วันศุกร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2556

ปัญหาคนไร้รัฐไร้สัญชาติ นางสาววรรณนิศา สกุลณี 53242421



บทความเชิงวิชาการ
เรื่อง ปัญหาคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ

คนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ นั้น หมายถึง กลุ่มคนที่ไม่สามารถขอสัญชาติได้ รวมถึงการไม่มีสิทธิได้สัญชาติ ก็ทำให้ ไม่มีสิทธิได้รับการดูแลจากรัฐนั้น ๆ ตามไปด้วย เช่น การรักษาพยาบาล  การมีงานทำ หรือการประกันทางสังคมต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้ทำให้คนไร้รัฐ ถูกทอดทิ้งจากสังคม และถูกปล่อยให้อยู่อย่างตามมีตามเกิด  จึงไม่แปลกอะไรที่ส่วนใหญ่แล้วคนไร้รัฐก็คือ คนที่อยู่ชายขอบของสังคม ที่ขาดซึ่งการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ อันเป็นกลุ่มคนที่อาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินไทย เพียงแต่ว่าเราอาจจะไม่รู้จักเท่านั้นเอง 
ปัจจุบันประเทศไทยมีกลุ่มคนที่เรียกว่า คนไร้สัญชาติอาศัยอยู่จำนวนมาก ทั้งกลุ่มคนไร้สัญชาติที่ไม่มีสิทธิอาศัยในประเทศไทย และกลุ่มคนไร้สัญชาติที่มีสิทธิอาศัยในประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนกลุ่มน้อยที่เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานานแล้ว ประเทศไทยจึงมีสถานะเป็นรัฐเจ้าของตัวบุคคลของคนไร้สัญชาติเหล่านี้  ซึ่งทำให้คนไร้สัญชาติเหล่านี้ไม่ไร้รัฐ  แต่หากคนไร้สัญชาตินั้นไม่ได้รับสิทธิอาศัยอยู่ในประเทศใดเลย  คนไร้สัญชาตินั้นก็จะกลายเป็น คนไร้รัฐ   ซึ่งไม่เพียงถือเป็นคนต่างด้าวในทุกประเทศ  เพราะไม่มีสัญชาติของรัฐใดเลย ยังไม่อาจอาศัยอยู่ในประเทศใดได้  เพราะไม่มีสิทธิอาศัยในประเทศนั้น  และยังถือเป็นคนเถื่อนสำหรับทุกดินแดน   
ในยุคที่รัฐทุกรัฐขีดเส้นแบ่งพื้นที่  แบ่งมนุษย์  แบ่งวัฒนธรรม  ออกเป็นส่วนๆแล้วแยกประชาชนที่เคยไปมาหาสู่กันเป็นพี่เป็นน้องกันด้วยพรหมแดนเดียวกันของวัฒนธรรม  แต่วันหนึ่งรัฐแต่รัฐก็ออกกฎหมายขีดเส้นแบ่งให้ประชาชนอยู่  ภายใต้การคุ้มครองของตนเพื่อการเอื้อประโยชน์ของสิทธิและสวัสดิการต่างๆ แก่ประชาชนพลเมืองของตน  แต่ยังคงมีประชาชนอีกจำนวนหนึ่งบนผืนแผ่นดินนี้ที่ดำเนินวิถีชีวิตมานับสิบปี  ร้อยปี  แต่ต้องตกสำรวจ  ไม่มีสถานะใดๆ เลยในรัฐไทย อิทธิพลความคิดด้านสิทธิมนุษยชนสิทธิชุมชนผลพวงจากกระแสโลกาภิวัฒน์ผลักดันให้รัฐสร้างกลไกใหม่ๆ เพื่อแก้ ปัญหาสถานะคนต่างด้าวเข้าเมืองและคนไทยแต่ไร้สัญชาติ ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากดำรงชีวิตบนผื่นแผ่นดินไทยมา นมนาน ให้มีสถานะที่ชัดเจนเพื่อให้ได้รับการปกป้องคุ้มครองทางกฎหมายที่เท่าเทียม แต่กลไกหนึ่งของระบบราชการที่ต้องกำหนดสถานภาพประชาชนกลับไม่ทำงาน หรือทำงานอย่างล่าช้าและไม่เท่า เทียม เพราะในยามที่มีคนต่างด้าวผู้มากด้วยอิทธิพล เงินทองและ ผลประโยชน์ เข้ามาระบบราชการสามารถทำงาน ให้ทันที ได้สถานภาพทุกประการไปง่ายๆ แต่ประชาชนที่ดำรงชีวิตบนแผ่นดินไทยมานานกลับยังคงตกสำรวจอยู่ไม่ มีสถานะ ไม่มีสิทธิ ไม่มีเสรีภาพ ไม่มีความเสมอภาค ไม่มีการคุ้มครองใดๆ จากกฎหมายและพลเมืองอื่นๆ
แม้จะมีกฎหมายทั้งกฎหมายฉบับปรับปรุงใหม่ 2535 ที่ผ่านโดยสภาผู้ราษฎรออกเป็นพระราชบัญญัติและกฎหมาย ที่ออกโดยฝ่ายบริหาร(ประกาศคณะรัฐมนตรี )เปิดช่องทางให้บุคคลสามารถหรือปรับสถานะเป็นสัญชาติไทย ทั้งโดย อัตโนมัติและการยื่นคำร้องได้ถึง 4 ช่อง ทางคือ" (๑) เกิดในขณะที่บิดาที่ชอบด้วยกฎหมายเป็นคนสัญชาติไทย (๒) เกิดในขณะที่มารดาเป็นคนสัญชาติไทย (๓) เกิดในประเทศไทยก่อนวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๕ จากบิดาและ มารดาซึ่งเกิดในประเทศไทย และ (๔) เกิดในประเทศไทยในขณะที่บิดาและมารดาถือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว" แต่จนถึงบัดนี้ สถานะชาวไทยภูเขาก็ยังคงเป็นเฉกเช่นเดิม มิใช่คนต่างด้าว มิใช่คนไทย ทั้งๆ ที่บางชุมชนดำเนินวิถี ชีวิตอย่างนี้มานับร้อยปีแต่บรรพบุรุษ เขายังคงเป็นคนไร้รัฐ (Stateless Person) หรือที่เราเรียกกันในประเทศไทย ว่า"คนไร้สัญชาติ" (Nationalityless Person)
แม้จะพยายามเข้ายื่นคำร้องตามระเบียบการปกครอง แต่ก็ยากที่จะผ่านกระบวนการเหล่านั้นเพื่อมาสู่การเป็นคนไทย มีบัตรประชาชนดังเช่นคนราบอื่นๆ ได้ เพราะนอกจากระเบียบการอันยุ่งยากแล้ว ยังมีค่าธรรมเนียมอื่นๆ เท่าที่เจ้าหน้า ที่รัฐพยายามเรียกรับ หรือแม้แต่เรือนร่างจากหญิงสาวผู้เยาว์ต่อโลก
