วันศุกร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2556

ปัญหาเทคโนโลยีกับวัยรุ่นในยุคปัจจุบัน นางสาวณัฐณิชา กิตติจารุรักษ์ 53241899


บทความเชิงวิชาการ
เรื่อง ปัญหาเทคโนโลยีกับวัยรุ่นในยุคปัจจุบัน


เทคโนโลยีเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในยุคปัจจุบัน  เนื่องจากได้หลอมรวมเป็นหนึ่งกับกิจวัตรต่างๆในชีวิตประจำวันของมนุษย์   และช่วยอำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการสื่อสาร ด้านคมนาคม ด้านชลประทาน ฯลฯ  เห็นได้ชัดว่า เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการดำรงอยู่ของมนุษย์มากจริงๆ
เทคโนโลยีในปัจจุบัน มีทั้งข้อดีและข้อดี  เทคโนโลยี ทำให้ชีวิตของมนุษย์ สะดวกสบายยิ่งขึ้น  ทำให้การติดต่อสื่อสารรวดเร็วทันใจมากขึ้น ก่อให้เกิดกระแสโลกภิวัฒน์  อันทำให้ประเทศต่างๆทั่วโลกสามารถติดต่อสื่อสารกันได้ราวกับเป็นเพื่อนบ้านกันทั้งที่ความจริงแล้วอยู่ห่างกันคนละซีกโลก   ทำให้ปัญหาบางอย่างที่แก้ไขได้ยากยิ่ง  มีความเป็นไปได้ในการแก้ปัญหานั้นๆ  เช่น การสร้างเขื่อนชลประทาน ก็ถือว่าเป็นการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในสร้างเขื่อนการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในการเกษตรในหน้าแล้งได้อย่างรวดเร็ว แข็งแรง ซึ่งในสมัยก่อนคงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากหรือจะเรียกว่าเป็นไปไม่ได้ก็คงไม่ผิด   อีกทั้งเทคโนโลยียังช่วย ประหยัดต้นทุนในอุตสาหกรรมทำให้ผู้ว่าจ้างส่วนใหญ่ หันมาใช้เครื่องจักรแทนที่จะใช้แรงงานคน เพราะเครื่องจักรทำงานด้วยง่ายกว่า (แน่ล่ะ ก็เครื่องจักรพูดได้ เถียงได้ ขอขึ้นเงินเดือนได้  ซะที่ไหน) และไม่ต้องมีวันหยุดมากมายเหมือนคนอีกด้วย  เรียกได้ว่าเทคโนโลยีมีความสำคัญและจำเป็นเป็นอย่างยิ่ง  ประโยชน์ของเทคโนโลยี จะให้ไล่นับหนึ่งวันก็คงไม่หมด
แต่ในทางกลับกัน  เทคโนโลยีก็ได้ก่อให้เกิดปัญหาที่จุกจิกกวนใจ หรือถึงขั้นร้ายแรงต่อสังคม   ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเด็กวัยรุ่นต่างๆซึ่งส่วนใหญ่เกิดมาจากอินเทอร์เน็ตเทคโนโลยี  ปัญหาครอบครัวห่างเหินเนื่องจากเด็กพูดคุยกับคอมพิวเตอร์มากขึ้นจนทำให้เกิดระยะห่างในครอบครัว   ระหว่างผู้ปกครองและตัวเด็กมีมากขึ้นกว่าแต่ก่อน  ปัญหายาเสพติดมีการซื้อขายกันอย่างเปิดเผยผ่านทางหน้าเว็บไซต์ต่างๆ   ปัญหาการถูกล่อลวงผ่านทางโซเชียลเน็ตเวิร์คมีออกหน้าหนังสือพิมพ์ให้เห็นกันบ่อยๆ       รวมไปถึงปัญหาเกี่ยวกับข้อมูลบางอย่างที่มีผู้เข้าถึงด้วยวัยไม่เหมาะสม เช่น เว็บไซต์ที่มีเนื้อหาส่อไปทางลามกอนาจาร เว็บไซต์ที่มีเนื้อหาส่งเสริมการใช้ความรุนแรงเป็นต้น ซึ่งเว็บไซต์เหล่านี้ เยาวชนที่อายุยังไม่ถึงเกณฑ์  ยังไม่มีวุฒิภาวะเพียงพอ สามารถเปิดเข้าไปดูได้โดยง่าย ก่อให้เกิดการปลูกฝังด้านค่านิยมผิดๆ ให้กับเยาวชนเหล่านั้นโดยไม่รู้ตัว
หลายๆครั้งที่เรามักจะตั้งคำถามกับตัวเองอยู่เสมอว่าทำไมเด็กสมัยนี้ถึงมีพฤติกรรมแบบนั้นแบบนี้ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิต จุดมุ่งหมาย หรือแม้แต่วิสัยทัศน์ก็ดูผิดแปลกไปจากรูปแบบความคิดของคนรุ่นก่อน หากลองเปรียบเทียบกันถึงเรื่องของการใช้ชีวิต ยกตัวอย่างเช่น เด็กในชั้นประถมเมื่อ 40 ปีก่อน ที่ได้เงินไปโรงเรียนวันละบาท ซื้อก๋วยเตี๋ยวชามละ 25 สตางค์ กลับบ้านก็มาเล่นขายของ เล่นหมากเก็บ ซึ่งถ้าเทียบกับเด็กประถมในสมัยนี้ที่บางคนอาจได้เงินไปโรงเรียนวันละ 100 บาท แถมมีโทรศัพท์มือถือไว้โทรเรียกให้ผู้ปกครองมารับ กลับบ้านไปก็เปิดคอมพิวเตอร์เล่นเกม เล่นอินเตอร์เน็ต ดูโทรทัศน์ ดูหนังจากแผ่นดีวีดี สิ่งที่เห็นได้ชัดจากตัวอย่างข้างต้น แน่นอนว่าเมื่อเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทในการดำรงชีวิต รวมถึง ค่าของเงินที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย จึงส่งผลกับวิถีการใช้ชีวิตของผู้คนในแต่ละยุคแต่ละสมัย รวมถึงเปลี่ยนแปลงรูปแบบความคิด อุดมคติ และวิสัยทัศน์ของผู้คนในแต่ละรุ่นไปตามยุคสมัยของสังคม จึงทำให้สังคมในปัจจุบัน จึงเต็มไปด้วยความหลากหลายในวิถีชีวิตของบุคคลตามช่วงอายุที่แตกต่างกัน 
ซึ่งในการศึกษาในเรื่องของรุ่นอายุ (Generation) นั้น มีผู้ให้ความสนใจและทำการศึกษากันเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางสังคมศาสตร์ เช่น สาขาที่เกี่ยวข้องกับสังคมวิทยา, ศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการตลาดและนิเทศศาสตร์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมผู้บริโภค เป็นต้น โดยมุมมองและแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับ Generation นั้น 
ได้ถูกจำแนกแบ่งออกเป็นรุ่นต่างๆ ดังนี้

