วันพฤหัสบดีที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2556

ปัญหาสิทธิสตรีในสังคมไทย นางสากนกพร อ่ำแจ้ง 53241622

บทความวิชาการ
เรื่อง ปัญหาสิทธิสตรีในสังคมไทย

           ปฏิญญาสากลว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชน และปฏิญญาสหประชาชาติชนบทที่ว่าด้วยการขจัดการดูถูก กดขี่และกีดกันหญิง แสดงให้เห็นประจักษ์ว่า มนุษย์ทุกคนนั้นเกิดมามีความเป็นอิสรเสรีและเสมอภาคกันในเกียรติศักดิ์และสิทธิ ไม่ว่าจะเป็นเพศใด ดังมีข้อความตอนหนึ่งของกฎบัตรสหประชาชาติที่แสดงให้เห็นถึงความปรารถนาร่วมกันในอันที่จะส่งเสริมเสมอภาคในสิทธิของบุรุษและสตรีว่า                
           “เราบรรดาประชาชนแห่งสหประชาชาติได้ตั้งเจจำนง...ที่จะยืนยันความเชื่อมั่นในสิทธิมนุษยชนอันเป็นหลักมูลให้เกียรติศักดิ์และคุณค่าของมนุษย์บุคคล ในสิทธิอันเท่าเทียมกันของบุรุษและสตรีของประชาชาติใหญ่น้อย
หลักเกณฑ์ที่ยืนยันไว้ในกฎบัตรถึงความเชื่อมั่นในสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมกันระหว่างชายหญิงเช่นนี้ แต่สตรีเคยมีสิทธิอันชอบธรรมซึ่งมีผลทำให้สภาพของสตรีมีความมั่นคงทัดเทียมกับบุรุษทั้งในด้านการดำรงชีพของตน และการอยู่ร่วมในสังคมหรือไม่ เนื่องจากมีคำกล่าวถึงคตินิยมของสตรีโดยทั่วไปแต่เดิมมานั้นว่า เมื่อน้อยอยู่ในความปกครองของบิดามารดา เมื่อออกเรือนสมรสแล้วอยู่ในความปกครองของสามี และเมื่อชราภาพอยู่ในความดูแลของบุตร ซึ่งจะเห็นได้ว่าสตรีนั้นไม่มีอิสรภาพเป็นของตัวเองโดยสมบูรณ์เลยตลอดอายุขัย นอกจากนี้ยังมีความเปรียบเทียบไปในทำนองกังวลอีกว่า
            “ลูกผู้หญิงซึ่งมีอายุควรไม่มีคู่ย่อมเป็นเช่นก้อนอุบาทว์อยู่เหนือหลังคาบ้าน
             ข้อความเหล่านี้ทำให้บังเกิดข้อคิดเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับ สิทธิมนุษยชนอันชอบธรรมของสตรีแต่ดั้งเดิมมามีอยู่บ้างหรือไม่ ถ้ามีอยู่ในลักษณะสภาพอย่างไร และเพราะเหตุใดจึงมีคตินิยมหรือข้อความที่เป็นทำนองเหยียดคุณค่าของสตรี ปัญหาเหล่านี้ถ้าพิจารณาถึงปัจจัยต่างๆ ตลอดจนแนวพฤติกรรมที่ปรากฏทั้งในด้านพฤตินัยและนิตินัยแล้ว ก็จะทราบว่าสตรีมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดี หรือด้อยกว่า หรือเสมอภาคกับบุรุษในเรื่องใดบ้าง
             สถานภาพของสตรีไทยตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย สตรีไทยมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกับบุรุษหรืออาจจะมากกว่าในบางประการ มีการปรากฏหลักฐานในหลักศิลาจารึกตลอดจนใน มังรายศาสตร์ซึ่งเป็นกฎหมายที่พระเจ้าเม็งรายกษัตริย์ไทยผู้ทรงนครเชียงใหม่และเป็นกษัตริย์ในสมัยเดียวกับพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ได้ทรงบัญญัติไว้ ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยาฐานะของสตรีโดยทั่วไป ในด้านพฤตินัยไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากสมัยสุโขทัยมากนัก หลักฐานในวรรณคดีหลายฉบับ กล่าวถึงสตรีว่ามีบทบาทในสังคมหลายด้าน และมีสิทธิเสรีภาพมาก เช่น ปรากฏในลิลิตพระลอ กาพย์ห่อโคลงพระศรีมโหสถ โครงนิราศ ตลอดจนกลอนเพลงยาวและเพลงชาวบ้านต่างๆ เกิดขึ้น เช่น พระไอยการลักษณะผัวเมียก็ดี พระไอยการลักษณะมรดกก็ดี ต่างมีบทบัญญัติจำกัดสิทธิสตรีให้ลดน้อยลง ตลอดจนสร้างค่านิยมให้สตรียึดถือปฏิบัติอยู่ในกรอบจารีประเพณีโดยเคร่งครัด ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากพระมหากษัตริย์ในสมัยนั้นต้องการสร้างความเป็นปึกแผ่นมั่นคงให้แก่ชาติไทยโดยเฉพาะสภาพความเป็นอยู่ในครอบครัว ประกอบกับมีต่างชาติมาเจริญสัมพันธไมตรีติดต่อกับชาติไทยอยู่เสมออาจมีข้อหวั่นแกรงว่าชนในชาติจะละทิ้งวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามแต่เดิมเสีย จึงตราพระราชบัญญัติเพิ่มขึ้นอีก เช่น มีการตราพระราชบัญญัติห้ามสตรีไทยเสพเมถุนกับชาวต่างประเทศ เป็นต้น
อย่างไรก็ดี แม้ว่าสตรีจะไม่มีสิทธิเท่าเทียมกับบุรุษในด้านนิตินัยก็ตาม แต่ในด้านพฤตินัยสตรีไทย มีบทบาทเท่าเทียมกับบุรุษหรืออาจจะมากกว่าในบ้างกรณี ดังปรากฏหลักฐานในจดหมายเหตุของชาวต่างประเทศหลายคนที่เข้ามาพำนักในสมัยนั้น เช่น เมอร์สิเออร์ เดอลาลูแบร์ แชรเวส และนอกจากนี้หลักฐานทางประวัติศาสตร์ก็ยังมีบันทึกไว้เกี่ยวกับการรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับบุรุษในสงครามสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย จากหลักฐานที่ปรากฏนี้แสดงให้เห็นว่าสตรีไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยามีฐานะความเป็นอยู่ได้ด้อยกว่าสตรีชาติอื่นๆ ดังกล่าวแล้ว
ต่อมาถึงสมัยกรุงธนบุรี เป็นช่วงของการทำศึกสงคราม ฐานะของสตรีไม่เปลี่ยนแปลงไปจากสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นเป็นราชธานี แม้บ้านเมืองจะยังไม่สงบจากศึกสงครามรอบด้าน แต่ก็นับว่ามีการรบเบาบางลงกว่าเดิม กล่าวได้ว่า สถานภาพความเป็นอยู่ของสตรีในระยะนั้นยังคงมีบทบาทในการปกครองอยู่บ้าง เช่น ในเรื่องท้าวเทพสตรี ท้าวศรีสุนทร แต่ส่วนใหญ่มีสภาวะตามแบบเดิม กล่าวคือในทางนิตินัย พระบาทสมเด็จพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้ทรงนำกฎหมายเก่าครั้งกรุงศรีอยุธยาที่เหลือกระจัดกระจายอยู่เพียง 1 ใน 10 นั้นมารงบรวมและโปรดให้ชำระขึ้นใหม่ พร้อมทั้งได้ทรงตราพระราชกำหนดเพิ่มเติมขึ้นอีก และโปรดให้ใช้กฎหมายที่ทรงชำระแล้วนี้เป็นกฎหมายสำหรับแผ่นดินสืบไป ฉะนั้น สิทธิของสตรีในทางกฎหมายจึงด้อยกว่าบุรุษแต่ในด้านพฤตินัยยังคงทัดเทียมหรือมากกว่าบุรุษอยู่ในกรณี แม้ในสมัยรัชกาที่ 2 และที่ 3 ก็กล่าวว่าสถานภาพของสตรียังไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก เป็นต้นว่าสตรียังถูกบุรุษนำไปขายได้หรือโอกาสในการศึกษาก็ไม่มีอย่างกว้างขวาง
