วันศุกร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2556

ปัญหามลพิษทางอากาศ นางสาวชลธิชา ผึ่งแย้ม 53241820

บทความเชิงวิชาการ
เรื่อง ปัญหามลพิษทางอากาศ

 
                                                                                  
ปัญหามลภาวะทางอากาศ หมายถึง ภาวะอากาศที่มีสารเจือปนอยู่ในปริมาณที่สูงกว่าระดับปกติเป็นเวลานานพอที่จะทำให้เกิดอันตรายแก่มนุษย์ สัตว์ พืช หรือทรัพย์สินต่างๆอาจเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่น ฝุ่นละอองจากลมพายุ ภูเขาไฟระเบิดแผ่นดินไหว ไฟไหม้ป่าก๊าซธรรมชาติอากาศเสียที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติเป็นอันตรายต่อมนุษย์น้อยมากเพราะแหล่งกำเนิดอยู่ไกลและปริมาณที่เข้าสู่สภาพแวดล้อมของมนุษย์และสัตว์มีน้อย กรณีที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ได้แก่มลพิษจากท่อไอเสียของรถยนต์จากโรงงานอุตสาหกรรมจากขบวนการผลิตจากกิจกรรมด้านการเกษตรจากการระเหยของก๊าซบางชนิดซึ่งเกิดจากขยะมูลฝอยและของเสียมลพิษทางอากาศเป็นปัญหาสำคัญปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นในเขตเมืองโดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร เนื่องจากมลพิษทางอากาศก่อให้เกิดผลกระทบด้านสุขภาพอนามัยไม่ว่าจะเป็นด้านกลิ่นความรำคาญตลอดจนผลกระทบต่อสุขภาพที่เกี่ยวกับระบบหายใจและระบบหัวใจและปอด คุณสมบัติของอากาศอากาศบริสุทธิ์ ประกอบด้วย ไนโตรเจน 78.09 % โดยปริมาตร และออกซิเจน 20.94% โดยปริมาตร อาร์กอน 0.98% ส่วนที่เหลือ 0.01 % ประกอบด้วยฮีเลียม นิออน คริปตอน ฮีเลียม ซีนอน ก๊าซอินทรีย์และอนินทรีย์อื่นๆ โดยปกติมีไอน้ำอยู่ในอากาศประมาณ 1-3% และยังประกอบด้วย ฝุ่นละอองอีกด้วยชั้นบรรยากาศ
ชั้นที่1 โทรโปสเฟียร์ (Troposphere) ระดับความสูงจากผิวโลกขึ้นไปราว 18 กิโลเมตร ที่บริเวณเขตศูนย์สูตร และที่ความสูง 6-8 กิโลเมตร อุณหภูมิลดลงตามความสูงอย่างสม่ำเสมอ อัตรา 5 องศาเซลเซียสทุกๆ 1 กิโลเมตร
ชั้นที่ 2 สตารโตสเฟียร์ (Strastosphere) อยู่ระหว่างความสูง 15-50 กิโลเมตร อุณหภูมิจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นเนื่องจากมีก๊าซโอโซนดูดซึมรังสีอัลตราไวโอเลต จนกระทั่งที่ความสูง 50 กิโลเมตร อุณหภูมิจะเท่าๆ กับผิวโลก
ชั้นที่ 3 เมโซเฟียร์ (Mesosphere) ระหว่างความสูง 50-80 กิโลเมตร T จะค่อยๆ ลดลง จนถึงต่ำสุดที่ระดับความสูง 80 กิโลเมตร (อุณหภูมิ ประมาณ -90 ถึง -95 องศาเซลเซียส)
ชั้นที่ 4 เทอร์โมสเฟียร์ (Thermosphere) ระดับความสูง 80 กิโลเมตรขึ้นไป อุณหภูมิจะค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้นอีก ไปจนถึงกว่า 1000 องศาเซลเซียส
ความสัมพันธ์ระหว่างสารมลพิษกับสภาพทางภูมิศาสตร์
เมื่อมีสารมลพิษอยู่ในบรรยากาศ สภาพภูมิอากาศ และภูมิประเทศในที่นั้น จะมีผลต่อสภาวะมลพิษเป็นอย่างยิ่ง ลมแรงย่อมพัดพาสารมลพิษให้กระจายตัวไปได้อย่างรวดเร็ว ในขณะที่ลมสงบ ทำให้สารมลพิษอยู่นิ่ง และอาจเกิดอันตรายในบริเวณใกล้เคียง ในทางตรงกันข้ามการชักนำเอาสารมลพิษให้ฟุ้งกระจายไปไกลดังเช่น การต่อปล่องควันให้สูงนั้น อาจไม่แก้ปัญหาในระยะยาว แต่กลับสร้างปัญหามลพิษกับสถานที่อื่น ซึ่งอยู่ห่างไกลก็เป็นได้อุณหภูมิของบรรยากาศ ควบคุมการกระจายตัวของสารมลพิษ ตามปกติอากาศจะเย็นลงเป็นลำดับตามความสูง ลักษณะเช่นนี้มักเกิดขึ้นในเวลากลางวัน เมื่อแสงแดดส่องถึงพื้นดิน และช่วยพาให้สารมลพิษลอยสูงขึ้น ส่วนในเวลากลางคืนจวบจนรุ่งสางก่อนพระอาทิตย์ขึ้น พื้นดินจะแผ่รังสีความร้อนที่สะสมไว้ บรรยากาศใกล้พื้นจึงเย็นลงกว่าอากาศข้างบน ลักษณะความผกผันของอุณหภูมิ (inversion) นี้ นอกจากไม่ช่วยให้สารมลพิษกระจายตัวขึ้นสูงแล้ว ยังกลับเก็บกักไว้กับที่ หรือกดให้ลอยต่ำลงสภาพภูมิศาสตร์นี้มีความสำคัญต่อมลพิษทางอากาศเป็นอย่างยิ่ง ดังเช่น นครลอสแองเจลีส ซึ่งมีหุบเขาล้อมรอบ และอยู่ประชิดฝั่งทะเล มลพิษซึ่งเกิดจากการจราจรไม่สามารถกระจายพ้นออกจากหุบเขาได้ เพราะลมบกอ่อนแรงกว่าลมทะเล และลมจากพื้นราบสู่ภูเขาอ่อนกว่าลมจากภูเขาสู่พื้นราบ จึงเกิดการเก็บกักสารมลพิษไว้ในแอ่ง จนเป็นอันตรายต่อชาวเมืองในบางโอกาส ในหุบเขา ดอนอรา มลรัฐเพนซิลเวเนีย มีโรงงานถลุงเหล็ก และทำขดลวด โรงถลุงสังกะสี และโรงงานผลิตกรดซัลฟุริก ดังนั้นเมื่อเกิดสภาวะอากาศสงบนิ่ง มลพิษในอากาศจึงสะสมอยู่มาก จนประชาชนเสียชีวิต ๒๐ คน และล้มป่วยอีกหลายพันคน ภายในเวลาเพียง ๔ วันเมื่อ ค.