วันศุกร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2556

โรคซึมเศร้าและการพยายามฆ่าตัวตายในกลุ่มวัยรุ่น นางสาวชื่นนภา ศิริเวช 53241844


บทความเชิงวิชาการ
เรื่อง โรคซึมเศร้าและการพยายามฆ่าตัวตายในกลุ่มวัยรุ่น

     ในสหรัฐอเมริกาปัญหาการฆ่าตัวตายของวัยรุ่นกำลังเพิ่มขึ้น และเป็นอันดับที่ 3 ของสาเหตุการตายในคนอายุ 15-24 ปี จากการสำรวจของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา พบว่าวัยรุ่นในระดับชั้นเรียนมัธยมมีความคิดที่จะฆ่าตัวตายในบางครั้งถึง 27 % โดยมี 16% ที่มีการวางแผนไว้แต่ไม่ได้ทำ และ 8% ที่ได้พยายามทำการฆ่าตัวตาย ในประเทศญี่ปุ่นก็เช่นเดียวกัน พบว่าอุบัติการณ์ของการฆ่าตัวตายในวัยรุ่นนั้นเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะเมื่อมีนักร้องที่วัยรุ่นชื่นชอบบางคนทำการฆ่าตัวตายและกลายเป็นข่าวในสื่อต่างๆ อย่างเป็นฮีโร่ ทำให้ประเทศเหล่านี้ได้พิจารณาจัดให้การฆ่าตัวตายในวัยรุ่นเป็นปัญหาทางสุขภาพจิตที่สำคัญและเร่งด่วนของประเทศ ซึ่งในเรื่องนี้ประเทศไทยก็กำลังประสบปัญหาเช่นเดียวกัน จึงมีความสำคัญมากที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องรู้จัก และเข้าใจในปัญหาวัยรุ่น และควรให้ความเอาใจใส่แต่เนิ่นๆ เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น
ความหมายของภาวะความซึมเศร้า
             ความซึมเศร้า (Depression) หรือภาษาลาติน  “Deprive”  ความหมายว่า ความกดต่ำ หรือจมลงจากตำแหน่งเดิม (สมศร เชื้อหิรัญ, 2526) ความซึมเศร้า จึงหมายถึง ภาวะจิตใจหม่นหมอง หดหู่ และเศร้าสร้อย ร่วมกับการมีความรู้สึกท้อแท้หมดหวังและมองโลกในแง่ร้าย ความรุนแรงของความซึมเศร้านั้นมีหลายระดับ เริ่มแต่มีความเหนื่อยหน่ายเล็กน้อย ท้อแท้ใจ ไปจนถึงขั้นรู้สึกหมดหวัง หมดอาลัยตายอยากต้องการหนีจากความลำบากทั้งหลายด้วยการทำร้ายตนเอง (สุวนีย์  เกี่ยวกิ่งแก้ว, 2527) ภาวะความซึมเศร้าเป็นลักษณะที่แสดงว่า บุคคลนั้นหมดหวังมีอุปสรรคขัดขวางจุดประสงค์ที่ตั้งไว้ ทำให้บุคคลมีความรู้สึกซึมเศร้า เสียใจ ไม่มีคุณค่า ต้อยต่ำ    เด็กจะมีแต่ความรู้สึกสูญเสียที่ตนเองไม่ประสบความสำเร็จหรือเกิดความล้มเหลวในชีวิต  (Seligman, 1974)
            ภาวะความซึมเศร้า เป็นภาวะที่คล้ายกับความวิตกกังวลหลายประการ ซึ่งภาวะทั้งสองนี้เกี่ยวข้องกัน ภาวะซึมเศร้าจะเกิดหลังภาวะวิตกกังวล  (Priest, 1983) ภาวะความซึมเศร้า มีลักษณะคล้ายกับความเศร้าเสียใจโดยทั่วไป แต่ความเศร้าเสียใจจัดได้ว่าเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้โดยทั่วไป เช่นการสูญเสียบุคคลที่รัก ความจำเป็นต้องย้ายถิ่น หรือการสูญเสียความรู้สึกที่คุ้นเคยต่าง ๆ ของในแต่ละสถานการณ์ เมื่อภาวะความรู้สึกนี้เกิดขึ้นและได้รับการดูแลจากบุคคลใกล้ชิดก็จะสามารถก้าวผ่านความรู้สึกเศร้าเสียใจนี้ไปได้ แต่หากไม่สามารถผ่านความรู้สึกนี้ไปได้ อาจส่งผลให้เกิดความซึมเศร้า (เตือนใจ ห่วงสายทอง, 2545) โดยมีลักษณะดังต่อไปนี้
1.  เกิดภาวะอารมณ์แปรปรวนได้ง่าย เช่น โศกเศร้า เสียใจ อ้างว้าง โดดเดี่ยว
2.  ไม่เห็นคุณค่าในตนเอง ตำหนิตนเอง
3.   ลงโทษตนเอง หลีกหนีสังคม พฤติกรรมถดถอยหรืออยากตาย
4.   เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ
5.  การดำเนินกิจกรรมเปลี่ยนไป เช่น เฉื่อยชา เชื่องช้า
              สรุปได้ว่า ภาวะความซึมเศร้า หมายถึง การเปลี่ยนแปลงภาวะทางอารมณ์ เศร้าเสียใจ ท้อแท้ โดดเดี่ยว จนทำให้เด็กเกิดการแยกตัวเองจากกิจกรรมที่เคยทำในชีวิตประจำวัน และรู้สึกว่าตนเองด้อยค่า หมดหวัง รู้สึกผิด มักชอบตำหนิตนเอง มองโลกในแง่ร้าย จนถึงคิดอยากฆ่าตัวตายได้
