วันศุกร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2556

ปัญหาความเสื่อมโทรมทางจิตใจและศีลธรรม นางสาวนัยนา บุญลือ 53242070


บทความเชิงวิชาการ
เรื่อง ปัญหาความเสื่อมโทรมทางจิตใจและศีลธรรม


บทนำ
        บทความนี้ต้องการนำเสนอปัญหาสังคม ในแง่มุมของปัญหาความเสื่อมโทรมทางจิตใจและศีลธรรม ที่มีอยู่ในสังคมที่มีอยู่ตั้งแต่ในอดีต และจนถึงขั้นเสื่อมโทรมมากในยุคปัจจุบัน เนื่องจากสภาพแวดล้อมในสังคมเปลี่ยนแปลงจากอดีตไปมาก และจิตใจของคนในสังคมที่ขาดศีลธรรมในการดำรงชีวิตเป็นอย่างไรเมื่อผู้อ่านได้อ่านบทความจะเข้าใจ สาเหตุของปัญหาที่แท้จริงมากขึ้น ว่าถ้าไม่มีศีลธรรมอยู่ในสังคม สังคมจะอยู่ในรูปแบบใด ถ้าเราเอาแต่ตามใจตนเองโดยไม่นึกถึงส่วนรวมนึกถึงแต่ผลประโยชน์ส่วนตัว สังคมจะเป็นสังคมที่ดีและสงบสุขได้อย่างไร
        ศีลธรรม (อังกฤษ: Morality) หมายถึงความประพฤติที่ดีที่ชอบทั้งศีลและธรรม
        ศีลธรรม ในคำวัดหมายถึง เบญจศีล และ เบญจธรรม คือศีล 5 และธรรม 5 ซึ่งเป็นกฎเกณฑ์ของสังคมระดับต้นสำหรับให้สมาชิกสังคมประพฤติปฏิบัติเพื่อให้เกิดความสงบสุข ไม่สดุ้งกลัว ไม่หวาดระแวงภัย เป็นหลักประกันสังคมที่สำคัญ สังคมที่สงบสุข ไว้วางใจกันได้ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกัน ไม่เบียดเบียนไม่ทะเลาะ ไม่กดขี่ข่มเหง ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน เป็นต้น ก็เพราะสมาชิกของสังคมยึดมั่นอยู่ในหลักศีลธรรมนี้
        ศีลธรรม เป็นชื่อวิชาหนึ่งในโรงเรียนที่กำหนดให้นักเรียนทุกคนต้องเรียนมาตั้งแต่สมัยโบราณเรียกว่า วิชาศีลธรรม ปัจจุบันเรียกว่า วิชาพุทธศาสนา
        แน่นอนปัญหาสังคมอาจเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น อาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในลักษณะที่ผู้คนในสังคมยอมรับไม่ได้ อาจเกิดจากความบกพร่องทางร่างกายและจิตใจของมนุษย์หรือ อาจเกิดจากปัจจัยทางสภาวะแวดล้อมทางธรรมชาติที่ไม่เหมาะสม เป็นต้นว่า ความแห้งแล้ง  ภัยธรรมชาติ แต่สิ่งที่โหดร้ายกว่าภัยธรรมชาติคือการทำร้ายจิตใจของเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง และกดขี่ข่มเหงกันในสังคม จึงทำให้ความเสื่อมโทรมเกิดขึ้นในจิตใจนับวันยิ่งเลวร้ายมากยิ่งขึ้น
……..เราจะมาช่วยกันหาทางออกให้กับปัญหานี้กันดีกว่า ดังบทความที่ท่านจะได้อ่านต่อไปนี้……..  
