วันอาทิตย์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2556

ปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ:นายปฏิวัติ ทาฟอง 53242124


ปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ

ป่าไม้จัดเป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญอย่างมากต่อประเทศชาติ  เป็นทรัพยากรที่สร้างขึ้นได้ยากใช้เวลานาน  ในขณะที่การทำลายป่าไม้เป็นไปได้โดยง่ายและรวดเร็ว  หากเปรียบเทียบถึงการมีทรัพยากรป่าไม้ที่สมบูรณ์กับสภาพกับการขาดแคลนป่าไม้  คงจะเปรียบเทียบได้กับประเทศไทยเมื่อ  50  ปีที่แล้วกับปัจจุบัน  กล่าวคือในอดีต  ประเทศไทยมีป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์  ไม้เป็นสินค้าที่ทำรายได้หลักของประเทศอย่างหนึ่ง  ป่าไม้ให้ความชุ่มชื้นอุดมสมบูรณ์เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า  เป็นต้นน้ำลาธาร  ประชาชนแสวงหาปัจจัยในการดำรงชีวิตต่างๆ  ได้จากป่าไม้  แต่สภาพป่าไม้ในปัจจุบันนี้ถูกทำลายเรื่อยมาจนเหลือประมาณร้อยละ 33 ของพื้นที่ที่ดินประเทศไทย เมื่อเทียบกับเนื้อที่ป่าเมื่อ 50 ปีที่ผ่านมาจะมีเนื้อป่าลดลงไปถึงร้อยละ 50 ของที่เคยมีละมีแนวโน้มลดลงไปอีก  การทำลายป่าไม้นั้นก่อให้เกิดการเสียสมดุลย์ตามธรรมชาติและก่อให้เกิดผลเสียหายติดตามมา  เช่น  อุทกภัย  วาตภัย  ฝนแล้ง  ภาวะขาดแคลนวัตถุดิบเพื่อการพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม  เป็นต้น  ปัญหาดังกล่าวได้รับการสนใจตลอดมา  และมีการผลักดันให้ดำเนินการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และป้องกันการบุกรุกทำลายป่าไม้   ปัญหานี้ได้รับการกระตุ้นจากกรณีที่เกิดอุทกภัยน้ำท่วมภาคใต้เมื่อปลายปี  พ.ศ.  2531  ส่งผลให้รัฐบาลสั่งยกเลิกสัมปทานป่าไม้ทั่วประเทศ  และกรมป่าไม้ก็มีนโยบายเข้มงวดมากขึ้นกับผู้บุรุกป่าสงวนแห่งชาติ  ทั้งนี้ด้วยมูลเหตหลายประการ เช่นความอ่อนแอของหน่วยงานที่รับผิดชอบ การชักนำราษฏรมาจับจองที่ดินจากผู้มีอิทธิพล สิ่งที่ผู้เขียนต้องการเขียนบทความนี้ขึ้นเพื่อให้ทราบถึง  ปัญหา  สาเหตุ  และ ผลกระทบของการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ  และเพื่อให้ผู้อ่านเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้น
               
"ป่า" หมายความว่า ที่ดินรวมตลอดถึง ภูเขา ห้วย หนอง คลอง บึง บาง ลำน้ำ ทะเลสาบ เกาะ และที่ชายทะเลที่ยังมิได้มีบุคคลได้มาตาม กฎหมาย
         "ป่าสงวนแห่งชาติ" หมายความว่า ป่าที่ได้กำหนดให้เป็นป่าสงวน แห่งชาติตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507
        ป่าสงวนแห่งชาติ คือป่าที่พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองป่า พ.ศ. ๒๔๘๑ ประกาศว่าเป็นป่าสงวนและป่าคุ้มครอง ส่วนป่าสงวน อีกกรณีหนึ่งเป็นป่าซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ออกกฎกระทรวงให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติ โดยพิจารณาจากความจำเป็นเพื่อการรักษาสภาพป่าไม้ ของป่าหรือทรัพยากรธรรมชาติอื่น และในกฎ กระทรวงดังกล่าวจะต้องมีแผนที่แสดงแนวเขตของป่าสงวนไว้ด้วย อีกทั้งเมื่อประกาศแล้ว ต้องปิดประกาศสำเนากฎกระทรวงไว้ ณ ที่ว่าการอำเภอหรือกิ่งอำเภอ ที่ทำการกำนัน และในหมู่บ้านในเขตที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ประชาชนทราบ
        การประกาศพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาตินั้น มีข้อห้ามว่าต้องไม่เป็น ที่ดินของเอกชนที่มีสิทธิครอบครองอยู่แล้วก่อนที่จะมีการประกาศเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งโดยทั่วไปจะเป็นที่รกร้างว่างเปล่า หรือเป็นที่ที่อยู่ในความครอบครองของรัฐหรือทบวงการเมือง