1) Baby Boomers หรือ Generation Boomer หรือ Gen-B 
เป็นผู้ที่เกิดในช่วง พ.ศ. 2489 - 2507 (ค.ศ.1946 – 1964) ซึ่งเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กำลังจะยุติและเริ่มสงครามทำให้เกิดนโยบายส่งเสริมให้แต่ละครอบครัวมีลูกมากหลังจากที่หลายชาติสูญเสียทหารในสงครามไปจำนวนมาก การเกิดและเติบโตของคนในรุ่นนี้จึงเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการบูรณะ การสร้าง การฟื้นฟูในหลายๆ สิ่ง พฤติกรรมของคนในกลุ่มนี้ จะเป็นคนที่รู้คุณค่าของเงิน ทำงานหนักเพื่อสร้างฐานะให้กับครอบครัว แต่งงานตั้งแต่ อายุยังน้อย มีลูกเร็ว มีค่านิยมทำงานราชการ เพราะเชื่อว่าเป็นอาชีพที่มีเกียรติและศักดิ์ศรี คนในกลุ่มนี้หากกำลังทำงานจะสะสมเงิน เพื่อใช้ชีวิตในบั้นปลายอย่างมีความสุข เป็นผู้ที่ซื้อสินค้าตามความต้องการของตน เป็นกลุ่มที่มีขนาดใหญ่ มีกำลังซื้อ มีศักยภาพในการบริโภคสินค้า มีทัศนคติที่ดีต่อการซื้อจับจ่ายใช้สอยสินค้าเพื่อตัวเองและบุคคลใกล้ชิด

2) Generation X หรือ X Generation หรือ Gen-X 
เป็นผู้ที่เกิดในช่วง พ.ศ. 2508 - 2523 (ค.ศ.1965 – 1980) คนในยุคนี้จะมีความแตกต่างกับคนในยุค Baby Boomers เพราะมีการต่อสู้ดิ้นรนที่น้อยกว่า เพราะเป็นคนในรุ่นลูกหลานของ Baby Boomers และเนื่องจากสภาพโดยรวมของเศรษฐกิจดีกว่ายุคที่ Baby Boomers กำลังอยู่ในวัยทำงาน ทำให้ Gen-X สามารถเลือกงานได้มากกว่า สามารถตั้งเงื่อนไขให้แก่ที่ทำงานได้ว่าตนเองต้องการทำงานแบบไหน เมื่อไร และอย่างไร คนในยุคนี้ในขณะที่มีอายุเท่ากันจึงต่างกันมาก Baby Boomers ทำงานด้วยความดิ้นรน ใช้แรงงาน รายได้น้อย ในขณะที่ Gen-X ทำงานในลักษณะใช้ความคิด สมาชิกหลักในครอบครัวทำงานทั้งสองคน รายได้ดีทั้งคู่ ใช้ชีวิตแบบคนทันสมัย และหลายๆ คนเป็นหัวหน้างานของ Baby Boomers ที่อายุมากกว่า ประสบการณ์มากกว่า แต่การศึกษาต่ำกว่า นอกจากนี้ยังมีนักวิชาการบางส่วนแบ่งคนในยุคนี้ออกเป็นกลุ่มย่อยที่เรียกว่า Yuppies ซึ่งมีลักษณะพฤติกรรมชอบอะไรง่ายๆ ไม่ต้องเป็นทางการ ให้ความสำคัญกับเรื่องความสมดุลระหว่างงานกับครอบครัว มีแนวคิดและการทำงานในลักษณะรู้ทุกอย่างทำทุกอย่างได้เพียงลำพัง ไม่พึ่งพาใคร มีความคิดเปิดกว้าง พร้อมรับฟังข้อติติง เพื่อการปรับปรุงและพัฒนาตนเอง จัดว่าเป็นกลุ่มที่มีความตั้งใจและความทะเยอทะยาน เพราะเกิดมาในยุคที่การแข่งขันสูง แต่ด้วยเอกลักษณ์ที่ว่าคนรุ่นนี้รักอิสระ จึงรู้จักจัดสรรเวลาทำงานและเวลาพักผ่อนให้คล่องตัว และเริ่มยืดชีวิตโสดของตัวเองออกไป แต่ในด้านการใช้จ่ายเงินนั้น กลับมีความรอบคอบในการใช้จ่ายเงินตรามาก ในงานวิจัยจัดว่าเป็นกลุ่มที่ใช้เงินเป็น อะไรที่ไม่จำเป็นจริงๆก็ไม่ซื้อ แต่อะไรที่จำเป็น ถึงจะแพงแค่ไหน ก็ควักเงินจ่ายได้โดยไม่ลังเล และเพราะความระมัดระวังในการจัดการรายรับรายจ่ายนั้น การเข้ามาของเทคโนโลยีก็ไม่ได้ทำให้คนรุ่นนี้ถึงกับเพ้อคลั่งนั่งเล่นคอมพิวเตอร์ข้ามวันข้ามคืนเหมือนเด็กรุ่นใหม่ แต่เขาจะใช้เพื่อการทำงานและเพื่อความสะดวกสบายเท่านั้น 

