วันอาทิตย์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2556

ปัญหาขอทานอาชญากรรมบนความเวทนา นางสาวดวงพร จอมเกตุ 53241912

บทความเชิงวิชาการ
เรื่อง “ขอทานอาชญากรรมบนความเวทนา”
ขอทาน คือ ใคร??
                ในเมืองใหญ่หรือเมืองเศรษฐกิจหลายๆแห่ง เราคงเห็นพบเห็นคนที่แต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่ขาด มองดูสกปรก มีกระป๋องหรือภาชนะอื่นๆที่ใช้รองรับเศษเงินจากผู้คนที่ผ่านไปมา และมักจะนั่งอยู่ตามสะพานลอยหรือริมฟุตบาทที่มีคนสัญจรผ่านไปมา คนเหล่านี้ถูกเรียกว่า “ขอทาน”
ขอทานนั้นมีมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว แทบจะเรียกได้ว่าเป็นอาชีพเก่าแก่อาชีพหนึ่งเลยก็ว่าได้ คล้ายจะเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมในสังคมไปแล้ว พวกเขาดำรงชีวิตอยู่ด้วยการขอรับเศษเงินจากผู้ที่ผ่านไปมา ลักษณะโดยทั่วไป คือ ทำตัวให้ดูน่าสงสารด้วยการแต่งตัวให้โทรม เนื้อตัวมอมแมม ใช้ความบกพร่องทางร่างกายซึ่งบางรายก็แกล้งพิการบ้าง โชว์แผลที่ดูน่ากลัวน่าสยดสยองให้เห็นบ้าง หรือบางครั้งก็หอบลูกจูงหลานมานั่งให้ดูน่าเห็นใจ ซึ่งเด็กที่พามาด้วยนั้นใช่ลูกหลานจริงหรือเปล่าก็ไม่รู้ นี่คือปัญหาหนึ่งในสังคมไทยที่มีมานานและนับวันปัญหานี้ก็ยิ่งดูเหมือนจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เชื่อมโยงไปสู่ปัญหาอาชญากรรมหลายๆอย่างในสังคม
ทำไมต้องเป็นขอทาน
สาเหตุหรือปัจัยที่ทำให้คนเป็นขอทานมากขึ้นนั้น มีอยู่หลายปัจจัย เช่น ปัจจัยจากลักษณะของงาน งานขอทานเป็นงานที่เข้าถึงง่าย กระบวนการในการทำงานไม่ซับซ้อน ไม่ต้องใช้ความรู้ ได้เงินง่าย ใช้เวลาน้อย  ปัจจัยจากความยากจนและความไม่เป็นธรรมในการกระจายรายได้   อันเป็นสาเหตุพื้นฐานที่ส่งผลให้หลายครอบครัวอพยพมาเผชิญชีวิตในเมืองใหญ่ ส่งผลให้ครอบครัวให้ความสนใจกับเศรษฐกิจและการกระจายรายได้มากกว่าการพัฒนาความสัมพันธ์ในครอบครัว   นอกจากนี้ความยากจนทำให้บุคคลกลายเป็นผู้ที่ด้อยโอกาสางสังคม   เช่น การขาดโอกาสในการศึกษาและการขาดโอกาสในการประกอบอาชีพ   งานขอทานจึงกลายเป็นทางเลือกหนึ่งของบุคคลที่ด้อยโอกาสทางสังคม และภาวะการขาดโอกาสทางสังคม ความไม่เสมอภาคเพราะร่างกายพิการและการประสบปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ
ประเภทของขอทาน
ปัญหาคนขอทานในสังคมไทย ถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภทตามลักษณะที่มาของการเป็นขอทาน คือ ประเภทแรกเป็นขอทานที่ไม่มีอะไรเป็นของตัวเองและไม่มีหนทางที่จะทำมาหากินจริงๆ นอกจากอาศัยความเวทนาของคนอื่น จากความพิการทางร่างกายของตนเอง เป็นเครื่องเลี้ยงปากท้องให้พอเป็นพออยู่ได้ในวันๆหนึ่ง เป็นขอทานด้วยความสมัครใจ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นขอทานผู้ใหญ่และอีกประเภทหนึ่ง คือพวกขอทานที่ไม่ใช่ขอทาน กล่าวคือ พวกที่ใช้วิธีการต้มตุ๋นหลอกลวง ผู้ที่มีจิตเมตตา ให้บริจาคทรัพย์ คนพวกนี้อาจมีความสามารถ มิใช่คนจน ยากไร้แต่อย่างใด แต่คิดเอาว่างานขอทานเป็นงานที่สบาย ยิ่งไปนั่งขอทานในย่านคนรวย ยิ่งได้เงินมาก โดยที่ไม่ต้องเสียแรงทำงาน แต่อย่างใด ขอทานพวกแรก หรือพวกที่เป็นขอทานจริงๆนั้น บางคนก็มีลักษณะที่น่าเห็นใจอย่างมาก บ้างพิการ ขาขาดบ้าง แขนขาดบ้าง ตาบอดบ้าง นั่งริมทางเท้า พนมมือไหว้ ผู้คนที่เดินผ่านไปมา ใครเห็นใจก็บริจาคกัน ตามกำลังทุนทรัพย์     ขอทานพวกที่สอง หรือพวกที่ไม่ใช่ขอทานจริงๆ เป็นพวกอาศัยการฉ้อฉล ทำให้ผู้อื่นสงสาร และบริจาคทรัพย์ให้ คนประเภทนี้บางทีก็สังเกตได้โดยง่าย เช่นแกล้งทำเป็นพิการโดยอาศัยผ้าปิด แต่แท้ที่จริงอวัยวะมีครบทุกส่วน บางจำพวก มีการรวมกลุ่มเป็น กลุ่มขอทานก็มี เป็นมิจฉาชีพ ทำหน้าที่เป็นขอทานโดยเฉพาะ โดยกระจายตัวไปตามจุดต่างๆ ทั่วชุมชน มีคนที่เคยพบเห็นบอกว่า ขบวนการนี้มีการขนส่งขอทานไปตามพื้นที่ต่างๆโดยอาศัยรถยนต์เป็นยานพาหนะ เมื่อถึงที่หมายใด ก็หย่อนขอทานลงไปคนหนึ่ง เมื่อไปเจออีกจุด ก็หย่อนไปอีกคนหนึ่ง และก็จะไปให้ขอทานแต่ละคนทำหน้าที่ขอทานตามที่ได้รับมอบหมาย เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจประจำวัน ก็จะมีรถมารับกลับไปรวมกลุ่ม เพื่อวางแผนเตรียมการสำหรับวันรุ่งขึ้นต่อไป นอกจากนี้ก็มีขอทานบ้างคนที่เป็นขอทานด้วยความสมัครใจ แต่ไม่ได้ใช้ความพิการหรือความเวทนาของผู้อื่นมาแลกกับเงิน หากแต่ใช้ความสามารถในด้านการเล่นดนตรีหรือร้องเพลงมาแลกเงินจากผู้ที่ผ่านไปมา เราเรียกคนขอทานกลุ่มนี้ว่า “วณิพก”