        เป็นที่น่าสังเกตว่า ในปัจจุบันชาวบ้านบางหมู่บ้านทำกินอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติและมีปัญหาพิพาทว่า ตนเคยอาศัยอยู่ในบริเวณ ดังกล่าวโดยชอบก่อนที่จะประกาศว่าเขตนั้นเป็นเขตป่าสงวน ซึ่งในกรณีนี้ เป็นปัญหาที่จะต้องนำสืบพิสูจน์ว่าเป็นความจริงเช่นไร ซึ่งถ้าเป็นความจริงอาจเป็นเพราะข้อบกพร่องในช่วงการสำรวจ ซึ่งเจ้าหน้าที่ไม่สามารถสำรวจได้ครบทุกพื้นที่ได้ จึงประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติทับที่ของราษฎร ซึ่งทางแก้ก็จะต้องเพิกถอนเขตดังกล่าวออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติ แต่ถ้าไม่เป็นความจริง ราษฎรหมู่บ้านนั้นจะต้องอพยพออกจากพื้นที่ป่าสงวนดังกล่าวเว้นแต่จะเข้าเงื่อนไข ที่จะได้รับสิทธิทำกินตามพระราช-บัญญัตินี้
        แนวคิดในการอนุรักษ์ป่าสงวนแห่งชาติ คือการสงวนและรักษาไว้ซึ่งทรัพยากรป่าไม้ เพื่อประโยชน์ในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่าเป็นป่าสงวนไว้ เพื่อใช้ประโยชน์จากป่าในเชิงเศรษฐกิจ และนำผลประโยชน์จากป่าไม้มาเพื่อการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ และให้มีการใช้ประโยชน์นานที่สุดจนถึงลูกหลาน ดังนั้น กฎหมายจึงมีทั้งการห้ามมิให้บุกรุก หรือหาของป่า หรือเข้าไปก่อสร้างในเขตป่าสงวน แต่ถ้าเป็นพื้นที่ป่าดังกล่าวในเขตที่เรียกว่า ป่าเสื่อมโทรม ทางกรมป่าไม้ก็อาจอนุญาตให้ราษฎรที่ไม่มีที่ดินทำกินเข้าทำกินได้โดยไม่สามารถถือเอากรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองได้ หรืออาจจะให้เอกชน เข้ามาปลูกป่าทดแทนได้เพื่อพัฒนา ฟื้นฟูสภาพป่าไม้ให้ดีขึ้น นอกจากนี้ การศึกษาทางวิชาการอันจะนำไปสู่การพัฒนาทางระบบนิเวศน์ หรือการพัฒนาพันธุ์พืช เจ้าพนักงานป่าไม้มีสิทธิอนุญาตให้บุคคลเข้าไปในป่าเพื่อศึกษาได้
        กรณีที่ถือว่าเป็นการบุกรุก หรือทำลายสภาพป่าสงวนแห่งชาติ มีกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ มาตรา ๑๔-๒๐ มีหลักสำคัญดังนี้
        ๑) กระทำต่อต้นไม้ ดิน หิน กรวด ทราย แร่และน้ำมัน พืช สัตว์ต่างๆ หรือซากสัตว์ ซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนนั้น
        ๒) ทำไม้ ซึ่งรวมถึง การตัด ขุด หรือชักลากไม้ที่มีอยู่ในป่า หรือนำไม้ที่อยู่ในป่าออกมาจากป่าสงวนแห่งชาติ ไม่ว่าไม้นั้นจะเป็นไม้ หวงห้ามตามกฎหมายป่าไม้หรือไม่ก็ตาม เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจาก เจ้าพนักงาน
        ๓) เก็บหาของป่า ได้แก่ การเก็บไม้ฟืน เปลือกไม้ หิน ซากสัตว์ น้ำผึ้ง มูลค้างคาว เป็นต้น เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน
        ๔) เข้าไปยึดถือ ครอบครอง ทำประโยชน์ หรืออาศัยอยู่ แผ้วถาง เผาป่า หรือทำให้เกิดการเสื่อมสภาพของป่า โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
        ๕) กรณีที่ราษฎรอาจได้รับการอนุญาตให้เข้าไปทำกินได้ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ได้แก่ การให้สิทธิทำกิน การอนุญาตให้ปลูกป่า หรือทำสวนป่า ในเขตป่าเสื่อมโทรม หรือการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์เกี่ยวกับการทำเหมืองแร่หลังจากที่สัมปทานตามกฎหมายแร่ เป็นต้น
        ผู้ฝ่าฝืน หลักการข้างต้น ต้องระวางโทษจำคุก ตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี และปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงห้าหมื่นบาท แต่ผู้กระทำจะต้องได้รับโทษจำคุกหนักขึ้น โดยต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนห้าหมื่นบาท ถ้าได้กระทำการบุกรุก มีเนื้อที่เกินยี่สิบห้าไร่ หรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่ไม้สัก ไม้ยาง ไม้ สนเขา หรือไม้หวงห้ามประเภท ข. ตามกฎหมายป่าไม้ หรือกระทำต่อไม้อื่นๆ ซึ่งมีจำนวนต้นหรือท่อน รวมกันเกินยี่สิบต้นหรือท่อน หรือมีปริมาตรไม้เกินสี่ลูกบาศก์เมตร หรือกระทำต่อต้นน้ำลำธาร (พ.ร.บ. ป่าสงวนแห่งชาติ มาตรา ๓๑)