ปัญหาความเสื่อมโทรมทางจิตใจและศีลธรรม
        สังคมไทยในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ผู้คนในสังคมมีการเบี่ยงเบนความสัมพันธ์ไปจากเดิม และสถาบันทางสังคมก็ทำหน้าที่ไม่ครบสมบูรณ์ สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยพื้นฐานที่ทำให้เกิดปัญหาสังคม ปัญหาสังคมไทยมีอยู่มากมาย ปัญหาความเสื่อมโทรมทางจิตใจและศีลธรรม เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นกับคนในสังคม
พฤติกรรมที่จะทำให้เกิดความเจริญและความเสื่อมของมนุษย์
        ๑.พฤติกรรมของความเจริญ เป็นการประพฤติปฏิบัติที่จัดว่าเป็นกรรมดี มีอยู่ ๓ ทางคือ ทางกายทางวาจา ทางใจ กับการไม่เกี่ยวข้องกับอบายมุข
        ความเจริญทางกาย ได้แก่ การไม่ผิดศีล ๓ ข้อแรก คือ
        ๑) เจตนางดเว้นจากการฆ่าทั้งคนและสัตว์ ตลอดจนงดเว้นจากการเบียดเบียนทั้งคน และสัตว์ (มีการทำร้ายร่างกาย การกักขัง การทรมานด้วยวิธีต่างๆ
        ๒)  เจตนางดเว้นจากการลักขโมย การโจรกรรม จี้ปล้น คดโกง คอรัปชั่น ปลอมแปลงเอกสาร ละเมิดลิขสิทธิ์ เป็นต้น
        ๓) เจตนางดเว้นจากการประพฤติผิดทางเพศ
        นอกจากไม่ผิดศีล ๓ ข้อแรกแล้ว ควรจะประพฤติธรรมอันดีงามอย่างน้อย ๓ ประการ ๑)มีความเมตตากรุณาต่อคนและสัตว์ ๒) ทำงานอาชีพสุจริต ไม่ผิดศีลไม่ผิดกฎหมาย ๓) รู้จักควบคุมตนในเรื่องกามารมณ์เป็นอย่างดี
        ความเจริญทางวาจา ได้แก่ไม่ทำผิดศีลข้อ ๔ ซึ่งมีรายละเอียด ๔ ประการ
        ๑)     เจตนางดเว้นจากการพูดเท็จ
        ๒)     เจตนางดเว้นจากการพูดส่อเสียด ทำให้คนแตกแยกกัน
        ๓)     เจตนางดเว้นจากการพูดคำหยาบ
        ๔)     เจตนางดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ นินทา
        นอกจากไม่ทำผิดศีลข้อ ๔ พร้อมด้วยรายละเอียด ๔ ประการแล้ว ก็ควรจะประพฤติธรรมอันดีงามด้วยการมีความซื่อสัตย์สุจริต ซึ่งมีรายละเอียดอยู่ ๔ ประการ คือ
        ๑)     พูดแต่คำจริง รักษาสัจจะ รักษาสัญญา
        ๒)     พูดส่งเสริมให้คนมีความสามัคคีกัน
        ๓)     พูดแต่คำสุภาพอ่อนหวาน
        ๔)     พูดแต่เรื่องที่เป็นประโยชน์ และถูกกาลเทศะ
        ความเจริญทางใจ เป็นการกระทำที่สุจริตทางใจ มีรายละเอียดอยู่ ๓ ประการ คือ
        ๑)     ไม่เพ่งเล็งอยากได้ของของผู้อื่นมาเป็นของตน หรือไม่มักได้
        ๒)     ไม่คิดพยาบาทจองเวรผู้ใด
        ๓)     พยายามพัฒนาตนให้เกิดความเข้าใจถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องโลกและความเป็นไปของชีวิต
        การไม่เกี่ยวข้องกับอบายมุข   จัดเป็นกรรมดีที่สำคัญ ป้องกันไม่ให้ความเสื่อมเข้ามาสู่เราและครอบครัว ประกอบด้วย