               ภาวะซึมเศร้าเป็นสาเหตุการฆ่าตัวตายประมาณร้อยล่ะ 50 โดยเฉพาะในผู้ที่มีอาการรุนแรงและมีประวัติเคยทำร้ายตัวเองมาก่อน มุมมองทางการแพทย์เชื่อว่า ผู้ป่วยทางจิตเวชที่คิดฆ่าตัวตาย เมื่อรักษาจนภาวะทางจิตดีขึ้น ส่วนใหญ่ความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายจะลดลง การรักษาที่ถูกต้องจึงมีความสำคัญในการป้องกันการฆ่าตัวตาย และการเจ็บป่วยทางจิตเวชก็ถือเป็นสาเหตุสำคัญของการฆ่าตัวตายด้วย โรคซึมเศร้า หรือโรคอารมณ์เศร้า เป็นกลุ่มอาการที่เกิดขึ้น ซึ่งส่งผลต่อการแสดงออกทางจิตใจ และพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปจากปกติในลักษณะตรงกันข้ามกัน ซึ่งจะแตกต่างจากอาการเศร้า เบื่อ เซ็ง ซึ่งจะสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน เป็นบางโอกาส ถ้าจะวิเคราะห์ปัจจัยทั้งทางด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และ ด้านชีวเคมีในร่างการคนเราที่เป็นสาเหตุของโรคซึมเศร้านั้น มีสาเหตุ ดังนี้(ปุณยภพ สิทธิพรอนันต์ : ฆ่าตัวตายเพราะโรคซึมเศร้า, 2550) 
        1. ความบกพร่องของสารสื่อสมอง ในสมองนอกจากมีไขมัน และเส้นประสาทแล้ว ยังมีสารเคมีหลายชนิดวิ่งไปมา ระหว่างเซลล์สมอง ทำหน้าที่ส่งสัญญาณและควบคุมระบบฮอร์โมนของร่างกายให้อยู่ในภาวะสมดุล ซึ่งจะส่งผลต่อกระบวนการคิด เรียนรู้ การจำ และความรู้สึก ไปจนถึงการกำหนดให้ร่างกายแสดงอารมณ์ หรือควบคุมความประพฤติ แต่เมื่อระบบสัญญาณในสมองเกิดลัดวงจร หรือไม่ทำตามหน้าที่เดิมแล้ว สภาพจิตใจ และความรู้สึกนึกคิดก็จะผิดปกติไปด้วยเช่นกัน 
        2. ความผิดปกติของฮอร์โมนจากต่อมไร้ท่อ ต่อมไร้ท่อ ในร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนเข้ามาในกระแสเลือด เช่น  ต่อมไทรอยด์ในคอ คนที่เป็นโรคต่อไร้ท่อผิดปกติมักจะมีความผิดปกติของอารมณ์ด้วย เมื่อต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยเกินไปก็ทำให้เกิดอาการของโรคซึมเศร้า ซึ่งอารมณ์ผิดปกติที่เกิดจากโรคต่อไทรอยด์นี้จะหายไปได้ถ้าแก้ไขระดับฮอร์โมนให้ปกติ 
        3. การถ่ายทอดทางพันธุกรรม จากการศึกษาครอบครัวหลายครอบครัวที่มีอัตราการเกิดโรคอารมณ์ซึมเศร้าสูง ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถสรุปได้ว่า เกิดการถ่ายทอดทางพันธุกรรมในโรคซึมเศร้าบางชนิดโดยเฉพาะอย่างยิ่งชนิดที่มีอาการกำเริบหลาย ๆ ครั้ง นอกจากนั้นโรคซึมเศร้าชนิดรุนแรงจะพบในผู้มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดใกล้ชิด  (พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตายาย หรือพี่น้องบิดามารดาเดียวกัน) มากกว่าประชากรทั่วไปประมาณ 1 – 3 เท่า  แต่อย่างไรก็ตามพันธุกรรมเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งในอีกหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้า 
        4. ขาดการช่วยเหลือจากคนแวดล้อม แรงสนับสนุนหรือการใส่ใจจากสังคมรอบตัวผู้ป่วย นับเป็นปัจจัยสำคัญในการต่อต้านอาการที่นำไปสู่สาเหตุของโรคซึมเศร้า ผู้ป่วยที่อยู่คนเดียว อ้างว้าง มีเพื่อนน้อย รวมทั้งครอบครัวมีปัญหาภายใน มักจะมีแนวโน้มพัฒนาอารมณ์ไปสู่โรคซึมเศร้าได้ง่ายกว่าคนปกติ และเมื่อผู้ป่วยเผชิญกับโรคซึมเศร้าแล้วนั้น ผู้ป่วยจะปลีกตัวเองออกจากสังคม แยกตัวเองออกมาอยู่อย่างเดียวดาย ตัดความสัมพันธ์กับผู้คนที่เคยรู้จักด้วย การโดยเดี่ยวตัวเองจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับหนีปัญหา และจบปัญหากลุ่มผู้ป่วยที่พบมากในกรณีที่ขาดความช่วยเหลือจากคนแวดล้อมคือ คนชราที่เกษียณอายุ หรืออยู่ในสถานสงเคราะห์ 
        5. เพศหญิงมีโอกาสเกิดโรคซึมเศร้ามากกว่าเพศชาย ตามสถิติของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ผู้หญิงมักป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าชายถึง 2 เท่า แต่สถิติของการฆ่าตัวตาย ผู้ชายฆ่าตัวตายมากกว่าผู้หญิงถึง 4 เท่า การที่ผู้หญิงเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าชาย ที่เป็นเช่นนี้ไม่ใช่เพราะผู้ชายมีปัญหาน้อย แต่ผู้ชายมันมีแนวทางในการแก้ปัญหาแตกต่างจากผู้หญิง เช่น หันหน้าไปพึ่งอบายมุข, หันไปบ้างาน หรือหาสิ่งอื่นมาทดแทนความรู้สึกเศร้าซึม เป็นต้น แต่ผู้หญิงจะมีทางออกน้อยกว่าชาย จึงมักเก็บปัญหาไว้ในใจ เมื่อไม่ค่อยมีโอกาสได้ผ่อนคลายและเก็บปัญหาไว้มากเข้า จึงระเบิดออกมากลายเป็นโรคซึมเศร้า 
        6. การเปลี่ยนแปลระดับของฮอร์โมน จากผลการวิจัย ผู้หญิงเมื่อย่างเข้าสู่วัยรุ่นจะมีฮอร์โมนเพศสูงขึ้น ซึ่งมีส่วนเกี่ยวพันกับโรคซึมเศร้า ในผู้หญิงที่เริ่มมีประจำเดือนระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนจะกระตุ้นสารเคมีในสมองที่ควบคุมอารมณ์  ดังนั้นฮอร์โมนเพศหญิงจึงมีส่วนเพิ่มอัตราการเกิดโรคซึมเศร้ามากกว่าเพศชาย นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้หญิงมักจะตอบสนองต่อฮอร์โมนความเครียดคอร์ติโซลได้ง่ายกว่าเพศชายอีกด้วย 
