วันศุกร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2556

ปัญหาด้านการศึกษาในสังคมไทย นางสาวสุมนต์ฑา บุญท้วม 53242766

บทความเชิงวิชาการ
เรื่อง ปัญหาด้านการศึกษาในสังคมไทย


       การศึกษาของเด็กไทยที่ผ่านมา มีความพยายามในการยกระดับมาตรฐานทางการศึกษาของเด็กและเยาวชนเพื่อให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับ เนื่องจากในการวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กไทยในแต่ละปี ผลที่ออกมามักอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำกว่ามาตรฐาน มาจากผลสำรวจสุขภาพอนามัยของเด็กโดยคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ล่าสุดเมื่อ พ.ศ. 2551-2552 โดยสำรวจเด็ก 2 กลุ่ม คือกลุ่มปฐมวัยอายุ 1-5 ปี จำนวน 3,029 คนและกลุ่มเด็กอายุ 6-14 ปี จำนวน 5,999 คน จาก 20 จังหวัด ผลการสำรวจด้านเชาว์ปัญญา พบว่า ในช่วง 14 ปีมานี้ ค่าเฉลี่ยระดับเชาว์ปัญญาหรือไอคิวของเด็กไทยไม่ได้เพิ่มขึ้นเหมือนประเทศอื่น โดยเด็กไทยอายุ 6-14 ปี มีระดับเชาว์ปัญญาเท่ากับ 91.4 ซึ่งค่าเฉลี่ยระดับไอคิวปัญญาต่ำลงเมื่อเด็กอายุมากขึ้น มีเด็กถึงร้อยละ 50 ที่มีระดับเชาว์ปัญญาต่ำกว่าเกณฑ์ปกติคือ 80 มีเพียงร้อยละ 11 ที่มีค่าเฉลี่ยระดับเชาว์ปัญญาสูงกว่าปกติ แม้ประเทศไทยจะมีการทุ่มงบประมาณเพื่อพัฒนาการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นโครงการเรียนฟรี 15 ปี รวมถึงโครงการผลิตครูการศึกษาขั้นพื้นฐานระดับปริญญาตรี (หลักสูตรครู 5 ปี) การประเมินวิทยฐานะ ซึ่งทำให้ครูที่มีผลงานดีได้รับผลตอบแทนสูงขึ้น แต่เหตุใดปัญหาการศึกษาของเด็กไทยยังมีการประเมินว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ซึ่งปัญหาด้านการเรียนของเด็กไทยในปัจจุบันอาจวิเคราะห์ได้ว่ามาจากหลายประการ ปัจจัยหนึ่ง ที่ทำให้เด็กมีผลการเรียนอ่อนลง มาจากความสนใจของตัวเด็กเองที่พบว่าเด็กให้ความสนใจเรื่องของเกม และสื่อเพื่อความบันเทิงมากขึ้น ทำให้ความสนใจในการศึกษาหาความรู้ลดน้อยลง
ทั้งนี้ เนื่องมาจากสภาพสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปสู่การเป็นครอบครัวเดี่ยว พ่อแม่ทุ่มเวลาหาเงิน ทำงาน และใช้เงิน ใช้เทคโนโลยีเลี้ยงดูเด็ก เช่น ซื้อทีวี ซื้อเครื่องเล่นเกมคอมพิวเตอร์ให้ลูกเล่นอยู่บ้าน เพราะคิดว่าดีกว่า ปลอดภัยกว่าที่จะให้ลูกไปเล่นนอกบ้าน ซึ่งจะทำให้เกิดผลเสียต่อพัฒนาการ รวมถึงปัญหาการสอบแอดมิดชั่น เนื่องจากระบบการสอบแอดมิดชั่น เน้นคะแนนสอบเพียงบางวิชาและไม่เน้นความรู้ในเชิงลึกเหมือนการสอบในสมัยเก่า ปัญหาจากครูผู้สอน ทั้งในเรื่องเงินเดือน และการฝึกฝนเรียนรู้ของครูให้เท่าทันศาสตร์ต่างๆ เพื่อจะไปสอนให้ทันกับเทคโนโลยีและความรู้ใหม่ๆ โดยที่ผ่านมาสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) (สมศ.) เปิดเผยผลการประเมินคุณภาพภายนอก ทั้งระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ระดับอาชีวศึกษาและระดับอุดมศึกษา ซึ่งพบว่ามีสถาบันการศึกษาที่ไม่ผ่านการรับรองผลคิดเป็นร้อยละ 19.59 โดยในเบื้องต้นพบว่าสถานศึกษาที่ไม่ผ่านการรับรองมีปัญหาสำคัญมาจากคุณภาพครูเป็นปัจจัยสำคัญ ดังนั้นหากมองย้อนถึงปัญหาทางการศึกษาของเด็กไทย และการกระตุ้นเม็ดเงินเพื่อช่วยเหลือจึงอาจต้องมุ่งเน้นที่การพัฒนาบุคคลากรให้มากยิ่งขึ้น เพราะการที่บุคคลากรด้านครูยังขาดการพัฒนาทางความรู้และการศึกษา ก็จะส่งผลให้ไม่เกิดการพัฒนาทางการเรียนการสอน และทำให้เด็กไม่สนใจเรียนในที่สุด และท้ายที่สุดแล้วก็จะส่งผลให้บัณฑิตที่ผลิตออกไปนั้น ไม่สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานในสาขาที่ตลาดแรงงานในประเทศต้องการ และขาดแคลนแรงงานในที่สุด 
                ปัญหาการศึกษาไทย เป็นปัญหาที่เรื้อรังมาโดยตลอด การระดมความคิดเห็นของ ผู้บริหารการศึกษา ทั้งในด้านการสะท้อนปัญหาและการแก้ไขปัญหาเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง และยังมีการอ้างว่าประเทศไทย ได้ดำเนินการ "ปฏิรูปการศึกษา" ครั้งใหญ่ โดยเริ่มจากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 และต่อมามีการตราพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติขึ้นมาเป็นครั้งแรก ซึ่งได้ประกาศใช้เมื่อปี พ.ศ.2542 รวมทั้งเกิดกฎหมายประกอบขึ้นมาอีกหลายฉบับ โดยมีความมุ่งหวังว่าการศึกษาของไทยจะได้รับการปฏิรูปในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นโครงการสร้างการบริหาร การกระจายอำนาจ ตลอดไปจนถึงสาระที่สำคัญที่สุดของกระบวนการปฏิรูป อันได้แก่การปฏิรูปการเรียนรู้ ทั้งนี้ เพื่อเตรียมสังคมไทยเข้าสู่โลกยุคใหม่ โดยมุ่งสร้างทุนมนุษย์ที่มีคุณภาพสูง และทุนทางปัญญา ที่จะนำประเทศให้อยู่รอดในสังคมใหม่ที่มีความรู้เป็นปัจจัยหลักของทั้งระบบเศรษฐกิจ และสังคม แต่นับจากการประกาศใช้กฎหมายสำคัญเหล่านั้นมาจนถึงปัจจุบัน กลับปรากฏว่า การศึกษาไทยก็ยังเต็มไปด้วยปัญหา คุณภาพการศึกษาดูจะตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง ทุนมนุษย์ และทุนปัญญาก็อับจน โครงสร้างที่ได้ปฏิรูปไปแล้วก็ดูเหมือนจะใช้ไม่ได้ เหมือนกับกำลังจะฟ้องตัวเองว่า พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542เป็นพิมพ์เขียวที่ผิด จนขณะนี้มีกระแสผลักดันให้เกิดการปฏิรูปการศึกษารอบสอง ซึ่งดูไปแล้วก็จะเห็นว่าเป็นเรื่องที่จำเป็น และอาจจะทำช้าไปแล้วด้วยซ้ำไป แต่การปฏิรูปรอบสองนี้ หากไม่วิเคราะห์ปัญหาให้รอบด้าน และหาแนวทางแก้ที่ถูกต้อง การศึกษาไทยก็อาจจะดิ่งลงเหวยิ่งขึ้นไปอีก                ดังนั้นสวนดุสิตโพล สถาบันราชภัฎสวนดุสิต จึงได้สอบถามความคิดเห็นของผู้บริหารการศึกษาระดับสูงและระดับกลาง ที่สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 216 คน (ทั้งผู้บริหารในกระทรวงศึกษาธิการ , ผู้บริหารสถานศึกษาทุกระดับ)ในวันที่ 14 มกราคม 2543 สรุปประเด็นสำคัญได้ 10 ปัญหาการศึกษาไทย ที่หนักอกผู้บริหารการศึกษาและแนวทางการแก้ไขไว้ดังนี้
ลำดับที่
ปัญหา
คิดเป็นร้อยละ
แนวทางแก้ไข
1
ยาเสพติด
              
30.43%
1.ทุกฝ่ายร่วมมือกันอย่างจริงจัง
2.จัดกิจกรรมให้กับนักศึกษามากขึ้น
3.ดำเนินการอย่างจริงจัง/ มีบทลงโทษเด็ดขาดฯลฯ
2
ความตระหนักในบทบาทและหน้าที่ความรับผิดชอบของบุคลากรทางการศึกษา

12.56%
1. ให้ความสำคัญกับอาชีพอย่างจริงจัง
2.กำหนดบทลงโทษและลงโทษอย่างเฉียบขาด สำหรับผู้ขาดความรับผิดชอบ
3.จัดทำบัญชีเงินเดือนให้สูงขึ้นฯลฯ
3
เงินกู้ยืมทุนการศึกษามีไม่เพียงพอกับจำนวนผู้ต้องการ


