วันอังคารที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2556

ปัญหาแรงงานข้ามชาติและผลกระทบต่อประเทศไทย นายนันทร์ธวัช สุนทรธรรม 53242063


บทความเชิงวิชาการ
เรื่อง ปัญหาแรงงานข้ามชาติและผลกระทบต่อประเทศไทย


หากจะพูดถึงคนต่างด้าว แล้ว ในความหมาย ของพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 คนต่างด้าว หมายถึงบุคคลธรรมดาซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ส่วนแรงงานต่างด้าว หรือแรงงานข้ามชาติ มี 2 หน่วยงานได้นิยามความหมายไว้ ดังนี้ องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ ได้ให้ความหมายไว้ว่า หมายถึง บุคคลที่ย้ายถิ่นจากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่งเพื่อที่จะไปทำงานมากกว่าที่จะไปใช้จ่ายเงินของตนเอง และรวมถึงบุคคลใดๆที่โดยปกติแล้วได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้อพยพเพื่อทำงาน แต่ไม่รวมถึงคนที่ทำงานตามบริเวณชายแดน จิตรกร หรือสมาชิกของกลุ่มผู้ชำนาญการที่เข้าเมืองระยะสั้น ชาวเรือ และลูกเรือเดินทะเลต่างชาติ และในอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 143 ยังไม่รวมถึงบุคคลที่เข้ามาเพื่อการศึกษาหรือการฝึกอบรมและบุคคลที่เข้ามาทำงานชั่วคราวเฉพาะด้านอันเนื่องมาจากการร้องขอของนายจ้างในประเทศไทย และต้องออกไปเมื่อเสร็จสิ้นการทำงานนั้นแล้ว ส่วนองค์การสหประชาชาติได้มีการกำหนดความหมายแรงงานข้ามชาติในอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของบรรดาแรงงานข้ามชาติ และสมาชิกในครอบครัวของเขาเหล่านั้น ไว้ในมาตรา 2 หมายถึง " บุคคลซึ่งจะถูกว่าจ้างให้ทำงาน กำลังถูกว่าจ้าง หรือเคยถูกว่าจ้างทำงาน โดยได้รับค่าตอบแทนในรัฐที่ตนไม่ได้เป็นคนของชาตินั้น " ซึ่งเห็นได้ว่า ความหมายแรงงานข้ามชาติของสหประชาชาติมีความหมายกว้างกว่าความหมายแรงงานข้ามชาติขององค์การแรงงานระหว่างประเทศมาก เพราะได้รวมถึงคนงาน 8 ประเภท ได้แก่ คนงานที่ทำงานตามบริเวณชายแดน คนงานตามฤดูกาล ชาวเรือ คนงานที่ทำงานในสถานที่ทำงานนอกประเทศ คนงานที่ทำงานโยกย้ายไปมา คนงานที่ทำงานตามโครงการ คนงานที่มีกิจการของตนเอง และคนงานที่ได้รับการว่าจ้างพิเศษให้ไปทำงานในประเทศที่ตนไม่ได้มีสัญชาตินั้น อย่างไรก็ตามก็ยังไม่รวมถึง บุคคลที่เดินทางข้ามประเทศเพื่อทำงานในฐานะที่เป็นผู้ลงทุน (Investor) ผู้ลี้ภัยหรือบุคคลที่ไม่มีสัญชาติ (Refugees Or Stateless Person) นักเรียน นักศึกษา หรือผู้ฝึกอบรม และผู้ที่ทำงานภายใต้การว่าจ้างขององค์การระหว่างประเทศ สำหรับในประเทศไทย แรงงานต่างด้าว ที่เข้าเมืองโดยถูกกฎหมายมีอยู่ด้วยกัน 4 ประเภท คือ ประเภททั่วไป หมายถึง คนต่างด้าวที่เป็นแรงงานที่มีทักษะและทำงานอยู่ในตำแหน่งค่อนข้างสูง หรืออาจ ถูกส่งมาจากบริษัทแม่ในต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย หรือเข้ามาทำงานชั่วคราวในงานที่ต้องใช้ทักษะ และเทคโนโลยีชั้นสูง เป็นความต้องการผู้ที่มีความสามารถเฉพาะด้าน มีความชำนาญเฉพาะด้าน หรือมีความสามารถ ทางการสื่อสาร (ภาษา) ที่ยังหาคนไทยที่มีความสามารถ หรือมีความชำนาญเข้ามาร่วมงานไม่ได้ หรือเป็นการเข้ามา ทำงานในกิจการที่ตนเองลงทุน หรือกิจการของคู่สมรส หรือกิจการที่ร่วมลงทุน เป็นต้น ประเภทเข้ามาทำงานอันจำเป็นเร่งด่วน