3) Generation Y หรือ Y Generation หรือ Gen-Y หรือ Why Generation 
เป็นผู้ที่เกิดในช่วง พ.ศ. 2523 - 2537 (ค.ศ.1980 – 1994) : เป็นกลุ่มคนที่เกิดมาพร้อมกับความสงสัย เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เกิดมาด้วยความเพียบพร้อม และความสับสน เป็นกลุ่มคนที่เกิดขึ้นมาท่ามกลางความแตกต่างระหว่าง Baby Boomers กับ Gen-X โดยที่ Baby Boomers อาจจะเป็นปู่ย่าตายายหรือญาติผู้ใหญ่ในครอบครัว และมี Gen-X เป็นบิดามารดา โดยที่ Baby Boomers ในครอบครัวอาจจะอยากให้ Gen-Y ทำตัวอยู่ในกรอบ แต่ Gen-X กลับอยากให้ Gen-Y เป็นตัวของตัวเอง และท้าทายสิ่งที่เป็นอยู่เดิม Gen-Y จึงมักจะสับสน แต่ก็มีความต้องการที่จะสำเร็จในทุกอย่างที่สนใจอย่างรวดเร็วกว่า Baby Boomers และ Gen-X นอกจากนี้ Gen-Y ยังเป็นคนที่มีความใจร้อน ต้องการเห็นผลสำเร็จทุกอย่างรวดเร็ว เนื่องจากเชื่อในศักยภาพของตนเอง และเชื่อว่ามีความพร้อมด้านฐานะทางการเงินที่มักจะได้รับการสนับสนุนจาก Gen-X ซึ่งมีรายได้ดี โดยคนที่เป็น Gen-Y มีความเชื่อว่าการประสบความสำเร็จในชีวิตจะเกิดขึ้นต้องทำงานหนัก ทำให้มีการแต่งงานช้าลง มักจะแต่งงานเมื่ออายุ 30 ขึ้นไป ถ้ามีแฟนแล้วแฟนมีอุปสรรคกับงานก็เลิกกับแฟน เลือกงาน คนกลุ่มนี้มักเปลี่ยนงานบ่อย และมีความมั่นใจในตัวเองสูงมาก พวกเขามักจะต้องการเงินเดือนสูงๆ และไม่ต้องการไต่เต้าการทำงานจาก "ข้างล่าง" พวกเขาคาดหวังเงินเดือนมากกว่าคนที่มีประสบการณ์การทำงานมาแล้ว 10 ปี พวกเขาไม่ได้ต้องการคำแนะนำว่า ควรหรือไม่ควรทำอะไร ไม่เชื่อในการใส่ยูนิฟอร์ม ไม่เชื่อเวลา 9 โมงเช้า - 5 โมงเย็นของออฟฟิศ เวลาทำงานให้ใครพวกเขาต้องการอิสระและเป็นตัวของตัวเอง พวกเขาพูดว่า "ไม่" ทันทีถ้าไม่เห็นด้วยกับความคิดเห็นส่วนใหญ่ และหลายๆ คนใน Generation Y มักจะทำงานแบบ Freelance

4) Generation Z หรือ Gen-Z 
เป็นคนรุ่นที่ถัดมาจาก Gen-Y เป็นผู้ที่เกิดในช่วง พ.ศ. 2533 - 2544 (ค.ศ.1990 – 2001) คนในรุ่นนี้จะมีหลายชื่อเรียกเช่น Generation V ทีมาจากคำว่า virtual หรือ Generation C ที่มาจากคำว่า community หรือ content หรือ Internet Generation หรือ Google Generation โดยที่คนในรุ่นนี้มีความผูกพันอยู่กับสื่อประเภทต่างๆ เช่น DVD, อินเตอร์เน็ต, MSN, โทรศัพท์มือถือ, SMS, เครื่องเล่น MP3 และ IPOD เป็นต้น คนในรุ่นนี้จะมีความคิดสร้างสรรค์มากกว่า Gen-X และ Gen-Y นอกจากนี้ Gen-Z เป็นผู้ที่เกิดในช่วงของการแพร่ระบาดของการก่อการร้ายระบาดหรือสงครามในยุคที่ 4 ซึ่งจะแตกต่างจาก Baby Boomers ที่เกิดในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 Gen-X ที่เกิดในช่วงสงครามเย็น และ Gen-Y เกิดในช่วงหลังสงครามเย็น ผู้บริโภคกลุ่มนี้ เป็นผู้บริโภคที่เกิดมาและได้รับการดูแลเสมือนเป็นไข่ในหิน ผู้ปกครองทุกคนในครอบครัวซึ่งเป็นสมาชิกของกลุ่มอื่นๆ ได้แต่พร่ำสอนและดูแลเพื่อไม่ให้สมาชิกในกลุ่มนี้ต้องตกอยู่ในอำนาจของสิ่งยั่วยุและยั่วยวนซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในอดีต เช่น รายการทีวีมอมเมา บันเทิงยั่วยุอารมณ์ พฤติกรรมก้าวร้าว การตั้งครรภ์ในวัยไม่สมควร ฯลฯ จึงจัดได้ว่าเป็นผู้บริโภคแห่งความหวัง (Generation of Hope) ที่ผู้ใหญ่หวังว่าจะมีชีวิตอยู่และแก้ไขความผิดพลาดที่ตนเคยทำในอดีต คนกลุ่มนี้ให้ความสำคัญกับคอมพิวเตอร์ ภาษาอังกฤษ ไม่ชอบเป็นลูกจ้าง มีความต้องการเป็นเจ้าของกิจการขนาดเล็ก มีความอิสระในตัวเองค่อนข้างสูง มีแนวทางเป็นของตัวเองชัดเจน ไม่เหมือนใคร และไม่อยากให้ใครเหมือน

สิ่งที่เห็นได้ชัดจากการแบ่งกลุ่มคนในแต่ละรุ่นข้างต้น คือความแตกต่างทางด้านทัศนคติ พฤติกรรม และวิถีการใช้ชีวิต ที่ล้วนส่งผลมาจากการเปลี่ยนผ่านของเวลา และบริบทของสังคมในช่วงนั้นๆ รวมถึงเทคโนโลยีต่างๆที่ได้ถูกพัฒนาขึ้นมาใหม่ในแต่ละยุคสมัย ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงการดำเนินชีวิตของคนในสังคม เปลี่ยนแปลงการรับรู้ของผู้คนในแต่ละยุคแต่ละสมัย ซึ่งคำว่า การรับรู้ ไม่ได้หมายถึงเรื่องของระบบประสาท แต่คือเรื่องของประสบการณ์ มนุษย์ถูกเชื่อมเข้ากับโลกผ่านการรับรู้ ซึ่งประกอบด้วย 

