วันศุกร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2556

ปัญหาด้านสุขภาพจิตของเด็กที่มีอิทธิพลมาจากครอบครัว นางสาวจุฑาภรณ์ ปัญญาวิชา 5‏ 3241745


บทความเชิงวิชาการ
เรื่อง ปัญหาด้านสุขภาพจิตของเด็กที่มีอิทธิพลมาจากครอบครัว

บทความนี้ต้องการเสนอปัญหาด้านสุขภาพจิตของเด็กที่มีอิทธิพลมาจากครอบครัว เพราะเรื่องพัฒนาการของเด็กเป็นเรื่องที่บิดา มารดา ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องกับเด็กควรทราบ เนื่องจากสถาบันครอบครัวเป็นสถานที่สำคัญอันดับแรกที่ทำหน้าที่วางรากฐานของพัฒนาการของมนุษย์ในระยะเยาว์วัย เป็นสถาบันอันดับแรกที่จะสร้างเด็กให้เป็นบุคคลที่สามารถดำเนินชีวิตอย่างเป็นสุข เป็นสิ่งแวดล้อมที่เด็กได้รู้จักใกล้ชิดมากที่สุด ฉะนั้นเด็กจะเจริญเติบโตและมีพัฒนาการได้มากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดูของพ่อ แม่ ถ้าเด็กมีโภชนาการที่ดี สุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคติดต่อ ได้รับความรักและความอบอุ่น เด็กก็จะเจริญเติบโตทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และสติปัญญา เราจึงควรที่จะเลี้ยงดูและฝึกอบรมเด็กให้ถูกต้องเหมาะสมตั้งแต่แรก เพื่อให้เด็กมีสภาวะทางด้านร่างการและจิตใจที่ดี
การศึกษาวิจัยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมามีข้อสรุปที่บ่งชี้ว่า ครอบครัวไทยทั้งในชนบทและในเมืองมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไปเป็น ครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น จำนวนครัวเรือนเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ขนาดครอบครัวเล็กลง จากเดิมที่เคยถือครองที่ดินเพื่อการเกษตร บัดนี้เปลี่ยนแปลงมาสู่สถานะลูกจ้างเพิ่มมากขึ้น ช่องว่างรายได้กว้างขึ้นในระหว่างอาชีพและภูมิภาค และคนไทยส่วนใหญ่อยู่ในภาวะชักหน้าไม่ถึงหลัง มีหนี้สินอยู่มาก คู่สมรสส่วนใหญ่มิได้เตรียมตัวก่อนมีบุตร ทั้งทางด้านความรู้ หรือตรวจสภาพร่างกาย ครอบครัวที่มีพ่อ แม่ ลูก อยู่ด้วยกันมีแนวโน้มลดลง ครอบครัวที่แยก หย่า หม้ายสูงขึ้น จึงมีครอบคัวที่แม่ต้องเลี้ยงลูกตามลำพังมากขึ้น นอกจากนี้ผลการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศที่เน้นอุตสาหกรรม ทำให้แรงงานต้องอพยพย้ายถิ่นเข้าทำงานในเมือง ส่งผลถึงชีวิตความเป็นอยู่ของเด็กและเยาวชนและสัมพันธภาพภายในครอบครัว ครอบครัวไทยเห็นว่า ภาวะบทบาทของครอบครัวต่อเด็กและเยาวชนคือการอบรมสั่งสอนเป็นหลัก ให้ความรักเป็นเรื่องรอง ภาระการเลี้ยงดูเด็กตกหนักที่แม่ พ่อมีส่วนร่วมในการอบรมและส่งเสริมการเรียนรู้ของลูก แต่มีบทบาทหลักในการปกป้องคุ้มครอง และเป็นสื่อกลางระหว่างครอบครัวกับสังคม
สังคมสมัยใหม่ที่มีปัญหาการดิ้นรนทางเศรษฐกิจมาก มีความเครียดและมีวิถีชีวิตแบบตัวใครตัวมันมากขึ้น ก็เป็นส่วนสำคัญทำให้เกิดการหย่าร้าง ซึ่งเป็นปัญหาสำหรับเด็กและเยาวชนมากขึ้น ในด้านการได้รับการดูแลจากครอบครัวด้อยคุณภาพทั้งทางด้านกายและจิตใจ ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ที่สับสนวุ่นวาย ในสังคมเมืองที่กำลังจะเปลี่ยนไป ทั้งทางด้านขนบธรรมเนียมประเพณีและค่านิยมต่างๆ  ก่อให้เกิด ปัญหาสุขภาพจิต โรคจิต โรคประสาทที่มักจะเกิดจาก สิ่งแวดล้อมรอบตัวในวัยเด็ก เช่น ความรัก การเลี้ยงดูเอาใจใส่ของพ่อแม่ การยอบรับ โดยเฉพาะผลที่เกิดจากการเลี้ยงดูภายในครอบครัว
โดยเด็กวัยเข้าโรงเรียน (อายุ 5-14 ปี) พัฒนาการทางด้านสติปัญญา จิตใจ และอารมณ์ของเด็กวัยนี้อาจประเมินได้เป็นหลายด้าน งานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับพัฒนาการทางสมองและการเรียนรู้ของเด็ก ให้ข้อสรุปที่คล้ายกันประการหนึ่งคือ สิ่งแวดล้อม รวมทั้งสถานที่ สภาพท้องถิ่น ฐานะทางเศรษฐกิจสังคมและครอบครัว ทำให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์ และการสร้างความคิดรวบยอดต่างกัน เด็กในเมืองจะมีความสามารถสร้างความคิดรวบยอดและพัฒนาการด้านการสร้างมโนภาพ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและอื่นๆ ได้ดีกว่าเด็กในชนบท หรือแม้แต่ในกรุงเทพมหานครด้วยกัน เด็กที่เรียนอยู่ในโรงเรียนสาธิตต่างๆ จะมีพัฒนาการดังกล่าวสูงกว่าเด็กในโรงเรียนทั่วไป
เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าโอกาสที่เด็กได้รับแตกต่างกัน หรืออาจเป็นผลจากวิธีการคัดเลือกเด็กเข้าโรงเรียนแตกต่างกัน ส่วนพัฒนาการด้านบุคลิกภาพ งานวิจัยบางชิ้นชี้ให้เห็นว่า เด็กหญิงมีวินัยสูงกว่าเด็กชาย มีความวิตกกังวลมากกว่า มีระดับความเป็นผู้นำสูงกว่า มีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์มากกว่า เป็นตัวของตัวเองมากกว่า และมีความคิดเกี่ยวกับพฤติกรรมที่ดีถูกต้องมากกว่าเด็กชาย ส่วนเด็กชายมีพฤติกรรมแสดงตัวมากกว่า และมีความเชื่อมั่นในตัวเองมากกว่า ลำดับการเกิดของเด็กก็มีผลต่อบุคลิกภาพ คือ เด็กโตมักเป็นคนเก็บตัวมีความรับผิดชอบสูงกว่าเด็กที่เป็นลูกคนเล็ก นอกจากนี้ แม่ทั้งที่อยู่ในเมืองและชนบทก็ระบุอุปนิสัยของเด็กคล้ายคลึงกัน คือ เด็ก ส่วนใหญ่ร้อยละ 60-70 ร่าเริง ร้อยละ 50-60 ใจน้อย ร้อยละ 35 ชอบเป็นผู้นำ ประมาณร้อยละ 20 ชอบทะเลาะ และที่ซึมเศร้ามีน้อยมีเพียงไม่ถึงร้อยละ 5
ข้อมูลจากการสำรวจของกรมประชาสงเคราะห์ในกลางปี พ.. 2538 ประมาณการว่า เด็กอายุ 0-14 ปีที่อยู่ในภาวะยากลำบากต่างๆกัน คือ เด็กประมาณ 6 ล้านคนอยู่ในครอบครัวที่บากจน เด็กถูกทอดทิ้งประมาณกว่าแสนคน เด็กกำพร้าประมาณสามแสนห้าหมื่นคน เด็กเร่ร่อน/ขอทานประมาณสามแสนเจ็ดหมื่นกว่าคน เด็กพิการทางการหรือจิตประมาณสี่แสนกว่าคน เด็กชนกลุ่มน้อยประมาณสองแสนกว่าคน ข้อมูลการศึกษาวิจัยเด็กในภาวะยากลำบากในบางประเภท มีดังนี้
-   เด็กและเยาวชนที่ถูกทารุณ เป็นเหยื่อความขัดแย้งในครอบครัวและสังคม เด็กที่ได้รับการช่วยเหลือร้อยละ 60 ถูกทุบตีในบ้าน เท่าที่พบเด็กถูกทารุณอายุน้อยที่สุด 24 วัน ผู้กระทำทารุณในครอบครัวมักจะเคยพบเห็น และยอมรับการกระทำทารุณของผู้อื่น ส่วนเด็กที่ถูกกระทำทารุณทางเพศมีแนวโน้มอายุน้อยลง และผู้กระทำก็มีแนวโน้มน้อยลงด้วย ยังมีการละเลยไม่ช่วยเหลือจากสังคมเมื่อพบเห็นเด็กถูกกระทำทารุณ
-   เด็กเร่ร่อนนั้นมีทั้งที่เร่ร่อนตามครอบครัวมาหางานทำในเมือง หรือเร่ร่อนตามลำพัง มีเท่าไหร่นั้นไม่แน่ชัด เฉพาะในเมืองใหญ่อาจมีเป็นหมื่นคน เป็นชายมากกว่าหญิง เด็กเร่ร่อนจำนวน 1 ใน 6 คนจะเร่ร่อนเป็นขอทาน กินอยู่หลับนอนตามใต้สะพาน ตลาดวัด ส่วนใหญ่ไม่ได้เรียนหนังสือ สาเหตุที่เร่ร่อนนั้นเพราะหนีออกจากบ้าน หรืออาจพลัดหลง
นอกจากนี้ยังมีอีกหลายปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดพฤติกรรมของเด็ก เช่น จากบรรยากาศของบ้านที่แตกต่างกัน การศึกษาวิจัยที่อเมริกา ในมลรัฐโอไฮโอ ที่ Fels Stitute ใน Yellow Spring ศึกษาเกี่ยวกับบรรยากาศทางบ้านที่มีอิทธิพลต่อบุคลิกภาพและพฤติกรรมของเด็กในวัยก่อนเข้าเรียนนั้น โดยกระทำอย่างมีหลักเกณฑ์ในช่วงระยะเวลานาน ผลการค้นคว้าปรากฏว่า
-   เด็กที่มาจากบ้านที่เป็นประชาธิปไตย มีบรรยากาศอบอุ่น มีการสนทนากันระหว่างพ่อ แม่ ลูก มีการถกเถียงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการตัดสินใจ เด็กพวกนี้มักจะเป็นผู้นำกลุ่ม คล่องแคล่วว่องไว เปิดเผยร่าเริง สังคมเก่ง ชอบที่จะแสดงความคิดเห็นอารมณ์ต่างๆ ตลอดจนชอบต่อต้านผู้ที่ชอบวางอำนาจต่างๆ เช่น ครู เป็นต้น
          -   เด็กที่ได้รับการอบรมเลี้ยงดูแบบถูกบังคับ เต็มไปด้วยกฎเกณฑ์ข้อห้ามต่างๆ และมีการจำกัดขอบเขต มักจะกลายเป็นคนเงียบขรึม มีความประพฤติดีงามถูกต้องแบบแผน ขี้อาย เก็บตัวไม่เข้าสังคม ขาดความกระตือรือร้น แต่ไม่มีความคิดสร้างสรรค์สิ่งใด
          -   เด็กที่ถูกเลี้ยงแบบตามใจเสมอ มักจะทำสิ่งใดแบบเด็กๆ เพราะได้รับการทะนุถนอมมาก พวกนี้มักจะมีบุคลิกลักษณะการแสดงออกในทำนองเดียวกับเด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูแบบถูกบังคับ แต่ที่แตกต่างไปก็คือ เด็กที่ได้รับการตามใจอยู่เสมอ มักจะด้อยพัฒนาการทางการเคลื่อนไหว และมักหวาดกลัวกับกิจกรรมที่ต้องใช้แรงกายชนิดต่างๆ
          ทัศนะคติในการเลี้ยงดูของแต่ละครอบครัวที่แตกต่างกันก็เป็นปัจจัยสำคัญต่อภาวะสุขภาพจิตของเด็กเช่นกัน เช่น
-   การเลี้ยงดูแบบรักละปกป้องมากเกินไป (Overprotection) มักพบในพ่อแม่ที่มีปมด้อยในใจขาดความรักมาก่อน หรือในคนที่มีลูกยาก ผลที่เกิดขึ้นคือเด็กจะถูกทำลายพัฒนาความรัก กลายเป็นเด็กที่ไม่กล้าคิดไม่กล้าตัดสินใจ ต้องพึ่งพาผู้อื่นตลอดเวลา เพราะเด็กไม่ได้เรียนรู้เอง ทำให้มีความมั่นคงน้อย
-   การเลี้ยงดูแบบตามใจไม่มีขอบเขต (Overindulgence) คือการเลี้ยงดูแบบรักและตามใจ พ่อแม่สอนให้เด็กเห็นแก่ตัว เอาตัวเองเป็นจุดศูนย์กลาง เด็กจะเติบโตอยู่กับคนอื่นได้ยาก ชอบตำหนิคนอื่น
-   การเลี้ยงดูแบบวิตกกังวล (Anxious attitude) พบในแม่ที่มีประสบการณ์ไม่ดีและกลัวว่าลูกจะเป็นเหมือนตน แม่ที่มีความวิตกกังวลนี้จะทำให้เด็กกลายเป็นคนขี้กังวล (Anxious child) ได้
