วันพฤหัสบดีที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2556

ปัญหาการลักลอบค้าวัตถุโบราณ นางสาวกมลลักษณ์ อู่เงิน 53261859


บทความเชิงวิชาการ
เรื่อง ปัญหาการลักลอบค้าวัตถุโบราณ

มรดกทางศิลปวัฒนธรรมโดยเฉพาะโบราณสถานโบราณวัตถุศิลปวัตถุเป็นสิ่งที่บรรพบุรุษได้สรรค์สร้างขึ้นมาเป็นสมบัติอันมีค่าอย่างยิ่งยากที่จะหาสิ่งใดมาเทียบเทียมได้ โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ เป็นสิ่งที่หาค่ามิได้หมายความว่ามรดกทางวัฒนธรรมของมนุษยชนเกิดจากพุทธิปัญญาของชนเหล่าใดย่อมแสดงคุณค่าในตัวของตนเองโดยสมบูรณ์ผิดแผกแตกต่างกันไปเป็นสิ่งที่หายากยิ่งไม่สามารถเอาเงินตรา ทองคำหรือสิ่งอื่นใดอันมีค่าจำนวนมากมาตีค่าเทียบเป็นราคาตลาดได้นอกจากนี้มรดกทางศิลปวัฒนธรรมสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่มีคุณค่าทางศิลปะ ประวัติศาสตร์ โบราณคดี เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรื่องทางอารยธรรมของประเทศชาตินับแต่อดีตกาลจึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสงวนรักษาอนุรักษ์โบราณวัตถุศิลปวัตถุเหล่านี้ไว้มิให้สูญหายไปจากผืนแผ่นดินไทยการขโมยวัตถุโบราณทำให้เราสูญเสียข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่จะใช้เพื่อศึกษาชีวิตความเป็นอยู่ในสมัยโบราณและพัฒนาการของชุมชนมรดกทางวัฒนธรรมคือกาวประสานทางสังคมและมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องคือสิ่งตอกย้ำรากฐานทางสังคมพวกปล้นสุสานไม่เพียงทำลายอดีตแต่ยังหมายถึงอนาคตด้วยในเชิงเศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่นจะได้ผลตอบแทนเพียงเล็กน้อยเท่านั้นจากการขโมยวัตถุโบราณแต่ในระยะยาวพวกเขาสูญเสียโอกาสด้านการท่องเที่ยวซึ่งอาจหมายถึงงบประมาณจากภาครัฐในแต่ละประเทศเป็นจำนวนมากการขโมยโบราณวัตถุมักอาศัยความร่วมมือในระดับระหว่างประเทศคนที่ขุดขโมยของโบราณมักมีส่วนเกี่ยวข้องกับองค์กรอาชญากรรมหรือแม้แต่กลุ่มก่อการร้ายโดยส่วนใหญ่แล้วความเสี่ยงสำหรับพวกขุดค้นลักลอบถือว่าน้อยมากเนื่องจากไม่ค่อยมีการจับกุมและโทษที่ได้รับก็ไม่ได้น่าหนักกลัวเท่าไรนักที่สำคัญพ่อค้าคนกลางและผู้รับซื้อเป็นผู้ที่ได้กำไรมากที่สุดก็มักจะไม่ถูกดำเนินคดีนักสะสมเองก็มักเป็นผู้มีฐานะทางสังคมสูงทำให้กลายเป็นกระบวนการที่ไม่มีคนกล้าแตะต้องพิพิธภัณฑ์ทั่วโลกต่างทำเป็นนิ่งเฉยเมื่อมีการพูดถึงเรื่องการส่งออกหรือลักลอบขุดวัตถุโบราณอย่างผิดกฎหมาย 

การลักลอบค้าโบราณวัตถุไม่ใช่เรื่องใหม่เลยสำหรับนักโบราณคดีตำรวจผู้สนใจเรื่องมรดกวัฒนธรรมตลอดจนนักค้าของเก่าการค้าโบราณวัตถุนั้นมีมานานแล้วดังเห็นได้จากพ.ร.บ.โบราณสถานฯ ฉบับ พ.ศ.2504 ก็มีการกำหนดบทลงโทษในเรื่องนี้แล้ว เมื่อวิเคราะห์ดูแล้วการค้าโบราณวัตถุ มี 2 ประเภทใหญ่ คือ การค้าภายในประเทศและการค้าข้ามชาติ

