วันศุกร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2556

ปัญหาเด็กถูกทอดทิ้งและเด็กเร่ร่อน นางสาวสุรัสวดี มนัสตรง 53242797



บทความเชิงวิชาการ
เรื่อง ปัญหาเด็กถูกทอดทิ้งและเด็กเร่ร่อน

               ปัญหาสังคม คือความเสียระเบียบของความสัมพันธ์ทางสังคมหรือองค์กรทางสังคม ปัญหาสังคมจะเป็นอะไรก็ได้ที่มากระทบทางลบกับความสัมพันธ์ทางสังคม เช่น ปัญหาเด็กถูกทอดทิ้ง ก็เป็นหนึ่งในปัญหาสังคม ในปัจจุบันเราจะเห็นได้ว่ามีปัญหาเกิดขึ้นมากมายในสังคมไทย การเจริญเติบโตของเด็กและเยาวชนต้องอาศัยระบบชีวิตและครอบครัวเป็นพื้นฐาน เปรียบเสมือนต้นไม้ที่ต้องอาศัยดินที่อุดมสมบูรณ์ มีผู้คอยรดน้ำพรวนดิน จึงจะสามารถเจริญเติบโตได้อย่างสมบูรณ์ แต่ในขณะเดียวกัน เด็กและเยาวชนจำนวนไม่น้อย ที่ประสบปัญหานานาประการไม่ว่าจะเป็นเด็กกำพร้า ถูกทอดทิ้ง เร่ร่อน อนาถา ไร้ที่พึ่ง ครอบครัวยากจน ขาดแคลน ประพฤติตนไม่เหมาะสมกับวัยหรือบิดา มารดา ผู้ปกครอง ให้การอุปการะเลี้ยงดูไม่เหมาะสม เด็กเหล่านี้เปรียบเสมือนต้นไม้ที่อ่อนแอ จำเป็นต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ เพื่อให้กลับกลายเป็นต้นไม้ที่เจริญเติบโตงอกงามขึ้นมาได้  ความเจริญด้านวัตถุเข้ามามีผลต่อค่านิยมของคนในสังคม จนอาจจะลืมนึกถึง สิ่งหนึ่งที่สำคัญนั้นคือ การแสดงออกถึงความเอื้ออาทรต่อกันในสังคม ทุกคนต่างเร่งรีบที่จะแสวงหาความสะดวกสบาย สร้างฐานะและความเป็นอยู่ที่ดีให้กับชีวิต และครอบครัวของตนในด้านกายภาพ จนละเลยที่จะให้ความสำคัญด้านจิตใจ จนทำให้อาจจะทอดทิ้งใครบางคนในครอบครัวจนทำให้เกิดปัญหาอย่างเงียบๆซึ่งนำไปสู่ ปัญหาการทอดทิ้งกันและกันในสังคม หนึ่งในปัญหานั้นก็คือ เด็กถูกทอดทิ้ง  เด็กเร่ร่อนปัญหาเด็กถูกทอดทิ้งและเด็กเร่ร่อนที่ขาดการดูแลจึงเป็นสิ่งที่ควรแก้ไขเนื่องจากเด็กไทยขาดการศึกษา ขาดการอบรมด้านศีลธรรม ขาดความอบอุ่นในอนาคตต่อไปเด็กไทยก็จะเป็นผู้ใหญ่ที่ขาดความรู้ไม่สามารถประกอบอาชีพหาเลี้ยงครอบครัวได้หากประเทศชาติขาดประชากรที่มีการศึกษาและขาดประชากรที่มีคุณธรรมประเทศชาติเราก็ไม่สามารถที่จะพัฒนาเทียบเท่ากับประเทศอื่นๆได้จะเห็นได้ว่าประเทศที่พัฒนาแล้วนั้นมีประชากรที่มีการศึกษาที่ดีเป็นจำนวนมากโดยการศึกษาจะเริ่มต้นจากครอบครัวเป็นหลักเราจะพบว่าครอบครัวที่มีความอบอุ่นและพ่อแม่ให้ความเอาใจใส่แก่ลูกก็จะทำให้ลูกเป็นเยาวชนที่ดีต่อประเทศชาติในอนาคต
                      วิถีชีวิตคนในสังคมไทยปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จากสังคม เกษตรกรรมเป็นหลัก วิถีชีวิตของคนในครอบครัวไทยจึงแปรเปลี่ยนตามไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งจากเดิมในอดีต ครอบครัวไทยเรียนรู้ที่จะดำเนินชีวิตในแบบเกษตรกรรม และสมาชิกทุกคนในครอบครัวเป็นผู้ออกแรงร่วมกันในการเพาะปลูก พ่อแม่ตายายเป็นผู้มีประสบการณ์มาก จึงถ่ายทอดประสบการณ์ต่าง ๆ ไปสู่ลูกหลาน ดังนั้นวิถีชีวิตของสมาชิกในครอบครัวจึงมีการพึ่งพาและสอดประสานกันอย่างเป็นระบบ แต่ปัจจุบันวิถีชีวิตของผู้คนในครอบครัวแปรเปลี่ยนไปสู่สังคมอุตสาหกรรม คนรุ่นใหม่ต้องออกไปสู่ตลาดแรงงานภายนอก เรียนรู้และรับเทคโนโลยีมาจากต่างประเทศ ทิ้งให้พ่อแม่คนแก่เฒ่าอยู่ในสังคมเดิม สมาชิกรุ่นใหม่ไม่เห็นคุณค่าของคนรุ่นเก่า ขาดความเคารพภูมิปัญญา เนื่องจากพวกเขาเหล่านั้นไม่ใช่เป็นผู้ถ่ายทอดประสบการณ์อีกต่อไป สังคมเกษตรกรรมแต่เดิมถูกปล่อยทิ้งไว้โดยขาดคนเหลียวแล ดังนั้นครอบครัวในสังคมไทยปัจจุบันจึงประกอบด้วยคนสองยุคสมัย หรือบางครอบครัวมีเพียงคนรุ่นใหม่เท่านั้น และสมาชิกของครอบครัวได้กระจายออกไปตามแหล่งจ้างงาน โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ของประเทศ สังคมไทยซึ่งแต่เดิมเป็นสังคมชนบท มีความเอื้ออาทรต่อกันมีแนวโน้มเป็นสังคมเมืองมากขึ้น โครงสร้างและรูปแบบของครอบครัวซึ่งเคยเป็นครอบครัวขนาดใหญ่กลายเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น ขนาดของครอบครัวเริ่มเล็กลง ครอบครัวไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างเหมาะสม สถาบันครอบครัวซึ่งเคยเป็นทุนทางสังคม มีระบบเครือญาติที่มีความผูกพันอย่างใกล้ชิด มีความเกื้อกูล เอื้ออาทร และการอบรม ขัดเกลาบุตรหลาน การปลูกฝังวัฒนธรรมและค่านิยมประเพณี กลับอ่อนแอลง ซึ่งมีผลต่อปฏิสัมพันธ์ทั้งภายในและภายนอกครอบครัวทั้งทางลบและทางบวก อันเนื่องมาจากปัญหาวิกฤติที่ครอบครัวเผชิญอยู่
                การพัฒนาสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมามีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคมชนบทซึ่งบางแห่งได้เปลี่ยนแปลงเป็นสังคมเมืองและขณะเดียวกันก็เกิดปัญหาความแออัดในสังคมเมืองมากขึ้นทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวิถีการดำรงชีวิตโดยมีแนวโน้มไปในทางวัตถุนิยมและพึ่งพาสิ่งอำนวยความสะดวกมากขึ้น ครอบครัวเป็นครอบครัวเดี่ยวและมีขนาดเล็กลง ครอบครัวเป็นพื้นฐานแห่งการถ่ายทอดความสัมพันธ์ที่ดีหรือไม่ดี ในความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่าง พ่อ แม่ ลูก หรือพี่น้องจะเต็มไปด้วยความห่วงใย ความสนิทสนมเอื้ออาทร ความผูกพันด้วยความรักและความเข้าใจ แต่ปัจจุบันความผูกพันสนิทสนมด้วยความรักความห่วงใยของครอบครัวเริ่มเหือดหายและค่อย ๆ เจือจางลง ต่างคนต่างทำงานนอกบ้าน เรียนหนังสือนอกบ้าน คนในบ้านเริ่มใช้เวลาในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกันน้อยลง ความใกล้ชิดสนิทสนมระหว่างกันลดลงสภาพปัจจุบันคนในครอบครัวเริ่มเอาตนเองเป็นศูนย์กลางในความสัมพันธ์ และไม่ได้เห็นคุณค่าของความเป็นครอบครัวเท่าที่ควรจะเป็น ก่อให้เกิดความห่างเหินและไม่มีความอดทนต่อกัน สมาชิกแต่ละคนมุ่งแสวงหาวัตถุที่ตนเองปรารถนาและพอใจ และเมื่อวัตถุสำคัญกว่าจิตใจแล้วก็เป็นเหตุให้เกิดปัญหาครอบครัวตามมาซึ่งก็คือปัญหาเด็กถูกทอดทิ้ง
            สาเหตุที่เด็กถูกทอดทิ้งในสังคม เป็นเพราะพ่อแม่ของเด็กขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องของการมีบุตร และสาเหตุนี้ถือได้ว่าเป็นปัจจัยหลักในการที่เด็กถูกทอดทิ้ง ซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดจากพ่อแม่ที่เป็นวัยรุ่น วัยเรียนเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะนักศึกษาที่ยังเรียนไม่จบ ไม่พร้อม ยังไม่มีวุฒิภาวะทางการศึกษาและมักจะเข้าใจว่า เมื่อมีลูกแล้วจะสามารถเลี้ยงและประคับประคองการดูแลลูกได้ตลอดรอดฝั่ง แต่ในความเป็นจริงแล้วยังไม่สามารถกระทำได้เนื่องจากปัจจัยหลายๆอย่างยังขาดความพร้อม เช่น ความรู้ความเข้าใจในการมีครอบครัว ฐานะทางการเงิน ยังต้องศึกษาต่อ  ซึ่งทำให้ปัญหาเด็กถูกทอดทิ้งนี้เกิดขึ้นอยู่เสมอในสังคมปัญหาเด็กถูกทอดทิ้งส่วนใหญ่ยังมาจากปัญหาครอบครัว การปล่อยปละละเลยหรือทอดทิ้งครอบครัวโดยไม่รับผิดชอบ เช่น การจากครอบครัวไปทำงานที่อื่นของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในระยะเวลาที่ยาวนาน หรือจากไปโดยไม่กลับมาอยู่ร่วมกัน พบว่า ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในครอบครัวที่มีฐานะยากจนหรือรายได้น้อย ความจำเป็นทางด้านเศรษฐกิจจึงผลักดันให้สามีหรือภรรยาจากไปหางานทำ และพบว่าส่วนใหญ่ มักเป็นฝ่ายชายที่ละทิ้งไปก่อน และมักเกิดขึ้นในช่วงแรก ๆ ของการสมรสหรือการใช้ชีวิตคู่ แบบแผนการอบรมเลี้ยงดูบุตรของครอบครัวที่มีพ่อหรือแม่เลี้ยงลูกคนเดียวมีการเปลี่ยนแปลงไป หรือไม่ว่าจะเป็นการหย่าร้างของพ่อแม่ การใช้ความรุนแรง การทะเลาะกัน การแต่งงานใหม่ของพ่อแม่ เป็นต้น ปัญหาต่างๆเหล่านี้ ต่างสร้างความกดดันให้เด็ก ดึงความสนใจของพ่อแม่ไปจากตัวเด็ก ทำให้เด็กขาดความรักความอบอุ่นเด็กจึงต้องออกมาเร่ร่อน เพื่อให้พ้นจากสภาพความอึดอัดดังกล่าว จึงต้องยอมรับว่าปัญหาครอบครัวเป็นปัญหาที่ทำให้เด็กออกมาเร่ร่อน และจากสถิติการหย่าร้างที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆซึ่งเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ ที่ทำให้มีการทอดทิ้งเด็ก เนื่องจากการหย่าร้างทำให้ต้องเลี้ยงดูลูกเพียงคนเดียว พ่อหรือแม่ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน เพื่อนำมาใช้จ่ายในบ้าน เงินที่ได้มาอาจจะไม่พอ ความยากลำบากของผู้หญิงในตลาดแรงงานและความไม่เสมอภาคทางเพศ จากการที่แม่ต้องเลี้ยงลูกตามลำพังต้องมีความยากลำบากทางเศรษฐกิจ เนื่องจากผู้หญิงบางรายไม่เคยประกอบอาชีพหารายได้มาก่อน ขณะที่บางรายมีงานทำแล้วแต่รายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย และผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะหารายได้ได้น้อยกว่าผู้ชาย หรืออาจมีโอกาสเข้าทำงานที่ไม่มั่นคง เช่น ทำงานในตำแหน่งงานชั่วคราว ทำให้ไม่สามารถทำงานที่มีรายได้ดี มีความมั่นคง และมีสวัสดิภาพที่ดี  การทำบทบาทควบคู่กันของการเป็นทั้งพ่อหรือแม่ในเวลาเดียวกัน การรับบทบาทในการดูแลลูกเพียงคนเดียวทำให้แม่ต้องรับภาระหนัก ทั้งต้องดูแลลูกและทำงานภายในบ้าน ขณะเดียวกันก็ต้องทำงานนอกบ้านเพื่อหารายได้มาจุนเจือครอบครัวด้วย ผู้หญิงส่วนใหญ่ที่มีรายได้น้อยมักมีการศึกษาต่ำและขาดทักษะอาชีพที่สร้างรายได้ที่สม่ำเสมอและมีความมั่นคง ชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานก็อาจเป็นอุปสรรคต่อการดูแลลูก จึงอาจจะต้องจ่ายค่าจ้างในการดูแลลูกแทน ซึ่งภาระดังเช่นที่กล่าวนี้ยังขาดการจัดสวัสดิการให้ความช่วยเหลือ ซึ่งอาจทำให้ไม่สามารถเลี้ยงลูกได้เต็มที่และดีเท่าที่ควร เช่น เลี้ยงไม่ไหวเพราะไม่มีเงินพอที่จะส่งเสีย  สภาพเศรษฐกิจของเด็กในครอบครัวพ่อหรือแม่คนเดียว ครอบครัวที่มีการแตกแยกหย่าร้างจะต้องเผชิญกับปัญหาทางเศรษฐกิจค่อนข้างมาก จึงอาจส่งผลให้เด็กมีข้อจำกัด เช่น ขาดเงินค่าเล่าเรียนและอุปกรณ์การเรียน ขาดทุนสำหรับอาหารกลางวัน ความด้อยเหล่านี้อาจทำให้เด็กรู้สึกแตกต่างจากเพื่อน จนส่งผลกระทบตามมา เช่น ขาดสารอาหาร การให้ความช่วยเหลือจากอดีตคู่สมรสไม่เพียงพอและขาดหน่วยงานที่จัดสวัสดิการให้ความช่วยเหลือ ข้อจำกัดการให้ความช่วยเหลือแม่ที่เลี้ยงลูกเพียงคนเดียวมีค่อนข้างมาก โดยเฉพาะ การช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูบุตรจากอดีตสามี จึงทำให้ไม่มีเวลาดูลูกของตน เกี่ยงกันรับผิดชอบในตัวลูก ปัญหาความยากจนในสังคมได้มีผลกระทบทำให้เกิดการทอดทิ้งเด็กเช่นกัน การแข่งขันกันประกอบอาชีพ  จากการที่เด็กเป็นวัยที่ต้องการการดูแล การคุ้มครอง และมีการพึ่งพิง เด็กจึงได้รับผลจากการเลี้ยงลูกเพียงคนเดียวของแม่ โดยมีความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาด้านต่าง ๆ ได้แก่ เด็กอาจได้รับรู้สภาพความขัดแย้งระหว่างพ่อแม่ และการหย่าร้างของพ่อแม่ และอาจรวมถึงการใช้ความรุนแรงต่อกัน การปฏิบัติตามบทบาทของแม่เพียงคนเดียวอาจขาดคุณภาพ จากการที่แม่เกิดความเครียด ทำให้เด็กขาดการเลี้ยงดูอย่างมีคุณภาพ ทำให้เด็กมีความประพฤติที่ไม่เหมาะสมหรือการกระทำผิดของเด็กที่อยู่ในครอบครัวพ่อหรือแม่คนเดียว เด็กที่ต้องเผชิญสถานการณ์ปัญหาครอบครัวแตกแยกอาจมีพฤติกรรมเบี่ยงเบนไปจากปกติได้ง่าย เช่น บางรายอาจมีพฤติกรรมก้าวร้าว ดื้อ ไม่เคารพและต่อต้านพ่อแม่ ขณะเดียวกันก็กลัวการถูกลงโทษและทอดทิ้ง จนบางรายมีอาการป่วยทางจิต ติดสารเสพติด รวมทั้งมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร นอกจากนี้ การแตกสลายของครอบครัวยังมีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ที่อาจไม่สะดวกสบายเช่นเดิม เพราะรายได้ของครอบครัวลดลง และภาวะความตึงเครียดของแม่อาจมีผลด้านจิตใจจนทำให้การปฏิสัมพันธ์ระหว่างแม่ลูกเปลี่ยนแปลงไป ทำให้พ่อแม่ไม่มีเวลาให้กับเด็กและเยาวชนในครอบครัว เด็กและเยาวชนจึงมีความรู้สึกขาดความอบอุ่น ขาดที่ปรึกษาพูดคุย หันไปรวมกลุ่มกันเพิ่มมากขึ้น แต่ อยู่ในรูปแบบของการเร่ร่อนแอบแฝงมากยิ่งขึ้น เช่น ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจถึงขั้นล้มละลายทำให้ไม่สามารถเลี้ยงดูลูกได้ อีกปัญหาหนึ่งคือ การตั้งครรภ์โดยไม่พึ่งประสงค์ เช่น ผู้หญิงที่ถูกข่มขืน จึงไม่ต้องการเลี้ยงเด็กและไม่สามารถเลี้ยงดูเด็กได้และเพราะอายคนในสังคม โดยไม่ได้คำนึงถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมาจากการทอดทิ้ง หรืออีกปัญหาหนึ่งคือ เด็กที่มีความบกพร่องหรือพิการ และนี้ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กไม่เป็นที่ต้องการของครอบครัวและถูกทอดทิ้ง พ่อ-แม่ บางรายเมื่อเห็นว่าเด็กมีความบกพร่องหรือพิการก็จะไม่อยากเลี้ยงไม่อยากดูแลเด็กเหล่านี้ เพราะคิดว่าต้องเป็นภาระให้กับตนเองไปตลอด หรืออาจเพราะเด็กที่มีความบกพร่องหรือพิการมีความจำเป็นในการที่ต้องใช้จ่ายในการดูแลเยอะกว่าเด็กปกติ เช่น ค่าดูแลรักษาพยาบาล ค่าอุปกรณ์ต่างๆ เด็กที่มีความผิดปกติหรือบกพร่องทางสติปัญญา มีพัฒนาการช้าจะยุติการเร่ร่อนยาก เช่นเดียวกับ เด็กที่ก้าวร้าว เกเร โวยวาย จะยุติการเร่ร่อนยากเช่นกัน และเด็กมักจะกลับไปเร่ร่อนอีกเป็นครั้งคราว เด็กเร่ร่อนเหล่านี้ส่วนใหญ่ยังชีพอยู่ได้ด้วยการขอทาน การขายของ เก็บของเก่าขาย และการขายบริการทางเพศ เด็กเร่ร่อนส่วนใหญ่มักเสพยาเสพติด  ส่วนใหญ่มีฐานะยากจน ความยากจนของครอบครัวส่งผลให้เด็กไม่ได้รับสวัสดิการตามที่ต้องการอย่าง เพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอาหารการกิน การศึกษา สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ รวมทั้งการดูแลเอาใจใส่จากพ่อแม่ จากกการศึกษาพบว่า มีปัญหาหนึ่งนั้นก็คือ ปัญหาจากโรงเรียนเป็นตัวผลักดันให้ออกมาเร่ร่อนด้วย โดยเด็กกล่าวว่า บางครั้งถูกครูลงโทษโดยไม่มีเหตุผล ถูกทำให้ได้รับความอับอายที่โรงเรียน ถูกประณามว่าเป็นเด็กไม่ดี เป็นคนเลว ทำให้เด็กต้องการเป็นคนเลวไปจริงๆ ไม่สมควรที่จะเรียนหนังสือ หรืออยู่บ้านอีกต่อไป จึงเป็นเหตุให้เด็กหนีออกมาเร่ร่อน ทำให้เด็กต้องดิ้นรนแสวงหาสิ่งที่ตนต้องการด้วยตนเอง โดยทางเลือกคือ การออกจากบ้านมาเร่ร่อน เพื่อทำอาชีพเลี้ยงตัวเอง และในบางรายพ่อแม่ของเด็กเอง คือ ผู้ที่ส่งให้เด็กออกมาประกอบอาชีพเพื่อนำรายได้ไปเลี้ยงครอบครัว ซึ่งนั่นเองคือ จุดเริ่มต้นให้เด็กออกมาเร่ร่อนเด็กที่ถูกทอดทิ้งเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระในครอบครัวจึงต้องออกทำงาน นำมาซึ่งปัญหาการใช้แรงงานเด็กอย่างไม่เป็นธรรมและผิดกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ถูกละเมิดสิทธิและทำทารุณ ปัญหาเด็กถูกละเมิดสิทธิ เด็กถูกทารุณ ถูกทำร้ายทางร่างกายและจิตใจ เด็กถูกละเมิดทางเพศ ซึ่งพบว่าเด็กที่ถูกกระทำจะมีอายุน้อยลง การละเมิดบ่อยครั้งและรุนแรงมากขึ้น ปัญหาแรงงานเด็กพบว่าปัจจุบันมีเด็กถูกใช้แรงงาน ปัญหาโสเภณีเด็กซึ่งเกิดขึ้นได้ทั้งหญิงและชายจากการสำรวจข้อมูลผู้ให้บริการทางเพศทั่วประเทศพบว่ามีแนวโน้มว่าเด็กผู้ชายจะขายบริการทางเพศเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังเกิดกระบวนการล่อลวงและค้าเด็กเพื่อค้าประเวณีที่มีรูปแบบซับซ้อนมากขึ้น หรือเด็กขายบริการทางเพศด้วยความสมัครใจมีอายุน้อยลง เด็กไม่สามารถเข้าถึงบริการของรัฐและสิทธิที่ควรจะได้รับ โดยเริ่มตั้งแต่คลอด เมื่อพ่อแม่ของเด็กพาเด็กมาให้ตายายหรือญาติใกล้ชิดเลี้ยงดูที่ต่างจังหวัด ปัญหาที่เราพบเสมอคือเด็กไม่มีหลักฐานการเกิด เนื่องจากแม่เด็กไม่ได้มีเอกสารไว้ให้หรือบางคนไม่ได้แจ้งเกิดให้กับลูกของตัวเอง ทำให้เด็กหลายคนไม่สามารถเข้าถึงบริการของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการรักษาพยาบาล หรือการศึกษา ปัญหาต่อมาจะเกิดขึ้นกับเด็กในช่วงวัยก่อนเรียน เด็กจำนวนมากยังอยู่ในภาวะทุพโภชนาการ เนื่องจากคนที่เลี้ยงดูเด็กยังขาดความรู้ในการเลี้ยงดูเด็กและความยากจนทำให้ไม่มีเงินที่จะซื้อนมให้เด็ก บางครั้งต้องกินน้ำข้าวแทนนม เด็กจึงขาดสารอาหารที่ต้องการไปหลายอย่าง ทำให้เด็กหลายคนมีพัฒนาการล่าช้ากว่าวัย เป็นโรคแทรกซ้อนต่างๆ รวมทั้งมีผลต่อระดับสติปัญญาและพิการได้ และผลกระทบที่สำคัญที่สุดคือ เด็กจะเกิดปัญหาการไม่เห็นคุณค่าของตัวเอง ติดยาเสพติด การติดโรคร้ายแรง และพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสม มีครอบครัวตั้งแต่อายุยังน้อย ซึ่งยังไม่มีความพร้อมด้านวุฒิภาวะทางอารมณ์ และ ความสามารถในการเลี้ยงดูลูก การทำแท้ง การทอดทิ้งเด็ก อีกทั้งการใช้ความรุนแรงในครอบครัวตามมา กลายเป็นวงจรของปัญหาที่ไม่สิ้นสุด ปัญหาเด็กถูกทอดทิ้งยังจะสร้างภาระให้สังคมที่จะต้องดูแล โดยเฉพาะหน่วยที่เข้ามามีบทบาทการรับดูแลเด็กที่ถูกทอดทิ้ง เด็กจะไม่สามารถได้รับความอบอุ่นเท่าที่ควร เด็กและเยาวชนทำผิดสูงขึ้น เด็กหรือเยาวชนที่อยู่ในสถานพินิจ ล้วนทำผิดฐานลักทรัพย์  ทำร้ายร่างกาย ข่มขืนกระทำชำเรา และยาเสพติด สังคมเกิดความไม่เป็นระเบียบจากปัญหาที่เกิดขึ้นหากไม่มีการดูแลและแก้ไข
        เด็กเร่ร่อน เป็นเด็กที่ถูกผลกระทบจากระบบครอบครัวที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด ระบบครอบครัวที่สมาชิกไม่เกิดการสอดประสานในวิถีการดำเนินชีวิตอย่างเป็นระบบเหมือนแต่ในอดีต ปัญหาในครอบครัวที่มีผลผลักดันให้เด็กในครอบครัวออกมาใช้ชีวิตเร่ร่อนในเขตเมือง คือครอบครัวที่พ่อแม่ทะเลาะเบาะแว้งกันบ่อย ๆ ครอบครัวที่พ่อแม่หย่าร้างกัน แล้วทิ้งเด็กให้เป็นภาระของญาติพี่น้อง ครอบครัวที่พ่อแม่หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียชีวิตลงกระทันหัน เป็นต้น สำหรับเด็กเร่ร่อนในประเทศไทยนั้นพบว่ากรุงเทพมหานครมีจำนวนเด็กเร่ร่อนมากที่สุด โดยเด็กเร่ร่อนเหล่านี้อาศัยอยู่ตามที่สาธารณะต่างๆ สาเหตุที่ทำให้เด็กเหล่านี้ออกมาเร่ร่อน ได้แก่ ปัญหาครอบครัว สภาพครอบครัวแตกแยก พ่อแม่หย่าร้างหรือทะเลาะกันเป็นประจำ พ่อแม่ถึงแก่กรรม กลายเป็นเด็กกำพร้าและมีปมด้อย หรือพ่อแม่แต่งงานใหม่ เด็กมีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีต่อพ่อเลี้ยงแม่เลี้ยง ทำให้เบื่อหน่ายบ้านที่อยู่ ปัญหาจากโรงเรียน เด็กเร่ร่อนส่วนใหญ่ไม่ได้รับการศึกษาหรือจบการศึกษาเพียงระดับชั้น ป.1 ถึง ป.4 ไม่ได้เข้าเรียนหนังสือหรือเรียนไม่จบการศึกษาภาคบังคับ ทำให้เด็กที่กลายเป็นเด็กเร่ร่อนนั้นไม่ได้รับการศึกษาอย่างดีเท่าที่ควร เนื่องมาจากสาเหตุเช่นการอพยพเร่ร่อนตามครอบครัวทำให้เด็กไม่มีโอกาสได้รับการศึกษา พ่อแม่ด้อยการศึกษาและไม่สนใจเอาใจใส่ต่อเด็ก