ศ. ๑๙๔๘ (พ.ศ. ๒๔๙๑) ส่วนหุบเขาเมยุส ประเทศเบลเยียม ซึ่งมีสภาพใกล้เคียงกันนั้น มีคนแก่ และผู้ป่วยถึงแก่ชีวิต ๖๓ คน และล้มป่วยอีกหลายร้อยคน ภายในเวลาเพียง ๕ วัน ตัวอย่างเหล่านี้แสดงถึงความสัมพันธ์อันสลับซับซ้อนระหว่างภูมิอากาศกับภูมิประเทศ ตลอดจนการกระจายตัวของสารมลพิษทางอากาศ ท้ายที่สุดอาจร่วมกันส่งเสริมให้เกิดอันตรายร้ายแรงมากยิ่งขึ้นในบางกรณีในประเทศไทย มีพื้นที่ตั้งโครงการขนาดใหญ่หลายแห่ง ซึ่งมีสภาพคล้ายคลึงกับตัวอย่าง เช่น โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมชายฝั่งทะเลตะวันออก ที่บริเวณมาบตาพุด จังหวัดระยอง มีภูเขาตั้งกระหนาบแผ่นดินริมฝั่งทะเล ส่วนโรงจักรไฟฟ้า และเหมืองลิกไนต์ อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปางนั้น ตั้งอยู่ในหุบเขา หากไม่ป้องกัน อาจเกิดเหตุการณ์ทำนองเดียวกับนครลอสแองเจลีส หรือหุบเขาดอนอราก็เป็นได้ จึงควรจะเตรียมป้องกันไว้

สาเหตุของการเกิดมลพิษทางอากาศสําคัญมีดังนี้
1.      ยานพาหนะที่ใช้เครื่องยนต์ รถยนต์เป็นแหล่งก่อปัญหาอากาศเสียมากที่สุด สารที่ออกจาก รถยนต์ที่สําคัญได้แก่ คาร์บอนมอนอกไซด์ ไฮโดรคาร์บอน ออกไซด์ของไนโตรเจน และของกํามะถัน สารพวกไฮโดรคาร์บอนนั้น ประมาณ 55 % ออกมาจากทอไอเสีย 25 % ออกมาจากห้องเพลา ข้อเหวี่ยง และอีก 20 % เกิดจากการระเหยในคาร์บูเรเตอร์ และถังเชื้อเพลิง ออกไซด์ของไนโตรเจนคือ ไนตริกออกไซด์ (NO) ไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) และไน ตรัสออกไซด์ (N2O) เกือบทั้งหมดออกมาจากท่อไอเสีย เป็นพิษต่อมนุษย์โดยตรง นอกจากนี้สารตะกั่วในน้ำมันเบนซินชนิดซุปเปอร์ยังเพิ่มปริมาณตะกั่วในอากาศอีกด้วย
2.      ควันไฟ และก๊าซพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม จากโรงงานผลิตสารเคมี ได้แก่ โรงกลั่นน้ำมัน โรงผลิตไฟฟ้า โรงงานทําเบียร์ โรงงาน สุรา โรงงานน้ำตาล โรงงานกระดาษ โรงงานถลุงแร่ โรงงานย้อมผ้า โรงงานทําแก้ว โรงงานผลิตหลอดไฟ โรงงานผลิตปุ๋ย และโรงงานผลิตกรดพลังงานที่เกิดจากสารเผาไหม้เชื้อเพลิง เช่น ถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ทําให้เพิ่มสาร ต่าง ๆ ในอากาศ อาทิ สารไฮโดรคาร์บอนต่าง ๆ ออกไซด์ของไนโตรเจน และ กํามะถันในบรรยากาศ
3.      แหล่งกําเนิดฝุ่นละอองต่าง ๆ ได้แก่ บริเวณที่กําลังก่อสร้าง โรงงานทําปูนซีเมนต์ โรงงาน โม่หิน โรงงานทอผ้า โรงงานผลิตโซดาไฟ เหมืองแร่ เตาเผาถ่าน โรงค้าถ่าน เมรุเผาศพ
4.      แหล่งหมักหมมของสิ่งปฏิกูล ได้แก่ เศษอาหาร และขยะมูลฝอย
5.      ควันไฟจากการเผาป่า เผาไร่นา และจากบุหรี่
6.      การทดลองอาวุธนิวเคลียร์ ก่อให้เกิดละอองกัมมันตรังสี
7.      การตรวจและรักษาทางรังสีวิทยา การใช้เรดิโอไอโซโทป ที่ขาดมาตรการที่ถูกต้องในการ ป้องกันสภาวะอากาศเสีย
8.      อากาศเสียที่เกิดจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เช่น ภูเขาไฟระเบิด แผ่นดินไหว ไฟป่า กัมมันตรังสีที่เกิดตามธรรมชาติ ก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น ความเป็นพิษเนื่องจากสาเหตุข้อนี้ค่อนข้าง น้อยมาก เนื่องจากต้นกําเนิดอยู่ไกล จึงเข้าสู่สภาวะแวดล้อมของมนุษย์และสัตว์ได้น้อย
9.      ควันบุหรี่หรือควันยาสูบ (tobacco smoke)  เป็นที่ทราบกันดีว่าควันบุหรี่เป็นสารเคมีที่เป็นสาเหตุให้เกิดโรคมะเร็ง  ไม่ใช่เฉพาะแต่คนที่สูบเท่านั้น แต่คนที่สูดเอาควันบุหรือเข้าไปก็มีโอกาสเป็นมะเร็งปอด หืด หรือเป็นโรคติดเชื้อในปอดได้เช่นกัน
10.  สารปนเปื้อนทางชีวภาพ (biological pollutant)  เป็นสารที่เกิดในธรรมชาติและล่อยลอยอยู่ในบรรยากาศ เช่น ละอองเกสรดอกไม้หรืออับสปอร์ สารเหล่านี้เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคหืด หอบ ภูมิแพ้ หรือโรคเยื่อบุตาอักเสบได้
