วันอังคารที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2556

ค่านิยมทางวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงไปในสังคมปัจจุบัน นางสาววันวิสา สีวัน 53242513

บทความเชิงวิชาการ
เรื่อง ค่านิยมทางวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงไปในสังคมปัจจุบัน


          วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่แสดงเอกลักษณ์ความเป็นชาติ เป็นรากฐานความมั่นคงของชาติ เป็นสิ่งที่แสดงศักดิ์ศรี เกียรติภูมิ และความภาคภูมิใจชาติที่มีวัฒนธรรมอันดีงานมสืบทอดความเป็นชาติอันยาวนานจึงมีศีลปะวัฒนธรรมอันมากมายที่ต้องอนุรักษ์ฟื้นฟู และสืบทอดให้คงความเป็นมรดกคู่ชาติ ประเทศไทยนั้น รัฐบาลแต่ละสมัยได้ให้ความสำคัญในการส่งเสริมอนุรักษ์และพัฒนาวัฒนธรรมไทยอย่างต่อเนื่อง ส่วนในเรื่องค่านิยมนั้นนับว่าเป็นเรื่องสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมอย่างมาก เพราะค่านิยมจะทำหน้าที่เป็นบรรทัดฐานหรือมาตรฐานของพฤติกรรมทั้งหลายของประชาชนในสังคมไทยถูกแบ่งออกเป็น 2 ด้าน คือด้านลบ เช่น การนิยมพิธีการและการทำบุญเกินกำลัง การนิยมความฟุ่มเฟือย การขาดระเบียบวินัย และด้านบวกหรือค่านิยมที่พึงประสงค์ เช่น การใช้ชีวิตสอดคล้องธรรมชาติ การนิยมคุณงามความดี ความมีน้ำใจ ค่านิยมลบย่อมนำมาแต่ความเสื่อมเสีย ส่วนค่านิยมบวกนั้นย่อมเป็นประโยชน์ต่อสังคมการถ่ายทอดวัฒนธรรมจากคนรุ่นเก่าไปยังสมาชิกใหม่ของสังคม เกิดขึ้นโดยผ่านกระบวนการเลี้ยงดูเด็กและการขัดเกลาทางสังคม เริ่มต้นจากพ่อ แม่ ญาติ เพื่อน และสื่อต่าง ๆ ซึ่งถือว่าเป็นตัวแทนทางสังคมที่ทำหน้าที่ปลูกฝังถ่ายทอดปลูกฝังวัฒนธรรม เริ่มจากการเป็นแบบอย่างให้เด็กเลียนแบบจนเป็นความเคยชินซึมซับจนกลายเป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่งของเด็กโดยไม่รู้ตัวสิ่งเหล่านี้จะช่วยกล่อมเกลาเด็กให้เกิดการเรียนรู้และรับถ่ายทอดวัฒนธรรมรวมทั้งค่านิยมที่ผิดๆไปด้วย  วัฒนธรรมเป็นตัวกำหนดรูปแบบของสถาบันซึ่งมีลักษณะแตกต่างกันไปในสังคม วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่กำหนดพฤติกรรมของมนุษย์ พฤติกรรมของคน ขึ้นอยู่กับสังคมนั้นๆและวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ควบคุมสังคมสร้างความเป็นระเบียบเรียบร้อยให้แก่สังคม เพราะในวัฒนธรรมจะมีทั้งความศรัทธา ความเชื่อ ค่านิยม บรรทัดฐาน เป็นต้น
      ส่วนในปัจจุบันนั้นค่านิยมทางวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงไปนั้นอาจจะมีทั้งทางที่ดีและทางที่ไม่เป็นประโยชน์นัก การรับเอาวัฒนธรรมที่ผิดๆจากทางต่างประเทศบ้างการทำลายวัฒนธรรมเก่าๆของสังคมไทยทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสิ่งเหล่านี้จึงกลายเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมที่ต้องได้รับการแก้ไขและการทำความเข้าใจที่ถูกต้อง การรับเอาวัฒนธรรมจากต่างชาตินั้นมิได้มีแต่ด้านลบเสมอไปหากเรารู้จักการนำมาประยุกต์ใช้กับสังคมไทยนั้นก็มีประโยชน์มากมายเช่นกัน ส่วนมากนั้นเยาวชนในสังคมปัจจุบันรับเอาค่านิยมที่ผิดๆทำให้เกิดปัญหาทางสังคมทำให้เกิดความเดือดร้อนเกิดพฤติกรรมที่ผิดๆค่านิยมทางวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงไปก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในสังคม ถึงอย่างไรก็ตามวัฒนธรรมไทยยังแสดงถึงอัตลักษณ์ความเป็นชาติไทยรวมถึงวัฒนธรรมที่ดีงามของไทยสืบเนื่องต่อมา และควรแก่การอนุรักษ์รูปแบบของวัฒนธรรมเดิมมากกว่าทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางเสื่อมเสีย
การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม
                       สังคมไทยก็เหมือนกับสังคมมนุษย์ทั้งหลายในโลกที่ไม่หยุดอยู่นิ่งๆ หากมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับสังคมอื่นๆ ในระดับเดียวกันแล้ว  ก็อาจกล่าวได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจนคนส่วนใหญ่ในสังคมปรับตัวเองไม่ทัน  จนเกิดปัญหาทางวัฒนธรรมที่ต้องมีการแก้ไขกันตลอดมา  ทั้งนี้ก็เพราะแต่เดิมสังคมไทยเป็นสังคมเกษตรกรรมประชาชนส่วนใหญ่อยู่ในชนบทที่มีการทำนาและการเพาะปลูกเป็นอาชีพหลัก  การผลิตแต่เดิมก็เป็นแต่เพียงให้พอมีพอกิน ไม่ได้ผลิตอย่างใหญ่โตเพื่อส่งออกไปค้าขายกับต่างประเทศ จึงไม่มีความจำเป็นในการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีแต่อย่างใด  