ขอทานในประเภทแรกที่กล่าวมานั้นแสดงให้เห็นถึงปัญหาสังคมในด้านสวัสดิการ เศรษฐกิจที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายๆฝ่ายเข้ามาแก้ปัญหาและให้ความช่วยเหลือแก่พวกเขา แต่ประเภทหลังเป็นปัญหาที่รุนแรงมาก จัดเป็นอาชญากรรมในสังคมประเภทหนึ่งที่สามารถนำไปสู่อาชญากรรมที่ประเภทหนึ่งได้  โดยเฉพาะการนำไปสู่ปัญหาหารค้ามนุษย์ มีขอทานจำนวนนำไม่น้อยที่นำเด็กทารกมาอุ้มไว้ในอกและนั่งขอทานอยู่ตามสะพานลอย มองดูน่าเวทนาสงสาร แต่หากพิจารณาดูให้ดีเด็กที่อยู่ในอ้อมแขนคนที่เรียกตัวเองว่าแม่นั้นหน้าตาไม่มีความคล้ายกันเลยแม้แต่น้อย และในขณะเดียวกันก็มีข่าวออกมามากมายว่ามีเด็กถูกลักพาตัวไปตั้งแต่เด็กทารกจนถึงเด็กโต หัวใจของพ่อแม่ที่ลูกถูกลักพาตัวไปนั้นแทบแตกสลาย บางคนก็สามารถหาลูกตนเองเจอในเวลาไม่นาน บางคนก็ใช้เวลาเป็นสิบปีกว่าจะเจอตัวลูกแต่สภาพของลูกที่ได้มาพบนั้นยิ่งทำให้สะเทือนใจเพราะบางคนอยู่ในสภาพขอทานแขนขาขาด ต้องกลายเป็นคนพิการไปแล้ว แต่ก็มีไม่น้อยเลยที่ปัจจุบันก็ยังตามหาลูกตัวเองไม่เจอ และจากปัญหาตรงนี้ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำเกิดขอทานเด็กหรือเด็กเร่ร่อนในสังคม
ขอทานเด็ก
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าหากเมื่อใดก็ตามที่ท่านพบเห็นเด็กขอทานนั่งหน้าตาใสซื่อ หรืออยู่ในอ้อมกอดของคนที่พาเขามาขอทาน ความสงสารและความเห็นใจจะคืบคลานเข้าสู่สามัญสำนึก ของเราๆ ท่านๆ และหลังจากนั้น คงต้องถึงเวลาตัดสินใจว่า จะยอมใจแข็งเดินจากไป หรือ ควักเศษเงินตอบแทนความน่าสงสารเบื้องหน้า  ด้วยความน่าสงสารและน่าเห็นใจนี่เอง ที่ทำให้เด็ก ต้องกลายมาเป็นส่วนประกอบหนึ่งของการแสวงหาผลประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ และการขอทาน ก็เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่ทำเงินให้แก่ผู้อยู่เบื้องหลังได้ไม่น้อยทีเดียว
ศูนย์ข้อมูลคนหายเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา ได้ลงพื้นที่ติดตามขบวนการต่างๆ ที่นำเด็กมาขอทาน พบว่า เด็กบางรายต้องออกมาขอทานตั้งแต่ 7 โมงเช้า จนกระทั่งเวลา 5 ทุ่ม กว่าจะได้กลับบ้านพักผ่อน ระยะเวลาในการขอทานช่างเนินนานนัก เมื่อเทียบกับคุณภาพชีวิตแบบข้างถนนที่เด็กไม่สมควรจะได้รับ ซ้ำร้ายเด็กเหล่านี้ขาดโอกาสทางการศึกษาตั้งแต่เริ่มแรก ดังนั้น เมื่อเด็กเติบโตขึ้น ทางเลือกในการประกอบอาชีพเลี้ยงตัวก็ลดน้อยลง ผลักดันให้เด็กกลุ่มนี้อาจเติบโตในภาวะของเด็กเร่ร่อนและอาจก่ออาชญากรรมเพื่อประทังชีวิตในอนาคต
ไม่ว่าจะกี่ยุคกี่สมัยก็ตาม หากคนในสังคมยังมองภาพการแสวงหาผลประโยชน์จากเด็กอย่างตื้นเขิน ไม่ตั้งคำถามถึงที่มาที่ไป หรือ สงสัยต่อคุณภาพชีวิตที่เด็กทุกคนควรจะมีและควรได้รับการปกป้องคุ้มครอง"เด็กขอทาน" ก็ยังเป็นเครื่องมือที่ขายได้ และจะเป็นภาพที่ชินตาของคนในสังคมต่อไป           
แล้วขอทานเด็กเหล่านี้มาจากไหน คำตอบมีมากมายนัก แต่ขอทานเด็กที่พบเห็นส่วนใหญ่จะเป็นเด็กต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้านเราโดยเฉพาะกัมพูชา พวกเขาจะถูกซื้อมาจากครอบครัวที่มีฐานะยากจน เส้นทางในการนำเด็กและขบวนการขอทานเข้าสู่ประเทศไทย ไม่ได้มีความสลับซับซ้อนหรือยุ่งยากแต่อย่างใด เพราะมีวิธีนำพาเด็กมุ่งเข้าสู่เมืองหลวงของประเทศไทยได้หลากหลายวิธีทางรถยนต์เป็นวิธีการยอดนิยม อีกวิธีการหนึ่งที่ขบวนการค้าคน จะขนส่งสินค้ามนุษย์เข้าสู่พื้นที่เป้าหมาย        ซึ่งหากพิจารณาถึงสภาพการตรวจตราที่เข้มงวดของเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร ในเส้นทางจากตลาดโรงเกลือถึงจังหวัดปราจีนบุรีแล้ว ไม่น่าเชื่อว่าจะมีขบวนการขนคนรอดสายตาไปได้ แต่ยุทธวิธี “กองทัพมด” ที่จอดรถเดินเท้าอ้อมผ่านด่านตรวจ ก็ยังคงเป็นวิธีการที่ถูกนำมาใช้ และใช้ได้เสมออย่างไม่น่าเชื่อเช่นกัน ทางรถไฟเป็นอีกหนึ่งวิธีการที่จะสามารถขนคนเข้ามายังกรุงเทพฯ ได้อย่างสะดวก ทั้งๆ ที่บนขบวนรถไฟมีเจ้าหน้าที่รถไฟ และตำรวจรถไฟ คอยตรวจตราอย่างเข้มงวด
กฎหมายการจัดระเบียบและแก้ปัญหาขอทาน
มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเป็นขอทานหรือกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิมนุษยชน ปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มากมาย เช่น
1. ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights หรือ UDHR) ซึ่งแสดงถึงความหมายของสิทธิมนุษยชนโดยรวมไว้อย่างละเอียดชัดเจน และมีสถานะเป็นกฎหมายระหว่างประเทศที่ไทยได้ให้สัตยาบันเป็นภาคีแล้วและต้อง ปฏิบัติตาม
2.อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child หรือ CRC) ซึ่งมีสถานะเป็นกฎหมายระหว่างประเทศที่ไทยจะต้องปฏิบัติตามเช่นกั
3.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550
4.พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พุทธศักราช 2546
