วันพฤหัสบดีที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2556

ความเหลื่อมล้ำด้านสิทธิและโอกาส นางสาวธัญลักษณ์ สัมพันธ์ 53242025

บทความเชิงวิชาการ
เรื่อง ความเหลื่อมล้ำด้านสิทธิและโอกาส


          มุมมองเรื่องความเหลื่อมล้ำว่ามิติใดเป็นปัญหาบ้าง และถ้าเป็นปัญหาเราควรแก้ไขอย่างไรนั้นเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันได้มาก แต่ประเด็นหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ สังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูงเป็นสังคมที่คนรู้สึกว่า ไม่น่าอยู่ เพราะรู้สึกว่าคนจนขยับฐานะลำบาก ไม่ว่าจะขยันเพียงใด เพราะช่องว่างใหญ่มาก ส่วนคนรวยที่เกิดมารวย ก็ใช้ความมั่งคั่งสะสมที่พ่อแม่มอบให้เป็นมรดกสร้างความมั่งคั่งต่อไปได้อย่างง่ายดาย
                ความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาในสังคมแบบนี้ เพราะคงไม่มีใครอย่างอยู่ในสังคมที่สถานภาพและฐานะของผู้คนถูกตอกตรึงตั้งแต่เกิด เพราะทุกคนเลือกเกิดไม่ได้ แต่อยากมีสิทธิและเสรีภาพในการเลือกทางเดินชีวิตของตัวเอง ถ้าหากความเหลื่อมล้ำส่วนหนึ่งเป็นผลลัพธ์ของปัญหาเชิงโครงสร้าง เราก็ย่อมบรรเทาหรือกำจัดมันได้ด้วยการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างเหล่านั้น
                ปัญหาความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาสำคัญที่ควรได้รับการแก้ไขโดยด่วนและสามารถเห็นได้อย่างชัดเจนในสังคมปัจจุบัน กล่าวคือมีการส่งผลกระทบต่อกลุ่มคนจำนวนหนึ่งทำให้พวกเขาได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากความไม่เท่าเทียมทางสังคมขาดโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดและขาดโอกาสในการเข้าถึงบริการพื้นฐานที่สมควรได้รับ
                สิทธิเป็นแนวคิดที่ไม่เคยหยุดนิ่งอยู่กับที่ ทว่าผกผันและแปรผันไปตามค่านิยม สภาวะเศรษฐกิจและสังคมในแต่ละยุคสมัย เราอาจแบ่งสิทธิทั้งหมดออกเป็น 3 ประเภท ซึ่งอาจทับซ้อนกันได้ ดังต่อไปนี้
1.สิทธิสากล (Universal Rights) หมายถึง สิทธิมนุษยชนที่มนุษย์ทุกคนมีติดตัวมาตั้งแต่เกิด กล่าวได้ว่าเป็น สิทธิธรรมชาติ ที่ไม่จำเป็นจะต้องอาศัยกฎหมายมารองรับการดำรงอยู่
2.สิทธิพลเมือง (Civil Rights) หมายถึง สิทธิที่เกิดจากความเป็นพลเมืองในประเทศ เป็นสิทธิที่รัฐต้องให้คุ้มครองอย่างเสมอภาคกันตามกฎหมาย
3.สิทธิเฉพาะกลุ่ม (Interest Group Rights) หมายถึง สิทธิของบุคคลเฉพาะกลุ่มที่เรียกร้องว่าสมควรได้รับการคุ้มครองเป็นพิเศษนอกเหนือจากสิทธิพลเมืองทั่วไป ด้วยเหตุผลทางมนุษยธรรม ศีลธรรม หรือความจำเป็นในการดำรงชีวิต
โดยรวมอาจกล่าวได้ว่า สิทธิต่างๆ ที่คนในสังคมปัจจุบันเห็นพ้องกันว่าเป็น สิทธิสากล หรือ สิทธิพลเมือง นั้น ล้วนแล้วแต่ผ่านประวัติศาสตร์การต่อสู้เรียกร้องอันโชกโชนมาแล้วทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นสิทธิสตรี สิทธิในการแสดงออกทางการเมือง สิทธิในความเป็นส่วนตัว ฯลฯ หลายครั้งสิทธิเหล่านี้เริ่มต้นจากการเป็น สิทธิเฉพาะกลุ่ม ที่สงวนไว้สำหรับผู้มีอำนาจในสังคม แต่ต่อมาได้รับการขยับขยายให้ครอบคลุมคนทุกกลุ่ม เช่น สิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง ซึ่งในสังคมโบราณเคยสงวนไว้เฉพาะสำหรับชนชั้นสูงหรือผู้มีฐานะดีเท่านั้น ปัจจุบันการถกเถียงในสังคมสมัยใหม่หลายประเด็น มีแนวโน้มว่าอาจสถาปนาสิทธิข้อใหม่ๆ ขึ้นในอนาคต เช่น การถกเถียงว่าผู้หญิงควรมีสิทธิทำแท้งหรือไม่ กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศควรมีสิทธิจดทะเบียนสมรสหรือไม่ เป็นต้น
ความเหลื่อมล้ำด้านสิทธิ มีความหมายได้สองลักษณะคือ อาจหมายถึงความเหลื่อมล้ำระหว่างคนที่ควรมีสิทธิเดียวกัน แต่ในความเป็นจริงกลับไม่มี หรือความเหลื่อมล้ำระหว่างคนที่มีสิทธิเดียวกัน แต่มี โอกาส และ ความสามารถในการใช้สิทธินั้นได้ไม่เท่ากัน ในที่นี้ผู้เขียนจะเน้นเฉพาะความเหลื่อมล้ำลักษณะหลัง เนื่องจากความเหลื่อมล้ำในลักษณะแรกต้องอาศัยการถกเถียงเชิงปรัชญามากกว่าข้อเท็จจริง มีกรณีมากมายที่คนมี สิทธิ ตามรัฐธรรมนูญ แต่ไม่มี โอกาสในการใช้สิทธินั้นอย่างเต็มที่ ด้วยเหตุผลนานัปการ ซึ่งมักจะเกี่ยวพันกับความเหลื่อมล้ำด้านอื่น ยกตัวอย่างเช่น มีสิทธิในการรับการศึกษาฟรี 12 ปีตามกฎหมาย แต่ยังใช้สิทธินั้นไม่ได้ เพราะการศึกษายังไม่ฟรีจริง หรือเพราะโรงเรียนอยู่ไกลจากบ้านเกินไป ไม่มีรายได้พอจ่ายค่าเดินทางให้ลูก เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ การถกประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำด้านสิทธิจึงไม่มีความหมายเท่าไร ถ้าหากเราไม่ถกประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสไปพร้อมกัน
สิทธิและโอกาสในการรับบริการสาธารณะ