หมายถึง คนต่างด้าวที่เข้ามาทำงาน ซึ่งเป็นงานที่ต้องดำเนินการโดยทันทีทันใด หากไม่เร่งดำเนินการอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อการดำเนินกิจการของบริษัทหรือลูกค้าของบริษัท หรือส่งผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น โดยไม่มีแผนการดำเนินการล่วงหน้ามาก่อน และต้องเข้ามาทำงานนั้น ในระยะเวลาไม่เกิน 15 วัน ประเภทตลอดชีพ หมายถึง คนต่างด้าวซึ่งได้รับใบอนุญาตทำงานตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับ ที่ 322 ข้อ 10 (10) มีสาระสำคัญว่า "ใบอนุญาตที่ออกให้แก่คนต่างด้าวซึ่งมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรตาม กฎหมาย ว่าด้วยคนเข้าเมืองและทำงานอยู่แล้วก่อนวันที่ 13 ธันวาคม 2515 ให้ใช้ได้ตลอดชีวิตของคนต่างด้าวนั้น เว้นแต่คนต่างด้าวจะเปลี่ยนอาชีพใหม่ประเภทข้อตกลงว่าด้วยการจ้างแรงงานกับประเทศคู่ภาคี ได้แก่ การพิสูจน์สัญชาติ หมายถึง แรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ที่ได้รับการจัดระบบตามยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองทั้งระบบ 7 ยุทธศาสตร์ แรงงานนำเข้า หมายถึง คนต่างด้าวที่เข้ามาทำงานตามข้อตกลงว่าด้วยการจ้างแรงงานต่างด้าวระหว่างประเทศไทยกับประเทศคู่ภาคี (MOU) ปัจจุบันทำข้อตกลงกับประเทศ 2 ประเทศ คือ ลาว และกัมพูชา สำหรับผู้รับใบอนุญาตตามมาตรา 11 หมายถึง คนต่างด้าวซึ่งยังไม่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งนายจ้างยื่นคำขอรับใบอนุญาตและชำระค่าธรรมเนียมแทน โดยเข้ามาทำงานที่มีทักษะและตำแหน่งค่อนข้างสูง หรืองานที่ต้องใช้ทักษะและเทคโนโลยีชั้นสูง เป็นผู้ที่มีความสามารถหรือความชำนาญเฉพาะด้าน หรือมีความสามารถทางการสื่อสาร (ภาษา) ที่ยังหาคนไทยที่มีความสามารถหรือ มีความชำนาญเข้ามาร่วมงานไม่ได้ เมื่อเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรแล้ว ต้องดำเนินการยื่นขอใบอนุญาตทำงานภายใน 30 วัน ส่วน ผู้รับใบอนุญาตตามมาตรา 13 (1) และ (2) หมายถึง คนต่างด้าว ต่อไปนี้ (1) หมายถึง คนต่างด้าวถูกเนรเทศตามกฎหมายว่าด้วยการเนรเทศ และ ได้รับการผ่อนผันให้ไปประกอบอาชีพ ณ ที่แห่งใดแทนการเนรเทศหรืออยู่ในระหว่างรอการเนรเทศ (2) หมายถึง คนต่างด้าวที่เข้ามาหรืออยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง แต่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อรอการส่งกลับออกไปนอกราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ผู้รับใบอนุญาตตามมาตรา 14 หมายถึง คนต่างด้าวซึ่งมีภูมิลำเนาและเป็นคนสัญชาติของประเทศที่มีชายแดนติดกับประเทศไทย ถ้าได้เข้ามาในราชอาณาจักร โดยมีเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง อาจได้รับอนุญาตให้ทำงานบางประเภท หรือลักษณะงานในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวในช่วงระยะเวลาหรือตามฤดูกาลที่กำหนดได้ ทั้งนี้ เฉพาะการทำงานภายในท้องที่ที่อยู่ติดกับชายแดนหรือท้องที่ต่อเนื่องกับท้องที่ดังกล่าว ผู้รับใบอนุญาตตามมาตรา 12 หมายถึง คนต่างด้าวซึ่งเข้ามาทำงานในราชอาณาจักรตามกฎหมายพิเศษ ได้แก่ กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน และกฎหมายอื่นเช่น พ.ร.บ. การนิคมอุตสาหกรรม เป็นต้น