แต่ในปัจจุบันสังคมเปลี่ยนมาเป็นสังคมอุตสาหกรรมที่มุ่งหวังผลิตสิ่งต่างๆ เพื่อส่งออกไปขายนอกประเทศ  การผลิตผลิตผลทางการเกษตรซึ่งแต่เดิมผลิตเพื่อเลี้ยงตัวเองด้วยเทคโนโลยีง่ายๆ แบบดั้งเดิม  ก็เปลี่ยนมาเป็นการผลิตเป็นจำนวนมากโดยอาศัยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าทันสมัยเข้ามาช่วย  มีการลงทุนและการใช้ที่ดินอย่างกว้างขวาง  โดยเฉพาะการใช้ที่ดินก็มีการขยายเขตการเพาะปลูกพืชพันธุ์นานาชนิดไปตามบริเวณต่างๆ โดยเฉพาะที่ดอนและที่ตามป่าเขา  ก่อให้เกิดการรุกล้ำป่าสงวนและการทำลายสภาพแวดล้อมอย่างกว้างขวางการผลิตแบบที่เป็นแบบเกษตรอุตสาหกรรมที่ชาวบ้านธรรมดาทั่วไปซึ่งไม่มีศักยภาพทั้งในด้านเงินทุน  กำลังคน และเทคโนโลยีจะทำได้ จึงเป็นเรื่องของบุคคลร่ำรวยที่เป็นนายทุน
                       สิ่งที่ควบคู่กันไปกับการเกษตรอุตสาหกรรมคือการขยายตัวทางอุตสาหกรรม  เกิดโรงงานอุตสาหกรรมที่นำทรัพยากรต่างๆ ของประเทศมาผลิตสินค้าประเภทต่างๆ  อย่างมากมาย  ทำให้เกิดย่านอุตสาหกรรมและย่านพาณิชยกรรมขึ้นตามเมืองต่างๆ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคมากมาย  เหล่านี้ล้วนมีผลทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานของผู้คนในท้องถิ่นต่างๆ อยู่ตลอดเวลา  มีทั้งการย้ายจากถิ่นหนึ่งไปอีกถิ่นหนึ่ง  เช่น ในภาคอีสานไปอยู่ทางภาคกลางและภาคใต้  เป็นต้น  กับการย้ายจากท้องถิ่นในชนบทเข้ามาทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมหรือทำงานเป็นกรรมกรในเมืองซึ่งการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานดังกล่าวนี้มีผลกระทบทางสังคมและวัฒนธรรมของผู้คนที่อยู่ในชนบทและในเมืองเป็นอย่างมาก  ในสังคมชนบทนั้นแต่เดิมอยู่กันอย่างเรียบง่ายในกรอบของประเพณีที่มีจารีตและขนบธรรมเนียมท้องถิ่นคอยควบคุมให้ผู้คนอยู่กันอย่างสงบสุข   ปัจจุบันเมื่อคนรุ่นหนุ่มสาวย้ายออกไปทำงานที่อื่นโดยเฉพาะผู้ที่เป็นหัวหน้าครอบครัวขาดหายไปเป็นเวลาหลายๆ  เดือน  ทำให้สภาพครอบครัวขาดความสมบูรณ์  เด็กไม่มีความอบอุ่น  ในขณะที่คนรุ่นใหม่ก็หมดความเชื่อถือในความรู้ความสามารถต่อการเป็นผู้นำของคนรุ่นก่อนเพราะตนได้เล่าเรียนความรู้ใหม่ๆ จากในเมืองมีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆได้  พร้อมกันนั้นก็รับเอาความทันสมัยหลายๆอย่างมาจากภายนอก จึงทำให้หมดความเลื่อมใสและเชื่อถือในสิ่งที่เป็นจารีตและประเพณีของท้องถิ่นที่เคยมีบทบาทในการสร้างและควบคุมความสัมพันธ์ทางสังคม  ความขัดแย้งจึงเกิดขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในบางแห่งที่มีกลุ่มชนกลุ่มใหม่เข้าไปขยายที่ทำกินและตั้งถิ่นฐาน จนทำให้เกิดลักษณะบ้านแบบใหม่ๆ เช่น บ้านจัดสรร ขึ้นนั้น เกือบจะทำให้ความเป็นสังคมท้องถิ่นแต่เดิมล่มสลายลงไปก็ว่าได้  ทั้งนี้เพราะคนในท้องถิ่นปรับตัวไม่ทัน  ความเรียบง่ายและการอยู่ร่วมกันที่ไม่มีความแตกต่างในเรื่องของชนชั้นก็หมดไป  สังคมใหม่ที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้เป็นสังคมที่ซับซ้อนแบบมีชนชั้น และความรู้สึกในเรื่องการเป็นปัจเจกบุคคลก็มีปรากฏทั่วไปในชนบท
          ส่วนในสังคมเมืองนั้นภาวะความแออัดเพิ่มขึ้นจนยากแก่การควบคุม  ความเป็นสังคมเปิดที่ทำให้ติดต่อกับภายนอกได้อย่างสะดวกสบายนั้น  เป็นผลให้คนได้แต่รับอิทธิพลวัฒนธรรมที่หลากหลายจากภายนอกเข้ามา โดยไม่มีความรู้ความเข้าใจว่าสิ่งที่รับเข้ามานั้นเหมาะสมหรือไม่กับบ้านเมืองของตน  เข้ากันได้กับสิ่งที่มีมาแต่เดิมเพียงใด  เมื่อไม่มีการกลั่นกรองความขัดแย้งก็เกิดขึ้น การยึดมั่นถือมั่นในลักษณะการปกครองแบบประชาธิปไตยที่หยุดนิ่งอย่างเป็นอุดมคติก็ดี    นโยบายทางเศรษฐกิจทุนนิยมแบบเสรีที่เป็นการส่งออกของรัฐบาลก็ดี  ล้วนเป็นสิ่งที่ชักจูงคนในสังคมรุ่นใหม่ให้หันไปเห็นความสำคัญทางวัตถุและความเป็นปัจเจกบุคคลตลอดเวลา  ทำให้สังคมมีความซับซ้อนทางเศรษฐกิจและสังคมเพิ่มขึ้นจนยากแก่การควบคุมเกิดกลุ่มอาชีพกลุ่มผลประโยชน์ที่หลากหลายจนเป็นชนชั้นที่มีความแตกต่างกันมากมาย  โดยเฉพาะช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน จนกล่าวได้ว่าปัจจุบันผู้มีอำนาจทางเศรษฐกิจเท่านั้นที่มีอิทธิพลในเรื่องการเมืองการปกครองของประเทศ  และการรักษาผลประโยชน์ส่วนตัวก็ดี  หรือผลประโยชน์ของแต่ละกลุ่มแต่ละเหล่าก็ดี  มีผลนำไปสู่การละเมิดกฎหมายอยู่เนืองๆ