นอกจากนี้ยังมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับขบวนการธุรกิจเด็กขอทาน การลักลอบนำเด็กต่างด้าวเข้ามาในประเทศอย่างผิดกฎหมายหรืออื่นๆ เช่น พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พุทธศักราช 2551 และพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พุทธศักราช 2522 เป็นต้น
เรื่องของสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องรู้และเข้าใจว่า คนทุกคนเกิดมามีสิทธิที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างอิสระ แต่มีคนบางกลุ่มใช้ช่องว่างของเศรษฐกิจและความด้อยโอกาสทางสังคมของผู้อื่นมาเป็นเครื่องมือในการละเมิดสิทธิมนุษยชน เอาเปรียบและแสวงหาผลประโยชน์ โดยการล่อลวง ข่มขู่ หรือแลกเปลี่ยนด้วยเงินตรา การกระทำเช่นนี้เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้อื่นจากปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน หรือ UDHR แล้ว กรณีเด็กขอทานโดยเฉพาะกรณีที่ทำเป็นธุรกิจโดยมีบุคคลอื่นอยู่เบื้องหลังนี้ค่อนข้างจะละเมิดต่อปฏิญญาอยู่หลายข้อมาก ซึ่งก็หมายถึงละเมิดต่อความเป็นมนุษย์ เช่น
ข้อ1 มนุษย์ทั้งหลายเกิดมาอิสรเสรี เท่าเทียมกันทั้งศักดิ์ศรีและสิทธิ ทุกคนได้รับการประสิทธิ์ประสาทเหตุผลและมโนธรรม และควรปฏิบัติต่อกันอย่างฉันพี่น้อง
ข้อ3      บุคคลมีสิทธิในการดำเนินชีวิต ในเสรีธรรมและในความมั่นคงหางร่างกาย
ข้อ4  บุคคลใดจะถูกบังคับให้เป็นทาส หรืออยู่ในภาระจำยอมใดๆมิได้ การเป็นทาสและการค้าทาสจะมีไม่ได้ทุกรูปแบบ
ข้อ5  บุคคลใดจะถูกทรมานหรือได้รับการปฏิบัติหรือลงทัณฑ์ซึ่งทารุณโหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือเหยียดหยามเกียรติมิได้
ส่วนกฎหมายภายในประเทศอีกฉบับหนึ่งซึ่งเกี่ยวข้องกับเด็กโดยตรงเช่นเดียวกันก็คือ พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พุทธศักราช 2546 ซึ่งมีจุดที่น่าสนใจอันดับแรกอยู่ที่มาตรา 22 และมาตรา 23

มาตรา 22 การปฏิบัติต่อเด็กไม่ว่ากรณีใด ให้คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญและไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม การกระทำใดเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็ก หรือเป็นการเลือกปฏิบัติ โดยไม่เป็นธรรมหรือไม่ ให้พิจารณาตามแนวทางที่กำหนดในกระทรวง

มาตรา 23 ผู้ปกครองต้องให้การอุปการะเลี้ยงดู อบรมสั่งสอน และพัฒนาเด็กที่อยู่ในความปกครองดูแลของตนตามสมควรแก่ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมแห่งท้องถิ่น แต่ทั้งนี้ต้องไม่ต่ำกว่ามาตรฐานขั้นต่ำตามที่กำหนดในกฎกระทรวงและต้องคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กที่อยู่ในความปกครองดูแลของตนมิให้ตกอยู่ในภาวะอันน่าเกิดอันตรายแก่ร่างกายและจิตใจ


                มาตรา 25 ผู้ปกครองต้องไม่กระทำการ ดังต่อไปนี้
               (1)  ทอดทิ้งเด็กไว้ในสถานรับเลี้ยงเด็กหรือสถานพยาบาลหรือไว้กับบุคคลที่รับจ้างเลี้ยงเด็กหรือที่สาธารณะหรือสถานที่ใด โดยเจตนาที่จะไม่รับเด็กกลับคืน

               (2) ละทิ้งเด็กไว้ ณ สถานที่ใดๆ โดยไม่จัดให้มีการป้องกันดูแลสวัสดิภาพหรือให้การเลี้ยงดูที่เหมาะสม
               (3)  จงใจหรือละเลยไม่ให้สิ่งที่จำเป็นแก่การดำรงชีวิตหรือสุขอนามัยจนน่าจะเกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจของเด็ก 
              (4) ปฏิบัติต่อเด็กในลักษณะที่เป็นการขัดขวางการเจริญเติบโตหรือพัฒนาการของเด็ก
              (5)ปฏิบัติต่อเด็กในลักษณะที่เป็นการเลี้ยงดูโดยมิชอบ   
                นับว่าปัญหาเด็กเร่ร่อนขอทาน เป็นปัญหาที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนของเด็กเกือบทุกด้าน แม้เรามองดูอย่างผิวเผิน แค่เดินผ่านเด็กที่ขอเงินไป โดยไม่คิดว่าจะมีอะไร แต่เบื้องลึกเบื้องหลังก็มีอะไรที่น่ากลัว และคุกคามความเป็นมนุษย์ของเด็กอยู่มากโดยที่เราอาจคาดไม่ถึง การแก้ปัญหาเด็กเร่ร่อนขอทานไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาลแต่เพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น แต่รวมถึงทุกคนที่จะส่งเสริมสนับสนุนเด็กไปในทางที่ถูกที่ควร เคารพความเป็นมนุษย์ของเด็กฉันเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เพราะเด็กเป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติในอนาคต แต่นอกจากฎหมายคุ้มครองสิทธิมนุษยชนแล้ว ยังมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผู้ที่เป็นขอทานทั้งที่สมัครใจเป็นและถูกล่อลวงมาเป็นขอทาน กฎหมายนั้น คือ พระราชบัญญัติควบคุมคนขอทาน พุทธศักราช 2484 แต่ในปัจจุบันได้มีการร่าง พรบ.ฉบับนี้ขึ้นใหม่แทนที่ของเดิมที่ล้าสมัยไปแล้ว ขณะนี้รอการบังคับใช้เท่านั้น ส่วนเนื้อหาสำคัญของพระราชบัญญัติคนขอทาน ฉบับใหม่มีดังนี้