        7. อายุ เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีผลโดยตรง คือคนที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปมีโอกาสเสี่ยงต่อโรคซึ่มเศร้ามากกว่าคนปกติ และต้องพิจารณาปัจจัยอื่นประกอบด้วย 
        8. การดื่มสุรา เป็นที่แน่นอนว่าสุรามีส่วนเกี่ยวพันกับโรคซึมเศร้า ถ้าบุคคลนั้น ๆ มีอาการซึมเศร้าลึก ๆ อยู่ภายในแล้ว การดื่มสุราเข้าไปจะยิ่งไปกระตุ้นทำให้เกิดอาการเศร้ากะทันหัน  รุนแรง และน่ากลัว 
        9. การสูบบุหรี่ คนที่เป็นโรคซึมเศร้ามักจะสูบบุหรี่ สองสิ่งนี้จะเสริมกัน และยิ่งส่งผลเสียเป็นเท่าทวี 

        10. การติดยาเสพติด โรคซึมเศร้าอย่างรุนแรงมีความสัมพันธ์กับการติดยาอย่างชัดเจน โดยเฉพาะพวกฝิ่น สารกระตุ้นสมอง คนที่ติดยายิ่งใช้ยามากเท่าใด บ่อยเท่าใดก็จะยิ่งทำให้เกิดโรคซึมเศร้าชนิดรุนแรงมากขึ้นเท่านั้น 
        11. โรคทางจิตเวชอื่น เช่นโรคย้ำคิดย้ำทำ, โรคกินผิดปกติ, โรคกลัวอ้วน ฯลฯ โรคเหล่านี้ส่งผลต่อการเกิดโรคซึมเศร้าได้เช่นกัน  
        12. โรคทางร่างกายอื่น ในผู้ป่วยที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง หรือโรคที่ยังไม่มีทางรักษาให้หายขาดได้ สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้ผู้ป่วยหมดกำลังใจ สิ้นหวัง รู้สึกไม่มีประโยชน์ ไม่มีความสุขที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป รวมทั้งความกังวลในการตกเป็นภาระของบุคคลใกล้ชิด มีแนวโน้มที่จะคิดสั้นปลิดชีวิตตัวเองให้พ้นจากความรู้สึกทุกข์ทนเช่นนี้ได้อย่างง่าย ๆ 
        13. สาเหตุทางด้านสังคม - ปัญหาทางด้านสังคม เป็นปัญหาที่หลายคนในสังคมต้องเผชิญร่วมกัน เช่น ปัญหาเศรษฐกิจ, การแก่งแย่งแข่งขันกันของในสังคม, ความสับสนวุ่นวาย เป็นต้น ความรู้สึกแปลกแยก หรือถูกกดดันจากสิ่งแวดล้อมทางสังคม ส่งผลให้เกิดความเครียดจนกระทั่งเกิดภาวะซึมเศร้าในบุคคลได้ 
        14. ความรู้สึกสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก ย่อมสร้างความรู้สึกผิดหวัง ท้อแท้ กลุ้มใจให้กับผู้ที่ต้องสูญเสียเป็นธรรมดา แต่บางคนที่ไม่สามารถยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ไม่สามารถหันหน้าเผชิญกับความเป็นจริงได้ ความรู้สึกเช่นนี้จะชักนำไปสู่โรคซึมเศร้าได้ 
        15. ความเครียด ความเครียดเป็นอาการความผิดปกติเพียงเล็กน้อยทางการทำงานของสารเคมีในสมอง หรืออาจเรียกว่าเป็นความผิดปกติทางจิตขั้นอ่อน ๆ เท่านั้น หากปล่อยทิ้งไว้อาจเป็นผลเสียต่อสุขภาพร่างกาย และพัฒนาเป็นโรคซึมเศร้าในที่สุด 
        16. ความวิตกกังวล ความวิตกกังวล หรือการคิดใจจดใจจ่ออยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง กระวนกระวายกับสิ่งที่คิด เหล่านี้ส่งผลให้เกิดความเครียด ซึ่งอาจสะสมเร็ว และส่งผลร้ายได้ในระยะเวลาไม่นาน 
        17. บุคลิกเฉพาะอย่าง กลุ่มบุคลิกภาพผิดปกติเรียกกว่า บุคลิกภาพผิดปกติแบบซึมเศร้า” (depressive personality disorder) มักเป็นคนมองโลกในแง่ร้าย และเซื่องซึม มักชอบตำหนิตัวเอง และผู้อื่น คนกลุ่มนี้จะมองโลกว่ามีแต่ความโหดร้าย ไม่มีใครสนับสนุนตนเอง มองตนเองเป็นคนไร้ค่า มองอนาคตอย่างไร้ความหวัง 
        18. ญาติผู้ป่วยผันตัวเองมาสู่โรคซึมเศร้า นอกจากผู้ป่วยแล้ว ญาติผู้ป่วยก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ต้องให้ความสนใจ และให้ความช่วยเหลือ เพราะหากความรู้ ความเข้าใจในธรรมชาติของโรคที่ผู้ป่วยต้องเผชิญแล้ว เขาจะเกิดความสับสน ทำให้ท้อแท้ และทุกข์ทรมานใจ ตลอดจนเกิดความเครียดในที่สุด 
วิธีสังเกตอาการ
1. สังเกตว่าอารมณ์นั้นสอดคล้องกับเหตุการณ์หรือเรื่องราวหรือไม่ วัยรุ่นๆ อาจะผิดหวังเรื่องความรัก หรืออารมณ์เปลี่ยนแปลงเองแม้ไม่มีเหตุการณ์มากระทบก็ตาม 
2. ระดับความรุนแรง บางคนอาจทานข้าวไม่ได้ นอนไม่หลับ หรือหากนอนหลับก็มักฝันร้ายอยู่บ่อยครั้ง และไม่สามารถออกจากอารมณ์นั้นได้เลย 