การค้าภายในประเทศน่าจะพัฒนามาจากการติดต่อกับตะวันตกช่วงสมัยอาณานิคมมีการรับเอาค่านิยมในการสะสมของเก่าซึ่งในระยะแรกจะอยู่ในชนชั้นสูงและแวดวงข้าราชการโดยเฉพาะมหาดไทยและกลาโหมของเก่าเช่นพระพิมพ์พระพุทธรูปหรือประติมากรรมในศิลปะเขมรจะเป็นของกำนัลสำหรับบรรดาเจ้านายทั้งหลายการสะสมของเก่านั้นนอกเหนือจากการเก็บเพราะสนใจและเพื่อเป็นสิริมงคลแล้วยังแสดงถึงรสนิยมอันศิวิไลซ์ของผู้สะสมอีกด้วยเพราะในต่างประเทศนั้นมีแต่เฉพาะบรรดาเศรษฐีที่สามารถจะสะสมของล้ำค่าเช่นนี้ได้ต่อมามีบรรดาเศรษฐีใหม่เกิดขึ้นมากมายในยุคเศรษฐกิจฟองสบู่การสะสมโบราณวัตถุก็สามารถใช้แสดงสถานภาพของตนได้เมื่อความต้องการของเก่ามีเพิ่มขึ้นก็เริ่มเกิดกระบวนการร้านค้าของเก่าพ่อค้าคนกลางช่างซ่อมแซมและทำเลียนแบบกลุ่มคนท้องถิ่นที่ชำนาญในเรื่องการลักลอบขุด และชาวบ้านที่เป็นมือสมัครเล่นแหล่งโบราณคดีที่ถูกทำลายมีทั้งแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์และสมัยประวัติศาสตร์แหล่งที่เป็นเป้าหมายนั้นขึ้นอยู่กับความนิยมเฉพาะช่วงเวลา เช่น ช่วง พ.ศ.2515 นั้น หม้อเขียนสีบ้านเชียงมีราคาสูงมากแหล่งโบราณคดีแถบลุ่มแม่น้ำสงครามจึงถูกทำลายอย่างยับเยินเรื่องนี้โด่งดังถึงขนาดถูกบรรจุไว้ในตำราเรียนวิชาโบราณคดีเบื้องต้นในประเทศสหรัฐอเมริกาทีเดียวลูกปัดแก้วสีต่างๆจากอู่ทองเป็นที่ต้องการในฐานะเรื่องรางของขลังผลคือเมืองโบราณอู่ทองถูกขุดเป็นหลุมบ่อจนพรุนทั้งพื้นที่ เป็นต้น

ส่วนการค้าขายโบราณวัตถุข้ามชาตินั้นน่าจะเริ่มปรากฏอย่างเข้มข้นในช่วงหลังสงครามเวียดนาม กระบวนการนี้ก็ไม่แตกต่างจากการค้าภายในประเทศนักคือมีคนไทยเป็นกำลังสำคัญและเป็นมืออาชีพในการลักลอบขุดค้นทำลาย
ข้อแตกต่างที่ชัดเจนจากการค้าขายภายในประเทศเห็นจะเป็นเม็ดเงินที่มากกว่าของที่ค้ามีขนาดใหญ่กว่าและมีเครือข่ายซับซ้อนจากต่างประเทศทั้งจากประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เอเชียยุโรปอเมริกา และออสเตรเลีย

ประเทศไทยเป็นที่รู้จักในหมู่นักสะสมของเก่าว่าเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการค้าโบราณวัตถุผิดกฎหมายตัวอย่างที่ชัดเจนคือการค้าทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ซึ่งถูกโจรกรรมไปจากประเทศไทยเมื่อ พ.ศ.2508 แล้วเมื่อ พ.ศ. 2516 ทับหลังฯถูกส่งไปขายที่สหรัฐอเมริกา พบครั้งหลังสุดที่สถาบันศิลปะชิคาโก นัยสำคัญของทับหลังอยู่ที่ว่ามีกระบวนการค้าโบราณวัตถุที่ผิดกฎหมายอย่างมีตัวตนแล้วตั้งแต่ครั้งนั้นมีการกะเทาะโบราณวัตถุออกจากโบราณสถานแล้วเคลื่อนย้ายมาที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาและทำเลียนแบบอย่างเป็นเรื่องเป็นราวดังเป็นข่าวหน้าหนึ่งเมื่อเร็วๆนี้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมืองไทยเมื่อประมาณสามสิบกว่าปีมาแล้วได้ย้อนกลับมาเกิดขึ้นกับประเทศเพื่อนบ้านในปัจจุบันผิดกันแต่เพียงว่าขณะนั้นชาวต่างชาติเป็นผู้กระทำการคนไทยเป็นผู้ส่งเสริมคราวนี้คนไทยเป็นผู้กระทำและมีชาวเขมรเป็นกำลังสำคัญดังรายงานเรื่อง"แก๊งค้าของเก่าคืนชีพ : ช่องโหว่ที่กรมศิลป์ละเลย"ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจฉบับวันที่ 6 กรกฎาคม 2542 ตลอดระยะเวลา10ปีที่ผ่านมานับแต่เราได้ทับหลังฯคืนมาความนิยมในศิลปะเขมรมีมากขึ้น ทำให้เกิดขบวนการลักลอบค้าขายโบราณวัตถุจากกัมพูชาเป็นทวีคูณ  

