วันศุกร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2556

ปัญหากลุ่มผู้ด้อยโอกาส นางสาวอรวี สวนสวัสดิ์ 53242919


บทความเชิงวิชาการ
เรื่อง ปัญหากลุ่มผู้ด้อยโอกาส

ในปัจจุบันนั้นประเทศไทยยังมีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่เรียกกันว่า กลุ่มผู้ด้อยโอกาส ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่  คนยากจน, คนเร่ร่อน ไร้ที่อยู่อาศัย, คนไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร(คนไร้สัญชาติ), ผู้ติดเชื้อHIV ผู้ป่วยเอดส์และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเอดส์, ผู้พ้นโทษที่ประสบปัญหาความเดือดร้อน และได้รับผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา  การสาธารณสุข การเมือง กฎหมาย และวัฒนธรรม ไม่สามารถดำรงชีวิตได้เท่าเทียมกับคนอื่นๆ  ในสังคม  และกลุ่มคนเหล่านี้ต้องได้รับการปกป้อง  คุ้มครอง และพิทักษ์สิทธิ ในการเข้าถึงหลักประกันความมั่นคงในชีวิต และพัฒนาศักยภาพ รวมทั้งส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นและนี่จึงเป็นภารกิจสำคัญสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการดำเนินการปกป้อง  คุ้มครอง และพิทักษ์สิทธิ ยิ่งไปกว่านั้น  ยังเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับการเตรียมการเกี่ยวกับนโยบายและมาตรการการดำเนินการดังกล่าวที่เหมาะสม เพราะมี ผู้ด้อยโอกาสในเกือบทุกพื้นที่ในประเทศไทย มีหลายกลุ่มที่พร้อมจะพัฒนาศักยภาพ  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวี ที่มีส่วนร่วมในสังคมมากขึ้น เปิดเผยตัวมากขึ้น มีการตั้งเครือข่ายช่วยเหลือซึ่งกันและกัน  อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีกลุ่มที่ไม่พร้อมจะพัฒนาศักยภาพของตัวเอง เนื่องจากตกอยู่ท่ามกลางบริบทที่ยังไม่สามารถจะก้าวพ้นได้  เช่น กลุ่มผู้พ้นโทษ ที่มีการทำผิดซ้ำ เข้าๆ ออกๆ ในเรือนจำ กลุ่มคนยากจนที่ได้รับการช่วยเหลือจนดีขึ้นแล้วกลับไปใช้ชีวิตแบบฟุ่มเฟือย  จึงกลับไปสู่ความยากจนอีก จึงทำให้ไม่สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาผู้ด้อยโอกาสให้หลุดพ้นจากการเป็นผู้ด้อยโอกาสได้  แม้จะได้รับการแก้ไขจากหลายภาคส่วน ซึ่งกำลังหลักในการแก้ปัญหาดังกล่าว คือภาครัฐ ร่วมด้วย องค์กรพัฒนาเอกชน  (NGOs) องค์กรเอกชนต่างๆ ทว่าแต่ละภาคส่วนต่างมีจุดแข็งและจุดอ่อนที่ทำให้ดำเนินการไม่ราบรื่นเท่าที่ควร  โดยภาครัฐแม้จะมีงบประมาณสนับสนุน มีกลไก ภาคี  และเครือข่ายการทำงานอย่างกว้างขวาง แต่ขาดความคล่องตัวในการดำเนินงาน มีความคลุมเครือของส่วนราชการ  กฎระเบียบไม่เอื้อต่อการทำงาน ขณะที่ NGOs ทำงานใกล้ชิดกับประชาชน มีเป้าหมายคือการพัฒนาคุณภาพชีวิต และมีความคล่องตัว แต่ NGOs แต่ละ  NGOs มีภารกิจต่างกัน ที่สำคัญต้องรอการสนับสนุนด้านเงินทุนจากแหล่งภายนอก  ซึ่งมักไม่ต่อเนื่อง พันธกิจที่รับผิดชอบจึงสะดุด และภาคเอกชน (ผู้ประกอบการ) ที่มีความพร้อมทั้งเงินทุนและความคล่องตัว  แต่ดำเนินการโดยมีเป้าหมายทางธุรกิจเป็นแรงผลักดัน ทำให้การแก้ปัญหาผู้ด้อยโอกาสไม่เกิดความยั่งยืนและมองเห็นเป็นรูปธรรมแต่ในรูปแบบการดำเนินงานแก้ไขปัญหาผู้ด้อยโอกาสในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างเช่น ประเทศอังกฤษ  น่าจะเป็นบทเรียนที่ดีให้กับประเทศไทยได้ โดยใช้รูปแบบการทำธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคม  (Social Enterprise)ซึ่งประเด็นเหล่านี้จะสะท้อนออกมาเป็นสิ่งที่หน่วยงานหรือภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องคำนึงถึงและนำไปใช้ในการพิจารณาเพื่อหารูปแบบ  กลไก หรือนโยบายที่เหมาะสมที่จะรับมือในการคุ้มครอง ปกป้อง พิทักษ์สิทธิผู้ด้อยโอกาส
        ผู้ด้อยโอกาส หมายถึง ผู้ประสบปัญหาความเดือดร้อนและได้รับผลกระทบในด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา สาธารณสุข การเมือง กฎหมาย วัฒนธรรม ภัยธรรมชาติและภัยสงคราม รวมถึงผู้ที่ขาดโอกาสที่จะเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานของรัฐ ตลอดจนผู้ประสบปัญหาที่ยังไม่มีองค์กรหลักรับผิดชอบ อันจะส่งผลให้ไม่สามารถดำรงชีวิตได้ กลุ่มเป้าหมายในความรับผิดชอบ ได้แก่
