วันอังคารที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2556

อัตลักษณ์ของปรากฏการณ์เด็กแว้น นางสาวทิพาพร ทานะมัย 53241967

บทความเชิงวิชาการ
เรื่อง อัตลักษณ์ของปรากฏการณ์เด็กแว้น


กลุ่มเด็กแว้นมักจะขี่รถจักรยานยนต์ร่อน (หมายถึง การขี่รถจักรยานยนต์อย่างช้าๆ โดยใช้ความเร็วต่ำ เพื่อที่จะได้ดูบรรยากาศไปรอบๆ ดูสาวๆ หรือคุยกับเพื่อน) ดูสาวทุกเย็นและพบปะสังสรรค์กับเพื่อนฝูงในเวลากลางคืน มีการขี่ด้วยลีลาที่น่าตื่นเต้น มีการขับขี่หนีตำรวจในรูปแบบต่างๆ การซิ่งบนความเร็วสูง การขับผ่าสัญญาณไฟแดง รวมไปถึงการขับขี่รถจักรยานยนต์ย้อนศร นอกจากนั้นยังมีการรวมกลุ่มกันบริเวณโค้งถนน มีการดื่มเหล้า ปาขวดเหล้า ใส่ถนนและรถที่วิ่งผ่านไปมา หรือรวมไปถึงการขับขี่รถโดยลากมีดเล่มยาวเพื่อให้เกิดประกายไฟ อีกทั้งตกแต่งและทำเครื่องยนต์รถจักรยานยนต์ให้แรง เพื่อการแข่งขันและเพื่อโอ้อวดความสามารถ จากกิจกรรมดังกล่าว สีหน้าและท่าทางของกลุ่มเด็กแว้นดูมีความสุข อารมณ์ดี และผ่อนคลาย การแข่งขันเป็นการแจ้งเกิดของเด็กแว้นหลายคน (ปนัดดา, 2551: 26
“เด็กแว้น” หมายถึง วัยรุ่นผู้ชายที่ชอบเร่งเครื่องยนต์รถจักรยานยนต์ให้มีเสียงดังแว้นๆ (ราชบัญฑิตยสถาน, 2550: 65) จากความหมายดังกล่าว “การเป็นเด็กแว้น” คือ อัตลักษณ์ที่ผสามผสานอยู่ในกลุ่มวัยรุ่นชาย ที่สังคมตีความว่า เป็นพฤติกรรมค่อนข้างไปในลักษณะของการเบี่ยงเบนทางสังคมหรือไม่เป็นไปตามความคาดหวังของสังคม ปรากฏการณ์เด็กแว้นจึงเป็นภาพลักษณ์ของการดูถูก เหยียดหยามหรือมีนัยที่แฝงไว้ซึ่งความรังเกียจ เป็นที่น่ารำคาญของสังคม และจากบทความหรือการรายงานข่าวต่างๆ ก็ยิ่งตอกย้ำสถานภาพของกลุ่มคนเหล่านี้ว่าเป็นกลุ่มคนไร้มารยาท คนที่เป็นปัญหา คนที่เป็นที่น่ารำคาญต่อสังคม การถูกนิยามด้วยคงามหมายแฝงไว้ซึ่งนัยยะดังกล่าวจึงส่งผลให้เด็กแว้นถูกมองว่าเป็นปัญหาสังคมที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เช่น จัดพื้นที่การตรวจจับ การยึดรถ ซึ่งเป็นมาตรการทางกฎหมายเป็นส่วนใหญ่ โดยละเลยความสัมพันธ์และบริบทเงื่อนไขต่างๆ ที่จะทำให้เข้าใจภูมิหลังของปรากฏการณ์เด็กแว้นอย่างลึกซึ้ง 
ปัจจุบันปรากฏการณ์เด็กแว้น ถือว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ได้รับความสนใจในสังคมไทยอย่างมากในฐานะที่เป็นปัญหาสังคมที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพราะส่งผลให้เกิดความรุนแรงและความเดือดร้อนต่อสังคมส่วนรวม เพราะฉะนั้นการเข้าใจถึงสาตุของปรากฏการณ์จากมุมมองทางสังคมศาสตร์จะทำให้เราสามารถวิเคราะห์และแก้ปัญหาดังกล่าวได้ การเข้าใจถึงสาเหตุนั้นก็จะต้องเข้าใจถึงแก่นแกนของปัญหา เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงของปรากฏการณ์เด็กแว้นได้อย่างลึกซึ้ง เพราปัญหานี้ไม่ใช่ปัญหาที่สามารถอธิบายได้ด้วยความรู้เรื่องกฎหมายอย่างเดียว แต่ต้องวิเคราะห์ถึงโครงสร้างของปัญหาและสิ่งที่บ่มเพาะให้ปัยหานี้ยังคงอยู่
งานเขียนของปนัดดา ชำนาญสุข เรื่อง เร่ง รัก รุนแรง โลกชายขอบของนักบิด (ปนัดดา, 2551: 148) ได้ให้ภาพของการอธิบายปรากฏการณ์ของเด็กแว้นว่าไม่สามารถใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างเดียวในการควบคุมจับกุม ลงโทษทางกฎหมายกับกลุ่มเด็กแว้น และมองปรากฏการณ์ดังกล่าวเพียงแค่ปัญหาอุบัติเหตุจราจรเท่านั้น แต่ปนัดดายังชี้ให้เห็นว่า การอธิบายปรากฏการณ์เด็กแว้น ได้แก่ การที่พวกเขาได้ถูกกีดกันออกจากสังคมและเป็นวิถีชีวิตหนึ่งของเด็กวัยรุ่นที่ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนเชิงโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมที่เคลื่อนตัว