        กรณีที่จะถือว่าเป็นต้นหรือท่อนนั้น ต้องมีขนาดใหญ่พอสมควร ถ้าเป็นเพียงเศษไม้เล็กไม้น้อยที่มีลักษณะเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ไม่ถือว่าเป็น ต้นหรือท่อน (ฎีกาที่ ๓๑๐๓/๒๕๓๒)
        นอกจากนี้ ผู้นั้นจะต้องถูกสั่งให้ออกจากพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ (รวมถึงครอบครัวและบริวารด้วย) ถ้าศาลพิพากษาว่ามีความผิด อีก ทั้งยังถูกริบเครื่องมือ ยานพาหนะ เครื่องจักร เครื่องกล เช่น เลื่อย รถแมคโคร ขวาน มีด เป็นต้น เว้นแต่ทรัพย์สินดังกล่าวจะเป็นของผู้อื่นที่ไม่รู้เห็นเป็นใจ เช่น เป็นรถที่เช่าซื้อมาจากบริษัทที่เป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ และบริษัทดังกล่าวไม่รู้เห็นถึงการที่จะนำรถไปกระทำความผิด บริษัทมีสิทธิขอรถที่ถูกริบไว้คืนได้ ภายใน ๑ ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษา ให้ริบ
               
ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนเกิตจากหลายสาเหตุด้วยกัน เช่น  
1)            การบุกรุกอันเกิดจากราษฏร
ก.      การเพิ่มขึ้นของประชากร  ในระยะ 50  ปีที่ผ่านมา  ประเทศไทยมีจำนวนการเพิ่มขึ้นของประชากรค่อนข้างสูง  สิ่งที่เป้นผลตามาคือ  ความต้องการหาที่ทำกินและที่อยู่อาศัยก้เพิ่มากขึ้นตามไปด้วย  จากจำนวนประชากรที่มีเพิ่มมากขึ้นนี้  เมื่อถึงวัยทำงานแล้วจะมีทางออกอยู่  3  ทางในการทำมาหากิน  คือ  ทำเกษตรกรรม  ทำงานรับจ้าง  ทำงานด้านบริการ  หากไม่สามารถหาทางออกในการเลี้ยงชีพได้ก็เป้นผู้ที่ว่างงานไป  สำหรับประเทศไทยพื้นฐานเดิมประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม  ฉะนั้นทางเลือกแรกของประชากรส่วนใหญ่มักจะเลือกอาชีพเกษตรกรรม  แต่ก็ไม่อาจจะเป็นเกษตรกรได้ทั้งหมด  เพราะจำกัดในเรื่องพื้นที่ทำกินมีจำกัด  ดังนั้น  ประชากรส่วนที่เหลือจากเกษตรจึงโยกย้ายไปทำงานรับจ้างซึ่งส่วนมากอยู่ในภาคอุตสาหกรรมและอีกส่วนหนึ่งก็หันไปทำงานด้านบริการ  สำหรับงานรับจ้างและงานบริการนั้นใช้พื้นที่ในการทำงานน้อย  แต่ภาคเกษตรกรรมมีความจำเป็นในการใช้พื้นที่เพื่อการเพาะปลูกค่อนข้างมาก  ดังนั้น  เมื่อประชากรเพิ่มมากขึ้น  และสว่นหนึ่งก็เลือกประกอบอาชีพเกษตรกร  พื้นที่ต้องการใช้การเพาะปลูกก็ต้อการเพิ่มมากขึ้น  จึงเกิดการแสวงหาที่ทำกินใหม่ในอีดตที่ใดรกร้างว่างเปล่าราษฎรก้สามารถเข้าไปบุกเบิกจับจองใช้เพาะปลูกได้อย่างอิสระ  ปัจจุบันพื้นที่ว่างเปล่าแทบจไม่มีเหลือ  ยกเว้นที่สาธารณะ  เช่น  ป่าสงวนแห่งชาติ  เป็นต้น
ข.      ราษฎรมีระดับการศึกษาต่ำ  หรือมีอัตราคนไม่รู้หนังสือมาก  นับว่าเป็นต้นเหตุของปัญหาใหญ่  ๆ  หลายประการ  เช่น  ก่อให้เกิดปัญหาอัตราการเกิดของประชากรสูง  ปัญหาการขาดระเบียบวินัยและไม่เคารพกฎหมาย  ปัญหาง่ายต่อการถูกปลุกระดม  และปัญหาเรื่องการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ  ในประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่  ป่าไม้จะเป็นของรัฐบาล  รัฐจะเป็นเจ้าของทรัพยากร  อันเป็นสมบัติสว่นรวมของชาติ  แต่จากที่ประชาชนได้รับการศึกษาน้อยในประเทศกำลังพัฒนา ทำให้ประชาชนคิดว่า  เมื่อป่าไม้เป็นของรัฐ  ก็ควรจะส่วนกลางของราษฎรทุกคน    ฉะนั้นทุกคนจึงควรจะได้รับสิทธิในป่าซึ่งเป็นของรัฐนั้น  ดังนั้นเมื่อราษฎร ต้องการที่ดินสำหรับทำการเพาะปลูก  จึงบุกรุกเอาเนื้อที่ป่าไม้เป้นที่ดินทำกินของตน  โดยไม่คำนึงถึงกฎหมายแม้ว่าจะได้รับการตักเตือนแล้วก็ตาม  หรือการศึกษาต่ำ  ทำให้ไม่เข้าใจถึงความหมายจากการทำลายป่าที่เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร  หรือภัยจากความแห้งแล้งเมื่อป่าถูกทำลาย