                มาตรา    ในพระราชบัญญัตินี้
                   “ขอทาน”   หมายความว่า ขอทรัพย์สินของผู้อื่นไม่ว่าจะเป็นการขอด้วยวาจา ข้อความ  หรือการแสดงกิริยาอาการใดๆ หรือด้วยวิธีการใด ๆ ทั้งนี้ โดยมิได้มีการตอบแทนด้วยการทำงานอย่างใดหรือด้วยทรัพย์สินใด และมิใช่เป็นการขอกันฐานญาติมิตร แต่ไม่รวมถึงการเรี่ยไรตามกฎหมายว่าด้วย      การเรี่ยไร
                    การแสดงความสามารถในเรื่องใดๆ หรือการเล่นดนตรี หรือการเล่นอื่นใดแม้มิได้มีข้อตกลงโดยตรงหรือโดยปริยายที่จะเรียกเก็บค่าชมหรือค่าฟัง  แต่ขอรับทรัพย์สินตามแต่ผู้ชมหรือผู้ฟังจะสมัครใจให้นั้น ไม่ถือเป็นการขอทานตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ แต่ให้ถือเป็นวณิพกหรือนักแสดงสาธารณะ
                   “การสงเคราะห์” หมายความว่า การช่วยเหลือ การบำบัดรักษา การฟื้นฟูทางร่างกาย     และจิตใจ ตลอดจนการฝึกอาชีพของผู้รับการสงเคราะห์
                   “สถานสงเคราะห์” หมายความว่า  สถานที่ที่จัดไว้สำหรับให้การสงเคราะห์
                   “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น”  หมายความว่า องค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาลเมืองพัทยา กรุงเทพมหานคร หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นที่มีกฎหมายจัดตั้งที่มิใช่องค์การบริหารส่วนจังหวัด
                   “เจ้าพนักงานส่วนท้องถิ่น”  หมายความว่า 
                     (๑) นายกองค์การบริหารส่วนตำบล สำหรับในเขตองค์การบริหารส่วนตำบล
                     (๒) นายกเทศมนตรี  สำหรับในเขตเทศบาล
                     (๓)  นายกเมืองพัทยา  สำหรับในเขตเมืองพัทยา
                     (๔) ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สำหรับในเขตกรุงเทพมหานคร
                    (๕) ผู้บริหารท้องถิ่นหรือหัวหน้าของคณะผู้บริหารท้องถิ่น  สำหรับในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นที่มีกฎหมายจัดตั้งที่มิใช่องค์การบริหารส่วนจังหวัด
                   “พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า พนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งอธิบดีแต่งตั้งให้มีหน้าที่ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
                   “อธิบดี”  หมายความว่า อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ
              มาตรา๖  ให้กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการมีอำนาจหน้าที่และรับผิดชอบในการสงเคราะห์และควบคุมคนขอทานตามพระราชบัญญัตินี้  รวมทั้งเสนอนโยบาย แผนงานและมาตรการในการควบคุม สงเคราะห์ และคุ้มครองสวัสดิภาพของผู้ซึ่งขอทาน และแนวทางการจัดการกับผู้หาประโยชน์จากผู้ซึ่งขอทานโดยมิชอบด้วยกฎหมายต่อคณะรัฐมนตรี
                 มาตรา ๗  ห้ามมิให้บุคคลทำการขอทาน
                   เมื่อปรากฏจากการสอบสวนว่า  ผู้ใดทำการขอทานและผู้นั้นเป็นคนชราภาพ หรือคนวิกลจริต พิการ หรือเป็นคนมีโรค ซึ่งไม่สามารถประกอบอาชีพอย่างใด และไม่มีทางเลี้ยงชีพอย่างอื่น       ทั้งไม่มีญาติมิตรอุปการะเลี้ยงดู  ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ส่งตัวไปยังสถานสงเคราะห์ เพื่อให้การพิจารณาช่วยเหลือตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด
                มาตรา๘ วณิพกหรือนักแสดงสาธารณะประสงค์จะเล่นหรือแสดงในเขตองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นใด ให้แจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น
                   เพื่อประโยชน์ในการกำกับ ดูแล คุ้มครอง ตลอดจนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตวณิพก หรือนักแสดงสาธารณะ เจ้าพนักงานท้องถิ่นอาจกำหนดเงื่อนไข หรือวางระเบียบเกี่ยวกับการแสดง      หรือการละเล่นของวณิพกหรือนักแสดงสาธารณะได้
                มาตรา๙ ผู้ที่ถูกส่งไปยังสถานสงเคราะห์  ให้อยู่ในอำนาจการควบคุมของอธิบดี        ซึ่งอธิบดีหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจะสั่งให้ผู้ที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ทำการงานในสถานสงเคราะห์         หรือจะส่งไปทำการงานที่อื่นก็ได้ตามที่เห็นสมควร
                มาตรา๑๐เมื่อกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการเห็นสมควรจัดให้มีสถานสงเคราะห์ขึ้นในจังหวัดใด  ให้พิจารณาร่วมกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดนั้น จัดให้มีสถานสงเคราะห์ขึ้น เพื่อให้มีการสงเคราะห์แก่ผู้ซึ่งขอทานที่ได้รับการส่งตัวมายังสถานสงเคราะห์นั้น โดยให้กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการเป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารงานสถานสงเคราะห์
                   การสงเคราะห์ การจัดการทรัพย์สิน วินัย การลงโทษวินัยของผู้รับการสงเคราะห์ในสถานสงเคราะห์ตามวรรคแรก  ให้เป็นไปตามระเบียบที่กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการกำหนด         
                มาตรา๑๑  ผู้ใดใช้ บังคับ ขู่เข็ญ จ้าง วาน ยุยงส่งเสริม หรือกระทำด้วยวิธีการอื่นใดให้ผู้อื่นขอทาน หรือนำบุคคลอื่นมาเป็นประโยชน์ในการขอทานของตน  ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกหมื่นบาท
                   ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง  เป็นการกระทำดังต่อไปนี้  ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท
    (๑)  กระทำต่อบุคคลอายุต่ำกว่าสิบแปดปี    
            (๒)  กระทำต่อผู้สูงอายุ ผู้เจ็บป่วย ผู้พิการหรือทุพพลภาพ หรือหญิงมีครรภ์
            (๓)  ร่วมกันกระทำหรือกระทำกับบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป   
            (๔)  กระทำโดยนำผู้อื่นจากภายนอกราชอาณาจักรให้มาขอทานในราชอาณาจักร
            (๕)  กระทำโดยผู้ปกครองดูแลของผู้ซึ่งขอทาน
                   (๖)  กระทำโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้
                           (๗)กระทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ดูแลหรือให้คำปรึกษาบุคคลตาม (๑)      หรือ (๒)
                   (๘) กระทำโดยใช้กำลังบังคับต่อผู้ซึ่งขอทานหรือกระทำต่อบุคคลในครอบครัวของ       ผู้ซึ่งขอทาน
                   ความในวรรคหนึ่งและวรรคสอง (๑) (๒) (๓) และ (๕) ไม่ใช้บังคับกับการกระทำระหว่างบุพการีและผู้สืบสันดานโดยมิได้มีลักษณะเป็นการบังคับหรือขู่เข็ญ
                มาตรา๑๒  ผู้ใดทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นนั้นได้รับอันตรายสาหัส เพื่อนำผู้อื่นนั้นไปใช้ประโยชน์ในการขอทาน  ต้องระวางโทษประหารชีวิต
                มาตรา ๑๓   ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการช่วยเหลือให้ผู้ซึ่งอยู่ในระหว่าง       ถูกส่งตัวเข้าสถานสงเคราะห์ หรือผู้รับการสงเคราะห์ตามพระราชบัญญัตินี้  หลบหนีออกจากสถานสงเคราะห์  ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี  หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ
                   ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งได้กระทำโดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือโดยมีหรือใช้อาวุธ ผู้กระทำต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้กึ่งหนึ่ง          
                มาตรา๑๔ ให้สถานสงเคราะห์ของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการตามพระราชบัญญัติควบคุมการขอทาน พุทธศักราช ๒๔๘๔  เป็นสถานสงเคราะห์ตามพระราชบัญญัตินี้ และให้อยู่ในการบริหารจัดการของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการต่อไป
                มาตรา๑๕  ผู้รับการสงเคราะห์ตามพระราชบัญญัติควบคุมการขอทาน พุทธศักราช ๒๔๘๔ ซึ่งได้รับการสงเคราะห์อยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับให้ได้รับการสงเคราะห์ต่อไปตามพระราชบัญญัตินี้
                มาตรา๑๖  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ 
                กฎหมายที่กล่าวมาข้างต้นนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาขอทานในสังคมเท่านั้น ซึ่งในพระราชบัญญัติควบคุมคนขอทาน ฉบับใหม่ที่กำลังรอการบังคับใช้อยู่ มีมาตรการตีตรามนุษย์โดยการให้จดทะเบียนกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นนั้น ดูจะเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ก่อให้เกิดผลดีอะไรเลย เพราะเป็นการทำเรื่องที่ผิดกฎหมายให้ถูกกฎหมายเท่านั้น ในเรื่องของการแก้ปัญหาขอทานที่แท้จริงจะต้องคำนึงถึงรากของปัญหาให้มากกว่านี้
สถานการณ์ขอทานไทยไปในทิศทางไหน
                แนวโน้มขอทานในปัจจุบันดูเหมือนจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น และทวีความรุนแรงมากขึ้นด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะสถานการณ์ของเด็กขอทาน จากรายงานของมูลนิธิกระจกเงา ที่กล่าวถึงสถานการณ์ขอทานเด็กว่า สภาพปัญหาการนำเด็กมาเป็นเครื่องมือในการขอทานในรอบปี 2555 นั้น ยังคงเป็นปัญหาที่น่าหวาดวิตก เนื่องจากยังสามารถพบเห็นเด็กขอทานได้เป็นจำนวนมากแทบทุกพื้นที่ในประเทศไทย ซึ่งจากการดำเนินบทบาทในการเป็นศูนย์รับแจ้งเหตุกรณีพบเห็นการนำเด็กมาแสวงหาผลประโยชน์ของโครงการรณรงค์ยุติธุรกิจเด็กขอทาน มูลนิธิกระจกเงานั้น มีสถิติการรับแจ้งเบาะแสเกือบ 200 ราย โดยพื้นที่ที่พลเมืองดีแจ้งมานั้นยังคงเป็นเมืองเศรษฐกิจหลักๆ ของประเทศไทย อาทิเช่น กรุงเทพมหานครและปริมณฑล, ชลบุรี, ระยอง, เชียงใหม่, ภูเก็ต เป็นต้น ซึ่งในรอบปีที่ผ่านมานี้ ได้เกิดปรากฎการณ์การนำเด็กมาแสวงหาผลประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ ที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น โดยสามารถจำแนกออกมาเป็นประเภทต่างๆ ได้ดังนี้