ทับซ้อนและปฏิสัมพันธ์ต่อกันอย่างลึกซึ้ง งานของปนัดดาได้ชี้ให้เห็นถึงความเป็นคนชายขอบของเด็กแว้นที่ไม่มีทุนทางสังคมและวัฒนธรรม เช่นเดียวกับเด็กวัยรุ่นในชนชั้นกลางแต่เขาก็ใช้ทุนทางสังคมและวัฒนธรรมที่พวกเขามีอยู่ใช้ในการก่อร่างอัตลักษณ์และแย่งชิงพื้นที่ทางสังคมให้กับกลุ่มตนเอง แต่ขณะเดียวกันพวกเขาก็เข้าไปอยู่กระบวนการของการผลิตซ้ำความรุนแรง ก่อให้เกิดสังคมแห่งความเสี่ยง อันได้แก่ ปัญหาอุบัติเหตุจราจร ความเสี่ยงต่อชีวิตของเขาเองและผู้อื่น ความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพทางเพศ การติดสารเสพติดและอื่นๆ
แม้ว่างานการศึกษาที่ละเอียดของปนัดดา ชำนาญสุข เกี่ยวกับพฤติกรรมการขับขี่จักรยานยนต์ที่เสี่ยงภัยของเด็กแว้น ชี้ให้เห็นว่าอัตลักษณ์ของเด็กแว้นกับลีลาการขับขี่ที่เสี่ยงภัยนั้นแยกไม่ออกจากกัน แต่ถูกสร้างขึ้นมาพร้อมๆ กับการขับขี่ที่เสี่ยงภัย อย่างไรก็ดี ปนัดดายังไม่ได้ชี้ชัดลงไปอย่างที่ สจ๊วต ฮอลล์ (Stuart Hall) (Williams and Chrisman, 1990: 394-395; ณฐพงศ์, 2548) ได้กล่าวชี้อย่างน่าสนใจว่าอัตลักษณ์นั้นไม่ได้มีลักษณะเป็นเอกภาพแต่อัตลักษณ์ก็คือชิ้นส่วนหลายๆ ชิ้น ที่ถูกประกอบรวมขึ้นมาในบริบทต่างๆ นั่นหมายความว่าอัตลักษณ์เป็นผลรวมของวาทกรรมหลากหลายชุดที่อาจขัดแย้งหรือส่งเสริมกัน บทบาทของการสร้างอัตลักษณ์จึงเปรียบเสมือน “ยุทธศาสตร์” และมีขอบเขตที่เลื่อนไหล ยืดหยุ่นเป็นเวทีการต่อรองหยิบยืม ตีความ และต่อสู้ในกระบวนการและพื้นที่ทางสังคม และมีปฏิบัติการอย่างหลากหลาย เพื่อช่วงชิงและสร้างตำแหน่งแห่งที่ของกลุ่มคนในสังคม
งานศึกษาของปนัดดา ชำนาญสุข (2551) ได้ชี้ให้เห็นว่า วัยรุ่นกลุ่มเด็กแว้นยังเชื่อมโยงกับอาชญากรรมอื่นๆ ตั้งแต่การปาหินใส่กระจกรถยนต์ การทำร้ายร่างกาย ไปจนถึงการค้าสิ่งเสพติด อย่างไรก็ตาม จากการใช้ชีวิตร่วมกับวัยรุ่นกลุ่มนี้กว่า 3 ปี ปนัดดาได้ให้ข้อมูลชีวิตของวัยรุ่นเหล่านี้อย่างละเอียด ทำให้ผู้เขียนตระหนักว่าสถานะที่เสมือนไม่มีตัวตนในโรงเรียนและในสังคมได้ผลักดันให้พวกเขาเลือกใช้พื้นที่ ถนนเพื่อสร้างตัวตนและการยอมรับจากกลุ่มเพื่อนฝูง นอกจากนี้ปนัดดายังชี้ให้เห็นถึงชีวิตวัยรุ่นกลุ่มนี้อีกว่าแต่ละคนมีภูมิหลังและบริบทแวดล้อมในการใช้ชีวิตอย่างไร จากประเด็นดังกล่าวทำให้
ผู้เขียนเห็นว่ามีความจำเป็นต้องพิจารณา ปัญหาวัยรุ่นให้ลึกซึ้งมากกว่าการมองเพียงในระดับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น
จากทฤษฎีการละครของกอฟแมน ในการวิเคราะห์เชิงละคร กอฟแมน (Goffman, 1990) เสนอว่ามนุษย์แต่ละคน กำลังแสดงอยู่บนเวทีที่หน้าเวทีมีผู้ชม ซึ่งได้แก่คนอื่นที่มนุษย์กำลังมีปฏิสัมพันธ์ด้วยบนเวทีนั้น ประกอบด้วยหน้าฉากและหลังฉาก หน้าฉาก คือ การนำเสนอตัวตนของมนุษย์ตามที่อยากให้ผู้อื่นเห็นหรือรับรู้ โดยจะเลือกใช้ถ้อยคำที่เหมาะสมกับสถานภาพ มีกิริยาท่าที และการแต่งกายตามบทบาท ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นตัวตนที่มนุษย์ต้องการนำเสนอให้ผู้อื่นเห็น (presented self) อย่างไรก็ตาม มนุษย์แต่ละคนก็มีหลังฉากนั่นก็คือ ความรู้สึกนึกคิดที่ไม่ต้องการเปิดเผยหรือนำเสนอให้ผู้อื่นรับรู้ซึ่งเป็นส่วนที่ความเป็นส่วนตัวที่เรียกว่า “ตัวตน” ที่ซ่อนเอาไว้ (hidden self) เมื่อขึ้นบนเวทีส่วนที่เป็นฉากหลังก็จะไม่นำเสนอต่อผู้ชมแต่ละวัน แต่ละเวลามนุษย์ต่างก็เล่นละครฉากแล้วฉากเล่าเพื่อนำเสนอตนเองให้สังคมได้รับรู้ในการแสดงละครนี้ มนุษย์ต้องมีตัวละครที่ต้องแสดง (character) มีบทบาท (role) และมีตัวตน ตัวละครที่ต้องแสดงคือ ตัวตนของบุคคลที่มุ่งแสดงลักษณะของตนให้ปรากฏตัวตนนี้เป็นทั้งผู้แสดงและผู้ติชมการแสดงของตนเองในมุมมองของทฤษฎีเชิงละคร จะเป็นการมองการนำเสนอตัวตนของมนุษย์ในฐานะเป็นกระบวนการเคลื่อนไหวที่เปลี่ยนแปลงไปมาได้ ไม่มีลักษณะตายตัวมุ่งให้ผู้อื่นประทับใจด้วยการแสดงให้เหมาะสมกับบริบทของสถานการณ์