ค.      ราษฎรส่วนใหญ่มีอาชีพทางการเกษตร  นับว่าการทำกสิกรรมในประเทศด้อยพัฒนา  หรือกำลังพัฒนามีส่วนในการทำลายป่าไม้  ทั้งนี้  เพราะราษฎรยังใช้วิธีการเพาะปลูกแบบดั้งเดิมที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาแต่ครั้งโบราณ  การเพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้นมักจะกระทำโดยการขยายพื้นที่ให้มากขึ้น  การขยายพื้นที่เพราะปลูกมักจะนิยมโดยการบุกร้างถางป่า  เพราะราษฎรถือว่าป่าเป็นของสาธารณะและเป็นพื้นที่เพาะปลูกที่มีสภาพดินอุดมสมบูรณ์เหมาะกับการทำการเกษตร  ป่าที่ถูกบุกร้างถางใหม่  ๆ  พื้นดินยังไม่มีการปรับให้ราบเรียบจึงยังทำนาได้ไม่ดี  ราษฎรมักจะเลือกปลูกพืชไร่  และพืชไร่ที่นิยมปลูกคือ  มันสำปะหลังซึ่งเป็นพืชที่ต้องการแร่ธาตุในดินมาก  จึงทำให้ดินเสื่อมความอุดมสมบูรณ์ลงอย่างรวดเร็วกว่าปกติ
2)            การบุกรุกเนื่องจากผู้มีอิทธิพล 
ก.      การหาผลประโยชน์ผลประโยชน์ของผู้มีอิทธิพลต้องอาสัยราษฎรเป็นสำคัญ  การชี้ป่าสงวนแห่งชาติจะมีราษฎรเป็นคนซื้อ  การขายมีการชักชนราษฎรมาจากภาคอีสาน  บางครั้งมีการนำรถยนต์ไปรับมาเป็นคันรถเพื่อให้ราษฎรมาซื้อป่าบุกเบิกเป็นที่ทำกิน  นอกจากผู้มีอิทธิพลจะได้เงินจากการขายป่าสงวนแล้ว  ยังใช้ราษฎรเป็นเครื่องมือในการสร้างฐานอำนาจ  คือ  ถ้าจำนวนราษฎรไปอาศัยอยู่มากเท่าไร  ก็จะเป็นเงื่อนไขในการต่อรองในการขับไล่หรือดำเนินตามกฎหมาย  ราษฎรเมื่อเสียเงินไปแล้วก็จะดิ้นรนต่อสู้  ถ้าจะมีการให้อพยพหรือย้ายไปอยู่ที่อื่น  ทั้งนี้เพราะราษฎรส่วนมากขายที่ดินและบ้านเดิมไปหมดแล้วและมาปักหลักตั้งฐานที่นี่  ดังนั้น  เมื่อมีการดำเนินการจากทางรัฐบาล  ราษฎรเหล่านี้มักจะไม่ยอมหรือดื้อดึงต่อกฎหมาย  เบื้องหลังของปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ผู้มีอิธิพลจะเป็นผู้สนับสนุนชี้นำให้ชาวบ้านขัดขืนต่อกฎหมาย
ข.      นายทุนรับซื้อไม้เถื่อน  นายทุนโรงเลื่อยจะรับซื้อไม้เถื่อนจากผู้มีอิทธิพลในป่าสงวนฯ  โดยมีชาวบ้านผู้เลื่อยไม้แปรรูปให้กับผู้มีอิทธิพล  โดยมากจะมีการเลือกตัดไม้ที่มีค่าหรือไม้หวงห้าม  หรือไม้สงวนเพราะไม้เหล่านี้ราคาสูงและหายาก  เช่น  ไม้แดงจีน  ที่นำมาทำเฟอร์นิเจอร์  ถัดจากไม้มีค่าก็จะตัดไม้ขนาดใหญ่ที่ตลาดต้องการ  บางหมู่บ้านนายทุนจะเข้าไปติดต่อซื้อไม้โดยตรงจากชาวบ้าน  โดยการซื้อขาย  นายทุนจะรับผิดชอบโดยการขนไม้โดยนำรถเข้าไปขนไม้เถื่อนเอง  สำหรับชาวบ้านจะได้เงินจากการทำไม้เถื่อนจำนวนไม่น้อย  จะพบว่า  พื้นที่ที่ถูกบุกร้างถางป่าเพื่อใช้ปลูกพืชไร่นั้น  เมื่อเทียบกับจำนวนราษฎรที่อาศัยอยู่  ผลผลิตที่ได้ไม่น่าจะพอเพียงกับการเลี้ยงชีพของราษฎรเหล่านั้น  แต่ถ้าพิจารณาถึงชีวิตความเป็นอยู่  จะพบว่า  หลายครอบครัวมีโทรทัศน์ดู  มีรถจักรยานยนต์  ผู้มีอิทธิพลมีรถยนต์ขับ  เป็นต้น  หากเป็นการทำไร่ตามปกติ  สิ่งอำนวยความสะดวกที่มีราคาสูงเช่นนี้คงจะหาซื้อมาได้ยาก  คำตอบของแหล่งเงินก็น่าจะไม่พ้นเรื่องการค้าไม้เถื่อนกับนายทุน
3)            การบุกรุกอันเกิดจากเจ้าหน้าที่ แม้การประกาศอนุรักษ์และกำหนดเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติโดยรัฐบาลแล้วก็ตามแต่ การบุกรุกพื้นที่ป่านั้นยังคงมีขึ้น ทั้งๆที่มีเจ้าหน้าที่ของกรมป่าไม้รับผิดชอบและดูแลอยู่ก้ตาม  อาจด้วยปัจจัยหลายๆสิ่งที่ทำให้  การดุแล และ ปราบปรามผู้บุกรุกพื้นที่ป่าสงวนไม่ได้ผลเท่าที่ควร ประกอบด้วย
ก.      จำนวนเจ้าหน้าที่ ไม่พอตอการดูแลพื้นที่ป่าที่มีมากกว่าเจ้าหน้าที่ จึงทำให้การดูแลเป็นไปอย่างล่าช้า
ข.      งบประมาณที่มีขีดจำกัด หรืองบประมาณที่ได้มาน้อยเกินไป ไม่พอกับการตรวจตราผู้กระทำผิดในพื้นที่  เช่น การเบิกจ่ายเพื่อเติมเชื้อเพลิงในการทำการตรวจพื้นที่ป่า
ค.      เจ้าหน้าที่ขาดแคลนเครื่องมือและอาวุธ เนื่องจากเครื่องมือและอาวุธที่ด้อยกว่าผู้กระทำความผิด  จึงทำให้ผู้กระทำผิดอยู่ในฐานะที่ได้เปรียบ  การปราบปรามจึงไม่ค่อยได้ผล
ง.       อิทธิพลของผู้ค้าไม้  ซึ่งถ้ามีเจ้าหน้าที่เข้าไปยุ่งเกี่ยวก็จะถูกลอบทำร้ายหรือถูกข่มขู่จึงทำให้ไม่มีเจ้าหน้าที่ ที่จะกล้าปราบปราม