                ทุกคนมีสิทธิในมาตรฐานการครองชีพอันเพียงพอสำหรับสุขภาพและความอยู่ดีของตนและของครอบครัว รวมทั้งอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และการดูแลรักษาทางการแพทย์ และบริการสังคมที่จำเป็น และมีสิทธิในหลักประกันยามว่างงาน เจ็บป่วย พิการ หม้าย วัยชรา หรือปราศจากการดำรงชีพอื่นในสภาวะแวดล้อมนอกเหนือการควบคุมของตน หลักการข้างต้นกล่าวถึง บริการการแพทย์และ บริการสังคมที่จำเป็นว่าเป็นสิทธิมนุษยชน ซึ่งหมายความว่ารัฐควรจัดหาให้แก่ประชาชนอย่างเสมอภาคกัน อย่างไรก็ดี ประเด็นใหญ่ที่แตกต่างกันไปในแต่ละสังคม คือประเด็นที่ว่า บริการสาธารณะแต่ละประเภทนั้น ใครควรเป็นผู้จัดบริการบ้าง ใครควรเป็นผู้รับภาระในการจ่ายบ้าง ระหว่างรัฐ เอกชน องค์กรไม่แสวงกำไร หรือชุมชน
1.              การศึกษา
                ถึงแม้ว่าการศึกษาจะไม่ใช่ปัจจัยสี่ที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ การศึกษาก็เป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่งในสังคมสมัยใหม่ โดยเฉพาะในยุคที่โลกเคลื่อนผ่านยุคอุตสาหกรรมเข้าสู่ยุคของข้อมูลข่าวสารและเศรษฐกิจฐานความรู้อย่างเต็มตัว งานวิจัยทั่วโลกชี้ชัดว่าระดับการศึกษาส่งผลต่อแนวโน้มรายได้อย่างมีนัยสำคัญ และประเทศไทยก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น พบว่าคนหนุ่มสาว อายุ 25-30 ปี ที่มีการศึกษาระดับอนุปริญญาหรืออุดมศึกษา จะสามารถมีรายได้มากกว่าคนรุ่นเดียวกันที่มีการศึกษาระดับประถมถึง 2 เท่า หรือเมื่อพวกเขามีอายุถึง 50-55 ปี ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ก็จะถ่างกว้างออกไปเป็นกว่า 5 เท่า เนื่องจากผู้จบการศึกษาระดับอนุปริญญาหรืออุดมศึกษามีทั้งโอกาสหรือศักยภาพที่จะพัฒนาทักษะและไต่เต้าในอาชีพการงานสูงกว่าผู้จบการศึกษาระดับประถมมาก ในเมื่อการศึกษาส่งผลต่อฐานะทางเศรษฐกิจอย่างชัดเจน ความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาจึงย่อมส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจด้วย ด้วยเหตุนี้ การจัดการศึกษาที่ควรทำจึงต้องมุ่งกระจายโอกาสการศึกษาไปสู่สมาชิกทุกกลุ่มในสังคม โดยเฉพาะคนจน เพื่อบรรเทาความเหลื่อมล้ำ ในมุมกลับที่ความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา กล่าวคือ คนยิ่งจนยิ่งขาดโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ ขณะที่คนรวยยิ่งมีโอกาส
                อย่างไรก็ดีในทางปฏิบัติ เป้าหมายการให้ประชาชนได้รับการศึกษา 12 ปีตามรัฐธรรมนูญ (จบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย) ยังไม่บรรลุผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ แม้ว่าโดยรวมอัตราการรู้หนังสือจะอยู่ในระดับค่อนข้างสูง คือมีประชากรอายุมากกว่า 15 ปีขึ้นไปที่อ่านออกเขียนได้ถึงร้อยละ 99.4 ในปี 2552 จำนวนนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายก็มีเพียงร้อยละ 69.4 (รวมสายสามัญกับสายอาชีพ) เมื่อเทียบกับประชากรในสัดส่วนอายุวัยเรียนระดับนี้ (15-17 ปี) ทั้งหมด เทียบกับร้อยละ 93.4 สำหรับระดับประถมศึกษา และร้อยละ 94.5 สำหรับระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ในปีเดียวกัน นอกจากปัญหาการเข้าถึงการศึกษาโดยรวมแล้ว ประเทศไทยยังมีความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาค่อนข้างมากระหว่างภูมิภาคและสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม การศึกษามีความแตกต่างกันค่อนข้างมากระหว่างจังหวัด โดยจังหวัดที่ประชากรได้รับการศึกษาเฉลี่ยสูงกว่า 7.49 ปี มีเพียง 7 จังหวัด กระจุกตัวอยู่ในเขตภาคกลางตอนล่าง และชลบุรี และประชากรภาคกลางและภาคใต้มีระดับการศึกษาสูงกว่าภาคเหนือและภาคอีสาน ยังพบอีกว่าสภาพเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนส่งผลในสาระสำคัญต่อระดับการศึกษา เช่น ระดับการศึกษาของหัวหน้าครอบครัวมีอิทธิพลต่อระดับการศึกษาของบุตรในทุกระดับชั้นรายได้ (ยิ่งพ่อแม่เรียนสูง ยิ่งพยายามส่งเสียให้ลูกเรียนสูงเท่ากับตนหรือสูงกว่าตน) และบุตรของครอบครัวที่มีรายได้สูงสุดร้อยละ 25 ของประเทศก็ได้รับการศึกษามากกว่าบุตรของครอบครัวที่มีรายได้ต่ำสุดร้อยละ 25 ถึง 3.15 ปีโดยเฉลี่ย
                การศึกษาในไทยไม่เพียงแต่มีความเหลื่อมล้ำด้านการเข้าถึงและจำนวนปีที่ได้รับการศึกษาระหว่างผู้ที่มาจากสภาพเศรษฐกิจและสังคมแตกต่างกันเท่านั้น หากยังมีความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพของการศึกษาตามแบบแผนเดียวกันนี้ด้วย สาเหตุความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา โดยเฉพาะผลสัมฤทธิ์ที่แตกต่างกันมาก
นั้น ย่อมมีหลายปัจจัยที่ซับซ้อนและซ้อนทับกัน แต่สาเหตุ 2 ประการที่ชัดเจนว่ามีน่าจะมีส่วนอย่างยิ่ง ได้แก ความเหลื่อมล้ำด้านทรัพยากรการเรียน และความเหลื่อมล้ำในการใช้จ่ายเพื่อการศึกษาของภาครัฐ