เมื่อนำเอาทฤษฎีการละครของกอฟแมนมาวิเคราะห์กับปรากฏการณ์เด็กแว้น จะเห็นได้ว่า วิถีชีวิตของพวกเขาที่เมื่อช่วงเวลากลางคืนที่เป็นเวลาที่ผู้คนพักผ่อนกัน แต่จะมีกลุ่มเด็กแว้นออกมาขี่รถจักรยานยนต์ด้วยการแสดงลีลาผาดโผนป่วนเมือง โดยใช้ถนนเป็นสนามประลองความเร็วอย่างไม่เกรงกลัวต่ออันตราย หรือเกรงกลัวต่อเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งความสนุกสนาน ความท้าทายเหล่านี้เป็นเพียงแค่ภาพของฉากหน้าของละครที่เด็กแว้นแสดงบทบาทความเป็นพระเอก ซึ่งหมายถึง ผู้มีบทบาทที่โดดเด่นและมักเป็นผู้ชนะในตอนจบเรื่อง ซึ้งสร้างความประทับใจกับผู้คนที่เป็นผู้ชม ได้แก่ กลุ่มเพื่อนเด็กแว้น สาวสก๊อย ภายหน้าฉากดูเหมือนว่าพวกเขาจะเป็นคนที่สนุกสนานไปกับกิจกรรมป่วนเมือง ชอบความท้าทาย ชอบอันตราย ฉากหน้านี้เป็นสิ่งที่อาจตรงกันข้ามกับฉากหลัง พฤติกรรมการแสดงออกเหล่านี้กลับกลายเป็นแค่ฉากบังหน้ากับเรื่องราวของฉากหลัง ซึ่งได้แก่ ความผิดหวังในเรื่องครอบครัว ในเรื่องการเรียน และปัญหาต่างๆ ในชีวิต อีกทั้งสังคมได้ให้สิทธิ์และการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทั้งในระดับครอบครัว สังคมและประเทศ ดังจะเห็นได้จากวิธีคิดของสังคมที่ว่า “เป็นเด็กก็อยู่ส่วนเด็ก” “เป็นเด็กต้องเดินตามรอยผู้ใหญ่” และ “ผู้ใหญ่อาบน้ำร้อนมาก่อน” ดังนั้นหลังฉากที่มีแต่ความทุกข์และการไร้พื้นที่ทางสังคม ตลอดจนการถูกกดทับ จึงทำให้พวกเขาต้องแสดงออกกลบเกลื่อนความรู้สึกผิดหวังในเรื่องต่างๆ ของชีวิต จะเห็นไดว่าตัวตนที่ซ้อนอยู่หลังฉากของเด็กแว้นนั้น กลับกลายเป็นคนละคนกับสิ่งที่พวกเขาได้แสดงออกมาที่มาบดบังความล้มเหลวในเรื่องการเรียน ความล้มเหลวในเรื่องครอบครัว และความล้มเหลวในการมีที่ยืนทางสังคม จึงทำให้พวกเขาต้องแสดงสิ่งที่ตรงกันข้ามกับที่พวกเขาเป็น
ถ้าเรานำเอาทฤษฎีการละครนี้มาวิเคราะห์เกี่ยวกับประเด็นปัญหาสังคมในเรื่องนี้ จะเห็นได้ว่า แม้ว่าเด็กแว้นจะถูกตั้งข้อกล่าวหาจากผู้ชม (สังคม) และกลายเป็นจะเลยของสังคม แต่แท้จริงแล้ว เด็กแว้นก็คือผลผลิตของปฏิสัมพันธ์แบบละครระหว่าง “ผู้แสดง” ซึ่งคือวัยรุ่นชาย กับ “ผู้ชม” ซึ่งได้แก่สังคม ความเป็นเด็กแว้น คือ “ตัวตน” (self) แบบหนึ่งในตัวหลายๆ แบบของวัยรุ่น เมื่อวัยรุ่นชายอยู่ในกลุ่มที่ใช้วิถีชีวิตเดียวกัน ได้แก่ การขับขี่รถจักรยานยนต์ด้วยความเร็วสู้ การแข่งรถในที่สาธารณะ การไม่สวมหมวกนิรภัย ซึ่งพวกเขาจะถูกมองว่าไม่แสดงบทละครตามตัวบทที่สังคมกำหนดให้แต่พวกเขากลับแสดงละครโดยจงใจมีเป้าหมายให้ผู้อื่นเห็นตัวตนอีกลักษณะหนึ่ง ทั้งโดยอาจเพื่อสะท้อนให้เห็นว่าโครงสร้างครอบครัว สภาพแวดล้อมของชุมชนและสังคมมีความบกพร่อง การเอาผิดทางกฎหมายกับเด็กแว้นในฐานนะผู้ขับขี่รถโดยไม่สวมหมวกนิรภัย ผู้ขับขี่โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้อื่น ผู้ที่ดัดแปลงแต่งเครื่องยนต์ของรถจักรยานยนต์และแข่งในที่สาธารณะ จึงเป็นแค่การแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะประเด็นปัญหาสังคมเรื่องนี้เป็นเรื่องที่กว้างใหญ่ เป็นเรื่องของปัญหาความล้มเหลวของระบบสังคมและครอบครัวที่ยังไม่เปิดโอกาสให้เด็กมีส่วนร่วมในระบบสังคมเท่าที่ควร