        ๑)     การติดสุราและของมึนเมา
        ๒)     การชอบเที่ยวกลางคืน
        ๓)     การติดการดูการละเล่น
        ๔)     การติดการพนัน
        ๕)     การคบคนชั่ว
        ๖)     การเกียจคร้านในการทำงาน
      
          ๒. พฤติกรรมของความเสื่อม ความประพฤติปฏิบัติที่จัดว่าเป็นกรรมชั่ว มีอยู่ ๓ ทางคือ ทางกายทางวาจา ทางใจ กับการเกี่ยวข้องกับอบายมุข
         ความเสื่อมทางกาย ได้แก่ การผิดศีล ๓ ข้อแรก คือ
        ๑) เจตนาฆ่าทั้งคนและสัตว์ ตลอดจนการเบียดเบียนทำร้ายร่างกาย และการทรมานทั้งคน และสัตว์ ด้วยวิธีต่างๆ
        ๒)  เจตนาลักขโมย การโจรกรรม จี้ปล้น คดโกง คอรัปชั่น ปลอมแปลงเอกสาร ละเมิดลิขสิทธิ์ เป็นต้น
        ๓) เจตนาประพฤติผิดทางเพศ
        ความเสื่อมทางวาจา ได้แก่การทำผิดศีลข้อ ๔ ซึ่งมีรายละเอียด ๔ ประการ
        ๑)     เจตนาพูดเท็จ
        ๒)     เจตนาพูดส่อเสียด ทำให้คนแตกแยกกัน
        ๓)     เจตนาพูดคำหยาบ
        ๔)     เจตนาพูดเพ้อเจ้อ นินทา
        ความเสื่อมทางใจ เป็นการกระทำผิดที่ทุจริตทางใจ มีรายละเอียดอยู่ ๓ ประการ คือ
        ๑)     เพ่งเล็งอยากได้ของของผู้อื่นมาเป็นของตน หรือมักได้ในทางที่ไม่ชอบ
        ๒)     คิดพยาบาทจองเวร
        ๓)     มีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องโลกและความเป็นไปของชีวิต

 ประโยชน์ของการเข้าใจเรื่องความเจริญและความเสื่อมของมนุษย์
        เนื่องจากโลกได้หล่อหลอมให้มนุษย์คิดพัฒนาเทคโนโลยี ทำให้ความเจริญทางด้านวัตถุส่งผลต่อชีวิตมากขึ้น แต่ทางด้านจิตใจกลับเสื่อมลงจะเห็นได้จากการผิดศีลธรรมอย่างรุ่นแรงในสังคมแต่ก็ถูกกลับเป็นเรื่องธรรมดา เช่น การชักชวนเพื่อนไปดื่มสุราอย่างเปิดเผย  แต่การไปวัดต้องแอบไปไม่กล้าชวนคนทำความดี  ดังนั้นจากการได้ศึกษาเรื่องประโยชน์ของความเจริญและความเสื่อมของมนุษย์ ย่อมสามารถช่วยให้เราเกิดสติปัญญา สอนตัวเองให้เลือกสร้างความเจริญในปัจจุบันให้ดีที่สุด กล่าวคือ
        ๑) ทุกคนต้องรีบทำแต่กรรมดีตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เพราะการเกิดมามีโชคดีในชาตินี้  เนื่องจากกรรมในอดีตส่งผล ก็พึงคิดว่าผลของกรรมดีมีวันสิ้นสุด ดังนั้นเราจึงต้องเร่งสร้างกรรมดีให้เจริญมากที่สุด เพื่อติดเป็นนิสัยไปทุกภพทุกชาติ และอีกประการเวลาในการสร้างความเจริญให้แก่ชีวิตของเรามีจำนวนจำกัด
        ๒)  ต้องไม่ก่อกรรมชั่วใหม่อย่างเด็ดขาด เพราะตระหนักถึงผลร้ายนานาชนิดที่จะติดตามมาทั้งแก่ตนเอง เพื่อนร่วมโลก และสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ
        ๓)  ต้องไม่อยู่เฉยๆ โดยไม่สร้างกรรมดีอะไรเลย พึงระลึกเสมอว่าการอยู่เฉยๆนอกจากไม่มีกำไรแล้ว ยังต้องใช้เอาต้นทุนเก่ามาใช้ซึ่งจะมีแต่หมดไปทุกวัน