ปัญหาแรงงานต่างด้าวและกฎหมาย
         ปัญหาแรงงานต่างด้าวเป็นปัญหาใหญ่ที่รัฐบาลแก้ไม่ตก แม้ว่าหลายรัฐบาลที่ผ่านมาจะพยายามหาทางออกด้วยการผ่อนผันให้มีการนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาอยู่ในระบบอย่างถูกกฎหมาย
จัดให้มีการการขึ้นทะเบียน ทำบัตรประจำตัวคนต่างด้าว แต่ปัญหาต่าง ๆ ก็ยังมีอยู่ไม่ได้หายไปยิ่งรัฐบาลเปิดโอกาสให้แรงงานต่างด้าวจดทะเบียนทำงานในประเทศไทยได้อย่างถูกกฎหมาย
จำนวนแรงงานต่างด้าวก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากเดิมที่มีอยู่ 2-3 แสนคนก็เพิ่มขึ้นเป็น 1.3 ล้านคนและถ้ารวมแรงงานต่างด้าวที่ทำงานในประเทศไทยแบบผิดกฎหมายด้วย ตัวเลขจะพุ่งเป็น 2 ล้านคน
                        ในจังหวัดตรังก็ยังมีแรงงานต่างด้าวชาวพม่ามาทำงานเป็นลูกเรือประมงหลายคนหรืออยู่ตามโรงงานหลายคนเช่นกันเพื่อให้ได้ทราบว่า แรงงานต่างด้าวประกอบอาชีพอะไรได้บ้าง
พอสรุปได้ดังนี้ แรงงานต่างด้าวที่มาขึ้นทะเบียนจะได้รับบัตรอนุญาตแรงงานต่างด้าวแยกประเภทเป็นสี 6 ประเภทประกอบด้วย
                      1.  อาชีพประมง บัตรสีฟ้า                       
                      2.  อาชีพเกษตรกร บัตร สีเขียว
                      3.  อาชีพก่อสร้าง บัตร สีเหลือง     
                      4.  อาชีพธุรกิจต่อเนื่องประมงบัตรสีส้ม
                      5.  อาชีพผู้รับใช้ในบ้าน บัตรสีเทา            
                      6.  อาชีพอื่น ๆ อีก 19 กิจการ เช่น กิจการต่อเนื่องทางการเกษตร โรงฆ่าสัตว์โรงงานแปรรูปไม้ยางพารา โรงกลึง โรงหล่อ กิจการผลิตจำหน่ายอาหาร เครื่องดื่มกิจการผลิตจำหน่ายเสื้อผ้าสำเร็จรูป ซักอบรีด ฯลฯ เป็นบัตรสีชมพูโดยแรงงานต่างด้าวถือบัตรสีใด ต้องประกอบอาชีพนั้นตลอด ห้ามย้ายอาชีพหากฝ่าฝืนนายทะเบียนสามารถเพิกถอนใบอนุญาตได้ตามพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 มาตรา 28 และหากฝ่าฝืนเงื่อนไขที่นายทะเบียนกำหนดไว้อาจถูกระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท ตาม มาตรา 52
                        บทลงโทษแรงงานต่างด้าวที่ทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต
                        พระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 มาตรา 51 บัญญัติว่าคนต่างด้าวผู้ใดทำงานโดยไม่ได้รับใบอนุญาตต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 2,000 บาท ถึง 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
                        ในกรณีที่คนต่างด้าวซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ยินยอมเดินทางกลับออกไปนอกราชอาณาจักรภายในเวลาที่พนังกานสอบสวนกำหนดซึ่งต้องไม่ช้ากว่า 30 วัน พนักงานสอบสวนจะเปรียบเทียบปรับและดำเนินการให้คนต่างด้าวนั้นเดินทางกลับออกไปนอกราชอาณาจักรก็ได้
                        บทลงโทษนายจ้างที่รับแรงงานต่างด้าวที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนหรือไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทำงาน
                        พระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าวพ.ศ. 2551 มาตรา 27 ห้ามมิให้บุคคลได้รับคนต่างด้าวเข้าทำงานเว้นแต่คนต่างด้าวซึ่งมีใบอนุญาตทำงานกับตนเพื่อทำงานตามประเภทหรือลักษณะงานที่ระบุไว้ในใบอนุญาตณ ท้องที่หรือสถานที่ที่ระบุไว้ในใบอนุญาต
                        มาตรา54 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 27 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาทและถ้าคนต่างด้าวนั้นไม่มีใบอนุญาตผู้กระทำต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 10,000  บาท ถึง 100,000 บาทต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน
                       บทลงโทษตามกฎหมายอื่น
                        พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 63 ผู้ใดนำหรือพาคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรหรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการอุปการะหรือช่วยเหลือให้ความสะดวกแก่คนต่างด้าวให้เข้ามาในราชอาณาจักร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 100,000 บาท
                        เจ้าของพาหนะหรือผู้ควบคุมพาหนะผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา23 และภายในพาหนะนั้นมีคนต่างด้วยซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนกฎหมายนี้ให้สันนิฐานไว้ก่อนว่าเจ้าของยานพาหนะหรือผู้ควบคุมพาหนะนั้นได้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าคนไม่สามารถรู้ได้ว่าภายในพาหนะนั้นมีคนต่างด้าวดังกล่าวอยู่แม้ว่าได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแล้ว
                        พระราชบัญญัติคนเข้าเมืองพ.ศ. 2522 มาตรา 64ผู้ใดรู้ว่าคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้ให้เข้าพักอาศัยซ่อนเร้น หรือช่วยด้วยประการใด ๆ เพื่อให้คนต่างด้าวนั้นพ้นจากการจับกุมต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 50,000 บาท
                        ผู้ใดให้คนต่างด้าวซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้เข้าพักอาศยให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้นั้นรู้ว่าคนต่างด้าวดังกล่าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าคนไม่รู้โดยได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร
                        ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำเพื่อช่วยบิดามารดา บุตรหรือสามีหรือภริยาของผู้กระทำศาลจะไม่ลงโทษก็ได้
                        พระราชบัญญัติคนเข้าเมืองพ.ศ. 2522 มาตรา 81 คนต่างด้าวผู้ใดอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับใบอนุญาตหรือการอนุมัติสิ้นสุดหรือถูกเพิกถอน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จะเห็นได้ว่ากฎหมายเอาโทษทั้งคนต่างด้าวที่เข้ามาในไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตและคนไทยที่นำเข้ามาหรือให้พักอาศัยหรือช่วยเหลือใดๆ ก็ตามทางที่ดี ควรให้คนต่างด้าวไปขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องเรียบร้อยจะได้มีสิทธิเหมือนลูกจ้างคนไทยทุกประการ
20 เมษายน 52 เสียงโทรศัพท์ดังไม่ขาดระยะ เพราะใครหลายคนที่เกี่ยวข้องกับปัญหา "แรงงานต่างด้าว" ต่างเฝ้ารอลุ้นและไถ่ถามว่าสำนักงานบริหารแรงงานต่างด้าว (กบร.) จะมีมติออกมาหรือไม่ว่า จะอนุญาตให้มีการเปิดจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติรอบใหม่ สำหรับแรงงานข้ามชาติไม่ถูกกฎหมายที่ทำงานอยู่แล้วในประเทศไทย แต่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน กับกลุ่มที่มีใบอนุญาตทำงานเดิมอยู่แล้ว แต่ไม่ได้ต่ออายุในแต่ละปี ในที่สุดผ่านมาวันนี้ก็ไม่มีมติใดๆ ออกมา 