อาจกล่าวได้ว่าความต้องการนักสะสมทั้งส่วนบุคคลและสถาบันเอกชนที่มีมากขึ้นในปัจจุบันมีส่วนทำให้เกิดการประเมินค่าของโบราณวัตถุเป็นจำนวนเงินที่สูงมากดังนั้นจึงมีคนจำนวนหนึ่งพร้อมที่จะเสี่ยงทำผิดกฎหมายเป็นที่น่าสังเกตว่าคนเหล่านี้มักจะไม่ใช่คนในชุมชนหรือท้องถิ่นนั้นๆในขณะเดียวกัน บทลงโทษของการกระทำผิดต่อทรัพย์แผ่นดินก็ไม่รุนแรงเท่ากับการค้ายาเสพติดหรือลักรถยนต์ซึ่งมักถูกวิสามัญฆาตกรรมประกอบกับมีช่องว่างในการดำเนินงานของหน่วยงานที่รับผิดชอบที่ไม่มีศักยภาพเพียงพอในการปกป้องมรดกทางวัฒนธรรมได้หมดทั้งประเทศอีกทั้งไม่มีกฎหมายหรือการดำเนินงานร่วมมือระหว่างประเทศอย่างจริงจังในการปกป้องทรัพยากรทางวัฒนธรรมในหมู่ประเทศเพื่อนบ้านจึงทำให้กระบวนการลักลอบค้าโบราณวัตถุเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วและมีระบบเครือข่ายที่ซับซ้อน

ประเทศไทยถูกมองว่าเป็นตลาดใหญ่ในการค้าวัตถุโบราณโดยเฉพาะจากประเทศกัมพูชา โดกัลป์ โอไรล์ลี ผู้อำนวยการและผู้ก่อตั้งองค์กร Heritage Watch ซึ่งนักโบราณคดีที่เข้ามาทำงานเพื่อพิทักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของกัมพูชา กล่าวว่าจากการเข้ามาทำงานอยู่ที่กัมพูชานี้พบว่ามีโบราณวัตถุและศิลปะวัตถุของกัมพูชาได้สูญหายไปมากโดยเส้นทางการเดินทางของสินค้านั้นมีอยู่สองทางหลักคือทางบกจะเข้าทางชายแดนมาที่ตลาดกรุงเทพฯและทางน้ำจากท่าเรือกำปงโสมไปยังสิงคโปร์โดยมี2บริษัทประมูลใหญ่คือ คริสตี้และซอเทบี้มีบทบาทสำคัญในการจำหน่ายโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุจากเอเชียอาคเนย์ โดยทั้งสองบริษัทนี้มีสำนักงานอยู่ใน ฮ่องกง กรุงเทพฯ สิงคโปร์ กัวลาลัมเปอร์และอื่นๆ