                      การเน้นในเรื่องอุตสาหกรรมทำให้เมืองมีประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว  อันเนื่องมาจากการเคลื่อนย้ายของประชากรจากภายนอกเข้ามา โดยเฉพาะการเคลื่อนย้ายของพวกชาวนาในชนบทที่เข้ามาเป็นกรรมกรตามโรงงานอุตสาหกรรม  กรรมกรทำงานก่อสร้าง  ตลอดจนคนงานลูกจ้างด้านบริการต่างๆ นั้น  ทำให้เกิดปัญหาทางสังคมอย่างมากมาย  อย่างเช่น ปัญหาชุมชนแออัด  แหล่งเสื่อมโทรม  ปัญหาเรื่องการลักขโมย  ปล้นจี้  ซึ่งรวมไปถึงปัญหาทางโสเภณีและการว่างงานด้วย  สิ่งต่างๆ เหล่านี้นำมาสู่ปัญหาของความไม่มั่นคงภายในที่เป็นส่วนรวม   ถ้ามองให้กว้างกว่าเมืองออกไปถึงบริเวณชานเมืองรอบนอกที่แต่เดิมเป็นชนบท ก็จะพบว่าหลายๆ แห่งทีเดียวที่เปลี่ยนแปลงจากสังคมชาวนามาเป็นสังคมกรรมกร  เพราะผู้ที่เป็นชาวนาแต่ก่อนเคยมีที่ดินทำการเพาะปลูกด้วยตนเองนั้น  มีเป็นจำนวนมากที่ขายที่ดินให้กับนายทุนเพื่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรม  หรือไม่ก็เพื่อทำการเพาะปลูกพืชไร่ในลักษณะที่เป็นเกษตรอุตสาหกรรม  จึงต้องเปลี่ยนสภาพและฐานะตนเองเป็นกรรมกรรับจ้าง  ทำงานให้กับกิจการทางอุตสาหกรรมเหล่านั้น   นับเป็นการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตจากรูปแบบหนึ่งมาสู่อีกรูปแบบหนึ่งที่แตกต่างไปจากเดิม ซึ่งการปรับตัวเองเข้าสู่วิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบใหม่นี้ไม่ใช่ของง่าย   ผู้ที่ประสบความล้มเหลวอาจกลายเป็นคนยากจนที่มีความเสื่อมทางด้านจิตใจและศีลธรรมที่จะนำไปสู่ปัญหาทางสังคมนานัปการได้
แนวคิดเกี่ยวกับวัฒนธรรมและการเปลี่ยนแปลง
                   วัฒนธรรมเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของสังคมมนุษย์ และเป็นแบบแผนในการดำเนินชีวิตของคนในสังคม  นอกจากนั้นวัฒนธรรมยังเป็นตัวกำหนดพฤติกรรม หรือความประพฤติของมนุษย์ในแต่ละสังคมด้วย ความหมายของคำว่า วัฒนธรรม อาจแปรเปลี่ยนไปตามภูมิหลังของผู้ให้คำนิยาม  ดังที่ Kraeber and Kluckhohn  (2007) นักมานุษยวิทยาชาวอเมริกันในบทความเกี่ยวกับวัฒนธรรม ได้กล่าวไว้ว่าความหมายของคำว่า Culture นั้น ได้ให้คำจำกัดความไว้มากถึง 156 อย่าง  ซึ่งเขาได้รวมไว้ใน 6 หมวดด้วยกัน คือ การให้คำนิยามในความเชิงพรรณนา (descriptive) เชิงประวัติศาสตร์ (historical) เชิงบรรทัดฐาน (normative) เชิงจิตวิทยา (psychological) เชิงโครงสร้าง (structural) และเชิงประวัติความเป็นมา วัฒนธรรมมิได้เป็นเพียงศิลปะชั้นสูงหรือมารยาทชั้นสูงที่บางคนมักจะกล่าวว่าบุคคลผู้นั้นมีวัฒนธรรม เนื่องจากการแต่งตัวดี มีมารยาทดี และบุคคลผู้นั้นไม่มีวัฒนธรรม เพราะแต่งตัวสกปรก พูดจาไม่มีกาลเทศะ ทั้งนี้เนื่องจากการใช้คำว่า วัฒนธรรมในความหมายของประเพณีนั่นเอง  การให้ความหมายของวัฒนธรรมนั้นหากไปติดอยู่กับความหมายที่ว่า วัฒนธรรมเป็นสิ่งของ ที่ขึ้นอยู่กับองค์กรนั้นองค์กรนี้  เราจะมองไม่เห็นอะไรที่แตกต่างจากการให้คำนิยามแบบเดิม ๆ  ดังนั้น จึงมีผู้ให้คำจำกัดความของคำว่าวัฒนธรรมที่แตกต่างออกไป ดังเช่น Harrison and Stokes (as cited in Seel, 2000) ได้ให้ความหมายของคำว่าวัฒนธรรมในแง่ของอำนาจ บทบาท ความสำเร็จหรือการค้ำจุน   เสฐียรโกเศศ (2524, หน้า 5)  กล่าวถึงวัฒนธรรมอย่างน่าฟังว่า วัฒนธรรมตามความหมายของวิชามานุษยวิทยา ได้แก่ สิ่งอันเป็นวิถีชีวิตของสังคม คนในส่วนรวมของสังคมจะคิดอย่างไร รู้สึกอย่างไร มีความเชื่ออย่างไร ก็แสดงออกให้ปรากฏเห็นเป็นรูปภาษา ประเพณี กิจการงาน การละเล่น การศาสนา เป็นต้น  ตลอดจนเป็นสิ่งต่าง ๆ ที่คนในส่วนรวมสร้างขึ้น เช่น สิ่งอันจำเป็นแก่วิถีชีวิตและการครองชีพ มีเรื่องปัจจัยสี่ เครื่องมือ เครื่องใช้ เหล่านี้เป็นต้น ความคิด ความรู้สึก ความเชื่อที่สำแดงออกให้ปรากฏเป็นสิ่งต่าง ๆ  . . . แล้วถ่ายทอดสืบต่อกันมาหลายชั่วคน มีการเพิ่มเติมเสริมสร้างสิ่งใหม่ ปรับปรุงสิ่งเก่าให้เข้ากัน . . .  นี่คือ ความหมายของวัฒนธรรม
                       จากที่กล่าวมาแล้วจะเห็นได้ว่า วัฒนธรรม คือ พิมพ์เขียว (รูปแบบที่กำหนดไว้) สำหรับชีวิตความเป็นอยู่ที่สังคมมนุษย์ต้องมีส่วนร่วม  ทั้งนี้รวมถึงเรื่องของสัญลักษณ์ ความรู้ ความเชื่อ และค่านิยม ดังนั้น วัฒนธรรมจึงเป็นสิ่งที่มีลักษณะดังนี้  คือ      
          1. เป็นแบบพฤติกรรมที่เกิดจากการเรียนรู้ ทั้งนี้รวมถึงด้านทัศนคติ ค่านิยม ความรู้ วัฒนธรรมที่อยู่ใน        รูปของวัตถุที่มนุษย์สร้างขึ้น ซึ่งอาจมีรูปแบบแตกต่างกันไป
          2. เป็นสิ่งที่มีอยู่ร่วมกัน