12.08%
1.รัฐบาลควรให้ความสนับสนุนโดยช่วยเหลือนักเรียนและสถาบันการศึกษา
2.การมีข้าราชการประจำทำงานโดยเฉพาะ
3.จัดสรรงบประมาณ
4.ตั้งกองทุนกู้ยืม ฯลฯ
4
สถานศึกษาขาดปัจจัยสนับสนุน ด้านบุคลากร และงบประมาณที่เหมาะสม

11.59%
1. รีบเร่งหามาตรการแนวทางในการสรรหาบุคลากรทางการศึกษาที่มีคุณภาพ
2.เพิ่มงบประมาณ
3.ใช้งบประมาณให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุดฯลฯ
5
นักศึกษา/ นักเรียน ขาดคุณภาพ

11.11%
1.ดูแลกวดขันมากขึ้น
2.พัฒนาบุคลากรทางการศึกษาเข้าสู่ระดับมาตรฐาน
3.จัดหาอาจารย์ผู้มีความสามารถและรับผิดชอบดูแลฯลฯ
6
วัฒนธรรม / จริยธรรมเสื่อมโทรมลง


8.21%
1.ให้ทางสถาบันกวดขันความประพฤติมากขึ้น
2.ควรกำหนดเนื้อหาวิชาศาสนา จริยธรรม เป็นวิชาแกนบังคับ
3.ผู้ปกครองควรช่วยกันดูแล ฯลฯ
7
การแต่งตั้งโยกย้ายผู้บริหารของกระทรวงศึกษาไม่โปร่งใส/ไม่ยุติธรรม
5.13%
1. มีคณะกรรมการที่โปร่งใส/ ยุติธรรมดำเนินการ
2.ไม่ควรให้นักการเมืองมาจุ้นจ้าน
3.จัดให้มีการสอบขึ้นบัญชีชัดเจนฯลฯ
8
หลักสูตรการเรียนการสอนล้าสมัย

3.38%
1.จัดการเรียนให้มีการพัฒนาพร้อมทั้งมีเทคโนโลยีสมัยใหม่ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก
2.เปิดให้มีสถาบันรับรองการศึกษานอกจากองค์กรของรัฐ3.ระดมครูทั้งประเทศร่วมกันคิดอย่างทั่วถึงฯลฯ
9
การแต่งกายและการขาดระเบียบวินัยของนักศึกษา

2.90%
1.กวดขันเรื่องการแต่งกายมากขึ้น
2.อาจารย์ที่ปรึกษาต้องทุ่มเทเวลาต่าง ๆ ใกล้ชิดมากกว่านี้
3.ปลูกจิตสำนึกให้เข้าใจในบทบาทและหน้าที่ฯลฯ
10
การปฏิรูปการศึกษาที่ล่าช้า ไม่มีแนวทางชัดเจน
2.61%

1.ควรเร่งชี้แจงให้ผู้บริหารสถานศึกษาได้รับทราบอย่างชัดเจนและเร่งสร้างความเข้าใจแก่บุคลากรในกระทรวง ฯลฯ
ดังนั้น บทความนี้จึงพยายามที่จะประมวลอาการต่างๆ ของการศึกษาไทย เพื่อประโยชน์ในการผ่าตัดใหญ่ครั้งต่อไป จะได้กระทำได้อย่างถูกต้องยิ่งขึ้น 
1.คุณภาพการศึกษาพื้นฐานตกต่ำ:ความจำเป็นที่ต้องปฏิรูปการเรียนรู้
มีหลักฐานต่างๆ สะท้อนให้สังคมไทยเห็นมาอย่างต่อเนื่องถึงคุณภาพการศึกษาของไทยที่ตกต่ำ ทั้งที่เป็นการ
สำรวจโดยองค์กรระหว่างประเทศ และการประเมินโดยองค์กรภายในประเทศ เช่น สมศ.หรือผลการทดสอบการศึกษาระดับชาติ (NT) ซึ่งต่างก็พบภาพซ้ำๆ กันว่า นักเรียนไทยส่วนใหญ่มีความรู้ต่ำกว่ามาตรฐาน ความรู้ที่ว่านี้หมายถึงวิชาที่สำคัญต่างๆ เช่น วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ การคิดเชิงวิเคราะห์ ภาษา ซึ่งรวมถึงภาษาไทย นักเรียนที่จัดว่ามีความรู้จริงที่พอมีอยู่บ้าง ก็มีจำนวนน้อย เช่น การศึกษาขององค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economics C0-0peration and Development, OECD) ที่รู้กันในชื่อของ PISA (Programme for International Students Assessment) พบว่านักเรียนไทยที่จัดได้ว่ามีความรู้วิทยาศาสตร์อยู่ในระดับสูงมีเพียง 1% เท่านั้นเอง ซึ่งคงจะได้แก่นักเรียนที่ไปชนะการแข่งขันโอลิมปิควิชาการสาขาต่างๆ และย่อมไม่ได้หมายถึงคุณภาพโดยเฉลี่ยของระบบการศึกษาไทย 
                PISA ยังพบว่า เด็กไทย 74% อ่านภาษาไทยไม่รู้เรื่อง คือมีตั้งแต่อ่านไม่ออก อ่านแล้วตีความไม่ได้ วิเคราะห์ความหมายไม่ถูก หรือแม้แต่ใช้ภาษาให้เป็นประโยชน์ในการศึกษาวิชาอื่นๆ ไม่ได้ คุณภาพที่ตกต่ำย่อมหมายถึงวิชาการ และองค์ความรู้ที่เรามีอยู่ในระบบการศึกษาไทยต่ำกว่ามาตรฐาน หมายถึงระบบการถ่ายทอดความรู้ รวมทั้งครูผู้สอนมีความรู้ต่ำกว่ามาตรฐาน หมายถึงความด้อยคุณภาพของระบบสนับสนุนการเรียนรู้ต่างๆ เช่น การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ หรือการสร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ เป็นต้น ซึ่งในที่สุด ย่อมเป็นผลให้ผู้เรียนที่มีความรู้ต่ำกว่ามาตรฐาน แต่ที่วิกฤตที่สุดเหนือวิกฤตทั้งหลายคือ สภาพเหล่านี้ได้กลายมาเป็นความเคยชิน และชีวิตประจำวันของระบบการศึกษาไทย ซึ่งหากไม่มี
การปฏิรูประบบการเรียนรู้ครั้งใหญ่ เราคงหนีพ้นจากวังวนนี้ยาก 