ในวันนี้ของประเทศไทย ปัญหาสิทธิมนุษยชนประการหนึ่งที่ยังคงร้ายแรงอยู่มากในสังคมไทย ก็คือ ปัญหาความไร้รัฐและความไร้สัญชาติของบุคคลธรรมดาในประเทศไทย ขอให้สังเกตว่า จำนวนคนไร้รัฐและคนไร้สัญชาติยังมีจำนวนมหาศาล แม้ว่าประเทศไทยจะได้ยอมรับปฎิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนมาตั้งแต่ พ.ศ.2490 ซึ่งยอมรับในข้อ15 ว่า บุคคลมีสิทธิในการถือสัญชาติ  การถอนสัญชาติโดยพลการ หรือการปฏิเสธสิทธิที่จะเปลี่ยนสัญชาติของบุคคลใดนั้นจะกระทำมิได้หรือแม้ว่า ประเทศไทยในวันนี้จะเป็นภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางการเมืองและสิทธิทางแพ่ง ค.ศ.1966 ซึ่งข้อ 14  ยอมรับว่า เด็กทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับสัญชาติ.” ก็ตาม
ปัญหาของคนไร้สัญชาติส่วนใหญ่ คือ ไม่มีสถานะบุคคลตามกฎหมายของประเทศไทยใดเลย และ/หรือยังไม่มีสถานะบุคคลที่ชอบด้วยกฎหมายไทยอีกด้วย  กรณีของบุคคลบนพื้นที่ราบสูงบางคนซึ่งมีจำนวนไม่น้อยไม่มีเอกสารรับรองความเป็นบุคคลตามกฎหมาย จึงไม่มีเอกสารพิสูจน์ตนที่ออกโดยรัฐใดเลยในโลกหรือโดยองค์การระหว่างประเทศเลยในโลก  พวกเขาตกเป็นคนไร้รัฐมิใช่เป็นเพียงคนไร้สัญชาติ  ไม่มีรัฐใดเลยให้ความคุ้มครองในฐานะของรัฐเจ้าของสัญชาติ  หรือแม้เพียงแค่รัฐเจ้าของภูมิลำเนา เป็นคนเข้าเมืองที่ผิดกฎหมายของประเทศ
 การแบ่งสมาชิกในสังคมตามสถานะของบุคคล แบ่งได้เป็น 
1. คนชาติ (National) หมายถึง พลเมืองที่ประเทศนั้นให้การรับรองว่าเป็นผู้อยู่ในการควบคุมของประเทศนั้นๆ ได้แก่ ผู้มีสัญชาติของประเทศนั้น คนต่างด้าวผู้ที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในประเทศนั้นอย่างถาวร 
2. คนต่างด้าว (Aliens) หมายถึง บุคคลที่ยังไม่มีสัญชาติของประเทศนั้นหรือคนต่างด้าวผู้ที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในประเทศนั้นแบบชั่วคราว
3. คนไร้สัญชาติ (Statelessperson) หมายถึง บุคคลที่ไม่สามารถระบุได้ว่า เป็นผู้มีสถานะที่เป็นสมาชิกของประเทศใด หรือไม่มีประเทศใดรับว่าเป็นสมาชิกหรือเคยเป็นสมาชิกของประเทศ 
ปัญหาและสาเหตุคนไร้สัญชาติในประเทศไทยมี 2 ลักษณะ คือ ความไร้สัญชาติด้านข้อเท็จจริง และ ความไร้สัญชาติทั้งด้านข้อกฎหมาย
- ความไร้สัญชาติโดยข้อเท็จจริงเกิดขึ้นได้ใน 2 ลักษณะ ลักษณะแรกคือกรณีที่เกิดขึ้นจากบุคคลไม่ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ ประวัติของตนเอง จึงไม่อาจพิสูจน์ความเกาะเกี่ยวกับรัฐใดเลยในโลก ทำให้ไม่สามารถกำหนดสัญชาติได้เลย คนเหล่านี้จึงตกเป็นคนไร้ สัญชาติ ตัวอย่าง เช่นเด็กชายขวัญ วรรัตน์ ซึ่งเกิดในประเทศไทย โดยไม่ทราบว่าใครเป็นบิดามารดาเพราะถูกทอดทิ้ง ลักษณะที่สอง เกิดขึ้นจากบุคคลนั้นเชื่อว่าและอ้างว่าตนมีข้อเท็จจริงที่ทำให้ได้ สัญชาติไทย แต่เจ้าหน้าที่ของรัฐไทยเองปฏิเสธที่จะเชื่อในข้อเท็จจริง ที่บุคคลกล่าวอ้าง ตัวอย่างเช่น กรณีของชาวบ้านแม่อาย 1243 คน ที่ถูกนายอำเภอแม่อายใน พ.ศ.2545 ถอนชื่อออกจากทะเบียนราษฎร ประเภทคนสัญชาติไทย โดยไม่มีการเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริง ส่วนบุคคลของแต่ละคน และเป็นเหตุให้ชาวบ้านทั้งหมดไม่อาจใช้ สิทธิในสัญชาติไทยและไม่มีสิทธิในสัญชาติของประเทศใดเลยในโลก
- ความไร้สัญชาติโดยข้อกฎหมายเกิดขึ้นได้ 2 ลักษณะ ลักษณะแรกคือความไร้สัญชาติที่เกิดแก่บุคคลที่เกิดในประเทศไทย จากบุพการีที่เกิดนอกประเทศไทย ตัวอย่างเช่นกรณีของ นายบุญธรรม ศรีบุญทองซึ่งเกิดในประเทศไทยจากบิดามารดาซึ่ง มีเชื้อชาติไทยใหญ่ แต่เป็นคนไร้สัญชาติที่เกิดในประเทศพม่า และลักษณะที่สองคือความไร้สัญชาติที่เกิดแก่บุคคลที่เกิดนอก ประเทศไทยจากบุพการีที่เกิดนอกประเทศไทย ตัวอย่างเช่นกรณี ของนางสาวมาลัย ปลอดโปร่ง พ่อแม่เป็นคนไทยแต่เกิดนอก ประเทศไทย เธอจึงไม่ได้สัญชาติไทย เป็นต้น
ปัญหาความไร้รัฐที่เกิดแก่บุคคลธรรมดา จำแนกออกเป็น 4 ประเภท คือ
1.ปัญหาความไร้รัฐที่เกิดแก่กลุ่มชนพื้นเมือง ชนพื้นเมืองเป็นบุคคลที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมาตั้งแต่ดั้งเดิม  โดยหลักกฎหมายสัญชาติ  บุคคล ดังกล่าวย่อมได้รับสัญชาติไทยโดยการเกิดไม่ว่าจะมีชาติพันธุ์เดียวกันกับชนกลุ่มใหญ่ในประเทศไทยหรือไม่  แต่ในปัจจุบันยังพบว่า มีชนพื้นเมืองในหลายพื้นที่ที่ตกเป็น  “คนไร้รัฐ โดยสาเหตุการขาดเอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลที่ออกโดยรัฐไทย หรือมีเอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลที่บกพร่องมิได้ยอมรับความเป็นไทยโดยสัญชาติ ในหลายพื้นที่ห่างไกลความเจริญหรือห่างไกลจากการจัดการทางระเบียบราษฎรของรัฐไทย