          3. เป็นสิ่งที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมา
          4. เป็นสิ่งที่สร้างความพึงพอใจแก่มวลมนุษย์ได้
          5. เป็นสิ่งที่ปรับเปลี่ยนได้
          6. เป็นสิ่งที่เป็นผลรวม หรือการผสานทางวัฒนธรรม
          7. เป็นรูปแบบพฤติกรรมในอุดมคติที่ต้องปฏิบัติตาม
          8. เป็นลักษณะเหนืออินทรีย์
                      ประเภทของวัฒนธรรม  ในสังคมของมนุษย์อาจแบ่งวัฒนธรรมออกเป็น 2 ลักษณะ คือ วัฒนธรรมที่เป็นสัญลักษณ์จับต้องไม่ได้ เช่น ภาษาพูด ระบบความเชื่อ กิริยามารยาท ขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมทางวัตถุ เช่น บ้านเรือน วัด ศิลปกรรม ตลอดจนเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน        
                      ลักษณะของวัฒนธรรม ในสังคมมนุษย์หนึ่ง ๆ หากเป็นสังคมเล็กอาจประกอบไปด้วยกลุ่มชาติพันธุ์เดียว วัฒนธรรมเดียว มีวิถีชีวิตที่เหมือนกัน แต่ในสังคมใหญ่ย่อมมีความสลับซับซ้อนไปด้วยหลายชาติพันธุ์ มีขนบธรรมเนียมประเพณีที่แตกต่างกัน วิถีชีวิตที่เป็นรูปแบบเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ของตน สังคมใดที่มีกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มใหญ่เป็นเจ้าของพื้นที่ วัฒนธรรมของพวกเขาก็จัดว่าเป็นวัฒนธรรมหลัก วัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีคนจำนวนน้อยหรือกลุ่มชาติพันธุ์ที่อพยพเข้ามาอยู่ใหม่ในถิ่นของกลุ่มชาติพันธุ์ใหญ่ วัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้ก็จัดว่าเป็นอนุวัฒนธรรมหรือวัฒนธรรมรอง เช่น ประเทศไทยมีชาวไทยเป็นชนกลุ่มใหญ่เป็นเจ้าของประเทศ วัฒนธรรมของชนชาติไทยจึงจัดเป็นวัฒนธรรมหลัก ภาษาที่ใช้ในราชการ ขนบธรรมเนียมประเพณี วิถีชีวิตศิลปวัฒนธรรม จึงถือของชนชาติไทยเป็นหลัก  ส่วนวัฒนธรรมจีน ชาวมุสลิม ชาวลาว เขมร กุย เป็นต้น ที่เข้ามาอาศัยอยู่ในผืนแผ่นดินไทย ล้วนถูกจัดเป็นวัฒนธรรมรอง เนื่องจากกลุ่มชาติพันธุ์ดังกล่าวเป็นชนกลุ่มน้อยนั่นเอง แต่เนื่องด้วยชนกลุ่มน้อยที่เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นระยะเวลายาวนานและร่วมกันช่วยพัฒนาประเทศชาติ  จึงทำให้เกิดวัฒนธรรมบางอย่างที่หลายกลุ่มชนหลายเชื้อชาติได้ยึดถือปฏิบัติร่วมกัน เช่น ภาษาที่ใช้ มารยาทในการเข้าสังคม การจัดงานร่วมกันของทางราชการ การปฏิบัติและข้อห้ามข้อควรทำต่าง ๆ ล้วนจัดว่าเป็นวัฒนธรรมสากลได้  ดังนั้นในสังคมขนาดใหญ่ วัฒนธรรมที่ประกอบกันอยู่นั่น คือ วัฒนธรรมหลัก วัฒนธรรมรอง และวัฒนธรรมสากล วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ไม่หยุดนิ่ง เพราะวัฒนธรรมจะเปลี่ยนแปลงไปตามกระบวนการต่าง ๆ ที่เข้ามากระทบ การที่วัฒนธรรมจะเปลี่ยนแปลงไปในด้านใดก็ย่อมขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมของสังคมนั้น ๆ ว่าได้เปิดรับสิ่งแปลกใหม่ที่เข้ามากระทบได้มากน้อยเพียงไร หรือจะปิดกั้นไม่ยอมรับเลยแล้วปล่อยให้วัฒนธรรมเปลี่ยนแปลงไปเองอย่างช้า ๆ ในกรอบที่ขีดกั้นไว้  ซึ่งการจำกัดขอบเขตของการเปลี่ยนแปลงนั้นอาจออกกฎหรือการจำกัดด้วยข้อห้ามก็ได้ วัฒนธรรมยังหมายถึง ผลผลิตและสิ่งของด้วย 
                       วัฒนธรรมเป็นเรื่องที่กว้างลึกครอบคลุมวิถีชีวิต บรรทัดฐาน คุณค่า จารีตประเพณี ความเชื่อ ระบบความคิดของสังคมมนุษย์  ดังนั้นการวิเคราะห์เรื่องวัฒนธรรม  จึงจำต้องมุ่งไปในรายละเอียดทุกแง่ทุกมุม และต้องมองวัฒนธรรมแบบองค์รวม ทั้งนี้โดยไม่ลืมที่จะดูสิ่งแวดล้อมในสภาวะและสถานการณ์ของช่วงนั้น ๆ ว่ามีผลกระทบต่อวัฒนธรรมมากน้อยเพียงใด และทำให้วัฒนธรรมนั้น ๆ แปรเปลี่ยนไปในรูปใด ทั้งนี้เพราะการจะเรียนรู้เพื่อให้เข้าใจสังคมหนึ่ง ๆ อย่างถ่องแท้นั้น วัฒนธรรมเป็นสิ่งสำคัญมากดังที่ France Boas แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ผู้วางรากฐานมานุษยวิทยาวัฒนธรรมได้ให้ความสำคัญทางด้านวัฒนธรรมไว้ ซึ่งต่อมาก็มีศิษย์เอกอีกหลายคนสืบต่อความนึกคิดนี้เช่น (Ruth Benedict 1887-1978) และ (Margaret Mead) สำหรับรูธนั้น เธอกล่าวว่าวัฒนธรรมเป็นคำเรียกทางสังคมวิทยาที่เรียนรู้ทางพฤติกรรมที่ไม่ได้มีมาแต่กำเนิด โดยเรียนรู้จากผู้ใหญ่ของยุคสมัยนั้น ๆ(Bernard & Spencer, 1996, p. 139)
ทฤษฎีและแนวคิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และวัฒนธรรม