1.คนยากจน หมายถึง บุคคลที่มีรายได้ไม่เพียงพอในการใช้จ่าย เพื่อสนองตอบความต้องการพื้นฐาน ขั้นต่ำที่ทุกคน ในสังคมควรได้รับเพื่อการดำรงชีวิตอย่างมีความสุขตามอัตภาพ โดย ความต้องการ พื้นฐานขั้นต่ำนั้นสามารถ กำหนดให้เป็นค่าของจำนวนเงินที่ครัวเรือน ต้องใช้ในการหาซื้ออาหาร ที่เพียงพอกับการดำรงชีพ ซึ่งค่าของ จำนวนเงินดังกล่าวเรียกว่า เส้นความยากจนบุคคลใดที่มีรายได้ต่ำกว่า เส้นความยากจน บุคคลนั้นถือว่าเป็นคนจน (สำนักสถิติพยากรณ์ สำนักงานสถิติแห่งชาติ) หากพิจารณาอย่างถ่องแท้แล้ว จะพบว่า ปัญหาความยากจนจะเป็นต้น ตอของความยากลำบาก หรือ การขาดโอกาสของประชาชนกลุ่มนี้ สาเหตุความยากจนมาจากหลายสาเหตุ เช่น ไม่มีที่ดินทำกิน ขาดแคลนทรัพย์สิน สภาพความเป็น อยู่แร้นแค้นการศึกษาต่ำ ขาดความรู้ประกอบอาชีพ 
2.บุคคลเร่ร่อน ไร้ที่อยู่อาศัย หมายถึง บุคคลที่ไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง กินอยู่หลับนอนในที่สาธารณะ มักแต่งกายสกปรก เนื้อตัวมอมแมม คนเร่ร่อน ส่วนใหญ่เป็นคนที่มีการศึกษาต่ำ อยู่ในระดับประถมศึกษา ขาดบริการขั้นพื้นฐานและขาดโอกาสในการได้รับการพัฒนาตนเองในทุกๆ ด้าน ซึ่งส่งผลกระทบต่อสังคมและคนข้างเคียง การมีการศึกษาต่ำทำให้ไม่สามารถหางานที่ดีมีรายได้เพียงพอแก่การดำรงชีพได้ ขาดทักษะฝีมือแรงงาน ทำให้คนเร่ร่อนส่วนใหญ่มีอาชีพเป็นเพียงช่างก่อสร้าง หรือกรรมกร ขาดอำนาจในการต่อรอง ถูก กดขี่ค่าจ้างแรงงาน ทำให้ขาดคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่มีที่อยู่อาศัยทำให้เกิดการบุกรุกที่ดินเพื่อสร้างเป็นที่อยู่อาศัย เกิดแหล่งเสื่อมโทรม เกิดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ขาดวินัยในการอยู่ร่วมกันในชุมชน นอกจากนี้ ยังพบว่ามักจะประสบปัญหาความเดือดร้อน ไม่มีที่อยู่อาศัย ต้องอาศัยหลับนอนในที่สาธารณะ และขาดผู้อุปการะเลี้ยงดู มีความบกพร่องทางความสามารถ เนื่องจากสภาพร่างกายไม่แข็งแรง หรือปัญหาพฤติกรรมต่าง ๆ เช่น ติดสุรา ยาเสพติด ประพฤติเสเพล จนไม่สามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองได้ หรือไม่มีรายได้ ก่อความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้สัญจรไปมา และเป็นอันตรายต่อสวัสดิภาพของตนเอง จากอุบัติเหตุยานยนต์ และความอดอยาก และโรคภัยไข้เจ็บ
3.บุคคลที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียนราษฎร หมายถึง คนไร้สัญชาติ และคนไทยที่ไม่มีเอกสารแสดงตนคนไร้สัญชาติ ผู้ไม่มีเอกสารแสดงสถานะทางกฎหมาย (ชนกลุ่มน้อย ชาวเขา ชาวเล ชาวไทยที่ไม่มีเลขประจำตัวประชาชน) บุคคลไร้สัญชาติ ซึ่งปัญหาของการไร้สัญชาติและเอกสารแสดงสถานะของบุคคลที่ให้เข้าไม่ถึงที่สิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ คือ สิทธิในการศึกษา สิทธิด้านสาธารณสุข สิทธิในการประกอบอาชีพ
-คนไร้สัญชาติ (Nationality less Persons) หมายถึง บุคคลธรรมดาซึ่งไม่ได้รับการยอมรับว่ามีสัญชาติของรัฐใดเลยหรือ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ไม่มีกฎหมายของรัฐใดที่ยอมรับให้สัญชาติแก่บุคคลดังกล่าว คนไร้สัญชาติมี 2 ประเภท คือ คนไร้สัญชาติซึ่งมีสิทธิอาศัยในประเทศไทย และคนไร้สัญชาติซึ่งไม่มีสิทธิอาศัยในประเทศไทย 
-ผู้ที่ไม่มีเอกสารแสดงสถานะทางกฎหมาย หมายถึง ผู้ที่ไม่มีเอกสารหลักฐานทางทะเบียนราษฎรที่แสดงถึงชื่อ นามสกุล สัญชาติ วัน เดือน ปีเกิด และถิ่นที่อยู่ที่ทางราชการออกให้ ในจำนวนนี้มีจำนวนไม่น้อยที่ไม่มีเอกสารแสดงสถานะทางกฎหมายทั้งที่เป็นคนไทย ซึ่งอาจมีสาเหตุจากการที่ไม่เคยมีการแจ้งการเกิด เอกสารสูญหาย หรือสาเหตุอื่นๆ ยังไม่เคยมีหน่วยงานใดสำรวจข้อมูลที่ชัดเจน แต่คาดว่าจะมีอยู่เป็นจำนวนมาก โดยที่บุคคลกลุ่มนี้จะไม่ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานจากรัฐในฐานะคนไทยเท่าเทียมกับบุคคลอื่น เนื่องจากการรับบริการหรือการใช้สิทธิต่างๆ จะต้องมีหลักฐานแสดงตนเป็นส่วนใหญ่
ชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ซึ่งเป็นชนเผ่าต่าง ๆ ซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศไทย บางส่วนไร้สัญชาติ และไม่มีเอกสารแสดงสถานะทางกฎหมาย จากการสำรวจจำนวนชนกลุ่มน้อยในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ ของกรมการปกครอง เมื่อปี 2545-2546 พบว่ามีชนกลุ่มน้อย 19 กลุ่ม รวมทั้งสิ้น 514,424 ราย อย่างไรก็ดี คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้สัญชาติไทยแก่ชนกลุ่มน้อยดังกล่าวแล้ว 256,027 ราย และกำลังดำเนินการอีก 258,397 ราย
4.กลุ่มผู้ติดเชื้อเอดส์/ผู้ป่วย/ครอบครัว และผู้ได้รับผลกระทบ
เอดส์เป็นปัญหาสุขภาพและเป็นโรคทางสังคมที่มีความซับซ้อน และมีความเชื่อมโยงส่งผลกระทบต่อสังคม เศรษฐกิจและการเมือง พฤติกรรมทางสังคม วัฒนธรรมและเศรษฐกิจ เป็นตัวกำหนด การแพร่ระบาดของเอดส์ ความยากจน ความเป็นอยู่ที่ไม่เท่าเทียมกัน แรงงานอพยพ และธุรกิจทางเพศ เป็นสาเหตุและ เป็นผลกระทบซึ่งกันและกันของเอดส์
-ผู้ติดเชื้อ เอช ไอ วี หมายถึง บุคคลที่มีกลุ่มอาการของโรคที่เกิดขึ้นจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเสื่อมหรือบกพร่อง ที่เกิดขึ้นมาภายหลัง ซึ่งไม่ได้เป็นมาแต่กำเนิด โดยมีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ชื่อ ฮิวแมน อิมมูน เดฟฟี่เชียนซี่ไวรัส (Human Immune Deficiency Virus) ได้เข้าสู่ร่างกายไปทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ทำหน้าที่ป้องกันร่างกายจากเชื้อโรค จึงไม่สามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติ
-ผู้ป่วยเอดส์ หมายถึง ผู้ที่ได้รับเชื้อเอดส์แล้ว และเมื่อร่างกายอ่อนแอ ระบบภูมิคุ้มกันเสื่อมหรือไม่มีภูมิคุ้มกันของร่างกาย เกิดการติดเชื้อโรคอื่น ๆ ได้ง่าย ทำให้เจ็บป่วยด้วยโรคฉวยโอกาสต่าง ๆ เช่น วัณโรค ปอดบวม เชื้อรา มะเร็งบางชนิด เป็นต้น ทำให้รักษาไม่หาย ในที่สุดจะตายด้วยโรค ติดเชื้อชนิดนั้น ๆ
ครอบครัวและผู้ได้รับผลกระทบ หมายถึง ครอบครัว บิดามารดา บุตร ญาติพี่น้องของผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากผู้ติดเชื้อหรือ ผู้ป่วยเอดส์
อย่างไรก็ดี ยังพบว่าเด็กอายุ 0-14 ปี ที่ติดเชื้อและป่วยด้วยโรคเอดส์สะสมจากปี 2527 – มีนาคม 2547 มีจำนวนถึง 10,328 คน และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้น และจากรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อของจังหวัดเชียงใหม่ ปี 2547 พบว่าผู้ที่ติดเชื้อ เป็นกลุ่มที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ดังนั้นจากการคาดประมาณของคณะผู้เชี่ยวชาญ คาดว่าในปี พ.ศ. 2549 จะมีจำนวนผู้ติดเชื้อเอช ไอ วี สะสมประมาณ 1,109,000 ราย จะมีผู้สูงอายุที่ติดเชื้อ จำนวนประมาณ 55,450 คน ประมาณร้อยละ 5 ของผู้ติดเชื้อทั้งหมด
ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเอดส์
นอกจากผู้ป่วยเอดส์และผู้ติดเชื้อที่ตกอยู่ในฐานะผู้ด้อยโอกาสแล้ว ยังมีผู้ที่ได้รับผลกระทบอีกกลุ่มหนึ่ง ที่ตกอยู่ในภาวะยากลำบากในการดำรงชีวิต คือ กลุ่มเด็กที่กำพร้า เพราะพ่อแม่ เสียชีวิตจากโรคเอดส์ ซึ่งในปี พ.ศ. 2548 จะมีจำนวนประมาณ 300,000 คน (ตัว เลขคาดประมาณโดย Grally และ Times, 2002) และกลุ่มผู้สูงอายุที่ลูกหลานเสียชีวิตด้วยโรคเอดส์
โรคเอดส์มีผลกระทบต่อผู้สูงอายุใน 3 ลักษณะที่สำคัญ คือ 1) เป็นผู้ดูแลผู้ติดเชื้อ 2) เป็นผู้ดูแลเด็กที่พ่อแม่เสียชีวิตด้วยโรคเอดส์ และ 3) ผู้สูงอายุที่เคยมีลูกหลานช่วยเหลือดูแล ต้องขาดคนดูแลช่วยเหลือจากการลูกเสียชีวิตจากโรคเอดส์ ปัจจุบันผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะได้รับผลกระทบจากเอดส์ในลักษณะที่ 2 และ 3
5.ผู้พ้นโทษ หมายถึง ผู้ที่ได้รับการปลดปล่อยจากเรือนจำหรือทัณฑสถาน โดยการพักลงโทษ ลดวันต้องโทษจำคุก อภัยโทษ และได้รับการปลดปล่อย เมื่อจำคุกครบกำหนดตามคำพิพากษาของศาล
ผู้พ้นโทษ หมายถึง ผู้ที่ได้รับการปลดปล่อยจากเรือนจำหรือทัณฑ์สถานในกรณีที่ได้รับการพักการลงโทษ ลดวันต้องโทษจำคุก อภัยโทษ และได้รับการปลดปล่อยเมื่อจำคุกครบกำหนด ตามคำพิพากษาของศาล (ความหมายของกรมราชทัณฑ์)