                1. ปัญหาการนำเด็กมาเป็นเครื่องมือในการขอทาน สำหรับปัญหาการนำเด็กมาเป็นเครื่องมือในการขอทานนั้น พบว่ากลุ่มเด็กที่ถูกนำมาขอทานมากที่สุดยังคงเด็กที่มาจากประเทศกัมพูชา โดยเส้นทางที่นายหน้าค้ามนุษย์มักใช้ลักลอบนำเด็กเข้ามานั้น ยังคงเป็นด่านชายแดนอรัญประเทศ จังหวัดสระแก้วเช่นเดิม ซึ่งจากการลงพื้นที่ของโครงการรณรงค์ยุติธุรกิจเด็กขอทาน มูลนิธิกระจกเงา พบว่าบริเวณด่านชายแดนดังกล่าวสามารถลักลอบเข้าสู่ประเทศไทยได้ง่าย โดยใช้การเดินเท้าและขึ้นพาหนะประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรถไฟ , รถประจำทางหรือแม้กระทั่งรถตู้ เพื่อเข้าสู่เมืองเศรษฐกิจของประเทศไทย ซึ่งโดยมากชาวกัมพูชาที่จะเข้ามาทำการขอทานนั้น มักจะเสียค่าใช้จ่ายให้กับนายหน้าประมาณ 1,500 – 3,000 บาท แทนการทำพาสปอร์ตที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากกว่า จึงทำให้หลายครั้งที่มีการเสนอข่าวเกี่ยวกับการช่วยเหลือกลุ่มขอทานไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ จึงพบมักปรากฏข้อมูลว่า ไม่มีเอกสารแสดงตัวและเป็นการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย”    ในช่วงต้นปี 2555 นั้น ได้เกิดข่าวที่สร้างความครึกโครมให้กับสังคม ภายหลังจากที่มีการนำเสนอประเด็นนายหน้าค้ามนุษย์ตัดลิ้นไก่เด็กให้พิการก่อนที่จะบังคับขอทานในพื้นที่จังหวัดชลบุรี โดยมีการเล่าถึงพฤติกรรมที่เหี้ยมโหดของนายหน้าค้ามนุษย์ที่ใช้มีดกรีดที่ลำคอเด็ก ก่อนจะใช้เหล็กแหลมเสียบแทงเข้าที่ลำคอเพื่อตัดลิ้นไก่ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้วาทะกรรม ตัดแขน ขาเด็กหรือทำร้ายร่างกายเด็กจนพิการก่อนพามาขอทานถูกนำกลับมาพูดถึงอย่างกว้างขวางอีกครั้ง แต่อย่างไรก็ตามเมื่อมีการตรวจร่างกายเด็กโดยละเอียดจากแพทย์ ก็ปรากฏข้อเท็จจริงในท้ายที่สุดว่าเด็กมิได้ถูกทำร้ายร่างกายจนพิการแต่อย่างใด แต่เป็นเพราะเด็กเคยติดเชื้อที่กล่องเสียงจนต้องทำการผ่าตัดและมีความพิการนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ซึ่งประเด็นดังกล่าวนี้ถือเป็นข้อบกพร่องที่ภาครัฐใช้วิธีการสัมภาษณ์เด็กเพียงประการเดียว มิใช้วิธีทางการแพทย์ที่น่าเชื่อถือมากยิ่งกว่าเพื่อให้ข้อเท็จจริงปรากฏชัด ก่อนที่จะให้ข้อมูลแก่สื่อมวลชน จนทำให้เกิดความตื่นตระหนักต่อสังคมโดยใช่เหตุ นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอข่าวขอทานแกล้งพิการตาบอดที่อำเภอแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี ซึ่งแม้มิใช่ปัญหาการนำเด็กมาขอทานโดยตรง แต่ก็ถือเป็นกรณีอุทาหรณ์ได้เป็นอย่างดี เมื่อมีสามี ภรรยา คู่หนึ่งหาเงินเพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน โดยสามีจะทำทีเป็นขอทานตาบอดและฝ่ายภรรยาจะทำหน้าที่พาไปขอทานตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งสามารถทำรายได้ถึงวันละ 3,500 – 4,000 บาท โดยทั้งคู่นำเงินที่ได้จากการขอทานไปใช้จ่ายในการเช่ารีสอร์ทหรูและเที่ยวสถานบันเทิงในช่วงกลางคืนเป็นประจำ จนถูกจับกุมในที่สุด อย่างไรก็ตามในคดีนี้ไม่มีเจ้าทุกข์ร้องเรียนจึงทำให้ไม่สามารถดำเนินคดีในข้อหาหลอกลวงกับทั้ง 2 คนได้
                2. ปัญหาการนำเด็กมาขายดอกไม้ ปัญหาการนำเด็กมาขายดอกไม้นั้น มีความแตกต่างจากปัญหาเด็กขอทานเล็กน้อย กล่าวคือ เด็กที่เป็นเป้าหมายของนายหน้าค้ามนุษย์นั้นจะเป็นกลุ่มเด็กมุสลิมผิวดำ ชาวพม่า ที่ลักลอบเข้าสู่ประเทศไทยโดยการข้ามแม่น้ำเมยพร้อมกับครอบครัว ก่อนที่จะมาพักอาศัยอยู่ในชุมชนแห่งหนึ่งในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และระยะเวลาในการพบเด็กขายดอกไม้นั้นมักเป็นช่วงกลางคืนเป็นหลัก