ลาทวย เพื่อนสนิทชาวพม่า พูดกับผู้เขียนด้วยคำพูดบางประโยคที่ทำให้อึ้งไปชั่วขณะว่า "ถ้ารัฐบาลยังรีรออยู่อย่างนี้ เหมือนเข้าใจปัญหา แต่ก็ไม่เข้าใจ รัฐบาลไทยกำลังทำให้พวกผมผิดกฎหมายเสียเองนะครับ" ตอนแรกผู้เขียนไม่ได้คิดมากกับเรื่องดังกล่าว เพราะกล่าวกันอย่างตรงไปตรงมาแล้ว รัฐบาลไทยไม่ว่ายุคสมัยใดๆ ก็ตามก็ไม่เคยมีนโยบายจัดการแรงงานข้ามชาติระยะยาวเสียที ฉะนั้นการที่ไม่มีมติออกมาก็ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดใดๆ แค่รอลุ้นอย่างใจจดจ่อ(แบบมีความหวังบ้าง) ต่อไปเท่านั้นเอง 

อย่างไรก็ตามสิ่งที่ทำให้ผู้เขียนอดรำคาญใจแกมเอือมระอาไม่ได้ คือ ได้อ่านข่าวเรื่อง ตามไปดู "แรงงานต่างด้าว" ที่ชายขอบด้าน "แม่สอด"ในหนังสือพิมพ์มติชนวันที่ 22 เมษายน 52 หน้า 21 ซึ่งเป็นการรายงานข่าวกรณีที่กองกิจการพลเรือนกองทัพไทย พาสื่อมวลชนเดินทางไปรับรู้ปัญหาแรงงานต่างด้าวด้านชายแดน ไทย-พม่า ที่ อ.แม่สอด จ.ตาก แล้วอดไม่ได้จริงๆที่จะต้องบอกว่า ปัญหา "แรงงานต่างด้าว" เมื่อไหร่รัฐจะเลิกใช้คำตอบซ้ำซากอธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าวเสียที มิฉะนั้นรัฐจะไม่สามารถจัดการปัญหาดังกล่าวได้ และป่วยการที่จะไปหารูปแบบที่ดี(good practice) ของการจัดการ เพื่อนำเสนอในเวทีอาเซียนตามข้อปฏิบัติที่กำหนดไว้ในปฏิญญาเซบูทุกปี เพราะแค่ตัวปัญหา เราก็ยังสับสนกับมัน ตีโจทย์ไม่แตก ขบคิดไม่แจ้ง เสียแล้ว

นอกจากนั้นคงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรอีกเช่นกัน ที่เรายังคงมองการแก้ปัญหาแรงงานข้ามชาติได้เพียง "สกัดกั้น ผลักดัน ปราบปราม จับกุม ส่งกลับ จดทะเบียนใหม่ พิสูจน์สัญชาติ" อันนี้ไม่นับคำตอบสำเร็จรูปตลอดกาลนานเทอญ ประเภทที่คิดอะไรไม่ออก ขอตอบไว้ก่อนว่า "อ๋อ! ปัญหาแรงงานต่างด้าวหรือครับ อันดับที่หนึ่ง ภัยความมั่นคง ต่อมาก่ออาชญากรรม ขนยาเสพติด สาธารณสุข ตัดไม้ทำลายป่า ปลอมแปลงบัตรประชาชน"

นับตั้งแต่ที่ประเทศไทยเปิดรับแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2535 ผ่านมาจนบัดนี้ 16 ปี เข้าไปแล้ว ถ้าเป็นคน เด็กคนนี้ก็ย่างเข้าสู่วัยรุ่นที่กำลังเลื่อนจากชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นเข้าสู่ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เป็นวัยที่รู้สึกว่าตนเองเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว เริ่มต่อต้านความคิดแบบเดิมๆ ที่พ่อแม่สอนสั่ง มีความคิดเป็นของตนเองอย่างชัดเจน มีความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์สูง เมื่อนำการเปลี่ยนแปลงชีวิตเด็กมาเทียบกับการจัดการปัญหาแรงงานข้ามชาติ กลับพบความผกผันอย่างน่าอัศจรรย์ใดว่า ทำไมเราถึงสามารถดูแล "เด็กคนหนึ่ง" ให้มีวุฒิภาวะย่ำอยู่กับที่ได้นานขนาดนี้