พ่อแม่มีวิธีการเลี้ยงดูลูกไม่เหมาะสมและไม่ได้ทำหน้าที่ตามบทบาทของตนเองอย่างเพียงพอ เช่น เลี้ยงดูลูกอย่างเข้มงวด ลงโทษรุนแรง หรือทอดทิ้งไม่เอาใจใส่ พ่อแม่มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น เล่นการพนัน ดื่มสุรายาเมา เป็นต้น สภาพเศรษฐกิจของครอบครัว ความยากจนทำให้เด็กขาดโอกาสที่จะได้รับการพัฒนาในด้านต่างๆ บางส่วนที่ไปมั่วสุมกับเพื่อนไม่ดีก็จะถูกชักจูงให้ประพฤติตนไม่เหมาะสมต่อไปได้ง่าย รวมทั้งสติปัญญาความสามารถของเด็กเอง ซึ่งเกิดจากนิสัยของเด็กอยู่ในช่วงวัยสนุก ชอบเที่ยวเตร่ ต้องการความเป็นอิสระ ต้องการพบสิ่งแปลกใหม่อยากรู้อยากลอง ค่อนข้างติดเพื่อน เด็กที่มีปัญหาในบ้าน เข้ากับพ่อแม่และญาติพี่น้องไม่ได้ จึงออกไปแสวงหาข้างนอกบ้าน เด็กที่มีระดับสติปัญญาต่ำ มีพัฒนาการทางร่างกายและสมองค่อนข้างช้า มีพฤติกรรมเบี่ยงเบน ไม่อยากเรียนหนังสือ เกียจคร้าน รวมทั้งมีขีดความสามารถในการเข้าใจและแก้ปัญหาได้จำกัด เด็กเหล่านี้จึงถูกชักจูงได้ง่าย อีกสาเหตุหนึ่งคือจากสังคมภายนอก มีสภาพสังคมที่ฟุ้งเฟ้อ เป็นสิ่งยั่วยวนให้เด็กอยากรู้อยากเห็น การอพยพย้ายถิ่นของชาวชนบทเพื่อเข้ามาทำงานในเมืองใหญ่ๆ ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถหางานทำได้และไม่มีที่อยู่อาศัยแน่นอน เด็กจึงต้องเร่ร่อนตามครอบครัว บางครั้งอาจถูกละเลยหรือพลัดหลงจากครอบครัว ทำให้เป็นเด็กเร่ร่อนไปในที่สุด เพื่อได้มาในปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีพถึงแม้จะต้อง เสี่ยงกับภัยอันตรายหรือความปลอดภัยต่อชีวิตแต่ก็ไม่มีทางเลือกที่ดีกว่า จึงเกิดปัญหาต่อสังคมดังกล่าว รวมทั้งการขาดความรู้ ด้อยโอกาสทางการศึกษา ไร้ญาติมิตร ตลอดจนมีปัญหาจากครอบครัวแตกแยกขาดความรักความอบอุ่น เร่ร่อนอยู่ในสังคมกับกลุ่มต่าง ๆ อิทธิพลทางสื่อต่างๆ เป็นแรงจูงใจให้เด็กเลียนแบบพฤติกรรมที่พบเห็นจากสื่อ ที่เด็กต้องการจับจ่ายใช้สอยมาก และเมื่อพ่อแม่ไม่สามารถตอบสนองได้อย่างเพียงพอ เด็กจึงออกแสวงหาด้วยตนเองหรืออาจถูกเพื่อนฝูงชักนำไปในทางที่ไม่ถูกต้อง  สิ่งเหล่านี้ทำให้ระดับการศึกษาของเด็กเร่ร่อนค่อนข้างต่ำ ปัญหาสุขภาพอนามัยและโภชนาการของเด็กเร่ร่อนที่เห็นได้ชัดคือ ปัญหาโรคผิวหนังทุกชนิด เนื่องมาจากความสกปรก เด็กบางคนเป็นโรคขาดสารอาหาร โรคระบบย่อยอาหาร โรคพยาธิ หวัดเรื้อรัง ภูมิต้านทานน้อย มีความผิดปกติท้างด้านสมองและจิตใจ เด็กเร่ร่อนส่วนใหญ่จะติดสารเสพติดประเภทต่างๆ เช่น ทินเนอร์ บุหรี่ เหล้า ยากล่อมประสาท เพราะเป็นสิ่งที่หาเสพได้ง่ายและเด็กมีนิสัยอยากรู้อยากลอง ซึ่งอาจนำไปสู่การติดยาเสพติดที่ร้ายแรงได้
                         กลุ่มที่น่าเป็นห่วงในเรื่องสภาพความรุนแรงของปัญหาเด็กเร่ร่อน คือ กลุ่มเด็กเร่ร่อนที่มีอายุต่ำกว่า 10 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 6 ปี ซึ่งเป็นวัยที่ไม่อยู่ในวัยเรียน เพราะแม้ว่าเด็กวัยนี้จะมีโอกาสใช้ความเป็นเด็กในการเรียกร้องให้คนสงสารได้มากกว่าวัยอื่น แต่ก็มีความเสี่ยงสูงในการดำรงชีวิตและสวัสดิภาพของตนเอง และอยู่ในช่วงวัยกำลังเจริญเติบโต อาจมีผลต่อการพัฒนาร่างกายและสมองได้
                      ด้วยสภาพความเป็นอยู่และการดำเนินชีวิตของเด็กเร่ร่อน คงจะสะท้อนให้เห็นผลกระทบในหลายๆ อย่าง เริ่มจากการไม่ได้รับการศึกษา การอดอยาก อดมื้อกินมื้อ ความไม่มั่นคงในอารมณ์ที่ขาดผู้หลักผู้ใหญ่คอยดูแลให้ความรักความอบอุ่น ขณะเดียวกันก็เต็มไปด้วยความหวาดผวาอยู่ตลอดเวลา ว่าเมื่อไรจะถูกจับเข้าสถานสงเคราะห์ สิ่งเหล่านี้คือผลกระทบที่เด็กเร่ร่อนได้รับอยู่ตลอดเวลา ซึ่งนับเป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมภายในจิตใจ จะเห็นได้จากความก้าวร้าว และชอบแก้ปัญหาด้วยวิธีการที่รุนแรง ความรู้สึก และความสัมพันธ์สังคม เด็กส่วนใหญ่มักจะเฉยชากับสังคม แบบซึมเศร้า เก็บกด พูดน้อย วิตกกังวล เพราะตนเองดำรงชีวิตอยู่โดยลำพัง คิดว่าไม่มีคนสนใจ และสังคมไม่เคยช่วยเหลือเกื้อกูล แต่ต้องมีในบางรายรู้สึกสะเทือนใจบ้างเวลาที่ถูกคนรอบข้างดูถูก เหยียดหยาม ทั้งวาจา ที่ถูกเรียกว่า เด็กถูกทอดทิ้ง ลูกไม่มีพ่อไม่มีแม่ และทั้งทางร่างกาย โดยการทำกริยาท่าทาง แสดงความรังเกียจ ดูถูก ทำให้เด็กแสดงพฤติกรรมโต้ตอบ ด้วยการใช้คำพูดหรือคำด่าที่หยาบคายต่างๆ รวมถึงการทำพฤติกรรมก้าวร้าว สภาวะความเป็นอยู่ทำให้เด็กมีจิตใจหยาบกระด้างรุนแรง และจากกการที่เด็กบางคนได้เคยเข้าไปอยู่ในสถานสงเคราะห์แล้ว ส่วนใหญ่จะเกิดทัศนคติด้านลบ ไม่ต้องการเข้าไปอยู่ในสถานสงเคราะห์ แม้ว่าจะมีสวัสดิการหลายๆ อย่างตอบสนองความต้องการของเด็กได้ โดยเด็กมองว่าสถานสงเคราะห์มีกฎเกณฑ์มากเกินไป ไม่มีอิสระ บางคนมองว่าเจ้าหน้าที่ในสถานสงเคราะห์เข้มงวดเกินไป รวมทั้งไม่อยากอยู่ร่วมกับกลุ่มคนแปลกหน้ามากๆ เพราะเด็กรู้สึกวุ่นวาย สับสน บางคนอาจจะมีโลกส่วนตัวสูง จนมีการทะเลาะกันบ่อยครั้ง ในที่สุดเด็กต้องหนีออกมา เพราะ ทนความอึดอัดไม่ไหว ทำให้เหมือนถูกทอดทิ้งครั้งแล้วครั้งเล่า  ปัญหาเด็กเร่ร่อนและเด็กถูกทอดทิ้งเป็นปัญหาใหญ่ปัญหาหนึ่งของสังคม ซึ่งเกิดมาจากหลายๆสาเหตุแต่สาเหตุใหญ่ๆที่เรารู้จักกันดีนั้นคือ เริ่มมาจากจุดเล็กๆในสังคมที่เรียกว่าครอบครัว ทั้งปัญหาครอบครัวแตกแยก ปัญหาเด็กกำพร้า ซึ่งโยงใยด้วยเหตุผลหลายๆประการ ทั้งจากการว่างงานของผู้นำในครอบครัว จากปัญหาเศรษฐกิจที่มักไม่คงที่คงตัว และปัญหาสังคมอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ซึ่งถ้าหากเราจะร่วมมือกันแก้ปัญหาเด็กเร่ร่อนนี้ เราต้องเริ่มจากการมีครอบครัวที่ดีเสียก่อน เราต้องสร้างสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัว สมาชิกในครอบครัวต้องใส่ใจ รัก และดูแลซึ่งกันและกัน แม้บางครอบครัวจะขาดพ่อหรือแม่ไปคนใดคนหนึ่ง แต่หากบุคคลที่เหลืออยู่ให้ความรักความอบอุ่น เป็นได้ทั้งพ่อและแม่ให้แก่ลูกนั้น ปัญหาเด็กเร่ร่อนนี้ก็จะไม่สามารถเกิดขึ้นมาในสังคมได้เลย
                     จากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันการเผชิญปัญหาความยากจนของประชาชนในประเทศ ปัญหาความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงทัศนคติและค่านิยม การรับเอาวัฒนธรรมของชาวตะวันตกเข้ามาอย่างไม่คำนึงถึงความเหมาะสม ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างสถาบันครอบครัว ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมามาก สิ่งเหล่านี้เป็นสาเหตุให้ปัญหาการทอดทิ้งเด็กและเด็กกำพร้ามีแนวโน้มสูงขึ้น และแนวโน้มกลุ่มอายุเด็กที่จะถูกทอดทิ้งในอนาคตจะเป็นเด็กแรกเกิดถึงเด็กอ่อน ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะคลอดในโรงพยาบาลในเขตกรุงเทพมหานคร
          ท่ามกลางสภาพสังคมที่มีปัญหามากมายในปัจจุบัน เด็กจำนวนไม่น้อยที่ต้องเติบโตขึ้นในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม ต้องเผชิญกับปัญหาครอบครัวแตกแยก ขาดความรัก ความอบอุ่น บางคนไม่เคยแม้แต่จะได้รับการโอบกอดด้วยความรักจากพ่อแม่ สภาพสังคมและเศรษฐกิจปัจจุบันทำให้เด็กบางคนขาดการดูแลจากพ่อแม่ ต้องอยู่ห่างไกลจากพ่อแม่ผู้ให้กำเนิด หรือเป็นเด็กกำพร้า ซึ่งภาวะเช่นนี้ทำให้เด็กต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ เช่น ภาวะขาดแคลน การถูกทอดทิ้งการถูกเอารัดเอาเปรียบด้านแรงงาน หรือทางเพศในรูปแบบต่างๆ โดยทั่วไปครอบที่สมบูรณ์มักจะประกอบไปด้วย สมาชิกที่มีทั้ง พ่อ แม่ และลูก แต่เด็กบางคนเติบโตมาในสภาพครอบครัวที่ไม่มีทั้งพ่อและแม่หรือมีเพียงคนใดคนหนึ่ง แน่นอนว่าเขาสามารถที่จะเจริญเติบโตได้เหมือนเด็กทั่วๆไป แต่สิ่งที่จะแตกต่างคือการพัฒนาการทางด้านจิตใจ ความคิด ความรู้สึก และความสุขในชีวิต โดยธรรมชาติแล้วพ่อแม่จะเป็นต้นแบบในการหล่อหลอมความรู้สึกนึกคิดให้กับลูก เมื่อขาดคนใดคนหนึ่งไปโดยเฉพาะขาดแม่ ย่อมมีผลกระทบกับลูก เนื่องจากสังคมไทย แม่จะเป็นผู้ที่ใกล้ชิดในการเลี้ยงดู อบรมสั่งสอนลูกมากกว่าพ่อ ฉะนั้นในความรู้สึกของสังคมจึงคิดว่าเด็กที่เติบโตมาโดยขาดแม่ จึงเป็นเด็กที่มีความเสี่ยงต่อความมั่นคงในการดำรงชีวิต และมักจะเป็นปัญหาให้กับสังคมมากกว่าเด็กที่มีพ่อแม่คอยดูแลอบรมสั่งสอน ในความรู้สึกของพวกเขาไม่ได้มีความผูกพันหรือได้รับความรักความอบอุ่นเหมือนที่คนอื่นๆเป็น เด็กคืออนาคตของชาติ เป็นคำกล่าวที่ทุกคนรับรู้เข้าใจเป็นอย่างดี แต่ในสถานการณ์ที่ประเทศก้าวไปข้างหน้า การกระจายตัวของสถานศึกษาไปสู่ในชนบทอย่างทั่วถึง ปัญหาเรื่องของเด็กและเยาวชนยังคงเป็นปัญหาที่แก้ไม่ได้และจะยิ่งทวีคูณขึ้น และถ้าเด็กไทยวันนี้ยังคงประสบปัญหามากมาย แล้วอนาคตของชาติจะเป็นอย่างไร ซึ่งพบว่ามีเด็กกำพร้า เด็กเร่ร่อนจำนวนมาก มีเด็กที่กำพร้าเนื่องจากพ่อแม่เสียชีวิตด้วยโรคเอดส์จำนวนไม่น้อย กลุ่มคนที่มีจิตสำนึกในการช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสหลายกลุ่มและหน่วยงานต่างๆ  ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือเด็กในรูปแบบต่างๆ เช่น สถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้า การสอนหนังสือเด็กกำพร้า สอนหนังสือเด็กเร่ร่อน แต่ปัญหาก็ยังคงแก้ไขและเยียวยาไม่ทั่วถึง การช่วยเหลือที่ช่วยให้เด็กหยุดการเร่ร่อนได้มาก