         การเปลี่ยนแปลง (change) หมายถึง ความแตกต่างที่เกิดขึ้นต่อเนื่องในช่วงเวลาหนึ่งขององค์กรหนึ่งซึ่งยังคงตัวอยู่ได้ (Nisbet, อ้างถึงใน สนิท สมัครการ, 2542, หน้า 2)ในปัจจุบันไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าทุกสิ่งในโลกนี้ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่มีสภาพมั่นคง หากแต่ย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา สังคมและวัฒนธรรมก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน ไม่มีสังคมและวัฒนธรรมใดหยุดอยู่กับที่ โดยแท้จริงตลอดเวลามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเสมออันเป็นลักษณะธรรมดาของสังคมมนุษย์
        หากพิจารณาถึงความหมายการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมแล้ว การเปลี่ยนแปลงทางสังคมอาจเกิดขึ้นได้จากความสัมพันธ์ทางสังคมในแต่ละเรื่อง อาจเกิดขึ้นในส่วนย่อยหรือส่วนใหญ่ของความสัมพันธ์ทางสังคมก็ได้หรือการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ไม่ว่าการเปลี่ยนแปลงจะเปลี่ยนเล็กน้อยหรือใหญ่โตเพียงไรก็ตาม ย่อมถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้ทั้งสิ้น ส่วนการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมนั้น เป็นการเปลี่ยนแปลงในแบบแผนของการดำเนินชีวิตของชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งย่อมจะมีวิถีชีวิตเป็นของตนเอง การเปลี่ยนแปลงทางสังคมกับการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมนั้น ในทางปฏิบัติแล้วยากที่จะแยกออกจากกันได้โดยเด็ดขาด เพราะหากมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ท้ายที่สุดการเปลี่ยนแปลงผลกระทบถึงสองลักษณะดังกล่าวเสมอ (สนิท สมัครการ, 2542, หน้า 3-5)

ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม
ทฤษฎีการแพร่กระจายทางวัฒนธรรม (Cultural Diffusion Theory) 
                     ทฤษฎีนี้จะเน้นถึงกระบวนการทางประวัติศาสตร์ที่ใช้อธิบายการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม เรียกว่า ลักษณะเฉพาะทางประวัติศาสตร์” (Historical Particularism) นักมานุษยวิทยาในแนวความคิดนี้คือ ฟรานซ์ โบแอส (Franz Boas) เป็นนักมานุษยวิทยาชาวเยอรมันทำงานในตำแหน่งอาจารย์ในมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เน้นว่า การแพร่กระจายทางวัฒนธรรมเป็นกระบวนการที่มีลักษณะสำคัญของวัฒนธรรมหนึ่งแพร่กระจายไปสู่อีกวัฒนธรรมหนึ่ง โดยปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมใหม่นอกจากนั้นยังเป็นผู้สนับสนุนให้เกิดแนวคิดที่เชื่อว่า วัฒนธรรมสามารถวัดได้ โดยนำวัฒนธรรมที่แตกต่างกันมาเปรียบเทียบกันและพิจารณาคุณลักษณะที่สูงกว่าหรือด้อยกว่าของแต่ละวัฒนธรรม แต่ยังคงเชื่อว่าวัฒนธรรมนั้นไม่มีวัฒนธรรมใดที่ดีกว่าหรือเลวกว่ากัน 
เอช.จี. บาร์เนท (H.G. Barnett) นักมานุษยวิทยาชาวอเมริกันผู้ซึ่งสนใจศึกษาในประเด็นที่เกี่ยวกับนวัตกรรม (Innovation) ที่ถือว่าเป็นตัวแทนจากวัฒนธรรมหนึ่งและมีการถ่ายทอดไปยังวัฒนธรรม อื่น ในงานเขียนชื่อ “Innovation : The Basis of Cultural Change” (1953) กล่าวไว้ว่านวัตกรรมก็คือ ความคิดหรือพฤติกรรมหรือสิ่งใดๆก็ตามที่เป็นของใหม่ เพราะมันแตกต่างทางด้านคุณภาพไปจากรูปแบบที่มีอยู่ บาร์เนทเชื่อว่า วัฒนธรรมเปลี่ยนไปเพราะนวัตกรรม แต่ขณะเดียวกันวัฒนธรรมบางวัฒนธรรมอาจเป็นตัวถ่วงหรือไม่สนับสนุนให้เกิดมีนวัตกรรมก็ได้ ฉะนั้นเขาจึงเสนอว่าจำเป็นต้องมีวิธีการส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมขึ้นในสังคมหรือวัฒนธรรม

โดยสรุปทฤษฎีการแพร่กระจายทางวัฒนธรรมนี้จะช่วยอธิบายวิธีการ/ขั้นตอน ของการเผยแพร่วัฒนธรรมหนึ่งไปสู่อีกวัฒนธรรมหนึ่ง ซึ่งจะต้องคำนึงถึงข้อเหมือนและข้อต่างของวัฒนธรรมทั้งสองเป็นสำคัญ
ทฤษฎีและแนวคิดเกี่ยวกับการปรับตัวทางวัฒนธรรม
        การปรับตัว หรือการดัดแปลงตัวของมนุษย์ (adaptation) ตามสารานุกรมศัพท์สังคมวิทยา-มานุษยวิทยา หมายถึงกระบวนการที่คนกระทำตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมโดยการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงกายภาพให้กลมกลืนกับสิ่งแวดล้อม เพื่อความมั่นคงปลอดภัยของตนเอง มีการดัดแปลงตัวเป็น 4 ประเภท คือ (1) การดัดแปลงทางกายภาพ(physical adaptation) (2) การดัดแปลงทางอารมณ์ (emotional adaptation) (3) การดัดแปลงทางสติปัญญา (intelligence adaptation) และ (4) การดัดแปลงทางอุดมคติ (ideal adaptation)ผู้ที่ดัดแปลงตัวเองให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมไม่ได้ ย่อมมิอาจจะดำรงชีวิตอยู่เป็นปกติสุขได้ (อุทัย หิรัญโต, 2526, หน้า 2-3)