ผู้เขียนพบว่ามี 5 เรื่องปัญหา "แรงงานต่างด้าว" ที่ชะงักงันอยู่กับที่ แม้โลกจะมองเรื่องการย้ายถิ่นเป็นภาวะปกติไปแล้วก็ตามที ในครั้งนี้ผู้เขียนจะเลิกถกเถียงแล้วว่า แรงงานข้ามชาติเป็นปัญหาเรื่องแพร่เชื้อโรคร้าย แย่งงานคนไทย ภัยความมั่นคง จริงหรือไม่ เพราะมีบทความ งานวิจัย รายงานจำนวนมากที่อธิบายเรื่องดังกล่าวนี้ไว้แล้ว (แม้ว่ามันจะอยู่บนหิ้ง และเราก็ไม่เคยปัดฝุ่นเกรอะ หยิบมันออกมาดูบ้างสักครั้งก็ตาม และมักทำให้เราอธิบายปัญหานี้แบบเดิม ๆ) 

ผู้เขียนขอใช้เนื้อหาจากการรายงานข่าวในหนังสือพิมพ์มติชนฉบับดังกล่าว มาเป็นแนวทางในการมองปัญหาแรงงานข้ามชาติให้ทะลุออกจากฝัก (เน่า) นี้ 

เรื่องที่ (1): ตัวเลขแรงงานข้ามชาติที่เพิ่มขึ้น มาพร้อมกับปัญหาที่สูงขึ้นติดตามมา

เป็นเรื่องปกติธรรมดาไม่ว่าที่ไหนมี "คน" ที่นั่นย่อมจะมีปัญหา และปัญหาสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่จำเป็นต้องเกิดมาจากแรงงานข้ามชาติเพียงเท่านั้น รวมทั้งในเมื่อรัฐบาลเข้าใจแล้วว่า เมื่อไม่สามารถสกัดกั้นไม่ให้แรงงานข้ามชาติเข้าประเทศได้ ดังที่พลตำรวจโทชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กล่าวว่า "ถ้าจะแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าว คือ ทำให้คนเหล่านี้ไม่เดินทางเข้ามา แต่เป็นเรื่องยาก เพราะชายแดนไทยพม่ายาวกว่า 2,000 กิโลเมตร คงเป็นเรื่องยากที่คนเหล่านี้จะไม่เข้ามา" รัฐบาลควรจะหาทางรับมือกับปัญหามากกว่ามาพร่ำบ่นตามเวทีเสวนาต่าง ๆ และหาแนวทางจัดการอย่างเป็นรูปธรรม ระดมสรรพกำลังจากฝ่ายต่างๆ ที่พร้อมจะเข้ามาช่วยเหลือ มากกว่าฝากความหวังไว้กับกระทรวงแรงงาน หรือหน่วยงานความมั่นคง ที่แก้ปัญหาในระดับปลายน้ำแล้ว ตัวอย่างรูปธรรมการรับมือกับปัญหาที่น่าสนใจ คือ วันนี้สังคมไทยมีผู้สูงอายุจากประเทศญี่ปุ่นเข้ามาพักอาศัยอยู่ระยะยาวจำนวนมาก เช่น ในเชียงใหม่ มีถึง 2,000 คน พบว่ารัฐบาลไทยมีนโยบายที่จะร่วมลงทุนกับภาคธุรกิจของญี่ปุ่นเพื่อสร้างลองสเตย์ ในลักษณะคอมเพล็กขนาดใหญ่ มีสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น บ้านพักมาตรฐาน โรงพยาบาล ฯลฯ ไว้รองรับปัญหาที่คนกลุ่มนี้จะเข้ามาอยู่ในประเทศไทย 

การแสวงหาหนทางจัดการปัญหาเป็นคนละเรื่องกับการดูแลให้เท่าเทียมพลเมืองไทย รัฐบาลไทยจะต้องไม่ตกหลุมพรางข้ออ้างดังกล่าวนี้และกลับไปใช้วิธีแก้ปัญหาแบบเดิมๆ คือ จับกุม ส่งกลับ เพราะตามหลักพรบ.คุ้มครองแรงงานข้ามชาติ พ.ศ. 2541 หรือปฏิญญาเซบู หรือกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ก็ระบุถึงระเบียบปฏิบัติ แนวทางชัดเจนว่ารัฐบาลไทยสามารถทำอะไรได้บ้างต่อปัญหาแรงงานข้ามชาติที่เพิ่มสูงขึ้น และไม่เป็นปัญหาต่อสังคมไทยต่อไปในอนาคต