จ.       ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่หากินกับราษฏรที่บุกรุกพื้นที่ป่า โดยการข่มขุ่ ราษฏรให้จ่ายเงินให้เจ้าหน้าที่เพื่อเป็นการ  ผ่อนผันให้มีการสร้างที่อาศัยอยู่ เป็นต้น
4)            การบุกรุกอันเกิดจากนโยบายของรัฐ  เช่น
ก.      นโยบายการให้สัมปทานทำไม้ คือการที่รัฐให้ภาคเอกชนและหน่วยงานรัฐเป็นผู้ทำไม้ขาย  โดยกำหนดเงื่อนไขต่างๆ สิ่งที่สำคัญคือ  การกำหนดให้ตัดไม้ที่มีขนาดใหญ่ก่อนแล้วปลูกต้นไม้ทดแทนและเคลื่อนย้ายไปตัดต้นไม่ใหญ่ในแปลงอื่นๆ  ต่อไปเรื่อยๆและปลูกต้นไม้ทดแทนเช่นกัน
ข.      นโยบายเกี่ยวกับการปลูกป่าภาคเอกชนเป็นต้น ซึ่งเป็นการปลูกป่าเชิงพาณิชย์ ส่วนมากจะปลูกไม้ยูคาลิปตัสเนื่องจากเ)นไม้ที่โตเร็ว สามารถขายได้เร็ว เมื่อตัดไปแล้วสภาพป่าก็จะหมดไป ไม่การปลูกจำพวกไม้ยืนต้น เช่น ไม้สัก  ไม้เต็ง  ไม้แดง ฯลฯ อีกตัวอย่างหนึ่งคือ
ค.      นโยบายการบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อสร้างเขื่อน  อ่างเก็บน้ำ   โดยการก่อสร้างนี้บุรุกเข้าไปในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ
เป็นต้น
เมื่อป่าไม้ถูกทำลายจนลดลงเหลือเพียงส่วนน้อยแล้วจะเกิดผลกระทบที่ติดตามมาหลายด้านด้วยกัน  ซึ่งผลกระทบเหล่านี้จะเกี่ยวโยงซึ่งกันและกัน ปัญหาพื้นฐานของประเทศหลาย  ๆ  ประการเกิดจากมูลเหตุอันเนื่องมาจากการตัดไม้ทำลายป่า  ซึ่งเกิดก่อให้เกิดการสูญเสียภาวะสมดุลย์ตามธรรมชาติ  และส่งผลต่อภาวะทางสังคมในภายหลัง  ผลกระทบที่เกิดขึ้นมานี้อาจแยกได้เป็น  3  ทาง  คือ
                                2.1  ผลกระทบทางนิเวศน์วิทยา
                                2.2  ผลกระทบทางการบริโภคของประชาชนในท้องถิ่น
                                2.3  ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับป่าไม้
                ผลกระทบทั้ง  3  ทางนี้  จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบต่าง  ๆ  ในระดับมหภาค  คือ  กระทบต่อการเมืองการปกครอง  ต่อเศรษฐกิจ  และจิตวิทยาสังคม  ซึ่งผลกระทบดังกล่าวอาจพิจารณาในประเด็น  ดังนี้
                                2.1  ผลกระทบทางนิเวศน์วิทยา  เมื่อป่าไม้ถูกทำลายจนเหลือน้อย  ภาวะนิเวศน์วิทยาจะเสียสมดุลย์ไป  คือ  การป้องกันรักษาพื้นที่รับน้ำบนภูเขาและในป่าที่ควบคุมการไหลของน้ำบนผิวดิน  การยึดเกาะของหน้าดินจะลดลง  เมื่อฝนตกก่อให้เกิดการพังทลายของหน้าดิน  การกัดเซาะ  การไหลบ่าของน้ำป่าก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วม  หากมีฝนตกมาบริเวณที่เคยเป็นป่าต้นน้ำลำธาร  แนวโน้มที่เกิดอุทกภัยก็มีสูง  เมื่อเกิดน้ำท่วมนอกจากบ้านเรือน ทรัพย์สินจะเสียหายแล้ว  เรือกสวนไร่นา  และสิ่งก่อสร้างก็จะเสียหายไปหมด  นับว่าเป็นการเสียหายทางเศรษฐกิจที่เห็นได้อย่างชัดเจน  ปัญหาติดตามมาคือ  ราษฎรต้องไร้ที่อยู่ที่พักอาศัย  ขาดแคลนอาหาร  บางรายสมาชิกในครอบครัวอาจเสียชีวิตหรือสูญเสียทรัพย์สินจนหมดสิ้น  สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นปัญหาสังคมหลายประการ  เช่น  ขาดแคลนอาหาร  ไม่มีทรัพย์สิน ก้อาจหาทางออกโดยการก่ออาชญากรรม  หรือการสูญเสียสิ่งต่าง  ๆ  ไปก่อให้เกิดการท้อแท้เบื่อหน่าย  ไม่อยากดิ้นรนทำมาหากินต่อไป  และในกรณีที่เกิดปัญหาน้ำท่วมมีผู้คนจำนวนมากได้รับความเดือดร้อน  และเสียหาย  เรื่องดังกล่าวนี้จะกลายเป็นปัญหาทางการเมืองที่รัฐบาลจะต้องเข้าไปแก้ไขปัญหา  กรณีเห็นได้ชัดเจนคือ  การออกพระราชบัญญัติปิดป่า  โดยการยกเลิกสัมปทานการทำไม้ทั่วประเทศนั้นรัฐยาลได้รับแรงผลักดันมาจากกรณีน้ำท่วมใหญ่ภาคมต้เมื่อปลายปี  2531  การลดลงหรือการสูญเสียพื้นที่ป่าเป็นจำนวนมาก  นอกจากจะก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วมแล้วยังก่อให้เกิดปัญหาฝนแล้งได้  ทั้งนี้เพราะป่าไม้มีความชุ่มชื้นและมีไอน้ำที่ช่วยดึงดูดให้เกิดฝนตก  เมื่อไม่มีป่าไม้  