1.) การสื่อสารของสื่อ 2.) สัมผัสทั้งห้า 3.) กรอบการรับรู้ของคนในแต่ละยุค 

การรับรู้จึงเป็นเหมือนสิ่งสำคัญในการเชื่อมโยง คนซึ่งเป็นผู้รับสาร รูปแบบการส่งสาร และเนื้อหาของสารที่จะได้รับ จากนั้นจึงตีความสารที่ได้รับจากกรอบที่ถูกปลูกฝังไว้ในแต่ละยุคสมัย กระบวนการส่งสารทำให้คนอยู่ในฐานะ ผู้รับสาร ซึ่งผลลัพธ์ต่อผู้รับสารจะเกิดกับโลกทั้งโลก การรับรู้จึงเป็นการสะท้อนที่ทุกคนจะได้รับผลนั้น จากผู้รับสาร กระบวนการส่งสาร และเนื้อหาของสาร และเมื่อผู้คนเข้าใจทุกอย่างผ่านการรับรู้เดียวกัน จึงก่อให้เกิดวิถีชีวิตที่คล้ายกัน จนเกิดเป็นภาพรวมของวัฒนธรรมในแต่ละยุคสมัย ซึ่งวัฒนธรรมสามารถที่จะถ่ายทอดได้โดย การพูด เขียน และพิมพ์ หรือ โดยอุปกรณ์อิเลคทรอนิคส์ ซึ่งแต่ละอย่างต่างก็มีความนิยมในแต่ละช่วง เหมือนการที่อันใหม่กว่าก็เข้ามาแทนที่อันเก่า แต่อันเก่าก็ยังคงมีผลต่อสิ่งใหม่ๆที่เกิดขึ้น

จากบทความในหนังสือ The Gutenberg Galaxy ของ Marshall McLuhan ได้แบ่งวัฒนธรรมของมนุษย์ออกเป็น 4 ยุคสมัย ได้แก่ 

1.) the oral tribe culture : ในวัฒนธรรมการพูดจะไม่มีภาษาเขียน จึงไม่มีการบันทึก ไม่มีตำรา เป็นการส่งผ่านความรู้แบบปากต่อปาก แต่เราต่างก็รู้ว่าความรู้อาจถูกเปลี่ยนแปลงโดยไม่ได้ตั้งใจหากเก็บไว้โดยการพูด แต่ถึงกระนั้นการพูดก็ยังเต็มไปด้วยหน้าที่ในการรักษาองค์ความรู้พร้อมกับการสื่อสาร แค่การบอกหรือพูดต่อ ความรู้ก็จะถูกรักษาไว้ นอกจากนี้ในวัฒนธรรมการพูดยังมีเรื่องของศิลปะการจำ โคลงกลอน ที่อยู่ในรูปแบบของสูตรและพบได้ทั่วไป เช่น ดนตรี ซึ่งทำให้ง่ายต่อการจำและรักษา แต่เมื่อมีสิ่งอื่นมาทดแทนสิ่งต่างๆเหล่านี้จึงมักถูกลืมและไม่มีใครให้ความสนใจ

2.) the manuscript culture : วัฒนธรรมการเขียน การเริ่มของภาษาเขียน ในรูปของอักษรภาพ หรืออักขระ เป็นรูปแบบหนึ่งของการสร้างต้นฉบับด้วยลายมือในวัฒนธรรมการเขียน แม้จะใช้เวลานานมากในการแยกความรู้ออกจากการพูดและการจำจนเสร็จ แต่การเขียนก็เก็บความรู้หลังจากการพูดและยังขยายขีดความสามารถของการจำให้เพิ่มขึ้นได้ และคนอื่นก็สามารถที่จะศึกษา วิจารณ์สิ่งที่เขียนได้ ในขณะที่วัฒนธรรมการพูด ความรู้มักขึ้นกับความสามารถของผู้พูด แต่ก็ยังเกิดปัญหาภายใต้วัฒนธรรมการเขียนในสมัยนั้น ที่ความรู้จะถูกกำจัดอยู่แค่เพียงในกลุ่มบุคคลชั้นสูงซึ่งสามารถอ่านและเขียนหนังสือได้เท่านั้น ทำให้คนทั่วไปที่ไม่มีความรู้ไม่สามารถที่จะรับสารนั้นได้

3.) the Gutenberg galaxy : วัฒนธรรมการพิมพ์ เนื่องจากวิธีการเขียน คัดลอกข้อความ มีความล่าช้า และคลาดเคลื่อนไปจากต้นฉบับ จนกระทั่งประมาณ พ.ศ. 1999 จึงได้เกิดการพิมพ์แบบอุตสาหกรรมขึ้นในทวีปยุโรป โดย Johann Gutenberg ชาวเยอรมัน ได้คิดประดิษฐ์ทำตัวเรียงพิมพ์ และสร้างแท่นพิมพ์ที่สามารถพิมพ์ได้ครั้งละมากๆ อันเป็นแบบอย่างของระบบการพิมพ์ในปัจจุบัน ซึ่งถือว่าเป็นการปฏิวัติการสื่อสารของโลกในสมัยนั้น ระบบการพิมพ์ของ Gutenberg ได้รับการถ่ายทอดไปใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลก ซึ่งการพิมพ์ได้สร้างความเป็นไปได้ในการผลิตสื่อต่างๆที่หลากหลายมากขึ้น การพิมพ์ได้ถูกกระจายไปในแต่ละประเทศ ทำให้ต้องตระหนักถึงความแตกต่างและจำเป็นต้องนำมาเปรียบเทียบกัน มันเป็นมาตรฐานไม่เฉพาะแต่ตัวหนังสือ แต่รวมไปถึง ปฏิทิน พจนานุกรม แผนที่ แผนผัง แผนภาพ เครื่องหมายต่างๆ ซึ่งรวมไปถึง สัญลักษณ์ต่างๆที่ช่วยในการทำความเข้าใจ เช่น ตัวเลข เครื่องหมายวรรคตอน ซึ่งช่วยแก้ปัญหาด้านการจำ 