                ด้านความเหลื่อมล้ำในการใช้จ่ายเพื่อการศึกษาของภาครัฐ งานวิจัยของ ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) พบว่า การกระจายเงินอุดหนุนต่อหัวไปยังโรงเรียนและมหาวิทยาลัยต่างๆ รวมทั้งมหาวิทยาลัยเปิดของรัฐนั้น แม้ดูเหมือนว่าค่าหัวจะเป็นอัตราเดียวกันทั้งประเทศ แต่ค่าหัวดังกล่าวไม่ได้รวมเงินเดือนและงบลงทุน ซึ่งในทางปฏิบัติ โรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียงในจังหวัดใหญ่ๆ มักได้งบเหล่านี้มากกว่าโรงเรียนขนาดเล็กหรือโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล นอกจากนี้ การศึกษาในระดับอุดมศึกษายังได้รับการอุดหนุนจากงบของรัฐในอัตราที่สูงกว่าการศึกษาระดับอื่นมาก และในเมื่อนักเรียนจากครอบครัวที่มีฐานะดีเข้าเรียนต่อระดับอุดมศึกษามากกว่ากลุ่มรายได้อื่น การที่รัฐทุ่มเทเงินอุดหนุนด้านการศึกษาจำนวนมากไปในระดับอุดมศึกษา จึงเอื้อประโยชน์กับคนรวยมากกว่าคนจน โดยกลุ่มผู้มีรายได้สูงสุดร้อยละ 10 ได้รับเงินอุดหนุนต่อหัวสำหรับการศึกษาทุกระดับชั้นมากกว่าผู้มีรายได้ต่ำสุดร้อยละ 10 กว่า 2 เท่า ในความเป็นจริง ถึงแม้ไม่มองฐานะของครอบครัว รัฐก็มีความจำเป็นน้อยมากที่จะต้องอุดหนุนการศึกษาระดับอุดศึกษา เนื่องจากตัวผู้เรียนเองย่อมมีแรงจูงใจสูงมากที่จะเข้าถึงการศึกษาระดับนี้อยู่แล้ว เพราะคาดหวังได้ว่าจะได้รับผลตอบแทนค่อนข้างสูงหลังจบปริญญา จากการที่มีโอกาสและทักษะมากกว่ากลุ่มอื่นที่ได้งานรายได้ดี ระดับการศึกษาที่รัฐควรให้เงินและทรัพยากรอุดหนุนมากที่สุด คือการศึกษาระดับปฐมวัยและประถมศึกษา เนื่องจากเด็กเล็กต้องการ รากฐานที่แข็งแรงเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการศึกษาขั้นต่อไปในอนาคต และเด็กที่มาจากครอบครัวยากจนมักขาดโอกาสและการดูแลเอาใจใส่อย่างพอเพียง เนื่องจากเวลาของบิดามารดาหมดไปกับการดิ้นรนเอาตัวรอด แต่ปัจจุบันรัฐไทยกลับทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม ตัวอย่างเช่น งบประมาณปี 2549 ถูกจัดสรรให้กับอุดมศึกษาสูงถึง 30,150 บาทต่อคนต่อปี ในขณะที่การศึกษาระดับปฐมวัย ประถมศึกษา และมัธยมศึกษาตอนต้น ได้งบประมาณเพียง 13,397 , 15,793 และ 17,295 บาทต่อคนต่อปีตามลำดับ


2.             บริการสาธารณสุข
ปฏิเสธไม่ได้ว่าสุขภาพเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อความอยู่ดีมีสุขของคนในสังคม และความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพกับความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ก็มักจะส่งผลกระทบซึ่งกันและกัน กล่าวคือ ผู้มีรายได้น้อยมีโอกาสที่จะเสียชีวิตจากโรคภัยไข้เจ็บสูงกว่าผู้มีรายได้สูง และผู้ที่มีสุขภาพไม่ดีก็มีโอกาสที่จะหารายได้น้อยกว่าผู้ที่มีสุขภาพดี งานวิจัยเกี่ยวกับความไม่เท่าเทียมด้านสุขภาพช่วยชี้ให้เราเห็นแบบแผนหลายข้อด้วยกัน ข้อแรก ชนชั้นล่างผู้มีการศึกษาและรายได้น้อยกว่า มีแนวโน้มที่จะเสียชีวิตเมื่ออายุน้อยกว่า และมีโอกาสเจ็บไข้ได้ป่วยในอัตราที่สูงกว่าชนชั้นอื่น ข้อสอง ความแตกต่างในสภาวะด้านสุขภาพนี้ ไม่ได้เกิดเฉพาะกับชนชั้นล่างทางเศรษฐกิจ แต่ครอบคลุมทุกลำดับชั้นทางสังคมและเศรษฐกิจจนเป็น เส้นลาดชันทางสังคม” (Social Gradient) กล่าวคือ แรงงานไร้ฝีมือมีอายุขัยเฉลี่ยน้อยกว่าแรงงานมีฝีมือ ผู้ใช้แรงงานมีอายุขัยเฉลี่ยต่ำกว่าพนักงานออฟฟิศ และพนักงานออฟฟิศระดับต่ำมีอายุขัยเฉลี่ยต่ำกว่าพนักงานระดับสูง
อย่างไรก็ตาม การกระจายประโยชน์ด้านสุขภาพจากงบประมาณรัฐก็ยังมีความเหลื่อมล้ำอยู่ แม้จะไม่รุนแรงมาก งานวิจัยของ ดร. วิโรจน์ ณ ระนอง พบว่าประมาณครึ่งหนึ่งของผู้มีฐานะดีใช้สิทธิของข้าราชการหรือประกันสังคม ผู้ที่ใช้สิทธิข้าราชการจะได้รับประโยชน์มากกว่าผู้ที่ใช้สิทธิบัตรทอง เนื่องจากรัฐบาลจ่ายเงินให้กับโครงการสวัสดิการข้อราชการถึง 11,000 บาทต่อคนต่อปี ซึ่งสูงกว่าการจ่ายในโครงการบัตรทองประมาณ 5 เท่า หมายความว่าร้อยละ 30 ของทรัพยากรที่ใช้รักษาผู้ป่วยนอกตกอยู่กับกลุ่มคนที่มีฐานะดีที่สุดร้อยละ 10 เนื่องจากมีข้าราชการอยู่ในกลุ่มนี้มากกว่ากลุ่มผู้มีรายได้น้อย ส่วนผู้ป่วยใน แม้ว่าชนชั้นกลางระดับล่างบางกลุ่มได้รับประโยชน์ค่อนข้างมาก แต่กลุ่มที่รวยที่สุดก็ยังได้รับประโยชน์มากกว่าค่าเฉลี่ยประเทศถึง 2 เท่า
สาเหตุสำคัญของความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพจากการใช้จ่ายภาครัฐ คือการที่รัฐกำหนดให้สวัสดิการข้าราชการฯ ครอบคลุมทั้งการจ่าย ยาในบัญชียาหลักแห่งชาติและ ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติในขณะที่สิทธิในการศึกษาพยาบาลอีก 2 ประเภท (บัตรทองและประกันสังคม) ซึ่งผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงได้มากกว่าจะครอบคลุมเฉพาะยาในบัญชีหลักฯ เท่านั้น ซึ่งยานอกบัญชียาหลักฯนั้นมักจะเป็นยาใหม่ที่มีราคาแพง รวมทั้งอาจยังไม่มีหลักฐานที่พิสูจน์ความปลอดภัยในการใช้ระยะยาว การที่ข้าราชการได้สิทธิ์ในการรับยาโดยไม่ต้องจ่ายเงิน (โรงพยาบาลไปเบิกกับกรมบัญชีกลางโดยตรง) และการที่ระบบนี้แทบไม่มีกลไกควบคุมการจ่ายยา เป็นเหตุให้มีการใช้ยาอย่างไม่สมเหตุสมผลอย่างแพร่หลาย ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในส่วนของสวัสดิการข้าราชการฯเพิ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ในอัตราที่สูงกว่าค่าใช้จ่ายสำหรับบัตรทองและประกันสังคม เมื่อวิเคราะห์ปัจจัยที่จำเป็นต่อการให้บริการสาธารณสุขแบ่งตามภูมิภาค พบว่ายังมีความเหลื่อมล้ำค่อนข้างมากระหว่างกรุงเทพฯ กับจังหวัดอื่น ความเหลื่อมล้ำที่ถ่างกว้างที่สุดคือ ระหว่างกรุงเทพฯ กับภาคอีสาน โดยอัตราส่วนจำนวนประชากรต่อแพทย์ในภาคอีสานสูงกว่ากรุงเทพฯ ถึง 6 เท่า และจำนวนประชากรต่อเตียงก็สูงกว่าถึง 4 เท่า