- ผู้พ้นโทษ ในแต่ละปีมีผู้กระทำผิดที่พ้นโทษออกมาจากเรือนจำเป็นจำนวนไม่น้อย ทั้งที่เป็นผู้พ้นโทษเด็ดขาด และผู้ที่ได้รับการปล่อยตัวระหว่างการอุทธรณ์ ฎีกา การพิจารณา ไต่สวน สอบสวน
-กลุ่มผู้ประสบความทุกข์ในกระบวนการยุติธรรม เป็นจำนวนมากที่ขาดโอกาสที่จะได้รับสวัสดิการอย่างเหมาะสม เพราะพวกเขาถูกจัดลำดับชั้นในฐานะคนที่กระทำผิด มีโทษทางสังคมพันธนาการอยู่ ดังนั้นความเข้าใจในสังคมของคนทั่วไปจึงมองข้ามและเมินเฉย ไม่ให้ความสนใจที่จะเอื้ออาทรดูแลคนกลุ่มนี้สักเท่าใด ประกอบกับระบบสวัสดิการสังคมที่มีต่อผู้กระทำความผิดก็เป็นระบบที่ขาดการเหลียวแลอย่างจริงจังมาก่อน ผู้ต้องขังในห้องขังบนสถานีตำรวจ ในเรือนจำ และเด็ก เยาวชนในสถานพินิจฯ ต่างก็เผชิญกับความขาดแคลน ไม่พอเพียง ไร้คุณภาพในบริการต่างๆขั้นพื้นฐานทั้งสิ้น ทั้งสภาพความแออัดคับแคบทางกายภาพ ความขาดแคลนทางวัตถุ การขาดไร้พื้นที่ส่วนตนที่เหมาะสม อันเป็นความจำเป็นพื้นฐานประการหนึ่งของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ต้องขังหญิงที่ตั้งครรภ์และคลอดในเรือนจำ ก็ได้รับการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสม ไม่มีการแยกเด็กเล็กออกจากห้องขังรวม การจัดระบบการดูแลแม่และเด็กในทัณฑสถานไม่ได้คำนึงถึงความจำเป็นพื้นฐาน ความเหมาะสมทางด้านสิทธิมนุษยชนและสิทธิเด็ก ทำให้เด็กเล็กได้รับการเลี้ยงดูอย่างไม่เหมาะสมในทัณฑสถานที่ยังมีบริการไม่เพียงพอ ไม่ทั่วถึงและไม่เหมาะสม
        เด็กด้อยโอกาส   หมายถึง เด็กที่อยู่ในสภาวะยากลำบาก เนื่องจากประสบปัญหาต่าง ๆ มีชีวิตความเป็นอยู่ด้อยกว่าเด็กปกติทั่วไป  ขาดโอกาสหรือไม่มีโอกาสที่จะเข้ารับบริการทางการศึกษาหรือได้รับพัฒนาทั้งทางร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ สังคม และจิตใจ จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษเพื่อให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีพัฒนาการที่ถูกต้องเหมาะสมกับวัยและสามารถบรรลุถึงศักยภาพขั้นสูงสุดได้
 เด็กด้อยโอกาสแบ่งออกเป็น 10 ประเภท   คือ
1.เด็กยากจน(มากเป็นพิเศษ) หมายถึง เด็กซึ่งเป็นบุตรหลานของคนยากจนที่มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ(ครอบครัวมีรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 20,000 บาทต่อปี) ครอบครัวอยู่รวมกันหลายคน ขาดแคลนปัจจัยพื้นฐาน มีชีวิตอยู่อย่างยากลำบากรวมถึงเด็กในแหล่งชุมชนแออัดหรือบุตรของกรรมกรก่อสร้างหรือเด็กจากครอบครัวที่อยู่ในถิ่นทุรกันดารห่างไกลที่ขาดโอกาสที่จะได้รับการศึกษาและบริการอื่น ๆ
2.เด็กที่มีปัญหาเกี่ยวกับยาเสพย์ติด หมายถึง เด็กที่ติดสารระเหยหรือยาเสพย์ติดให้โทษหรือเด็กกลุ่มเสี่ยงต่อการถูกชักนำให้ประพฤติตนไม่เหมาะสมเกี่ยวข้องผูกพันอยู่กับกลุ่มมิจฉาชีพผู้มีอิทธิพล หรือบุคคลที่แสวงหาผลประโยชน์จากการประกอบอาชีพผิดกฎหมายเป็นเด็กด้อยโอกาสที่มีแนวโน้มสูงต่อการก่อปัญหาในสังคม
3.เด็กที่ถูกทอดทิ้ง  หมายถึง เด็กที่มารดาคลอดทิ้งไว้ในโรงพยาบาล หรือตามสถานที่ต่าง ๆ รวมไปถึงเด็กที่พ่อแม่ปล่อยทิ้งไว้ให้มีชีวิตอยู่ลำพัง หรือกับบุคคลอื่น โดยไม่ได้รับการเลี้ยงดูจากพ่อแม่ ทั้งนี้ อาจมีสาเหตุมาจากปัญหาการหย่าร้าง หรือครอบครัวแตกแยก มีสภาพชีวิตอยู่ท่ามกลางความสับสนขาดความรักความอบอุ่น ตลอดถึงเด็กที่ขาดผู้อุปการะเลี้ยงดูอันเนื่องมาจากสาเหตุอื่น
4.เด็กที่ถูกทำร้ายทารุณ หมายถึง เด็กที่ถูกล่วงละเมิดทางร่างกาย ทางเพศ หรือทางจิตใจ มีชีวิตอยู่อย่างไม่เป็นสุข ระแวง หวาดกลัว เนื่องจากถูกทำร้ายทารุณ ถูกบีบคั้นกดดันจากพ่อแม่ หรือผู้ปกครองซึ่งมีสภาพจิตใจหรืออารมณ์ไม่เป็นปกติ หรือถูกล่วงละเมิดทางเพศในลักษณะต่าง จากบุคคลที่อยู่ใกล้ตัว
5.เด็กที่ได้รับผลกระทบจากโรคเอดส์หรือโรคติดต่อร้ายแรงที่สังคมรังเกียจ หมายถึง เด็กที่ติดเชื้อเอดส์ หรือมีพ่อแม่เจ็บป่วยด้วยโรคเอดส์ เป็นเด็กที่มักจะถูกมองอย่างรังเกียจจนไม่สามารถเข้ารับการศึกษา หรือบริการอื่น ๆ ร่วมกับเด็กปกติทั่วไปได้