ตลอดระยะเวลา 15 ปี มานี้ทางซอเทบี้ทำรายได้จากการขายศิลปวัตถุจากกัมพูชาได้เป็นมูลค่าถึง  7 ล้านเหรียญ ( 280 ล้านบาท)โดยราคาสินค้าจะมีตั้งแต่ 500 เหรียญจนถึง 2 แสนเหรียญ  ดูเหมือนว่ากรุงเทพฯจะมีวัตถุจากกัมพูชาอยู่มากแม้ไม้สามารถระบุแหล่งที่มาแต่หลายๆชิ้นที่วางจำหน่ายอยู่ในกรุงเทพฯนั้นทาง Heritage Watch พบว่ามีหลายชิ้นคือที่ส่วนที่หายไปจากกัมพูชา จากการศึกษาของ Heritage Watch พบว่า ในปี 1996 มีการจับกุมการลักลอบนำเข้าศิลปวัตถุจากกัมพูชาถึง1,600 ชิ้นและเพียงแค่ 6 เดือนแรกของปี 2000มีการจับกุมได้1,000ชิ้นที่นำข้ามแดนไทย-กัมพูชาเข้ามา"มีการประมาณการว่าศิลปวัตถุที่นำข้ามชายแดนกัมพูชาที่เข้ายังฝั่งไทยทั้งที่เป็นของแท้และของปลอมน่าจะมีมูลค่าถึงประมาณ22ล้านเหรียญสหรัฐฯ" โอ ไรล์ลี กล่าวในการนำเสนอในการประชุมเชิงปฏิบัติการของโครงการ Imaging Our Mekong ที่โรงแรมวันเวย์ ณ กรุงพนมเปญโดยสำนักข่าว IPS ปัจจุบันประเทศกัมพูชาเองได้มีความตระหนักถึงคุณค่าของศิลปวัตถุและโบราณวัตถุเหล่านั้นอย่างมากและได้พยายามทุกทางเพื่อให้ศิลปวัตถุและโบราณวัตถุเหล่านั้นยังคงอยู่หนึ่งในนั้นคือการใช้ชุมชนเข้มแข็งช่วยกันพิทักษ์ทรัพย์สินของตนเอง มีตัวอย่างที่ปราสาทพนมชีซอร์ซึ่งเป็นปราสาทที่สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าสุริยะวรมันที่1ยุคเดียวกับเขาพระวิหารที่มีวัดที่อยู่ติดกันนั้นเองได้อบรมให้เด็กๆได้เรียนรู้และรู้จักถึงความสำคัญของปราสาทและที่อยู่เด็กๆที่นั่นแม้ยากจนแต่เริ่มรู้รักและหวงแหนปราสาทดังกล่าวนอกจากนี้ยังมีการจัดเวรยามของหมูบ้านมาดูแลปราสาทดังกล่าวด้วยทำให้ศิลปวัตถุและโบราณวัตถุที่พนมชีซอร์ค่อนข้างสมบูรณ์เมื่อเทียบกับปราสาทอื่นๆของกัมพูชาโดยความเสียหายที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่มาจากช่วงสงครามอินโดจีนที่ถูกอเมริกาทิ้งระเบิดลงมาทำลายปัจจุบันทางกัมพูชาและอีก107ประเทศได้ลงนามรับรองอนุสัญญาของUNESCOที่มีข้อตกลงห้ามนำเข้าทรัพย์สินที่เป็นศิลปวัตถุและมีการติดตามเฝ้าระวังการค้าวัตถุโบราณตามชายแดนของประเทศของตัวเองนอกจากนั้นก็ยังได้ลงนามรับรองอนุสัญญาUNDRIOTว่าด้วยการขโมยและส่งอกวัตถุทางวัฒนธรรมโดยผิดกฎหมายเพื่อเป็นการปกป้องทรัพย์สินของชาติ"น่าเสียดายว่าประเทศไทยและประเทศสิงคโปร์ไม่ได้ลงนามรับรองในอนุสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าว จึงทำให้การลักลอบส่งออกศิลปวัตถุจากกัมพูชาจะยังคงเป็นปัญหาต่อไป"