2.ปัญหาความไร้รัฐที่เกิดแก่กลุ่มชาติพันธุ์หรือชนกลุ่มน้อย โดยข้อเท็จจริงกลุ่มชาติพันธุ์ในหลายเผ่าพันธุ์และในหลายพื้นที่เป็น กลุ่มชนพื้นเมือง ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมาแต่ดั้งเดิมซึ่งย่อมมีสัญชาติไทยโดยการเกิด แต่ก็มีจำนวนบุคคลไม่น้อยที่ตกเป็นคนไร้รัฐ ซึ่งแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ กลุ่มชาติพันธุ์ที่มีรากเหง้าจากบรรพบุรุษที่เกิดนอกประเทศไทย และกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีรากเหง้าจากบรรพบุรุษที่เกิดในประเทศไทย อันเนื่องมาจากการขาดเอกสารพิสูจน์ตัวบุคคลหรือมีเอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลที่บกพร่อง ซึ่งอาจเกิดจากหลายสาเหตุ อาทิ การอยู่ในพื้นที่ห่างไกล การไร้ความรู้ความเข้าใจระบบทะเบียนบุคคลของรัฐ เป็นต้น
3.ปัญหาความไร้รัฐที่เกิดแก่กลุ่มผู้อพยพเข้ามาในประเทศไทย กลุ่มชาติพันธุ์ที่มีปัญหาสถานะบุคคลตามกฎหมายมักจะมีบรรพบุรุษในช่วงตอนใดตอนหนึ่งของกาลเวลาเป็นบุคคลที่เกิดนอกประเทศไทย ซึ่งอาจจะเดินทางเข้าประเทศไทยอันเนื่องมาจากการหนีภัยความตาย โดยทั่วไปเราเรียกว่า   ผู้ ลี้ภัยหรือทางรบราชการไทยมักเรียกว่า ผู้ลี้ภัยการสู้รบหรือเหตุผลทางเศรษฐกิจ
4.ปัญหาความไร้รัฐที่เกิดแก่กลุ่มไร้รากเหง้า ซึ่งเป็นบุคคลที่ไม่รู้รากเหง้าของตน กล่าวคือ บุคคลนั้นไม่ทราบว่าตนเป็นบุตรของผู้ใด หรือบุคคลนั้นไม่อาจรู้ว่าตนเกิดที่ใด ปัญหาความไร้รากเหง้ามักปรากฏแก่บุคคลได้ใน 3 สถานการณ์ คือ
1. เด็กจรจัดที่พลัดพรากจากบุพการีตั้งแต่ก่อนจำความได้
2. อดีตเด็กซึ่งเกิดในยุคที่การทะเบียนราษฎรของประเทศไทยยังไม่ชัดเจนหรือในพื้นที่ที่ปฏิบัติการด้านทะเบียนราษฎรยังมีความบกพร่องไม่ทั่วถึง
3. คนที่มักได้รับการกล่าวหาว่าเป็นคนต่างด้าว ทั้งๆที่เจ้าตัวเชื่อว่าตนนั้นเป็นคนไทย
กลุ่มคนไร้รัฐที่น่าเป็นห่วงกลุ่มหนึ่งก็คือ กลุ่มของเด็กและเยาวชน ซึ่งจากการไม่มีสัญชาตินั้นทำให้ไม่สามารถที่จะได้รับการศึกษาตามภาคบังคับของรัฐได้ และซ้ำร้ายบางโรงเรียนก็ปฏิเสธที่จะรับกลุ่มเด็กและเยาวชนเหล่านี้เข้ามาเรียนในสถานศึกษา เพื่อป้องกันปัญหาความยุ่งยากที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งกลุ่มเด็กและเยาวชนเหล่านี้ ควรได้รับการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน
แนวคิดเรื่องสัญชาติและภาวะไร้สัญชาติ
ปัจจุบันจะพบว่าทั่วโลกมีบุคคลที่ต้องตกอยู่ในภาวะคนไร้สัญชาติอยู่เป็นจำนวนมาก และเมื่อบุคคลเหล่านั้นตกอยู่ภาวะดังกล่าวแล้ว ผลที่ตามมาคือ ไม่มีรัฐใดที่จะให้ความคุ้มครองดูแลและในบางกรณีอาจหมายรวมไปถึงไม่มีที่พักพิงอาศัยอีกด้วย สิ่งเหล่านี้ทำให้บุคคลที่ตกอยู่ในภาวะไร้สัญชาติต้องเกิดความยากลำบากในการดำรงชีวิต เพราะเขาเหล่านั้นย่อมตกอยู่ในสถานะเป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย
นอกจากนี้ ปฏิญญาสากลว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชน ข้อ 6 ระบุว่า ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการยอมรับนับถือว่าเป็นบุคคลตามกฎหมายทุกแห่งหนและข้อ 15 ทุกคนมีสิทธิในการถือสัญชาติหนึ่ง บุคคลใดๆจถูกตัดสัญชาติของตนโดยพลการหรือถูกปฏิเสธที่จะเปลี่ยนสัญชาติไม่ได้ และอนุสัญญาประชาชาติว่าด้วยการลดการไร้สัญชาติที่พยายามลดการไร้สัญชาติโดยกำหนดวิธีการแก้ไขการไร้สัญชาติเอาไว้ในรูปของข้อตกลงระหว่างประเทศ หากรัฐใดเข้าร่วมในข้อตกลงดังกล่าวก็จะเป็นต้องดำเนินพันธกรณีที่กำหนดไว้ ซึ่งข้อหนึ่งระบุไว้ว่า รัฐต้องให้สัญชาติแก่บุคคลที่เกิดในดินแดนของตนโดยใช้หลักดินแดน โดยจะให้ตอนเกิดหรือให้ภายหลังการเกิดก็ได้ หากพำนักอยู่ภายในประเทศของตนหรือมีถิ่นที่อยู่สำคัญในรัฐนั้นๆ กล่าวคือ ถือเอาจุดเกาะเกี่ยวในเรื่องการพำนักหรือถิ่นที่อยู่เป็นจุดเกาะเกี่ยวสำคัญ
ในส่วนของประเทศไทยเองก็มีกลุ่มคนที่ต้องตกอยู่ในภาวะไร้สัญชาติเช่นเดียวกัน ซึ่งในปัจจุบันรัฐไทยก็ได้มีความพยายามเพื่อจะดำเนินการในการแก้ปัญหาดังกล่าวเรื่อยมา เพราะปัญหาดังกล่าวถือได้ว่าเป็นปัญหาที่สำคัญและจำเป็นต้องมีการแก้ไขอย่างจริงจังและต่อเนื่อง และเพื่อความเข้าใจในเรื่องนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการทำความเข้าใจในเรื่องแนวคิดเรื่องสัญชาติและภาวะไร้สัญชาติ
สัญชาติ คือ การมีสถานะเป็นสมาชิกของรัฐชาติ ทำให้มีการกำหนดสิทธิหน้าที่ของบุคคลต่อรัฐชาติ ถือเป็นพันธะทางกฎหมายระหว่างบุคคลกับรัฐ พันธะนี้กำหนดให้สมาชิกทุกคนในรัฐมีสิทธิเสมอภาพกัน รัฐบางรัฐถือว่าคนที่มีสัญชาติของรัฐต้องเป็นคนที่มีสายเลือดเดียวกัน เป็นชาติพันธุ์เดียวกัน แต่บางรัฐถือว่าคนจากหลายชาติพันธุ์ที่มารวมอยู่ในรัฐเดียวกันก็มีสัญชาติเดียวกันได้