                     เช่นเดียวกับพจนานุกรมศัพท์สังคมวิทยา อังกฤษ-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถานได้ให้ความหมายของคำว่า adaptation คือการดัดแปลง ซึ่งเป็นกระบวนการปรับตัวให้เหมาะสมที่จะมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่กำหนดให้ โดยทั่วไปจะใช้กับการเปลี่ยนแปลงในลักษณะทางกายภาพของร่างกาย แต่อาจใช้ในความหมายถึงการดัดแปลงเชิงวัฒนธรรมเพื่อให้เหมาะกับสิ่งแวดล้อมเฉพาะของมนุษย์ได้ด้วย (ราชบัณฑิตยสถาน, 2532, หน้า 7)
      การปรับตัว มักใช้ในความหมายของการปรับเปลี่ยนส่วนใดส่วนหนึ่งหรือหลายส่วนเพื่อให้ความสัมพันธ์ลงตัว (อมรา พงศาพิชญ์, 2547, หน้า 16) การปรับตัวเกิดขึ้นเนื่องจากมนุษย์ต้องการดำรงชีวิตอยู่ได้ในสภาวะแวดล้อมต่าง ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการจำเป็นขั้นพื้นฐานของตัวเองและให้บรรลุถึงสิ่งที่ตนต้องการทั้งด้านร่างกายและจิตใจ (Malm & Jamison อ้างถึงใน นิภา นิธยายน, 2530, หน้า 5-6)
                    การปรับตัวทางวัฒนธรรมมีความสำคัญต่อความสำเร็จในการปรับตัวของมนุษย์ในด้านต่าง ๆ เนื่องจากการพัฒนาบุคลิกของชนแต่ละชาติพันธุ์มีผลต่อการที่บุคคลรู้สึกต้องการติดต่อกับผู้อื่น วัฒนธรรมอื่น ๆ ความรู้สึกว่าเป็นเจ้าของ หรือการแยกตัวออกหรือความต้องการมีส่วนร่วมในกิจกรรมกลุ่ม(Bennett, 2001, p. 182)
                     การปรับตัวทางวัฒนธรรมตามแนวคิดของ Cohen (อ้างถึงใน อมรา พงศาพิชญ์ ,2547, หน้า 17-18) เสนอข้อคิดว่า ข้อหนึ่ง การศึกษาเรื่องการปรับตัวทางวัฒนธรรมควรพิจารณาองค์ประกอบด้านศิลปวัฒนธรรม และสังคมวัฒนธรรมที่เป็นวิถีชีวิต ความเชื่อข้อสอง องค์ประกอบต่าง ๆ ของวัฒนธรรมเรียงร้อยประสานเข้าเป็นวัฒนธรรมที่มีลักษณะเป็นองค์รวม มีลักษณะเฉพาะของแต่ละสังคมวัฒนธรรม ข้อสาม การปฏิสัมพันธ์กับสังคมข้างเคียงหรือการค้นพบสิ่งใหม่ภายในสังคมตนเองจะทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนเพื่อการคงอยู่ของสังคมวัฒนธรรมนั้น ๆ ข้อสี่วัฒนธรรมคือระบบสัญลักษณ์ องค์ประกอบแต่ละส่วนมีความหมายและสื่อความหมายที่ลึกซึ้งและกว้างขวางกว่าข้อเท็จจริง ข้อห้า การดำเนินชีวิตของมนุษย์ต้องดำเนินเป็นกลุ่ม การปรับเปลี่ยนสังคมวัฒนธรรมเป็นการปรับเปลี่ยนในกลุ่มมากกว่าในระดับปัจเจกบุคคล การสืบทอดวัฒนธรรมต้องถ่ายทอดจากรุ่นหนึ่งไปอีกรุ่นหนึ่งเป็นกลุ่ม การปรับตัวทางวัฒนธรรมจึงเป็นการปรับเปลี่ยนของกลุ่ม ข้อหก พฤติกรรมของมนุษย์ยืดหยุ่นและปรับเปลี่ยนได้ ไม่มีพฤติกรรมใดที่ไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้เลย และข้อเจ็ด การถ่ายทอดวัฒนธรรมจากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่งมีกระบวนการและขั้นตอน
                     จากการศึกษาพบว่า วัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกันมีส่วนส่งเสริมให้การปรับตัวเป็นไปได้ดี และเร็วขึ้น เช่นเดียวกับทัศนคติที่ดีของผู้ไปอยู่ใหม่ต่อสถานที่ไปอยู่ก็มีผลต่อการปรับตัวและยอมรับสังคมได้ดีด้วย (Kosic, 2002, pp. 180-181; Sodowsky & Plake,(1992, p. 55) ศึกษาการผสมผสานวัฒนธรรมที่แตกต่างกันของคนหลากหลายเชื้อชาติที่เกิดการยอมรับในกลุ่มที่ต่างกัน พบว่า ชาวยุโรปสามารถปรับตัวมีวิถีชีวิตในประเทศอเมริกาได้ดีกว่าในประเทศแถบเอเชีย อาฟริกา หรือ อเมริกา เช่นเดียวกับ Ward & Kennedy (1993, p. 175) ศึกษาพบว่า นักศึกษาชาวจีนที่ไปอยู่ในประเทศสิงคโปร์สามารถปรับตัวได้ดีและง่ายกว่าเมื่อย้ายไปอยู่ที่ประเทศนิวซีแลนด์ เนื่องจากการมีวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกัน
                       การได้รับคำแนะนำด้านวัฒนธรรม การให้ความรู้ในการปรับตัวทางวัฒนธรรมแก่ผู้ที่จะย้ายไปอยู่ในประเทศใหม่ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง จะช่วยให้ผู้ที่ไปอยู่ใหม่ได้เข้าใจความเป็นอยู่ เพื่ออยู่อย่างมีความสุข ลดอัตราความเสียหายต่าง ๆ ไปได้มาก เช่นกรณีของคนไทยที่ไปทำงานในบอสตันได้กลับมาเมืองไทยหลายสัปดาห์ โดยคิดว่าเพื่อความประหยัดจึงได้ปิดเครื่องทำไฟฟ้า เครื่องทำความร้อนในบ้านหมด เมื่อกลับไปปรากฏว่าท่อน้ำ โถส้วม ได้รับความเสียหายเนื่องจากน้ำกลายเป็นน้ำแข็ง ต้องเสียเงินถึง5,000เหรียญในการซ่อมแซมเป็นต้น (Copeland, 1995, p. 83)