        ๔)  ต้องใช้ร่างกายอันเป็นที่อาศัยของใจให้คุ้มค่ามากที่สุด ถึงแม้ร่างกายจะสมบูรณ์มากหรือไม่ค่อยสมบูรณ์ ยังสามารถใช้สร้างกรรมดีได้อย่างมากมาย ต่างกับร่างกายของสัตว์เดรัจฉานแม้จะมีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงแต่ก็ยากที่จะใช้สร้างความดีให้กับตัวเองได้

ศีลธรรมและความยุติธรรมในสังคม
         “ ถ้าบุคคลใดมีศีลธรรมก็ไม่จำเป็นต้องมีบทกฎหมาย และหากกฎหมายใดละเลยหลักศีลธรรมก็ไม่จำต้องบัญญัติกฎหมาย กฎหมายที่แท้จริงก็คือเหตุผลที่ถูกต้องและจะต้องประกอบด้วยหลักศีลธรรมความยุติธรรมและความเสมอภาค เพราะนั่นคือรากฐานแห่งความยุติธรรมสำหรับมวลมนุษย์ทั้งหลาย
        กฎหมายเกิดขึ้นเพราะสังคมขาดศีลธรรม ถ้าบุคคลทุกคนมีศีลธรรมอยู่ในตัวเองแล้ว ปัญหาต่างๆ ความวุ่นวายต่างๆก็จะไม่เกิด กฎหมายจึงไม่จำเป็นต้องมี เพราะสังคมไม่มีปัญหาจึงไม่จำเป็นต้องมีเครื่องมือมาช่วยในการแก้ปัญหา แต่ตัวสังคมเองไม่อาจหยุดยั้งปัญหาการขาดศีลธรรมของมนุษย์ได้ กฎหมายจึงต้องเกิดขึ้นมาเพื่อหยุดยั้งปัญหาการขาดศีลธรรมของมนุษย์ แต่ก็แน่นอน กฎหมายไม่สามารถทำให้คนเลวกลายเป็นคนดีได้ กฎหมายจึงไม่ใช่เป็นยาวิเศษแต่เป็นสูตรสำเร็จ ที่เป็นเครื่องมือป้องกันไม่ให้คนเลวก่อให้เกิดความเสียหายต่อสังคม เพราะฉะนั้นตัวศีลธรรมเองจึงเป็นตัวสำคัญในการก่อให้สังคมมีความสงบสุขมากที่สุด เราในฐานะพลเมืองจึงต้องมีส่วนช่วยให้สังคมมีศีลธรรม
ข้าราชการตำรวจ จะต้องยึดมั่น ธรรม 5 ประการในการปฏิบัติงาน คือ
1. จริยธรรมตำรวจ (ความซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพ)
 2. คุณธรรม (ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ รู้ดี รู้ชั่ว รู้ถูก รู้ผิด)
 3. ศีลธรรม (มีความยับยั้งชั่งใจ ไม่ประพฤติชั่ว)
 4. มนุษยธรรม (มีความเห็นใจต่อเพื่อนมนุษย์)
5. ยุติธรรม (มีความเที่ยงตรงและเสมอภาค)
        ในสภาพสังคมที่มีความวุ่นวายในปัจจุบันส่งผลให้มนุษย์มีความเห็นแก่ตัวมากขึ้น สังคมยุ่งเหยิงมากขึ้น อันเคยมีผู้กล่าวไว้ว่า สังคมที่เจริญแล้ว เป็นสังคมแห่งมะเร็งร้าย ที่ผู้คนต่างแย่งชิงสิ่งต่างๆเข้าหาตัวเอง ไม่มีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ทำให้สังคมวิบัติในที่สุด หากเราไม่ช่วยกันเร่งปลูกฝัง จริยธรรม ศีลธรรม รวมไปถึง ค่านิยมให้แก่คนในสังคม ตัวศีลธรรม ตัวจริยธรรม จึงเป็นเสมือนสิ่งที่หาได้ยากในสังคมทุกที เมื่อตัวศีลธรรม จริยธรรมหมดไปแล้ว แม้กฎหมายที่ออกมาจะดีแค่ไหนก็ตาม แม้คนบริหารกฎหมายจะมีจริยธรรม มีคุณธรรมที่ดีแค่ไหนก็ตาม ก็จะไม่มีคนปฏิบัติตาม การบังคับใช้กฎหมายก็จะแย่ไปด้วย