เรื่องที่ (2): แรงงานข้ามชาติมีความพยายามที่จะหลบหนีเข้าเมืองหลากหลายรูปแบบ ทำให้หน่วยงานความมั่นคงแก้ปัญหาไม่ได้ 
แม้ว่าวันนี้รัฐบาลไทยจะยอมรับแล้วว่าประชาชนจากพม่าหลบหนีมายังประเทศไทย เป็นผลมาจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนในรูปแบบต่างๆ แต่รัฐบาลไทยกลับหยุดการมองไว้ที่ปัญหาดังกล่าวเพียงเท่านั้น และทำเป็นลืมๆ ที่จะอธิบายต่ออีกสักหน่อยว่า การละเมิดสิทธิมนุษยชนในฐานะการเป็นประชาชนชาติพันธุ์ มาพร้อมกับการเป็นศัตรูของรัฐบาลพม่า ส่งผลให้ประชาชนจากพม่า เช่น กะเหรี่ยง มอญ ไทใหญ่ คะเรนนี ไม่สามารถเป็นพลเมือง/เข้าไม่ถึงการเป็นพลเมือง การไม่เป็นพลเมืองทำให้ประชาชนพม่าไม่สามารถเข้าเมืองใด ๆ บนโลกใบนี้ได้อย่างถูกกฎหมายได้ ซึ่งไม่เฉพาะเจาะจงแค่ประเทศไทยเท่านั้น ความไม่เป็นพลเมืองเป็นเหตุผลสำคัญที่นำมาสู่การหลบหนีเอาตัวรอดมาที่ประเทศไทยในรูปแบบต่างๆ

เรื่องที่ (3): เมื่อรัฐบาลส่งแรงงานหลบหนีเข้าเมืองกลับประเทศของตนเองไปแล้ว เดี๋ยวพวกนี้ก็กลับมาใหม่อีก 

ดังที่อธิบายไว้ในตอนต้นแล้ว ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นเหตุผลสำคัญของการต้องหลบหนีออกนอกประเทศของประชาชนจากพม่า แต่ปัญหาหนึ่งที่เรามักจะไม่ค่อยพูดถึงกัน เพราะอาจจะละอายใจหรือเป็นประเภทวัวสันหลังหวะก็ตาม คือ ผลกระทบจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่ต่างประเทศเข้าไปลงทุนในประเทศพม่า เช่น ไทย สิงค์โปร์ มาเลเซีย ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นชัด คือ โครงการเกษตรพันธะสัญญาไทย- พม่า ที่ย้ายการปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น ถั่วเหลือง ละหุ่ง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง อ้อย ฯลฯ จากไทยไปปลูกในประเทศพม่าเพื่อลดต้นทุนการผลิต ส่งผลให้ชาวบ้านต้องถูกยึดที่ดินทำกินหลายหมื่นไร่ รายงานภาคสนามขององค์กรเบอร์มาอิชชูระบุว่า เพียงต้นปีที่แล้วเฉพาะเขตมะริด-ทวาย ที่เดียว โครงการเกษตรเหล่านี้ได้ยึดที่ดินทำกินของชาวบ้าน ป่า และไร่หมุนเวียน ไปปลูกปาล์มน้ำมันให้ไทยไปแล้วกว่า 2 หมื่นไร่ และประชาชนที่ถูกยึดที่ดินเหล่านี้ก็มุ่งหน้ามาหางานทำในประเทศไทยต่อไป

เรื่องที่ (4): เพราะแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานในภาคเกษตรแถบภาคเหนือและภาคตะวันตกจำนวนมาก ทำให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่า และเกิดภูเขาหัวโล้นไปทุกหย่อมหญ้า

เวลามองปัญหานี้มักทำให้เราเคลิ้มไปกับคำพูดดังกล่าวโดยไม่รู้ตัว แต่ถ้าเฉลียวใจและฉุกคิดสักหน่อย จะพบว่ากรณีนี้เป็นปัญหาจับแพะชนแกะหรือผิดรูปผิดรอยอย่างมหันต์ ในพื้นที่ภาคเหนือหรือพื้นที่ภาคตะวันตกของประเทศไทย เป็นพื้นที่เพาะปลูกไร่ส้ม ไร่กุหลาบ ขนาดใหญ่มากจนสามารถส่งออกไปยังต่างประเทศได้ ในไร่เหล่านี้อุดมไปด้วยแรงงานข้ามชาติไม่ถูกกฎหมายที่ใช้หยาดเหงื่อแรงกายเป็นเวลานานทุกวี่วัน สูดดมสารเคมีนับไม่ถ้วน เจ็บป่วยล้มตายจากสารเคมีเท่าไหร่ ไม่มีใครรู้ 
ไร่ส้ม ไร่กุหลาบเหล่านี้เจ้าของส่วนใหญ่ คือ นักธุรกิจรายใหญ่ของประเทศไทยแทบทั้งนั้น ฉะนั้นข้อหาเรื่องการตัดไม้ทำลายป่า คงมีคำตอบแล้วว่าเป็นผลมาจากเรื่องใดกันแน่ 

เรื่องที่ (5): ปัญหาแรงงานข้ามชาติก็เหมือนกับเนื้อร้ายที่เกิดขึ้นในร่างกาย นับวันแต่จะลุกลามกินพื้นที่มากขึ้น กระทั่งท้ายที่สุดเจ้าของร่างกายนั่นเองต้องจบชีวิตลง