4.) the electronic age : วัฒนธรรมอิเลคทรอนิคส์ เกิดขึ้นภายหลังการค้นพบพลังงานไฟฟ้า ในศตวรรษที่ 20 ซึ่งเป็นรากฐานของการสื่อสารด้วยอิเลคทรอนิคส์ เช่น การส่งข้อความ ภาพ เสียง วิทยุ ภาพยนตร์ โทรทัศน์ ภาพและเสียง เทป แผ่นดิสก์ คอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีอื่นๆที่ตามมา สิ่งเหล่านี้กำลังจะเข้ามาแทนที่วัฒนธรรมการพิมพ์ การสื่อสารข้อความผ่านสื่ออิเลคทรอนิคส์ ทั้งในรูปของภาษา หรือภาพ จะถูกแปลงเป็นรหัส 0 และ 1 กลายเป็นสัญญาณดิจิตอล เป็นวิธีที่จะส่งภาพหรือภาษาไปตามสายเคเบิล และแปลกลับโดยตัวรับข้อมูล 

แน่นอนว่า ปัจจุบันเรากำลังอยู่ในยุค electronic age ประชาชนในโลกอุตสาหกรรมต้องเกี่ยวข้องกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ตลอดทั้งวัน เริ่มจากเสียงปลุกจากนาฬิกาดิจิตอลในตอนเช้า อุ่นอาหารเช้าด้วย เตาอบไมโครเวฟ ออกไปทำงานเพื่อพบกับระบบอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆที่จัดการจราจรทั้งบนอากาศและ ตามท้องถนน ส่งข้อความและรูปภาพไปยังลูกค้าผ่านทางโทรสาร แทนการวาดภาพ การเขียนด้วยลายมือ หรือส่งจดหมายทางไปรษณีย์ โทรศัพท์ไปหาเพื่อนที่อีกซีกโลกหนึ่งได้อย่างรวดเร็ว หรือแม้แต่การเข้าถึงข่าวสารและกีฬาทั่วทุกมุมโลกจากการพักผ่อนดูโทรทัศน์กับบ้านในยามเย็น การพัฒนาทางเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้น ทำให้ความเรียบง่ายและคุ้นเคย ถูกแทนที่ด้วยความซับซ้อนและสิ่งแปลกใหม่ มนุษย์ต้องเรียนรู้เทคโนโลยีที่ถูกคิดค้นและพัฒนาอยู่เรื่อยๆอย่างไม่มีวันสิ้นสุด คนในยุคเก่าต้องปรับตัวกับสภาพสังคมและรูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป Gen-X หรือพ่อแม่ที่อยู่ในวัยทำงาน อาจต้องให้ลูกที่อยู่ใน Gen-Y สอนการใช้คอมพิวเตอร์ พิมพ์รายงานการประชุมและส่งอีเมลล์ เพื่อนำเสนอแก่ลูกค้าที่บริษัท หรือแม้กระทั่ง คุณตาคุณยายใน Gen-B เอง ก็ยังต้องเรียนรู้ที่จะใช้โทรศัพท์มือถือ เพื่อที่จะพูดคุย ติดต่อกับลูกหลานที่อยู่ห่างไกล โดยให้หลานในวัยประถมอย่าง Gen-Z เป็นผู้สอน ทั้งนี้เพราะคนรุ่นใหม่อย่าง Gen-Y และ Gen-Z มีประสบการณ์การรับรู้ในยุคอิเล็กทรอนิกส์ที่มากกว่า Gen-B และ Gen-X ที่เกิดมาก่อนการผลิต ของเทคโนโลยีนั้นๆ จึงทำให้มีประสบการณ์น้อยกว่าและเรียนรู้ได้ช้ากว่า

จนกระทั่งมาถึงอารยธรรมล่าสุดของมนุษย์ที่เป็นผลมาจากการพัฒนาด้านอิเล็กทรอนิกส์ อย่าง Cyberspace เทคโนโลยีอันทันสมัยที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งทุกอย่างไปในแบบที่เราอาจจะไม่เคยคาดคิดมาก่อน ทุกวันนี้เราอยู่ในโลกของไซเบอร์ หรือโลกที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศล้อมรอบตัวมากมาย เทคโนโลยีเหล่านั้นส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปของเครื่องมือที่มีหน้าจอแสดงผล ไม่ว่าจะเป็น มือถือ, คอมพิวเตอร์แบบ Notebook หรือแม้กระทั่ง ipod โทรทัศน์เองก็เป็นส่วนหนึ่งของเทคโนโลยีไซเบอร์นั้น เพียงแต่ทุกวันนี้เรากำลังก้าวไปสู่โลกของโทรทัศน์แบบ interactive ที่ทำให้เราสามารถสื่อสารสองทางผ่านโทรทัศน์นี้ได้ เทคโนโลยีต่างๆเหล่านี้ ทำให้เราสามารถเข้าถึงโลกผ่านหน้าจอและมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งมากและน้อยได้ 