โอกาสที่ฝนจะตกในบางท้องที่ก็เกิดขึ้นได้ยาก  เว้นแต่  ฝนนั้นอมไอน้ำไว้อิ่มตัว  แล้วถูกพักมาตกบริเวณนั้นพอดี  อย่างไรก็ตาม  เราอาจสังเกตได้ง่าย  ๆ  ว่าบริเวณที่มีป่าไม้หนาแน่นจะมีฝนตกชุกและตกปริมาณมากกว่าบริเวณที่ไม่มีป่า  เมื่อป่าเหลือน้อย  ฝนก็ตกน้อย  ความแห้งแล้งจะปรากฏให้เห็นชัดเจน  ดังจะเห็นได้จากภาคตะวันออกฉียงเหนือของเราจะพบว่า  มีปัญหาความแห้งแล้งบ่อย  เพราะมีพื้นที่ป่าน้อย  ความแห้งแล้งทำให้พืชผลทางการเกษตรเสียหาย  เศรษฐกิจตกต่ำ ราษฎรต้องดิ้นรนหารายได้เลี้ยงตนเองมักก่อให้เกิดการอพยพเข้าไปหางานทำในเมื่อใหญ่  ๆ  เป็นฤดูกาล  ในบางปีมีการอพยพเข้าเมืองจำนวนมาก  และหางานทำไม่ได้  ต้องนอนข้างถนนหรือไปอาศัยอยู่รวมกันเป็นสลัม  ก่อให้เกิดปัญหาสังคมติดตามมา   หรือความแห้งแล้ง  ทำให้ราษฎรร่วมตัวกันมาขอร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน  ดังเช่น  กระทรวงมหาดไทยได้รับการร้องเรียนจาก  188  อำเภอ  บริเวณ  24  จังหวัดทั่วประเทศ  อาทิ  สงขลา  เพชรบุรี  จันทบุรี  ระยอง  ลพบุรี  ร้อยเอ็ด  ชัยภูมิ  และนครราชสีมา  ซึ่งมีประชากรอาศัยอยู่รวมกันจำนวน  368,119  ครอบครัว  ว่า  ประสบกับภาะความแห้งแล้งและทำให้พื้นที่เกษตรเสียหายไปประมาณ   1.2  ล้านไร่  และรอคอยความช่วยเหลือของทางการที่จัดหาน้ำบรรเทาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น  ความเสียหายหรือผลกระทบที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ  น้ำเค็มหนุนสูงขึ้นไหลทวนแม่น้ำลำคลองขึ้นสูงลึกขึ้นไปเหนือน้ำ  ทั้งนี้เนื่องจากในฤดูฝนเมื่อฝนตก  และป่าไม้มีน้อยหรือถูกทำลายหมดน้ำจะไหลบ่าลงสู่ที่ต่ำหรือแม่น้ำลำคลองทันที่โดยไม่มีแหล่งดูดซับน้ำไว้  ดังนั้น  เมื่อถึงฤดูร้อน  น้ำในแม่น้ำลำคลองที่เคยไหลซึมออกมาจากป่าเขาที่มีต้นไม้จะไม่มีอะไรไหลออกมาก  ทำให้ห้วย  คลองต่าง  ๆ  แห้งขอด  ส่งผลให้น้ำในแม่น้ำลดระดับลง  ในอดีตน้ำเค็มจะหนุนสูงขึ้นมาบริเวณปากแม่น้ำ  แต่เมื่อห้วย  คลองต่าง  ๆ  แห้งขอด  น้ำในแม่น้ำมีระดับต่ำ  น้ำในทะเลก็ไหลเข้าไปในแม่น้ำลึกเข้าไปเรื่อย  ผลกระทบก็คือ  ราษฎรที่อาสัยน้ำในแม่น้ำทำการเกษตรจะต้องประสบกับภาวะปัญหาน้ำเค็ม  เรือกสวนไร่นาต่าง  ๆ  จะได้รับความเสียหาย  ทำให้เกษตรกรเหล่านี้มีรายได้ตกต่ำหรือขาดรายได้ต้องอพยพไปหาที่ทำกินแหล่งใหม่  หรือมีการเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหา  การสูญเสียทางภาวะนิเวศน์วิทยานี้ยังส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ด้านต่าง  ๆ  อีก  เช่น  อุณหภูมิสูงขึ้นทุกปี  ประชาชนขาดสถานที่พักผ่อนหย่อนใจหรือสถานที่ท่องเที่ยว  พืชและสัตว์ป่าจะสูญพันธุ์
                                2.2  ผลกระทบทางการบริโภคของประชาชนในท้องถิ่น  ประชาชนในท้องถิ่นจำนวนไม่น้อยที่อุปโภคบริโภคผลิตภัณฑ์จากป่าไม้  ดังนั้น  เมื่อป่าไม้หมดไป  เขาจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากการขาดแคลนในสิ่งที่เคยได้จากป่าไม้  เช่น  พืช  ผัก  ผลไม้  สัตว์เล็ก  ๆ  ที่นำมาเป็นอาหารได้  ขาดแคลน  ไม้ฟืน  ถ่าน  เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในการหุงต้ม  ต้องซื้อจากที่อื่นซึ่งมีราคาสูง  หรือใช้เชื้อเพลงอื่นแต่ก็มีราคาสูงสำหรับประชาชนในท้องถิ่น  ราษฎรบางคนก็ใช้พื้นที่บริเวณชายป่าเลี้ยงสัตว์  หรือได้ไม้มาสร้างบ้าน  สร้างอาคาร  รั้ว  เฟอร์นิเจอร์  ยุ่งฉาง  เล้าเป็ด  เล้าไก่  บางคนมีอาชีพทำงานฝีมือ  โดยอาสัยวัสดุจากป่า  เช่น  เชือก  ตอก  หลวาย  ตะกร้า  ไม้กวาด  ของประดับบ้าน  บางคนมีอาชีพเก็บของป่าขาย  เช่น  น้ำผึ้ง  ครั่ง  สีเสียด  ยางไม้  เปลือกไม้  สมุนไพร  หรือบางคนมีอาชีพเป็นช่างแกะสลัก  งานฝีใอที่ทำจากไม้  ช่างไม้  ประชาชนเหล่านี้ล้วนได้รับผลกระทบจากการสูญเสียหรือการทำลายป่าไม้  ในบางอาชีพ  เช่น  งานฝีมือ  หรืองานแกะสลัก  