ข้อนี้เป็นปัญหาที่สะท้อนวิธีคิดที่สำคัญมาก ผู้เขียนอยากให้เราย้อนนึกไปถึงสมัยหนึ่ง คือเรื่อง โรคเอดส์ ที่ครั้งหนึ่งเรากลัวกันมากขนาดที่ว่า ไม่สามารถกินข้าวร่วมวงกับคนที่เป็นเอดส์ได้ เพราะกลัวติดโรคนี้ หรือกรณีเรื่องการรักษาโรคมะเร็ง ที่ต้องตัดเนื้อร้ายทิ้งเท่านั้น ผู้ป่วยถึงจะมีชีวิตอยู่รอดต่อไปได้ แต่มาวันนี้ทั้ง 2 เรื่องที่ยกมากลับมีมุมที่พลิกกลับในการคิด ทั้งการที่เราสามารถอยู่ร่วมกับผู้ป่วยเอดส์ หรืออยู่ร่วมกับเชื้อมะเร็ง ไม่ต้องตัดอวัยวะที่ติดเชื้อทิ้งไปได้อย่างเป็นสุข เช่นเดียวกับเรื่องแรงงานข้ามชาติ ทำไมเราไม่ลองเปลี่ยนมุมคิด พลิกปัญหาและเป็นโอกาสดูบ้าง ไหนๆ เราก็ไม่สามารถปฏิเสธลูกจ้าง คนงานข้ามชาติจำนวนมากได้แล้ว แทนที่จะหวาดระแวง ตื่นกลัว ไม่ไว้วางใจ ลองเปลี่ยนความกลัวเป็นความกล้าเดินเข้าไปหา และใช้สโลแกน "ยิ้มสยาม" ที่เรามักอ้างว่า เมืองไทยเต็มเปี่ยมไปด้วยรอยยิ้มต้อนรับแขกผู้มาเยือนเสมอ เป็นเครื่องมือใช้นำทางเพื่อการอยู่ร่วมกัน อาจได้ผลกว่าการตั้งการ์ดป้องกันตัวไว้ก่อนเป็นไหน ๆ 

อาจมีบางคนบอกว่าช่วงนี้มีข่าวแรงงานจากพม่าฆ่าปาดคอ ชิงทรัพย์ คนไทยหลายราย ผู้เขียนอยากให้เราลองตั้งสติและพิจารณาข้อความนี้กันอีกสักนิดว่า ทุกอย่างบนโลกใบนี้ล้วนมีเหตุปัจจัยทั้งนั้น และเราต่างสามารถเป็น "เหยื่อ" จากภัยรอบตัวได้ตลอดเวลา และจาก "คนจากประเทศไหนๆ ก็ได้" ฉะนั้นแทนที่เราจะหวาดระแวงต่อกัน สู้หันมาพูดคุยถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนร่วมกัน มีเวทีที่ทำให้คนไทย และคนจากพม่าได้สนทนากัน น่าจะเป็นหนทางที่ดีกว่าต่างคนต่างอยู่

ผู้เขียนเชื่อว่าปัญหา "แรงงานต่างด้าว" ไม่มีทางหมดไปจากโลกใบนี้ได้ง่าย และอาจไม่มีวันหมดเสียด้วยซ้ำ เมื่อการย้ายถิ่นของคนเร็วขึ้น ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น แทนที่เราจะหมกมุ่นอยู่ในโลกการแก้ปัญหาแบบเดิม ๆ ที่เราคุ้นชิน ทำไมเราไม่เปิดใจ และสร้างมุมใหม่ๆ ในการมองปัญหาแรงงานข้ามชาติขึ้นมา จากใจที่เต็มไปด้วยปัญหา เป็นใจที่เปิดรับปัญหาและใช้สตินำทางเพื่อแก้ปัญหา สร้างความเป็นธรรมให้กับทุกฝ่าย วันนี้สังคมไทยมีความรู้ที่อยู่ในคนที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก ทั้งภาครัฐ วิชาการ ธุรกิจ องค์กรพัฒนาเอกชน หรือในตัวแรงงานข้ามชาติเอง ความรู้ที่กระจัดกระจายเหล่านี้เองจะเป็นคำตอบที่สำคัญของการแก้ปัญหา "แรงงานต่างด้าว" ในประเทศไทยได้เป็นอย่างดี แต่เราก็ "หลงลืม" ที่จะนำมาสิ่งเหล่านี้มาเป็น "คำตอบ" ดูสักครั้ง
แรงงานต่างด้าวในประเทศไทย มีทั้งที่จดทะเบียนและมีใบอนุญาตทำงานถูกต้อง หรือที่เคยจดทะเบียนแต่ปัจจุบันอยู่อย่างผิดกฎหมาย หรือที่เคยหลบหนีเข้ามาและอยู่อย่างผิดกฎหมายมาแต่ต้น ตลอดจนครอบครัวตามมาอยู่ด้วย และลูกหลานที่เกิดใหม่ในประเทศไทย ตัวเลขประมาณการของแรงงานต่างด้าวคือ 2 ล้านคน แต่ตัวเลขสูงสุดร่วม 10 ล้านคน ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าตกใจ แรงงานต่างด้าวที่กล่าวถึงกันมากคือ พม่า ลาว และกัมพูชา แต่ส่วนใหญ่จะเป็นชาวพม่า 