เมื่อกลุ่มคนเหล่านี้ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายและเป็นกลุ่มแรงงานไร้ฝีมือ จึงทำให้ผู้ที่พักอาศัยในชุมชนเลือกที่จะประกอบอาชีพเก็บของเก่าขาย ซึ่งย่อมมิเพียงพอที่จะใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ทำให้นายหน้าค้ามนุษย์มักยื่นข้อเสนอขอเช่าเด็ก เพื่อให้มาทำการขายดอกไม้ตามร้านอาหารหรือสถานบันเทิงในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลหรือจังหวัดชลบุรี โดยจะมีการกำหนดค่าตอบแทนที่ครอบครัวจะได้รับในแต่ละเดือน ซึ่งมีตั้งแต่ 1,500 – 2,000 บาท รวมถึงกำหนดระยะเวลาในการเช่าเด็กไว้ด้วย แต่ท้ายที่สุดมักลงเอยที่นายหน้าค้ามนุษย์ไม่ส่งคืนเด็กกลับสู่ครอบครัวตามระยะเวลาที่ตกลงกันไว้ รวมทั้งไม่ยินยอมให้เด็กได้ติดต่อกับครอบครัว ซึ่งทุกครอบครัวที่ประสบกับสถานการณ์ในลักษณะนี้มักเลือกที่จะไม่แจ้งความเอาผิดหรือร้องขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ภาครัฐ เนื่องจากทราบดีว่าตนเองลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายนั่นเอง ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เมื่อจับกุมนายหน้าค้ามนุษย์ได้แล้ว นายหน้ามักแอบอ้างว่าเด็กที่มาขายดอกไม้นั้น เป็นบุตร หลานของตนเอง ไม่ได้มีการบังคับให้เด็กมาขายดอกไม้แต่อย่างใด ซึ่งคาดว่ายังคงมีเด็กที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ในรูปแบบเด็กขายดอกไม้อีกเป็นจำนวนมากในประเทศไทย 
                3. ปัญหาการนำเด็กมาถือกล่องรับบริจาค การนำเด็กมาถือกล่องรับบริจาคนั้น ถือเป็นรูปแบบการนำเด็กมาแสวงหาผลประโยชน์อีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเพิ่งปรากฏข้อเท็จจริงในช่วงประมาณเดือนธันวาคม 55 โดยเด็กที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ยังคงเป็นเด็กกัมพูชาเช่นเดียวกับปัญหาเด็กขอทาน จะแตกต่างก็เพียงแต่อายุของเด็กที่ตกเป็นเหยื่อนั้นจะอยู่ระหว่าง 6 – 15 ปี และเด็กที่ตกเป็นเหยื่อนั้น ยังพบเพียงกลุ่มเด็กชายเท่านั้นไม่พบว่ามีเด็กหญิงแต่อย่างใด โดยนายหน้าจะใช้วิธีการซื้อ ขายเด็กจากครอบครัวที่มีความยากจนในราคาประมาณ 3,000 บาท โดยอ้างว่าจะพาเด็กไปเรียนหนังสือที่ประเทศไทย จากนั้นนายหน้าค้ามนุษย์จะลักลอบนำเด็กเข้าสู่ประเทศไทยทางด่านชายแดนจังหวัดสุรินทร์หรือด่านชายแดนอรัญประเทศ โดยระหว่างทางนายหน้าจะซื้อชุดนักเรียนให้กับเด็ก เพื่อทำให้เด็กหลงเชื่อว่านายหน้าจะพาไปเข้าเรียนในสถานศึกษาจริง แต่ท้ายที่สุดแล้วเด็กจะถูกบังคับให้สวมเสื้อนักเรียนและถือกล่องรับบริจาค ซึ่งเขียนข้อความเรียกร้องความน่าสงสารต่างๆ เป็นภาษาไทย อาทิเช่น ขอรับบริจาคเพื่อเป็นทุนการศึกษา” ,  “ผมเอาไปรักษาตัวครับ ขอบคุณครับหรือ ผมเป็นเด็กกำพร้า ผมขอบริจาคครับ ขอบคุณเป็นต้น จากการวิเคราะห์ของโครงการรณรงค์ยุติธุรกิจเด็กขอทาน มูลนิธิกระจกเงานั้น คาดว่าการที่นายหน้าเปลี่ยนรูปแบบจากการนำเด็กมาขอทานเป็นการถือกล่องรับบริจาคนั้น อาจเป็นไปได้ว่าการนำเด็กมาขอทานมีรายได้ที่น้อยกว่าเดิม เนื่องจากคนในสังคมเริ่มมีความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาการนำเด็กมาขอทานมากขึ้นกว่าในอดีต ทำให้นายหน้าจำต้องปรับเปลี่ยนวิธีการเรียกร้องความน่าสงสารของเด็กให้แตกต่างจากเดิม ซึ่งการนำเด็กมาแสวงหาผลประโยชน์ในรูปแบบการถือกล่องรับบริจาคนั้น สามารถสร้างรายได้ที่สูงกว่าการนำเด็กมาขอทานเป็นอย่างมาก โดยเด็กถือกล่องจะมีรายได้เฉลี่ยวันละ 1,000 – 1,500 บาทเลยทีเดียว ถือเป็นการนำเด็กมาแสวงหาผลประโยชน์ในอีกรูปแบบหนึ่งที่น่าจับตามองและคาดว่าในรอบปี 2556 จะมีกลุ่มขบวนการนายหน้าค้ามนุษย์ที่นำเด็กมาแสวงหาผลประโยชน์ในรูปแบบนี้เพิ่มขึ้นอีกอย่างแน่นอน
                4. การนำเด็กมาแสวงหาผลประโยชน์ในรูปแบบอื่นๆ นอกจากการนำเด็กมาแสวงหาผลประโยชน์ใน 3 รูปแบบที่กล่าวมาข้างต้นแล้วนั้น โครงการรณรงค์ยุติธุรกิจเด็กขอทาน มูลนิธิกระจกเงา ยังพบกรณีการบังคับเด็กให้ทำการลักทรัพย์นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติด้วย ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในจังหวัดชลบุรี ซึ่งนายหน้าจะให้เด็กประมาณ 4 – 5 คน ทำทีเป็นเข้าไปขอทานจากนักท่องเที่ยวบริเวณหน้าโรงแรมในช่วงเช้าตรู่ ซึ่งมักเป็นเวลาที่นักท่องเที่ยวอยู่ในอาการเมามายจากการเที่ยวในสถานบันเทิงมาตลอดทั้งคืน เมื่อนักท่องเที่ยวเผลอเด็กก็จะทำการล้วงกระเป๋านักท่องเที่ยว ก่อนที่จะนำทรัพย์สินที่ได้มานั้นส่งต่อให้กับนายหน้าที่ทำการควบคุมเด็กต่อไป อีกทั้งยังพบการนำเด็กจากประเทศเพื่อนบ้านมาแสวงหาผลประโยชน์ในลักษณะเด็กเป่าแคน ซึ่งรูปพรรณ สัณฐาน รวมถึงพฤติกรรมของเด็กที่มักแต่งกายด้วยชุดนักเรียนนั้น ทำให้ละม้ายคล้ายเด็กเป่าแคนจากประเทศไทยจนแยกแยะแทบมิได้ ซึ่งรูปแบบทั้งหมดนี้ถือเป็นอีกวิธีการที่แยบคายของนายหน้าค้ามนุษย์ในการใช้เด็กเป็น เครื่องมือในการสร้างรายได้ให้แก่ตนเอง