เมื่อป่าหมดไปก็ทำให้อาชีพพวกเขาเหล่านี้หมดตามไปด้วย  ปัจจุบันเรามักจะไม่ค่อยพบการดำรงชีพในลักษณะที่กล่าวมานี้  อาจกล่าวได้ว่าในอดีตเมื่อครั้งมีป่าไม้มากมาย  การดำรงชีพค่อยข้างสะดวกสบายทุกอย่าง  หาได้จากป่าแต่เมื่อป่าหมดไป  การดำรงชีวิตของประชาชนจะต้องขึ้นอยู่กับผลิตผลของอุตสาหกรรมเป้นส่วนใหญ่  ค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพสูงและประสบกับปัญหาทางสังคมอีกหลายประการ  เช่น  ประชาชนในท้องถิ่นต้องงานทำเพื่อให้มีรายได้พอใช้จ่ายกับภาวะเศรษฐกิจ  เพราะสิ่งของเครื่องใช้ทุกอย่างไม่อาจจะหาได้จากป่าเหมือนในอดีต
                                2.3  ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับป่าไม้  อุตสาหกรรมจำนวนไม่น้อยที่ใช้ไม้เป็นวัตถุดิบในขบวนการผลิต  เช่น  อุตสาหากรรมผลิตไม้อัด  กระดาษ  บรรจุหีบห่อ  ก่อสร้าง  เฟอร์นิเตฃจอร์  ต่อเรือ  เคมี  ตกแต่ง  เป็นต้น  อุตสาหกรรมต่าง  ๆ  กลายเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวันของเรา  เช่น  กระดาษ  นับว่ากระดาษเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวันของมนุษย์ค่อนข้างมาก  การขาดแคลนวัตุดิบคือไม้  ทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น  ผู้ผลิตก็บวกค่าใช้จ่ายเหล่านี้ในราคาสินค่าที่ขาย  ฉะนั้น  หากไม้มีไม่พอป้อนให้โรงงานผลิตกระดาษ  โรงงานจะต้องสั่งไม้มาจากต่างประเทศ  หรือสั่งกระดาษจากต่างประเทศ  ทำให้มีราคาสูง  ผลกระทบจะเกิดกับผู้บริโภคซึ่งเป็นประชาชนส่วนใหญ่  หากพิจารณาอย่างผิวเผิน  การขาดแคลนไม้ของภาคอุตสาหกรรมดูเหมือนจะกระทบต่อผู้ลงทุน  นายทุนหรือโรงงานอุตสาหกรรมเหล่านั้น  แต่จริง  ๆ  แล้ว  ผลสุดท้ายจะตกอยู่กับประชาชนส่วนใหญ่เพราะผู้ลงทุนจะผลักภาระต้นทุนให้กับผู้บริโภค  แต่อย่างไรก็ตาม  สินค้าอุตสาหกรรมที่ใช้ไม้เป็นวัตถุดิบในปัจจุบันนั้นอาจหลีกเลี่ยงการใช้ไม้เป็นวัตถุดิบอื่นได้  เช่น  โต๊ะ  เก้าอี้  เฟอร์นิเจอร์ต่าง  ๆ  เดิมนั้นใช้ไม้เป็นวัตถุดิบสำคัญแต่ปัจจุบันอาจใช้วัตถุดิบอื่นมาผลิตทดแทนไม้ได้เช่นกัน  เช่น  ใช้พลาสติก  โลหะ  หรือไฟเบอร์กลาส  เป็นต้น  บางอย่างอาจมีต้นทุนแพงกว่าไม้  แต่ทว่าจะมีความแข็งแรงและสวยงามของผลิตภัณฑ์ไปอีกแบบหนึ่งด้วย  ฉะนั้นอุตสาหกรรมบางอย่างอาจจะหลีกเลี่ยงความเสียหายจากการขาดไม่ได้
จากการสูญเสียป่าไม้เมื่อวิเคราะห์เปรียบเทียบเป็นรายจังหวัดจากอดีตที่ผ่านมาประเทศไทยมีจังหวัดที่เคยมีป่าไม้มากปกคลุมกว่า 70% แต่ปัจจุบันสูญเสียไปเกือบทั้งหมด คือ จังหวัดกำแพงเพชร สกลนคร และชุมพร นับเป็นพื้นที่ที่สูญเสียป่าไม้รุนแรงมาก ส่วนจังหวัดที่ป่าไม้ปกคลุมอยู่มากและมีการสูญเสียป่าไม้ราวๆ ครึ่งหนึ่ง ได้แก่เพชรบูรณ์ ประจวบคีรีขันธ์ พังงา สตูล กาฬสินธุ์ นครพนม นครราชสีมา หนองคาย ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง กระบี่ ตรัง แต่อย่างไรก็ตามจังหวัดอื่นๆ ก็มีเนื้อที่ป่าลดลงอย่างมากเช่นกัน
ในปัจจุบัน เนื้อที่ป่าไม้ในประเทศไทยน่าจะมีแนวโน้มสูงขึ้น ประมาณ 3% ของเนื้อที่ประเทศไทยจากสถิติในช่วง  2549-2552 แต่เมื่อพิจารณาในพื้นที่จังหวัดต่างๆ พบว่า มีจังหวัดที่ยังมีเนื้อที่ป่าลดลงมาก (เกิน 5% ของเนื้อที่จังหวัด ได้แก่ จังหวัด สตูล ตาก น่าน แพร่ นครพนม ตราด ประจวบคีรีขันธ์
โดยเฉพาะจังหวัด ตาก และน่าน เป็นพื้นที่รับน้ำของเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิตติ์  ซึ่งมีผลต่อการชะลอน้ำท่าจากพายุฝนที่จะไหลลงเขื่อนอย่างรวดเร็ว และป้องการกัดเซาะหน้าดินลงอ่างเก็บน้ำ ที่น่าจะมีผลต่ออุทกภัยในปี 2554 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ จังหวัด กำแพงเพชร เชียงราย พะเยา แม่ฮ่องสอน ลำพูน สุโขทัย กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ มุกดาหาร ยโสธร สกลนคร อุดรธานี ระยอง และ ตรัง ก็มีเนื้อที่ป่าที่ลดลงมากเช่นกัน