เหตุปัจจัยที่ต้องเป็นวัตถุโบราณจากกัมพูชา
ประการแรกสถานการณ์การเมืองภายในประเทศกัมพูชาที่ยังไม่มั่นคงมีส่วนเอื้ออำนวยต่อการปฏิบัติการลักลอบค้าโบราณวัตถุเป็นอย่างยิ่งเชื่อว่าบุคคลสำคัญที่มีส่วนรู้เห็นในการกระทำครั้งนี้น่าจะเป็นคนที่มีสีไม่จากฝ่ายรัฐบาลเองก็เป็นเขมรแดงหรือกระทั่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยเองนอกจากนี้ความยากจนของประชาชนในประเทศก็มีส่วนทำให้เกิดมือสมัครเล่นมากมายขึ้นมาสนับสนุนดังจะเห็นได้จากการนำของเก่าขนาดเล็กมาขายตามสถานที่ท่องเที่ยวในกัมพูชาทั่วไป เช่น เขาพระวิหาร นครวัด-นครธม
ประการที่สองปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายหรือการควบคุมเกี่ยวกับโบราณวัตถุสถานของประเทศกัมพูชาอีกทั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านโบราณคดีในกัมพูชาก็อยู่ระหว่างการฟื้นฟูมีการอบรมนักโบราณคดีและภัณฑารักษ์โดยความช่วยเหลือจากต่างประเทศมากมายนอกจากนี้หลังจากการสำรวจที่ได้กระทำไว้ไม่มากนักเมื่อหลายสิบปีก่อนโดยสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพาทิศก็ยังไม่มีการขึ้นทะเบียนโบราณสถานโบราณวัตถุเลยทำให้ไม่อาจทราบว่าโบราณสถานทั้งหมดมีจำนวนเท่าไรอายุเท่าไรมีอะไรบ้าง จึงมีเรื่องที่น่าเศร้าใจยิ่งเกิดขึ้นเสมอเช่นมีการรื้อปราสาทเล็กเกือบทั้งหลังจำนวนหลายต่อหลายแห่งในบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา และทำการขนย้ายโบราณวัตถุออกมาหลายระลอกเป็นเวลาหลายปีมาแล้ว
ประการที่สามผลจากการรณรงค์เรื่องทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์และการประชาสัมพันธ์เรื่องการท่องเที่ยวปราสาทเขมรในประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นปราสาทพนมรุ้งหรือพิมายรวมทั้งเอกสารตีพิมพ์เกี่ยวกับศิลปะเขมรที่เพิ่มขึ้นในระยะ10ปีที่ผ่านมาทำให้ศิลปกรรมเขมรมีราคาสูงขึ้นในตลาดค้าขายโบราณวัตถุและเป็นที่ต้องการของนักสะสมทั้งภายในและภายนอกประเทศจากคำสารภาพของผู้ต้องหาที่ถูกจับได้ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่รายงานในหนังสือพิมพ์ข่าวสดได้ให้การว่ามีใบสั่งตรงที่ได้รับมาว่าต้องการโบราณวัตถุศิลปะเขมร มีการระบุประเภทศิลปกรรมอย่างชัดเจน นับเป็นการยืนยันประเด็นนี้อย่างไม่ต้องสงสัย
นอกจากนี้ราคาของโบราณวัตถุก็เป็นแรงจูงใจสำคัญแม้ว่าในหลักการวิชาชีพโบราณวัตถุทุกชิ้นมีคุณค่าอย่างหาค่ามิได้จึงไม่สามารถแม้แต่ประเมินเป็นเงินแต่ในแง่ปฏิบัติในเรื่องกฎหมายและคดีความนักโบราณคดีและภัณฑารักษ์จะต้องประเมินคุณค่าของโบราณวัตถุให้กับเจ้าหน้าที่สอบสวนเมื่อคุณค่าทางจิตใจของวัตถุนั้นสูงมากสำหรับนักโบราณคดีก็อาจจะทำให้ประเมินคุณค่าเป็นเงินที่สูงผลที่เกิดขึ้นคือ โบราณวัตถุเหล่านั้นกลายเป็นสิ่งล่อใจทุจริตชนทั่วไปและมีการลักลอบค้าขายตามมาสำหรับการทำงานเมื่อเทียบกับการประกอบอาชีพผิดกฎหมายอื่นๆการลักลอบขุดค้นหรือค้าโบราณวัตถุเป็นอาชีพที่ทำรายได้เป็นจำนวนมากโดยแทบไม่ต้องลงทุนอะไรมากมายนักนอกจากความใจถึงมีเครื่องไม้เครื่องมือในการขุดการสกัดหินและขนย้ายก็มักจะใช้แรงคนเป็นส่วนมากไม่ต้องใช้เครื่องจักรที่ซับซ้อน
ประการที่สี่การอนุญาตให้มีการค้าศิลปะโบราณวัตถุอย่างอย่างถูกกฎหมายตามศูนย์การค้าที่มีชื่อหลายแห่งในกรุงเทพฯเป็นช่องโหว่สำคัญที่ทำให้เกิดระบบใบสั่งของการค้านอกระบบและการลักลอบเคลื่อนย้ายโบราณวัตถุจากโบราณสถานต่างๆดังที่เป็นข่าวครึกโครมในปัจจุบันการค้าโบราณวัตถุอย่างถูกกฎหมายนี้เป็นการเลียนแบบประเทศที่พัฒนาแล้วในเรื่องตลาดการค้าเสรีของศิลปะโบราณวัตถุโดยประเทศประชาธิปไตยเหล่านั้นเช่นสหรัฐอเมริกาเชื่อว่าถ้าเอกชนเป็นเจ้าของก็จะช่วยดูแลรักษาป้องกันการทำลายแหล่งโบราณคดีกรณีของประเทศไทยกลับเกิดตรงกันข้ามคือเจ้าของร้านมีส่วนพัวพันกับการส่งเสริมการทำลายเสียเอง
ประการสุดท้ายปัจจุบันหน่วยงานที่รับผิดชอบยังไม่ให้ความสำคัญเรื่องวัฒนธรรมของมนุษยชาติและวัฒนธรรมของประเทศเพื่อนบ้านเท่าที่ควรอีกทั้งยังไม่มีกฎหมายระหว่างประเทศที่คุ้มครองทรัพยากรทางวัฒนธรรมของประเทศเพื่อนบ้านแม้ว่าประเทศไทยจะประกาศตนเรื่องมรดกโลกซึ่งหมายความว่าเป็นสมบัติของมนุษย์ทุกเชื้อชาติทุกศาสนาทุกอุดมการณ์ทางการเมืองแต่ความเข้าใจเกี่ยวกับ"มรดกโลก"ยังไม่มีในหมู่ประชาชนทั่วไปหรือแม้กระทั่งในหมู่นักโบราณคดีหรือนักศึกษาโบราณคดีซึ่งมองว่า"วัฒนธรรมของคนอื่นไม่สำคัญเท่ากับของคนไทย"ทั้งๆที่นครวัด-นครธมก็จัดเป็นมรดกโลกเช่นเดียวกับบ้านเชียงสุโขทัย– อยุธยา
หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนต่างเข้าใจดีกว่าการปราบปรามการลักลอบขนวัตถุโบราณเป็นไปได้ยากในส่วนของการขุดลักลอบขโมยในเขตชนบทได้มีการให้ศึกษาข้อมูลขั้นพื้นฐานและทำแผนประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องรัฐบาลไทยได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการขึ้นที่พิพิธพัณฑ์บ้านเชียงในจังหวัดอุดรธานีเพื่อให้ผู้เยี่ยมชมได้เรียนรู้เกี่ยวกับความสำคัญของโบราณสถานยุคก่อนประวัติศาสตร์ซึ่งมีอายุย้อนไปถึง3600ปีก่อนคริสตกาลศูนย์ศึกษาและวิจัยแห่งนี้ยังทำหน้าที่อนุรักษาด้านวัฒนธรรมไปพร้อมกันโครงการที่สำคัญโครงการหนึ่งคือสอนคนท้องถิ่นเกี่ยวกับเทคนิคโบราณในการผลิตสินค้าเครื่องปั้นดินเผาสำหรับจำหน่ายเป็นของที่ระลึกนายธีระสลักเพชรรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมของไทยกล่าวว่าจนถึงปัจจุบันวัตถุโบราณกว่า3,000ชิ้นสูญหายไปหลังจากถูกขุดค้นจากบ้านเชียงนับตั้งแต่มีการขุดค้นพบในปี 2509 โดยได้เปิดเผยกับหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ในเดือนมีนาคมปี2553 ว่า มีการ"ยึดวัตถุโบราณที่โดนลักลอบเกือบ1000รายการได้ในต่างประเทศเมื่อไม่นานมานี้และวัตถุเหล่านั้นจะถูกส่งกลับมาเร็วๆนี้เขาเป็นหนึ่งในผู้ที่เรียกร้องให้มีการส่งคืนวัตถุโบราณ"เพื่อประโยชน์ของคนรุ่นหลัง"       องค์กรต่างๆเช่นชื่นชมทางมรดกวัฒนธรรมยังได้ให้ความรู้แก่ชาวกัมพูชาในการบริหารธุรกิจขนาดเล็กและผลิตสินค้าทำด้วยมือสำหรับจำหน่ายให้แก่นักท่องเที่ยวการให้ความรู้เกี่ยวกับความสำคัญของการอนุรักษ์วัฒนธรรมมีความสำคัญยิ่งกว่าการพยายามหยุดขบวนการลักลอบขนวัตถุโบราณข้ามพรมแดนเนื่องจากความเสียหายจะเกิดขึ้นไปแล้วกับโบราณสถาน