                2.ปัญหาของการปฏิรูปโครงสร้าง 
                กฎหมายที่กำหนดการปฏิรูปการศึกษาของไทย มีผลให้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการครั้งใหญ่ กรมต่างๆ ถูกยุบไป ได้มีการรวมเอาทบวงมหาวิทยาลัย และสภาการศึกษาแห่งชาติเข้ามาไว้ในกระทรวงศึกษา
ธิการ กลายเป็นโครงสร้างใหม่ คือมีหน่วยงานที่เรียกว่าองค์กรหลักห้าองค์กร ได้แก่ สำนักปลัดกระทรวง สำนักงานฯคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา และสำนักงานสภาการศึกษามีหัวหน้าองค์กรเหล่านี้เป็นข้าราชการระดับปลัดกระทรวงถึง 5 คนได้แก่ 4 เลขาธิการ และ 1 ปลัดกระทรวง ในระดับปฏิบัติ ได้มีหลักการให้มีการกระจายอำนาจการบริหารการศึกษา โดยกำหนดให้มีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอยู่ในทุกจังหวัด มีจำนวนเขตมากน้อยตามขนาดของประชากร และวางหลักไว้ว่า ในที่สุด โรงเรียนต่างๆ
จะถูกถ่ายโอนจากโครงสร้างรูปแบบกรมแบบเดิม ไปสังกัดเขตพื้นที่ 
                แต่จากวันนั้นมาถึงวันนี้ เรากลับพบปัญหาอันเกิดจากสูตรที่ไม่สำเร็จของการปฏิรูปโครงสร้างทับถมทวีคูณ จนปรากฏออกมาในรูปของข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ และข้อเรียกร้องต่างๆ ดังมีตัวอย่าง เช่น การถ่ายโอนสถานศึกษาไปสังกัดเขตพื้นที่ที่ยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้ มีข้อเรียกร้องให้กลับมาตั้งกรมต่างๆ ขึ้นในสำนักงานปลัดกระทรวง เนื่องจากเห็นว่าโครงสร้างใหม่ไม่สามารถครอบคลุมภารกิจได้ครบถ้วน ในเขตพื้นที่ได้มีการเคลื่อนไหวให้แยกการบริหารระดับประถม และระดับมัธยมออกจากกัน (ซึ่งเป็นการกลับไปหาจุดเดิมก่อนการปฏิรูป) มีข้อเรียกร้องให้ตั้งทบวงการศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมทั้งมีการชี้ประเด็นว่าการรวมเอาทบวงมหาวิทยาลัยเข้ามาไว้ในกระทรวงเดียวกันเป็นการบั่นทอนพัฒนาการของอุดมศึกษา การปรับโครงสร้างที่เกิดขึ้นมาแล้วนั้น ดูจะเป็นรูปธรรมเพียงประการเดียวที่ปรากฏให้เห็นจากกระบวนการปฏิรูปการศึกษาที่ขับเคลื่อนโดย พ.ร.บ. 2542 แต่ปัญหาที่ผุดขึ้นมาตามรายทางเหล่านี้ ชี้ประเด็นว่า แม้รูปธรรมประการเดียวนี้ก็ยังมีปัญหา เพราะโครงสร้างใหม่น่าจะมีความไม่เหมาะสมจนมีข้อเรียกร้องให้ทบทวน หรือปรับปรุงเกิดขึ้นตลอดเวลา 
                3.ปัญหาของครู 
                ในประเทศฟินแลนด์ ซึ่งถือว่าเป็นประเทศที่คุณภาพการศึกษาดีที่สุดในโลก วิชาชีพที่ประชาชนนิยม และให้การยอมรับนับถือมากที่สุดคือ วิชาชีพครู แต่ในประเทศไทย สังคมกลับเห็นว่าในปัจจุบันวิชาชีพนี้ตกต่ำ จนองค์กรวิชาชีพครู เช่น คุรุสภา ต้องวางยุทธศาสตร์การพัฒนาวิชาชีพครูเพื่อให้กลับมาเป็นวิชาชีพชั้นสูงเหมือนในอดีต โดยมีมาตรการอันหนึ่งคือ การปรับปรุงกระบวนการผลิตครูโดยเพิ่มหลักสูตรจาก 4 ปี เป็นปี แต่ปัญหาของวิชาชีพครูอาจจะไม่สามารถแก้ไขได้เพียงการเพิ่มเวลาเรียนเท่านั้น การเรียนเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งปี อาจเห็นข้อดีได้ชัดเจนคือ ช่วยสร้างประสบการณ์ในวิชาชีพให้มากขึ้นในระหว่างเรียน เพื่อให้ครูรุ่นใหม่พร้อมที่จะออกมาทำงานในสภาพจริง แต่วัตถุประสงค์ของคุรุสภาที่จะให้เงื่อนไขของการเพิ่มเวลาเรียนมาเป็นฐานในการเพิ่มเงินเดือน และความก้าวหน้าในการรับราชการนั้น ไม่น่าจะเป็นแนวทางที่แก้ปัญหาได้ เพราะแท้ที่จริงแล้ว ความก้าวหน้าทางราชการในระยะยาวของผู้สำเร็จการศึกษาด้วยหลักสูตร 4ปี และหลักสูตร 5 ปีนั้น ไม่แตกต่างกันเลย 
                อย่างไรก็ดี ความตกต่ำของวิชาชีพครูอาจมีเหตุมาจากข้อเท็จจริงง่ายๆ ประการหนึ่ง ซึ่งจนบัดนี้ก็ยังไม่มีใครคิดที่จะแก้ไข นั่นคือการที่ประเทศไทยมีการผลิตครูมากถึงปีละประมาณ 12,000 คน ในขณะที่อัตราการบรรจุครูใหม่ในแต่ละปีมีเพียง 3-4 พันคนเท่านั้น ซึ่งหมายความว่าในแต่ละปี บัณฑิตครูที่จบออกมาใหม่จะมีการตกงานเบื้องต้นเกือบหนึ่งหมื่นคน สถานการณ์เช่นนี้ จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลถึงภาพพจน์ และความนิยมในการเข้าศึกษาในสาขาวิชานี้ ไม่ดึงดูดให้นักเรียนที่เรียนเก่ง และมีโอกาสเลือกสาขาได้มากให้ตัดสินใจเข้ามาเรียนครู นอกจากนั้น ปัญหาของครูก็ยังมีเรื่องอื่นๆ อีกมาก เช่น ในภาพรวมประเทศไทยยังนับว่าขาดแคลนครู แต่นโยบายจำกัดกำลังคนภาครัฐก็เป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ ในภาพที่เป็นรายละเอียด ยังพบว่าเราขาดแคลนครูในสาขาวิชาสำคัญๆ เช่น วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษา เป็นต้น ยังพบอีกว่า ไม่มีความชัดเจนทางนโยบายในการที่จะสนับสนุนให้ผู้สำเร็จการศึกษาในสาขาวิชาที่ตรงกับเนื้อหาสาระมากกว่า เช่น บัณฑิตทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษา หันเข้ามาหาวิชาชีพครู ในทางตรงกันข้ามยังกลับพบมาตรการในเชิงกีดกันอีกด้วย เช่น การกำหนดให้ผู้ที่จะรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูได้ต้องไปเรียนเพิ่มเติมอีกอย่างน้อยหนึ่งปี เป็นต้น
                ปัญหาที่เป็นอมตะของครูไทยเห็นจะหนีไม่พ้นเรื่องหนี้สินครู ที่เป็นวาระที่รัฐมนตรีใหม่ทุกคนจะต้องพิจารณาดำเนินการ แต่ก็ยังไม่เห็นที่จะมีทางแก้ปัญหาได้อย่างเบ็ดเสร็จ เท่าที่ทำกันมาบ้างแล้วก็เป็นเพียงการหาแหล่งเงินกู้ใหม่ๆ เข้ามา เพื่อให้ครูเป็นหนี้เพิ่มเติมขึ้นไปอีกเท่านั้นเอง จนกลายมาเป็นคำถามว่า ทำไมเรื่องหนี้สินจึงจะต้องเป็นเรื่องที่คู่กับวิชาชีพนี้ อันที่จริง หากคิดให้เป็นธรรม ก็คงต้องยอมรับว่าประเทศไทยเรามีโครงสร้างเงินเดือนในระบบราชการที่โบราณจนไม่เหมาะกับสถานการณ์ในปัจจุบัน เรามีความแตกต่างระหว่างเงินเดือนแรกเข้าทำงานกับเงินเดือนที่พึงได้รับสูงสุดในชีวิตการทำงานถึงเกือบ 10เท่า ในขณะที่ในประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลายจะพบความแตกต่างเพียง 3-4 เท่า ซึ่งหมายความว่า บุคคลจะได้รับค่าจ้างเมื่อแรกเข้าทำงานสูงมากเพียงพอที่จะยังชีพได้ โดยอัตราเพิ่มตลอดเวลาที่ทำงานอาจไม่มาก หรือไม่ต้องมีการซอยขั้นเงินเดือนละเอียดหลายขั้นมากนัก ดังนั้น แนวทางแก้ไขสำหรับครูรุ่นใหม่ทางหนึ่งควรจะเป็นการปรับโครงสร้างเงินเดือนเสียใหม่ โดยเพิ่มเงินเดือนเมื่อแรกบรรจุให้มากขึ้น ครูก็ควรจะมีความกดดันในการดำรงชีพน้อยลง หัน
มาสนใจในหน้าที่การงานมากขึ้น 
                4.ขาดแคลนบัณฑิตแต่บัณฑิตก็ยังตกงาน 
                ประเทศเราไม่มีแผน และกลไกการกำกับการผลิตกำลังคนเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ ที่เราพอจะมีบ้างคือตัวเลขความต้องการกำลังคนในบางสาขาวิชาชีพ แต่ทำอย่างไรที่จะได้กำลังคนมาตามตัวเลขนั้น กลายเป็นปลายเปิดที่ปล่อยให้สถาบันการศึกษาที่เป็นผู้ผลิตนำไปดำเนินการเองโดยไม่มีการกำกับทิศทาง ในขณะที่ผู้สำเร็จการศึกษาในบางสาขามีมากมายจนล้นงาน จนพบเนืองๆ ว่า ในการรับสมัครงานบางตำแหน่ง มีผู้สมัครหลายหมื่นคนเพื่อแย่งกันเข้าทำงานที่มีการรับเพียงไม่กี่สิบอัตรา แต่บางสาขาวิชากลับขาดแคลนกำลังคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอุตสาหกรรม และทางด้านการแพทย์ ยังมีปัญหาอื่นๆ อีก เช่น ในภาพรวม เราต้องการให้มีผู้เข้าศึกษาสายอาชีวะประมาณครึ่งหนึ่ง จึงจะทำให้มีกำลังคนเพียงพอต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ แต่ในความเป็นจริงกลับพบว่า มีผู้เข้าเรียนอาชีวะเพียง 27% ทั้งนี้ นับรวมถึงผู้ที่ไม่ได้เรียนสายอาชีวะแท้ แต่ไปเรียนอยู่ในวิทยาลัยอาชีวะด้วย เช่น สาขาด้านการบริหาร ซึ่งหมายความว่า หากนับสายช่างจริงๆจะมีจำนวนน้อยกว่านั้นมาก
                นอกจากนั้น เพื่อให้เพียงพอต่อการถ่ายทอดเทคโนโลยีชั้นสูง เรายังตั้งเป้าหมายว่า ควรมีผู้ศึกษาในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไม่ต่ำกว่า 40% แต่กลับพบว่าผู้เรียนในสาขานี้มีเพียง 28% เท่านั้น ซึ่งตัวเลขนี้ลดลงจากเมื่อประมาณสิบปีที่แล้ว ที่มีผู้เรียนสายวิทยาศาสตร์มากกว่า 30% และยังมีแนวโน้มที่จะลดลงอย่างต่อเนื่อง นอกไปจากนั้น ยังปรากฏว่ามีสาขาวิชาชั้นสูงอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่มีการผลิตบัณฑิตในประเทศไทย สถานการณ์เช่นนี้ย่อมส่งผลให้เกิดอุปสรรคในการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะในการพัฒนาอุตสาหกรรมซึ่งได้กลายมาเป็นเส้นเลือดใหญ่ของระบบเศรษฐกิจ
ความจำกัดของทรัพยากรมนุษย์ทั้งทางด้านสาขาวิชาชีพ จำนวนที่มี คุณภาพ และระดับของทักษะ ย่อมเป็นผลให้เกิดข้อจำกัดต่อขีดความสามารถของประเทศในภาพรวม
                5.ปัญหาของอาชีวศึกษา
                นอกจากความนิยมที่ตกต่ำ ทำให้มีผู้สนใจเข้าศึกษาน้อยลงดังที่ได้กล่าวข้างต้นแล้ว อาชีวศึกษาก็ยังประสบปัญหาด้านคุณภาพเช่นเดียวกับสายวิชาอื่นๆ อาชีวศึกษาไทยยังมีวัฒนธรรมแปลกๆ ที่ดูเหมือนจะไม่พบในที่ใดๆ ในโลก คือการยกพวกตีกัน แรกๆ ก็ดูเหมือนจะเป็นแค่เด็กชกต่อยกันธรรมดา แต่ต่อมาปัจจุบันได้พัฒนาไปถึงขั้นเอากันถึงเลือดถึงชีวิต เหตุเพียงเพราะอยู่ต่างสถาบันกัน การดึงดูดให้คนเข้าเรียนอาชีวศึกษาให้มากขึ้น และได้รับการพัฒนาทักษะอย่างถูกต้องและเหมาะสม รวมทั้งการเพิ่มสาขาวิชาที่ยังขาดแคลน หรือยังไม่มีการผลิตในประเทศ เป็นโจทย์ที่จะต้องแก้ไขให้ได้ แต่ความพยายามบางอย่าง เช่น การที่เปิดโอกาสให้อาชีวศึกษาจัดการศึกษาได้ถึงขั้นปริญญาเหมือนกับมหาวิทยาลัย กำลังเป็นที่ถูกจับตามองและเป็นข้อวิตกว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ถูกทางหรือไม่ 