                      สิ่งสำคัญที่ทำให้การปรับตัวได้ดีคือ ภาษา เนื่องจากภาษาของมนุษย์เป็นเครื่องมือในการสื่อสารซึ่งกันและกัน (โอลิเวอร์, ดักลาส, 2528, หน้า 69) ภาษาคือการถ่ายทอดความคิดด้วยระบบสัญลักษณ์ เป็นพฤติกรรมที่เกิดได้ด้วยการเรียนรู้และเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม คนที่ใช้ภาษาเดียวกันสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ซึ่งกันและกันได้อย่างลึกซึ้งและกว้างขวาง (อรทัย ชื่นมนุษย์, 2542, หน้า 53) ภาษาจึงทำให้มนุษย์สามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ ถิ่นที่อยู่ใหม่ การเข้าถึงบริการและการมีส่วนร่วมในชุมชนได้ง่ายขึ้น การรู้ภาษาของเจ้าของประเทศเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้การปรับตัวในการอยู่ในประเทศนั้น ๆ ประสบความสำเร็จ ถ้าไม่รู้ภาษาหรือพูดสื่อสารได้ไม่ดีก็ทำให้การปรับตัวเป็นไปได้ยาก (Blackwell, 1994; Kim, 1998, pp. 505-506; Tomich, McWhirter, & King, 2000, p. 38) ความสามารถในการใช้ภาษาไทยของแรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยจะทำให้ได้ค่าจ้างรายวันสูงกว่าผู้ที่พูดภาษาไทยไม่ได้ การใช้ภาษาไทยเป็นปัจจัยสำคัญในการผสมผสานเข้ากับคนไทยและสามารถนำไปสู่การตั้งรกรากถาวรขึ้นในประเทศไทยได้ (กฤตยา อาชวนิจกุล และปราโมทย์ ประสาทกุล, 2548, หน้า 157) การเรียนรู้ภาษาใหม่ของประเทศที่ไปอยู่ใหม่สิ่งสำคัญที่สุดมิใช่อยู่เพียงการรู้ภาษาเท่านั้นแต่อยู่ที่การรู้วัฒนธรรมใหม่ด้วย (Sjolie, 2004) จากการศึกษาของ Bronstein & Olstein (1994, p. 85)พบว่า ภาษาถิ่นเป็นสิ่งจำเป็นและเป็นเครื่องมือสื่อสารโดยเฉพาะในประเทศที่มีผู้ย้ายมาอยู่จากหลากหลายประเทศ เช่น ประเทศอิสราเอลผู้มาอยู่ใหม่ต้องรู้ภาษาฮีบรูเนื่องจากเป็นทั้งภาษาพูดและภาษาราชการ ผู้ที่รู้ภาษาฮีบรู สามารถปรับตัวเข้ากับสังคมและวัฒนธรรมใหม่ได้ง่ายขึ้น เช่นเดียวกับที่ Lybeck (2002, p. 185) ศึกษาคนอเมริกันที่ไปอยู่ในประเทศนอรเวย์ พบว่า ระดับการเรียนรู้ภาษาที่ 2 สามารถกำหนดได้ว่าจะประสบความสำเร็จในการปรับตัวและเรียนรู้วัฒนธรรมใหม่ได้ดีเพียงใดด้วยเนื่องจากการรู้ภาษาและเข้าใจถึงการใช้ภาษาได้ดีทำให้เรียนรู้วัฒนธรรมดีตามไปด้วยในกลุ่มเด็กก็พบว่าการเปลี่ยนแปลงการสอนในโรงเรียนจากการสอนโดยใช้สองภาษามาเป็นภาษาอังกฤษอย่างเดียวและให้ภาษาที่สอง เป็นวิชาเลือกทำให้เด็กที่ย้ายมาอยู่ใหม่ปรับตัวในการเรียนได้ดีขึ้น (Amselle, 2000, pp. 70-71) เด็กที่ไม่ยอมใช้ภาษาของประเทศที่ไปอยู่ใหม่เนื่องจากไม่มีความคุ้นเคย ทำให้เกิดโรคจิตทางสังคม เกิดความขัดแย้งในการปรับตัวส่งผลต่อสภาวะจิตใจ การเรียนตกต่ำ มีการเสพยาเสพติดและเกิดพฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ ได้ (James, 1997, pp. 99-100)
                     ผลการศึกษาของ Poyrazli, Arbona, & Bullington (2001, p. 52) พบว่า นักศึกษาชาวตุรกีที่ไปศึกษาต่อในประเทศอเมริกาผู้ที่มีทักษะการฟัง พูด อ่าน เขียน ภาษาอังกฤษได้ดี จะมีผลการเรียนเฉลี่ยสูง และคนที่ไปอยู่เมื่ออายุยังน้อยเมื่อมีการทดสอบด้านภาษาอังกฤษก็ทำคะแนนได้ดี ทำให้เห็นว่าภาษามีความสำคัญต่อการปรับตัวในการเรียนของนักเรียนกลุ่มนี้ เช่นเดียวกับที่ Dee & Henkin (1999, p. 55) ได้ศึกษาการปรับตัวของนักศึกษาชาวเกาหลีที่ไปศึกษาต่อในประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า ภาษาเป็นอุปสรรคในการปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมของประเทศใหม่ทำให้ไม่สามารถแสดงความคิดเห็นหรือการมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ได้ งานวิจัยในอีกด้านหนึ่งที่น่าสนใจยิ่งคือการที่ภาษาทำให้คนละทิ้งวัฒนธรรมเดิม เช่น เด็กอะบอริจินที่ต้องเผชิญกับสิ่งที่เรียนรู้ใหม่ การมุ่งเรียนภาษา เพื่อการสื่อสาร การเข้าสู่โรงเรียนที่เป็นสถานที่ขัดเกลา และการเข้าสู่โลกใหม่ทำให้ละเลยคุณค่าของวัฒนธรรมเดิมไปเสีย(Reynolds, 2002, p. 20) หรือการไม่รู้ภาษาทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติในด้านต่าง ๆ ทำให้เลิกใช้ภาษาเดิมเนื่องจากเกิดความอับอายเกิดความขัดแย้งในตนเอง (Sparks, 1998, p. 249)