มิติอำนาจกับการสร้งอัตลักษณ์ของเด็กแว้นภายใต้สังคมโลกาภิวัตน์
อัตลักษณ์ (identity) เป็นความรู้สึกนึกคิดที่บุคคลมีต่อตนเองว่า ฉันคือใครซึ่งจะเกิดขึ้นจากการปฏิสังสรรค์ระหว่างตัวเรากับคนอื่น โดยผ่านการมองตนเองและการที่คนอื่นมองเรา อัตลักษณ์ต้องการความตระหนัก (awareness) ในตัวเราและพื้นฐานของการเลือกบางอย่าง นั่นคือเราจะต้องแสดงตนหรือยอมรับอย่างตั้งใจกับอัตลักษณ์ที่เราเลือก ความสำคัญของการแสดงตนก็คือ การระบุได้ว่าเรามีอัตลักษณ์เหมือนกลุ่มหนึ่งและมีความแตกต่างจากกลุ่มอื่นอย่างไร และ ฉันเป็นใครในสายตาคนอื่น
การที่เราเลือกนิยามความหมายของตนเองและแสดงตนเองต่อบุคคลหรือสังคมว่าเราเป็นใครนั้น เป็นกระบวนการของการเลือกใช้และแสดงออกซึ่งจะทำให้รู้ว่าเราเหมือนหรือแตกต่างจากคนอื่นหรือกลุ่มอื่นอย่างไรโดยผ่านระบบของการใช้สัญลักษณ์ (Symbol) ซึ่งเป็นสิ่งที่ประกอบกันทั้งด้านอารมณ์ความรู้สึกภายในตัวเราและกระบวนการของโลกภายนอกที่เราเกี่ยวพัน เพราะมนุษย์เลือกใช้ความหมายหรือเปลี่ยนแปลงความหมายที่เกี่ยวกับตนเองทั้งในกระบวนการที่เขาสัมพันธ์กับโลกและในส่วนของตัวตนที่มันซ้อนทับกันอยู่ สัญลักษณ์ที่เราเลือกหยิบมาใช้ในการนิยามตนเองทั้งต่อสังคมและต่อตัวเองนั้นเกิดขึ้นได้โดยผ่านระบบการสร้างภาพแทนความจริง (representation) เพราะการแสดงออกซึ่งความสัมพันธ์ต่างๆ จะกระทำโดยผ่านระบบสัญลักษณ์ที่หลายรูปแบบก็เพื่อแสดงความเป็นตัวตนให้กับบุคคลรับรู้ แต่อย่างไรก็ตาม การที่เรามองตัวเราและพยายามเลือกนิยามความหมายเพื่อแสดงความเป็นตัวตนของแต่ละบุคคล กับสิ่งที่คนอื่นมองเห็นในตัวเราว่าอย่างไรนั้นมันอาจไม่สอดคล้องกันเสมอไป
การนำเอาแนวคิดของอีริค อีริคสัน (Erik Erikson) นักจิตวิทยาชาวยุโรปในเรื่อง ความหมายของอัตลักษณ์มาใช้ในกรณีการวิเคราะห์ปรากฏการณ์เด็กแว้น ช่วยให้เราเข้าใจพฤติกรรมต่างๆ รวมทั้งการขับขี่รถจักรยานยนต์ผาดโผนของวัยรุ่นว่าเป็น “กระบวนการสร้างอัตลักษณ์ทางสังคม” แบบหนึ่ง อีริค อีริคสัน (Erikson อ้างใน Wearing, Wearing & Kelly 1994: 626) กล่าวว่า อัตลักษณ์ คือ คุณสมบัติที่เป็นลักษณะเฉพาะของบุคคลหรือสิ่งนั้นที่ทำให้บุคคลนั้นโดดเด่นหรือแตกต่างผู้อื่น การสร้างอัตลักษณ์เป็นกระบวนการหลักที่ปัจเจกและสังคมวัฒนธรรมให้ความหมาย และการดำรงอยู่ต่อเนื่องของปัจเจกบุคคล เพื่อที่จะบอกกล่าวว่านี่คือฉันจริงๆ อย่าไรก็ตาม อีริค อีริคสัน ยังอธิบายความหมายของอัตลักษณ์ในแนวหยุดนิ่งและตายตัวเกินไป และมองไม่เห็นกลไกลของอำนาจเบื้องหลังและแยบยลที่มีส่วนในกระบวนการสร้างอัตลักษณ์ ทั้งนี้โจนาธาน รูเธอร์ฟอร์ด (Rutherford, 1990) ได้กล่าวว่าอัตลักษณ์ในยุคสังคมทันสมัย มีความซับซ้อนเป็นลักษณะลูกผสมที่ประกอบไปด้วยผลพวงของเศษเสี้ยวของประวัติศาสตร์ชุดประสบการณ์ของสังคมและปัจเจก อัตลักษณ์ของกลุ่มเด็กวัยรุ่นนั้นมีความหลากหลาย สร้างให้เกิดความเป็นตัวตน (identification) ประเภทต่างๆ เกิดขึ้นมา