ในอดีตเราต้องแก้ปัญหาของสถาบันการศึกษาที่จัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา แต่บังเอิญไปสังกัดอยู่ในหน่วยงานนอกระบบอุดมศึกษา โดยต้องกระทำกันซ้ำแล้วซ้ำเล่า เช่น การยกระดับวิทยาลัยวิชาการศึกษาขึ้นเป็นมหาวิทยาลัย การยกระดับวิทยาลัยครูขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏถึง 41 แห่ง การยกระดับวิทยาลัยด้านสาขาวิชาชีพ ขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 9 มหาวิทยาลัย แต่มีทั้งสิ้น 36 วิทยาเขตจนทำให้ขณะนี้เรามีมหาวิทยาลัยจำนวนมากเกินไป ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา นับตั้งแต่การควบคุมคุณภาพการศึกษา ไปจนถึงปัญหาการหาคนเข้าเรียนไม่ได้ตามเป้า จนปรากฏชัดเจนว่าในปัจจุบัน ประเทศไทยมีอุปทานด้านอุดมศึกษามากกว่าอุปสงค์ ขณะนี้เรากำลังจะมี "สถาบันอาชีวศึกษา" ในสถานภาพของอุดมศึกษาเต็มรูปแบบเกิดขึ้นอีกจำนวนหนึ่ง ในขณะที่โจทย์เรื่องอุปสรรค-อุปทาน ด้านอุดมศึกษานั้นหนักหนาอยู่แล้ว ในอนาคตจะไม่เป็นที่น่าแปลกใจที่เราจะต้องมาดำเนินตามรอยเดิมคือการยกระดับสถาบันเหล่านี้ขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยเหมือนดังที่เคยทำมาแล้ว
                6.วิทยาลัยชุมชน
                วิทยาลัยชุมชน เกิดขึ้นมาจากแผนการปฏิรูปการศึกษาฉบับดั้งเดิม (พ.ศ.2542) ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงแผนหลัก แต่กลับไม่ได้ปรับในรายละเอียดของกิจกรรม "วิทยาลัยชุมชน" จึงได้เกิดขึ้น และคงอยู่ในสภาพที่อิหลักอิเหลื่อ ความเดิมของเรื่องนี้คือ เมื่อแรกที่จะมีการปฏิรูปครั้งใหญ่ ตามพิมพ์เขียวของ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 นั้น ได้มีแนวคิดที่จะผนวกเอาอาชีวศึกษาชั้นต้นเข้าไว้เป็นส่วนของการศึกษาขั้นพื้นฐาน และให้ชั้นสูงรวมเข้าเป็นส่วนของอุดมศึกษา พูดง่ายๆ คือไม่ต้องมีแท่งอาชีวะ และเพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้แก่บุคคลที่อาจมีปัญหาในการเข้าสู่ระบบการศึกษาปกติ จึงได้มีแนวคิดในการตั้งวิทยาลัยชุมชนขึ้นมา คล้ายกับที่มีในต่างประเทศ และให้วิทยาลัยชุมชนเป็นส่วนหนึ่งของระบบอุดมศึกษา ซึ่งหวังว่าจะกลายเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่บุคคลอาจได้รับการศึกษาขั้นอุดมศึกษาระดับต่ำกว่าปริญญา และอาจเป็นช่องทางให้ได้ศึกษาต่อถึงขั้นปริญญาได้ในที่สุด
                แต่ต่อมา ได้มีการโต้แย้งแนวคิดนี้ และด้วยพลังทางการเมือง เรื่องจึงลงเอยว่าอาชีวศึกษายังคงอยู่ โดยได้จัดโครงสร้างเป็นองค์กรหลักแยกเฉพาะจากการศึกษาขั้นพื้นฐานและอุดมศึกษาวิทยาลัยชุมชนที่ได้เกิดขึ้นมาแล้ว รวม 20 แห่ง จึงตกอยู่ภายใต้ปัญหาหลายประการ นับตั้งแต่ความไม่ชัดเจนของสถานภาพ และพันธกิจที่มีบางส่วนซ้ำซ้อนกับอาชีวศึกษาอย่างเลี่ยงไม่ได้ ความคาดหวังของชุมชนที่คิดว่ามีอุดมศึกษาอยู่ในพื้นที่ และอาจมีโอกาสพัฒนาขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยในที่สุด ความคาดหวังที่จะได้รับการจัดสรรทรัพยากรต่างๆ จากหน่วยงานส่วนกลาง ในขณะที่ในหลักการกลับกลายเป็นสวนทางกัน กล่าวคือ มีหลักการวางไว้ว่าวิทยาลัยชุมชนจะต้องได้รับการสนับสนุนจากท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นด้านอาคารสถานที่งบประมาณบางส่วนและบุคลากร
                สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาต้องใช้ความพยายามประคับประคองอย่างมากเพื่อไม่ให้วิทยาลัยชุมชนดำเนินไปโดยผิดจากปรัชญาเดิม รวมทั้ง ความพยายามอีกด้านหนึ่งที่ดูจะมีผลเป็นรูปธรรมค่อนข้างน้อย คือการร่วมมือประสานงานกันระหว่างวิทยาลัยชุมชนกับสถาบันอุดมศึกษาหลักอันได้แก่มหาวิทยาลัยที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงซึ่งมหาวิทยาลัยทั้งหลายดูจะไม่นำพาที่จะให้ความช่วยเหลือวิทยาลัยชุมชน ขณะนี้มีความพยายามที่ยกร่างพระราชบัญญัติวิทยาลัยชุมชนเพื่อให้เกิดความชัดเจนของพัฒนาการของการศึกษาในรูปแบบใหม่นี้
                7.คุณภาพอุดมศึกษา/ปริญญาเฟ้อ
                ในการประมวลปัญหาเพื่อจัดทำกรอบแผนอุดมศึกษาระยะยาว ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2550-2565) โดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้สรุปปัญหาของอุดมศึกษาไทยว่า เป็นระบบที่ "ไร้ทิศทาง ซ้ำซ้อน ขาดคุณภาพ และขาดประสิทธิภาพ" เมื่อเกือบ 20 ที่ผ่านมา มีข้อมูลที่ทำให้เราวิตกว่า ประชาชนไทยได้รับโอกาสในการเข้าสู่ระบบอุดมศึกษาค่อนข้างต่ำ คือเพียง 14% ของจำนวนประชากรวัยอุดมศึกษาเท่านั้นเอง ผลที่ตามมาคือ เราได้เร่งเปิดมหาวิทยาลัยขึ้นมาอีกเป็นจำนวนมาก จากมหาวิทยาลัยของรัฐเดิมที่มีเพียง 20 แห่ง ได้ขยายจำนวนเป็น 78 แห่ง รวมกับมหาวิทยาลัยเอกชน วิทยาลัยชุมชน และสถาบันในสังกัดอื่นแล้ว เรามีสถาบันอุดมศึกษาประมาณ 255 แห่ง โอกาสการเข้าสู่อุดมศึกษาจึงเปลี่ยนไปเป็นใกล้ 50%
                แต่ปัจจุบันสถานการณ์ด้านประชากรเปลี่ยนไป เนื่องจากประเทศไทยได้เลยยุคคนเกิดมากมาแล้ว ผู้สำเร็จชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจึงมีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง จากจำนวน 800,000 เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา เหลือเพียง 600,000 ในปัจจุบัน และยังลดลงอีกเรื่อยๆ อุดมศึกษาไทยจึงมีอุปทานมากกว่าอุปสงค์ มหาวิทยาลัยหลายแห่งเริ่มมีปัญหาเรื่องหาคนเข้าเรียน ทำให้ประสบปัญหาเรื่องความคุ้มทุน นำไปสู่ความจำเป็นที่ต้องดำเนินการด้านการตลาดทุกวิถีทาง และมุ่งเปิดสอนแต่สาขาวิชาที่ทำได้ง่าย ต้นทุนต่ำ และได้เงินเร็ว ซึ่งระบาดไปทุกระดับชั้นปริญญา เรามีบัณฑิตล้นงานในหลายสาขา แต่ขณะเดียวกันก็มีการขาดแคลนในสาขาวิชาที่ยากๆ มหาวิทยาลัยจำนวนมากมุ่งหาเงินจนเป็นระบบการศึกษาเชิงปริมาณ ความจำเป็นที่ต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดเช่นนี้ อาจพอเข้าใจได้สำหรับมหาวิทยาลัยเอกชนซึ่งต้องแบกภาระค่าดำเนินการต่างๆด้วยรายได้ที่ต้องหามาเอง