3. ตัวร่วม วัยรุ่นบางคนตกอยู่ในภาวะอารมณ์นี้นานจนชีวิตถูกรบกวน คือ ไม่สามารถเรียนได้ ซึ่งถ้ารุนแรงมากอาจมีอาการทางจิตร่วมด้วย เขาจะรู้สึกท้อแท้ และไร้ค่า 
4. พฤติกรรมโดยรวมของโรคซึมเศร้า นอกจากการเก็บตัวไม่สุงสิงกับใครแล้ว วัยรุ่นบางคนอาจมีพฤติกรรมในอีกรูปแบบหนึ่งเช่นการใช้ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ เที่ยวกลางคืน หมกมุ่นในเรื่องเพศสัมพันธ์ การขับรถเร็ว อาจจะมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย ได้แก่ เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลง ผอมลง เซื่องซึม นอนไม่หลับ ขาดสมาธิ ความจำเสื่อม เหนื่อยง่าย เพลีย ไม่มีแรง เบื่องาน หรือเบื่อกิจกรรมที่เคยทำแล้วสนุก การเบื่อสังคมอาจแสดงออกด้วยการเก็บตัว แยกตัว เซื่องซึม ขาดความมั่นใจในตนเอง เครียดง่าย กังวลง่าย มองโลกในแง่ร้าย ไม่เห็นทางแก้ไขปัญหา 
5. โรคซึมเศร้าที่มีอาการรุนแรงมาก อาจเกิดอาการโรคจิตร่วมด้วย เช่น มีอาการหลงผิด หรือหูแว่ว 
6. โรคซึมเศร้าที่เกิดในวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ตอนต้น เกิดได้ง่ายโดยไม่จำเป็นต้องมีความเครียดเป็นสาเหตุ เมื่อเกิดขึ้นแล้วมีอันตรายเนื่องจากผู้ป่วยอาจฆ่าตัวตายได้

   อาการของโรคซึมเศร้า 
        การวินิจฉัยว่าบุคคลหนึ่งเป็นโรคซึมเศร้านั้น อาการของโรคซึมเศร้าเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนมาก เนื่องจากอาการทางกาย หรือพฤติกรรมที่แสดงออกว่าผิดปกติไปจากเดิม เช่น เฉื่อยชา เซื่องซึม หรือขาดสมาธิ มักไม่เชื่อมโยงกับอาการป่วยทางจิตใจ จนยากในการวินิจฉัยว่าป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ทั้งนี้แพทย์ได้พยายามหาวิธีหรือเกณฑ์บ่งชี้เบื้องต้นว่าผู้ป่วยเข้าข่ายว่ากำลังมีความซึมเศร้าหรือไม่ ดังนี้  
        - มีอาการโศกเศร้าเสียใจ หมดอาลัยตายอยากในชีวิต 
        - ความกระตือรือร้น และความสนุกสนานในกิจกรรมที่เคยทำทั้งหมด หรือเกือบทั้งหมดลดลงอย่างมาก มีอาการเฉื่อยชา 
        - มีอารมณ์แปรปรวนอ่อนไหวง่าย และเปลี่ยนแปลงแบบขึ้น ๆ ลง ๆ  
        - น้ำหนักตัวเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน โดยมีน้ำหนักลดลงหรือเพิ่มขึ้นทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ควบคุมอาหาร หรือลดน้ำหนัก หรือความอยากอาหารเพิ่มขึ้น หรือลดลงเกือบทุกวัน 
        - มีอาการนอนไม่หลับ หรือหลับบ่อยมากนานผิดปกติเกือบทุกวัน 
        - ความสามารถในการคิดถดถอย หรือสมาธิไม่ดี หรือไม่สามารถตัดสินใจได้ และอาการนี้เป็นอยู่เกือบทุกวัน 
        - อ่อนเพลียไม่มีแรง 
        - การเคลื่อนไหวของร่างกายเปลี่ยนไป โดยมีอาการกระวนกระวายอยู่ไม่นิ่งมากกว่าปกติหรือเคลื่อนไหวช้าลง รวมทั้งความคิดช้าลงหรือฟุ้งซ่านมากขึ้นเกือบทุกวัน ทั้งนี้จะตัดสินโดยการสังเกตจากผู้อื่น  
        - รู้สึกว่าตนเองไร้ค่า หรือมีความรู้สึกว่าตนเองผิดไม่ดีอย่างมากเกินเหตุเกือบทุกวัน ที่ไม่ได้เกิดจากการตำหนิตัวเองหรือความรู้สึกผิดเพราะป่วย 
        - เกิดอาการประสาทหลอน หูแว่ว 
        - รู้สึกมองโลกในแง่ร้ายอย่างมาก 
        - ความจำเสีย จำอะไรไม่ค่อยได้  
        - คิดเรื่องฆ่าตัวตายซ้ำ ๆ หรือคิดเรื่องฆ่าตัวตายโดยอาจจะไม่มีการวางแผนการที่แน่นอน หรือพยายามฆ่าตัวตาย หรือวางแผนการฆ่าตัวตาย  


ความซึมเศร้ามีบทบาทสำคัญ
เพื่อที่จะให้เข้าใจถึงสาเหตุการเกิดการฆ่าตัวตายในวัยรุ่นนั้น ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดจะต้องมองทะลุสิ่งที่อยู่ผิวเผินเข้าไปถึงแก่นของปัญหาที่เป็นตัวการสำคัญคือเรื่องความซึมเศร้าที่วัยรุ่นคนนั้นกำลังประสบอยู่ ผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานกับวัยรุ่นที่มีปัญหาอย่างนี้ส่วนใหญ่จะพบว่า วัยรุ่นคนนั้นจะเป็นคนที่ไม่มีความสุข