นอกจากนี้ Cyberspace ยังถือเป็นการสร้างโลกใหม่ หรือโลกเสมือนที่ซ้อนทับกับโลกที่เราเป็นอยู่ในทุกวันนี้ โดยเป็นโลกที่แยกออกจากโลกปัจจุบันที่เราอยู่อย่างสมบูรณ์ และสามารถเติบโตเดินทางไปสู่อนาคตของตัวมันเองได้ เราอาจจะสามารถทำอะไรต่างๆ มากมายที่เราทำไม่ได้หรือไม่มีโอกาสทำได้ในโลกแห่งความเป็นจริง เช่นเดียวกับที่เราอาจจะโดนอิทธิพลหลาย ๆ อย่างที่หาในชีวิตจริงไม่ได้เช่นกัน สิ่งที่มีอิทธิพลกับการดำเนินชีวิตของเราตลอดมาอาจจะกล่าวได้ว่ามีสองอย่าง คือ เวลา และ สถานที่ ซึ่งเวลาและสถานที่นี้มีผลต่อพฤติกรรมของมนุษย์ทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เวลาและสถานที่ได้สร้างความเป็นปัจเจกชนขึ้นมา มนุษย์ที่เป็นสัตว์สังคมจึงต้องเลือกใช้พฤติกรรมให้เหมาะกับเวลาและสถานที่เป็นเงื่อนไขบังคับ แต่เวลาและสถานที่ก็ได้สร้างเงื่อนไขใหม่ ๆ ให้เราสามารถสร้างความเป็นตัวของตัวเองขึ้นมาได้ การมาถึงของ Cyberspace เป็นครั้งแรกที่เราสามารถควบคุมเวลา (time) ของเราได้ ทุกวันนี้ความสามารถของโทรศัพท์มือถือ , คอมพิวเตอร์แบบ Notebook หรือแม้กระทั่ง ipod ก็ได้เพิ่มพลังของปัจเจกบุคคลให้มากขึ้น ซึ่งเป็นการทำให้เราเป็นอิสระจากเรื่องของ สถานที่ (space) ด้วยเช่นกัน หน้าจอที่สามารถโยกย้ายเปลี่ยนแปลงสถานที่ไปมาได้ ทำให้เราสามารถติดต่อกับใครหรือกลุ่มคนใดๆ ได้อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ติดต่อสื่อสารมีปฏิสัมพันธ์และควบคุมด้วยปลายนิ้วมือของเรา เราสามารถเข้าถึงโลกเมื่อใดก็ตามที่ต้องการและเข้าจากที่ไหนๆก็ได้ จึงทำให้เส้นแบ่งระหว่างโลกไซเบอร์กับโลกแห่งความเป็นจริงเลือนรางลงไปเรื่อยๆ 

แน่นอนว่าพลเมืองส่วนใหญ่ที่ใช้ชีวิตอยู่ใน Cyberspace คงจะหนีไม่พ้น กลุ่มคนใน Gen-Y และ Gen-Z ที่เกิดมาพร้อมๆกับประสบการณ์การรับรู้ของเทคโนโลยีนี้จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ก่อให้เกิดปรากฏการณ์มากมายในสังคม เกี่ยวกับพฤติกรรมของวัยรุ่น ทั้งวัยรุ่นตอนต้นอย่าง Gen-Z และวัยรุ่นตอนปลายอย่าง Gen-Y ที่ถูกแสดงออกมาในโลก Cyberspace ซึ่งสิ่งที่ดึงดูดวัยรุ่น เข้าสู่ Cyberspace ตามเหตุผลทางจิตวิทยาก็คือ ความต้องการและแรงจูงใจของวัยรุ่นที่ต้องการค้นหาความเป็นตนเอง ต้องการค้นพบสิ่งใหม่ๆ อยากเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มและเป็นที่สนิทสนมของคนในกลุ่ม ต้องการแยกตัวเป็นอิสระจากแรงกดดันของพ่อ-แม่และครอบครัว ต้องการที่ระบายความไม่พอใจ ทำให้วัยรุ่นเกิดแรงจูงใจกับสิ่งต่างๆ ภายนอกบ้าน เพราะพวกเขาต้องการรู้ว่าในสายตาคนอื่นมองเขาเป็นอย่างไร พวกเขาต้องการหาคำตอบว่าจะทำอย่างไรกับชีวิตของตัวเอง และบนอินเทอร์เน็ต ก็มีผู้คนกลุ่มต่างๆ มากมายทุกประเภทเท่าที่เราจะจินตนาการได้แตกต่างกัน ตั้งแต่บุคลิก พื้นฐานทางสังคม ความเชื่อและความสนใจที่มี นอกจากนี้ยังเป็นที่ที่วัยรุ่นสามารถระบายอารมณ์ได้โดยไม่มีใครรู้ตัวตนที่แท้จริง หรืออยากแยกตัวจากครอบครัวโดยที่ไม่ต้องออกจากบ้าน 

ดังนั้น เสน่ห์ของอินเทอร์เน็ตคือ การได้รู้จักผู้คนใหม่ๆ ทำสิ่งที่น่าตื่นเต้น สำรวจโลกกว้างในขณะที่อยู่บ้าน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่วัยรุ่นค้นพบได้จากอินเทอร์เน็ต นอกจากนี้ วัยรุ่นยังมีสถานที่นัดพบหลากหลายรูปแบบบนอินเทอร์เน็ต เนื่องจากอินเทอร์เน็ตเป็นห้องสมุดออนไลน์ที่มีทุกๆเรื่องเท่าที่จะนึกได้ วัยรุ่นหลายคนจึงนิยมสร้างเว็บส่วนตัวและในหน้าเว็บยังใส่รูปภาพ คลิปวิดีโอ และเสียงเพลงต่างๆ ทำให้การสำรวจเว็บของวัยรุ่นด้วยกัน สามารถตอบสนองความต้องการที่จะแยกตัวตนออกมาจากทางบ้าน ยิ่งไปกว่านั้น การสร้างเว็บส่วนตัวยังเป็นแบบฝึกหัดที่ดีสำหรับวัยรุ่น ช่วยให้พวกเขาค้นหาตัวตนผ่านสิ่งที่เขาต้องการโชว์คนอื่น และอธิบายเรื่องราวเกี่ยวกับตนเองให้คนอื่นรู้ 