                แต่ที่เข้าใจไม่ได้เลยก็คือ บัดนี้สถานการณ์เช่นนี้ได้กระจายเข้าไปสู่มหาวิทยาลัยของรัฐด้วย ในรูปแบบของการเพิ่มจำนวนนักศึกษาโดยตรง หรือการจัดทำเป็นโครงการพิเศษในลักษณะต่างๆ รวมทั้งเปิดสอนนอกสถานที่ตั้ง ซึ่งหากวิเคราะห์การเงินของโครงการเหล่านี้แล้วจะพบว่าส่วนใหญ่กลายเป็นค่าสอนของอาจารย์ สถานการณ์เช่นนี้ลุกลามไปจนถึงขั้นที่เรียกได้ว่า ปริญญาเฟ้อ ทุกระดับชั้นปริญญา กลายเป็นค่านิยมของสังคมที่ต้องเรียนอย่างน้อยถึงปริญญาโท และกำลังจะคุกคามต่อไปถึงปริญญาเอก โดยมหาวิทยาลัยเองได้มีส่วนในการสร้างอุปสงค์เทียม มหาวิทยาลัยเล็กๆ มีอาจารย์เพียงไม่กี่คนก็สามารถเปิดสอนระดับปริญญาเอกได้แม้ยังไม่มีประสบการณ์ หรือมีฐานด้านการวิจัยซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของขั้นปริญญาเอกเลย
                เมื่อเราสร้างระบบอุดมศึกษา เราก็ดูมาจากฝรั่ง และเชื่อตามฝรั่งว่าอุดมศึกษาต้องมีความเป็นอิสระ เราจึงได้มุ่งพัฒนาในทิศทางนั้น คือปลดปล่อยให้สถาบันอุดมศึกษาทุกแห่งเป็นอิสระ โดยหวังว่าจะมีสภามหาวิทยาลัยทำหน้าที่ดูแลแทนสังคม แต่การหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ เพราะส่วนใหญ่ของสถาบันอุดมศึกษาดำเนินการบนความเป็นอิสระนี้โดยขาดความรับผิดชอบต่อสังคม สภามหาวิทยาลัยก็ไม่เข้าใจบทบาทหน้าที่ของตนเอง จึงเป็นตัวแทนสังคมที่ไร้ประสิทธิภาพในการดูแลมหาวิทยาลัย หลักการความเป็นอิสระนั้นถูกต้อง แต่มหาวิทยาลัยไทยส่วนใหญ่ยังไม่พร้อมที่จะเข้าสู่หลักการนี้ เหมือนเด็กที่ยังไม่สามารถรับผิดชอบตนเองได้ เราจึงได้เห็นภาพของอุดมศึกษาในเชิงปริมาณแต่คุณภาพต่ำ และปริมาณก็ยังบิดเบี้ยวไปจากความต้องการกำลังคนที่แท้จริงของประเทศ
                ปัญหาของการทุจริตทางการศึกษาตั้งแต่ลอกข้อ สอบถึงจ้างทำวิทยานิพนธ์ พบจนเป็นสภาพปกติ อาจารย์
มหาวิทยาลัยไทยในภาพรวมจัดว่ามีคุณวุฒิต่ำ เพราะจบการศึกษาขั้นปริญญาเอกรวมกันแล้วไม่ถึง 30% (นอกจากมหา
วิทยาลัยชั้นนำไม่กี่แห่งที่อาจมีอาจารย์ปริญญาเอกเกิน 50%) ในขณะที่ในมหาวิทยาลัยระดับโลกทั้งหลายชีวิตของการเป็น
อาจารย์จะต้องเริ่มต้นที่ระดับปริญญาเอก หรือสูงกว่า สกอ.ในปัจจุบันเปรียบเสมือนยักษ์ไร้ตะบอง คือไม่มีกลไกที่จะไปติดตามตรวจสอบ หรือลงโทษมหาวิทยาลัยนอกแถวเหล่านี้ได้ สกอ.ได้รับการพัฒนาวัฒนธรรมการทำงานมาโดยต้องเป็นผู้สร้างความเป็นอิสระให้แก่มหาวิทยาลัย สกอ.จึงมีหน้าที่หลักเพียงการออกกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่หากมหาวิทยาลัยไม่ปฏิบัติตาม สกอ.ก็ไม่มีกลไกใดที่จะทำให้ทราบได้ หรือแม้ว่าทราบแต่ก็ไม่มีอำนาจโดยตรงที่จะดำเนินการใดๆ ได้ อย่างมากก็ทำได้เพียงตักเตือน เราจึงจะพบอยู่บ่อยๆ ว่า มหาวิทยาลัยเปิดหลักสูตรโดยมีองค์ประกอบต่างๆ ต่ำกว่าเกณฑ์ที่ สกอ.กำหนด
                อุดมศึกษาเป็นกลไกที่สำคัญอย่างยิ่งของประเทศชาติ โดยเฉพาะในปัจจุบันที่การอยู่รอดของชาติขึ้นอยู่กับทุนทางปัญญา แต่อุดมศึกษาไทยเติมสิ่งนี้ให้แก่ชาติไทยน้อยมาก ประเด็นสำคัญประการหนึ่งที่เกิดจากการปฏิรูปอุดมศึกษาน่าจะเป็นการยุบทบวงมหาวิทยาลัยไปรวมกับกระทรวงศึกษาธิการ ภายใต้แนวคิดง่ายๆ ว่า เมื่อเป็นการศึกษาเหมือนกัน ก็ควรรวมอยู่กระทรวงเดียวกัน เพื่อประโยชน์ในการบูรณาการ แต่แท้ที่จริงนั้น อุดมศึกษากับการศึกษาขั้นพื้นฐานมีเป้าหมายที่ต่างกัน ในขณะที่การศึกษาขั้นพื้นฐานเน้นที่การสร้างขีดความสามารถขั้นพื้นฐานของประชากร แต่อุดมศึกษาเน้นไปที่การสร้างขีดความสามารถระดับสูงเพื่อให้ประเทศแข่งขันได้ และไม่ได้เน้นที่ปัจเจกบุคคลเท่านั้น หากแต่เน้นที่การสร้าง และพัฒนาองค์ความรู้ ตลอดจนการประยุกต์ความรู้ในโลกของเทคโนโลยีซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของระบบเศรษฐกิจ เราจึงจะเห็นว่า ในประเทศที่มุ่งการสร้างขีดความสามารถขั้นสูงทั้งหลายจะแยกการบริหารอุดมศึกษาออกมาจากการศึกษาขั้นพื้นฐานในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งทั้งสิ้น และมักจะพบเสมอว่ามีการผนวกรวมระบบการวิจัยไว้กับอุดมศึกษาด้วย เช่น ประเทศอิตาลี มีกระทรวงมหาวิทยาลัยและการวิจัย เป็นต้น
                8.การขาดวิจัยและพัฒนา ขาดนวัตกรรม และปัญหาความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม"
                ในปี 2548 อาจารย์อุดมศึกษาไทยรวมประมาณ 50,000 คน ตีพิมพ์ผลงานวิจัยเพียง ประมาณ 2,000ฉบับ ในจำนวนนี้ 90% เกิดมาจากมหาวิทยาลัยเพียง 8 แห่ง ซึ่งหมายความว่ามหาวิทยาลัยที่เหลืออีกร้อยกว่ามหาวิทยาลัยตีพิมพ์เพียง 10% เท่านั้นเอง แต่ถ้าดูในรายละเอียด ยังพบว่าแม้ในมหาวิทยาลัยที่ตีพิมพ์มากที่สุดรวม 8 แห่งนี้ เมื่อเฉลี่ยตามจำนวนอาจารย์แล้ว มีการตีพิมพ์เพียงคนละ 0.12 บทความเท่านั้นเอง ถ้าเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ อาจารย์ของเขาจะตีพิมพ์คนละไม่ต่ำกว่า 2 ฉบับต่อปี มากกว่าที่ดีที่สุดของเราถึง 20 เท่า
                ในภาพรวมการตีพิมพ์ของอาจารย์ในสหรัฐอเมริกา ประมาณปีละ 200,000 ฉบับ ญี่ปุ่น 50,000 ฉบับ สหราชอาณาจักร 40,000 จีน 12,000 อินเดีย เกาหลี สิงคโปร์ ประมาณ 10,000 ฉบับ เป็นต้น ข้อมูลเช่นนี้ชี้ชัดเจนว่ามหาวิทยาลัยของเราอ่อนด้อยในด้านการวิจัย ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ เป็นที่ยอมรับกันในสากลว่า มหาวิทยาลัยต้องเป็นต้นกำเนิดของการวิจัย และต้องเน้นภาระหน้าที่เรื่องการวิจัย เพราะการวิจัยเป็นการสร้างองค์ความรู้ หากเราไม่มีการวิจัย เราก็จะขาดทุนทางปัญญา ในโลกยุคเศรษฐกิจฐานความรู้ ทุนทางปัญญาถูกเปลี่ยนไปเป็นนวัตกรรมซึ่งกลายเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักของธุรกิจ และระบบเศรษฐกิจ ยิ่งมีนวัตกรรมที่เกิดจากความรู้ระดับสูง ผลิตภัณฑ์นั้นก็ยิ่งมีมูลค่าเพิ่มสูง ส่งผลต่อความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจในที่สุด เมื่อประเทศเราขาดนวัตกรรม เราจึงเสียเปรียบทางเศรษฐกิจอย่างเลี่ยงไม่ได้ ทั้งหมดนี้ เกิดมาจากที่ระบบการศึกษาที่มีความอ่อนแอด้านการวิจัย    