มาตรการการปกป้องมรดกวัฒนธรรม
กรมศิลปากร ออกมาตรการควบคุมการลักลอบนำวัตถุโบราณออกนอกประเทศ
นางอมรา ศรีสุชาติ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครกรมศิลปากรกล่าวถึงมาตรการเฝ้าระวังการลักลอบนำวัตถุโบราณออกไปต่างประเทศซึ่งกำหนดไว้ใน 2 เส้นทางหลักคือบริเวณสนามบิน และท่าเรือ ทั้งนี้กรมศุลกากรจะเป็นผู้ตรวจสอบและแจ้งมายังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหากพบการลักลอบนำวัตถุโบราณออกนอกประเทศในส่วนของสนามบินภูมิภาคนั้นได้มอบหมายให้สำนักศิลปากรจังหวัดดำเนินการตรวจสอบสำหรับร้านขายเครื่องศิลปวัตถุที่ได้รับการอนุญาตทำเลียนแบบประมาณ100ร้านค้า หากพบการลักลอบนำวัตถุโบราณของจริงออกนอกราชอาณาจักรไทยจะถูกดำเนินการตามกฎหมายพ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2535 มาตรา 22 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 - 10 ปี ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท
สำหรับปัญหาของการลักลอบนำวัตถุโบราณที่เกิดขึ้นสาเหตุหนึ่งมาจากการตีมูลค่าศิลปวัตถุเป็นเงินและตามใบสั่งจากพ่อค้าวัตถุโบราณจึงเป็นจุดสนใจให้คนในท้องถิ่นหาเงินในทางที่ไม่ถูกต้องส่งผลให้วัตถุโบราณตามแหล่งโบราณสถานสำคัญทั้งของไทยและเพื่อนบ้านมีการลักลอบเกิดขึ้นอยู่อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้กรมศิลปากรได้เข้าไปสร้างจิตสำนึกให้แก่คนในชุมชนด้วยการสร้างเครือข่ายอนุรักษ์ปกป้องมรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติและท้องถิ่นรวมทั้งกระจายอำนาจไปยังหน่วยงานปกครองท้องถิ่นช่วยกันดูแลรักษาด้วย