-   การเลี้ยงดูแบบทอดทิ้ง (Rejection) พบในพ่อแม่ที่ไม่มีการเตรียมตัวก่อนแต่งงาน พ่อแม่อายุน้อย เศรษฐกิจไม่ดี เด็กที่เกิดมาได้เพศไม่ตรงความต้องการ เด็กพิการ เจ็บป่วย หรือมีพฤติกรรมที่ผิดปกติ พ่อแม่จะไม่สนใจลูกเลยทำให้ลูกระแวงเกิดความไม่ไว้วางใจ (Mistrust) และกลายเป็นเด็กก้าวร้าวหยาบคายเป็นอันธพาลได้
-   การเลี้ยงดูแบบเข้มงวด (Perfectionist) คือ พ่อแม่จะตั้งความหวังในตัวลูกมาก จึงจัดการตั้งกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้ลูกทุกอย่าง เด็กจึงไม่ค่อยได้ใช้ความคิด และจะรู้สึกต้องพึ่งผู้อื่น (Dependent) เพราะต้องทำอะไรเพื่อสนองความต้องการของพ่อแม่ โดยเด็กเองอาจจะยอมรับความไม่สบายใจเอาไว้คนเดียว เด็กจะรู้สึกเป็นปมด้อยเมื่อทำอะไรไม่สำเร็จ และจะรู้สึกเป็นปมด้อย โตขึ้นอาจจะมีบุคลิกภาพแบบ Perfectionist ด้วย
-   การเลี้ยงดูแบบไม่คงเส้นคงวา (Inconsistency) พ่อแม่มักมีปัญหา คือ Impulsive (มีอารมณ์ที่ยับยั้งไม่ได้) เด็กจะเกิดความสับสนไม่รู้ว่าพ่อแม่จะปฏิบัติตนอย่างไร เด็กจะสนองตอบในรูปของเด็กดื้อ หงุดหงิด ก้าวร้าว และจะเลือกทำในสิ่งที่ตนพอใจเท่านั้น
สภาพจิตใจของพ่อแม่ก็มีส่วนสำคัญ ถ้าพ่อแม่มีสภาพจิตใจดี เข้าใจการเลี้ยงดูอบรมลูก พ่อแม่จะไม่รู้สึกไม่ลำบากใจที่จะให้ความสนใจอบรมสั่งสอนให้ลูกเรียนรู้ได้มากที่สุด ตรงข้ามถ้าสภาพจิตใจพ่อแม่ไม่ปกติ เช่น พ่อหรือแม่ที่เป็นโรคประสาท วิตกกังวล จะกังวลทุกสิ่งทุกอย่างและจะถ่ายทอดความกังวลมาสู่ลูก ถ้าพ่อแม่ที่โมโหร้ายปฏิบัติต่อลูกด้วยความรุนแรง เด็กจะโตขึ้นเป็นคนไม่กล้าสู้ หรือก้าวร้าวได้
ฐานะของเด็กในครอบครัวหรือลำดับการเกิด อาจทำให้แตกต่างกันในด้านการเลี้ยงดู ลูกคนแรกเป็นคนที่พ่อแม่ต้องการโดยเฉพาะถ้ามีลูกยาก ก็จะทะนุถนอมเอาใจใส่และมักจะตามใจปกป้องเกินขอบเขต ในลูกคนถัดมาจะมีการดูแลเอาใจใส่ลดน้อยลงโดยเฉพาะถ้าเป็นเพศเดียวกับคนโต เด็กจะรู้สึกว่าถูกปล่อยปะละเลยและน้อยเนื้อต่ำใจ ในลูกคนสุดท้องอาจมีการปกป้องดุแลมากขึ้น จึงมีลักษณะไม่ยอมโตต้องการการพึ่งพาอาศัยอยู่เสมอ และไม่ค่อยกล้าตัดสินใจ
พฤติกรรมบางอย่างที่เป็นปัญหาของเด็ก เช่น นิสัยที่ไม่ซื่อสัตย์ จะแสดงพฤติกรรมออกมาโดยการหยิบฉวยสิ่งของที่มิได้อนุญาต ชอบพูดชอบทำการทุจริตในการสอบ หรือนิสัยชอบขโมยสิ่งของต่างๆ เป็นต้น สาเหตุที่เด็กมีนิสัยที่ไม่ซื่อสัตย์อันเนื่องมาจาก เด็กมีความรู้สึกไม่ปลอดภัยหรือมีอารมณ์ไม่มั่นคง เด็กต้องการเรียกร้องความสนใจจากผู้อื่น เด็กมีฐานะยากจนเมื่อมีความต้องการอยากเป็นเจ้าของในสิ่งใดสิ่งหนึ่งเหมือนคนอื่น แต่เมื่อไม่สามารถจะมีได้ จึงหาโอกาสในการหยิบฉวยเพื่อสนองความต้องการของตน หรือ หรือเด็กไม่ได้รับการอบรมจากพ่อแม่หรือครูและผู้ปกครองอื่นๆ
วิธีการแก้ไขเด็กที่ไม่ซื่อสัตย์ คือ จะต้องพยายามหาสาเหตุว่าอะไรทำให้เด็กประพฤติเช่นนั้น ไม่ควรดุด่าหรือประจานการกระทำของเด็กในที่เปิดเผย ควรจะหาทางพูดคุยเรื่องปัญหาแบบส่วนตัว
นิสัยการก้าวร้าว เด็กที่ก้าวร้าวมักแสดงพฤติกรรมโดยการชอบก่อเรื่องทะเลาะวิวาท ต่อสู้ทุบตี และรังแกเด็กคนอื่น เด็กพวกนี้มักแสดงออกในแบบฉบับของเขาบางครั้ง จึงทำให้ผู้อื่นได้รับความเดือนร้อน มักจะพูดอวดดี หรือแสดงความไม่เคารพต่อผู้ใหญ่ ชอบโต้แย้ง และชอบตำหนิติเตือนกล่าวโทษผู้อื่น รวมทั้งมีอารมณ์ขุ่น มัว และหน้าบึ้งอยู่เสมอ ซึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กก้าวร้าวที่สำคัญ คือ เด็กอาจมาจากครบครัวที่ยากจน บ้านแตก ขาดการดูแล เด็กไม่ได้รับการพักผ่อนหย่อนใจในทางที่ถูกต้อง หรือเนื่องจากพ่อแม่ผู้ปกครองบังคับเข้มงวดมากเกินไป ทำให้เด็กเกิดความรู้สึกไม่พึงพอใจ และแสดงออกกับเพื่อนๆ หรือผู้อื่น
การที่เด็กจะมีเจตคติต่อผู้อื่นนั้น ความสามารถที่เด็กจะขจัดความคับข้องใจและความเครียดที่เกิดขึ้น ย่อมขึ้นอยู่กับประสบการณ์ทางด้านอารมณ์ที่เด็กได้รับจากบ้าน เด็กที่ไม่มีปัญหาเป็นเด็กที่มาจากครอบครัวที่ยอมรับเขา มีบรรยากาศอบอุ่น และได้รับความรักเอาใจใส่อย่างเพียงพอ เด็กที่ต้องการความรักความอบอุ่นจากพ่อแม่ ทำให้เด็กเรียนรู้การรู้จักทำตัวเป็นมิตรกับผู้อื่นเมื่อเขาโตขึ้น เพื่อสนองความต้องการเบื้องต้นของเด็ก พ่อแม่ควรสร้างบรรยากาศทางบ้าน ดังนี้
          1.   ให้ความรักและความต้องการเด็ก ความรู้สึกที่พ่อแม่มีต่อลูกนั้นมีอิทธิพลอย่างมาก เด็กยังคงต้องการให้พ่อแม่แสดงความรัก ความเมตตาปรานี ต้องการความช่วยเหลือที่จะเตรียมเขาให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมภายนอกได้