                  นอกจากนั้น เรายังพบอีกว่าสถาบันการศึกษาในประเทศที่มีความเติบโตทางด้านเศรษฐกิจทั้งหลาย มีบทบาทในการเป็นต้นกำเนิดของธุรกิจโดยตรง โดยการสนับสนุนให้มีการนำเอาการประดิษฐคิดค้นจากการวิจัยมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ และสร้างหน่วยวิสาหกิจ ได้แก่ การเกิดบริษัทต่างๆ ซึ่งมักจะจัดในรูปของหน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจในมหาวิทยาลัย หรือสถาบันอาชีวศึกษา แต่ละปีจะมีบริษัทเกิดใหม่จำนวนมากจากหน่วยบ่มเพาะเหล่านี้ ทำให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศเหล่านั้นมีหน่วยการผลิตใหม่ๆ เกิดขึ้น ซึ่งผลักดันให้เศรษฐกิจมีการขยายตัว และเกิดการเจริญเติบโต เช่น ในมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ เป็นต้น เราจะพบว่ามีหน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจทั้งในระดับคณะวิชา และระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงหน่วยบ่มเพาะในระดับชาติอีกด้วย
                  ในประเทศไทย เราขาดระบบบ่มเพาะเช่นนี้ในสถาบันการศึกษา แต่ที่จริงเราขาดมาตั้งแต่จุดเริ่มต้น คือขาดนวัตกรรมด้วย แม้ สกอ.ได้เริ่มส่งเสริมให้มีโครงการ "หน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจในมหาวิทยาลัย" เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ แต่แรงผลักดันก็ยังอ่อน บัณฑิตไทยจึงเป็นเพียงมนุษย์เงินเดือน เดินเข้าสู่ระบบการผลิตเดิมที่มีอยู่แล้ว การเกิดวิสาหกิจใหม่ๆ มีน้อยมาก เราจึงถูกครอบงำโดยวิสาหกิจที่มาจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ การที่เรามองไม่เห็นว่าพันธกิจของมหาวิทยาลัย คือการสร้างความรู้จึงได้เหมารวมระบบมหาวิทยาลัยไว้กับระบบการศึกษาหลักก็ดี หรือการที่เราตัดตอนระบบการบริหารการวิจัยของประเทศออกเป็นคนละส่วนกับอุดมศึกษาก็ดี ล้วนแต่เป็นรูปแบบของการจัดทัพที่อ่อนแอ ที่จะไม่เอื้อให้ระบบการสร้างทุนทางปัญญาของประเทศเกิดขึ้นได้โดยเต็มตามศักยภาพ
                  9.การปฏิรูปการเงินเพื่อการอุดมศึกษา
                  ต้นเหตุของความอ่อนแอของอุดมศึกษาประการหนึ่งมาจากระบบการเงินของอุดมศึกษาที่ล้าสมัย เมื่อปี พ.ศ.2548 เมื่อกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏเริ่มเข้ามารวมอยู่ในสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา เราพบความแตกต่างของงบประมาณที่รัฐจัดให้มหาวิทยาลัยแบบฟ้ากับดิน มหาวิทยาลัยที่ได้งบประมาณน้อยที่สุดได้น้อยกว่า 50 ล้านบาท ในขณะที่มหาวิทยาลัยที่ได้มากที่สุด ได้เกิน 5,000 ล้านบาท เราอาจพออธิบายได้ว่า เพราะมหาวิทยาลัยเหล่านี้มีขนาด และภาระหน้าที่ต่างกัน จึงได้งบประมาณต่างกัน ซึ่งก็พอฟังได้ แต่แท้ที่จริงแล้ว เราไม่มีระบบการวิเคราะห์งบประมาณที่เหมาะสมที่จะส่งผลต่อการพัฒนามหาวิทยาลัยตามศักยภาพ การได้มาซึ่งงบประมาณเป็นการที่แต่ละมหาวิทยาลัยติดต่อประสานตรงกับสำนักงบประมาณ การเพิ่มของงบประมาณแต่ละปีอยู่บนฐานของตัวเลขในปีที่ผ่านๆ มา นอกจากนั้น เรายังมีระบบการจัดเก็บค่าเล่าเรียนที่ไม่ได้มีหลักการใดๆ เป็นพื้นฐาน มหาวิทยาลัยอยากจะเก็บเท่าไรก็อยู่บนความรู้สึก และดูจากตัวอย่างของมหาวิทยาลัยข้างเคียง
                  ยังพบว่ามีความต่างกันมากระหว่างมหาวิทยาลัยของรัฐ และของเอกชน ภาระที่ตกต่อผู้เรียนจึงไม่เป็นธรรม เด็กที่เรียนดีที่มักจะมาจากครอบครัวที่พอมีอันจะกิน หรือร่ำรวย มีโอกาสเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยของรัฐชั้นดีได้มากกว่า ซึ่งเสียค่าใช้จ่ายต่ำกว่า ในขณะที่เด็กเรียนไม่ค่อยดี ซึ่งมักจะมาจากครอบครัวที่ด้อยทางฐานะ มักต้องพึ่งมหาวิทยาลัยเอกชนที่เก็บค่าใช้จ่ายสูงกว่า หรือต้องไปเรียนในโครงการพิเศษในมหาวิทยาลัยของรัฐที่เก็บค่าเล่าเรียนสูงกว่าโครงการปกติโดยหาเหตุผลอธิบายได้ไม่ชัดเจน เรามีกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ยังตอบสนองความต้องการไม่ได้ทั้งหมด และมีระบบการจัดเก็บหนี้ที่ด้อยประสิทธิภาพภายใต้ข้อจำกัดของงบประมาณและเงื่อนไขเหล่านี้
                  หากเรายังปล่อยระบบการเงินของอุดมศึกษา (และอาจรวมถึงอาชีวศึกษาด้วย) ยังเป็นอยู่เช่นนี้ การศึกษาของเราก็จะอยู่ภายใต้ข้อจำกัดของการจัดสรรทรัพยากรที่ไม่เหมาะสม และไม่เป็นธรรม ซึ่งเป็นปัจจัยที่เหนี่ยวรั้งการพัฒนา ในประเทศที่อุดมศึกษาเจริญทั้งหลาย มักจะมีองค์กรอิสระสำหรับการจัดการการเงินของอุดมศึกษา ซึ่งเป็นตัวกลางระหว่างรัฐบาล และสถาบันอุดมศึกษา และมีหลักการการจัดสรรงบประมาณที่สอดคล้องกับภารกิจ คุณภาพ และผลผลิต ของระบบอุดมศึกษาในภาพรวมและของสถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่ง
10.เทคโนโลยีสารสนเทศทางการศึกษา
                  ประเทศไทยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศค่อนข้างต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เทคโนโลยีสารสนเทศที่ใช้ในการศึกษา พบว่าเรามีการใช้คอมพิวเตอร์เพียง 43 เครื่องต่อประชากร 1,000 คน ในขณะที่ญี่ปุ่นใช้ 477เครื่อง เกาหลีใต้ 324 เครื่อง ไต้หวัน 314 เครื่อง และมาเลเซีย 137 เครื่อง ตามลำดับ ในสหรัฐอเมริกามีโครงการ "หนึ่งนักเรียน-หนึ่งเครื่องคอมพิวเตอร์" หรือ One Laptop Per Child (OLPC) ในประเทศไทย เครื่องคอมพิวเตอร์ในโรงเรียนโดยทั่วไปยังขาดแคลน หรือแม้จะพอมีบ้าง แต่ก็ยังมีความขาดแคลนแหล่งเรียนรู้โดยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ หลายๆ ประเทศจัดให้เรื่องการเรียนแบบอิเล็กทรอนิกส์ หรืออีเลิร์นนิ่ง (e-learning) เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งไม่จำกัดอยู่เฉพาะการศึกษาในระบบเท่านั้น ทั้งนี้ เพราะได้มีการพิสูจน์แล้วว่า อีเลิร์นนิ่ง เป็นระบบการเรียนที่มีประสิทธิภาพสูง เอื้อต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนที่อาจมีศักยภาพต่างๆ กัน ให้มีโอกาสเรียนรู้เท่าเทียมกันได้ในที่สุด เป็นระบบที่ต้นทุนในภาพรวมต่ำ เพราะสามารถขยายผลไปถึงผู้เรียนได้เป็นจำนวนมาก อีเลิร์นนิ่งยังช่วยให้ระบบการจัดการความรู้ของสังคมมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และยังเอื้อต่อการศึกษาตลอดชีวิตของประชากรอีกด้วย ที่สำคัญที่สุด คือเป็นระบบที่จะช่วยให้การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของระบบการเรียนรู้ ที่เน้นการเรียนมากกว่าการสอนหรือผู้เรียนเป็นศูนย์กลางให้เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