รูปแบบต่างๆ เหล่านี้ เป็นข้อมูลที่ทางโครงการรณรงค์ยุติธุรกิจเด็กขอทาน มูลนิธิกระจกเงา ได้ทำการรวบรวมไว้ตลอดปี 2555 ซึ่งน่าหวาดวิตกว่าในอนาคตจะมีรูปแบบการนำเด็กมาแสวงหาผลประโยชน์ในรูปแบบใดๆ อีกบ้าง จากข้อมูลต่างๆ เหล่านี้  จึงไม่ใช่เรื่องที่น่าประหลาดใจแต่อย่างใดที่ประเทศสหรัฐอเมริกาจะยังคงจัดให้ประเทศไทยอยู่ในระดับ 2.5 (Tier 2 watch list) เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์เช่นเดิม ซึ่งถือเป็นปีที่ 3 ติดต่อกันแล้ว เนื่องจากขาดการดูแลเอาใจใส่จากภาครัฐในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์อย่างจริงจังนั่นเอง ภายหลังการจัดอันดับการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์จากสหรัฐอเมริกาในครั้งนี้ ทำให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับปัญหาดังกล่าว ทั้งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวมถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เริ่มมีการออกนโยบายในการแก้ไขปัญหาเด็กขอทานออกมาในที่สุด โดยเน้นไปที่การปราบปรามเด็กขอทานตามข้างถนนเป็นหลัก แต่อย่างไรก็ตามโครงการรณรงค์ยุติธุรกิจเด็กขอทาน มูลนิธิกระจกเงา พบว่าเจ้าหน้าที่ภาครัฐหลายหน่วยงานยังขาดความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาเด็กขอทาน รวมถึงขาดทักษะในการคัดแยกเหยื่อการค้ามนุษย์อีกด้วย ทำให้เมื่อดำเนินการช่วยเหลือเด็กออกจากข้างถนนได้แล้ว ก็มิรู้ว่าควรจะดำเนินการสอบปากคำเด็กหรือส่งต่อเด็กไปคุ้มครองสวัสดิภาพที่ใด ซึ่งย่อมไม่ส่งผลดีต่อตัวเด็กเอง เพราะหากเด็กตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ โดยความสมัครใจของครอบครัวเด็กเองแล้ว ย่อมทำให้เด็กต้องกลับสู่การเป็นเด็กขอทานหรือถูกนำมาแสวงหาผลประโยชน์อีกหลายต่อหลายครั้งและวนเวียนเป็นวัฎจักรที่ไม่มีวันจบสิ้นในที่สุด อีกทั้งในรอบปีที่ผ่านมานี้ โครงการรณรงค์ยุติธุรกิจเด็กขอทาน มูลนิธิกระจกเงา พบว่านายหน้าค้ามนุษย์หลายรายเริ่มมีความเข้าใจในเรื่องข้อกฎหมายมากขึ้น จึงเกิดเหตุการณ์นายหน้าค้ามนุษย์ปฏิเสธที่จะลงนามในเอกสารคำรับสารภาพหลายครั้ง แม้ว่าจะมีหลักฐานหลายชิ้นที่บ่งชี้ได้ว่าบุคคลดังกล่าวมีการกระทำความผิดครบองค์ประกอบตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 ก็ตาม ดังนั้นการดำเนินการช่วยเหลือเด็กที่ถูกนำมาแสวงหาผลประโยชน์ในทุกรูปแบบนั้น ผู้ที่ปฏิบัติการณ์ช่วยเหลือจะต้องมีการรวบรวมข้อมูลต่างๆ ให้แน่นหนาและรัดกุมมากยิ่งขึ้น เพื่อให้การดำเนินคดีกับนายหน้าค้ามนุษย์สามารถกระทำได้อย่างราบรื่น เมื่อวิเคราะห์จากสถานการณ์ต่างๆ ในรอบปี 2555 แล้ว โครงการรณรงค์ยุติธุรกิจเด็กขอทาน มูลนิธิกระจกเงา คาดว่าในปี 2556 จะมีรูปแบบการนำเด็กมาแสวงหาผลประโยชน์ในวิธีการที่หลากหลาย และนายหน้าค้ามนุษย์อาจมีการพลิกแพลงการนำเด็กมาแสวงหาผลประโยชน์ในรูปแบบอื่นๆ อีกก็เป็นได้ ซึ่งหากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องไม่เท่าทันกลุ่มขบวนการนายหน้าค้ามนุษย์ รวมถึงยังไม่มีมาตรการณ์ที่จะป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเด็กจากประเทศเพื่อนบ้านเพื่อนำมาแสวงหาผลประโยชน์อย่างเป็นระบบแล้ว ปัญหาการนำเด็กมาแสวงหาผลประโยชน์ตลอดปี 2556 อาจมีความรุนแรงและสลับซับซ้อนมากกว่าเดิมอีกก็เป็นได้
บทสรุปปัญหาขอทานในสังคมจะจบลงอย่างไร
                ปัญหาขอทานเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกเสียที ไม่ว่าจะผ่านมากี่ยุคสมัยก็ตาม คงด้วยเพราะเมืองไทยเป็นเมืองพุทธ คนไทยที่ใจบุญนิยมทำบุญมีอยู่มาก และด้วยรูปแบบขอทานที่ทำตัวในดูน่าสงสาร หรือการนำเด็กมาขอทานด้วยนั้นทำให้ผู้ที่พบเห็นสงสารและยอมที่จะให้เงินแก่ขอทานเหล่านั้น ซึ่งการกระทำเหล่านี้เป็นการส่งเสริมให้พวกเขายังคงเป็นขอทานต่อไป โดยเฉพาะขบวนการค้ามนุษย์ก็ใช้ความใจบุญของเราเป็นเครื่องมือในการทำงานต่อไปได้ด้วยเช่นกัน แต่นอกจากความใจบุญแล้วปัจจัยต่างๆที่ส่งเสริมให้คนเลือกที่จะเป็นขอทานนั้น ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยทางด้านสภาพครอบครัว เศรษฐกิจ และโอกาสทางสังคม ก็ยังเป็นส่วนที่ผลักดันให้คนที่ด้อยโอกาสเหล่านี้เลือกเดินในเส้นทางขอทาน การแก้ปัญหาของภาครัฐโดยการขึ้นทะเบียนขอทานนั้นดูจะเป็นการตีตรามนุษย์จนเกินไป หากแต่การแก้ปัญหาที่แท้จริง คือ ให้ความช่วยเหลือพวกเขาให้สามารถดำรงชีพด้วยความสามารถของตนเองมากกว่าการมาขอจากผู้อื่นเพียงอย่าง และส่วนปัญหาการค้ามนุษย์ที่เชื่อมโยงกันนี้การเข้มงวดกับกฎหมายให้มากขึ้นดูจะเป็นวิธีแก้ที่ง่ายที่สุด

อ้างอิงข้อมูล :
http://www.stop-childbegging.org/autopage/show_page.php?h=25&s_id=2&d_id=2
http://www.notforsale.in.th/autopagev4/show_page.php?topic_id=106&auto_id=7&TopicPk=
http://www.reocities.com/Tokyo/Club/8843/novelficart/Article/3006beggar.htm
http://www.learners.in.th/blogs/posts/465350



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น