11.  สารประกอบอินทรีย์ที่ระเหยเป็นไอได้เร็ว (volatile organic compound)  ส่วนใหญ่จะเป็นสารที่ระเหยมาจากสีทาบ้าน สีน้ำมันที่เป็นสารจำพวกอะซิโตน การระเหยของน้ำมันปิโตรเลียม หรือแม้แต่ในขั้นตอนของการซักแห้งก็มีสารดังกล่าวระเหยออกมา สารเหล่านี้เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการระคายเคืองที่ตา จมูกและคอ ในบางครั้งอาจทำให้เกิดอาการปวดหัว วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้และที่ร้ายแรงที่สุดคือ ทำให้ระบบการทำงานของตับล้มเหลว
12.  ฟอร์มัลดีไฮด์ (formaldehyde)เป็นสารเคมีที่ประกอบไปด้วย คาร์บอน ไฮโดรเจนและออกซิเจน อยู่ในรูปของแก๊สที่ไม่มีสีแต่มีกลิ่น พบได้ทั่วไปตามธรรมชาติ ส่วนใหญ่เป็นผลผลิตจากพืช สัตว์ และมนุษย์ โดยอาจพบในส่วนผสมของ น้ำมันพืช แชมพู ลิปสติก เสื้อผ้าหรือกระดาษชำระ ถ้าร่างกายได้รับสารดังกล่าวในปริมาณมากในระยะเวลาอันสั้นจะทำให้เกิดอาการระคายเคืองที่ตา จมูก และเกิดอาการภูมิแพ้ แต่หากได้รับในปริมาณมากในช่วงระยะยาวจะทำลายระบบประสาท ระบบการย่อยอาหารรวมไปถึงทำให้เกิดโรคมะเร็งได้
13.  สารกัมมันตรังสีเธอดอน  เป็นสารที่สะสมอยู่ภายในบ้านได้ จริง ๆ แล้วสารเหล่านี้ส่วนใหญ่จะสะสมอยู่ในชั้นหินและชั้นดินภายในบริเวณบ้านนั่นเอง และจะปลดปล่อยออกมาในรูปของแก๊สซึ่งแก๊สดังกล่าวหากร่างกายได้รับในปริมาณมากอาจทำให้เกิดโรคมะเร็งปอดได้

มลพิษทางอากาศมีแหล่งกำเนิดมลพิษและผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยและสิ่งแวดล้อมแตกต่างและรุนแรงต่างกันไป ทั้งนี้สามารถสรุปได้ดังตารางที่ 1
ตารางที่ 1 แหล่งกำเนิดที่สำคัญและผลกระทบของมลพิษทางอากาศ
     มลพิษ
          แหล่งกำเนิดที่สำคัญ
                          ผลกระทบ
PM-10
การเผาไหม้ของเครื่องยนต์ดีเซลฝุ่นละอองแขวนลอยคงค้างในถนน ฝุ่นจากการก่อสร้างและจากอุตสาหกรรม
PM-10 มีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของคนอย่างสูงเพราะมีขนาดเล็กจึงสามารถแทรกตัวเข้าไปในปอดได้
 SO2

การเผาไหม้เชื้อเพลิงที่มีซัลเฟอร์เป็นองค์ประกอบซึ่งส่วนใหญ่คือ ถ่านหินและน้ำมัน และอาจเกิดจากกระบวนการทาง อุตสาหกรรมบางชนิด
การสะสมของ SO2 จำนวนมากอาจทำให้เป็นโรคหอบหืดหรือมีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ นอกจากนี้การรวมตัวกันระหว่าง SO2 และ NOx เป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดฝนกรด(acid rain) ซึ่งทำให้เกิดดินเปรี้ยว และทำให้น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติต่างๆ มีสภาพเป็นกรด
 สารตะกั่ว
 การเผาไหม้ alkyl lead ที่ผสมอยู่ในน้ำมันเบนซิน
สารตะกั่วเป็นสารอันตรายที่ส่งผลทำลายสมอง ไต โลหิตระบบประสาทส่วนกลาง และระบบสืบพันธุ์ โดยเด็กที่ได้รับสารตะกั่วในระดับสูงอาจมีพัฒนาการรับรู้ช้ากว่าปกติ และการเจริญเติบโตลดลง
    CO
การเผาไหม้ของน้ำมันที่ไม่สมบูรณ์
CO จะเข้าไปขัดขวางปริมาณก๊าซออกซิเจน (O2) ที่ร่างกายจำเป็นต้องใช้ ดังนั้นผู้ที่มีอาการโรคระบบหัวใจและหลอดเลือดจึงีมีความเสี่ยงสูงจนอาจถึงแก่ชีวิตได้ถ้าได้รับCO ในระดับสูง
    NOx
การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล และยังมีบทบาทสำคัญในการก่อตัวของ O3 และ ฝุ่นละออง
การรับ NOx ในระดับต่ำอาจทำให้คนที่มีโรคระบบทางเดินหายใจมีความผิดปกติของปอด และอาจเพิ่มการเจ็บป่วยของโรคระบบทางเดินหายใจในเด็ก ขณะที่การรับ NOx เป็นเวลานานอาจเพิ่มความไวที่จะติดเชื้อโรคระบบทางเดินหายใจและทำให้ปอดมีความผิดปกติอย่างถาวร
   O3
การทำปฏิกิริยาระหว่างสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย(Volatile organic compound: VOC) และออกไซด์ของไนโตรเจนโดยมีความร้อนและแสงอาทิตย์เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา
O3 อาจทำให้เกิดอันตรายเฉียบพลันต่อสุขภาพ เช่น ความระคายเคืองต่อสายตา จมูก คอ ทรวงอก หรือมีอาการไอ ปวดหัว นอกจากนี้ ยังอาจทำให้ผลผลิตทางการเกษตรต่ำลง
ที่มา: ธนาคารโลก 2002.