                  ซึ่งการเรียนตามกระบวนทัศน์ใหม่นี้จะเหมาะสมกับโลกยุคเทคโนโลยีสารสนเทศที่ต่อเนื่องมาเป็นยุคสังคมฐานความรู้ ที่ความรู้เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว มีการขยายตัวของฐานความรู้อย่างมหาศาล หากระบบจัดการความรู้ไม่มีประสิทธิภาพ ก็จะส่งผลให้สังคมนั้นๆ มีความอ่อนด้อยทางปัญญาได้ในที่สุด ถ้าเราไม่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศ เราก็จะตกอยู่ในสภาพเช่นนั้น แต่การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา ไม่ได้หมายความเพียงการซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์แจกไปยังโรงเรียน หรือนักเรียน หากแต่ยังต้องจัดให้มีทรัพยากรการเรียนรู้ที่เพียงพอ และโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และระบบจัดการความรู้ที่มีประสิทธิภาพ จุดเด่นข้อหนึ่งของ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 คือการที่กำหนดไว้ว่าต้องมีการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา แต่รูปธรรมของบทบัญญัตินี้ยังไม่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนการวิเคราะห์การศึกษาไทย
การพัฒนาประเทศต้องพัฒนาควบคู่ไปกับการพัฒนาคนโดยต้องคำนึงถึงการศึกษาเป็นสำคัญ ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนไทยเปรียบเสมือนสายพานความป่วยไข้ทางสังคมที่สะท้อนถึงปรากฏการณ์ความอ่อนแอของทุกภาคส่วน เริ่มจากสถาบันครอบครัวอ่อนแอ สถาบันการศึกษา สถาบันศาสนาและชุมชน ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันทางสังคมล้มเหลว และกระทบไปถึงความเชื่อมั่น เศรษฐกิจ การเมือง ทั้งหลายเป็นเหตุแห่งปัญหา ความยากจน และ ปัญหาอาชญากรรม รวมถึงสื่อโดยเฉพาะโทรทัศน์และเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่ก่อให้เกิดค่านิยม เกิดเป็นปัญหาที่กำลังมีแนวโน้มขยายตัวและรุนแรงมากขึ้น ดังนั้นจึงจำเป็นที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน ซึ่งจำแนกระดับปัญหา ดังนี้
1.ระดับนโยบายเป็นเรื่องระดับประเทศที่เกี่ยวข้องกับระบบการเมือง การปกครอง สังคม รวมถึงงบประมาณ จะเห็นได้ว่า รัฐบาลทุกยุคให้ความสำคัญด้านการศึกษาในเรื่องรองเมื่อเทียบกับปัญหาด้านอื่นผู้ที่จะมารับผิดชอบกำกับดูแลการศึกษาของชาติไม่ได้เป็นบุคคลที่มีความรู้มีความเข้าใจงานด้านการศึกษาหรืออาจมีความรู้และประสบการณ์ทางด้านการศึกษาไม่มากนัก ส่งผลให้การกำกับดูแล และกำหนดนโยบายด้านการศึกษาไม่บรรลุเป้าหมาย อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อการปฏิรูปการศึกษาและแนวทางการปฏิบัติของบุคลากรทางการศึกษาซึ่งเป็นบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริง และเข้าใจระบบการศึกษาอย่างลึกซึ้ง
ตัวอย่างเช่น สาระสำคัญของ พ.ร.บ. ปฎิรูปการศึกษา พ.ศ. 2542 มีอยู่ 4 ประเด็นหลักคือให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ ครอบคลุมการศึกษาทั้งในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย ขยายโอกาสและสร้างความเท่าเทียมกัน พัฒนาหลักสูตรและเนื้อหาที่มีคุณภาพเหมาะสมกับท้องถิ่น ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับการใช้สื่อและเทคโนโลยีในรูปแบบของ
e-learning อยู่ไม่มากก็น้อย ไม่ว่าจะเต็มใจหรือไม่ครูทุกคนจำเป็นต้องหาความรู้เกี่ยวกับการประยุกต์เทคโนโลยีมาสู่สื่อการสอน และเกิดผลกระทบ ดังนี้
1) ความแตกต่างระหว่างนโยบายกับความเป็นจริง กล่าวคือเมื่อมีนโยบายส่งเสริมให้ใช้เทคโนโลยีขณะที่หลายๆโรงเรียนโดยเฉพาะต่างจังหวัดโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีมีน้อย จึงเกิดความทุกข์ต่อโรงเรียน ครู และเด็ก ยกเว้น โรงเรียนที่มีชุมชนหรือห้างร้านต่างๆเข้ามาช่วยสนับสนุน
2)ความไม่แตกฉานในการบริหารจัดการ โรงเรียนสามารถกระจายเรื่องของเทคโนโลยีให้ไปถึงทุกสาระวิชาได้มากน้อยเพียงใด บางโรงเรียนบริหารไม่เป็นก็จะไปจบอยู่ที่ห้องคอมพิวเตอร์ ทั้งที่จริงแล้วในเรื่องของสื่อการสอนที่ดีไม่จำเป็นต้องหรูหราไฮเทค หากแต่ต้องตอบโจทย์ที่ว่า ต้องการ สอนอะไรและ ควรใช้เครื่องมืออะไรจึงจะเหมาะสมให้ได้ เพียงเท่านี้ น่าจะตรงเป้าหมายมุ่งสัมฤทธิ์มากกว่า
2. ระดับผู้ปฏิบัติอันดับแรกที่สำคัญที่สุดคือครู ผู้ให้ความรู้ประสิทธิ์ประสาทวิชา เป็นผู้ถ่ายทอดสู่นักเรียน ประเทศไทยในอดีตอาชีพครูเป็นอาชีพที่มีความสำคัญ มีเกียรติซึ่งแตกต่างจากปัจจุบันมาก ที่คนต้องการเป็นครูมีน้อยลงทุกวัน มาเรียนเพราะสอบสาขาอื่นไม่ได้ทำให้ครูในปัจจุบันมีจิตวิญญาณในการเป็นครูน้อยมาก การสอนให้ได้ประสิทธิภาพดีก็น้อยลงตามไปด้วย ผนวกกับค่าตอบแทนจากอาชีพครูได้น้อยไม่เพียงพอต่อค่าครองชีพในปัจจุบันทำให้ครูจำนวนไม่น้อยมีหนี้สินมากมาย ทำให้ครูส่วนหนึ่งต้องหารายได้เพิ่มเติม เช่นการสอนพิเศษ ตั้งใจทำอาชีพเสริมมากกว่า อีกทั้ง ความเจริญก้าวหน้าในอาชีพโดยเฉพาะการเลื่อนวิทยฐานะไม่ได้วัดจากความสำเร็จของนักเรียนแต่วัดจากผลงานทางวิชาการ ดังนั้นครูบางส่วนจึงมุ่งเน้นการทำผลงานทางวิชาการมากกว่าการสอน
3. กระบวนการศึกษาของไทย ที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม ค่านิยม สังคม ที่ปลูกฝังให้การศึกษาไทยเป็นระบบป้อนเข้าอย่างเดียว ไม่มีการแลกเปลี่ยนกัน การวัดประเมินผลเน้นความจำเป็นหลัก ปัจจุบันได้พัฒนาและเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเรียนการสอนไห้เด็กกล้าคิด กล้าทำ วิเคราะห์มากขึ้น ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนากระบวนการศึกษาต่อไปปัญหาในแต่ละระดับจะกระทบกันไปเป็นทอดๆ เหมือนโดมิโน เช่น
1. การกำหนดรูปแบบการดำเนินงานเป็นมาตรฐานแบบเดียวกันทุกโรงเรียน ขาดการคำนึงถึง
บริบทและข้อจำกัด ซึ่งกระทบต่อผู้ปฏิบัติและกระบวนการดำเนินการ
2. การกำหนดนโยบาย เน้นดำเนินโครงการในเชิงปริมาณ แต่ไม่เน้นคุณภาพ ขอให้ได้ชื่อว่า
ดำเนินการตามนโยบาย ขาดการควบคุมมาตรฐานและคุณภาพ
3. กฎ ระเบียบมีข้อจำกัดที่สวนทางกับการปฏิบัติ
3.1 แนวทางการดำเนินงานไม่สื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์
3.2 เป้าหมายกับกระบวนการปฏิบัติไม่สอดคล้องกัน
3.3 นโยบายและโครงการเปิดกว้าง แต่กฎ ระเบียบ ตีกรอบคับแคบและมีข้อจำกัดเยอะ
เช่นระเบียบการเบิกจ่าย ทำให้ผู้ปฏิบัติต้องพลิกแพลงเอกสารเพื่อให้สามารถเบิกจ่ายได้ ซึ่งถือเป็นการทำลายคุณธรรม จริยธรรมเชิงระบบเลยทีเดียวและต่อมาก็กลายเป็นวัฒนธรรมองค์กร เป็นธรรมเนียมปฏิบัติไป
4. การควบคุมคุณภาพผูกติดกับงบประมาณ
4.1 ข้อมูลที่ได้เป็นเท็จและไม่เกิดการพัฒนาอย่างแท้จริง
4.2 เกิดวัฒนธรรมการโกหกเชิงระบบ (ผู้รายงานข้อมูลและผู้รับข้อมูลต่างก็รู้ว่าเป็นข้อมูลไม่จริง)