การโต้ตอบทางอีเมล์หรือโปรแกรมสนทนาอย่างรวดเร็วเหมือนทั้งสองฝ่ายกำลังพูดคุยกัน นับเป็นความสัมพันธ์อย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นบนอินเทอร์เน็ต เพราะจุดดึงดูดของการใช้ อยู่ที่ผู้ส่งไม่สามารถมองเห็นหน้าตาหรือได้ยินเสียงของผู้รับ ทำให้เกิดความลึกลับและคลุมเครือระหว่างความสัมพันธ์ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้น รวมถึงการใช้รายชื่ออีเมล์เพื่อติดต่อถึงกันภายในกลุ่มยังได้รับความนิยมจากกลุ่มวัยรุ่นอีกด้วย การใช้ห้องสนทนา ทำให้วัยรุ่นสามารถพูดคุยกันได้แบบ Real-time และสามารถส่งข้อความส่วนตัวไปยังผู้รับโดยที่คนในกลุ่มมองไม่เห็น จุดดึงดูดอยู่ที่วัยรุ่นสามารถใช้จินตนาการสร้างเรื่องราวและบทบาทของตัวเองได้ราวกับอยู่ในโลกแฟนตาซี เช่นวัยรุ่นบางคนชอบที่จะนำเสนอตัวตนโดยเปลี่ยน ชื่อ อายุ หน้าตา หรือเพศ ซึ่งจุดนี้จะคล้ายกับการใช้กระดานข้อความ เพียงแต่กระดานข้อความจะให้ความสำคัญสำหรับกลุ่มวัยรุ่นที่ต้องการมีโลกส่วนตัวกับเรื่องที่พวกเขาต้องการพูดคุยโดยเฉพาะ 

ไม่เพียงแต่วัยรุ่นอย่าง Gen-Y และ Gen-Z ที่วิถีชีวิตครึ่งหนึ่งถูกกลืนไปกับโลกของ Cyberspace กลุ่ม Gen-X เอง ที่อาจมีสถานะเป็นเจ้าของธุรกิจ ก็ต้องลงมาศึกษากระแสที่เปลี่ยนไปของสังคม เพื่อหาช่องทางในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าและผู้บริโภคจากตลาดที่นับวันจะโตขึ้นอย่างไม่มีที่สิ้นสุดอย่าง Cyberspace จึงเห็นได้ชัดว่า ในช่วงหลังธุรกิจแบบ e-commerce หรือการทำธุรกรรมแบบ online ได้รับความนิยมมากขึ้น รวมถึงเกิดการแข่งขันด้านการโฆษณาประชาสัมพันธ์บนโลกไซเบอร์มากขึ้น จากที่เคยโฆษณาทางสื่อกระแสหลักอย่างเดียว 

นอกจากนี้กระแส nostalgia หรือการตามหาเพื่อนเก่าที่อาจขาดการติดต่อกันไปนานจากระบบการค้นหาผ่านเว็บไซต์อย่าง Facebook ก็กำลังมีบทบาทในหมู่วัยรุ่นทั้งตอนต้นและตอนปลาย ซึ่ง Facebook เป็นเว็บไซต์เครือข่ายทางสังคมหรือ social network ที่จะเชื่อมโยงเพื่อนๆ และคนแปลกหน้าเพื่อให้มาแลกเปลี่ยนข้อมูล และแบ่งปันภาพ, วีดีโอ รวมถึงเกมและอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งถือเป็นการสื่อสารผ่านหน้าจอโดยไม่ขึ้นกับเวลาและสถานที่ เพราะเราสามารถเอาข้อมูลมาวางทิ้งไว้ เพื่อให้อีกคนมาเช็คได้ในภายหลัง หรือแม้กระทั่งการจำลองรูปแบบการใช้ชีวิตใหม่ๆผ่าน application เกมบน Facebook สร้างโลกเสมือนจริงให้เราสามารถบริหารจัดการร้านอาหารของตัวเองผ่านเกม restaurant city หรือเป็นชาวไร่ปลูกผักขายในเกมยอดฮิตอย่าง Farmville นอกจากนี้ยังรวมไปถึง social network ชื่อดังอย่าง twitter ที่เป็นพื้นที่ในการแสดงสถานะและอัพเดตข้อมูลข่าวสาร ก็เข้ามามีบทบาทคาบเกี่ยวกับโลกแห่งความจริง แม้กระทั่งในการโต้ตอบและประชาสัมพันธ์ทางการเมืองของประเทศไทย ทั้งหมดนี้ จึงทำให้โลก Cyberspace เป็นแหล่งรวมของข้อมูลมหาศาลและผู้คนหลากหลายสาขาอาชีพ และกลายเป็นช่องทางในการทำธุรกิจใหม่ๆ รวมถึงสร้างไอเดียการคิดค้นเทคโนโลยีใหม่เพื่อให้เข้าถึงโลก Cyberspace หรือสังคม social network ได้ง่ายดายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การเพิ่ม application ในโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ ให้สามารถเข้าใช้งาน Facebook และ twitter ได้โดยตรง ซึ่งก่อให้เกิดกระแสใหม่ของเทคโนโลยีด้านการสื่อสารในสังคม

นอกจากนี้ ระบบการแบ่งปันข่าวสารเฉพาะกลุ่ม และระบบกระดานสนทนา อาจเรียกได้ว่า เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้แต่ละคนมีและเป็นส่วนหนึ่งในสังคมบนอินเตอร์เน็ต เนื่องจากทั้งสองระบบ ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของคนหมู่มาก ได้ผ่านการรับรู้ข่าวสารเดียวกัน และการสนทนาในหัวข้อเดียวกัน ปัจจุบัน การเกิดขึ้นของระบบเครือข่ายสังคม (social network) เช่น Hi5 Facebook และ MySpace และระบบ โลกเสมือน เช่น Second Life หรือระบบเกมส์ออนไลน์ เช่น World of Warcraft คือก้าวสำคัญ ที่ทำให้เกิดการขยายตัวในวงกว้างของการมีและเป็นส่วนหนึ่งในสังคมบนอินเตอร์เน็ตของเราแต่ละคน เนื่องจาก ทั้งสามระบบข้างต้น ทำให้คนหมู่มาก สามารถมีประสบการณ์ร่วมกัน ผ่านช่องทางการสื่อสาร ที่อนุญาตให้โต้ตอบกันได้แทบจะในทันที อีกทั้งยังเป็นสื่อที่มีความหลากหลายมากกว่าในอดีตที่เป็นเพียงแค่ ช่องทางการสื่อสารทางเดียวและตัวหนังสือ การเกิดขึ้นของปรากฏการณ์ข้างต้นนี้ จึงส่งผลให้เราทุกคน ต้องเผชิญกับการใช้ชีวิต ทั้งในสังคมในโลกเสมือนบนอินเตอร์เน็ต และในสังคมในโลกที่เรามีชีวิตและอาศัยอยู่จริง มากขึ้นๆทุกที