3.              คมนาคม
                บริการขนส่งมวลชนในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรถโดยสารสาธารณะ รถไฟ หรือรถไฟฟ้า ปัจจุบันจัดว่าเป็นบริการสาธารณะที่สำคัญ เพราะเมืองได้กลางเป็นศูนย์กลางของธุรกิจและแหล่งจ้างงานที่ใหญ่กว่าชนบท และชนบทก็ต้องการเส้นทางคมนาคมที่เชื่อมโยงกับเมืองอย่างสะดวกและมีประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ บริการขนส่งมวลชนที่มีคุณภาพดีและราคาไม่แพงจึงเป็นที่ต้องการของประชาชนจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยที่ไม่มีกำลังซื้อรถยนต์ส่วนตัว ถึงแม้รัฐธรรมนูญจะมิได้มีบทบัญญัติว่าบริการขนส่งมวลชนเป็นสิทธิพลเมืองก็ตาม
                ผลการวิจัยรายจ่ายของรัฐในสาขาการขนส่งของ ดร.สุเมธ องกิตติกุล จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) พบว่าการใช้จ่ายของรัฐที่ผ่านมาเอื้อประโยชน์ให้แก่คนรวยมากกว่าคนจน และส่งเสริมการใช้งานรถยนต์ส่วนบุคคลมากกว่าระบบขนส่งสาธารณะอย่างชัดเจน โดยเฉพาะเจ้าของรถยนต์ส่วนตัวในกลุ่มรายได้สูงสุดร้อยละ 10 และความเหลื่อมล้ำของผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการใช้จ่ายนี้ ระหว่างผู้มีรายได้สูงสุดร้อยละ 20 กับผู้มีรายได้ต่ำที่สุดร้อยละ 20 ก็สูงถึง 75.4 เท่า โดยเฉลี่ยทั่วประเทศ โดยสูงที่สุดในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากนี้ ยังพบว่ารายจ่ายของภาครัฐมีการกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งมีรายจ่ายของภาครัฐด้านการขนส่งทางถนนและรถไฟถึงกว่า 13,000 ล้านบาท แต่มีพื้นที่ครอบคลุมเพียง 6 จังหวัด ในขณะที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีรายจ่ายของภาครัฐสูงกว่ากรุงเทพฯ และปริมณฑลเพียง 1,000 – 4,000 ล้านบาท ขณะที่มีขนาดพื้นที่และประชากรที่สูงกว่ามาก
สิทธิและโอกาสในการได้รับความยุติธรรม
                ปัจจุบันเป็นที่เห็นพ้องต้องกันโดยทั่วไปว่า สิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ควรเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอย่างหนึ่งของมนุษย์ไม่จำกัดเฉพาะพลเมืองของประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น เช่น นายจ้างที่กระทำทารุณกรรมต่อแรงงานไร้สัญชาติ (ละเมิดสิทธิมนุษยชน) สามารถถูกเหยื่อของความรุนแรงฟ้องร้องให้ดำเนินคดีตามกฎหมายไทย แม้ว่าจำเลยจะมิได้มีสัญชาติไทยก็ตาม อีกทั้งคงไม่มีใครปฏิเสธว่า เมื่อกฎหมายบัญญัติว่าทุกคน มี สิทธิในกระบวกการยุติธรรมแล้ว ทุกคนก็ควรมี โอกาส ได้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างแท้จริง และเมื่อเข้าถึงได้แล้ว ทุกคนก็ควร ได้รับ การปฏิบัติที่ยุติธรรมในกระบวนการ (Due Process) และความยุติธรรมในเนื้อหา (Substantive Justice) เมื่อศาลมีคำตัดสินอย่างเท่าเทียมกันวาทะอมตะของ อีเลนอร์ รูสเวลท์ (Eleanor Roosevelt) อดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของอเมริกา หัวเรือใหญ่ในการร่างปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ที่ว่า ความยุติธรรมไม่อาจยุติธรรมเฉพาะกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ แต่จะต้องยุติธรรมกับทั้งสองฝ่าย
                ในทางปฏิบัติ กระบวนการยุติธรรมของไทยยังมีความเหลื่อมล้ำอยู่มากระหว่างคนจนกับคนรวย ทำให้วลี สองมาตรฐาน เป็นที่เข้าใจอย่างแพร่หลายว่าสะท้อนสภาพสังคมปัจจุบันที่คนมี โอกาสในกระบวนการยุติธรรมไม่เท่ากัน พูดถึงโอกาสของการ ได้รับ ความยุติธรรมในบั้นปลาย ยกตัวอย่างเสียงสะท้อนจากผู้ร่วมเสวนาบางราย เวทีสาธารณะ คดีคนจน ว่าด้วยคนจนกับความไม่เป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรมไทยซึ่งจัดโดยคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสียงสะท้อนดังกล่าวเป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาที่คนจนประสบมาตลอด และตอกย้ำข้อเท็จจริงที่ว่า เจ้าหน้าที่รัฐในกระบวนการยุติธรรมไทยจำนวนมากยึดตัวบทในกฎหมายอย่างเคร่งครัดในการดำเนินคดีกับชาวบ้าน แต่แทบไม่เคยแตะต้องนายทุนที่กระทำผิดในข้อหาเดียวกัน อาจกล่าวได้ว่ายึดหลัก นิติรัฐ แบบเลือกปฏิบัติ จนขาด นิติธรรม อย่างรุนแรง ความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรมจึงเป็นรากสาเหตุประการหนึ่งที่สำคัญของความเหลื่อมล้ำด้านอื่นๆ โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำด้านทรัพยากรและรายได้
                ปัญหาในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของคนจน แบ่งเป็น 3 ปัญหาหลักได้ดังนี้
1)            ฐานะยากจน