2.   เข้าใจเอกัตภาพของเด็ก การช่วยให้เด็กมีกำลังใจทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้สำเร็จ คือ ไม่เปรียบเทียบผลสำเร็จของตน ความสามารถ ท่าทาง หรือสิ่งอื่นๆ ของเด็กกับเด็กอื่น ผู้ใหญ่ต้องยอมรับว่าเด็กแต่ละคนย่อมมีเอกัตภาพเป็นของตนเอง
          3.   ฝึกฝนให้เด็กมีความเชื่อมั่นในตนเอง ผู้ใหญ่ให้โอกาสเด็กได้ทำในสิ่งที่อยู่ในขอบเขตกำลังความสามารถของเด็ก ความสำเร็จที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้งเป็นเครื่องมือสร้างความเชื่อมั่นในตนเองของเด็กนั่นเอง
          4.   ปลูกฝังความรู้สึกอบอุ่นมั่นคงปลอดภัย ให้เด็กมีประสบการณ์หลายๆ ครั้งในการเลือกตัดสินใจ และให้เด็กเรียนรู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างมขอบเขต ซึ่งเด็กอาจจะเป็นผู้วางเองหรือผู้ใหญ่เป็นคนกำหนดเอาไว้ก็ได้ นิสัยที่สร้างขึ้นอย่างมีเหตุผลมีขอบเขตจะช่วยให้เด็กรู้สึกมีความอบอุ่นมั่นคงในการใช้วินัย
ถ้าเด็กมีโอกาสในการแสดงออกทางอารมณ์ได้มาก เราก็จะสามารถลดปัญหาเกี่ยวกับเด็กมีปัญหา (Problem children) ลงได้มากเช่นกัน ควรให้เด็กแสดงออกทางอารมณ์ ไม่เก็บกดเอาไว้ก็จะเป็นประโยชน์กับตัวเองและคนอื่นๆ ด้วย คือ เมื่อเด็กไม่ไว้ใจผู้ใหญ่ก็จะแสดงออกมาก็จะสามารถบรรเทาปัญหาต่างๆ ลง เพราะเด็กแสดงให้เห็นว่าอะไรอยู่ในใจเด็กและสามารถที่จะช่วยเด็กให้เข้ากับคนอื่นได้ ผู้ใหญ่ต้องพยายามเข้าใจสิ่งที่เด็กแสดงออกเพราะเป็นสิ่งสำคัญมาก
          การควบคุมอารมณ์ของเด็กไม่ใช่เรื่องที่ทำให้ง่ายๆ นัก เด็กยังคงมีการแสดงออกมาบ้างเป็นบางครั้งบางคราว ซึ่งอาจออกมาในรูปเอะอะเอ็ดตะโร ต่อยตี โมโหโทโส จะเป็นวิธีใดก็ขึ้นอยู่กับสิ่งเร้าในขณะนั้น หรือวิธีที่เคยทำแล้วได้ผลมาก่อน เด็กที่โตขึ้นอาจจะแสดงความโกรธออกมาด้วยวาจา หรือมิฉะนั้นก็ทำประการหนึ่งประการใดที่จะขจัดต้นเหตุแห่งความยุ่งยากนั้นๆ วิธีการยับยั้งการแสดงอารมณ์ที่ออกมาแบบนี้ ในที่สุดก็จะเป็นแบบฉบับหนึ่งของการแสดงอารมณ์ ซึ่งรวมทั้งในทางที่ชื่นชอบและไม่ชื่นชอบ แต่บางคนควบคุมอารมณ์ของตนเองด้วยการสะกดกลั้นไว้ และไม่แสดงออกมาโดยสิ้นเชิง วิธีนี้จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิต
สภาวะทางด้านอารมณ์ของเด็ก ความโกรธเป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อมีสิ่งใด หรือบุคคลใดมาขัดขวางความปรารถนาไว้ ทำให้เกิดความคับข้องใจ (Frustration) ถ้าผิดหวังมากก็จะโกรธมากสำหรับเด็กเล็กความโกรธจะปรากฏให้เห็นเมื่อเด็กไม่สามารถทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ต้องการได้หรือเมื่อการกระทำของเด็กถูกขัดขวาง การแสดงอาการโกรธจะแตกต่างกันไปตามอายุของเด็กแต่ละคน เมื่อโตขึ้นอาจจะแสดงออกในลักษณะต่างๆกัน เช่น แสดงออกทางสีหน้า การไม่ยุ่งเกี่ยวด้วยจนถึงการทำร้ายผู้อื่น ในสถานการณ์เดียวกันอาจก่อให้เกิดความกลัวในระดับอายุหนึ่ง โกรธในอีกระดับอายุหนึ่ง และอีกระดับอายุหนึ่งอาจมีการขบขันก็ได้
ความกลัวของเด็ก ความกลัวเกิดขึ้นเมื่อเด็กรู้สึกว่าตนเองขาดความปลอดภัย (insecurity) ซึ่งจะเกิดต่อเมื่อมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาทำให้เกิดขึ้น เด็กจะแสดงความกลัวโดยการร้องและแสดงอาการกระเถิบหนีตามธรรมชาติ ความกลัวมักมีสาเหตุจากการที่เด็กต้องเผชิญกับสิ่งแปลกๆใหม่ๆโดยทันทีทันใดหรือไม่คาดฝัน ความกลัวของเด็กอาจเนื่องมาจากผู้ใหญ่ก็ได้ถ้าผู้ใหญ่แสดงอาการกลัวต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เด็กก็จะพลอยกลัวไปด้วย หรือ เกิดจากการที่ผู้ใหญ่หลอกให้เด็กกลัวสิ่งที่ไม่มีเหตุสมควร 
โดยทั่วไปความกลัวของเด็กขึ้นกับอายุและการเรียนรู้ วัยทารกนั้นยังมีความกลัวไม่มาก แต่เมื่อโตขึ้น รับรู้แยกแยะได้มากขึ้น ความกลัวก็เพิ่มจำนวนมากขึ้น ยิ่งเริ่มจินตนาการได้บางทีเด็กก็จะมีความกลัวจากจินตนาการของตนเองเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม เด็กก็จะสามารถใช้สติปัญญาความรู้ความเข้าใจต่างๆ ขจัดความกลัวในบางสิ่งบางอย่างที่เคยกลัวลงได้ ส่วนอิทธิพลของการเรียนรู้ที่มีต่อความกลัวของเด็กนั้น มองเห็นได้ค่อนข้างชัดเจน