มาตรการจัดการป่าของประเทศไทย คือ การประกาศป่าสงวนแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ 2507 แต่เนื่องจากเป็นมาตรการที่มุ่งในการควบคุมพื้นที่ป่าเพื่อการใช้ประโยชน์จากป่าเป็นสำคัญ ทั้งการให้สัมปทานไม้ในอดีต (สิ้นสุดเมื่อปี 2531 หลังเกิดดินถล่มจากการตัดไม้ทำลายป่าและกระแสอนุรักษ์ในช่วงการต่อต้านเขื่อนน้ำโจน) และยังคงมีการอนุญาตให้เข้าใช้ประโยชน์หรือกระทั่งอยู่อาศัยในพื้นที่ ดังนั้นพื้นที่ป่าสงวนที่ถูกประกาศปัจจุบันจึงมีพื้นที่ลดลงอย่างรวดเร็ว (ในปัจจุบันมีพื้นที่ที่ประกาศเป็นป่าสงวนอยู่ราว 45% หรือ กว่า 230,000 ตารางกิโลเมตร แต่มีพื้นที่ป่าเหลือจริงอยู่เพียง 171,586 ตารางกิโลเมตร หรือร้อยละ 70 ดังนั้นแสดงว่ามีเนื้อที่ป่าสงวนถูกใช้ประโยชน์ไปถึงประมาณ 30%
การอนุรักษ์ป่าที่ได้ผลมากกว่าการประกาศป่าสงวนคือ การประกาศเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ หรือ พื้นที่คุ้มครอง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุสัตว์ป่า วนอุทยาน เขตห้ามล่าสัตว์ป่า รวมถึง สวนรุกขชาติและสวนพฤกษศาสตร์ ซึ่งแม้ว่าจะสามารถรักษาพื้นที่ที่ถูกประกาศส่วนใหญ่ไว้ได้แต่เนื่องจากขั้นตอนการประกาศพื้นที่อนุรักษ์ในอดีตมิได้มีกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนและการสำรวจเพื่อคุ้มครองสิทธิชุมชน จึงทำให้มีการประกาศพื้นที่ทับซ้อนกับพื้นที่ใช้ประโยชน์ทำกิน และเก็บหาของป่าของประชาชนในชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดปัญหาในเชิงสิทธิชุมชนมากมายในปัจจุบัน ซึ่งต้องอาศัยมติคณะรัฐมนตรี (30 มิถุนายน 2541)  ในการผ่อนผันให้อยู่อาศัยในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ แต่ในขณะเดียวกันเมื่อมีการขยายพื้นที่เดิม ที่ไม่มีการแสดงแนวเขตการควบคุมที่ชัดเจนก็ส่งผลให้เกิดการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้จากการขยายตัวทั้งชุมชนกลางป่า และขอบป่าอนุรักษ์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังการส่งเสริมการปลูกพืชไร่ต่างๆ สวนยางพารา ปาล์มน้ำมัน ทั้งจากบริษัทเอกชน และนโยบายการสนับสนุนที่ขาดความรอบคอบของรัฐ ทำให้เกิดความขัดแย้งที่รุนแรง และสูญเสียพื้นที่ป่าเพิ่มเติมตลอดมา
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันมีการประกาศพื้นที่ป่าอนุรักษ์รวมแล้วประมาณ 103,810  ตารางกิโลเมตร หรือ 20% ของเนื้อที่ประเทศไทย โดยน่าจะมีเนื้อที่ป่าจริงประมาณกว่า 15%  และพื้นที่ป่าจำนวนนี้ คือพื้นที่มีศักยภาพสูงในการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพในการเป็นแหล่งที่อยู่ของสัตว์ป่า และเก็บรักษาแหล่งพันธุกรรมของพืช เนื่องจากมีการจัดการป้องกันการบุกรุกทำลายที่ดีกว่าพื้นที่ป่าสงวน
การแก้ไขปัญหาทางด้านป่าไม้จำเป็นต้องพัฒนาสมรรถนะของพื้นที่ให้เหมาะสม ต่อการใช้ประโยชน์ที่ดินทางด้านป่าไม้ตลอดจน  การแก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชนรวมไปถึงการปลุกจิตสำนึกของประชาชนให้ตระหนักให้รู้สึกหวงแหนทรัพยากรป่าไม้และเห็นความสำคัญของป่าไม้ทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมไปถึงอันตรายที่เกิดจากการตัดไม้ทำลายป่า โดยเฉพาะการใช้ไฟเผาเพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูกในรูปแบบของการทำไร่เลื่อนลอย นอกจากทำลายทรัพยากรป่าไม้แล้วยังทำลายสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในป่ารวมถึงสิ่งแวดล้อมด้วย การมีผู้นำที่ดีสามารถนำพาประชาชนแก้ไขปัญหาป่าไม้ โดยขบวนการเสริมสร้างความร่วมมือร่วมใจในการปฏิบัติหน้าที่ป้องกันรักษาทรัพยากรป่าไม้จะส่งผลให้ทรัพยากรป่าไม้ให้มีศักยภาพในการเอื้อผลประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมแก่สังคมไทยได้อย่างสูงสุดและยั่งยืนตลอดไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น