                การมีฐานะยากจน ทำให้ไม่มีเงินสดหรือหลักทรัพย์ที่ใช้ในการยื่นประกันตัว เป็นผลให้มีผู้ต้องหาที่มีฐานะยากจนหลายรายต้องถูกกักขังก่อนศาลมีคำตัดสิน นอกจากนี้ แม้จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีแล้ว ก็ไม่มีเงินมากพอจะจ้างทนายความ ต่างจากคนที่มีฐานะดีกว่าที่สามารถประกันตัว และจ้างทนายความสู้คดีได้ง่ายกว่า เหล่านี้ล้วนทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม
2)            ไม่มีความรู้ความเข้าใจในสิทธิของตนเองและข้อกฎหมาย
                กรณีนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกฐานะ แต่ผู้ที่มีฐานะดีกว่าย่อมมีช่องทางในการเข้าถึงความรู้ความเข้าใจในสิทธิของตนเองและข้อกฎหมายได้มากกว่า เช่น เข้าถึงที่ปรึกษาทางกฎหมายได้ง่ายกว่า การไม่มีความรู้ความเข้าใจในสิทธิของตนเองและข้อกฎหมาย อาจทำให้ต้องรับผิดในคดีที่ตนเองไม่ได้มีความผิด หรืออย่างน้อยที่สุด คือ ทำให้สูญเสียสิทธิอันพึงมีพึงได้ในกระบวนการยุติธรรมไป
3)            กระบวนการไต่สวนข้อกล่าวหาพิจารณาคดี
                ในหลายกรณี เช่น กรณีพิพาทเรื่องพื้นที่ระหว่างชาวบ้านในพื้นที่กับกลุ่มทุนหรือกับหน่วยงานรัฐ การพิจารณาคดีโดยยึดเอาเอกสารเป็นหลัก (ทั้งที่เอกสารเป็นสิ่งที่ทำปลอมได้) โดยยึดหลัก นิติรัฐ แต่ละเลยหลัก นิติธรรมและไม่สนใจที่จะประยุกต์ใช้องค์ความรู้อื่นๆ เช่น สิทธิชุมชน ส่งผลให้กระบวนการยุติธรรมเหลื่อมล้ำไปในทางที่เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนหรือหน่วยงานรัฐมากกว่าชาวบ้าน
สิทธิและโอกาสของเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส
                เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส มักถูกมองว่าเป็นกลุ่มที่รัฐและสังคมต้องให้การช่วยเหลือและดูแลเป็นพิเศษ เนื่องจากมีความเปราะบางโดยธรรมชาติ มีความไม่มั่นคงในชีวิต หรือสุ่มเสี่ยงที่จะถูกเอารัดเอาเปรียบในสังคม อย่างไรก็ดี ประเด็นปัญหาและความเหลื่อมล้ำที่คนเหล่านี้ประสบได้เปลี่ยนลักษณะไป กลายเป็น ปัญหาความไม่มั่นคงในชีวิต ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรขนาดใหญ่ และ ปัญหาเชิงพฤติกรรม ของเด็กเยาวชนที่ยากแก่การเยียวยา โดยเฉพาะพฤติกรรมเสพยาเสพติด นิยมความรุนแรง และปัญหาการท้องไม่พร้อมและทำแท้งในวัยเรียน ซึ่งปัญหาเหล่านี้ล้วนมีความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของครอบครัว ความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพการศึกษา และความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ของโอกาสทางงเศรษฐกิจเป็นรากสาเหตุสำคัญ
สิทธิและโอกาสในการมีส่วนร่วมทางการเมือง
                การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน มิได้จำกัดอยู่เพียงการพยายามเข้าให้ถึงตัวผู้มีอำนาจทางการเมืองแต่เพียงอย่างเดียว แต่การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อมูลกันในประเด็นสาธารณะต่างๆ ก็เป็นการใช้สิทธิในฐานะพลเมืองที่สำคัญไม่แพ้กัน และดังนั้น โอกาสในการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารจึงมิได้เป็นเพียงสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน หากเป็นหัวใจที่ขาดไม่ได้ของการพัฒนา ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมในทุกสังคม สถานการณ์ที่น่าหดหู่คือประชาชนยังถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารค่อนข้างมาก ผ่านการบังคับใช้กฎหมายต่างๆ ในทางที่ไม่เป็นธรรม ยกตัวอย่างเช่น รายงาน สถานการณ์การควบคุมและปิดกั้นสื่อออนไลน์ ด้วยการอ้างกฎหมายและแนวนโยบายแห่งรัฐไทยนอกจากประชาชนจะขาดโอกาสในการมีส่วนร่วมทางการเมืองแล้ว อีกประเด็นหนึ่งที่สะท้อนความเหลื่อมล้ำในการให้ความสำคัญของรัฐ ระหว่างผลประโยชน์ของประชาชนกับผลประโยชน์ของภาคธุรกิจ คือ ความล่าช้าในการพิจารณาร่างกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับร่างกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจขนาดใหญ่ ยกตัวอย่างเช่น ผู้บริโภคต้องรอถึงปะ 2551 ก่อนที่จะมีกฎหมายความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย ซึ่งเป็นกฎหมายระดับพื้นฐานด้านการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ยังไม่นับร่างกฎหมายอีกจำนวนมากที่มีความสำคัญต่อประชาชน แต่ยังไม่มีวี่แววว่าจะได้เห็นในอนาคตอันใกล้ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายว่าด้วยชุมชนในที่สาธารณะ กฎหมายคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข กฎหมายฟ้องคดีแบบรวมกลุ่ม กฎหมายป่าชุมชน หรือกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
แนวทางลดความเหลื่อมล้ำด้านสิทธิและโอกาส
บริการสาธารณะ
                ทางเลือกในการจัดบริการสาธารณะแก่ประชาชนมีมากมายหลายแนวทาง แต่ทุกแนวทางควรพิจารณา 3 ประเด็นหลักคือ 1) ประสิทธิภาพซึ่งมักจะขึ้นอยู่กับประเด็นว่า จะหาสมดุลในการเป็นผู้จัดบริการอย่างไร ระหว่างรัฐบาล เอกชน ชุมชน และองค์กรไม่แสวงกำไร 2) ความครอบคลุม บริการสาธารณะที่สังคมมีฉันทามติว่าเป็น สวัสดิการขั้นพื้นฐาน ที่ทุกคนมี สิทธิพลเมืองที่จะได้รับ ควรครอบคลุกประชากรทุกหมู่เหล่า โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย 3) ความยั่งยืนทางการเงิน ขึ้นอยู่กับว่า สุดท้ายแล้วใครจะเป็นผู้จ่ายค่าใช้จ่ายในการจัดบริการ และจะบริหารจัดการอย่างไร ความยั่งยืนทางการเงินมีความสำคัญมากสำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่ยังมีฐานภาษีค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับภาระการดูแลประชาชนทั้งประเทศ
การศึกษา
                การศึกษาเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในด้านต่างๆ เนื่องจากเป็นปัจจัยที่ขาดไม่ได้ในการพัฒนาทุนมนุษย์ ทว่าระบบการศึกษาเองก็กลับมีความเหลื่อมล้ำอยู่ในตัว เพราะรัฐให้การอุดหนุนการศึกษาในระดับอุดมศึกษาในเม็ดเงินที่สูงและเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าการศึกษาระดับอื่นมาก ทั้งที่ผู้ที่จะมาศึกษาในระดับดังกล่าวส่วนใหญ่คือนักศึกษาจากครอบครัวที่มีรายได้สูง และมีแรงจูงใจที่จะเข้าถึงการศึกษาระดับนี้อยู่แล้วเนื่องจากให้ผลตอบแทนสูงกว่าระดับอื่น
                การขยายโอกาสทางการศึกษา ต้องคำนึงการขยายโอกาสลงไปถึงประชาชนในทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ยากจน การพิจารณาในภาพรวมเพียงประการเดียวไม่สามารถทำให้การศึกษาลดความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้ลงได้ เนื่องจากนักเรียนจากครอบครัวที่มีฐานะดีย่อมมีโอกาสในการเลือกเรียน และจบการศึกษาจากสถาบันการศึกษาที่มีคุณภาพและมีชื่อเสียงมากกว่านักเรียนจากครอบครัวที่มีรายได้น้อย
บริการสาธารสุข
                ปัจจุบัน สิทธิในการรักษาพยาบาลครอบคลุมคนไทยทั้งประเทศผ่าน 3 กลไก คือ 1) โครงการหลักประกันสุภาพถ้วนหน้า 2) สวัสดิการข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ และ 3) โครงการประกันสังคมและกองทุนทดแทน ว่าในความครอบคลุมโดยหลักการนั้นก็ยังมีความเหลื่อมล้ำปรากฏอยู่ กลุ่มคนที่มีฐานะดี สามารถเข้าถึงและได้รับประโยชน์จากการใช้จ่ายด้านสาธารณะสุขของรัฐมากกว่ากลุ่มอื่นๆ โดยมากเนื่องมาจากการใช้สิทธิของข้าราชการในระดับสวัสดิการข้าราชการ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 5 ล้านคน ในขณะที่ประชาชนที่มีสิทธิรับบริการในระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) มีจำนวนถึง 47 ล้านคน
                ในการแก้ไขความเหลื่อล้ำด้านการเข้าถึงบริการรัฐด้านสาธารณะสุข ควรแก้ไขโดยตั้งอยู่บนฐานคิดที่ได้รับการรับรองในรัฐธรรมนูญว่า คนทุกคนเป็นมนุษย์เหมือนกัน ไม่ว่าจะมีฐานะเช่นไร ประกอบอาชีพอะไร ก็ต่างมีสิทธิที่จะได้รับการรักษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่แบ่งแยก ปัญหาที่สำคัญที่สุดที่ควรพิจารณาคือ การที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการการรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพได้เท่าเทียมกัน ซึ่งอาจเป็นเพราะข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ การกระจายตัวของสถานรักษาพยาบาล ปริมาณบุคลากร ที่ทำให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลไม่สามารถเข้ารับบริการการรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพเทียบเคียงกับประชาชนที่อยู่ในเขตเมือง เหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาที่ควรได้รับการบรรเทาอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในด้านการเข้าถึงบริการสาธารณะด้านการรักษาพยาบาล
คมนาคม
                จากการวิเคราะห์ผลประโยชน์จากรายจ่ายของภาครัฐแบ่งตามกลุ่มรายได้และตามภูมิภาค พบว่า ผลประโยชน์จากรายจ่ายของภาครัฐส่วนใหญ่ตกสู่รถยนต์ส่วนบุคคล โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในการสร้างและบำรุงรักษาถนน ส่วนที่ตกสู่ระบบขนส่งสาธารณะมีสัดส่วนน้อย ทั้งที่ระบบขนส่งสาธารณะเป็นระบบที่คนรายได้น้อยสามารถใช้บริการได้ (ไม่จำเป็นต้องมีรถยนต์เป็นของตัวเอง) สะท้อนว่าปัจจุบันนโยบายของภาครัฐที่ส่งเสริมการใช้งานรถยนต์ส่วนบุคคลมากกว่าระบบขนส่งสาธารณะ และทำให้สัดส่วนผลประโยชน์จากรายจ่ายของภาครัฐตกสู่ประชาชนที่มีรายได้สูงเป็นส่วนใหญ่ การที่รัฐส่วนกลางให้เงินอุดหนุนในส่วนของการขนส่งสาธารณะผ่านการดำเนินงานของ ขสมก. ทำให้เกิดการกระจายผลประโยชน์แก่กลุ่มรายได้ต่างๆ ในกรุงเทพฯ ดีกว่าการกระจายผลประโยชน์ของภูมิภาคอื่นๆ ซึ่งภาครัฐยังไม่มีนะโยบายสนับสนุนระบบขนส่งสาธารณะ ด้วยเหตุนี้การลดความเหลื่อมล้ำที่สำคัญจึงต้องอาศัยการกระจายค่าใช้จ่ายไปสู่การสร้างระบบขนส่งสาธารณะภูมิภาคอื่นๆ ด้วย ซึ่งหน่วยงานท้องถิ่นควรมีส่วนร่วมในการสนับสนุนได้แก่ รถโดยสารประจำทาง เนื่องจากมีราคาถูกและประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย นอกจากนี้ยังควรลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านรถไฟเพื่อการกระจายผลประโยชน์สู่ประชาชนที่มีรายได้น้อย และการวางโครงการระยะยาวอย่างรถไปความเร็วสูง ที่สามารถเดินทางสู่ภูมิภาคโดยใช้เวลาน้อย และช่วยให้พื้นที่เศรษฐกิจการกระจายตัวออกจากกรุงเทพฯ จะช่วยสนับสนุนให้เกิดการกระจายรายได้ด้วย และสิ่งที่ควรทำควบคู่กันไปอาจเป็นการผลักดันการจัดเก็บภาษีรูปแบบใหม่ๆ ออกใช้กับรถยนต์นั่งส่วนบุคคล เพื่อลดปัญหาการจราจรแออัดและเพิ่มแรงจูงใจให้ใช้บริการขนส่งสาธารณะ เช่น การเพื่อภาระของจอดรถในสถานที่ต่างๆ โดยอาจมีการออกแบบภาษีขึ้นใช้กับอาคารที่มีที่จอดรถ หรือที่จอดรถต่างๆ ที่มีการเก็บค่าจอด โดยจัดเก็บแยกออกมาจากภาษีเงินได้ปกติ หรืออาจมีการจัดเก็บภาษีรถยนต์นั่งส่วนบุคคลรายปีควบคู่ได้ด้วย