มีความรู้สึกสับสน ว้าวุ่นและรู้สึกว่าตนเองนั้นไม่มีค่า มีความรู้สึกหมดหวังท้อแท้ และมีความโกรธแค้นอยู่ในใจ  จากการศึกษาพบว่าวัยรุ่นที่มีปัญหานี้จะคิดว่าไม่มีคนในครอบครัวคนไหนที่เข้าใจเขา เขารู้สึกโดดเดี่ยวอ้างว้าง และไม่มีใครให้ความสำคัญ หลายคนรู้สึกว่าพ่อและแม่ไม่สนใจที่จะรับฟังเขาในเรื่องความรู้สึกที่เขามี เขาไม่สามารถระบายความในใจ ความสับสน ความทุกข์ และความรู้สึกล้มเหลวให้แก่ใครฟังได้ คุณพ่อคุณแม่หลายคนจะมองว่าการที่ลูกวัยรุ่นมีความรู้สึกเช่นนั้น เพราะเป็นคนใจไม่สู้ ยอมแพ้ง่ายๆ ไม่เอาไหน และเป็นคนอ่อนแอ ทำให้ยิ่งกดดันหรือบังคับให้วัยรุ่นต้องเข้มแข็งและไม่แสดงออกถึงความรู้สึกที่ตนเองมีอยู่ ทำให้วัยรุ่นคนนั้นยิ่งรู้สึกว่าไม่มีใครเอาใจใส่รับฟังเขา เขาไม่มีความสำคัญอะไร และบางครั้งอาจถูกคนรอบข้างดุว่า หรือใช้ความรุนแรงกับเขาที่เขาเป็นคนเช่นนี้  วัยรุ่นที่มีปัญหานี้จะมองทุกอย่างรอบข้างอย่างท้อแท้ สิ้นหวัง เขารู้สึกว่าตนเองนั้นอ่อนแอ และไม่สามารถควบคุมหรือแก้ไขทำอะไรได้กับชีวิตของตนเอง แม้แต่จะช่วยตนเองก็ไม่ได้ ทำให้รู้สึกว่าตนเองนั้นไม่มีค่าพอที่จะอยู่ต่อไป
 จะเห็นว่าในบางครั้งความรู้สึกเช่นนี้จะถูกแปลงออกมาเป็นเพลงที่เหล่าวัยรุ่นชอบฟังกัน และทำให้เกิดความรู้สึกเหล่านี้ในบรรดาวัยรุ่นที่เป็นแฟนเพลงของศิลปินคนนั้นๆ ทำให้พบว่าวัยรุ่นกลุ่มนี้มีความประพฤติที่แปลกไป และมีความดุดันทำร้ายตนเอง และมีความรู้สึกอยากฆ่าตัวตาย  วัยรุ่นควรที่จะได้ทราบว่าเมื่อตนเองเกิดความรู้สึกเหล่านี้ เขาสามารถไปพบแพทย์หรือผู้ที่สามารถช่วยเหลือเขาได้ (เช่น คุณครู ญาติสนิท พระ) และการเข้ารับการรักษาสามารถทำให้ความรู้สึกซึมเศร้าของเขาหายได้ คุณพ่อคุณแม่และคนรอบข้างของวัยรุ่นคนนั้นก็ควรจะเข้าใจและช่วยให้เขาได้รับการรักษาก่อนที่จะสายเกินแก้     แต่ในทางปฏิบัติก็ยังมีพ่อแม่และคนอื่นๆ อีกมากที่ไม่เข้าใจในเรื่องการรักษานี้ และอาจจะรู้สึกอับอายหรือปฏิเสธไม่ยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้นกับลูกวัยรุ่นของตน อาจจะขัดขวางหรือใช้ความรุนแรงทั้งทางด้านพละกำลังหรือวาจา ไม่ยอมให้วัยรุ่นได้เข้าพบแพทย์หรือติดต่อผู้ที่สามารถช่วยเหลือเขาได้ ทำให้สิ่งต่างๆยิ่งเลวร้ายลงไปอีก วัยรุ่นคนนั้นยิ่งรู้สึกสับสนและไม่สามารถมองเห็นสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นได้อย่างใจสงบ ทำให้ไม่สามารถหาทางแก้ไขปัญหาที่ตนเองเผชิญอยู่ได้ จึงใช้การฆ่าตัวตายเป็นทางออก
การป้องกันการฆ่าตัวตาย
                สิ่งสำคัญคือประชาชนทั่วไปควรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคทางจิตเวช และการฆ่าตัวตายให้มากขึ้น และไม่มองว่าการฆ่าตัวตายเป็นตราบาป (Stigma) เช่นคิดว่าเป็นเรื่องของคนสิ้นคิด หรือคิดว่าเป็นเพียงเรื่องเล่น ๆ 
ถึงแม้ว่าการฆ่าตัวตายนั้นหลายครั้งจะเป็นการยากที่จะคาดการณ์ล่วงหน้าได้ แต่ก็มีหลายจุดที่เราสามารถสังเกตเห็นได้ก่อน และสามารถป้องกันหรือให้การรักษาได้ทันท่วงที โดยสิ่งต่อไปนี้คือสิ่งที่ควรถือเป็นเรื่องจริงจัง และจัดการอย่างใดอย่างหนึ่ง
        พฤติกรรมพยายามฆ่าตัวตาย ต้องถือเป็นเรื่องจริงจัง เพราะในชีวิตจริงทุกวันนี้จะพบว่า หลาย ๆ ครั้งของผู้ที่พยายามฆ่าตัวตายนั้น ไม่ได้มาพบแพทย์ ผมเองมีเด็กวัยรุ่นที่เคยพยายามฆ่าตัวตายมาหลายครั้ง แต่ ที่บ้านก็ไม่เคยพามาพบแพทย์เลย จนครั้งหลังสุดทำรุนแรงจริง ๆ จึงพามาพบแพทย์
        ความเจ็บป่วยทางจิต ดังที่กล่าวข้างต้นว่า การฆ่าตัวตายนั้นสัมพันธ์กับความเจ็บป่วยทางจิตอย่างมาก ดังนั้นหากพบว่าตัวเองหรือคนใกล้ชิดเกิดความเจ็บป่วยทางจิตใจขึ้นมา ก็อย่ารีรอที่จะมาพบแพทย์
        สัญญาณเตือน (Warning signs) เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ควรสังเกตและให้ความสนใจ โดยพบว่าส่วนใหญ่ของผู้ที่ฆ่าตัวตายจะมีสัญญาณเตือนอะไรบางอย่างออกมาให้คนรอบข้าง เช่น พูดเปรย ๆ ว่า ไม่อยากอยู่ หรือ ครอบครัวจะดีกว่านี้ถ้าไม่มีตัวเองอยู่ ชีวิตนี้ไม่เหลืออะไรแล้ว นี่คงเป็นข้าวมื้อสุดท้าย เป็นต้น  หรือมีพฤติกรรมบางอย่างเช่น ซื้อยามาเก็บไว้มาก ๆ ซื้อสารอันตรายที่ไม่จำเป็นต้องใช้มาเก็บไว้ เขียนจดหมายลาตาย หรือพูดทำนองสั่งเสียกับคนอื่น ๆ เป็นต้น

สิ่งที่ควรทำเมื่อพบผู้ที่สงสัยว่ามีความเสี่ยงในการฆ่าตัวตาย
1. ต้องถือเป็นเรื่องจริงจัง
2.ให้พูดคุย ซักถามว่าเกิดอะไรขึ้น โดยไม่แสดงท่าทีตำหนิหรือว่ากล่าว
3.  เสนอความช่วยเหลือเท่าที่ทำได้
4. เก็บ/เอาสิ่งที่อาจจะใช้ทำร้ายตัวเองออกไปให้หมด