ในอีกความคิดเห็นหนึ่ง คำว่าสัญชาติเป็นถ้อยคำทางกฎหมายซึ่งหมายถึงความสัมพันธ์ในทางกฎหมายระหว่างปัจเจกชนคนหนึ่งในรัฐๆหนึ่ง ในลักษณะปัจเจกชนตกอยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยในทางบุคคลของรัฐนั้น เป็นนิติสัมพันธ์ระหว่างรัฐและเอกชนที่ก่อให้เกิดสถานภาพ คนชาติแก่บุคคล รวมทั้ง สัญชาติคือ เครื่องมัดบุคคลไว้กับประเทศในทางกฎหมายเป็นเหตุให้บุคคลมีสิทธิและหน้าที่ต่อประเทศที่บุคคลมีสัญชาติ การที่จะให้สัญชาติแก่บุคคลนั้นย่อมจะเป็นไปตามกฎหมายกำหนดไว้
ในส่วนของความหมายของคำว่า ไร้สัญชาตินั้นได้มีนักวิชาการหลายท่านที่ได้กำหนดคำนิยามของคำคำนี้เอาไว้ ซึ่งคำนิยามดังกล่าวก็เป็นไปในแนวทางเดียวกันที่กล่าวว่า คนไร้สัญชาติคือ สภาพของบุคคลที่ไม่มีสัญชาติของรัฐหรือประเทศใดในโลก หรือ ภาวะไร้สัญชาติคือ ภาวะที่บุคคลไม่มีพันธะทางกฎหมายในฐานะสมาชิกของรัฐใดรัฐหนึ่ง เขาจึงอยู่ในสถานะไร้สัญชาติ ภาวะไร้สัญชาติอาจเกิดได้จากการถูกเพิกถอนสัญชาติและไม่มีสัญชาติตั้งแต่แรกเกิด ซึ่งผลของการไร้สัญชาติย่อมทำให้บุคคลนั้นไม่ได้รับการคุ้มครองจากรัฐเจ้าของสัญชาติหรือที่เรียกว่า State Protection แต่บุคคลไร้สัญชาติอาจได้รับการคุ้มครองในฐานะที่เป็นพลเมืองของรัฐใดรัฐหนึ่ง หากรัฐนั้นยอมรับให้สิทธิอาศัยแก่คนไร้สัญชาตินั้นๆ นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการไม่ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ เช่น บริการทางการศึกษา สาธรณสุข จากรัฐนั้นๆด้วย
หากพิจารณาแล้วจะพบว่า คำว่า คนไร้สัญชาติมีความใกล้ชิดกับคำว่า คนไร้รัฐเป็นอย่างมาก ซึ่งในประเด็นดังกล่าวก็ได้มีการอธิบายไว้อย่างชัดเจนว่า คนไร้สัญชาติที่มีรัฐใดรัฐหนึ่งยอมรับที่จะให้สิทธิอาศัยแก่ตน คนไร้สัญชาติในสถานการณ์นี้จึงมีสถานะเป็นคนต่างด้าวในทุกๆรัฐ แต่สามารถอาศัยอยู่ในรัฐที่ยอมรับให้สิทธิอาศัยแก่ตนได้อย่างปกติสุขเหมือนบุคคลที่มีสัญชาติของรัฐใดรัฐหนึ่ง แต่หากคนไร้สัญชาตินั้นๆไม่ได้รับการยอมรับจากรัฐใดรัฐหนึ่งให้มีสิทธิอาศัยอยู่ในรัฐใดรัฐหนึ่งแล้ว คนไร้สัญชาตินั้นนอกจากจะมีสถานะเป็นคนต่างด้าวสำหรับทุกรัฐแล้ว เขายังมีสถานะเป็น คนไร้รัฐอีกด้วย เพราะไม่มีทั้งรัฐเจ้าของสัญชาติและไม่มีรัฐเจ้าของภูมิลำเนา คนไร้สัญชาติในสถานการณ์หลังนี้จะมีสถานะที่ย่ำแย่กว่าคนไร้สัญชาติในสถานการณ์แรกเพราะจะไม่มีรัฐใดรับรู้ถึงการมีตัวตนของเขาในสังคม เพราะนอกจากนี้จะมีสถานะเป็นคนไร้สัญชาติแล้ว ยังต้องตกเป็นบุคคลที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมายรวมไปถึงเป็นคนไร้เอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคล
ในงานศึกษาของพันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร ได้จำแนกประเภทของคนไร้สัญชาติในประเทศไทยตามสิทธิอยู่อาศัย ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในปัจจุบัน โดยจำแนกเป็น 3 ประเภท คือ
1.คนไร้สัญชาติที่มีสิทธิเข้าเมืองและมีสิทธิอาศัยในลักษณะถาวร
2.คนไร้สัญชาติที่มีสิทธิเข้าเมืองและมีสิทธิอาศัยในลักษณะชั่วคราว
3.คนไร้สัญชาติที่มีสิทธิอาศัยในลักษณะชั่วคราว แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้เป็นคนเข้าเมืองตามกฎหมาย
แม้ประเทศจะมีความพยายามในการแก้ปัญหาคนไร้สัญชาติมาอย่างยาวนาน หากแต่ปัญหาคนไร้สัญชาตินั้นถือเป็นปัญหาในระดับระหว่างประเทศ เนื่องจากคนไร้สัญชาติบางส่วนคือกลุ่มคนที่อพยพมาจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว พม่า ฯลฯ ดังนั้น นอกจากการแก้ปัญหาโดยการพัฒนาระบบทะเบียนราษฎรที่ยังมีปัญหาของความไม่สมบูรณ์ของระบบทะเบียนราษฎรแล้ว ที่ยังพบว่า มีการตกหล่นของบุคคลจนทำให้เกิดปัญหาคนไร้รัฐสัญชาติแล้ว การคำนึงถึงการร่วมมือระหว่างประเทศของกลุ่มคนไร้รัฐที่อพยพเข้ามาก็เป็นเรื่องสำคัญที่ควรจะมีการสร้างความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาในระยะยาวต่อไป
 ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ โดยได้กำหนดมาตรฐานและมีตัวชี้วัดหลายประการ เพื่อดูแลและพัฒนาคุณภาพชีวิตของชนกลุ่มต่างๆ ที่ด้อยโอกาส  ซึ่งได้ระบุถึงมาตรฐานขั้นต่ำเกี่ยวกับชีวิตของคนไร้สัญชาติ เป็นแนวทางที่คนไร้สัญชาติจะได้รับการดูแลจากสังคม ที่ถือเป็นสิทธิมนุษยชน อันเป็นสิทธิพื้นฐาน   ดิฉันจะขอยกมาบางส่วน คือ แนวทางข้อกำหนดด้านสิทธิทางสังคมและการคุ้มครองสิทธิของคนไร้สัญชาติ  มีดังนี้
1. คนไร้สัญชาติควรได้รับการส่งเสริมสวัสดิภาพและคุ้มครองพิทักษ์สิทธิเรื่องการคุ้มครองสิทธิ ซึ่งการคุ้มครองสิทธิ ในที่นี้หมายถึง