เมื่อตัวบทกฎหมายที่ออกมาใช้บังคับไม่ได้แล้ว ไม่มีคนปฏิบัติแล้ว ความมั่นคงและเสถียรภาพของสังคม ก็จะอ่อนแอ ถ้าสังคมมันอ่อนแอแล้ว ประเทศชาติก็จะอยู่ไม่ไหว ตัวค่านิยมของคนในสังคม ตัวศีลธรรมของคนในสังคม ตัวการเคารพและปฏิบัติตามกฎหมายของคนในสังคมจึงเป็นส่วนสำคัญที่สุดที่จะทำให้สังคมอยู่รอดหรือไม่ ถ้าหากว่าตัวคนในสังคมไม่มีศีลธรรม หาช่องทางแต่จะหลบเลี่ยงกฎหมาย ไม่เคารพไม่ปฏิบัติตามกฎหมายแล้วกฎหมายที่ออกมามันจะศักดิ์สิทธิ์ได้อย่างไร แม้กฎหมายจะดีแค่ไหนก็ตาม แม้ผู้บริหารกฎหมายจะมีศีลธรรม มีจริยธรรมดีแค่ไหนก็ตาม ถ้าคนในสังคมขาดจริยธรรม ขาดศีลธรรมในที่สุดแล้วเชื่อได้ว่า สังคมก็จะต้องถึงกาลอวสานในที่สุด

ความสำคัญของศีลธรรม จริยธรรมและค่านิยม
        ศีลธรรม จริยธรรมและค่านิยมคือสิ่งที่กำหนดมาตรฐานความประพฤติของสมาชิกในสังคม
ให้ปฏิบัติตามแนวทางที่สังคมได้กำหนดว่าเป็นสิ่งดีงาม เหมาะสมกับสภาพสังคมนั้น ๆ รวมทั้งเป็นมาตรฐาน ที่ใช้ตัดสินการกระทำว่าถูกหรือผิด ดีหรือชั่ว ในสังคม เพื่อให้สังคมดำรงอยู่ได้อย่างปกติสุข ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ ที่มีอยู่คู่กับการดำเนินชีวิตเป็นสิ่งที่สังคมยอมรับร่วมกัน
        ค่านิยม และจริยธรรม ที่เป็นตัวกำหนดความเชื่อของแต่ละบุคคล เป็นค่านิยมและจริยธรรมที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม ช่วยในการพัฒนาสังคม รวมทั้งบุคคลให้มีความตั้งมั่นอยู่ในความดี ความรับผิดชอบความเสียสละ ความกตัญญูรู้คุณ ความมีวินัย ความกล้าหาญ และความเชื่อมั่นในคำสอนของศาสนา จะต้องเป็นค่านิยมและจริยธรรมที่มีจุดมุ่งหมายในการละเว้นการกระทำความชั่ว อันเป็นสิ่งที่สมาชิกของสังคมมีความศรัทธา ยึดถือเป็นแบบแผน แบบอย่างการดำรงชีวิต
     
        ตัวกำหนดความเชื่อของแต่ละบุคคลเพื่อขจัดความขัดแย้งค่านิยมและศีลธรรมที่เป็นตัวกำหนดความเชื่อ ของแต่ละบุคคลเพื่อขจัดความขัดแย้ง
1) การรู้จักเคารพในความคิดเห็นของตนเองและผู้อื่น มีความสำนึกในสิทธิ เสรีภาพความเสมอภาคของแต่ละบุคคล ไม่ว่าจะเป็นของตนเองและผู้อื่น เป็นการยอมรับสติปัญญา ความคิดเห็นของผู้อื่นเท่ากับของตน โดยไม่หลอกตนเอง หรือมีความดื้อรั้นเอาแต่ความคิดของตนเองเป็นใหญ่ และเหยียดหยามผู้อื่น เป็นการฝึกให้เป็นคนมีเหตุผล รับฟังความคิดเห็นรอบด้าน แล้วนำมาพิจารณา ด้วยตนเองเพื่อขจัดปัญหาความขัดแย้ง
2) มีความซื่อสัตย์สุจริตต่อตนเองและผู้อื่น หมายถึงมีความซื่อสัตย์ต่อตนเอง เพื่ออยู่ในความไม่ประมาท ขยันขันแข็งในหน้าที่การงาน มีความรับผิดชอบในสิ่งที่ได้รับมอบหมาย รวมทั้งมีความซื่อสัตย์ต่อผู้อื่น ประพฤติปฏิบัติตรงไปตรงมาอย่างสม่ำเสมอ ไม่คิดโกงหรือคิดทรยศหักหลัง หรือชักชวน ไปในทางเสื่อมเสียเพื่อหาผลประโยชน์ส่วนตน