การเรียนรู้นี้อาจมาจากประสบการณ์ของเด็กโดยตรง เช่น เคยถูกสุนัขกัด ทำให้กลัวสุนัข หรือมาจากคำบอกเล่าของคนอื่น หรือมาจากจินตนาการของเด็กเอง เมื่อเด็กเกิดความกลัว ปฏิกิริยาตอบสนองโดยทั่วไป คือ พยายามหนีสิ่งที่กลัวส่วนการเผชิญหน้าหรือกำจัดสิ่งที่กลัวนั้น เด็กไม่ค่อยจะทำ แต่ถ้าหนีทุกครั้งไป ก็ทำให้ขาดประสบการณ์บางอย่างที่เป็นประโยชน์ต่อพัฒนาการได้ การหนีสิ่งที่กลัวโดยไม่มีเหตุผลอันควรแสดงว่าเด็กยังขาดความรู้ความเข้าใจ บางครั้งผู้ใหญ่ก็ไม่ค่อยอธิบายเท่าที่ควร มักตัดปัญหาด้วยการบอกให้เด็กหลบหลีกสิ่งที่กลัวเสีย เมื่อโตขึ้นก็กลายเป็นคนหวาดกลัวสิ่งต่างๆ ที่ไม่มีเหตุผลอยู่เสมอ ถ้าเด็กรู้จักสิ่งต่างๆมากขึ้น ควบคุมสถานการณ์ต่างๆได้มากขึ้นเด็กก็จะค่อยๆหายกลัว เด็กที่ตกใจต้องการคนปลอบใจมากกว่าการดุด่า เด็กต้องการที่จะเอาชนะสถานการณ์นั้นๆด้วยตัวของเขาเอง ถ้าเด็กได้พบเห็นเหตุการณ์ต่างๆมากและพ่อแม่คอยช่วยแนะนำอธิบาย เด็กก็จะมีเหตุผลเกิดความเชื่อมั่นในตนเอง ความกลัวต่างๆก็จะค่อยๆหายไป
ความรักของเด็ก ความรัก (Affection) เป็นอารมณ์อย่างหนึ่งต่อบุคคลหรือสิ่งของ ความรักของเด็กจะเป็นไปตามธรรมชาติ เกิดจากสถานการณ์ทางสังคมและการเรียนรู้ของเด็ก เด็กจะรักผู้ที่ดูแลและให้ความเอ็นดูแก่เขาตั้งแต่ในวัยทารก และการแสดงความรักของเด็กก็จะพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเด็กรู้จักเกี่ยวข้องกับคนมากขึ้น เมื่อโตขึ้นก็จะรู้จักรักสิ่งของ เช่น ตุ๊กตา จากนั้นเด็กก็จะรักบุคคลนอกบ้านที่รักและสนใจตน เด็กจะแสดงความรักต่อผู้อื่นเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับความรักที่เด็กได้รับจากพ่อแม่ ครอบครัว ถ้าได้รับแต่ความจงเกลียดจงชังอารมณ์รักของเด็กจะไม่พัฒนาขึ้นมาเท่าที่ควร ทั้งเด็กยังต้องออกไปแสวงหาความรักจากบุคคลภายนอกบ้าน เด็กเล็กๆถ้ารักใครจะแสดงออกมาให้เห็นโดยการกอดรัด อยากอยู่ใกล้กับคนหรือสิ่งของที่ตนรักตลอดเวลา นอกจากนี้เด็กยังเต็มใจที่จะช่วยงานของคนที่ตนรัก ทำงานเล็กๆน้อยๆเท่าที่จะทำได้ เมื่อโตขึ้นเข้าโรงเรียนการแสดงออกก็เปลี่ยนไป จะกลายเป็นชอบอยู่ใกล้คนที่เด็กรัก ทำงานร่วมกัน แทนที่จะแสดงความรักแบบวัยเด็กเล็กๆ ความรักเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิต คนที่ขาดความรักไม่ว่าจะเป็นผู้ให้หรือผู้รับย่อมขาดความสุขใจรวมทั้งเกิดปมด้อยได้ ดังนั้น การเป็นผู้ที่มีความรักที่ดีและเหมาะสมจึงเป็นประโยชน์ต่อพัฒนาการทางจิตใจอย่างมากมาย
ความริษยาของเด็ก ความริษยา (Jealousy) เกิดขึ้นเมื่อเด็กต้องสูญเสียความรักไป หรือเมื่อเด็กพบว่ามีคนอื่นมาเอาสิ่งที่เขาคิดว่าเป็นสมบัติพิเศษของเขาไป อารมณ์ริษยานี้จะแสดงออกมาในลักษณะของความโกรธ อาจจะโกรธบุคคลหรือสิ่งของก็ได้ อาจจะมีความโกรธและความกลัวผสมกัน ผู้ที่เกิดอารมณ์ริษยาจะรู้สึกว่าตนเองได้รับการข่มขู่ ขาดความมั่นคงมั่นใจในการที่จะติดต่อสัมพันธ์กับบุคคลที่ตนรัก เพราะเกิดความกลัวว่าคนที่ตนรักจะไม่รักตน สาเหตุและการแสดงออกของอารมณ์ริษยาของเด็กๆนั้นขึ้นอยู่กับการฝึกฝน การเรียนรู้ของเด็ก และการปฏิบัติของคนอื่นต่อเด็ก อารมณ์นี้ทำให้เด็กมีความรู้สึกมองโลกไปในแง่ร้ายแม้ในวัยผู้ใหญ่ สิ่งเร้าที่ทำให้เกิดอารมณ์ริษยามักจะเป็นบุคคลและสถานการณ์ทางสังคม พ่อแม่หรือคนที่เลี้ยงดูเด็กมักเป็นผู้ที่ทำให้เด็กเกิดอารมณ์ริษยา
 เนื่องจากเด็กต้องการความรัก ความสนใจจากผู้ใหญ่ เด็กมักรู้สึกว่าตนต้องแข่งขันกับเด็กอื่นอยู่เสมอ ความริษยาในเด็กจะแสดงออกในรูปพฤติกรรมต่างๆ เช่น ปัสสาวะรดที่นอน กัดเล็บ ทำลายข้าวของ หรือเรียกร้องให้ผู้อื่นสนใจตน เมื่อโตขึ้นความริษยาบุคคลในบ้านจะลดลง เด็กจะเบนความสนใจไปสู่สิ่งแวดล้อมนอกบ้าน หันไปริษยาเพื่อนๆ การแสดงออกจะมาในรูปทางอ้อมมากกว่าทางตรงความริษยาของเด็กเริ่มก่อตัวจากครอบครัวก่อน และเป็นผลจากการเลี้ยงดูการแสดงออกของพ่อแม่ ถ้าพ่อแม่แสดงความสนใจเด็ก เด็กย่อมไม่เกิดความริษยามากนัก อย่างไรก็ดีอารมณ์นี้ในเด็กเล็กถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา เพราะเด็กเล็กย่อมต้องการความรัก ความสนใจ เอาใจใส่ ยังไม่ได้เรียนรู้ถึงการเอื้อเฟื้อต่อกัน พ่อแม่ผู้มีหน้าที่เลี้ยงดูเด็กจึงควรฝึกให้เด็กมีความริษยาน้อยที่สุดหรือไม่มีเลย เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่จะได้เป็นคนมีจิตใจเยือกเย็น หนักแน่น ดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
นักทฤษฎีได้ตั้งข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูกไว้ว่า อิทธิพลต่อแม่ที่มีต่อลูกนั้นไม่เป็นแค่พียงชั่วระยะเวลาปัจจุบันเท่านั้น ยังมีผลสืบเนื่องในระยะยาวต่อการปรับตัวของเด็กอีกด้วย เช่น ในกรณีของเด็กที่ถูกเลี้ยงในสถานเลี้ยงเด็กจะมีพัฒนาการล่าช้า