คือ การช่วยเหลือให้เด็กมีงานทำ มีรายได้ การนำเด็กเข้ารับการบรรพชา อุปสมบท การป้องกันเด็กออกมาเร่ร่อน คือ การสร้างความเข้มแข้งให้สถาบันครอบครัว ด้วยมาตรการต่าง ๆ เช่น การให้ความรู้ด้านเพศศึกษาที่ถูกต้องเหมาะสม มีคุณภาพกับเด็กและวัยรุ่น เพื่อป้องกันตนเองจากการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันสมควร หรือการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ การรณรงค์ ให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไป ด้านครอบครัวศึกษา เพศศึกษา สตรีศึกษา การพัฒนาเด็ก การดูแลผู้สูงอายุ การดูแลผู้พิการ ตลอดจนกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับครอบครัวและเด็ก การช่วยเหลือเด็กเมื่อเด็กออกมาเร่ร่อนแล้ว คือ การช่วยเหลือเด็กอย่างเป็นระบบ และมีความเจาะจงในการช่วยเหลือเด็ก แต่ละรายตามสภาพปัญหาและความต้องการของเด็ก โดยทางโรงพยาบาลของรัฐเป็นองค์กรแรกที่ให้บริการเด็กถูกทอดทิ้งและเด็กกำพร้าที่แม่ของเด็กมารับบริการคลอดบุตรและทิ้งบุตรไว้ ถ้าไม่มีผู้มาขอไปอุปการะ ทางโรงพยาบาลจะให้การอุปการะให้การศึกษาตามความเหมาะสม จนกว่าจะประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองได้ ซึ่งสอดคล้องกับความคาดหวังของเด็กส่วนใหญ่คาดหวังที่จะเรียนวิชาชีพ ฝึกอาชีพ มีงานทำ และมีรายได้  ควรให้ความรู้และสร้างทัศนคติที่ดีต่อครอบครัวและตัวเด็ก ครอบครัวเป็นหน่วยแรกที่จะป้องกันเด็ก พ่อแม่จึงต้องมีความรู้ในการเลี้ยงดุลูกอย่างถูกวิธี รู้กฎหมาย และปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่ เน้นการสร้างความสัมพันธ์ในชุมชน ไม่ก่อปัญหาให้ลูกพบเห็น ต้องเอาใจใส่เด็กทั้งกายและใจ ปลูกฝังทัศนคติที่ดีต่อเด็ก กระตุ้นให้เด็กแสดงออกในทางที่สร้างสรรค์ สำหรับกลุ่มเด็กเร่ร่อนควรมีสถานสงเคราะห์และผู้ดุแลที่เหมาะสมกับจำนวนเด็ก มีการให้เด็กได้พบกลับกลุ่มด้อยโอกาสอื่น เพื่อเปรียบเทียบว่าเด็กเร่ร่อนมิใช่ผู้ด้อยโอกาสเสียทีเดียว แต่สามารถให้ความช่วยเหลือผู้อื่นได้ สำหรับเด็กที่ได้รับผลกระทบ การเยียวยาสำคัญที่สุด ครอบครัวต้องไม่ซ้ำเติมเด็กแต่ต้องให้กำลังใจเพื่อที่เขาจะได้มีแรงสู้ต่อไป อะไรที่ผ่านเลยมาแล้วก็ให้ผ่านๆ ไปอย่าเก็บเอามาใส่ใจหรือพูดทับถมเด็กอีกเป็นอันขาดเพราะเด็กได้รับบทเรียนที่สาสมพอตัวอยู่แล้วก้าวย่างต่อไป ต้องให้ครอบครัวคอยเป็นกำลังใจอย่างใกล้ชิด แต่ก็อย่าชิดมากจนเกินอบอุ่น และกลายเป็นความร้อน หรือรำคาญมากจนเกินไป ต้องรักษาจังหวะและความห่างให้ดี เพื่อที่เด็กเองจะได้รู้สึกว่าตัวเองปลอดภัยและไม่โดนควบคุมมากจนเกินไป สถาบันการศึกษาและสื่อมวลชนควรขยายขอบเขต การสร้างทางเลือกในการเรียนรู้ที่หลากหลายเหมาะสมกับเด็กที่มีความต่างในความสนใจด้านการเรียนรู้มีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะเด็กส่วนหนึ่ง ที่ต้องออกมาเร่ร่อนตามที่สาธารณะนั้น นอกจากจะมีความไม่สบายใจเมื่ออยู่กับครอบครัวแล้ว ยังมีส่วนหนึ่งมีความเบื่อหน่ายในระบบการเรียนรู้ที่มีอยู่น้อยเช่นในปัจจุบัน จึงทำให้เลือกที่จะออกมาเรียนรูกับโลกกว้างภายนอก ให้ความรู้เรื่องการวางแผนครอบครัว เพศสัมพันธ์แก่เยาวชนและประชาชนทั่วไป รวมทั้งการให้ความรู้ในการเตรียมความพร้อมสำหรับการมีบุตรด้วย ในโรงพยาบาลควรมีการให้ความรู้หรือฝึกอบรมในลักษณะต่างๆ แก่บุคลากร เช่น แพทย์ พยาบาล นักสังคมสงเคราะห์ เพื่อเฝ้าระวังและให้บริการแก่หญิงที่มาคลอดบุตรซึ่งมีที่ท่าว่าจะทิ้งเด็ก ประชาชนควรได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ ให้เข้ามามีบทบาทช่วยเหลือเป็นอาสาสมัครให้มากยิ่งขึ้น รัฐต้องมีมาตรการควบคุมเกี่ยวกับสถานบันเทิง สภาพแวดล้อม และสื่อต่างๆ ที่ไม่เหมาะสมให้อยู่ในขอบเขต มีการจำกัดอายุ ผู้ใช้บริการ และมีการเอาผิด ลงโทษผู้ที่ละเมิดอย่างรุนแรง เด็ดขาด ควรมีการจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมรายได้ เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กถูกชักจูงไปในทางเสื่อมเสียหรือมั่วสุมในสถานบันเทิงต่างๆ ควรส่งเสริมการจ้างงานในท้องถิ่น เพื่อป้องกันการย้ายถิ่นเข้ามาหางานทำในเมือง การป้องกันไม่ให้แม่ทิ้งลูกในยุคสมัยนี้ ค่อนข้างจะเป็นเรื่องยาก เพราะแม่ที่ทิ้งลูกนั้นมักจะอยู่ในกลุ่มอายุวัยรุ่น ที่ถูกสิ่งแวดล้อมในสังคมชักจูงไปในทางหมกมุ่นทางเพศมากกว่าจะมีสิ่งแวดล้อมทางสังคมชักจูงไปในทางที่ดี หนทางป้องกันจึงไม่พ้นไปจากการทำลายสิ่งแวดล้อมที่เลวร้ายลงและสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นมาให้มากขึ้น เพื่อเป็นทางนำให้วัยรุ่นมีกิจกรรมเพื่อการพัฒนาตนเองมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันสังคมเมืองจะต้องร่วมกันให้การศึกษาเกี่ยวกับกิจกรรมทางเพศที่ถูกต้องให้มากขึ้น ครอบครัวที่มีลูกจะต้องเลี้ยงดูลูกด้วยความเข้าใจและถูกต้อง เพราะอย่างน้อยเด็กที่มาจากครอบครัวที่อบอุ่น จะมีความยับยั้งชั่งใจและสติไตร่ตรองสูง รู้อะไรควรไม่ควร ซึ่งจะช่วยให้เด็กรอดพ้นและไม่หลงไปกับการสนุกทางเพศ การตั้งครรภ์และการคลอดทิ้งจะน้อยลง