สิทธิและโอกาสในการได้รับความยุติธรรม หน้า
                ปัญหาคนจนในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมมีตั้งแต่ ฐานะที่ยากจน (ทำให้ไม่มีเงินสดหรือหลักทรัทย์ที่ใช้ในการยื่นประกันตัว และไม่มีเงินมากพอจะจ้างทนายความ) การขาดความรู้ความเข้าใจในสิทธิของตนเองและข้อกฎหมาย (อาจทำให้ต้องรับผิดในคดีที่ตนเองไม่ได้มีความผิด) และการเลือกปฏิบัติหรือปัญหา สองมาตรฐาน ในกระบวนการพิจารณา
                จะแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในการได้รับความยุติธรรม ต้องทำการแก้ไขปัญหาในทั้ง 3 ด้าน ดังกล่าวควบคู่กันไป การมีองค์กรหรือกลไกที่จะคอยให้ความช่วยเหลือคดีความของคนจนมีความจำเป็น โดยรัฐอาจสนับสนุนงานของสภาทนายความและทนายอาสาต่างๆ ที่ทำงานลักษณะนี้อยู่แล้ว เพื่อให้คนจนที่ต้องคดีความได้รับรู้และเข้าใจในข้อกฎหมายรวมทั้งสิทธิที่ตนเองพึงมีพึงได้ในคดีความนั้นๆ นอกจากนี้ควรมีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ความรู้ความเข้าใจตลอดเวลา ไม่ใช่เฉพาะเมื่อเกิดมีคดีความ นอกจากนี้กฎหมายใดก็ตามที่มีบทบัญญัติไม่เป็นธรรมจนซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำในทางปฏิบัติ กล่าวคือ ใช้ข้อความที่ครอบคลุมเกินไปจนเปิดช่องให้ผู้ไม่ประสงค์ดีฉวยโอกาสใช้เพื่อกลั่นแกล้งผู้คิดต่างทางการเมือง ลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน หรือมีบทลงโทษที่รุนแรงเกินฐานความคิด ก็ควรได้รับการปรับปรุงแก้ไขให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น

สิทธิและโอกาสของเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส
                ปัญหาครอบครัวแหว่งกลาง คือผู้สูงอายุเลี้ยงดูหลานอยู่บ้านในชนบท ขณะที่ผู้ปกครองวัยทำงานไปทำงานในเมือ โดยมากที่กรุงเทพฯ เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีรากมาจากความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจ กล่าวคือ หนุ่มสาวนับล้านคนเดินทางออกจากชนบทมาหางานทำในเมือง เนื่องจากในเมืองมีโอกาสหาเงินรายได้ดีมากกว่ามนชนบทมาก วิธีแก้ปัญหาที่ยั่งยืนจึงอยู่ที่การลดความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจ เช่น ด้วยการกระจายการลงทุนไปสู่ชนบทให้มากขึ้น เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่นให้เติบโต สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับคนหนุ่มสาว ลดแรงจูงใจที่จะเข้ามาหางานทำในเมือง ส่วนมาตรการแก้ปัญหาในระยะสั้นและกลาง คือการเพิ่มมาตรการดูแลเด็กและผู้สูงอายุในครอบครัวแหว่งกลาง เช่น เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงเบี้ยยังชีพคนชรา จัดตั้งศูนย์เด็กเล็กในชุมชนทั่วประเทศที่ได้คุณภาพ และเพิ่มการสนับสนุนอาสาสมัครสาธารณะสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)
                การแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนที่เป็นปัญหาเชิงพฤติกรรมไม่ว่าจะเป็นปัญหาเด็กติดยาเสพติด ท้องไม่พร้อม หรือติดเกม ล้วนต้องเริ่มจากการกลับด้านทัศนคติกระแสหลักในสังคมเสียใหม่ จากที่มักจะประณามและทอดทิ้ง เด็กมีปัญหา แต่เชิดชูและทุ่มเททรัพยากรให้กับเด็กดีที่ตั้งใจเรียน มาเป็นความเข้าใจว่า แท้จรองเด็กและเยาวชนเป็นวัยที่ต้องการความรักและความเอาใจใส่ ยิ่งเด็กมีปัญหา ยิ่งต้องการการดูแลเป็นพิเศษเพื่อไม่ให้เขามีปัญหามากขึ้นจนยากแก่การเยียวยา นอกจากนี้สังคมรวนเปิดใจยอมรับในค่านิยมและวิถีชีวิตของวัยรุ่นที่เปลี่ยนไป ทั้งในเรื่องของรสนิยมทางเพศ และการให้ความสำคัญกับโลกเสมือนในโลกอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นดาบสองคมไม่ต่างจากโทรทัศน์และเกม ซึ่งมักจะถูกประณามว่าเป็นต้นเหตุของเด็กที่มีปัญหา
                ด้านแรงงานต่างด้าว ปัญหาหลักอยู่ที่การถูกละเมิดสิทธิโดยนายจ้างและเลือกปฏิบัติโดยเจ้าหน้าที่รัฐ การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างยั่งยืนควรต้องเริ่มจากการเปลี่ยนทัศนคติของนายจ้างและเจ้าหน้าที่รัฐว่า แรงงานต่างด้าวนอกจากจะต้องได้รับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนตามหลักสากลแล้ว ยังเป็นกำลังสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย สมควรได้รับการคุ้มครองสิทธิ
สิทธิในการเรียกร้องของประชาชนและการตอบสนองจากภาครัฐ