William Golfarb ได้ทำการทดลองโดยการเปรียบเทียบพัฒนาการระหว่างกลุ่มเด็กกำพร้า 2 กลุ่ม ซึ่งถูกเลี้ยงไว้ในสถานที่ที่มีสิ่งแวดล้อมต่างกัน ในช่วงระยะเวลา 3 ปีแรกของชีวิต พวกเด็กกำพร้ากลุ่มแรกจะถูกเลี้ยงดูในบ้านที่ให้การดูแลเอาใจใส่และให้ความอบอุ่นเท่าที่จะให้แก่เด็กได้ ส่วนอีกกล่มหนึ่งยังคงอยู่ที่สถานเลี้ยงเด็กกำพร้า ซึ่งไม่ค่อยได้รับการดูแลเอาใจใส่เฉพาะตัวมากนัก ต่อมาผู้ทำการทดลองได้ศึกษาเด็กเป็นระยะ 4 ระยะด้วยกัน โดยเริ่มเมื่อเด็กอายุได้ 3 ขวบครึ่ง 6 ขวบครึ่ง 8 ขวบครึ่ง และ 12 ขวบ Golfarb ใช้วิธีสังเกต สัมภาษณ์ Intelligence test, Personality test และดูความสำเร็จทางการศึกษา ความคล่องแคล่วในการเคลื่อนไหวอวัยวะต่างๆ การบรรลุภาวะทางด้านอารมณ์ และความสามารถทางด้านภาษา
ผลการวิจัยปรากฏว่า เด็กที่ถูกเลี้ยงในสถานเลี้ยงเด็กตลอดเวลามักจะด้อยทางด้านสติปัญญาทุกๆ ช่วงอายุที่ได้รับการทดสอบ และมักมีปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการใช้ภาษาพูดและเขียน แม้ว่าจะออกจากสถานที่นั้นไปนานแล้วก็ตาม นอกจากนี้ยังประสบปัญหาทางด้านการปรับตัว ซึ่งมักจะขาดการควบคุมตนเอง มักแสดงความก้าวร้าวบ่อยๆ การแสดงออกส่วนใหญ่จะเกินเลยขอบเขต ชอบพูดปด ขโมย ทำลายของ เด็กพวกนี้ชอบพึ่งพาผู้อื่น ต้องการความสนใจและขอความช่วยเหลือที่ไม่จำเป็นเท่าใดนัก
          นอกจากนี้ยังมีการวิจัยเกี่ยวกับบทบาทของครอบครัว Douvan และ Adeslson (1966) ศึกษาค้นพบว่า เด็กที่พ่อแม่ตายจะมีพัฒนาการแตกต่างไปจากเด็กที่มีพ่อแม่ครบ เด็กที่พอแม่ตายตอนโตมักจะเป็นคนรับผิดชอบอย่างหนัก เอาจริงเอาจังกับงานแก่เกินอายุ ซึ่งตรงกันข้ามกับเด็กที่พ่อแม่หย่าร้างหรือมีพ่อแม่ครบ
          Bartlett และ Horrocks (1958) พบว่าบ้านที่มีผู้ปกครองคนใดคนหนึ่งตายจะมีความรักใคร่ในครอบครัวน้อย สังคมระหว่างหมู่เพื่อนจะมีการรู้จักยอมรับน้อย เด็กจะมีเพื่อนน้อยอย่างเห็นได้ชัด
          Skodak and Skeels (1949) ศึกษาเด็กที่เลี้ยงในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า 2 คน อายุ 13 และ 16 ปี แต่มีความสามารถแค่เด็กอายุ 6 และ 7 เดือน การวัด I.Q พบว่ามี I.Q เพียง 46 และ 35 ร่างกายของเด็กทั้ง 2 ผอมมาก ไม่สามารถลุกขึ้นนั่ง ได้แต่ร้องไห้และสะอื้น เนื่องจากสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าอยู่ในสภาพแออัด เด็กทั้ง 2 จึงถูกนำไปไว้ในสถานเลี้ยงเด็กปัญญาอ่อนตั้งแต่อายุ 15 และ 18 เดือน เด็กทั้ง 2 จึงได้รับการเลี้ยงดูจากหญิงปัญญาอ่อน ซึ่งได้ให้ความรักความสนใจแก่เด็กทั้ง 2 ภายใน 6 เดือนต่อมาเมื่อทดสอบก็พบว่าสุขภาพและอารมณ์โดยทั่วไปดีขึ้นมาก I.Q ได้เพิ่มขึ้น 77 และ 87 ตามลำดับ และอีกหนึ่งปีต่อมาก็ได้เพิ่มขึ้นเป็น 88 และ 100 จัดเท่ากับเด็กปกติ เขาจึงสรุปว่าไม่มีอะไรเหมาะสมไปกว่าการดูแลด้วยความรัก ด้วยความอ่อนโยนของหญิงปัญญาอ่อนคนหนึ่ง ระหว่างช่วงวิกฤติของเด็กทั้ง 2 นี้
เด็กที่ได้รับการเตรียมจากครอบครัวที่ดี คือ ได้รับอาหารและการทำนุบำรุงอื่นๆ อย่างถูกต้อง ได้รับความรักเอาใจใส่อย่างเพียงพอ มีความรู้สึกอบอุ่นมั่นคง ปลอดภัย ได้รับการอบรมสั่งสอนให้รู้จักช่วยตนเอง เมื่อถึงเวลาเด็กที่ต้องออกจากบ้านไปเข้าโรงเรียนและสังคมนอกบ้าน จะช่วยให้เด็กปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ได้ง่ายขึ้น ครอบครัวจึงมีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาการเริ่มแรกของเด็กในวัยต่อๆไป โดยเฉพาะอย่าง
ยิ่งในวัยเด็กตอนต้นหรือวับก่อนเข้าเรียน ซึ่งเป็นวัยเลียนแบบ ทางบ้านจึงมีอิทธิพลในการสร้างบุคลิกภาพให้แก่เด็ก คือ ครอบครัวเป็นโลกของเด็ก เป็นที่ที่เด็กได้รับความรู้ในการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ต่างๆ ก่อนถึงวัยเข้าเรียน ซึ่งเด็กที่ที่มาจากบ้านที่เป็นประชาธิปไตย มีบรรยากาศอบอุ่น มีอิสรภาพ มีการสนทนากันในระหว่างพ่อแม่ลูก สามารถถกเถียงแลกเปลี่ยนความติดเห็นในการตัดสินใจ เด็กพวกนี้มักจะเป็นผู้นำกลุ่ม คล่องแคล่วว่องไว เปิดเผยร่าเริง สังคมเก่ง ชอบที่จะแสดงความคิดเห็นและอารมณ์ต่างๆ
หากแต่ครอบครัวมีปัญหาอะไรก็ตาม ปัญหาต่าง ๆ ก็จะเกี่ยวโยงมายังเด็กอย่าง หลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหา หรือความยุ่งยากทางสังคมตามมา เราอาจพอสรุปปัญหาที่จะ เกิดขึ้นดังนี้