6.เด็กในชนกลุ่มน้อย หมายถึง เด็กที่เป็นบุตรหลานของบุคคลที่มีวัฒนธรรมแตกต่างไปจากประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ มีปัญหาเกี่ยวกับการถือสัญชาติไทย จนเป็นสาเหตุให้ไม่มีโอกาสได้รับการศึกษาหรือบริการอื่น ๆ ส่วนใหญ่อพยพเข้ามาตั้งหลักแหล่งอยู่ตามบริเวณแนวส่วนชายแดนของประเทศไทย
7.เด็กเร่ร่อน หมายถึง เด็กที่ไม่มีที่อยู่อาศัยพักพิงเป็นหลักแหล่งแน่นอน ดำรงชีวิตอยู่อย่างไร้ทิศทางขาดปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต เสี่ยงต่อการประสบอันตรายและปัญหาสังคม
8.เด็กถูกบังคับให้ขายแรงงาน หรือแรงงานเด็ก หมายถึง เด็กที่ต้องทำงานหรือถูกบังคับให้ใช้แรงงานหรือหารายได้ด้วยการขายแรงงานก่อนถึงวัยอันสมควร ถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้างจนไม่มีโอกาสได้รับการพัฒนาให้เป็นไปตามหลักพัฒนาการอันเหมาะสมกับวัย
9.เด็กที่อยู่ในธุรกิจทางเพศหรือโสเภณีเด็ก หมายถึง เด็กที่มีความสมัครใจหรือถูกบังคับล่อลวงให้ขายบริการทางเพศ หรือถูกชักจูงให้ต้องตกอยู่ในสภาพเสี่ยงต่อการประกอบอาชีพขายบริการทางเพศ
10.เด็กในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน หมายถึง เด็กที่กระทำผิดและถูกควบคุมอยู่ในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนตามกฎหมายตลอดถึงเด็กหญิงที่ตั้งครรภ์นอกสมรส ซึ่งมีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ เช่น การทำแท้ง  การฆ่าตัวตาย การทอดทิ้งทารก
          ซึ่งจากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่า เด็กซึ่งขาดโอกาสไม่ได้รับสิทธิเสรีภาพ ความคุ้มครองตามที่พึงจะได้รับถูกแบ่งออกเป็นหลายกลุ่ม บางกลุ่มปัญหาเกิดจากความยากจน สภาพสังคม ความเป็นอยู่ของครอบครัว เด็กจำนวนไม่น้อยที่ถูกล่วงละเมิดสิทธิโดยคนในสังคมซึ่งเป็นผู้ใหญ่ หรือแม้กระทั่งคนในครอบครัวเองและ อีกกลุ่มที่เป็นประเด็นน่าสนใจต้องพิจารณาคือ เด็กในชนกลุ่มน้อย เด็กเหล่านี้เกิดจากพ่อแม่ซึ่งเป็นคนไร้รัฐไร้สัญชาติ หรือแรงงานต่างด้าวซึ่งอพยพเข้ามาในเมืองซึ่งอาจเป็นการลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย เมื่อไม่มีสัญชาติไทย เด็กเหล่านี้ก็จะไม่ได้รับความคุ้มครองในฐานะที่เป็นพลเมืองของประเทศไทย ไม่มีโอกาสเข้าถึงทั้งทางการศึกษา การแพทย์ การบริการของหน่วยงานรัฐ และความคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานจากภาครัฐ  ปัญหานี้จึงเป็นปัญหาที่รัฐบาลและหน่วยงานองค์กรต่างๆทั้งในและต่างประเทศต้องเร่งแก้ไข โดยแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่างๆเหล่านี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย การปฏิรูปแก้ไขกฎหมายว่าด้วยสิทธิเด็กของไทยให้สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนตามกฎหมายรัฐธรรมนูญและอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กก็เป็นแนวทางสำคัญที่จะช่วยให้การแก้ไขปัญหาเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น  แต่อย่างไรก็ดีความตระหนักในความสำคัญของเด็กของคนในสังคมก็สิ่งที่จำเป็นอย่างมาก คนในสังคมจะต้องเข้าใจในสิทธิเสรีภาพที่เด็กควรจะได้รับ และไม่เข้าไปล่วงละเมิดสิทธิของเด็ก รวมถึงส่งเสริมให้เด็กมีคุณภาพชีวิตที่ดีเพื่อที่จะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่ดีของสังคมในอนาคตและในทำนองเดียวกัน "การกระจายรายได้" ถ้าปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด ผลคือคนที่ด้อยโอกาส คนที่อ่อนแอ อาจตกอยู่ในวงจรของคนที่อ่อนแอ หรือวงจรของคนที่ด้อยโอกาส เช่น คนยากจน หรือแรงงานที่ยากจน ได้รับการศึกษาน้อย ค่าแรงน้อย ยามเจ็บไข้ก็ไม่มีเงินรักษา หรือมีเงินรักษา หมดเงินไปก็จนพอดี เพราะคนที่เข้าไปเป็นผู้เล่นในตลาดมีทั้งคนแข็งแรง คนที่อ่อนแอนอกจากเขาจะอยู่ในวงจรคนด้อยโอกาสหรือวงจรความยากจนแล้ว คนยากจน โดยเฉพาะเกษตรกรที่ยากจน ยังมีความเสี่ยงจากสภาพดินฟ้าอากาศ และราคาสินค้าที่เขาขายก็ขึ้นอยู่กับตลาดโลก ทำให้คนกลุ่มนี้มีความเสี่ยงหลายเรื่อง ถ้าเราปล่อยให้กลไกตลาดทำงาน ให้เขารับความเสี่ยงเหล่านี้ทั้งหมดทั้งที่เขาเป็นคนด้อยโอกาสอยู่แล้ว สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับคนกลุ่มนี้คือวงจรอุบาทว์นโยบายรัฐที่มุ่งเน้นการเติบโตและการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยไม่ได้มุ่ง เน้นการกระจายรายได้มากนัก เนื่องจากรัฐมุ่งหวังว่าผลของการเติบโตจะไหลรินลงไปสู่เบื้องล่าง ที่เรียกว่า trickle down effect เลยทำให้รัฐบาลไทย ไม่ได้มีนโยบายชัดเจนอะไรในเรื่องการปฏิรูปที่ดิน การเก็บภาษีทรัพย์สิน การเก็บภาษีมรดก และการดูแลคนยากจน นโยบายพัฒนา เศรษฐกิจของรัฐในช่วง 50 ปี ที่ผ่านมาจึง ถือเป็นความเอียงของนโยบาย นอกจากเอียงในเรื่องนี้แล้วยังเอียงไปพัฒนาอุตสาหกรรม มุ่งเน้นการพัฒนาเมือง แทนที่จะมุ่งเน้นไปพัฒนาชนบทและนอกจากนโยบาย ของรัฐจะไม่สนใจเรื่องความยากจน และการกระจายรายได้แล้ว "นโยบายของรัฐยังมุ่งเน้นส่งเสริมกลุ่มทุน" เช่น นโยบายการส่งเสริมการลงทุน ที่มีนโยบาย tax holiday คือการเว้นชำระภาษีให้กับนักลงทุนในช่วง 3-5 ปีแรกของการลงทุน ขณะที่ชาวไร่ ชาวนา รัฐบาลอาจอ้างว่ามีมาตรการประกันราคาพืชผล แต่คนที่ได้ประโยชน์คือพ่อค้ากับเกษตรกรรายใหญ่ ส่วน รายย่อยไม่ได้ก็ต้องไปกู้ยืมเงิน สุดท้ายก็ตกอยู่ในวงจรความยากจนเราจึงต้องเริ่มจากการมองปัญหาหลัก ๆ ที่ต้องดูมี 2 ปัญหา คือ ปัญหาความยากจนสัมบูรณ์ (absolute poverty) คือคนไม่มีรายได้แม้แต่จะประทังชีวิต หรือมีรายได้ไม่เพียงพอที่จะประทังชีวิต กับปัญหาความเหลื่อมล้ำ (inequality) ของรายได้ โดยก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่าไม่มีทางที่ปัญหา ความเหลื่อมล้ำจะหมดไป และต้องยอมรับว่าคนอาจไม่เท่าเทียมกันบ้าง ด้วยมีหน้าที่ต่างกัน ความรับผิดชอบต่างกัน ความสามารถต่างกัน เพราะฉะนั้นเป็นไปไม่ได้ที่ทุกคนจะเท่ากันหมด แต่เราสามารถจัดการ ไม่ให้มีความเหลื่อมล้ำมากจนเกินไปได้ เพราะฉะนั้นทุกรัฐบาลของ ประเทศที่พัฒนาแล้ว จึง หามาตรการลดความเหลื่อมล้ำของรายได้ โดยการเก็บภาษีจากคนที่มีมากและเอารายได้ของรัฐส่วนนี้ไปใช้จ่ายให้คนที่มี น้อย ดังนั้นถ้าไม่ต้องการให้มีความเหลื่อมล้ำมากเกินไป สังคมต้องยอมให้รัฐเก็บภาษีมากยิ่งขึ้น รัฐบาลจะได้มีงบประมาณ รายจ่ายมากขึ้น แต่ต้องใช้เวลาเพราะ"การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำจะทำทันที ทันใดในระยะสั้นคงยาก ต้องใช้เวลาค่อย ๆ ทำ แต่ในระยะสำคัญเร่งด่วนควรมุ่งไปที่การแก้ปัญหาความยากจน ซึ่งเป็นทางออกที่ประเทศ อื่น ๆ เขาทำกันง่ายนิดเดียวคือ ปิดช่องว่างของความยากจน" ซึ่งขณะ นี้เราอยู่ในวิสัยที่ปิดความยากจนได้ เพียงแต่เราจะทำอย่างไรไม่ให้มีผลเสียต่อวินัยเรื่องการทำงาน ดังนั้นต้องออกแบบการช่วยเหลือที่จะลดความเสี่ยงการใช้ชีวิตของเขา" รัฐบาลต้องคิดหารูปแบบให้เขาหลุดออกจากวงจรอุบาทว์ที่เกิดจากกลไกตลาด หรืออย่างน้อยให้เขามีความหวังในอนาคต ว่าอย่างน้อยลูกเขาได้เรียน มีการศึกษาดี มีโอกาสทำงานดี คนเราต้องมีความหวัง และการที่เราจะแก้ปัญหาความยากจน ต้องแบ่งประชากรเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มแรกคือคนที่ช่วยตัวเองไม่ได้ เช่น คนเกษียณที่ช่วยตัวเองไม่ได้ คนแก่ที่ยากจน ไม่มีเงินออม ถูกลูกหลานทอดทิ้ง คนพิการที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้จริง ๆ และเด็กที่อยู่ในครอบครัวที่ยากจน
-กลุ่ม แรกนี้ต้องช่วยอย่างเร่งด่วนที่สุด และควรทุ่มไปที่เขา โดยเฉพาะเด็ก เราต้องดูแลเขาเพราะเขาคืออนาคตของชาติ ต้องช่วยเรื่องอาหาร ยารักษาโรค การศึกษา ทุกอย่างต้องทุ่มให้เขา เพราะเขาจะได้โตเป็นแรงงานที่มีคุณภาพ มีสุขภาพดี มีการศึกษาดี แม้พ่อแม่เขาจะยากจน แต่ตัวเขาจะหลุดออกจากวงจรความยากจนได้