จากมุมมองของรูเธอร์ฟอร์ด (Rutherford, 1990) ทำให้ต้องการเสนอว่า ภายใต้สังคมโลกาภิวิฒน์ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเด็ก กลุ่มวัยรุ่น กลุ่มคนทำงาน กลุ่มผู้สูงอายุ ก็ล้วนแล้วแต่มีกระบวนการสร้างอัตลักษณ์ที่แตกต่างกันออกไป ตัวอย่างเช่น กลุ่มวัยรุ่น ก็จะมีกลุ่มเด็กติดเกมส์ กลุ่มเด็กที่ชื่นชอบดาราเกาหลี กลุ่มเด็กเรียน กลุ่มเด็กเที่ยวกลางคืน กลุ่มเด็กแข่งรถ ซึ่งกลุ่มเด็กวัยรุ่นดังกล่าว อาจมีวิถีชีวิตที่ผูกโยงกับกระบวนการสร้างอัตลักษณ์ที่หลากหลายที่แตกต่างกัน ซึ่งอัตลักษณ์เหล่านนี้ไม่ได้ตายตัวหรอเป็นอัตลักษณ์เฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ได้ถูกผสมกลมกลืนและมีความซับซ้อนที่ซ้อนทับกันอยู่ เช่น กลุ่มเด็กเที่ยวกลางคืน  อาจจะเป็นกลุ่มเด็กแข่งรถด้วย กลุ่มเด็กเรียนอาจจะเป็นกลุ่มที่ชื่นชอบดาราเกาหลีด้วย ซึ่งงานทางสังคมวิทยาและมนุษยวิทยาที่ผ่านมา มักไม่ค่อยพูดถึงอัตลักษณ์ที่หลากหลายภายในคนๆ เดียว
การวิเคราะห์กระบวนการสร้างอัตลักษณ์วัยรุ่นจากมุมมองเชิงวัฒนธรรมศึกษา ช่วยให้เราเข้าใจถึงความละเอียดอ่อนของอำนาจในการนิยามความหมาย ในกระบวนการสร้างอัตลักษณ์ช่วยให้เราทราบถึงกลไกการทำงานของอำนาจในระดับต่างๆ กระบวนการทำงานของอำนาจที่ปะปนอยู่ในชีวิตประจำวันของเราโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัวว่า เราตกอยู่ในโครงครอบของมัน ใช้มัน และถูกมันใช้อยู่ตลอดเวลา จากมุมมองของวัฒนธรรมศึกษาอัตลักษณ์หมายถึง มโนทัศน์ อำนาจ การนิยามความหมาย การสร้างภาพตัวแทนจากมุมมองของยุคหลังทันสมัย อัตลักษณ์หมายถึง การเข้าถึงความจริงที่เป็น “แก่นแกน” ของปัจเจกบุคคล ความเป็นปัจเจกกลายเป็นเรื่องการนิยามความหมาย ซึ่งสามารถเลื่อนไหลเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทกระบวนการสร้างตนและอัตลักษณ์ที่ผสมผสานกับการทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมในบริบทโลกาภิวัฒน์ เวลาและพื้นที่ที่ดูหดแคบ เพราะปฏิบัติการทางเทคโนโลยีต่างๆ (Week, 2003: 123)
การอธิบายมโนทัศน์ของอำนาจกับการสร้างอัตลักษณ์ในการอธิบายกรณีปรากฏการณ์เด็กแว้นช่วงวัยรุ่นนั้น เป็นช่วงที่วัยรุ่นสามารถพาตัวเองเข้าไปอยู่ใต้หลายๆ พื้นที่ ทำให้มีเงื่อนไขการสร้างความเป็นตัวตนและพื้นที่ของตนเอง โดยเฉพาะอัตลักษณ์ทางสังคมวัยรุ่นหลายๆ ด้าน ที่ทำให้วัยรุ่นเป็นตัวของตัวเองที่แยกไปจากพ่อแม่ มีสถานะความเป็นผู้ใหญ่ผ่านพฤติกรรมหลายๆ อย่างที่วัยรุ่นทำ ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกายตามแฟชั่น การแต่งกายตามศิลปินที่ชื่นชอบ พฤติกรรมการขับขี่รถจักรยายนต์ผาดโผน การพนันแข่งรถจักรยายนต์ซิ่ง เพื่อหวังผลชนะเป็นตัวเงิน การแต่งรถจักรยายนต์ให้มีความโดดเด่น ซึ่งพฤติกรรมต่างๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่เด็กแว้นกระทำไปพร้อมๆ กัน เพื่อสร้างอัตลักษณ์ที่ผสมผสาน จะเห็นได้ว่านอกจากพฤติกรรมในการขับขี่รถจักรยายนต์แบบป่วนเมืองแล้ว การแต่งตัวของเด็กแว้นได้แยกพวกเขาออกจากเด็กวัยรุ่นทั่วไป สิ่งที่พวกเขาต้องการจะนำเสนอนั้นได้เผยออกมาในรูปแบบของความทันสมัยโดยการบริโภคสินค้าต่างๆ ที่สื่อให้เห็นความเป็นตัวตนออกมา นี้อาจจะเป็นมิติของ “อำนาจ” ที่มากับการสร้างอัตลักษณ์ของเด็กแว้นและการมีพื้นที่ของตนเองโดยเฉพาะระบบทุนนิยมบริโภค การสร้างหรือนิยามคงวามหมายภาพตัวแทนของอัตลักษณ์ ในขณะที่เป็นคนทันสมัยของเด็กแว้นที่ได้ขี่รถจักรยายนต์รุ่นล่าสุด บริบทของโลกาภิวัฒน์และเทคโนโลยีที่สามารถทำให้เกิดความรวดเร็วของการเดินทางด้วยยานพาหนะคือรถจักรยายนต์ ซึ่งทำให้เกิดความสามารถในการเดินทางไปยังพื้นที่ต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว นั่นคืออัตลักษณ์ของความเป็นตัวของตนเอง ความเป็นผู้ใหญ่และความเป็นคนทันสมัย นี่คืออัตลักษณ์เชิงผสมผสาน