1. ปัญหาเด็กหนีโรงเรียน อาจจะเกิดจากเด็กที่มีฐานะครอบครัวยากจนไปโรงเรียนโดยขาดอุปกรณ์ในการเรียนขาดเสื้อผ้าที่สะอาดเรียบร้อยอาจถูกเพื่อนล้อเลียนทำให้อับอายหรือทำการบ้านไม่ได้ นอกจากนี้อาจเกิดจากตัวของเด็กเอง เพราะเด็กจะสนใจเพื่อนต้องการความเป็นอิสระจากผู้ใหญ่ ฉะนั้นถ้าเด็กขาดความอบอุ่นจากทางบ้านเด็กยิ่งจะ"ตามเพื่อน"มากยิ่งขึ้น
2. ปัญหาเด็กหนีออกจากบ้านปัญหานี้เกิดจากความไม่พอใจของเด็กด้านต่างๆ เช่น พ่อแม่ดุด่าเฆี่ยนตีจนทนไม่ไหว บิดา มารดาแยกกันอยู่หรือหย่าร้าง ความไม่สงบสุขในครอบครัว ต่างๆ เป็นต้นว่าบิดาดื่มสุรามึนเมาอาละวาด ทุบตีบุตร ภรรยา เป็นประจำเหล่านี้เป็นต้น
3. ปัญหาเด็กติดยาเสพติดเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่เกิดจากการขาดความรัก ความอบอุ่นของครอบครัว เด็กจะถูกชักจูงให้เสพย์ยาเสพติดง่ายยิ่งขึ้น จากผลการติดยาเสพติดของเด็กจะนำไปสู่การลักทรัพย์ หรือการทำร้ายร่างกายบุคคลอื่นได้นอกจากปัญหาใหญ่ๆ 3 ประการนี้แล้วอาจมีกรณีเด็กทำผิดกฎหมายด้านอื่นๆ เช่น ทำอนาจารข่มขืนกระทำชำเราการพกพาอาวุธปืนหรือวัตถุระเบิดการเล่นการพนันตลอดจนการใช้เวลา ส่วนมากในการมั่วสุมตามสถานเริงรมย์ต่างๆ เป็นต้น
จะเห็นได้ว่าปัญหาทั้งหลายที่เกิดขึ้นนั้นมีความเกี่ยวพันกันโดยตลอด ซึ่งอาจจะเริ่มจากปัญหาการหนีเรียนก่อนแล้วเด็กอาจจะหนีออกจากบ้านหรือออกไปมั่วสุมกับเพื่อนๆ เป็นเหตุให้เกิดปัญหาด้านความประพฤติตามมาไม่ว่าจะเป็นการลักขโมย หรือ ติดยาเสพติด หรือเล่นการพนันก็ตามปัญหาทั้งหมดเริ่มจากบ้านหรือครอบครัว หรือจะกล่าวสั้น ๆ ว่า เริ่มจากบิดามารดาหรือผู้ใหญ่ในบ้านนั่นเองความเดือดร้อนหรือปัญหาทั้งหลายที่เกิดกับผู้ใหญ่ในครอบครัว บางปัญหาอาจจะยากต่อการแก้ไขจะมีผลกระทบต่อเด็กโดยตรง ซึ่งทำให้บุคลิกภาพของเด็กเสียหายก่อให้เกิดความยุ่งยาก เป็นภาระแก่สังคมบางครั้งเด็กอาจหมดโอกาสที่จะติบโตขึ้นเป็นคนดีไม่สามารถทำประโยชน์ให้กับส่วนรวมหรือครอบครัวได้ 
ฉะนั้น จึงเป็นหน้าที่ของทุกครอบครัวที่จะต้องเอาใจใส่ต่อลูกของตน ทั้งในด้านความเจริญเติบโตทางกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญา ตลอดจนปลูกฝังด้านคุณธรรม จริยธรรม ความขยัน หมั่นเพียรในการทำงาน
และสร้างบรรยากาศของบ้านให้ความอบอุ่น มีความเป็นประชาธิปไตย เพื่อที่จะหล่อหลอมให้ลูกๆ ได้เจริญเติบโตเป็นพลเมืองที่ดีของสืบไป
นอกจากปัญหาดังกล่าวนี้แล้ว ปัญหาที่สำคัญอีกปัญหาหนึ่งซึ่งเป็นผลกระทบโดยตรงที่เด็กได้รับจากครอบครัว คือ ปัญหาทางด้านการเบี่ยงเบนทางเพศที่เกิดจากปัญหาภายในครอบครัว เช่น ครอบครัวบ้านแตก เด็กที่เกิดจากครอบครัวที่พ่อแม่ ทะเลาะกันทุกวันหรือมีการหย่าร้าง หรือว่าแยกกันอยู่ พ่อไปทาง แม่ไปทาง ไม่ได้รับการเลี้ยงดูเอาใจใส่เท่าที่ควร อยู่กับบิดาหรือมารดา ต่างฝ่ายต่างว่าร้ายกันให้เด็กฟัง ทำให้เด็กมีความฝังใจเกลียดเพศตรงกันข้าม ไม่ยอมคบหาสมาคม แต่งงาน หรือคบเพื่อนต่างเพศ ชอบเพื่อเดียวกัน เพราะไม่ต้องการมีปัญหาเหมือนวัยเด็ก หรืออีกสาเหตุหนึ่งที่สำคัญ คือ บิดามารดาห้ามคบเพศตรงข้าม เนื่องจากความรักลูกมากเกรงว่า จะเลือกคบคนไม่ดี กลัวว่าลูกถูกหลอกทำให้เสียใจภายหลัง นานๆ เข้าเด็กผู้ชายจะปฏิเสธเด็กผู้หญิงและมีพฤติกรรมแบบเกย์ เด็กผู้หญิงเมื่อถูกเล่าให้ฟังมากๆ ถึงความร้ายกาจของผู้ชาย จึงหันมานิยมเพศเดียวกันแทน จึงกลายเป็นปัญหาทอมดี้
ในปัจจุบันพฤติกรรมรักร่วมเพศก็ยังคงมีอยู่ในทุกประเทศทั่วโลก ซึ่งควรที่จะหาแนวทางการป้องกันและแก้ไข ชี้แนะแนวทางที่ถูกที่ควรต่อไป คือ พ่อแม่และบุคคลในครบครัว ควรให้ความรักความอบอุ่น และเป็นตัวอย่างที่ดีแก่บุตรหลาน ไม่ควรตามใจเด็กหรือเข้างวดกับเด็กมากเกินไป ควรมีความพอเหมาะพอควร ควรชี้ให้เห็นถึงผลเสียของการรักร่วมเพศ ในการดำเนินชีวิตในภายภาคหน้า ค่อยๆ แก้ไข และปรึกษาหารือไม่ควรมองเห็นบุตรหลานเป็นแปลกหน้า
ความสัมพันธ์อย่างอบอุ่นภายในครอบครัว รวมทั้งโอกาสที่จะได้รับประสบการณ์คบหากับบุคคลภายนอกครอบครัว จะช่วยให้รู้จักการสร้างมิตรภาพกับผู้อื่นและรักษาไมตรีไว้ได้นาน ดังนั้น พ่อแม่ควรปรับปรุงการเข้าสังคมของลูกดังนี้ คือ การสร้าบรรยากาศเป็นกันเองกับลูก ให้ความรักความเอาใจใส่ พยายามเข้าใจความต้องการและความสามารถของเด็ก ฝึกให้มีความเชื่อมั่นในตนเอง รู้แพ้รู้ชนะ การให้และการรับทุกคราที่เด็กทำกิจกรรมสำเร็จ
ปัญหาสภาวะทางจิต โรคประสาท (neurosis) เป็นความผิดปกติของจิตใจ จึงไม่จำเป็นต้องไปเช็คประสาทด้วย การตรวจคอมพิวเตอร์หรือเอ็กซเรย์ อาการของโรคประสาทมีทั้งทางร่างกายและจิตใจ