มีการพระราชบัญญัติ โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มาตราที่ 1-37
เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้คือเนื่องจากกฎหมายว่าด้วยโบราณสถานโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันมีบทบัญญัติบางประการที่ไม่เหมาะสมและไม่รัดกุมเพียงพอในด้านการคุ้มครองดูแลรักษาการบูรณะและการซ่อมแซมโบราณสถานโบราณวัตถุ และศิลปวัตถุ กำหนดอัตราโทษไว้ต่ำกว่าทำให้มีผู้กระทำผิดเกี่ยวกับการลักลอบบุกรุกขุดค้น และทำลายโบราณสถานลักลอบนำหรือส่งโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุที่มีคุณค่าทางศิลปะประวัติศาสตร์หรือโบราณคดีออกนอกราชอาณาจักรมากขึ้นนอกจากนี้ปรากฏว่าในปัจจุบันมีการผลิตและการค้าสิ่งเทียมโบราณวัตถุและสิ่งเทียมศิลปวัตถุเป็นจำนวนมากสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติให้เหมาะสมเพื่อให้การคุ้มครองดูแลรักษาการบูรณะ การซ่อมแซมโบราณสถานโบราณวัตถุศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติและการควบคุมการผลิตและการค้าสิ่งเทียมโบราณวัตถุหรือสิ่งเทียมศิลปวัตถุให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสมควรปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับใบอนุญาตและหนังสืออนุญาตอัตราโทษและอัตราค่าธรรมเนียมท้ายพระราชบัญญัติให้เหมาะสมยิ่งขึ้นรวมทั้งแก้ไขบทบัญญัติอื่นที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกันด้วยจึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
มีการจัดทำโครงการสำรวจและขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุศิลปวัตถุทั่วราชอาณาจักรจึงเป็นมาตรการหนึ่งที่จะช่วยลดปัญหาการลักลอบโจรกรรมป้องกันการทำลายสูญหายช่วยคุ้มครองและรักษาโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและทรัพย์สมบัติของชาติไว้ทั้งทางตรงและทางอ้อมในทางตรงคือโบราณวัตถุใดที่กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนแล้วบทลงโทษแก่ผู้ลักลอบโจรกรรมหรือทำลายมีการลงโทษทั้งจำและปรับในทางอ้อมแม้ว่าโบราณวัตถุชิ้นใดที่ถูกโจรกรรมจะไปปรากฏขึ้นในประเทศใดก็ตามย่อมมีหลักฐานรายละเอียดและภาพถ่ายที่จะฟ้องร้องเรียกคืนได้
 การประกาศขึ้นทะเบียนเป็นสมบัติของชาติโดยอาศัยอำนาจของอธิบดีกรมศิลปากรตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพุทธศักราช ๒๕๐๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๑๔ ความว่า "เมื่ออธิบดีเห็นว่าโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุที่มิได้อยู่ในความครอบครองของกรมศิลปากรมีประโยชน์หรือคุณค่าในทางศิลปะประวัติศาสตร์หรือโบราณคดีเป็นพิเศษ อธิบดีมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษาขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุนั้น"และเมื่อโบราณวัตถุ หรือศิลปวัตถุที่ได้ประกาศขึ้นทะเบียนแล้วยังคงอยู่ในความครองครองดูแลของเจ้าของต่อไปแต่ในกรณีที่อธิบดีเห็นว่าโบราณวัตถุใดไม่ว่าจะได้ขึ้นทะเบียนแล้วหรือไม่สมควรสงวนไว้เป็นสมบัติของชาติอธิบดีมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดให้โบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุนั้นเป็นโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุที่ห้ามทำการค้าและหากเห็นสมควรเก็บรักษาไว้เป็นสมบัติของชาติให้อธิบดีมีอำนาจจัดซื้อเก็บรักษาไว้เป็นสมบัติของชาติ

การขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ จำแนกได้เป็น ๒ ประเภท คือ
๑. โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่อยู่ในความดูแลของกรมศิลปากรซึ่งได้แก่โบราณวัตถุศิลปวัตถุที่เป็นทรัพย์แผ่นดินโบราณวัตถุศิลปวัตถุที่อยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ แหล่งโบราณคดี อุทยานประวัติศาสตร์ต่าง ๆ โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบจะจัดทำทะเบียนบัญชีแสดงทรัพย์สินของแผ่นดินไว้ในรูปของทะเบียนโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และบัตรประจำวัตถุแต่ละรายการไว้
๒. โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ในครอบครองของวัดและเอกชนโดยการสำรวจทำบัญชีและคัดเลือกโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุชิ้นสำคัญและมีคุณค่าพิเศษและประกาศขึ้นทะเบียนในราชกิจจานุเบกษา

กระบวนการขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ
การขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ มีขั้นตอนการดำเนินการ ๖ ขั้นตอน ดังนี้
๑. สำรวจโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุทั่วราชอาณาจักร ซึ่งมีแหล่งที่ต้องไปสำรวจได้แก่
๑.๑ สำรวจวัดที่สำคัญ ๆ หรือวัดที่มีอายุเก่าแก่ตามจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ
๑.๒ สำรวจตามบ้านเอกชนที่เก็บรักษาโบราณวัตถุไว้
๑.๓ สำรวจตามพิพิธภัณฑสถานของเอกชน
๑.๔ สำรวจตามร้านค้าโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ
๑.๕ สำรวจตามส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ
๒. ทำบัญชีรายละเอียดและถ่ายภาพโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุทุกชิ้นที่สำรวจพบ
๓. วิเคราะห์ วิจัย และประเมินคุณค่าโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุทุกชิ้นที่สำรวจพบ
๔. นำเสนอข้อมูลโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ โดยละเอียดให้คณะกรรมการระดับกรมตรวจพิจารณาคัดเลือก
๕.นำบัญชีรายการโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการฯเสนอให้อธิบดีกรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิมพ์ประกาศขึ้นทะเบียนในหนังสือราชกิจจานุเบกษา
๖.แจ้งให้แก่วัดหรือเจ้าของผู้ครอบครองโบราณวัตถุศิลปวัตถุที่ได้ขึ้นทะเบียนรับทราบพร้อมแจ้งระเบียบปฏิบัติและการดูแลรักษา ตลอดจนการเผยแพร่และติดตามเมื่อเกิดการโจรกรรมสูญหาย

อนาคตควรทำอย่างไรดี
กรมศิลปากรในฐานะตัวแทนของประเทศไทยควรมีความจริงใจในการแก้ปัญหาระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกับประเทศกัมพูชาในเรื่องการป้องกันและการแก้ปัญหาการลักลอบซื้อขายและนำโบราณวัตถุออกนอกประเทศถึงแม้ว่าประเทศไทยจะยังมิได้ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยการส่งคืนโบราณวัตถุแก่ประเทศเจ้าของก็ตามแต่ก็ต้องอาศัยอำนาจกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ให้เต็มที่กล่าวคือโบราณวัตถุของเขมรทั้งหมดที่เป็นของกลางเมื่อทำการตรวจพิสูจน์ตามกระบวนการทางโบราณคดีเสร็จแล้วถ้าชิ้นใดสามารถตรวจสอบได้ว่าเป็นของเขมรก็ควรจะส่งคืนแก่ประเทศกัมพูชาโดยเร็วเพราะเป็นความชอบธรรมของชาวเขมรในการครอบครองดูแลและจัดการทรัพย์แผ่นดินของเขาโดยอาจจะประสานกับองค์การยูเนสโกในการจัดทำทะเบียนและบันทึกข้อมูลทั้งหมดสำหรับการศึกษาวิจัยต่อไปในอนาคตเมื่อเราไม่ชอบการกระทำของประเทศมหาอำนาจที่ปล้นทรัพย์สินทางวัฒนธรรมของประเทศโลกที่สามซึ่งอยู่ภายใต้อาณานิคมของตนแล้วนำไปไว้ที่พิพิธภัณฑ์ชั้นนำของโลกเช่น British Museum ประเทศไทยก็ยิ่งไม่สมควรที่จะกระทำเยี่ยงเดียวกันต่อประเทศกัมพูชาผลงานทางวิชาการมีความสำคัญในการรณรงค์ปลุกจิตสำนึกประชาชนทั่วไปให้รักษามรดกวัฒนธรรมเป็นอย่างยิ่งองค์ความรู้ทางวิชาการเป็นหัวใจของกลยุทธ์ในการกำหนดทิศทางด้านการจัดการทางวัฒนธรรมเพราะเรื่องราวที่เป็นผลจากการค้นคว้าวิจัยของนักโบราณคดีจะทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจเห็นคุณค่าโบราณวัตถุสถานและเกิดสำนึกในการอนุรักษ์ในที่สุดสำนึกในเรื่องการปกป้องมรดกทางวัฒนธรรมนั้นไม่ควรเป็นหน้าที่ของกรมศิลปากรฝ่ายเดียวแต่เป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนที่พึงจะต้องช่วยกันดูแลทรัพยากรทางวัฒนธรรม
การลักลอบค้าโบราณวัตถุคงจะดำเนินต่อไปถ้าตราบใดที่ยังมีผู้นิยมชมชื่นของเก่ามีคนจิตใจต่ำช้าที่เห็นประโยชน์จากการทำลายโบราณสถานและมีคนยากจนอยู่ในสังคมที่ถูกใช้ประโยชน์ทั้งรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือถึงการณ์ตราบนั้นเราก็ยังคงเห็นข่าวแบบนี้กันอย่างไม่รู้จบ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น