ถึงแม้ว่า พื้นฐานการใช้ชีวิตในสังคมทั้งสองแบบ และบนโลกสองใบที่แตกต่างกัน อาจมีบางมุมที่คล้ายกัน เช่นในมุมที่ว่า สังคมถูกสร้างขึ้นบนพื้นฐานของความไว้ใจและเชื่อใจ ผ่านการมีระบบความคิด ความเชื่อ ค่านิยม และการมีอัตลักษณ์ร่วมกัน หรือในมุมที่ว่า ทุกชีวิตต้องรับผิดชอบต่อทุกการตัดสินใจ ทุกการกระทำ และต่อความปลอดภัยของตัวเอง แต่ถึงกระนั้น ก็ยังมีความแตกต่างในอีกหลายๆมุม ซึ่งทำให้การใช้ชีวิตในสังคมทั้งสองแบบ และบนโลกสองใบที่แตกต่างกันนี้ ต้องการแนวคิดในการดำเนินชีวิต และส่วนผสมของชีวิตที่แตกต่าง

ในขณะที่การใช้ชีวิตอยู่ในสังคม บนโลกที่เราอาศัยอยู่นี้ เด็กและวัยรุ่น สามารถได้รับคำแนะนำ สั่งสอน ได้รับการดูแลสอดส่อง และได้มองเห็นตัวอย่างจากสมาชิกในครอบครัว เพื่อการดำเนินชีวิตอย่างปลอดภัยและมีความสุข แต่การใช้ชีวิตอยู่ในสังคมในโลกบนอินเตอร์เน็ต เด็กและวัยรุ่น ขาดการให้ความรู้ ความเข้าใจ ขาดคู่คิดในการตัดสินใจ และขาดตัวอย่างที่ดีในการดำเนินชีวิต จากคนที่รักและห่วงใย ทำให้ประชากรในกลุ่มนี้ มีความเสี่ยงสูงจากการใช้ชีวิตบนโลกอินเตอร์เน็ต จากการมีระบบความคิด ความเชื่อ ค่านิยม และการมีอัตลักษณ์ เฉพาะในกลุ่มของตน ซึ่งทำให้เกิดความแปลกแยกจากสังคมบนโลกที่ พวกเขาเหล่านี้ ต้องอาศัยอยู่จริง นั่นหมายถึงว่า เมื่อเด็กและวัยรุ่น จำเป็นต้องใช้ชีวิตและต้องเดินทางไปมาระหว่าง สังคมสองแบบและบนโลกสองใบที่แตกต่างกัน พวกเขาอาจไม่สามารถบริหารจัดการตัวตนของตัวเอง ได้อย่างเหมาะสม ผลกระทบของปรากฏการณ์นี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับเด็กและเยาวชน เพียงเท่านั้น ผู้ที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่ทุกคน ก็ได้รับผลกระทบนี้เช่นกัน

การที่โลกอินเตอร์เน็ต เปิดโอกาสให้เราทุกคน สามารถทำอะไรได้ค่อนข้างอิสระ และไม่ต้องรับผิดชอบกับการกระทำของตัวเองมากนัก อันเป็นผลสืบเนื่องมาจาก คุณสมบัติในการมีส่วนร่วม ได้โดยไม่จำเป็นต้องแสดงตน อีกทั้งการที่สังคมบนอินเตอร์เน็ตส่วนใหญ่ เปิดโอกาสให้คนเรามีส่วนร่วมได้อย่างฉาบฉวย เนื่องจากไร้ซึ่งส่วนผสมของชีวิต เฉกเช่นในสังคมบนโลกที่เราอาศัยอยู่ ไม่ว่าจะเป็น การทำกิจกรรมทางสังคมร่วมกัน ซึ่งทำให้เกิดการสัมผัสและเกิดมีปฏิสัมพันธ์ รวมถึงการได้รู้จักและรับรู้ ถึงตัวตน ครอบครัว และมุมอื่นๆในชีวิต ของสมาชิกในสังคม ด้วยปัจจัยตัวอย่างข้างต้นนี้ แน่นอนว่า ย่อมส่งผลให้คนส่วนใหญ่ ติดนิสัยขาดความรับผิดชอบในสิ่งที่ตนเองทำ ขาดความยั้งคิดก่อนการกระทำใดๆมากขึ้น รวมถึงการใช้ชีวิตเพื่อผลประโยชน์ของตนเองมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่า หากนำมาใช้กับสังคมบนโลกที่เราอาศัยอยู่ ย่อมนำมาซึ่งปัญหาทางสังคมมากมาย

ซึ่งสิ่งต่างๆที่ได้กล่าวมาข้างต้น ไล่เรียงตั้งแต่ยุคการพูด การเขียน การพิมพ์ ยุคอิเล็กทรอนิกส์ จนมาถึงยุคของ Cyberspace ได้แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตของคนในแต่ละยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็น Gen-B , Gen-X , Gen-Y หรือ Gen-Z ต่างก็ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและวิถีชีวิตไปตามโลกที่ยังคงหมุนไปข้างหน้าอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ภายใต้เทคโนโลยีหรือสื่อที่แวดล้อม ประสบการณ์ในการรับรู้ และกรอบของสังคม แต่ถึงกระนั้น ไม่ว่าวิถีของสังคมจะเปลี่ยนไปมากน้อยเพียงใด หากเรารู้จักปรับเปลี่ยนตัวเองอย่างยืดหยุ่น มีความพอดี และยึดมั่นในอุดมคติของตน ไม่หวั่นไหวหรือหลงใหลไปกับกระแสนิยมของสังคม หรือกระแสวัฒนธรรมแห่งการบริโภค รวมถึงการสามารถแยกแยะตัวตนออกจากโลกจริงกับโลกเสมือน ลดความเป็นปัจเจกบุคคล แล้วหันกลับมาสร้างปฏิสัมพันธ์กับบุคคลที่อยู่รอบข้าง เมื่อนั้น เราก็จะยังคงสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างสมดุลภายใต้กระแสที่หมุนวนไปอย่างไม่มีวันสิ้นสุดของเทคโนโลยี.



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น