                ปัจจุบันมีความเหลื่อมล้ำในการตอบสนองจากภาครัฐค่อนข้างมากระหว่างประชาชนกับนักธุรกิจหรือนักการเมือง คนจนมักจะต้องลงเอยด้วยการไปประท้วงปิดถนนเพื่อเรียกร้องความสนใจหลังจากที่เรียกร้องทางอื่นๆ แล้วไม่ได้รับการตอบสนอง ขณะที่นักธุรกิจหรือนักการเมืองมักจะนัดกินข้าวกับเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงได้อย่างง่ายดาย ในความเป็นจริง เราคงไม่สามารถทำให้ประชาชนทุกคนสามารถนัดกินข้าวกับเจ้าหน้าที่รัฐได้ แต่ควรต้องเปลี่ยนทัศนคติในการตอบสนองต่อประชาชน ที่มองว่าผู้เรียกร้องทุกคนเป็นประชาชนเหมือนกัน เพื่อไม่ให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมีโอกาสเข้าถึงเจ้าหน้าที่รัฐมากกว่าคนกลุ่มอื่น ซึ่งสิ่งที่จะต้องพัฒนาควบคู่กันไปก็คือ ระบบการดำเนินงานที่มีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ การมีระบบประเมินการทำงานโดยวัดจากผลของการตอบสนองข้อเรียกร้องเป็นไปด้วยความรวดเร็วมากขึ้น นอกจากนี้ ในการพิจารณาเรื่องร้องเรียน ยังควรพิจารณาโดยเอาความเดือดร้อนของผู้ร้องเรียนเป็นที่ตั้ง ควบคู่ไปกับการพิจารณาตามหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ถูกร้องเรียนอย่างมีการยืดหยุ่นเข้าหากัน และในกรณีที่ไม่อาจตอบสนองข้อเรียกร้องได้ ก็ต้องมีคำอธิบายที่ทำให้ผู้เรียกร้องพึงพอใจ
ความเหลื่อมล้ำมีหลายมิติด้วยกัน ความเหลื่อมล้ำที่ชัดเจนที่สุดคือ ความเหลื่อล้ำทางรายได้ เนื่องจากคนรวยมีรายได้สูง จึงออมและสะสมทรัพย์สินได้มาก ส่วนคนจนมีรายได้น้อย ออมเท่าไหร่ก็ต้องส่งให้ครอบครัว และเก็บเป็นทุนการศึกษาให้ลูก เขาจึงมีทรัพย์สินน้อย ยังไม่พูดถึงทรัพย์สินที่เพิ่มมูลค่าได้อย่างที่ดินและหุ้น ซึ่งคนรวยมีทั้งความรู้และเงินทองเพียงพอที่จะลงทุนอย่างสม่ำเสมอ แต่คนจนไม่เคยคิดถึงสิ่งเหล่านี้ แค่การพูดคุยกับพ่อแม่เรื่องจะเอาอย่างไรดีกับที่นาผืนเดียวของครอบครัวก็ปวดหัวพอแล้ว
                ความเหลื่อมล้ำทางรายได้และทรัพย์สินน่าจะส่งผลให้คนรวยกับคนจนมีความเหลื่อล้ำด้านโอกาสและคุณภาพการให้บริการของรัฐด้วย ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น แนวโน้มที่เจ้าหน้าที่รัฐจะเร่งอำนวยความสะดวกให้กับคน เส้นใหญ่อย่างคนรวยมากกว่าคนจน หรือแนวโน้มที่คนจนจะถูกเอารักเอาเปรียบจากผู้มีอำนาจมากกว่าอย่างคนรวย ไปจนถึงโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาและบริการสาธารณะที่ได้คุณภาพ คนรวยไม่จำเป็นจะต้องสนใจบริการเหล่านี้ของรัฐ เนื่องจากเขามีฐานะดีพอที่จะซื้อบริการที่ดีที่สุดจากเอกชนอยู่แล้ว ขณะที่คนจนต้องพึ่งพิงสวัสดิการจากรัฐเป็นหลัก โดยเฉพาะสวัสดิการที่แรงงานนอกระบบอย่างเขาเข้าถึง เช่น เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า
                นอกจากคนรวยกับคนจนจะมีความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ ทรัพย์สิน และโอกาสแล้ว ยังพบว่ามีความเหลื่อมล้ำด้านศักดิ์ศรี (รู้สึกว่ามี) ระหว่างคนรวยกับคนจนอีกด้วย เนื่องจากค่านิยมในสังคมไทยปัจจุบันให้ค่ากับการ มีหน้ามีตา ในสังคมมากกว่า การประกอบอาชีพสุจริตมาก ถึงแม้ว่านักบริหารตระกูลดังอย่างคนรวยกับคนขับรถแท็กซี่อย่างคนจนจะมีความเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมายก็ตาม ในความเป็นจริงของสังคม พวกเขาย่อมมีแนวโน้มที่จะถูกคนดูหมิ่นดูแคลนไม่เท่ากัน ดังนั้นจึงรู้สึกว่าตนมีศักดิ์ศรีไม่เท่ากัน
                ในสังคมที่ยังมีการทุจริตคอรัปชั่นอย่างแพร่หลายทุกระดับชั้นอย่างสังคมไทย ความเหลื่อมล้ำอีกมิติที่คนรวยกับคนจนจะต้องเจอ นั้นก็คือ ความเหลื่อมล้ำของการใช้อำนาจรัฐ ดังที่รับรู้กันทั่วไปว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจ ข้าราชการ และผู้พิพากษา จำนวนไม่น้อยรับเงิน ใต้โต๊ะ จากผู้ที่มีฐานะที่ตกเป็นจำเลย เพื่อเร่งดำเนินคดี บิดเบือนรูปคดีให้จำเลยพ้นผิด หรือถ้ารับโทษก็ให้ได้รับโทษสถานเบาที่สุด หรือรอลงอาญา ดังนั้นในแง่นี้ สมาชิกชนชั้นกลางระดับล่างไร้เส้นสายอย่างคนรวย ย่อมตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ ถ้าหากเขามีเหตุให้ต้องพึ่งพากระบวนการยุติธรรม
                ถ้าหากความเหลื่อมล้ำเกิดจากพฤติกรรมส่วนบุคคลล้วนๆ เช่น ถ้าคนรวยประสบความสำเร็จเพียงเพราะเขาขยันทำงาน ส่วนคนจนมั่งคั่งน้อยกว่าเพียงเพราะเขาเกียจคร้านกว่า เราก็คงไม่มองว่าความเหลื่อมล้ำระหว่างบุคคลทั้งสองนี้เป็นปัญหาที่ควรได้รับการแก้ไข แต่ในโลกแห่งความจริง ความเหลื่อมล้ำไม่ว่าจะมิติใดก็ตามมักจะเป็นผลลัพธ์ของเหตุปัจจัยต่างๆ ที่สลับซับซ้อนและซ้อนทับกันหลายปัจจัยอยู่นอกเหนือการกระทำของปัจเจก และเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคม เช่น ปัญหาคอรัปชั่นและเลือกปฏิบัติในระบบราชการ ปัญหาคนจนเข้าไม่ถึงทรัพยากรที่จำเป็นต้องใช้ในการดำรงชีวิต ปัญหาระบบการจัดเก็บภาษีไม่เป็นธรรม (คนจนจ่ายมากกว่าคนรวย ถ้าคิดเป็นสัดส่วนของรายได้) และปัญหารัฐไม่คุ้มครองสิทธิพลเมืองและสิทธิมนุษยชนอย่างเท่าเทียมกัน แม้ว่าจะบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญก็ตาม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น