3) ความมีวิจารณญาณในการตัดสินปัญหาต่างๆ หรือความมีเหตุผลในการพิจารณาไตร่ตรอง ไม่หลงเชื่อสิ่งใดง่าย ๆ รู้จักควบคุมกาย วาจา โดยใช้สติอย่างรอบคอบ ไม่ทำตามอารมณ์ มีจิตใจสงบเยือกเย็น ไม่วู่วาม สามารถรับฟังความคิดเห็นของคนอื่นที่ขัดแย้งกับตนอย่างใจกว้าง ไม่แสดงความโกรธหรือไม่พอใจไม่มีฐิติมานะ
ตัวกำหนดความเชื่อของแต่ละบุคคลเพื่อนำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข
ค่านิยมและจริยธรรมที่เป็นตัวกำหนดความเชื่อของแต่ละบุคคล เพื่อนำไปสู่การอยู่ร่วม
กันอย่างมีสันติสุข
1) การไม่เบียดเบียน และก่อความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น ทั้งการเบียดเบียนทางกาย วาจา
ใจ เช่น การใช้คำพูดที่ส่อเสียด เยาะเย้ยถากถาง ดูหมิ่นผู้อื่น รวมทั้งการกลั่นแกล้ง ทำลายทรัพย์สินผู้อื่น
2) ความเสียสละ โดยเป็นผู้เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ให้แก่ผู้อื่น โดยไม่หวังผลตอบแทน ลดละ
ความเห็นแก่ตัว ช่วยเหลือผู้อื่นในยามที่มีความจำเป็นได้ทั้งกำลังกาย และกำลังทรัพย์ หรือกำลังทางสติปัญญา
เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขในสังคมโดยรวม
3) มีความกล้าหาญทางคุณธรรม จริยธรรม หมายถึง การทำในสิ่งที่เห็นว่าถูกต้อง ตาม
ทำนองคลองธรรม และละเลิกไม่กระทำความผิดอันเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ตนเอง และส่วนรวม
หรือทำให้ตนเองและส่วนรวมเสียผลประโยชน์ก็ตาม


แนวทางที่ใช้แก้ไขปัญหาสังคมความเสื่อมโทรมทางจิตใจและศีลธรรม
1.ตามรอยพ่อ คือ ตามรอยธรรม
         เป็นการนำแนวทางพระบรมราโชวาทของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาใช้ในการแก้ปัญหาในสังคมคือ        นับตั้งแต่มีปฐมบรมราชโองการที่ว่า เราจะปกครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม ” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่๙ แห่งราชวงศ์จักรีทรงแสดงให้มหาชนชาวสยามเห็นประจักษ์ว่าพระองค์ได้อาศัยธรรมเป็นแนวทางในการปกครองบ้านเมืองทุกๆพระบรมราโชวาทที่พระองค์พระราชทานแก่มวลพสกนิกรล้วนประกอบด้วยธรรมยึดธรรมเป็นสำคัญทั้งสิ้นนับเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงธรรมเป็นอย่างยิ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้ ไม่เพียงทรงเปี่ยมด้วยทศพิศราชธรรมที่เป็นธรรมสำหรับพระราชาและนักปกครองเท่านั้น แต่ยังทรงตั้งมั่นอยู่ในคุณธรรมหลากหลายที่เป็นแบบอย่างที่งดงามของเหล่าพสกนิกร เช่นหลักสังคหวัตถุ ๔ หลักสัปปุริสธรรม ๗ เป็นต้น ต้องยอมรับว่า การที่ผู้นำตั้งมั่นอยู่ในธรรม เป็นการวางรากฐานให้สังคมไทยและทำให้สังคมไทยมีความสุขสงบตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา
        เป็นที่ประจักษ์ชัดว่ายามใดผู้นำขาดคุณธรรมจริยธรรม ยามนั้น บ้านเมืองเกิดความสับสน สังคมเกิดวิกฤติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้นำชาติในระดับต่างๆของสังคมไทย ควรน้อมรำลึกถึงพระบรมราโชวาทให้มากๆที่พระองค์ทรงให้แต่ละคนสำนึกในหน้าที่ ปฏิบัติหน้าที่ของตนๆด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต ทำหน้าที่ด้วยความหนักแน่น ทำความเห็นให้ตรง คือทำความเห็นให้ถูกต้อง กล่าวคือทุกคนต้องใช้สติปัญญาในทางที่ถูกต้อง เพื่อให้องค์กรและชาติบ้านเมืองสามารถดำรงอยู่ได้
ทุกวันนี้ องค์กรต่างๆทั้งระดับบนและระดับล่างมีเรื่องราวที่ไม่ดีเกิดขึ้นมากมาย ทำให้เกิดความเสื่อมเสีย ก่อให้เกิดการไม่ยอมรับเพราะผู้นำไม่เดินตามรอยพ่อ ไม่ยึดธรรมเป็นใหญ่ มองข้ามคุณธรรมที่จะทำให้สังคมสงบสุข สังคมของเราเพียงเดินตามรอยพ่อ ดำเนินชีวิตตามที่พ่อสอน ความเดือดร้อนและความไม่ถูกต้องในสังคมคงลดน้อยลงไปและสังคมของเราคงมีสันติสุขมากกว่านี้ กระนั้นก็ตามยังไม่สายเกินไป ที่พวกเราจะทำให้พ่อมีความสุข ขอเพียงแต่เมื่อจะทำสิ่งใด ขอให้เป็นไปโดยธรรม ยึดธรรมที่พ่อสอน ทำได้เพียงแค่นี้ พ่อของเราคงมีความสุขแล้ว

2.หาความเจริญก้าวหน้าให้กับตัวเอง จากท่านพระภาวนาวิริยคุณ (เผด็จ ทัตตชีโว).
        คนเราถ้าจะอยู่ในสังคมให้เป็นสุขได้ และพอจะหาความเจริญก้าวหน้าให้กับตัวเองได้ คุณสมบัติพื้นฐานขั้นต่ำสุดของเขาเลยคือ
        1. ควบคุมตัวเองได้
        2. ไม่จับผิดใคร 
        3. ช่วยตัวเองได้
        ถ้าจะพูดในเชิงปฏิเสธก็คือไม่ต้องพึ่งใคร สามารถยืนอยู่ด้วยขาของตัวเอง ช่วยเหลือตัวเองได้ ถ้าควบคุมตัวเองไม่ได้ อยากจะทำอะไรก็ทำ ในที่สุดการกระทำนั้นจะกลับมาทำลายตัวเอง แล้วก่อความเดือดร้อนให้ผู้อื่นด้วย
         ถ้าไม่จับผิดใครก็แล้วไป แต่ถ้าไปจับผิดผู้อื่นเข้าก็จะยิ่งวุ่นวายหนักขึ้น เพราะความหลงตัวเองว่าวิเศษจะไปทำให้ ชาวบ้านเดือนร้อน ถูกข่มเหงถูกเบียดเบียน ถูกจับผิด
         การช่วยเหลือตัวเองจึงสำคัญ ถ้าช่วยตัวเองไม่ได้ก็เป็นกาฝาก เป็นภาระแก่สังคม บ้านเมืองเราเดี๋ยวนี้มีคนประเภทชอบจับผิด ชอบแซวคนอื่นมากเหลือเกิน ตื่นเช้าออกจากบ้านเจอรถติด ก็โทษรัฐบาล ถ่ายไม่ออก กินข้าวไม่ลง ก็โทษรัฐบาล โทษสิ่งแวดล้อม โทษชาวบ้าน ในโลกนี้ไม่มีใครดี เห็นดีอยู่คนเดียวคือตัวเอง นี่คือสาเหตุแห่งความเดือดร้อนของคนทั้งโลก เกิดขึ้นเพราะคนที่มีลักษณะอย่างนี้ ใครเข้ามาเป็นรัฐบาลก็แทบตายทั้งนั้น