มูลค่าความเสียหายเนื่องจากมลพิษทางอากาศมีผลต่อสุขภาพของประชาชนโดยเฉพาะในเขตเมือง ในการศึกษานี้ได้ประเมินต้นทุนมลพิษทางอากาศจากต้นทุนสุขภาพของผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจในเขตเมืองทั้งหมด 21 จังหวัด โดยพิจารณาจากจังหวัดที่มีจำนวนประชากรในเขตเทศบาลเกิน 100,000 คน จำนวน 12 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ นครราชสีมา อุบลราชธานี ขอนแก่น อุดรธานี นนทบุรี สมุทรปราการ ชลบุรี นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และสงขลา และเพิ่มเติมจังหวัดที่มีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งแสดงถึงการต้องเฝ้าระวังคุณภาพอากาศในบริเวณดังกล่าวจำนวน 9 จังหวัด ซึ่งได้แก่ ลำปาง นครสวรรค์ สระบุรี ปทุมธานี ระยอง นครปฐม สมุทรสาคร ราชบุรี และภูเก็ต การประเมินต้นทุนมลพิษทางอากาศจากค่ารักษาพยาบาลของผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจใช้ต้นทุนค่ารักษาพยาบาลของผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน กรณีผู้ป่วยนอกมีค่ารักษาพยาบาลเฉลี่ย 275 บาทต่อครั้ง (ราคาปี พ.ศ. 2547) และในกรณีของผู้ป่วยในโรคปอดอักเสบมีค่ารักษาพยาบาลเฉลี่ย 11,163 บาทต่อราย (ราคาปี พ.ศ. 2547) โรคหลอดลมอักเสบ หลอดลมพองและโรคหืดมีค่ารักษาพยาบาลเฉลี่ย 7,204 บาทต่อราย (ราคาปี พ.ศ. 2547) โรคระบบหายใจส่วนบนติดเชื้อเฉียบพลัน และโรคอื่นๆ ของระบบหายใจส่วนบนมีค่ารักษาพยาบาลเฉลี่ย 14,277 บาทต่อราย (ราคาปี พ.ศ. 2547) โรคเรื้อรังของระบบหายใจส่วนล่างมีค่ารักษาพยาบาลเฉลี่ย 15,272 บาทต่อราย (ราคาปี พ.ศ. 2547) โรคหืด โรคหืดชนิดเฉียบพลัน และโรคอื่นๆ ของระบบหายใจ มีค่ารักษาพยาบาลเฉลี่ย 5,317 บาทต่อราย (ราคาปี พ.ศ. 2547) จากการคำนวณ พบว่า มูลค่าความเสียหายด้านสุขภาพจากมลพิษทางอากาศเฉลี่ยเท่ากับ 5,866 ล้านบาทต่อปี ข้อมูลจำนวนผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจมีการเก็บรวบรวมโดยกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นข้อมูลรายปี รายจังหวัด อย่างไรก็ตาม ไม่มีการระบุถึงสาเหตุของการเกิดโรคที่แท้จริง ดังนั้น ควรศึกษาถึงสาเหตุของการเกิดโรคระบบทางเดินหายใจว่ามาจากสาเหตุใด เพื่อให้การคำนวณมูลค่าความเสียหายด้านสุขภาพที่เกิดจากมลพิษอากาศมีความถูกต้องมากขึ้น. ทัศนคติของประชาชนผลสำรวจทัศนคติของประชาชน พบว่า ประชาชนร้อยละ 3.4 มีความเห็นว่าปัญหามลพิษทางอากาศ เป็นปัญหาสำคัญที่สุดของประเทศ
ผลกระทบของมลพิษทางอากาศ
1. ทำอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ การที่สารที่มีอยู่ในอากาศจะเป็นอันตรายต่อร่างกายเพียงใดขึ้นอยู่กับปริมาณของสารนั้นๆ สารมีความเป็นพิษร้ายแรงเพียงใด ระยะเวลาที่ร่างกายสัมผัสกับอากาศสกปรกนั้นๆ ความต้านทานของร่างกายต่ออากาศสกปรก
2. ทำอันตรายต่อพืชและสัตว์ต่างๆ
3. ทำความเสียหายต่อทรัพย์สินโดยก่อให้เกิดการกัดกร่อนต่อสิ่งก่อสร้าง วัสดุอุปกรณ์ต่างๆทำให้เสื่อมสภาพเร็วและทำให้สิ่งของเครื่องใช้สกปรกง่าย
4. จำกัดการมองเห็น(การที่ควัน หรือฝุ่นละอองปนในอากาศมากทำให้แสงสว่างส่องลงมาได้น้อยกว่าปกติ) ทำให้เกิดอุบัติบนท้องถนนได้ง่าย
5. ทำให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจโดยทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายต่างๆในการปรับปรุงการเผาไหม้ ปรับปรุงวิธีการที่จะลดมวลสารในอากาศรวมทั้งค่าใช้จ่ายในการวิจัย
ผลกระทบของสารมลพิษที่มีต่อพืช
สิ่งมีชีวิตเช่นพืชก็ได้รับผลจากมลพิษทางอากาศได้ ๒ ลักษณะเช่นกันคือ เฉียบพลัน และเรื้อรัง ในลักษณะหลัง อาจจำแนกอาการของโรคพืชออกจากสาเหตุอื่นๆ ได้ยาก สารมลพิษเข้าสู่พืชทางรูใบซึ่งเป็นอวัยวะที่ใช้หายใจ อาการจะปรากฎอย่างเห็นได้ชัดที่ใบและขึ้นอยู่ในอากาศมีสารมลพิษ เช่น ก๊าซโอโซน ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และไนโตรเจนออกไซด์มาก ผลฉับพลันที่อาจเกิดขึ้นคือใบยุบและเกิดลายเหี่ยวแห้ง โดยเฉพาะส่วนขอบหรือยอด แต่ในชั้นแรกอาจจะบวมน้ำ หรือช้ำเสียก่อน เม็ดสีของพืชใบเขียวคือ คลอโรฟีลล์ เป็นอีกส่วน ซึ่งได้รับผล สีใบจึงซีดจางลง คล้ายคลึงกับอาการที่พืชขาดอาหาร และมีลักษณะแบบเดียวกับคนเป็นโรคโลหิตจาง เมื่อใบซีดลง อาจเกิดสีอื่นๆ ขึ้น ในระยะยาวพืชไม่เติบโต และการแตกตาชะงักงัน อาการนี้อาจปรากฏให้เห็นในรูปใบหรือก้านยาวขึ้น หรือใบงอและร่วง เป็นต้น ฝุ่นละอองในอากาศจะตกลงจับเกรอะกรังบนส่วนต่างๆ ของพืชโดยเฉพาะใบ ดังนั้นพืชจึงหายใจได้อย่างจำกัด เป็นผลให้การสังเคราะห์แสงลดลง แต่กลับสะสมความร้อนไว้ภายในมากขึ้น จึงมีส่วนเร่งรัด หรือขัดขวางการเจริญเติบโตของพืชก็ได้ แล้วแต่กรณี หากฝุ่นนั้นมีสารพิษปะปนอยู่ เช่น โลหะหนัก หรือปูนซีเมนต์ พืชจะได้รับพิษเพิ่มจากสารต่างๆ นั้นอีกด้วย
สถานการณ์มลพิษทางอากาศ
กรมควบคุมมลพิษเป็นหน่วยงานที่ทำการตรวจวัดคุณภาพอากาศมาอย่างต่อเนื่องโดยทำการตรวจวัดมลพิษทางอากาศที่สำคัญ ได้แก่ ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน: PM-10) ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) สารตะกั่ว (Pb) ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) ไนโตรเจนไดออกไซด์ (NOx) และก๊าซโอโซน (O3)ผลจากการตรวจวัดคุณภาพอากาศในช่วงเกือบ 20 ปีที่ผ่านมาพบว่าคุณภาพทางอากาศในประเทศไทยมีคุณภาพดีขึ้น โดยพิจารณาได้จากค่าสูงสุดของความเข้มข้นของสารมลพิษส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ยกเว้นฝุ่นขนาดเล็ก และก๊าซโอโซน ทั้งนี้การที่คุณภาพอากาศของประเทศไทยมีคุณภาพดีขึ้น มีสาเหตุมาจากการลดลงของปริมาณการใช้เชื้อเพลิงในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ และอีกส่วนหนึ่งมาจากมาตรการของรัฐที่มีส่วนทำให้มลพิษทางอากาศลดลง (ธนาคารโลก 2002) ซึ่งได้แก่การรณรงค์ให้ใช้รถจักรยานยนต์ 4 จังหวะแทนรถจักรยานยนต์ 2 จังหวะ เนื่องจากรถจักรยานยนต์ 2 จังหวะเป็นแหล่งกำเนิดสำคัญของการปล่อยฝุ่นละอองออกสู่บรรยากาศ การปรับเปลี่ยนมาใช้รถจักรยานยนต์ 4 จังหวะ จึงช่วยให้มีการปล่อยฝุ่นละอองสู่บรรยากาศลดลงการติดตั้งอุปกรณ์กำจัดสารซัลเฟอร์ (Desulfurization) ในโรงไฟฟ้าแม่เมาะในปี พ.ศ. 2535 เนื่องจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะเป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินลิกไนต์เป็นเชื้อเพลิงซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดสำคัญของปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ดังนั้นการติดตั้งอุปกรณ์ดังกล่าวทำให้ปริมาณก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในบรรยากาศลดลงอย่างต่อเนื่องจนอยู่ในระดับที่ต่ำกว่ามาตรฐานตั้งแต่มีการติดตั้งอุปกรณ์กำจัดสารซัลเฟอร์ การบังคับใช้อุปกรณ์ขจัดมลพิษในระบบไอเสียรถยนต์ประเภท Catalytic converter ในรถยนต์ใหม่ในปี พ.ศ. 2536 เนื่องจากยานยนต์เป็นแหล่งกำเนิดก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ที่สำคัญ ส่งผลให้ระดับก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ลดลงจนอยู่ในระดับที่ต่ำกว่ามาตรฐานการลดปริมาณสารตะกั่วในน้ำมัน โดยในปี พ.ศ 2532 รัฐบาลได้มีมาตรการเริ่มลดปริมาณตะกั่วในน้ำมันจาก 0.45 กรัมต่อลิตรให้เหลือ 0.4 กรัมต่อลิตร และในปี พ.ศ. 2535 ได้ลดลงมาเหลือ 0.15 กรัมต่อลิตร จนกระทั่งปลายปี พ.ศ. 2538 รัฐบาลได้ยกเลิกการใช้น้ำมันเบนซินที่มีสารตะกั่ว ทำให้ระดับสารตะกั่วลดลงอย่างรวดเร็วจนอยู่ในระดับที่ต่ำกว่ามาตรฐาน ฝุ่นละอองขนาดเล็ก และก๊าซโอโซน ยังเป็นสารมลพิษที่เป็นปัญหา ซึ่งถึงแม้จะมีแนวโน้มลดลงเช่นกันแต่มลพิษทั้ง 2 ตัวก็ยังสูงเกินมาตรฐาน ทั้งนี้อาจเป็นเพราะฝุ่นละอองมีแหล่งกำเนิดหลากหลาย ทำให้การออกมาตรการเพื่อลดฝุ่นละอองทำได้ยาก โดยแหล่งกำเนิดฝุ่นละอองที่สำคัญได้แก่ ยานพาหนะ ฝุ่นละอองแขวนลอยคงค้างในถนน ฝุ่นจากการก่อสร้าง และอุตสาหกรรม สำหรับในพื้นที่ชนบท แหล่งกำเนิดฝุ่นละอองที่สำคัญ คือ การเผาไหม้ในภาคเกษตร ขณะที่ก๊าซโอโซน เป็นสารมลพิษทุติยภูมิที่เกิดจากปฏิกิริยาระหว่างสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย (Volatile organic compound: VOC) และออกไซด์ของไนโตรเจน โดยมีความร้อนและแสงอาทิตย์เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา ทำให้ก๊าซโอโซนมีปริมาณสูงสุดในช่วงเที่ยงและบ่าย และถูกกระแสลมพัดพาไปสะสมในบริเวณต่างๆ ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีปัจจัยหลายปัจจัยที่ยากต่อการควบคุมการเกิดของก๊าซโอโซน ทำให้มาตรการต่างๆ ยังไม่สามารถลดปริมาณก๊าซโอโซนลงให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานได้
หลักการพื้นฐานในการป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่สําคัญมีดังนี้
1. ควบคุมเทคโนโลยีการใช้และการแปรรูปให้มีประสิทธิภาพสูงสุดโดยให้เกิดของเสียและมลสารน้อยที่สุด
2. ไม่ใส่มลสารเข้าสู่ขบวนการใช้และการแปรรูป แต่ถ้าจําเป็น ต้องควบคุมปริมาณทั้งที่ใช้และการแปรรูป ทั้งที่ใช้ให้อยู่กว่าเกณฑ์มาตรฐาน
3. ควบคุมปริมาณการใช้ทรัพยากรให้พอเหมาะพอดีโดยส่วนที่เหลือจะต้องทําหน้าที่ได้เท่ากับปริมาณที่มีตามปกติ