เด็กแว้นมักถูกมองว่าเป็น ตัวปัญหามีพฤติกรรมไม่เหมาะสมและไม่สอดคล้องกับบรรทัดฐานที่สังคมยอมรับ ผู้เขียนเลือกที่จะทำความเข้าใจพฤติกรรมการแสดงออกของพวกเขา แทนที่จะมุ่งตัดสินพวกเขาจากภาพประทับที่สังคมให้ไว้ ผู้เขียนพบว่ามีเงื่อนไขและข้อจำกัดหลายประการที่ทำให้วัยรุ่นเหล่านี้เข้ามามีพฤติกรรมที่แสดงออกเช่นนี้ให้ผู้อื่นได้รับรู้ถึงอัตลักษณะที่หวพเขาแสดงออกมาแม้จะมีการมองว่าความเป็นวัยรุ่นเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้น แต่ผู้เขียนเห็นว่าบริบทต่างๆ ที่พัฒนาขึ้นมาในยุคสมัยใหม่นั้น ได้ส่งผลอย่างมากให้วัยรุ่นมีภาวะการดำรงอยู่ที่แยกออกไปจากเด็กและผู้ใหญ่ ผู้เขียนไม่ได้หมายถึงในเชิงจิตวิทยา เนื่องจากไม่มั่นใจที่จะยอมรับคำอธิบายเกี่ยวกับภาวะจิตใจและความต้องการที่แตกต่างจากวัยอื่นๆ ด้วยเห็นว่าคำอธิบายเช่นนี้มีแนวโน้มจะให้ภาพวัยรุ่นที่ตายตัวและเป็นฐานคิดสนับสนุนมุมมองที่ว่าวัยรุ่นเด็กแว้นเป็นตัวปัญหา แต่ผู้เขียนหมายถึงในเชิงสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง เช่น วัยรุ่นเป็นวัยที่ต้อง (หรือถูกคาดหวังให้) เข้าไปอยู่ในระบบการศึกษา เป็นวัยที่มีเวลาว่างและมีโอกาสใช้เวลาร่วมกับกลุ่มเพื่อนมากเป็นพิเศษ พึ่งพาตนเองในทางเศรษฐกิจได้ไม่เต็มที่ ยังไม่มีสิทธิบางประการตามกฎหมายด้วยข้อจำกัดด้านอายุ เป็นต้น เงื่อนไขเหล่านี้ได้ทำให้วัยรุ่นมีกิจกรรมบางอย่างที่เฉพาะตัวและอาจแตกต่างไปจากวัยคนอื่นๆ สิ่งนี้เป็นจุดตั้งต้นที่ผู้เขียนใช้เพื่อทำความเข้าใจ
การตัดสินพฤติกรรมต่างๆ ของวัยรุ่นที่แสดงออกมาว่าเป็น ชายขอบแม้ในสังคมทั่วไปจะไม่ใช้คำนี้โดยตรง แต่ก็มักจะอยู่ในความหมายของคำนี้ ย่อมต้องมีมาตรฐานบางอย่างที่เป็นที่ยอมรับและบางอย่างที่ไม่ได้รับการยอมรับ สิ่งที่ยอมรับกันว่าเป็นมาตรฐานที่เหมาะสมนั้นเป็นคำตัดสินที่มาจากสายตาของศูนย์กลางในแง่นี้ศูนย์กลางแห่งวัยจึงเท่ากับ ความเป็นผู้ใหญ่อัตลักษณ์ของเด็กแว้นที่มองกันว่าเป็นปัญหาถูกสร้างขึ้นจากคนวัยอื่นมากกว่าตัวพวกเขาเอง

ยิ่งเร็ว ยิ่งแรง ยิ่งแมน : สัญญะและการสร้างอัตลักษณ์ความเป็นชายและความมีชนชั้น
การวิเคาะห์ถึงอัตลักษณ์ที่ผสมผสานผ่านการเป็น “เด็กแว้น” และพฤติกรรมการมีและขับขี่รถจักรยายนต์ผาดโผน ควรต้องมองผ่านแนวคิด “สัญญะ” (sign) ของโรรอง บาร์ตส์ (Roland Barthes) นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส โรรอง บาร์ตส์ พูดถึงสัญญะว่าคือหน่วยสื่อความหมายที่ประกอบด้วยสองส่วนคือ สิ่งที่เราเรียกหรือเขียนสิ่งใดสิ่งหนึ่ง คือ รูปสัญญะ กับสิ่งที่เป็นความหมายที่สื่อออกมาหรือความหมายสัญญะ (signifier) ซึ่งก็คือแนวคิดที่เราเข้าใจจากถ้อยคำนั้น บาร์ตส์ เสนอว่า จากสิ่งที่เรียกหรือเขียนถึงกับสิ่งที่เป็นความหมายที่สื่ออกมามีสิ่งที่เรียกว่า “สัญญะ” เกิดขึ้นในภาษา สัญญะเป็นตัวเชื่อมโยงความคิด (concept) เข้ากับภาพ (image) ดังนั้นสัญญะจึงเป็นการสื่อความหมายทางภาษาในสังคมมนุษย์ได้สร้างสัญญะขึ้นมาเพื่อสื่อความหมายทางวัฒนธรรมวและความแรงได้กลายเป็นสัญญะของความเป็นชายอย่างเต็มตัว การมีสก๊อยหรือเด็กสาวซ้อนท้ายไม่ซ้ำหน้าและการได้มีเพศสัมพันธ์กับเด็กสาวนนั้น สะท้อนถึงความหมายของความเป็นชาย “แนวขนบธรรมเนียม” ของสังคมไทยที่เจ้าชู้และกล้าได้กล้าเสีย การเสริมเสน่ห์ของเด็กแว้นด้วยเสื้อผ้าที่สวมใส่บุคลิกของรถขี่ ลักษณะของรถและเครื่องยนต์ที่พวกเขาแต่ง ซึ่งถ้ายิ่งมีการแต่งตัวรถหรือการดัดแปลงเครื่องยนต์รถ การจัดกิจกรรมของร้านค้ารถจักรยายนต์และการเข้าร่วมเป็นสมาชิก และการได้รับการปฏิบัติจากร้านค้าเสมือนเป็นลูกค้าคนสำคัญ สิ่งเหล่านี้ได้สื่อความหมายของความทันสมัย