        ถ้าคนในสังคมไทยควบคุมตัวเองได้ ไม่จับผิดใคร แล้วก็ช่วยเหลือตัวเองได้ ความสงบความสุขก็เกิดขึ้นมาได้ สังคมไทยหรือสังคมชาวพุทธตั้งแต่โบราณมา เป็นสังคมที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการควบคุมตัวเองได้ ไม่ชอบจับผิดใครและช่วยเหลือตัวเองได้ ไม่ต้องพึ่งพาใคร บ้านเมืองเราจึงสงบร่มเย็น ได้รับการขนานนามว่า สยามเมืองยิ้ม มานานแสนนาน แต่ว่าตอนนี้ชักจะยิ้มกันไม่ออกแล้ว ต่างคนต่างต้องหันกลับมาสำรวจตัวเองแล้วว่า เราสามารถรักษาคุณสมบัติพื้นฐาน ขั้นต่ำสุดของชาวพุทธได้มากน้อยแค่ไหน ถ้าน้อยไปหรือขาดไปก็ต้องรีบแก้ไข
          อีกประการหนึ่ง เมื่ออายุมากเป็นผู้ใหญ่ขึ้น สิ่งที่ควรจะคิดก็คือเราเหมือนไม้ใกล้ฝั่งแล้ว ความดีอะไรยังไม่ได้ทำ ควรรีบทำ ความเสียหายอะไรที่สำรวจดูแล้วมีอยู่ในตัวเราที่จะต้องแก้ไข ต้องรีบแก้ไข จะได้เป็นต้นแบบที่ดีแก่เด็กที่เกิดมาในรุ่นหลัง ให้เขาได้อยู่ในบ้านเมืองที่สงบสุขตลอดไป

บทสรุป
         ความเสื่อมโทรมทางจิตใจและศีลธรรม  เป็นอีกปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไม่ใช่เรื่องไกลตัวแต่อยู่ใกล้ๆตัวเราเอง โดยเริ่มมาจากสังคมขนาดเล็ก จุดเริ่มต้นมากจากพื้นฐานครอบครัว สู่โรงเรียน จากโรงเรียนสู่สถาบันการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย แต่ละสังคมอาจมีปัญหาไม่เหมือนกันเพราะพื้นฐานทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองแตกต่างกัน ในสังคมไทยมีปัญหาที่สำคัญๆ เกิดขึ้น และก็ยังมีอีกหลายปัญหา ที่มีอยู่ในสังคมไทย ซึ่งควรจะได้ให้ความสนใจและช่วยกันแก้ปัญหา โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายไม่ใช่เพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง คนใดคนหนึ่งในสังคม
         ปัญหาความเสื่อมโทรมทางจิตใจศีลธรรม ถ้าเราทุกคนในสังคมได้ร่วมมือช่วยกันป้องกันแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างเอาจริงก็จะลดลงหรือหมดไปได้  อันจะยังผลให้ประชาชนชาวไทย ได้มีการอยู่ดีกินดี  มีชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างมีความสงบสุข
        สิ่งที่เราได้กล่าวมาในบทความข้างต้นทั้งหมด เป็นการชี้ให้เห็นถึงจุดเกิดเหตุของปัญหา แนวทางแก้ไขในการหาทางออก โดยการนำเสนอทางออกในหลายๆด้าน เพื่อต้องการให้สังคมได้รับรู้ว่าทางออกในการแก้ปัญหาไม่ได้มีเพียงด้านเดียวหรือถึงทางตัน ยังมีอีกหลายๆแง่มุมที่เรายังไม่ได้ค้นพบเจอ และนำไปปรับใช้แก้ปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้ 
……..สังคมเราจะสงบสุขได้ ไม่ใช่เพียงบ้านเมืองสงบสุขเพียงอย่างเดียว จิตใจ และศีลธรรม คุณธรรมของคนในสังคมต้องอยู่ควบคู่กันไปด้วยเช่นกัน……..

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น