-กลุ่มที่สอง คือผู้ชายหรือผู้หญิงที่ทำงานได้ ควรต้องสนับสนุนให้เขาทำงาน ปัจจุบันเขามีระบบ workfare แทนที่จะเป็น welfare คือต้องทำงานถึงจะได้เงิน ตรงนี้จะให้เอกชนจ้าง เขาก็จ้างเท่าที่ได้กำไร เขาคงไม่จ้างงานเพื่อช่วยเหลือใคร ก็หนีไม่พ้นรัฐบาลต้องทำในเรื่องนี้ แต่การช่วยคนที่ทำงานได้ต้องมีเงื่อนไข เขาเรียกว่าการโอนเงินให้แบบมีเงื่อนไข ซึ่งประเทศเม็กซิโกเขาทำกันและมีตัวอย่างในประเทศอินเดีย เขามีการจ้างงานในชนบท เพื่อช่วยเกษตรกรที่ถูกกระทบในช่วงที่ไม่ใช่ฤดูกาลเพาะปลูกและเก็บเกี่ยว ช่วงนี้จะทำให้รายได้เขาตกต่ำกว่าเส้นความยากจน เมื่อมีการจ้างงานนอกฤดูกาลเก็บเกี่ยวจะช่วยให้เขามีรายได้เข้ามา และอินเดียยังมีมาตรการประกันการจ้างงาน 100 วัน/ปี ทำให้อย่างน้อยเขามีงานปีละประมาณ 5 เดือน และมีรายได้ แต่ต้องมีระบบที่ตรวจสอบได้ว่าเขามีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน ซึ่งยากเหมือนกันที่จะออกแบบระบบตรงนี้ แต่รัฐบาลจำเป็นต้องคิดรูปแบบโครงการจ้างงานในชนบทซึ่งจะเห็นว่าการแก้ปัญหาความยากจน ส่วนใหญ่ใช้มาตรการการคลัง หรือใช้นโยบายการคลังเป็นหลัก แล้วบทบาทนโยบายการเงินจะมีส่วนช่วยได้หรือไม่ โดยมีความเห็นว่า นโยบายการเงิน แม้จะไม่ได้มีเป้าหมายหลักในการกระจายรายได้และแก้ไขปัญหาความยากจน ซึ่งเป็นเหตุผลที่รับได้ แต่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะผู้ดำเนินนโยบายการเงินต้องไม่ลืมว่า นโยบายการเงินผลกระทบต่อการจ้างงาน และการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เนื่องจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจช่วยให้เกิดการจ้างงาน มีผลในการช่วยลดจำนวนคนจน เวลาที่มีปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ คนที่มักว่างงานอันดับแรกคือแรงงานไร้ฝีมือ กับพ่อค้าแผงลอยหาบเร่ เพราะฉะนั้นถ้าเศรษฐกิจไม่ดี คนจนจะถูกกระทบมาก ดังนั้นผู้ดำเนินนโยบายต้องพึงคำนึงไว้เสมอว่า นโยบายการเงิน ส่งผลกระทบต่อคนยากจน โดยเฉพาะกรณีประเทศไทยที่ยังไม่มีระบบสวัสดิการที่ครอบคลุมที่ดีพอเหมือน ประเทศพัฒนาแล้ว เขาก็ต้องยิ่งคำนึงถึงให้มาก และต้อง"ยอมรับว่านโยบาย การเงินไม่ใช่นโยบายที่จะดูแลการกระจายรายได้ และแก้ไขปัญหาความยากจน เพราะเขาต้องเน้นดูแลเสถียรภาพ แต่ควรคำนึงว่านโยบายการเงินส่งผลกระทบต่อการจ้างงานและการขยายตัวเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลกระทบต่อคนจน ดังนั้นต้องคำนึงถึงผลกระทบตรงนี้ด้วย" นี่คือสิ่งที่ ตอกย้ำให้ผู้มีบทบาทหน้าที่ดำเนินนโยบายการเงินพึงระวังไม่ใช่ห่วง แต่เงินเฟ้อเพียงอย่างเดียว
        ดังนั้นสภาพโดยทั่วไปของการทำงานกับกลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางสังคมในปัจจุบันเราก็จะยังคงให้ความสำคัญกับเรื่องมนุษยนิยม เช่น ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเป็นธรรม ความเสมอภาค การไม่เลือกปฏิบัติ ฯลฯ ซึ่งการทำงานในลักษณะดังกล่าวนี้มักจะเป็นไปในลักษณะรูปแบบของการจัดบริการเชิงสงเคราะห์ ซึ่งการให้บริการทางสังคมในลักษณะดังกล่าวนั้นมักประสบกับปัญหาการที่หน่วยงานของภาครัฐไม่สามารถให้บริการได้อย่างครอบคลุม ทั่วถึง และเพียงพอกับกลุ่มผู้ด้อยโอกาสในทุกกลุ่มเป้าหมาย เนื่องจากเงื่อนไขและข้อจำกัดบางประการที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงบริการที่รัฐจัดสรรให้ผู้ด้อยโอกาส เช่น การไม่สามารถเข้าร่วมในระบบประกันสังคมของกลุ่มผู้ด้อยโอกาสในภาคชนบท เนื่องจากเป็นแรงงานนอกระบบและไม่มีรายได้ที่แน่นอน หรือการติดเงื่อนไขในการขอรับการสนับสนุนจากกองทุนต่าง ๆ ที่มักจะมีเงื่อนไขที่เป็นข้อจำกัดของกลุ่มยากจนที่สุดในชุมชน เช่น ต้องมีข้าราชการค้ำประกัน ต้องมีที่ดินเป็นของตัวเอง และ จากเงื่อนไขข้อจำกัดดังกล่าวทำให้ ในอนาคต ภาครัฐควรให้ความสำคัญกับปรัชญาเรื่องความมั่นคงของมนุษย์มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาศักยภาพและการเสริมพลังของกลุ่มคนเหล่านี้ให้สามารถยืนอยู่ได้ด้วยตนเอง ควบคู่ไปกับการเร่งพัฒนาและปรับปรุงเงื่อนไขต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการขอรับบริการทางสังคมและบริการอื่น ๆ ที่ทางภาครัฐเป็นผู้จัด ให้มีความยืดหยุ่นและเอื้อต่อกลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางสังคมเหล่านี้มากขึ้น รวมทั้งการเพิ่มพื้นที่ทางสังคมให้กับภาคประชาสังคมและภาคเอกชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาศักยภาพของกลุ่มคนเหล่านี้ ทั้งทางด้านการศึกษา ด้านจิตใจ สภาพความเป็นอยู่ ด้านอาชีพ ทั้งนี้ โดยมีเป้าหมายปลายทางร่วมกัน คือ การพัฒนาศักยภาพของกลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางสังคมให้สามารถเข้าถึงสิทธิที่พึงมีพึงได้ต่าง ๆ ด้วยตนเอง ซึ่งตัวอย่างแนวทางการพัฒนาศักยภาพของกลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางสังคมโดยภาคเอกชนและภาคประชาสังคมที่ประสบความสำเร็จและเป็นที่รู้จักกันทั่วโลกก็คือ ธนาคารกรามีนหรือธนาคารคนจน ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดย มูฮัมหมัด ยูนุส ผู้ได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ปี พ.ศ. 2549 โดยธนาคารดังกล่าวถือได้ว่าเป็นตัวแบบสำคัญของการนำแนวคิดการประกอบการเพื่อสังคม (social entrepreneurship) มาใช้ในการแก้ไขปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการให้บริการสินเชื่อรายย่อย (micro-credit) กับคนยากจน ซึ่งยึดหลักของความยั่งยืนและยืนอยู่บนหลักคิดของการพัฒนาเชิงวัฒนธรรมที่สอดคล้องกับบริบทท้องถิ่นของประเทศบังกลาเทศ ผลจากการดำเนินงานที่ผ่านมาของธนาคารกรามีนช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนยากจนในประเทศบังกลาเทศที่ได้รับการยอมรับว่ายากจนติดอันดับโลก ให้สามารถมีสถานะชีวิตความเป็นอยู่พ้นเส้นความยากจนเฉลี่ยร้อยละ 2 ต่อปีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 เป็นต้นมา และที่สำคัญมากไปกว่านั้นก็คือ ธนาคารกรามีนยังช่วยพัฒนาทักษะการบริหารจัดการและควบคุมวินัยการใช้เงินให้กับกลุ่มคนยากจนเหล่านี้ ซึ่งนับได้ว่าเป็นความสำเร็จอย่างยิ่งยวดของธนาคารกรามีนในการแก้ไขปัญหาความยากจนที่เกิดขึ้นในประเทศบังกลาเทศ แต่สำหรับในประเทศไทย ตัวอย่างของการนำแนวคิดการประกอบการเพื่อสังคมมาใช้ในการแก้ไขปัญหาของกลุ่มผู้ประสบปัญหา (ด้อยโอกาส) ทางสังคมที่ประสบความสำเร็จ ทั้งในมิติของการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจและมิติของการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ก็คือ โครงการพัฒนาดอยตุง ซึ่งปัจจุบันโครงการดังกล่าวได้สร้างงานและสร้างรายได้ให้กับชุมชนท้องถิ่นอย่างมากมายมหาศาล ดังจะเห็นได้จากผลสำเร็จของการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจในช่วงที่ผ่านมาทำให้โครงการพัฒนาดอยตุงสามารถเลี้ยงตัวเองได้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 เช่นเดียวกับที่ได้ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในท้องถิ่นให้ดีขึ้น ทั้งทางด้านรายได้ การศึกษา การได้รับสัญชาติ การพัฒนาและถ่ายโอนทักษะการประกอบต่าง ๆ ให้กับชุมชนและแม้ว่าการดำเนินกิจกรรมในลักษณะของการประกอบการเพื่อสังคมจะยังคงเป็นเรื่องใหม่สำหรับสังคมไทย แต่จากตัวอย่างขององค์กรต่าง ๆ ที่ได้มีการนำแนวคิดดังกล่าวมาปรับใช้เพื่อแก้ไขปัญหาของกลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางสังคมในช่วงที่ผ่านมา ได้แสดงให้เห็นว่า แนวคิดการดำเนินงานในลักษณะนี้ไม่เพียงแต่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของกลุ่มคนดังกล่าวให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืนเท่านั้น แต่ยังนับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือหรือกลไกสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคมได้อีกด้วย และสิ่งสำคัญที่สุดของการอยู่ร่วมกันของมนุษย์คือการอยู่อย่างเห็นอกเห็นใจและเข้าใจกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้มนุษย์รักกันโดยไม่มีเงื่อนไข ปัญหาการปฏิบัติต่อกันอย่างไม่ถูกต้องคงไม่เกิดขึ้น ผู้ด้อยโอกาสในสังคมจะได้รับการเหลียวแลเพราะมนุษย์เห็นอกเห็นใจและเข้าใจความทุกข์ยากของกันและกัน ไม่ซ้ำเติมเหยียดหยามกันและกัน และเราทุกคนนั้นมีบทบาทสำคัญในการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ด้อยโอกาสในสังคม ซึ่งนับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการอยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจในสังคมปัจจุบัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น