                     หน่วยงานภาครัฐจะต้องแสวงหารูปแบบใหม่ๆ ในการให้บริการเพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว รวมทั้งการลดขั้นตอนการดำเนินงานไปยังภูมิภาค เพื่อกระจายบริการให้แก่เด็กเร่ร่อน โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ๆ ที่มีแนวโน้มของปัญหาเด็กเร่ร่อนมากขึ้น การประสานงานระหว่างภาครัฐและเอกชน ควรมีนโยบายหลักร่วมกัน รวมทั้งจะต้องมีการจัดทำโครงการพัฒนาบุคลากรเพื่อเสริมสร้างสมรรถภาพของเจ้าหน้าที่ให้ดีขึ้น ควรส่งเสริมให้มีการจัดตั้งศูนย์ให้บริการแนะแนวแก่เด็กเร่ร่อนทั่วไปโดยตรง โดยจัดเครือข่ายเพื่อให้บริการแนะแนวและเก็บข้อมูลเกี่ยวกับเด็กเร่ร่อน เพื่อใช้ประโยชน์ในการจัดทำโครงการ ซึ่งควรเป็นความรับผิดชอบของหน่วยงานภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับปัญหาเด็กเร่ร่อน เพราะหน่วยงานภาคเอกชนมีความคล่องตัวและความยืดหยุ่นในการดำเนินงานได้ดีกว่า ซึ่งรัฐอาจจะใช้กรมประชาสงเคราะห์เป็นตัวประสานงาน ควรส่งเสริมให้มีการบริการสำหรับเด็กเร่ร่อนที่ไม่ได้เข้าสู้ระบบการสงเคราะห์ เช่น ศูนย์เยาวชน ห้องสมุดประชาชน ที่เด็กเร่ร่อนทั่วไปสามารถใช้บริการได้ ควรส่งเสริมให้มีโครงการฝึกอบรมอาชีพระยะสั้นแก่เด็กเร่ร่อนในแต่ละพื้นที่และจัดหางานให้เมื่อสำเร็จการฝึกอบรม และติดตามผลอย่างต่อเนื่อง ควรมีการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่เด็กเร่ร่อนในเรื่องสุขภาพอนามัยและความรู้เรื่องโรคเอดส์ เพื่อให้เด็กเร่ร่อนสามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้โดยจะต้องเข้าถึงตัวเด็กอย่างแท้จริงและดำเนินการอย่างสม่ำเสมอ
                    ครอบครัวนอกจากจะเป็นสถานที่แห่งแรกในการบ่มเพาะนิสัยให้เด็กแล้วท้ายที่สุดครอบครัวเองก็ยังจะเป็นสถานที่สุดท้ายที่จะเยียวยาให้แก่เด็กที่ผ่านพ้นสภาพ ปัญหาและแรงกดดันจากภายนอกมา ดังนั้นผู้ใหญ่เองนั่นล่ะต้องคอยทบทวนตัวเองและอย่าได้ลืมความเป็นเด็กของตัวเองไปเป็นอันขาด เพราะเมื่อใดก็ตามผู้ใหญ่ลืมความเป็นเด็กของตัวเองไปเสียแล้ววันนั้นผู้ใหญ่ ก็จะไม่ต่างอะไรกับศาลที่คอยพิพากษาเด็กด้วยความไม่ยุติธรรมแล้วเด็กจะไปพึงใคร เมื่อพึ่งคนในครอบครัวตัวเองไม่ได้แล้ว เพราะสถาบันครอบครัว เป็นสถาบันแห่งแรกที่จะสร้างพฤติกรรมที่ทำให้เด็กเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่ดี
                 ในอนาคตประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียน จะทำให้ปัญหาเด็กเร่ร่อนขยายตัวเพิ่มขึ้นไปอีก เนื่องจากเกิดการไหลเวียนของประชากรจากประเทศเพื่อนบ้านเข้าสู่ประเทศไทย จะทำให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม การพัฒนาเศรษฐกิจอาจเติบโตและขยายขึ้นในทางที่ดี ด้านสังคมนั้น คนในสังคมอาจมีวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป จากที่พึ่งพาอาศัยกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน อาจจะทำให้คนมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป พ่อแม่ต้องออกไปทำงานหาเงินเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว ไม่มีเวลาดูแลเอาใจใส่ลูกหลานของตน ทำให้มีเด็กเร่ร่อนและเด็กถูกทอดทิ้งเพิ่มขึ้นอีก
                   ปัญหาเรื่องเด็กและเยาวชนเป็นปัญหาเร่งด่วนเป็นวิกฤตการณ์ที่รัฐบาลจะให้ความสำคัญไม่ด้อยไปกว่าปัญหาความมั่นคงและปัญหาทางเศรษฐกิจได้ สังคมที่เด็กต้องอาศัยอยู่ต่อไปก็ต้องมีมาตรการในการรองรับการคืนกลับเด็กเข้าสู่สังคม ภายหลังที่เด็กได้รับการฟื้นฟูสภาพจิตใจ และพัฒนาศักยภาพ  และพร้อมที่จะกลับสู่ ครอบครัว ชุมชน สังคม ที่เขาอาศัยอยู่ สังคมเองต้องไม่ตัดสิน หรือพิพากษาเด็ก ต้องให้โอกาสในการพิสูจน์ตัวเองของเด็ก และที่สำคัญต้องยอมรับในศักยภาพที่ได้รับการพัฒนาแล้ว ต้องยอมรับว่า เด็กมีความพร้อมจริงๆ ที่จะกลับมาใช้ชีวิตร่วมกับคนในสังคมอย่างปกติ และพร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งของกลไกในการพัฒนาชุมชน สังคม ที่เด็กอยู่ร่วมด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น