5. อย่าปล่อยให้ผู้ที่มีความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายอยู่คนเดียวลำพัง
6. รีบปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหากไม่สามารถจัดการได้ หรือสถานการณ์ไม่ดีขึ้น
การฆ่าตัวตายเป็นปัญหาทางสังคมมากกว่าจะเป็นปัญหาทางการแพทย์แต่เพียงอย่างเดียว แม้ว่าการจัดบริการให้ความช่วยเหลือผู้อยู่ในภาวะวิกฤตของชีวิตและการให้การรักษาทางจิตเวชอย่างถูกต้องจะเป็นสิ่งสำคัญ แต่มาตรการการป้องกันการฆ่าตัวตายหลายประการ ต้องอาศัยความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ในสังคมเราอาจกำหนดมาตรการป้องกันการฆ่าตัวตายได้ดังนี้
1. การจัดการศึกษา
เพื่อให้เยาวชนทั่วไปมีทักษะในการจัดการปัญหาชีวิต ให้ความช่วยเหลือเอื้อเฟื้อแก้กันในยามวิกฤต และมีความพร้อมสำหรับการมีชีวิตครอบครัวเพื่อเป็นแหล่งให้กำลังใจที่สำคัญ ควรส่งเสริมให้เยาวชนและประชาชนทั่วไปมีทัศนคติที่ไม่รังเกียจหรือละอายต่อการใช้บริการทางสุขภาพจิต มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความเจ็บป่วยทางจิตเวช รู้วิธีสังเกตอาการของผู้ใกล้ชิดที่อาจฆ่าตัวตาย และให้ความช่วยเหลือขั้นต้น รู้จักขอความช่วยเหลือเมื่อจำเป็น ช่วยให้ญาติของผู้ป่วยจิตเวชและผู้ป่วยโรคเรื้อรังและร้ายแรงมีความเข้าใจและมีวิธีการช่วยเหลือผู้ป่วย มาตรการที่สำคัญในสถานศึกษาได้แก่
- การจัดการเรียนรู้ทักษะชีวิต เพื่อให้นักเรียนมีความสามารถในการจัดการกับความเครียด รู้จักการสร้างสัมพันธภาพที่ดี จัดการความขัดแย้งและปัญหาต่างๆ ในชีวิตและรู้จักขอความช่วยเหลือ
- เพิ่มความสามารถของครูในการสังเกตนักเรียนที่อาจมีปัญหาทางจิตใจและเข้าใจปัจจัยเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย เพื่อให้ความช่วยเหลือนักเรียน หรือส่งต่อเพื่อรับความช่วยเหลือ
- จัดสิ่งแวดล้อมภายในโรงเรียนให้เอื้อต่อการเรียนรู้และพูดคุยปรึกษากันตลอดจนพัฒนาความร่วมมือระหว่างชุมชน ครู ผู้ปกครอง และนักเรียน
- ให้การปรึกษาช่วยเหลือ และให้กำลังใจผู้ทำร้ายตนเอง
2. บทบาทของสื่อมวลชนกับการป้องกันการฆ่าตัวตาย
ประสบการณ์จากต่างประเทศ พบว่า การนำเสนอข่าวมีส่วนชี้นำให้เกิดการฆ่าตัวตายอย่างต่อเนื่องในชุมชน โดยมีการฆ่าตัวตายเพิ่มสูงขึ้นภายหลังการนำเสนอข่าว และพื้นที่ที่มีการนำเสนอข่างเข้มข้นกว่าจะได้รับผลกระทบมากว่า ซึ่งได้รับการยืนยันจากการศึกษาในหลายพื้นที่ เชื่อว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นเป็นเพราะรายงานข่าวการฆ่าตัวตายเป็นการนำเสนอแบบอย่างของการแก้ปัญหาด้วยการฆ่าตัวตายว่าเป็นสิ่งที่ทำกันได้ ผู้ที่มีแนวโน้มอยู่แล้วหรือผู้ที่มีปัญหาคล้ายคลึงกันกับผู้ฆ่าตัวตายจึงลดความยั้งใจลง โดยเฉพาะหากผู้ฆ่าตัวตายเป็นบุคคลที่เป็นที่ชื่นชอบจะส่งผลได้มาก ลักษณะของข่าวที่พบว่าทำให้เกิดการเลียนแบบฆ่าตัวตาย คือ
- บรรยายวิธีการใช้ในการฆ่าตัวตาย
- อธิบายสาเหตุของการฆ่าตัวตายไว้อย่างง่ายๆ ว่าเป็นเพราะความเครียด ทั้งที่ในความจริงมักมีหลายสาเหตุประกอบกัน เช่น รายงานข่าวว่าสอบได้คะแนนไม่ดี จึงฆ่าตัวตาย
- ไม่นำเสนอปัญหาสุขภาพจิตที่มีอยู่แล้วของผู้ฆ่าตัวตาย
- ไม่นำเสนอผลตามมาของการฆ่าตัวตาย เช่น กรณีฆ่าตัวตายไม่สำเร็จ และเกิดความพิการ เป็นอัมพาต สมองพิการ หรือผลกระทบต่อครอบครัวที่อยู่เบื้องหลัง
- ไม่นำเสนอวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพ แต่แนะนำวิธีการที่ง่ายเกินจริงหรือไม่เหมาะสมกับปัญหาที่ซับซ้อนอันเป็นสาเหตุที่แท้จริงของการฆ่าตัวตาย เช่น เพียงแนะนำว่าให้สังคมมีน้ำใจต่อกัน
- นำเสนอ รางวัลที่ได้จากการฆ่าตัวตาย เช่น การเป็นที่รู้จัก
การนำเสนอข่าวที่ดีจึงควรหลีกเลี่ยงการนำเสนอภาพของผู้ตกอยู่ในสภาพท้อแท้สิ้นหวัง หรือลงรายละเอียดของการฆ่าตัวตายและไม่ควรเสนอข่าวเพื่อความตื่นเต้นเร้าใจ ข่าวที่ดีจะเป็นการให้การศึกษาแะสร้างความตระหนักแก่ประชาชนควรพิจารณานำเสนอ ประสบการณ์ของผู้เคยมีความคิดทำร้ายตนเองและผ่านพ้นวิกฤตของชีวิตมาได้ด้วยดีเป็นแบบอย่าง เพื่อเป็นกำลังใจกับผู้ที่กำลังรู้สึกท้อแท้ในชีวิต