ความเป็นผู้มีฐานะดีและผู้มีชนชั้นของเด็กแว้น นอกจากนั้นการแสดงการท้าทายกฎหมายและเมื่อรอดพ้นจะทำให้กลุ่มเด็กแว้นคิดว่าตัวเองเป็น “ผู้ชนะ”  ส่วนใครที่ถูกจับได้ถือว่าเป็น “ผู้แพ้” ซึ่งถนนและตรอกซอกซอยกลับกลายเป็นเส้นทางในการหลบหลีกตำรวจ การที่พวกเขาสามารถหลบหนีตำรวจได้โดยไม่ถูกจับนั้นทำให้พวกเขาเป็นผู้ชนะ ไม่ใช่แค่เพียงผู้ชนะตำรวจในฐานะวัยรุ่นป่วนเมืองเท่านั้น แต่ยังเป็นการเอาชนะความเป็นตัวของเขาที่กล้าที่จะเสี่ยงต่ออันตรายและกล้าที่จะไม่ฟังคำหน้าปรามของพ่อแม่ กระบวนการเอาชนะนี้ได้กลายเป็นชัยชนะอันหอมหวานของเด็กแว้นที่สามารถโลดแล่นอยู่กลางถนน ซึ่งการเป็นผู้ชนะนั้นเป็นกระบวนการสร้างความเป็นชายอย่างหนึ่ง เพราะลูกผู้ชายต้องไม่แพ้ ต้องกล้า ต้องบ้าบิ่น และไม่เกรงกลัวต่ออันตรายใดๆ ลีลาการขับขี่รถจักรยายนต์ที่เสี่ยงภัยจึงแยกไม่ออกกับอัตลักษณ์ของเด็กแว้นที่เป็นเรื่องของการแสดงอัตลักษณ์ของความเป็นชายและความมีชนชั้นในระดับปัจเจกบุคคล บุคคลหนึ่งๆ จึงอาจมีอัตลักษณ์หลายๆ อัตลักษณ์อยู่ในตนเอง รวมทั้ง เพศ ชนชั้น ชาติพันธุ์ อาชีพ เป็นต้น ซึ่งบุคคลอาจหยิบอัตลักษณ์อย่างหนึ่งมาใช้ในพื้นที่ในสังคมหรือห่วงเวลาหนึ่ง และหยิบยืมอัตลักษณ์อีกอย่างหนึ่งมาใช้ในพื้นที่และเวลาอื่นๆ การมองอัตลักษณ์ในแนวคิดนี้ จึงทำให้ความหลากหลายและลื่นไหลของอัตลักษณ์ต่างๆ ของบุคคล และทำให้เห็นถึงปัจเจในฐานะผู้กระทำการ โดยผ่านปฏิบัติการของการขับขี่รถจักรยายนต์ผาดโผน และปัจเจกในฐานะซับเจก (Subject) หรือผู้กระทำโดยการที่เด็กแว้นใช้ความเป็นชายแนวขนบ คือ ความกล้า ความบ้าบิ่น การเสี่ยงภัย เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างอัตลักษณ์ทางสังคมเพื่อการมีตัวตนที่ยืนอยู่ในสังคม
สิ่งที่น่าสนใจต่อมาคือ เหตุใดเด็กแว้นจึงใช้วิธีการสิ้นคิดและเสี่ยงอันตรายเช่นนี้ในการสร้างการยอมรับ สังคมปัจจุบันเป็นสังคมที่ให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยง บุคคลที่สามารถบริหารความเสี่ยงและป้องกันผลร้ายอันไม่พึงประสงค์ได้ เช่น นักค้าเงินตราที่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าและหลีกเลี่ยงการขาดทุนได้ย่อมได้รับการยอมรับ ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่าวิธีการสร้างการยอมรับ สร้างสถานภาพ และสร้างความภาคภูมิใจของเด็กแว้นไม่ต่างจากวิธีการที่ผู้ใหญ่ที่ดีในสังคมปฏิบัติกัน จะเห็นได้ว่า วัฒนธรรมย่อยการแข่งรถจักรยานยนต์บนถนนสาธารณะมีความหมายต่อเด็กแว้น เพราะสามารถตอบสนองต่อสิ่งที่เด็กแว้นขาดไป คือ สามารถตอบสนองความต้องการยอมรับ ความต้องการสถานภาพ ความต้องการความภาคภูมิใจในตนเอง ความต้องการทางเศรษฐกิจ รวมทั้งความต้องการทางเพศ วัฒนธรรมย่อยดังกล่าวจึงเป็นสิ่งที่น่าดึงดูดใจสาหรับกลุ่มเด็กแว้น
สรุปได้ว่า เมื่อสังคมมักไม่ยอมรับที่จะมีพื้นที่ให้กับเด็กวัยรุ่น และพวกเขาได้ถูกสังคมเบียดขับให้กลายเป็นคนชายขอบ สิ่งที่พวกเขาต้องการนั้น ก็คือ ความยอมรับจากนอกห้องเรียน ทำให้การรวมกลุ่มขับขี่รถจักรยานยนต์ป่วนเมือง การพบปะพูดคุย การแข่งรถรถจักรยานยนต์ชนะ การขับขี่รถจักรยานยนต์หลบหนีตำรวจได้สำเร็จ การได้เด็กสก๊อยมาซ้อนท้ายควงคู่อยู่ท้ายรถจักรยานยนต์ ซึ่งทั้งหมดเป็นสภาวะการณ์ที่เด็กแว้นได้รับการยอมรับจากคนในกลุ่ม จึงทำให้พวกเขารู้สึกถึงอัตลักษณ์ความเป็นชาย ความเป็นคนทันสมัยและมีชนชั้นผ่านการให้ความหมายกับพฤติกรรมต่างๆ ที่เด็กแว้นแสดงและสวมบทบาท