แนวทางในการป้องกันและแก้ไข คือ พ่อแม่ควรให้ความรักเอาใจใส่ต่อบุตรหลาน เพื่อจะได้มีสิ่งแวดล้อมที่ดี มีความอบอุ่น เพื่อต่อสู้ในอุปสรรคในวันข้างหน้า หรือเมื่อมีความทุกข์ ความคับข้องใจอย่าเก็บไว้คนเดียว ควรหาทางระบายกับผู้ที่สนิท นักสังคมสงเคราะห์ ซึ่งโรคประสาท อาจจำแนกเป็น 8 ประเภท ได้แก่
1.  โรคประสาทหวาดกังวล (Anxiety reaction) มีความวิตกกังวลมากเกินไป จิตนาการถึงสิ่งต่างๆ ไปร้อยแปดพันประการ กลัวคนคิดร้าย กลัวเรียนไม่สำเร็จ กลัวหางานทำไม่ได้ ฯลฯ โรคประสาทชนิดนี้จะหายไปเองได้ ถ้าหากว่าความกลัว ความกังวล ความวิตกทุกข์ร้อนในเรื่องต่างๆ หมดไป
2.   โรคประสาทตื่นกลัว (Phobia neurosis) กลัวทุกสิ่งทุกอย่างจนเกินเหตุ เช่น กลัวความมือ กลัวที่สูง จะมีอาการหน้าซีด ใจสั่น มือสั่น เหงื่อออก บางครั้งจะเป็นลมง่ายๆ
3.   โรคประสาทย้ำคิดย้ำทำ (Obessive compulsive reaction) มักจะทำอะไรรอบคอบเกินไป เช่น ก่อนออกจากบ้าน จะตรวจดุเตาแก๊ส 10 ครั้ง ปลั๊กไฟ 5 ครั้ง กุญแจ 3 ครั้ง ฯลฯ
4.   โรคประสาทเศร้า (Depressive reaction) เคยมีเรื่องกระทบกระเทือนใจ ที่ทำให้ต้องเสียใจเป็นระยะเวลายาวนาน จนเกิดอาการซึมเศร้า เช่น ข่าราชการเกษียณอายุ แต่ปรับกายและใจให้ยอมรับไม่ได้ สูญเสียของรัก คนรัก ฯลฯ เกิดจากการชอบเก็บความลับ ความคับข้องใจไว้ไม่ยอมระบายให้ใครฟัง หรือไม่ยอมแสดงออก มักมีอาการท้องผูก ปวดกล้ามเนื้อ ปวดตัว ประจำเดือนผิดปกติ
5.   โรคประสาทนิวราสธิเนีย (Neurasthenia) โลกนี้ไม่น่าอยู่ในความคิดของเขา คิดว่าไม่มีใครต้องการตน ต้องการเป็นที่รักของคนอื่นอยู่เรื่อยไป มีอาการอ่อนเปลี้ยเพลียแรง หงุดหงิด มึนศีรษะ อาจเกิดขึ้นในระยะตกงาน สอบตก ความไม่สมหวังดังใจปรารถนา
6.   โรคประสาทดีเปอร์ซัลนัลไลเซซั่น (Depersonalization) หรือเรียกอีกอย่างว่า โรคแดนสนธยา มักคิดว่าสิ่งแวดล้อมรอบตัวไม่น่าอยู่ มองสิ่งต่างๆ แปลกเหมือนคนอื่นจนเหมือนกับอยู่คนละโลก
7.   โรคประสาทสุขภาพ ไฮโปคอนติแอค (Hypochondriac) มีอาการหวาดวิตกจนเกินเหตุ คิดว่าตนเองป่วยเป็นโรคนั้นโรคนี้ทั้งๆ ที่ตรวจสอบแล้วปกติ
8.   โรคประสารทฮีสทีเรีย (Hystheria) ชอบเอะอะโวยวาย เจ้าอารมณ์ เกิดจากการถูกตามใจแต่เด็ก เมื่อไม่ได้ดั่งใจจะมีอาการดังกล่าวข้างต้น บางคนอาจชักกระตุก บางคนอาจจะแน่นิ่งไปเลย หรือบางคนจะไล่กอดเพศตรงกันข้าม ที่เคยนึกฝันไว้และได้มาพบ
ทุกครอบครัวจึงต้องมีหน้าที่รับผิดชอบต่อสภาพของสังคมในอนาคตด้วย นั่นคือ ถ้าทุกครอบครัวได้ปฏิบัติตามหน้าที่ของตนเป็นอย่างดีแล้วก็อาจจะคาดหวังได้ว่าสังคมในอนาคตย่อมเป็นสังคมที่ผาสุกและมีความเป็นปึกแผ่น มั่นคง เราอาจพอสรุปหน้าที่ของครอบครัวได้ดังต่อไปนี้ คือ หน้าที่ในการส่งเสริมความเจริญเติบโตส่วนบุคคลของลูกการเจริญเติบโตนี้หมายถึง การเจริญเติบโตทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์สังคมและสติปัญญาซึ่งต้องพิจารณาร่วมกับปัจจัย 4 ด้วย บิดา มารดา ต้องเข้าใจลูกในทุก ๆ ด้าน เช่น ความสนใจ ความสามารถพิเศษต่างๆ และพร้อมที่จะส่งเสริมให้เขาเจริญก้าวหน้าเต็มที่เพื่อทำให้เขาสามารถช่วยเหลือตัวเองและทำประโยชน์แก่ สังคมได้มากที่สุด รวมทั้งการให้ความรัก ความอบอุ่น มั่นคง ปลอดภัย เช่น ไม่ เปรียบเทียบลูกของตนว่าด้อยกว่าลูกของคนอื่นแสดงออกให้ลูกรู้สึกว่าถึงเขาจะมีสภาพอย่างไรพ่อแม่ก็ยังคงรักและต้องการเขาอยู่เสมอ ให้ลูกมีโอกาสแสดงความคิดเห็นต่างๆ ตลอดจนสร้างความรักความผูกพันระหว่างพ่อแม่ พี่น้องในครอบครัว
 สิ่งนี้จะเป็นรากฐานสำคัญของสุขภาพจิตที่ดีของเด็ก และการสร้างความเป็นปึกแผ่น มั่นคงให้แก่ครอบครัว ในกรณีดังกล่าวมีความหมายรวมกันทั้ง 2 ประการคือ ความสัมพันธ์ใกล้ ชิด รักใคร่ ปรองดองกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของพ่อแม่และมีภาวะการเงินที่มั่นคงพอที่จะเลี้ยงดูครอบครัวให้มีความสุขตามอัตภาพลูกที่เกิดในครอบครัวที่พ่อแม่รักใคร่กลมเกลียวกัน  พ่อแม่มีสุขภาพดีทั้งทางกายและทางจิต ลูกย่อมมีความสุขและเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพต่อไปเนื่องจากปัจจุบันสภาพของสังคมได้เปลี่ยนไปค่าของเงินไม่สูงเหมือนในสมัยก่อนมาตรฐานการครองชีพก็สูงขึ้นบางครั้งทั้ง พ่อ-แม่ต้องออกไปทำงานนอกบ้านเพื่อให้คงความเป็นปึกแผ่นทางด้านฐานะทางการเงิน ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดปัญหากับลูกได้ ฉะนั้น ผู้ที่เป็นหัวหน้าครอบครัวหรือพ่อ-แม่ ต้องมีการวางแผนชีวิตเพื่อมิให้ครอบครัวต้องประสบกับความเดือดร้อน ต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น