ในหลายปีที่ผ่านมาแรงงานต่างด้าวชาวลาวกับกัมพูชาค่อนข้างน้อย ทั้งนี้อาจเป็นเพราะทั้งสองประเทศมีประชากรน้อย ปัญหาขัดแย้งภายในไม่รุนแรงประชาชนจึงไม่ใคร่เดือดร้อนต้องดิ้นรนทำมาหากินในประเทศไทย แต่อีกสัญชาติที่เริ่มกล่าวถึงมากคือ ชาวบังกลาเทศ มีความเป็นไปได้ที่ในอนาคตจะมีแรงงานต่างด้าวชาวบังกลาเทศจำนวนมาก ทั้งนี้มีเสียงบ่นจากนักธุรกิจไทยว่าหาคนงานไม่ได้ เนื่องจากการประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท และธุรกิจที่ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานมากที่สุดคือ ก่อสร้างกับประมง บางครั้งผู้ประกอบการยอมจ่ายค่าแรงถึงวันละ 350-400 บาท อย่าว่าแต่คนงานไทยแม้แต่คนงานพม่าไม่ต้องการทำงานประเภทนี้เหตุผลคือ งานหนัก สกปรก และมีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะการเป็นลูกเรือประมงจะเสี่ยงเป็นพิเศษ นอกจากเรื่องอุบัติเหตุกับภัยธรรมชาติกลางทะเลแล้ว ยังเสี่ยงถูกโกงค่าแรงและถูกฆ่าปิดปาก 

ทั้งนี้ การประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของรัฐบาลทำให้นายหน้ากับเจ้าหน้าที่รัฐทั้งไทยและพม่าคาดหวังเรียกร้องค่าน้ำร้อนน้ำชาจากแรงงานต่างด้าว คอยดักจับ ข่มขู่ และรีดเงิน ประกอบกับกฎระเบียบและขั้นตอนต่าง ๆ มีมาก และเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน จนยากที่ทั้งเจ้าของธุรกิจและแรงงานต่างด้าวจะปฏิบัติตามได้ครบถ้วน จึงต้องตกเป็นเหยื่อของระบบหัวคิวและค่าใช้จ่ายอื่นๆ โดยเฉพาะเมื่อมีมติเกี่ยวกับการต่ออายุใบอนุญาตทำงานให้กับแรงงานต่างด้าว โดยมีข้อกำหนดเรื่องการพิสูจน์สัญชาติทำให้แรงงานต่างด้าวต้องเดินทางไปชายแดน และข้ามพรมแดนกลับเข้าไปในประเทศของตนเพื่อขอหนังสือรับรองว่าเป็นผู้ถือสัญชาติของประเทศนั้น แล้วจึงต้องเดินทางกลับมาเพื่อมาดำเนินการต่ออีกหลายขั้นตอน โดยเกรงว่าเมื่อไปรายงานตัวฝั่งพม่าแล้วอาจถูกกักตัว หรือครอบครัวและญาติพี่น้องที่ยังอยู่ในพม่าอาจจะเดือดร้อน
มีจำนวนไม่น้อยตัดสินใจอยู่อย่างผิดกฎหมายในไทย และยอมให้เจ้าหน้าที่ไทยรีดไถแทน นอกจากการพิสูจน์สัญชาติแล้ว แรงงานต่างด้าวยังต้องนำหนังสือรับรองแทนหนังสือเดินทางไปขอประทับตราวีซ่าที่ตรวจเมือง แจ้งผลการพิสูจน์สัญชาติที่กรมการจัดหางาน ตรวจสุขภาพ แล้วจึงย้อนกลับไปที่กรมการจัดหา 
งานอีกครั้งหนึ่งเพื่อยื่นคำขอใบอนุญาตทำงาน ซึ่งกว่าจะครบทุกขั้นตอนต้องเสียเวลาทำมาหากิน เสียค่าใช้จ่ายเดินทาง ค่าธรรมเนียมต่างๆ และค่าอำนวยความสะดวกอื่น ๆ 

ถึงเวลาที่ควรจะยอมรับและทำความเข้าใจให้ถูกต้องตรงกันว่า การมีแรงงานต่างด้าวในประเทศเป็นผลประโยชน์ของไทยเอง ช่วยลดต้นทุนให้กับธุรกิจและเศรษฐกิจโดยรวม เลิกนึกว่าแรงงานต่างด้าวสร้างภาระและต้องผลักดันให้กลับประเทศ รัฐควรบริหารจัดการโดยจัดระเบียบอำนวยความสะดวกและช่วยดูแลไม่ให้เกิดปัญหาแทนการออกกฎระเบียบและเก็บค่าธรรมเนียมหยุมหยิมจนเป็นอุปสรรคทั้งทางตรงและทางอ้อม ลดขั้นตอนเพื่อประหยัดเวลาและให้ง่ายต่อการปฏิบัติ มอบหมายให้หน่วยงานเดียวทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการให้บริการครบวงจรในลักษณะที่เป็น One Stop Service เพื่อเป็นบริการให้กับประชาชน 

1 ความคิดเห็น:

  1. บล็อกเป็นประโยชน์มากครับ ผมเห็นว่าในไม่ช้าฝรั่งเศสอาจเป็นอีกประเทศที่จะเกิดปัญหาแรงงาน แต่ในอีกรูปแบบหนึ่ง
    http://www.chanchaivision.com/2013/02/france130221.html

    ตอบลบ