บทวิเคราะห์นี้นำเสนอการอธิบายปรากฏการณ์เด็กแว้น คือ การแสดงตัวตนของเด็กวัยรุ่นชายให้ผู้อื่นเห็นหน้าฉาก โดยการขี่รถจักรยานยนต์ด้วย “การแสดง” ลีลาผาดโผน ป่วนเมือง ใช้ถนนเป็นสนามประลองความเร็วอย่างไม่เกรงกลัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ พร้อมแสดง “ความเป็นพระเอก” ใน “บทบาท” ความเป็นพระเอก ผู้มีบทบาทโดดเด่น บทบาทการเป็นผู้ชนะ ซึ่งอาจตรงข้ามกับฉากหลัง ได้แก่ ความผิดหวังเรื่องครอบครัว เรื่องในโรงเรียน ปัญหาต่างๆ ในชีวิต และการไม่มีที่ยืนในสังคม ปรากฎการณ์เด็กแว้นยังเป็นการสร้างกระบวนการสร้างอัตลักษณ์ที่ผสมผสานระหว่างความเป็นคนทันสมัย ความมีชนชั้น และความเป็นชาย ความเป็นรูปลักษณ์ของรถจักรยานยนต์ ลักษณะการแต่งรถ การปรับแต่งเครื่งยนต์ของรถจักรยานยนต์ ลักษณะการขับขี่ การเร่งเครื่องแรง การมีเด็กสก๊อยซ้อนท้าย และการมีเพศสัมพันธ์กับเด็กสก๊อยล้วนแต่เป็นเรื่องของการสร้างสัญญะ หรือสื่อความหมายของความทันสมัย ความเป็นผู้มีฐานนะดี ผู้มีชนชั้น และความเป็นผู้ชายแนวขนบ
ปรากฏการณ์เด็กแว้นได้เกิดขึ้นภายใต้บริบทของสังคมไทยที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วหลังจากที่วัฒนธรรมบริโภคนิยมเข้ามาในสังคมไทย แม้ว่าทางหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมองว่าลีลาการขับขี่และการแข่งรถรถจักรยานยนต์ของเด็กแว้นเป็นปรากฏการณ์ที่ต้องควบคุมและควรเฝ้าระวังอย่างหนัก เนื่องจากเห็นว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อจำนวนการบาดเจ็บและการตายจากอุบัติเหตุจราจร และผู้คนในสังคมต่างก็แสดงความตระหนักถึงปรากฏการณ์นี้ที่ทุกฝ่ายควรร่วมมือร่วมใจกันหาทางออกเกี่ยวกับปัญหานี้ การมองปัญหาแบบนี้เป็นการมองปัญหาแบบผิวเผินที่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างถึงรากเหง้าได้ แต่ในทางกลับกันพวกเด็กแว้นเหล่านนี้กลับมองว่าลีลาการขับขี่ของพวกเขาได้กลายเป็นวิถีชีวิตประจำวันไปเสียแล้ว นอกจากนั้นยังเป็นสิ่งที่ทำให้พวกเขามีความสุข หลุดพ้นจากพันธนาการแห่งความเป็นชายขอบ เป็นวัฒนธรรมย่อยที่พวกเขาได้เลือกใช้เพื่อเป็นกลยุทธ์ในการสร้าง “พื้นที่ทางสังคม” ของพวกเขาเอง ที่พวกเขาสามารถเข้าไปมีส่วนร่วม มีตัวตน ได้แสดงถึง “อัตลักษณ์” ความเป็นชาย ความทันสมัย การมีชนชั้น และการเสริมสร้างอำนาจให้แก่พวกเขา
การกล่าวหาว่าการบาดเจ็บรุยแรงจากการเกิดอุบัติเหตุจราจรของเด็กแว้น นั้นไม่ใช่เพียงปัญหาของหน่วยงานใดๆ เฉพาะ เช่น สาธารณสุข หรือวิศกรรมจราจร แต่กลับเป็นปัญหาที่เกิดจากระบบสังคมที่ซับซ้อน ที่เกี่ยวโยงกับปัญหาอาชญากรรมอื่นๆ โดยมีเด็กแว้นเป็นผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ เนื่องมาจากการเบียดขับทางสังคมให้พวกเขากลายเป็น “คนชายขอบ” ดังนั้นการที่มองว่าเด็กแว้นเป็นตัวปัญหาและควรจะใช้มาตรการจับกุมอย่างเข้มงวดนั้นจึงเปรียบเสมือนกับการผลิตซ้ำความรุนแรงต่อกลุ่มเด็กแว้นและทำให้ความรุนแรงนี้กลายเป็นวงจรที่ไม่สิ้นสุด และยังคงดำเนินต่อไปเรื่อยๆ สิ่งที่รัฐบาลไทยควรส่งเสริมในแง่นโยบายเพื่อแก้ปัญหาเด็กแว้น ควรต้องมีนโยบายในทุกระดับ ตั้งแต่การเพิ่มการจัดสรรทรัพยากรให้แก่วัยรุ่น ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของวัยรุ่นในทุกระดับ ตั้งแต่ครอบครัว โรงเรียน ชุมชน สังคม และระดับประเทศ ส่งเสริมการร่วมตัดสินใจ ส่งเสริมการร่วมกระทำกิจกรรมต่างๆ และการใช้ทรัพยากรครอบครัว ชุมชน และสังคม ซึ่งเป็นการลดปัญหาความรุยแรงเชิงโครงสร้างของวัยรุ่น

1 ความคิดเห็น:

  1. พิมพ์ผิดหลายจุดอยู่นะครับ แต่ขอบคุณมากครับ ^p^

    ตอบลบ