การนำเสนอภาพการทำร้ายตนเองในภาพยนตร์หรือละครควรได้รับคำแนะจากผู้เชี่ยวชาญ และขณะนำเสนอภาพการทำร้ายตนเองควรมีการประชาสัมพันธ์ให้ทราบถึงสถานบริการช่วยเหลือผู้คิดฆ่าตัวตายและบริการปรึกษาผู้ทุกข์ใจ สื่อมวลชนยังมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ด้านการปรับตัวในชีวิต เพิ่มคุณภาพชีวิตครอบครัวและชุมชน
3. การควบคุมวิธีการที่ใช้ในการฆ่าตัวตาย
คนส่วนมากเข้าใจว่าคนที่คิดฆ่าตัวตายจะใช้วิธีการที่ใกล้มือ ใช้อุปกรณ์ที่หยิบฉวยได้ง่าย จึงเชื่อว่าการควบคุมอุปกรณ์ในการฆ่าตัวตายไม่น่าจะช่วยป้องกันการฆ่าตัวตายได้ แต่การศึกษาในหลายประเทศพบว่าการควบคุมอุปกรณ์หรือวิธีการที่มีผู้ใช้ฆ่าตัวตายบ่อยจะช่วยลดอัตราการฆ่าตัวตายลงได้ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะการฆ่าตัวตายส่วนหนึ่งเป็นการกระทำที่หุนหันพลันแล่น โดยเฉพาะในผู้ที่มีอายุน้อย หรือทำได้เพราะมีวิธีการที่ง่ายและไม่ทรมาน การมีมาตรการป้องกันจึงช่วยลดอัตราการฆ่าตัวตายลง ตัวอย่างของประสบการณ์การควบคุมอุปกรณ์หรือวิธีการที่ใช้ในการฆ่าตัวตาย ที่มีผลในการลดอัตราการฆ่าตัวตายได้แก่
- การลดการสั่งจ่ายยา Barbiturates ซึ่งเป็นยาที่มีอันตรายเมื่อรับประทานเกินขนาด
- การเปลี่ยนแปลงส่วนผสมแก๊สที่ใช้ภายในบ้าน ให้ไม่เป็นพิษ (เช่น ญี่ปุ่น สวิตเซอร์แลนด์ อังกฤษ)
- การลดไอเสียของรถยนต์ให้มีส่วนผสมของคาร์บอนมอนอกไซด์น้อยลง
- การควบคุมการมีอาวุธปืนไว้ในครอบครอง
- การควบคุมการเก็บ/ขาย สารพิษที่ใช้ในการเกษตร
- การสร้างรั้วกั้นบริเวณสะพานสูงหรือที่สูง เพื่อป้องกันการกระโดดจากที่สูง
- การผสม Methionine ใน Paracetamol เพื่อลดพิษที่เกิดขึ้นต่อตับ เมื่อมีการรับประทานยา paracetamol เกินขนาดโดยตรง
4. จัดบริการปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต
บริการปรึกษาเพื่อแก้ปัญหาให้กับประชาชนกลุ่มต่างๆ ในช่วงที่ชีวิตตกอยู่ในภาวะวิกฤต จะช่วยให้ผู้รับบริการตัดสินใจเลือกทางเดินที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเขาในระยะยาว กลุ่มที่ควรได้รับความช่วยเหลือ ได้แก่
- คนว่างงาน
ผู้ตกงานมักมีปัญหาด้านการเงิน และอาจรู้สึกว่าชีวิตไม่มีคุณค่าหรือในบางครั้งการตกงานอาจเป้นผลจากความเจ็บป่วยทางจิตเวชที่ทำให้ผลงานตกต่ำลงจึงถูกให้ออกจากงาน กลุ่มผู้ว่างงานจึงควรได้รับบริการช่วยเหลือ
- ผู้ประสบปัญหาครอบครัวและชีวิตสมรส
ความขัดแย้งในครอบครัวและชีวิตสมรสเป็นเหตุกระตุ้นให้ทำร้ายตนเองที่สำคัญควรจัดบริการปรึกษาเพื่อช่วยแก้ปัญหาในครอบครัวและชีวิตสมรสและในกรณีคู่สมรสตัดสินใจแยกทางกัน ควรช่วยเหลือคู่สมรสและเด็กๆ ในการปรับตัวกับการแยกทางกัน
- ผู้เจ็บป่วยด้วยโรคทางกาย โดยเฉพาะโรคเรื้อรังหรือร้ายแรง
การเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังหรือร้ายแรงเป็นสาเหตุสำคัญของการฆ่าตัวตาย การแพร่ระบาดของเชื้อเอดส์ในประเทศไทยอาจทำให้การฆ่าตัวตายเพิ่มมากขึ้นการพัฒนาเครือข่ายเพื่อการช่วยเหลือด้านสังคมและจิตใจแก่ผู้ติดเชื้อเอดส์จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายได้ ที่สำคัญสังคมควรให้โอกาสและกำลังใจ แก่ผู้ติดเชื้อ เช่นเดียวกันกับผู้ป่วยโรคเรื้อรังอื่นๆ ที่ควรมีบริการปรึกษาแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข จำเป็นต้องมีทักษะในการวินิจฉัยและให้ความช่วยเหลือผู้มีปัญหาอารมณ์เศร้า ปัญหาการปรับตัวและผู้มีความคิดฆ่าตัวตาย ในการศึกษาของประเทศสวีเดนพบว่า การเสริมความรู้และทักษะแก่แพทย์ในการวินิจฉัยและรักษาภาวะซึมเศร้าอย่างถูกต้องจะช่วยลดอัตราการฆ่าตัวตายและการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลได้
- ผู้ทำร้ายตนเอง
ผู้ทำร้ายตนเองร้อยละ 1 จะทำซ้ำและเสียชีวิตในเวลา 1 ปี หลังการพยายามครั้งแรกและประมาณร้อยละ 10 ของผู้ทำร้ายตนเองจะเสียชีวิตลงจากการฆ่าตัวตาย ผู้ทำร้ายตนเองจึงควรได้รับการประเมินและช่วยเหลือที่เหมาะสมเพื่อแก้ปัญหาที่เป็นสาเหตุของการทำร้ายตนเอง และช่วยให้ครอบครัวช่วยเหลือกัน พูดจาสื่อสารกัน
- การจัดบริการเฉพาะอื่นๆ