       1.1 คนไร้สัญชาติที่ไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนราษฎร มีสิทธิอาศัยอย่างน้อยเป็นการชั่วคราวในประเทศไทย
       1.2 คนไร้สัญชาติจะต้องไม่ถูกส่งกลับไปนอกราชอาณาจักรไทย โดยไม่สมัครใจ หรือถูกส่งกลับไปรับความยากลำบาก หรือความตาย
       1.3 ได้รับการคุ้มครองความปลอดภัยจากการทำงาน ไม่ถูกเอาเปรียบเกี่ยวกับการทำงาน
       1.4 ได้รับการปฏิบัติในการเข้าถึงบริการอย่างเท่าเทียมกับบุคคลอื่นในสังคม โดยไม่มีการละเมิดและถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม
       1.5 สามารถเดินทางไปรับบริการการศึกษา การรักษาพยาบาลได้เช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป
                2. คนไร้สัญชาติควรได้รับการส่งเสริมสวัสดิภาพและคุ้มครองพิทักษ์สิทธิเรื่องสถานภาพบุคคลทางกฎหมาย ซึ่งสถานภาพบุคคลทางกฎหมาย ในที่นี้หมายถึง
        2.1 บุคคลที่อพยพเข้ามาในประเทศไทยที่มีเชื้อสายไทย แต่ยังไม่ได้รับการพิจารณาทางสถานะทางกฎหมาย มีโอกาสได้รับการพิจารณาให้สัญชาติไทย
        2.2 บุตรของบุคคลที่มีเชื้อสายไทย ที่เกิดในประเทศไทย ได้รับสัญชาติไทย
        2.3 บุคคลที่มีชื่ออยู่ในระบบการทะเบียนราษฎร ซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศไทยติดต่อกันเป็นเวลานานไม่ต่ำกว่า 10 ปี จนกลมกลืนกับสังคมไทยและไม่สามารถเดินทางกลับประเทศต้นทาง มีโอกาสได้รับการพิจารณาสถานะเป็นบุคคลต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายและมีโอกาสได้รับการพิจารณาให้ได้สัญชาติไทย
        2.4 บุคคลที่เกิดและอาศัยอยู่ในประเทศไทย แต่ยังไม่มีสถานะทางกฎหมาย และศึกษาสำเร็จในสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย ได้รับการพิจารณาได้สัญชาติไทย
        2.5 บุคคลที่เกิดและอาศัยอยู่ในประเทศไทย แต่ยังไม่มีสถานะทางกฎหมาย และยังไม่สำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ได้นำเข้าสู่กระบวนการพิจารณากำหนดสถานะทางกฎหมาย
        2.6 บุคคลที่ขาดบุพการี หรือบุพการีทอดทิ้งตั้งแต่วัยเยาว์ และมีชื่ออยู่ในระบบการทะเบียนของทางราชการ และอาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลาอย่างน้อย 10 ปี จนกลมกลืนกับสังคมไทยและมีคุณสมบัติอื่นๆ ตามหลักเกณฑ์ที่ทางราชการกำหนดได้รับการพิจารณาให้สัญชาติไทย
        2.7 บุคคลที่ขาดบุพการี หรือบุพการีทอดทิ้ง ที่ได้รับสถานะเป็นบุตรบุญธรรมตามคำสั่งของศาล เมื่อผู้รับบุตรบุญธรรมเป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทย ได้รับสัญชาติไทย
        2.8 บุคคลที่มีผลงาน/ความรู้ความเชี่ยวชาญที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาประเทศในด้านการศึกษา ศิลปวัฒนธรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและการกีฬา รวมทั้งด้านอื่นๆ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเห็นสมควรได้รับการพิจารณาให้ได้สัญชาติไทย
        2.9 บุตรของคนไร้สัญชาติที่เกิดในประเทศไทย ได้รับการแจ้งเกิดและได้รับสูติบัตร ซึ่งเป็นเอกสารแสดงการเกิด
จะเห็นได้ว่าคนไร้สัญชาติได้รับการคุ้มครองและสามารถได้รับสัญชาติได้ด้วยสาเหตุหลายกรณี ทั้งนี้และทั้งนั้นเพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิทางสังคมของคนไร้สัญชาติให้ได้รับบริการ สวัสดิการจากรัฐไทย เพราะ แม้ว่าเขาเหล่านั้นจะไร้สัญชาติ แต่หากไม่ได้ไร้ความเป็นมนุษย์ รัฐไทยจึงให้ความคุ้มครองสิทธิที่เข้ามีจากการถือกำเนิดเป็นมนุษย์ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชน
กรณีศึกษา
การจัด การปัญหาความไร้รัฐ ไร้สัญชาติของนายแสงชัย ปันนากุล แห่งจังหวัดเชียงใหม่ โดยรัฐไทย : กรณีศึกษาคนไร้รัฐไร้สัญชาติที่หนีภัยความตายเข้ามาอาศัยในประเทศไทย แต่ยังมิได้กลมกลืนกับรัฐไทย
ในภาคเหนือของประเทศไทย เราพบคนไร้รากเหง้า โดยสิ้นเชิงอย่างมากมาย ในสถานการณ์เดียวกันกับนายแสงชัย ปันนากุล และคนในสถานการณ์นี้ก็ถูกพบในทุกพื้นที่ของประเทศไทยเช่นกัน
