชญากรรม
              ในด้านการศึกษานั้นเราจะต้องรู้ทันเหตุการณ์ในยุคปัจจุบันเนื่องจากอาชญากรรมมีมากมาย หรือแม้กระทั้งปัญหาระดับชุมชนอาจกลายมาเป็นปัญหาใหญ่ในระดับสังคมเมืองได้ และ ตามโรงเรียนต่างๆ ควรมีการจัดสอนเกี่ยวกับการป้องกันอาชญากรรม เช่น ผู้หญิงไม่ควรเดินคนเดียวในที่มืดค่ำแล้วควรรับกลับบ้าน
              3.ควรมีการสอดส่องดูแลสถานเริงรมย์ต่างๆ
              ในสถานเริงรมย์กฎหมายก็จะกำหนดการเปิดให้ใช้บริการ ในส่วนนี้กฎหมายจะเข้าไปควบคุมเพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับผู้ที่ไปใช้บริการ เพราะสถานเริงรมย์เป็นแหล่งมั่วสุมและบางครั้งมีการขายบริการซึ่งในส่วนนี้กฎหมายควรให้การควบคุมดูแลอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันและกำจัดมูลเหตุต่างๆที่ก่อให้เกิดมูลเหตุปัญหาอาชญากรรม การลงโทษผู้กระทำความผิดอย่างจริงจัง ซึ่งสถานเริงรมย์มีหลายรูปแบบเช่น บาร์ไนต์คลับ และสถานอาบ อบ นวด เป็นต้น
              4.การคุมความประพฤติควรได้รับการพิจารณานำมาใช้เพื่อช่วยให้ผู้กระทำความผิดได้กลับกลายเป็นคนดีและไม่ทำผิดอีก
              สังคมปัจจุบันนี้ทุกปัญหานับว่าเป็นปัญหาที่หนักและในช่วงนี้อยู่ในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำปัญหาความยากจนมากขึ้นจึงก่อให้เกิดปัญหาต่างๆที่เข้ามารุมเร้า เช่นการปล้นทรัพย์ การค้ายาเสพติด ปัญหาเหล่านี้ล้วนทำให้ไม่ปลอดภัยทั้งสิ้น ดังนั้นหากมีผู้กระทำผิดควรมีการคุมประพฤติหรือลงอาญา สำหรับคนที่ไม่เคยทำผิดมาเลยหรือทำผิดที่ต้องโทษในระยะสั้น เพื่อช่วยให้ผู้กระทำผิดได้เป็นคนดีเข้ากับสังคมได้และปรารถนาจะไม่ทำผิดอีก มีการห้ามคบหาสมาคมกับคนบางประเภทและมีการกำหนดที่พักอาศัยหรือที่ทำงาน
              5.ควรมีการแก้ไขปรับปรุงสภาพชุมชนที่เสื่อมโทรมให้ดีขึ้น
              ในสภาวะแวดล้อมเศรษฐกิจที่มีการผันผวนทำให้มีปัญหาตามมาไม่ว่าจะเป็นปัญหาระดับชุมชนหรือระดับสังคม กล่าวคือในชุมชนที่ไม่ค่อยมีการพัฒนาทางระดับความเป็นอยู่และชีวิตให้ดีขึ้นและมีแต่จะทำให้มีการด้อยพัฒนาลงไปเลื่อยๆทั้งยังจะทำให้ชุมชนเหล่านั้นมีอาชญากรรม แม้เด็กที่เติบโตมาก็จะเอาแบบอย่างที่ไม่ดีเหล่านั้น ดังนั้นเราควรปรับปรุงสภาพแวดล้อมภายในชุมชนโดยการตั้งระเบียบกฎเกณฑ์เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานให้ทุกคนปฏิบัติตาม เพื่อที่จะมีการเปลี่ยนแปลงระดับความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น มีการจัดให้มีการศึกษาและจะช่วยให้ชุมชนมีการพัฒนาชีวิตที่ยั่งยืนอีกทั้งยังทำให้อาชญากรรมลดน้อยลงอีกด้วย
               6.การแก้ไขสภาพครอบครัว
                    สภาพครอบครัว มักจะมาจากครอบครัวที่แตกสาแหรกขาด พ่อแม่แยกกันไปคนละทางไม่มีเวลาอบรมดูแลลูก หรือบิดามารดาอยู่ด้วยกันแต่ทะเลาะกันทุกวัน ทำให้เบื่อบ้านและออกไปคบหาสมาคมกับเพื่อน และเมื่อความขาดแคลนก็มักจะประกอบปัญหาอาชญากรรม สภาพสังคมการอยู่ร่วมกันหรือครอบครัวจะมีสภาพการเป็นอยู่ที่แตกต่างกันออกไปดังจะกล่าวต่อไปนี้
                ครอบครัวที่มีการเป็นอยู่การอบรมเลี้ยงดูที่ดีและการเอาใจใส่ของคนในครอบครัวจะทำให้มีความสุขในการดำรงชีวิตจะทำให้ไม่เกิดปัญหาครอบครัวแตกแยก ส่วนครอบครัวที่ก่อให้เกิดปัญหาได้ง่ายจะเห็นได้ชัดคือไม่ค่อยให้ความสนใจในครอบครัวและก็จะทำให้เด็กมีปัญหาก็จะทำให้ส่งผลกระทบเช่น เด็กทำตามใจตัวเอง พ่อแม่ทะเราะกัน เป็นต้น
                ดังนั้นทางที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้คือเมื่อมีปัญหาควรหันหน้าเข้ากันให้คำปรึกษาการแนะนำที่ดีต่อกันและคอยอบรมเลี้ยงดูบุตรให้การอบรมสั่งสอน อีกทั้งคอยดูพฤติกรรมไม่ไปในทางที่ไม่ดี
                7.การแก้ไขความผิดปกติในด้านจิตใจและอารมณ์
              เรื่องของอารมณ์นี้จะขึ้นอยู่กับตัวบุคคลและสภาวะแวดล้อม คนที่มีอารมณ์ที่ร่าเริงก็จะทำให้ไม่เกิดปัญหา แต่สำหรับบางคนอาจมีอารมณ์ร้อนประสบกับภาวะจิตที่ไม่ปกติ หรือมีเรื่องที่ทำให้ไม่สบายใจ จะทำให้บุคคลเหล่านี้มีปัญหาและอาจก่อความเสียหายได้
                การแก้ปัญหาในเรื่องนี้เราจะต้องสร้างกิจกรรมที่ผ่อนคลายอารมณ์โดยเปิดโอกาสให้มีการสร้างอาชีพเพื่อเป็นการฟื้นฟูจิตและยังช่วยให้หายจากความเครียดอีกด้วย
                8.ความรับผิดชอบของประชาชน
                การเปลี่ยนแปลงทางสังคม เนื่องจากเมืองไทยได้รับอิทธิพลของชาวตะวันตกซึ่งมีบางสิ่งบางอย่างขัดกับวัฒนธรรมของสังคมไทย เรื่องค่านิยมทางด้านวัตถุ ความสัมพันธ์ทางเพศ การแต่งกาย เมื่อมีความต้องการมากๆ ก็อาจทำให้ประกอบการที่ผิดได้ ดังนั้นเราควรเราควรร่วมกันแก้ไขปัญหาโดยการเลือกที่จะหันมานิยมวัฒนธรรมที่เราเคยทำมาเพื่อลดการประกอบการที่ผิด
                9.มาตรการของรัฐในการช่วยเหลือประชาชน
              การประกอบการของประชาชนในการประกอบอาชีพในแต่ละภูมิภาคจะมีวัฒนธรรมที่ต่างกันออกไปและหากท้องถิ่นใดได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยงานของรัฐในการสนับสนุนงบประมาณในการส่งเสริมด้านการพัฒนาจะเห็นว่าระดับค่าครองชีพและระดับการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว
                10.การบัญญัติกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมาย
                   กฎหมายต่างๆที่มีการบัญญัติขึ้นใหม่หรือมีการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อให้ทันกับการพัฒนาของประเทศซึ่งปัจจุบันมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วก็ต้องมีกฎหมายขึ้นมาเพื่อจำกัดสิทธิของบุคคลไม่ให้กระทำในสิ่งซึ่งผิดกฎหมายและบัญญัติขึ้นมาเพื่อให้ทันกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ  การบังคับใช้กฎหมายก็เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยของสังคมอีกทั้งช่วยคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของทุกคนเพื่อให้ได้รับความปลอดภัย และควบคุมการพัฒนาทางเศรษฐกิจ