4.3 การให้รางวัลหรือการสร้างแรงกระตุ้นสวนทางกับความหวังมุ่งสัมฤทธิ์เช่น พรบ.การศึกษาชาติมุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์และคุณภาพนักเรียน แต่งบประมาณให้ตามรายหัวนักศึกษา การเลื่อนวิทยฐานให้ตามจำนวนผลงานอาจารย์ทั้งที่นักเรียนในความรับผิดชอบอ่านหนังสือไม่ออกเขียนหนังสือไม่ได้
4.4 เพิ่มช่องว่างระหว่างโรงเรียนอยู่ในเกณฑ์ดีและโรงเรียนที่ยังต้องปรับปรุง เช่นโรงเรียนที่มีความพร้อมอยู่แล้วมีนักเรียนอยากเข้าเรียนจำนวนมากได้งบประมาณสนับสนุนเยอะตามจำนวนนักศึกษา ซึ่งตรงข้ามกับโรงเรียนที่ขาดแคลนทรัพยากรนักเรียนเข้าน้อยงบประมาณได้น้อย แล้วจะพัฒนาได้อย่างไร
5. ขาดการสนับสนุนและให้การดูแลอย่างจริงใจ เช่น โครงการโรงเรียน ICU สนับสนุนงบประมาณให้โรงเรียนที่ขาดแคลน แต่โรงเรียนเอาไปใช้ในส่วนที่เป็นลมหายใจ จริงหรือ
6. การดำเนินงานยังเป็นระบบสั่งการ ขาดการประสานงานและดำเนินการอย่างกัลญาณมิตร
7. ขาดความเด็ดขาดในระบบสั่งการ ถ้าต้องการผ่าตัดระบบการศึกษาไทย นโยบายต้องชัดเจนแต่ยืดหยุ่นระบบส่งการต้องศักดิ์สิทธิ์
8. ค่านิยมบางอย่างของคนไทยมีอิทธิพลต่อระบบการบริหารและการดำเนินงาน เช่นระบบเครือญาติ ความเกรงใจ การให้เกียรติ
9. การจัดสรรงบประมาณตามจำนวนนักศึกษา ทำให้สถานศึกษาเน้นปริมาณไม่เน้นคุณภาพ และเพิ่มช่องว่างระหว่างโรงเรียนใหญ่กับโรงเรียนเล็ก
นอกจากนั้น ปัจจัยเอื้อที่สนับสนุนการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนในจังหวัดกับโรงเรียนต่างอำเภอแตกต่างกันมาก แต่ใช้เกณฑ์เดียวกันในการวัด ทำให้ระบบการศึกษามีช่องว่างมากมาย และสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพของระบบการศึกษาไทยอีกอย่างหนึ่งคือสถาบันกวดวิชาที่เกิดขึ้นมากมาย
ที่สำคัญที่สุด ระบบสังคมไทยวนเวียนอยู่กับการคอรัปชั่น จนกลายเป็นเรื่องปกติหรือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติจากอดีตถึงปัจจุบันนับวันค่านิยมดังกล่าวยิ่งติดแน่น ก่อให้เกิดวัฒนธรรมเชิงอำนาจ การแก้ปัญหาอย่างไม่จริงใจ วัฒนธรรมผลประโยชน์แอบแฝง ที่มีอยู่ทุกอณู ทุกลมหายใจของสังคมไทย และนี้คือประเด็นหลักที่ฉุดให้ประเทศไทยยังด้อยพัฒนาในหลายเรื่อง  แม้กระทั้งผู้อำนวยการและอาจารย์โรงเรียนที่มีชื่อเสียงในประเทศไทย จะต้องมีการประมูลตำแหน่งกัน คนที่กระเป๋าหนักหรือเส้นใหญ่ก็อาจมาเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนใหญ่ๆสักแห่ง นี่มันไม่ใช่ระบบการศึกษาแล้วธุรกิจชัดๆ
แนวทางการพัฒนา
การผ่าตัดการศึกษาของไทย การแก้ปัญหาการศึกษาบุคลากรที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมมือร่วมใจกันทั้งระบบ เริ่มตั้งแต่ผู้ที่จะมากำกับดูแลงานทางด้านการศึกษา รัฐบาลต้องแต่งตั้งบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ มีวิสัยทัศน์ทางด้านการศึกษาจริงๆ มารับผิดชอบ หลักสูตรการเรียนการสอนจะต้องกำหนดให้มีหัวข้อวิชาคุณธรรม จริยธรรมไว้ในทุกหลังสูตรทุกระดับ จะต้องเพิ่มขวัญและกำลังใจให้กับครูการเลื่อนวิทยฐานะของครูต้องมีความเหมาะสม เป็นธรรม สอดคล้องและเชื่อมโยงกับกระบวนการและประสิทธิภาพของนักเรียน และที่สำคัญที่สุดในส่วนของผู้ปกครอง สื่อมวลชน สถาบันทางศาสนา ต้องมีบทบาทและหน้าที่ในการมีส่วนร่วมพัฒนาการศึกษาด้วย หากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาตระหนักถึง
ความสำคัญในบทบาท หน้าที่และร่วมมือกันอย่างจริงจังจริงใจเชื่อว่าการศึกษาของไทยจะพัฒนาได้
กำหนดแนวทางการปรับปรุงระบบการศึกษาไทยดังนี้
1. กำหนด กลยุทธ์/นโยบาย/พรบ.การศึกษาและเป้าหมาย ที่ชัดเจน แต่มีความยืดหยุ่นในตัวเอง
2. จัดตั้งทีมหรือคณะทำงาน ที่มาจากทุกภาคส่วน ร่วมในการวิเคราะห์สภาพปัญหา รูปแบบการศึกษาที่ควรจะเป็น กำหนดแนวทางการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน โดยไม่ต้องขึ้นตรงกับส่วนใดๆ
3. ให้การสนับสนุนสถาบันการศึกษาตามความต้องการ ไม่จัดสรรในรูปของงบประมาณ
4. บูรณาการการควบคุมคุณภาพการศึกษาให้เป็นส่วนหนึ่งของขั้นตอนการปฏิบัติงาน (เป็นการทำงานที่ recheck ตัวเอง) ผู้ปฏิบัติจะไม่รู้สึกอึดอัดเหมือนโดน าประเมินตลอดเวลา
5. ยกเลิกการผู้ติดของผลการประเมินกับงบประมาณ (เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นจริง)
6. ปรับเกณฑ์การขอเลื่อนวิทยฐาน โดยพิจารณาผลการดำเนินงานในชั้นเรียนและประสิทธิผล
ของนักเรียน
7. จัดสรรงบประมาณตามความจำเป็นและความเร่งด่วน
8. เก็บงบประมาณไว้ใช้สำหรับโรงเรียนที่มีความต้องการ
9. ยกเลิกระเบียบการจัดสรรงบประมาณตามจำนวนนักศึกษา โดยพิจารณาจากความจำเป็นและความเหมาะสม (เพราะนอกจากจะทำให้เกิดช่องว่างแล้ว นักเรียนไม่มีความเกรงกลัวว่าตัวเองจะสอบตกเพราะยังไงอาจารย์ก็ให้สอบแก้จนผ่าน ทำให้การใส่ใจในการเรียนมีเปอร์เซ็นต์น้อยลง)
ในความเป็นจริงแล้วการศึกษาไทยจะพัฒนาอย่างได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทุกระบบ ไปพร้อมๆ กัน แต่ต้องดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป และต่อเนื่อง ดังนั้นการพัฒนาเชิงระบบจึงเป็นแนวทางที่เหมาะสมกับการพัฒนาและแก้ไขปัญหาการศึกษาไทยที่สุด
จากวงจรของระบบจะพบว่าระบบการศึกษาไทยจะพัฒนาอย่างโดดเดี่ยวไม่ได้  เพราะระบบการศึกษาที่จริงแล้วคือระบบการถ่ายทอดองค์ความรู้ (knowledge ) เท่านั้น แต่ในการหล่อหลอม หรือสร้างคนคนหนึ่งให้เป็นคนที่สมบูรณ์ต้องประกอบด้วยบริบทแวดล้อมมากมายไม่ว่าจะเป็น ครอบครัว สังคมชุมชน ศาสนา สิ่งแวดล้อม การเมืองการปกครอง และอื่นๆ โดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์ ซึ่งเป็นตัวหล่อหลอมค่านิยมที่ไม่ควรมองข้าม และน่าจะนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์มากกว่านี้ได้  ทุกส่วนจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่การวิเคราะห์ปัญหา หาแนวทางแก้ไข รูปแบบการศึกษาที่ควรจะเป็น ประเด็นที่ควรเน้น รวมถึงการเข้ามามีส่วนร่วมในการสอน และการสนับสนุนการเรียนการสอน ซึ่งทุกส่วนจะหลอมเป็นหนึ่งได้ด้วย
ระบบการศึกษาที่ออกมาจากการระดมสมองของทุกภาคส่วนเอง และทำให้ระบบการศึกษาที่จะส่งผลถึงระบบสังคม และระบบอื่นๆ สามารถขับเคลื่อนต่อไปได้

นั่นก็หมายถึงการจัดระบบการศึกษาของทุกระดับ ทุกช่วงชั้น ต้องมาจากทุกภาคส่วน ดังที่กล่าวมาแล้ว ซึ่งจะสามารถถอดออกมาเป็นโมเดล
ทั้งนี้ต้องเพิ่มความเชื่อมโยงของการศึกษาทุกช่วงชั้นโดยนำเค้าโครงรายวิชามาพิจารณาเพื่อเชื่อมโยง ลดช่องโหว่ และเพิ่มเติมส่วนที่ขาดหาย และกำหนดและกำหนดคุณลักษณะของบัณฑิตที่พึงประสงค์ให้ชัดเจนและเป็นอัตลักษณ์ของไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น