4. เมื่อใดก็ตามที่จะมีการใช้ทรัพยากรอย่างหนึ่งแล้วส่งผลกระทบกับอีกทรัพยากรหนึ่งองไม่ทําให้ของเสียหรือมวลสารมีพิษต่อทรัพยากรนั้น ๆ เช่น ผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยถ่านหินลิกไนต์ต้องไม่ให้เกิดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซต์มีค่าเกินมาตรฐาน
5. ใช้มาตรการทางกฎหมาย เพื่อป้องกัน พร้อมทั้งระบุโทษให้ประจักษ์ชัดตามความรุนแรงของการกระทํา การแก้ไขปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมอาจจะกระทําได้ดังนี้
 5.1 ไม่ให้เกิดการสัมผัสทั้งห้า หมายความว่า ถ้าเสียงดังใช้เครื่องปิดหู กลิ่นเหม็นใช้หน้ากากปิดปาก จมูก แสงมากใช้ แว่นกันแสง เกิดการระคายเคืองใช้เสื้อผ้าป้องกันการสัมผัส และวิธีเลือกอาหารรับประทาน
 5.2การกําจัดของเสียที่เป็นของแข็ง จะใช้วิธีการเลือกของเสียที่สามารถนํามาใช้ประโยชน์ได้มาเข้า ขบวนการผลิตของเสีย เช่น กากของสารอินทรีย์ทําปุ๋ยหมัก ถ้าเป์นโลหะนํากลับมาหลอมใหม่และส่วนที่ใช้ไม่ได้อีกแล้วอาจจะใช้วิธีเผาหลอมแล้วแยกสารหรือฝังกลบให้มิดชิด เป็นต้น
 5.3 การบําบัดของเสียที่เป็นของเหลว เช่น น้ำเสียใช้วิธีบําบัดน้ำเสีย ซึ่งมีหลายรูปแบบทั้งทางฟิสิกส์- เคมี และชีววิทยาจนกว่าจะได้น้ำทิ้ง(effluent) ที่มีค่าความสะอาดใกล้เคียงธรรมชาติหรือมาตรฐาน
 5.4 กําจัดของเสียที่เป็นฝุ่นละออง หรือก๊าซพิษ มีเครื่องกรอง ผสมสารเคมี หรือเป์นรูปแบบผสมผสานกับ สารละลาย เป็นต้น
 5.5 กรณีที่ หลีกเลี่ยงไม่ได้และมีการปนเปื้อนของสารพิษต้องมีการวางแผนการใช้ที่ดินอย่างเข้มงวด เช่น เฟืองหรือชุมชนจะช่วยลดปริมาณมลสารเหล่านั้นมิให้เกิดพิษภัยต่อผู้อาศัยได้
 5.6. การติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม ขั้นสุดท้ายของการวิเคราะห์ปัญหาสิ่งแวดล้อม ต้อง มีการติดตามตรวจสอบเป็นระยะไปเพื่อเป็นการป้องกันผลเสียที่อาจจะเกิดขึ้นทั้งระยะสั้น และ ระยะยาว ปกติจะเป็นการตรวจวัดตามสถานีต่าง ๆ โดยรอบพื้นที่ศึกษา ในระยะที่มลพิษระดับ ต่างกันจะไปถึงได้ เช่น ก๊าซที่ปล่อยออกมาจากปล่อยโรงงานที่ใช้เชื้อเพลิง เช่น กํามะถัน คาร์บอน และไนโตรเจน มีปริมาณมากน้อยเพียงใดหลังจากเกิดปฏิกิริยาทางเคมีในบรรยากาศ แล้วอาจจะเป็นกรด (ฝนกรด) ตกใกล้พื้นที่ศึกษาหรือไกลออกไปนอกพื้นที่ศึกษาตาม
การควบคุมสารมลพิษที่เป็นก๊าซ
การควบคุมมลพิษที่เป็นก๊าซ อาจใช้การดูดซึม การดูดซับ หรืออาศัยปฎิกิริยาทางเคมีที่เหมาะสม การดูดซึมมีลักษณะคล้ายคลึงกับเครื่องจับฝุ่นแบบเปียก เพราะอาศัยการฟุ้งกระจายของก๊าซและของเหลว เพื่อให้ผสมผสานกันเป็นอย่างดีการดูดซับนั้น มีหลักการเดียวกันกับการวางถ่านไม้ไว้ เพื่อดูดกลิ่น ตัวดูดซับเป็นของแข็งพรุน เพื่อให้ผิวสัมผัสกับก๊าซได้มาก แรงดึงดูดระหว่างโมเลกุลของตัวดูดซับ จะเหลือใช้ตรงบริเวณผิว จึงใช้แรงนี้ดูดก๊าซเอาไว้ แล้วเอาไปล้างด้วยวิธีการง่ายๆ เพื่อนำเอาตัวดูดซับกลับมาใช้ใหม่ คาร์บอน กัมมันต์ เป็นตัวอย่างหนึ่งที่นิยมใช้สำหรับแยกสารทำละลาย เช่น ทินเนอร์ ไซลีน ฯลฯ ในห้องปฏิบัติ การมีอุปกรณ์สำหรับดูดความชื้น สารเคมีซึ่งบรรจุไว้ในนั้นคือ ซิลิกาเจล เช่นเดียวกันกับในสินค้าบางชนิด เช่น สาหร่ายแบบแผ่น มีการบรรจุตัวดูดซับไว้ในกล่องหรือซองด้วย ทั้งนี้เพื่อรักษาสินค้าให้คงความกรอบไว้ได้นานการควบคุมก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์นั้น นอกจากจะใช้เชื้อเพลิงที่สะอาดแล้ว อาจแยกซัลเฟอร์ออกจากเชื้อเพลิงก่อน หรือใช้กระบวนการต่างๆ ในท้ายที่สุดได้ถ่านหิน โดยทั่วไปมีซัลเฟอร์ อยู่ประมาณร้อยละ ๒-๗ ซัลเฟอร์มีอยู่ ๓ รูป คือ ไพไรต์ สารประกอบอินทรีย์ และซัลเฟต ไพไรต์แยกออกจากถ่านหินได้ด้วยวิธีการทางกายภาพ แต่การแยกซัลเฟอร์ในรูปสารประกอบอินทรีย์ต้องใช้กรรมวิธีทางเคมี อาจแยกซัลเฟอร์ออกจากน้ำมันเชื้อเพลิงได้ ด้วยการอาศัยปฏิกิริยากับก๊าซไฮโดรเจนที่ความดันสูง ในขณะที่มีตัวเร่งปฏิกิริยาอยู่ การกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในขั้นสุดท้าย ก่อนระบายออกสู่บรรยากาศนั้น อาศัยหลักการทางเคมี หรือการดูดซับสารเคมีที่ใช้ ได้แก่ ด่างต่างๆ เช่น ปูนขาว ออกไซด์ของแมกนีเซียม และตัวเร่งปฏิกิริยา เช่น สารประกอบวาเนเดียม ไม่เช่นนั้นก็อาจเผาทิ้งที่อุณหภูมิสูง แล้วใช้น้ำจับในภายหลังการควบคุมก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ มีหลักการคล้ายคลึงกับการควบคุมก๊าซประเภทนี้ ในเครื่องของยานยนต์ทุกประการ กล่าวคือ ควบคุมสัดส่วนระหว่างอากาศกับเชื้อเพลิงให้เหมาะพอดี หรือควบคุมให้สัดส่วนนี้แยกออกเป็นสองส่วนคือ ใช้เชื้อเพลิงมากในขั้นต้น แล้วลดน้อยลงในลำดับต่อไป นอกจากนั้นหลักการลดอุณหภูมิ ในระหว่างการเผาไหม้ ก็ยังใช้ได้อีกเช่นเดียวกันกล่าวคือ นำก๊าซซึ่งเกิดจากการสันดาป หมุนเวียนกลับเข้ามาป้อนในการเผาไหม้ ในท้ายที่สุด