นอกเหนือจากบริการปรึกษาปัญหาชีวิตในประชาชนกลุ่มต่างๆ แล้วยังอาจจัดบริการเพิ่มเติมเพื่อตอบสนองต่อปัญหาที่มีลักษณะเช่น บริการโทรศัพท์สายด่วน โทรศัพท์สายด่วนเป็นช่องทางหนึ่งที่ผู้อยู่ในความสับสนและกำลังคิดฆ่าตัวตายอาจติดต่อเพื่อขอความช่วยเหลือได้ ซึ่งจะเป็นวิธีการหนึ่งในการลดความหุนหันพลันแล่น ช่วยลดความรู้สึกโดดเดี่ยว และเกิดกำลังใจ อย่างไรก็ตามโทรศัพท์สายด่วนจะไม่สามารถแก้ปัญหาที่มีความยุ่งยากซับซ้อนได้ จำเป็นต้องมีระบบบริการปรึกษาที่มีคุณภาพและเป็นบริการที่พบกันโดยตรง เช่น หน่วยบริการสุขภาพจิตฉุกเฉิน การประเมินผลบริการโทรศัพท์สายด่วนในประเทศอังกฤษพบว่าผู้ใช้บริการส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย และอยู่ในภาวะโดดเดี่ยว ภายหลังการนำเสนอข่าวทางโทรทัศน์เกี่ยวกับบริการนี้ มักมีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น แต่อัตราการทำร้านตนเองและอัตราการฆ่าตัวตายในพื้นที่นั้นพิสูจน์ไม่ได้ว่ามีการลดลงอย่างชัดเจน ทั้งนี้อาจเป็นเพราะข้อจำกัดของวิธีการประเมินหรือเป็นเพราะบริการชนิดนี้ตอบสนองความต้องการของประชากรคนละกลุ่มกับผู้ฆ่าตัวตายอย่างไรก็ตามความนิยมของบริการชนิดนี้แสดงให้เห็นถึงความต้องการบริการสุขภาพจิตที่มีอยู่สูงในประชาชนทั่วไป ในกรณีการฆ่าตัวตายของบุคคลที่มีชื่อเสียงในสังคม การจัดโทรศัพท์สายด่วนให้การปรึกษาอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายในกลุ่มเยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากการรับรู้ข่าวดังกล่าวการจัดตั้งศูนย์ข้อความช่วยเหลือจิตใจในภาวะวิกฤต ประสบการณ์ในประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า ผู้ใช้บริการของศูนย์ช่วยเหลือจิตใจในภาวะวิกฤตส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงอายุน้อย ซึ่งได้รับประโยชน์จากบริการนี้การปรึกษาในโรงเรียนและสถานศึกษา เป็นบริการที่นักเรียนและนักศึกษาสามารถเดินเข้าไปปรึกษาปัญหาต่างๆ ทั้งด้านการเรียน และชีวิตส่วนตัว เหมือนกับการที่โรงเรียนและสถานศึกษาต่างๆ จัดให้มีห้องพยาบาลทางกายไว้ประจำ
5. การวินิจฉัยและรักษาโรคทางจิตเวชอย่างถูกต้อง
ผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จส่วนใหญ่มีความเจ็บป่วยทางจิตเวชในขณะที่ฆ่าตัวตาย โดยเฉพาะภาวะซึมเศร้า และติดสุรา จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างถูกต้อง แต่ผู้ป่วยจำนวนมากไม่ได้ใช้บริการที่หน่วยบริการจิตเวช สถานบริการทางสุขภาพทั่วไป จึงต้องมีขีดความสามารถในการวินิจฉัยและรักษาโรคทางจิตเวชได้อย่างถูกต้อง และบริการสุขภาพที่จัดขึ้น ทั้งการรักษาทางกาย ทางจิตเวช และการบำบัดรักษา การติดสารเสพติดควรมีความเชื่อมโยงถึงกัน เนื่องจากผู้ป่วยหลายรายมีปัญหาหลายอย่างพร้อมกัน
6. การสร้างความเข้มแข็งให้ครอบครัวและสังคม
การสร้างความเข้มแข็งให้กับครอบครัวและชุมชน ให้มีความเอื้ออาทรต่อกัน ร่วมใจกันปกป้องลูกหลานจากอิทธิพลของค่านิยมที่ไม่เหมาะสม พัฒนาโรงเรียนให้เอื้อต่อการพัฒนาสุขภาพกายและใจ ช่วยสร้างสังคมให้สมาชิกไม่รู้สึกโดดเดี่ยวหรือแปลกแยก ให้ทุกคนได้ร่วมสร้างคุณค่าให้กับชุมชน จะเป็นเกราะป้องกันที่ดีของปัญหาการฆ่าตัวตาย.

ซึ่งในเรื่องนี้ประเทศไทยก็กำลังประสบปัญหาเช่นเดียวกัน จึงมีความสำคัญมากที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องรู้จัก และเข้าใจในปัญหาวัยรุ่น และควรให้ความเอาใจใส่แต่เนิ่นๆ เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น จะดีกว่าการพยายามแก้ไขในภายหลัง และควรที่สื่อมวลชนต่างๆจะร่วมมือกันในการทำข่าว ไม่ให้เกิดกระแสมวลชน ที่อาจจะกระพือความรู้สึกซึมเศร้าหรือการฆ่าตัวตายในหมู่วัยรุ่นให้กลายเป็นฮีโร่ หรือกลายเป็นแฟชั่นไป ครอบครัวสามารถป้องกันได้โดยการให้ความรักความเข้าใจ สอนให้เด็กเข้มแข็ง รู้จักใช้เหตุผล และแสดงออกทางอารมณ์อย่างเหมาะสม ยิ่งไปกว่านั้นทุกคนควรลดความขัดแย้งต่างๆ ในครอบครัวในขณะที่สื่อต่างๆ เองก็ควรตระหนักว่า แม้ว่าเรายังต้องพึ่งพาสื่อเรื่องข้อมูลข่าวสาร แต่สื่อควรเสนอแนะในเรื่องของทางออก และการแก้ปัญหาที่ถูกต้องด้วย ไม่ใช่รายงานแต่การฆ่าตัวตาย โดยเฉพาะดาราหรือคนมีชื่อเสียงที่มักหาทางออกด้วยวิธีที่ผิด หากเด็กๆ ไม่สามารถแยกแยะก็สามารถนำไปสู่เหตุการณ์ไม่คาดฝันได้เช่นกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น