เรามักเรียกคนที่ไม่รู้หรือไม่อาจพิสูจน์ได้ว่า ตนเกิดที่ไหน ? หรือบิดามารดาเป็นใคร ? ว่าเป็นคนไร้รากเหง้า ”  ตี๋ก็เป็นคนไร้รากเหง้า เพราะถึงที่มาของตนเอง ไม่ทราบว่า ตนเองเกิดที่ไหน ? เกิดเมื่อไหร่ ? บิดามารดาเป็นใครกัน ? เป็นที่น่าสังเกตว่า บุคคลในสถานการณ์ เช่น ตี๋ นั้น มักมีอดีตเป็นเด็กวัดซึ่งบิดามารดานำมาฝากวัดเลี้ยง และหายไป ปล่อยให้เด็กเติบโตในวัดเด็กวัดจำนวนไม่น้อยที่ไม่มีเอกสารรับรองตัวบุคคลโดยรัฐ จึงถูกกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองถือเป็นคนผิดกฎหมายและอาจถูกส่งกลับออกไปจากประเทศไทย แต่ทุกขเวทนาที่เกิดต่อมา ก็คือ รัฐไทยก็ไม่อาจส่งออกจากประเทศไทยไดhเพราะไม่มีรัฐใดที่มีหน้าที่รับตัวเด็กและเยาวชนดังกล่าวไว้พวกเขาจึงเสมือนถูกต้องขังอยู่ในช่องสูญญากาศระหว่างรัฐไทยและรัฐอื่น ตี๋เป็นคนหนึ่งทีมีชีวิตอยู่ในสูญญากาศทางกฎหมายนี้มาตั้งแต่เกิด ซึ่งเขาคิดว่า น่าจะเป็น พ..2525 จนถึงปัจจุบันซึ่งเป็น พ..2549 ซึ่งนับได้เป็นเวลาเกือบ 24 ปี เต็ม โดดเดี่ยว ไร้บุพการี แม้โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศ รัฐไทยซึ่งเป็นรัฐที่พวกเขาอาศัยอยู่ในความเป็นจริง ย่อมมีหน้าที่จะต้องรับรองความเป็นบุคคลตามกฎหมายของเขา และจะต้องพยายามทำให้เขามีสิทธิในสัญชาติสักสัญชาติหนึ่ง แต่เขาก็ยังไร้รัฐผู้ให้สัญชาติ ไร้รัฐผู้ให้สิทธิอาศัย โดยหลักกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองคนที่ไม่มีเอกสารของรัฐที่พิสูจน์ทราบความเป็นบุคคล ย่อมถูกสันนิษฐานให้เป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมายทั้งนี้จนกว่าจะพิสูจน์เป็นอย่างอื่นได้ และในกรณีของคนไร้รากเหง้าย่อมไม่อาจทราบได้แน่นอนว่า ตนเกิดที่ไหนและมีใครเป็นบิดามารดา ดังนั้น โดยหลักกฎหมายสัญชาติ คนไร้รากเหง้าย่อมเป็นคนไร้สัญชาติทั้งโดยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย การแก้ไขปัญหาความไร้สัญชาติจึงต้องทำโดยการให้สัญชาติเท่านั้น หรือหากยังไม่เห็นควรที่จะให้สัญชาติ การให้เอกสารรับรองสถานะบุคคลและการให้สิทธิอาศัยชั่วคราว ก็น่าจะเป็นมาตรการที่เยียวยาผลกระทบด้านลบในขณะที่ยังไร้สัญชาติ
ตี๋ซึ่งเป็นคนไร้รากเหง้าได้รับการรับรองโดยยุทธศาสตร์เพื่อการจัดสถานะและสิทธิของบุคคลตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม พ..๒๕๔๘ ซึ่งเรียกคนไร้รากเหง้าว่าบุคคลที่ไม่อาจทราบแหล่งที่มากระบวนการแก้ไขปัญหาย่อมจะเริ่มต้นจากการแก้ไขปัญหาความเป็นบุคคลซึ่งไร้เอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลที่ออกโดยรัฐ ทั้งนี้ โดยกลไกของระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการสำรวจและจัดทำทะเบียนสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน พ..2548โดยผลของระเบียบนี้ ตี๋ก็จะมีชื่อในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย ประเภท ทร.38. ตี๋ก็จะมีเลขประจำตัวประชาชนของรัฐไทย และตี๋ก็จะถือบัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนที่ออกโดยรัฐไทยนอกจากนั้น ความเป็นคนไร้รากเหง้ ของตี๋จะทำให้เขานั้นเป็นเป้าหมายของยุทธศาสตร์จัดการสิทธิและสถานะบุคคลฯ ประเภทที่ 2 ซึ่งว่าให้บุคคลที่ขาดบุพการีหรือบุพการีทอดทิ้งตั้งแต่วัยเยาว์ได้รับสัญชาติไทย เมื่อมีชื่ออยู่ในระบบทะเบียนของทางราชการและอาศัยอยู่ใน
ประเทศไทยติดต่อกันอย่างน้อย ๑๐ ปีขึ้นไป ทั้งนี้ บุคคลดังกล่าวต้องมีความประพฤติดี และ/หรือประกอบอาชีพสุจริตสัญชาติไทยที่ตี๋อาจได้รับก็คือ สัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ
ในระหว่างที่รอการได้สัญชาติไทย ยุทธศาสตร์เพื่อจัดการสิทธิและสถานะบุคคลฯ ก็รับรองให้ตี๋มีสิทธิขั้นพื้นฐานที่จำเป็นในส่วนของการรับบริการด้านสาธารณสุข และการเข้ารับการศึกษาโดยไม่มีข้อจำ กัดใดๆ สำ หรับสิทธิในเรื่องอื่นๆ การทำ งาน การเดินทาง ให้ดำเนินการเท่าที่จำเป็นและไม่กระทบต่อสถานภาพในการดำรงชีวิตปัญหาความไร้รัฐและความไร้สัญชาติของตี๋ดูจะหมดไปหากมีการดำ เนินการตามกฎหมายและนโยบายที่กล่าวไว้ในสองย่อหน้าก่อน แต่ความเป็นจริง ก็คือ กฎหมายและนโยบายที่สวยงามและชัดเจนนี้ยังไม่ได้เกิดผลอย่างจริงจังต่อตี๋และเด็กหรือเยาวชนไร้รากเหง้าที่อยู่ในสถานการณ์เดียวกับตี๋ การเริ่มต้นนับหนึ่งจึงต้องเริ่มที่ภาคประชาคมและภาคการเมืองที่เห็นความสำคัญของคนรากหญ้า ที่จะต้องร้องเรียกให้รัฐบาลและภาคราชการเข้าทำหน้าที่ที่พวกเขามีตามกฎหมายและนโยบายต่อเด็กและเยาวชนไร้รากเหง้า
บทสรุป ปัญหาคนไร้สัญชาติ 
                ประเด็นเรื่อง “ความไร้สัญชาติ”  หากให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ สภาพที่บุคคลไม่มีสัญชาติของรัฐ หรือประเทศใดๆ เลยในโลกสังกัด (อ้างจาก www.archanwell.org) หรือ เป็นคนต่างด้าวของทุกประเทศในโลกใบนี้นั้นเอง พูดให้ง่ายๆ อีกทีก็คือไม่มีรัฐสังกัด หรือเป็นคนไร้รัฐ” ซึ่งสำหรับมนุษย์บางกลุ่มพวก ที่มีประวัติศาสตร์การต่อสู้กับรัฐ มีประวัติศาสตร์อันแสนเจ็บปวดจากการถูกรัฐควบคุม บงการ