หากมีก๊าซเหลือตกค้างอยู่ ก็อาจนำมากำจัด ด้วยวิธีการทางเคมี หรือกายภาพอีกต่อไปในขณะที่การสัญจรไปมาในเมืองใหญ่ๆ ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศขึ้นอย่างชัดเจน ชาวเมืองหลายคนก็ได้รับพิษภัยจากโรงงานอุตสาหกรรมในบริเวณใกล้เคียง ดังนั้นจึงต้องจัดระเบียบของเมือง เพื่อให้บ้านอยู่ไกลโรงงาน ส่วนชาวบ้านในชนบทนั้น ผจญกับภาวะมลพิษทางอากาศ เช่น การพ่นสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือกลิ่นและควัน จากโรงงานอุตสาหกรรมพื้นบ้าน เป็นต้น ปัญหาเหล่านี้เกิดจากการเกษตรกรรม การเลี้ยงปศุสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฟาร์มเลี้ยงหมู โรงสีข้าว โรง โม่หิน และโรงงานแป้งมันสำปะหลัง เป็นต้น

แนวทางที่จะช่วยลดมลภาวะทางอากาศได้โดยเริ่มต้นที่บ้านของเราก่อน
1.เปลี่ยนหลอดไฟฟ้าจากหลอดไส้ให้เป็นหลอดฟลูออเรสเซนต์เพื่อประหยัดพลังงาน
 2.ปิดไฟทุกดวงในบ้านเมื่อไม่ใช้งาน
 3.ใช้พลังงานจากแหล่งพลังงานที่สามารถทดแทนหรือสร้างใหม่ได้ เช่น ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการให้        ความร้อนหรือพลังงานลมซึ่งพลังงานเหล่านี้ไม่ปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศพยายามนำกระดาษพลาสติกหรือแก้วน้ำกลับมาใช้ใหม่แทนการนำไปทิ้งถังขยะ
4.ลดการใช้ถุงพลาสติกและเปลี่ยนมาใช้ถุงกระดาษแทน
5.หลีกเลี่ยงการใช้สเปรย์เพราะจะก่อให้เกิดสาร CFC มากขึ้น
6.เลิกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากโฟมหรือนำวัสดุที่ทำจากโฟมไปดัดแปลงทำชิ้นงานอื่นๆแทนที่จะนำไปเผาทำลายซึ่งจะก่อให้เกิดมลพิษตามมาโดยเราสามารถนำโฟมไปอัดและนำมาทำเป็นผนังบุห้องได้
7.ดูแลตรวจสอบเครื่องปรับอากาศและตู้เย็นอยู่เสมอ หากเกิดการชำรุดหรือรอยรั่วควรรีบซ่อมทันที
8.พยายามใช้เครื่องปรับอากาศให้น้อยที่สุด
9.หลีกเลี่ยงการขับรถในเส้นทางที่มีรถติดมากเป็นประจำ
10.ใช้รถยนต์โดยสารประจำทาง เดินหรือขี่จักรยานไปโรงเรียนหรือไปทำงานแทนการใช้รถยนต์ส่วนตัว และควรใช้รถส่วนตัวเมื่อต้องเดินทางระยะไกลเท่านั้น
11.ไม่ควรขับรถโดยใช้อารมณ์มากเกินไปเพราะนอกจากจะทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุแล้วการที่เราเบรกแรงหรือออกตัวเร็วเกินไปจะทำให้รถต้องใช้เชื้อเพลิงในการเผาไหม้มากขึ้นซึ่งย่อมทำให้เกิดแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์และแก๊สคาร์บอนมอนนอกไซด์ปริมาณเพิ่มมากขึ้นด้วย
12.ปลูกต้นไม้เพราะต้นไม้สามารถช่วยดูดซับแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ได้

แนวคิด ทฤษฎี ที่เกี่ยวกับมลพิษทางอากาศ
1.ทฤษฎีวิวัฒนาการ (Evolutionary Theory)เป็นแนวความคิดที่ได้รับอิทธิพลจากทฤษฎีวิวัฒนาการทางชีววิทยาของชาร์ลส์ ดาร์วิน (Charles Darwin) ซึ่งกล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของสังคมเป็นกระบวนการที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นขั้นตอนตามลำดับ จากขั้นหนึ่งไปสู่อีกขั้นหนึ่ง ในลักษณะที่มีการพัฒนาและก้าวหน้ากว่าขั้นที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงจากสังคมที่มีรูปแบบ เรียบง่ายไปสู่รูปแบบที่สลับซับซ้อนมากขึ้น และมีความเจริญก้าวหน้าไปเรื่อยๆ จนเกิดเป็นสังคม ที่มีความสมบูรณ์
Auguste Comte (ค.ศ. 17981857) เสนอว่า สังคมมนุษย์มีพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงด้านความรู้ (Knowledge) ผ่าน 3 ขั้นตอนตามลำดับ คือ จากขั้นเทววิทยา (Theological stage) ไปสู่ขั้นอภิปรัชญา (Metaphysical stage) และไปสู่ขั้นวิทยาศาสตร์ (Positivistic stage)
Lewis Henry Morgan (ค.ศ. 18181881) เสนอว่า สังคมจะมีขั้นของการพัฒนา 3 ขั้นคือ จากสังคมคนป่า (Savage) ไปสู่สังคมอนาอารยชน (Barbarian) และไปสู่สังคมอารยธรรม (Civilized)
Herbert Spencer (ค.ศ. 18201903) เสนอว่า วิวัฒนากรของสังคมมนุษย์เป็นแบบสายเดียว (Uni-linear) ที่ทุกสิ่งทุกอย่างในจักรวาลมีจุดกำเนิดมาจากแหล่งเดียวกันด้วยและมารวมกันด้วยกระบวนการสังเคราะห์ (Synthesis) ทำให้เกิดพัฒนาการที่ก้าวหน้าขึ้นและซับซ้อนมากขึ้น การพัฒนาของสังคมจะมีวิวัฒนาการเป็นไปตามกฎของธรรมชาติ กล่าวคือ มนุษย์ที่มีความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสภาวะแวดล้อมใหม่ๆ ได้เป็นอย่างดีจะมีชีวิตอยู่รอดตลอดไป และนำไปสู่การพัฒนาที่ดีขึ้นต่อไป
Ferdinand Tonnies (ค.ศ. 18551936) เสนอว่า สังคมจะมีการเปลี่ยนแปลงจากสังคมแบบ Gemeinschaft (Community) ไปสู่สังคมแบบ Gesellschaft (Society, Groups)
Robert Redfield (ค.ศ. 18571958) เสนอว่า การเปลี่ยนแปลงของสังคมจะเริ่มจากสภาพของสังคมชาวบ้าน (Folk) เปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมแบบเมือง (Urban)