บทสรุป
                ปัญหาอาชญากรรม  คือ  ปัญหาเกี่ยวกับการกระทำผิดทางอาญา  โดย  อาชญากร  เป็นผู้กระทำผิด  โดยสาเหตุของการกระทำผิดมีผลมาจากการที่มนุษย์มีเห็นแก่ตัว  หรือมีเจตจำนงเสรี  เพื่อต้องการให้ตนได้ประโยชน์นั้นมา  แม้จะเป็นการผิดกฎหมายก็ตามแต่  มนุษย์จะไตร่ตรองเสมอว่า หากทำไปแล้วคุ้มค่ากับความผิดอันเล็กน้อย  มนุษย์ก็จะเสี่ยงที่จะทำ  และหากกระทำไปแล้วไม่คุ้มค่ากับโทษหนักที่จะต้องได้รับ  มนุษย์ก็จะไม่ทำ
ดังนั้นการป้องกันปัญหาอาชญากรรมควรได้รับการร่วมมือจากหน่วยงานทุกภาคส่วนแล้วมีการให้ความรู้แก่นักเรียนเพื่อเป็นแนวทางหลีกเลี่ยงจากอาชญากรรมและได้มีการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมเสื่อมโทรมทั้งจะต้องมีการจัดระเบียบกฎเกณฑ์เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานของสังคมและช่วยให้กำจัดมูลเหตุที่จะก่อให้เกิดอันตรายอาชญากรรมและที่สำคัญประชาชนควรปฏิบัติตามกฎหมายทั้งนี้เพื่อให้เกิดความสงบสุขสังคม

 
บรรณานุกรม
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน, พ.ศ.2542
รศ.นวลจันทร์  ทัศนชัยกุล, อาชญากรรม การป้องกัน :การควบคุม
ผศ.ณัจฉลดา  พิชิตบัญชาการ, ปัญหาสังคม (Social Problems), พิมพ์ครั้งที่   2, กรุงเทพฯ, สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง, พฤษภาคม 2533
ไทยรัฐออนไลน์.2555.พลิกแฟ้มอาชญากรรม.(ออนไลน์).แหล่งที่มา : http://www.thairath.co.th/content/region/315771 . เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2555
คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย . ผลกระทบของปัญหาอาชญากรรม . แหล่งที่มาwww.polsci.chula.ac.th/sumonthip/crime-effect.doc . เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2555

 

 

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น