                ปัญหาคือ รัฐไม่ใช่องค์กรที่ตกลงมาจากฟ้า และเป็นที่ชอบธรรม เป็นเอกฉันท์ ต่อประชาชน และฐานะของความเป็นรัฐไม่ได้กำเนิดขึ้นมาโดยสัญญาประชาคม ตามแนวคิดตะวันตกแต่กำเนิดขึ้นโดยกลุ่มอำนาจ กลุ่มใด กลุ่มหนึ่ง อาจจะอ้างสิทธิการสืบทอดอำนาจตามจารีตประเพณี อาจจะเอาปืนใหญ่ เอากองทัพมาชี้ หรือเอาผู้คนหมู่มากมาอ้างเอาเป็นของในกลุ่มพวกตนเอง หรืออาจจะสมมติตนเองดื้อๆ ก็แล้วแต่จะสถาปนาขึ้น หรือ ฯลฯ แล้วก็อุปโลกเอาดินแดน ขีดเส้น แบ่งกันบนแผนที่ หรือ กำหนดเอาตามตำนาน เป็นต้น นี่คือกำเนิดของปัญหาอีกหนึ่งปัญหา คือไม่ใช่แค่เพียง มาจากการกำเนิดของรัฐชาติ แต่ปัญหามาจากโครงสร้างทางกฎหมาย การบริหาร การดำเนินนโยบายและการใช้กลไกปกครองที่ไม่มีประสิทธิภาพ มาจากการพัฒนาที่เลือกปฏิบัติ มาแต่ต้น นอกจากนั้น ปัญหาเกี่ยวโยงทางประวัติศาสตร์ การศึกษา มาสู่วัฒนธรรม ที่มีคติ กดขี่ และผลักไสคนอื่น กลุ่มอื่น ให้หลุดพ้นไปจากสิทธิควรได้รับอีกด้วย
ข้อเสนอแนะ
1.              ข้อเสนอแนะด้านแนวคิดพื้นฐานในการจัดหารสถานการณ์คนไร้สัญชาติ
1.1การจัดตั้งหน่วยงานทะเบียนคนไร้สัญชาติ
งานเกี่ยวกับการขจัดความไร้สัญชาติเป็นงานที่จำเป็นต้องมีการกำหนด นโยบายและแผนงานและต้องการความเชี่ยวชาญในกฎหมายว่าด้วยสถานะบุคคลซึ่งค่อนข้างจะซับซ้อน ไม่ว่าจะเป็นงานพิสูจน์สัญชาติไทยให้แก่บุคคลที่ได้รับการขึ้นทะเบียน งานพิสูจน์ความไร้สัญชาติให้แก่บุคคลที่ได้รับการขึ้นทะเบียนที่ได้รับการตรวจสอบแล้วว่าไม่มีสัญชาติไทย งานติดตามความคืบหน้าและประเมินผลการให้สถานะบุคคลตามกฎหมายไทยที่เหมาะสมให้แก่คนไร้สัญชาติที่ได้รับการกำหนดสถานะแล้ว และงานกำหนดสถานะบุคคลตามกฎหมายไทยที่เหมาะสมให้แก่คนไร้สัญชาติที่ได้รับการพิสูจน์แล้ว เพื่อให้การดำเนินการดังกล่าวแล้วเสร็จจึงต้องการบุคลากร ต้องการเวลามากและต้องการความต่อเนื่องของงาน ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องกำหนด องค์กรหรือ หน่วยงานเฉพาะขึ้นมารับผิดชอบงานนี้ เพื่อทำหน้าที่เป็น องค์กรเจ้าภาพผลักดันงานไร้สัญชาติให้เสร็จสิ้นตามนโยบายและแผนงาน
1.2การจัดทำฐานข้อมูลอัตลักษณ์ของบุคคลไร้สัญชาติและคนชายขอบ
จากการที่รัฐบาลได้ริเริ่มนโยบายและเร่งทำการจดทะเบียนคนไร้สัญชาติในประเทศไทยเพื่อที่จะได้ทราบจำนวนที่แน่นอนระดับหนึ่งของบุคคลที่ประสบปัญหาไร้สัญชาติ และทราบปัญหาพร้อมทั้งสามารถกำหนดแนวคิดและแนวทางในการแก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสม ดังนั้นเพื่อให้ได้ฐานข้อมูลอัตลักษณ์ของบุคคลไร้สัญชาติ จึงควรมีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการเก็บข้อมูลรายละเอียดของบุคคลและครอบครัว อาทิ การสแกนลายนิ้วมือ การจัดทำข้อมูลอัตลักษณ์บุคคลไร้สัญชาติในระดับชุมชน เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้กระบวนการพิสูจน์ความไร้สัญชาติเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว ป้องกันการสวมประวัติและสิทธิ ลดการทำงานซ้ำซ้อนเมื่อมีการสำรวจสถานะบุคคลใหม่ในการรับจดทะเบียนคนไร้สัญชาติในประเทศไทย
2.ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการจัดการเพื่อรักษาสิทธิมนุษยชนของคนไร้สัญชาติในประเทศไทย
2.1 การออกเอกสารรับรองสถานะบุคคลให้แก่คนไร้สัญชาติไทย
กรณีบุคคลไร้สัญชาติที่เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานานและระหว่างกระบวนการตรวจสอบความเป็นคนไร้สัญชาติของบุคคลที่ร้องขอขึ้นทะเบียนเป็น คนไร้สัญชาติในประเทศไทยรัฐบาลควรออกเอกสารรับรองสถานะบุคคลให้แก่คนไร้สัญชาติเหล่านั้น โดยเอกสารดังกล่าวเป็นเพียงการรับรองความเป็นมนุษย์ของบุคคลดังกล่าวในประเทศไทยเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อให้เขาเหล่านั้นได้เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน ปัจจัย 4 คือ ที่อยู่อาศัย อาหาร เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค เพื่อการดำรงชีวิตและความมั่นคงในชีวิตที่ดีขึ้น
2.2 การให้สิทธิในการประกอบอาชีพแก่คนไร้สัญชาติในแระเทศไทย
การให้สิทธิในการประกอบอาชีพแก่คนไร้สัญชาติในแระเทศไทยหากจะวิเคราะห์ปัญหาในเชิงลบ พบว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องยังมีความเชื่อว่า การปล่อยให้คนไร้สัญชาติประกอบอาชีพแบบไม่มีใบอนุญาต น่าจะมีผลต่อความมั่นคงแห่งชาติมากกว่า ซึ่งจะเห็นได้ว่าเป็นความเข้าใจที่ไม่สอดคล้องต่อความเป็นจริง เนื่องจากประเทศไทยย่อมไม่อาจเก็บภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากบุคคลมิได้แจ้งการประกอบอาชีพต่อรัฐและปัญหาการแย่งอาชีพคนสัญชาติไทยก็เกิดในความเป็นจริง โดยที่ภาคราชการไม่อาจถึงปัญหาได้เลย
อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ คนไร้สัญชาติที่มีสิทธิอาศัยในประเทศไทยประสบปัญหาในการประกอบอาชีพ ทั้งที่มีกฎหมายให้สิทธิแล้ว ก็เพราะยังม่ายมีประกาศกำหนดอนุญาตให้บุคคลดังกล่าวทำงานใน งานสายที่ตนจบการศึกษามาจึงจำเป็นจะต้องเร่งแก้ปัญหานี้ เนื่องจากปัจจุบันนโยบายในด้านการศึกษาได้ให้โอกาสสำหรับคนไร้สัญชาติได้มีโอกาสในการศึกษามากขึ้น แต่ผลกระทบทางข้อเท็จจริงต่อสังคมไทยก็คือ (1) บุคคลดังกล่าวจึงไม่อาจหารงานทำได้ตามวุฒิการศึกษา เนื่องจากนายจ้างไม่กล้าจะรับเข้าทำงาน (2) หากนายจ้างรับเข้าทำงาน ทั้งนายจ้างและลูกจ้างก็ตกเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าว (3) คนไร้สัญชาติที่เป็นลูกจ้างย่อมเสียสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานในลักษณะเดียวกับลูกจ้างในระบบ (4) ประเทศไทยเสียผลประโยชน์ที่จะใช้ทรัพยากรบุคคลที่ผลิตในระบบการศึกษาไทยในการพัฒนาประเทศไทย ดังนั้น การให้สิทธิในการประกอบอาชีพแก่คนไร้สัญชาติในประเทศไทย จึงเป็นความจริง การปฏิเสธที่จะยอมรับสิทธิในการทำงานของคนไร้สัญชาติที่จบการศึกษาในระบบการศึกษาไทยน่าจะเป็นภัยต่อความมั่นคงทั้งทางสังคมและเศรษฐกิจของประเทศไทย
นอกจากนี้รัฐบาลควรมีนโยบายพัฒนาฝีมือและทักษะคนไร้สัญชาติเพื่อเป็นแรงงานที่มีคุณภาพ โดยคนไร้สัญชาติที่เกิดในประเทศไทยและจบการศึกษาในระบบของไทยควรจะได้รับการพัฒนาทักษะให้เป็นแรงงานที่มีคุณภาพเพื่อส่งแรงงานเหล่านี้เข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมและเป็นการป้องกันการนำเข้าแรงงานต่างด้าวที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน
2.3 การจัดการบริหารแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ
คนไร้สัญชาติกับแรงงานต่างด้าวเป็นบุคคลเดียวกันเขาเข้ามาอาศัยอยู่บริเวณชายแดนด้วยเหตุผลวิกฤติทางสงคราม ด้วยวิกฤติทางเศรษฐกิจที่เขาจำเป็นต้องแสวงหาที่อยู่ที่ดีกว่า เพื่อความอยู่รอดของชีวิต ซึ่งถ้าพวกเขาอยู่เฉยๆในบริเวณชายแดน คนพวกนี้ก็จะถูกมองว่าเป็นคนไร้สัญชาติ แต่ถ้าเมื่อใดคนเหล่านี้เข้ามาทำงานในเมืองก็จะกลายเป็นแรงงานต่างด้าวทันที ด้วยจุดอ่อนด้านกฎหมาย โดยเฉพาะนโยบายเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าวที่มีส่วนเกี่ยวข้องในหลายประเด็น ได้แก่ ความมั่นคงของประเทศ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงในมนุษย์ ดังนั้น เพื่อให้เกิดความสมดุลในการบริหารแรงงานต่างด้าวควรมีการกำหนดนโยบายเป็นภาพรวม โดยมองภาพรวมใหญ่ความมั่นคงของประเทศเป็นลำดับหนึ่ง อันดับที่สองคือ ความมั่นคงของทางเศรษฐกิจที่จะทำให้ประเทศอยู่ได้ อันดับที่สามคือ ความมั่นคงของมนุษย์ จะเห็นได้ว่าความมั่นคงของทั้งสามส่วนไม่สามารถแยกกันได้เลย ดังนั้น ควรจะได้มีการจัดการบริหารแรงงานต่างด้าวเบ็ดเสร็จในระดับพื้นที่ โดยเริ่มในท้องถิ่น อบต. เทศบาล ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน เป็นหน่วยงานรวบรวมข้อมูลในการขึ้นทะเบียน แล้วส่งต่อให้หน่วยงานปกครองเพื่อประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อทำให้เกิดการบริหารการจัดการแบบเบ็ดเสร็จในพื้นที่
3.ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการสร้างความเข้าใจในแนวคิดและวิธีการในการกำหนดสถานะบุคคลที่ชอบด้วยกฎหมายไทยแก่คนไร้สัญชาติ
ข้อเสนอแนะการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดและวิธีการให้สัญชาติไทยแก่ผู้นำชุมชน สมาชิกในชุมชน และคนไร้สัญชาติ ทั้งนี้เพื่อสร้างความเข้าใจและลดอคติต่อการให้สัญชาติแก่คนไร้สัญชาติที่มักถูกมองว่าคนเหล่านี้เป็นภัยต่อความมั่นคงและเป็นภาระของสังคม เนื่องจากปัจจุบันความเข้าใจในกระบวนการให้สัญชาติยังมีช่องว่างของความเข้าใจต่อคนทั่วไป นอกจากนี้รัฐบาลควรสร้างความเข้าใจว่าคนไร้สัญชาติประเภทใดที่จะได้รับการพิจารณาให้สัญชาติ อาทิ คนไร้สัญชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมาเป็นระยะเวลานานๆ จนเกิดความกลมกลืนทางสังคมและวัฒนธรรมกับประเทศไทย คนไร้สัญชาติที่แม้เพิ่งเข้ามาในประเทศไทย แต่มีเชื้อชาติไทย คนไร้สัญชาติที่แม้เพิ่งเข้ามาในประเทศไทยได้ทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศไทย และคนไร้สัญชาติที่บิดามารดาหรือคู่สมรสเป็นคนสัญชาติไทยหรือเป็นคนต่างด้าวที่มีสิทธิอาศัยในลักษณะถาวรในประเทศไทย เป็นต้น โดยข้อเท็จจริง จะเห็นว่ากระบวนการให้สัญชาติไทยแก่ชนกลุ่มน้อยที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยและไม่อาจส่งกลับไปยังประเทศต้นทางนั้น มีมาโดยตลอดแต่ปัญหาก็คือ ความล่าช้าจนเกินสมควร อันนำไปสู่สถานการณ์ที่เอื้อต่อการทุจริตในวงราชการ และการละเมิดสิทธิมนุษยชนของบุคคลที่ตกอยู่ในปัญหาความไร้รัฐสัญชาติ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น