จากแนวคิดทฤษฎีวิวัฒนาการ (Evolutionary Theory) กล่าวไว้ข้างต้นว่าวิวัฒนาการของสังคมเปลี่ยนแปลงไปตามลำดับขั้นตอน เช่น เปลี่ยนจากสังคมชนบทไปสู่สังคมเมืองมากขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวการสร้างอาคาร ถนน ตึก ไฟฟ้า น้ำประปา ซึ่งพื้นที่นำมาใช้ในการสร้างสังคมต่างๆ เหล่านี้มาจากการตัดไม้ทำลายป่าทั้งสิ้นเมื่อต้นไม้ถูกทำลายไปหมดก็ไม่มีสิ่งใดมาดูดซับคาร์บอนหรือสารพิษจึงทำให้สิ่งที่เป็นพิษลอยไปสู่อากาศ ทำให้อากาศเกิดมลพิษเป็นปัญหาของสังคม ซึ่งการทำอุตสาหกรรมก่อให้เกิดมลภาวะการเป็นพิษต่อสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม เพราะการทำอุตสาหกรรมโรงงานจะต้องปล่อยสิ่งที่เป็นพิษออกมาไปทำลายอากาศอันบริสุทธิ์
2.ทฤษฎีความทันสมัย (Modernization Theory)
ระหว่าง ค.ศ. 1950 ถึง 1960 เป็นช่วงระยะเวลาที่ทฤษฎีความทันสมัยมีบทบาทอย่างสำคัญมากต่อกระบวนคิดด้านการพัฒนาสังคม การที่นักเศรษฐศาสตร์ได้เข้ามามีบทบาทอย่างกว้างขวางในการกำหนดรูปแบบตลอดจนทิศทางการพัฒนา ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศตะวันตกที่มีการพัฒนาอุตสาหกรรมอยู่ในระดับแนวหน้า ส่งผลให้มหาอำนาจตะวันตกโดยเฉพาะอย่างยิงประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งกลายเป็นสัญลักษณ์ของ โลกเสรี” (Free World) เกิดแนวคิดด้านการพัฒนาที่มุ่งเน้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงประการเดียว (Growth-only Development Approach) การถ่ายทอดแนวคิดดังกล่าวสู่ประเทศด้อยพัฒนาในโลกที่สาม (The Third World) ผ่านวามกรรมการพัฒนา (Development Discourse) การส่งผู้เชี่ยวชาญและโครงการให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่าต่างๆ ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทฤษฎีความทันสมัยเข้ามามีบทบาทในการกำหนดทิศทางการพัฒนา และอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประชาคมโลกลักษณะที่สำคัญของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปสู่ความทันสมัย ประกอบด้วยการเปลี่ยนแปลงวิถีการดำเนินชีวิตและเทคโนโลยีในการดำรงชีวิตจากแบบเรียบง่ายในสังคมจารีต ไปสู่การดำรงชีวิตที่อาศัยความรู้และเทคโนโลยีระดับสูงมีความเป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น

เปลี่ยนจากระบบการผลิตจากเกษตรแบบยังชีพหรือการทำการเกษตรในที่ดินแปลงเล็กเพื่อบริโภคในครัวเรือน เป็นการผลิตขนาดใหญ่เพื่อขายมีการจ้างแรงงานภายนอกครอบครัวหรือชุมชนแทนการใช้แรงงานในครอบครัว
มีระบบอุตสาหกรรมในโรงงานและการใช้เครื่องจักรกลเพิ่มขึ้น
วิถีชีวิตของคนเปลี่ยนแปลงจากความสัมพันธ์แบบไม่เป็นทางการเป็นแบบเป็นทางการ
เกิดเมืองเพิ่มขึ้น และมีการขยายตัวของสังคมเมือง
มีการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน สาธารณูปโภค โรงเรียน โรงพยาบาล
เกิดชนชั้นกลางและผู้ประกอบการ(Entrepreneur)เพิ่มขึ้น
มีการเปลี่ยนแปลงระบบความเชื่อของคนจากอำนาจเหนือธรรมชาติ ครอบครัวและชุมชนนิยมเป็นความคิดเชิงเหตุผลปัจเจกชนนิยมและวัตถุนิยม
โครงสร้างของครอบครัวเปลี่ยนแปลงจากครอบครัวขยายเป็นครอบครัวเดี่ยว
สถาบันทางสังคมต่างๆ มีความสลับซับซ้อนเพิ่มมากขึ้น
การจัดระเบียบทางสังคมใช้กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับที่เป็นลายลักษณ์อักษรมากขึ้นเพื่อแทนที่บรรทัดฐานและวิถีประชาที่ใช้กันในสังคมจารีต
จากแนวคิดทฤษฎีความทันสมัย (Modernization Theory) เห็นได้อย่างชัดเจนว่า มนุษย์คือผู้ทำลายธรรมชาติอย่างแท้จริง เพราะมนุษย์ได้นำเอาความสะดวกสบายเข้ามาใช้ในการดำเนินชีวิตแต่สิ่งที่อำนวยความสะดวกเหล่านั้นได้ทำลายธรรมชาติไปอย่างมาก มนุษย์ได้ตักตวงใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติเพื่อสนองความต้องการของตัวเองการมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีโรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้น มีบ้านเรือนมีถนนมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆให้ชีวิตมีความสบายขึ้น แต่ธรรมชาติต้องสูญเสียและถูกทำลายไปโดยความต้องการของมนุษย์ และสิ่งที่มนุษย์ได้สร้างขึ้นก็กำลังกลับมาทำลายตัวมนุษย์เอง มลพิษทางอากาศก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ย้อนกลับมาทำลายมนุษย์เนื่องจากว่าสิ่งที่โรงงานอุตสาหกรรมได้ปล่อยมาคือสารพิษที่มีอันตรายต่อชีวิตและสุขภาพ มนุษย์ป่วยง่ายขึ้นกว่าแต่ก่อน และส่วนใหญ่ก็เสียชีวิตจากสาเหตุอากาศเป็นพิษ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น