                     การมีเพื่อนเป็นผู้ที่มาอยู่ก่อนหรือการได้อยู่รวมกลุ่มเดียวกับผู้ที่มีพื้นฐานทางวัฒนธรรมเหมือนกันช่วยทำให้ลดความตึงเครียดจากปัญหาในการปรับตัว การแยกตัวออกจากสังคมได้ (Zhang & Rentz, 1996, p. 323) จากการศึกษาของ Bar-Yosef (2001,p. 231) พบว่า ปัญหาของเด็กที่เป็นบุตรของผู้อพยพจากเอธิโอเปียเข้าไปอยู่ในประเทศอิสราเอล ซึ่งมีความแตกต่างด้านภาษา สีผิว และวัฒนธรรมอย่างสิ้นเชิง แต่การมีเพื่อนที่เป็นเด็กชาวอิสราเอลผู้เป็นเจ้าของประเทศทำให้เด็กเหล่านี้สามารถปรับตัวได้เร็วขึ้น Sparks (1998, p. 248) ศึกษาเด็กชาวอเมริกันเชื้อสายแม็กซิกันที่ต้องใช้ภาษาอังกฤษแทนภาษาสเปนในชั้นเรียนพบว่าความสัมพันธ์กับเพื่อน ๆ มีส่วนสำคัญมากในการเรียนรู้ด้านภาษาและวัฒนธรรมใหม่ ๆ ในการปรับตัวเข้ากับครูและเด็กในห้องเรียนเดียวกัน
                                                                                                                

ทฤษฎีความก้าวหน้าทางวัฒนธรรม (Cultural Progress)               
                       นักมานุษยวิทยาในกลุ่มนี้ เช่น เลสลี่ เอ. ไวท์ (Leslie A. White) ชาวอเมริกัน ผู้เสนอกฎพื้นฐานของวิวัฒนาการทางวัฒนธรรมตามสูตร E x T = C โดยที่
E คือ ปริมาณพลังงานที่แต่ละคนสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในแต่ละปี (Energy) 
T คือ ประสิทธิภาพของเครื่องมือทางเทคนิควิทยาในการนำพลังงานมาใช้ (Technology or Efficiency of Tools) 
C คือ ระดับพัฒนาการทางวัฒนธรรม (Degree of Cultural Development) 

แนวคิดความล้าหลังทางวัฒนธรรม (Cultural Lag) 
                   นักคิดในกลุ่มนี้ เช่น วิลเลียม อ็อก-เบอร์น (william Ogburn) นักสังคมวิทยาชาวอเมริกันมองว่า การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมจะก่อให้เกิดภาวะการปรับตัวไม่ทันขึ้นเสมอ ทำให้เกิดความเฉื่อยหรือความล้าหลังทางวัฒนธรรมขึ้นเช่น วัฒนธรรมทางวัตถุทำให้สังคมเจริญแล้ว เช่นการมีรถยนต์ขับ แต่วัฒนธรรมที่ไม่ใช่วัตถุ อันได้แก่ ค่านิยม ประเพณียังไม่ปรับตัวกลมกลืนกับวัฒนธรรมทางวัตถุ เพราะกลัวการเปลี่ยนแปลง ไม่กล้าเปลี่ยนนิสัยหรือพฤติกรรม ขาดการศึกษา แม้จะมีรถยนต์แต่การปฏิบัติตามกฏจราจรยังเกิดไม่เท่ากับปริมาณรถที่เพิ่มขึ้น 
สรุป
                     สังคมไทยรับเอาค่านิยมทางวัฒนธรรมจากต่างประเทศมากขึ้นก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายๆด้านทั้งทางด้านการประกอบอาชีพจะเห็นได้ว่าเปลี่ยนจากสังคมเกษตรกรรมมาเป็นสังคมอุตสาหกรรมกันมากขึ้นสังคมไทยเลี้ยงดูบุตรด้วยเงินมากขึ้นมากกว่าการเลี้ยงด้วยความรักความอบอุ่นเหมือนแต่ก่อนทั้งทางชีวิตความเป็นอยู่   สังคมไทยในปัจจุบันอยู่แบบครอบครัวเดี่ยว การรับค่านิยมทางวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงไปในสังคมปัจจุบันนั้นก่อให้เกิดปัญหาทางสังคมที่มากมายเช่นกัน ในสังคมปัจจุบันนั้นวัยรุ่นสมัยนี้รับเอาค่านิยมทางวัฒนธรรมที่ผิดๆเข้ามาปรับใช้ในชีวิตประจำวันมากมาย เช่น การเลียนแบบการแต่งตายของชาวตะวันตก การไม่รักนวลสงวนตัวของวัยรุ่นหญิงในปัจจุบันเนื่องจากการรับเอาค่านิยมทางวัฒนธรรมที่ผิดๆมาใช้ปัญหาที่เกิดตามมาในสังคมก็คือการท้องแบบไม่ได้ตั้งใจ เกิดปัญหาการถุกทิ้งของเด็ก ปัญหาการทำแท้ง การใช้จ่ายแบบฟุ่มเฟือยของคนในสังคมปัจจุบันเนื่องจากการอยากได้อยากมีความหรูหรา จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีในปัจจุบันมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้อยู่ที่การนำมาปรับใช้ เทคโนโลยีที่นำมาใช้แล้วเกิดประโยชน์ก็มีมากมายและที่เกิดโทษก็มีมากมายเช่นกัน ปัจจุบันวัยรุ่นมักจะมีค่านิยมที่เลียนแบบเพื่อนโดยที่ไม่คิดคำนึงว่าความสามารถทางการเงินของตัวเองเป็นเช่นไรทั้งนี้เป็นการใช้เทคโนโลยีในทางที่ผิดๆ ส่วนทางด้านอุตสาหกรรมมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการทำงานทำให้ได้ผลงานที่เป็นมาตรฐานและรวดเร็ว ทำให้ผลิตสินค้าเพื่อการจำหน่ายได้รวดเร็ว ส่วนทางด้านเกษตรกรรม เกษตรกรได้นำเครื่องจักรกลมาใช้ในการปะกอบอาชีพทำให้ย่นระยะเวลาในการทำงานได้เร็วขึ้นและผลผลิตที่ได้ทีปริมาณเพิ่มมากขึ้น 
                       อย่างไรก็ตามการรับเอาค่านิยมทางวัฒนธรรมมาปรับใช้ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียเราจึงควรใช้ให้ถูกต้องตามความเหมาะสมและควรแก่การอนุรักษ์วัฒนธรรมดั้งเดิมของไทยที่เป็นเอกลักษณ์มาแต่ช้านานนั้นไว้ด้วยเพื่อดำรงสืบทอดต่อไปยังลูกหลาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น