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งนับเป็นสมัยแรงแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ที่ไทยได้ทำสัญญาการค้ากับประเทศในยุโรป วัฒนธรรมตะวันตกก็ได้เริ่มแพร่เข้าสู่ประเทศไทยด้วยอีกวาระหนึ่ง สตรีไทยบางคนในสมัยนี้จึงมีโอกาสเรียนรู้วิชาหนังสือและขนบธรรมเนียมราชการเช่นเดียวกับชาย นอกจากนี้ก็มีสตรีมิชชันนารี คือ  นางบรัดเลย์ แมททูน และนางโยน์ส ตลอดจนนางแอนนา เลียวโนเวนส์ มาเป็นครูสอนภาษาอังกฤษให้แก่สตรีไทยในวังหลวง และแม้นอกเมืองหลวงในปี พ.ศ.2408 ก็มรการตั้งโรงเรียนสำหรับฝึกการฝีมือให้แก่สตรีและเด็กอีกด้วย นับว่าสตรีในนี้มีฐานะดีขึ้นกว่าแต่ก่อนบ้าง ในทางกฎหมาย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ก็ทรงโปรดให้ยกเลิกบทบัญญัติเรื่องผัวขายเมีย พ่อแม่ขายบุตรเสีย เนื่องจากทรงเห็นว่าไม่ให้ความยุติธรรมแก่สตรี
ในสมัยรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงดำเนินตามพระราชบิดา กล่าวคือได้ทำนุบำรุงการศึกษาของสตรีให้เป็นปึกแผ่น ทรงสร้างโรงเรียนสำหรับกุลสตรีขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2423 โดยรับบุตรหลานของเจ้านายเข้าเรียน และในปี พ.ศ.2444 ก็โปรดฯ ให้ตั้งโรงเรียนสำหรับสตรีซึ่งเป็นบุตรหลานของราษฎรสามัญขึ้นอีก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสตรีไทยเริ่มมีสิทธิในด้านการศึกษาอบรมได้ใกล้เคียงกับชาย การที่ทรงวางรากฐานสร้างสถานภาพสตรีให้ดีขึ้นด้วยวิธีการให้การศึกษาแก่สตรี อันเป็นเรื่องสำคัญนี้นับได้ว่าเป็นพื้นฐานในเรื่องสิทธิและหน้าที่ของสตรีในสังคมในเวลาต่อมา
              ในสมัยรัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเปลี่ยนแปลงขนบธรรมเนียมอย่างที่ล้าสมัยเสีย เพื่อเปิดโอกาสให้สตรีมีบทบาทในทางสังคมมากยิ่งขึ้น ทรงนำแบบวัฒนธรรมตะวันตกบางประการมาใช้ในการปรับปรุงประเทศ ส่วนในด้านการยกฐานะสตรีไทย พระองค์ทรงสนับสนุนทั้งในด้านการศึกษาการสังคม และนอกจากนี้ในทางกฎหมายพระองค์ก็ทรงพระราชดำริที่จะให้ยึดถือแบบ ผัวเดียวเมียเดียวแบบวัฒนธรรมยุโรป
              ในปัจจุบันนี้ สตรีไทยได้รับสิทธิเท่าเทียมกับบุรุษในเกือบทุกด้าน เป็นต้น ว่าด้านการเมือง สังคมการศึกษา ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า เรื่องที่เกี่ยวกับสิทธิความเสมอภาคกับบุรุษนั้น สตรีไทยมีความก้าวหน้ายิ่งกว่าสตรีชาติอื่นๆ อีกหลายชาติ แต่อย่างไรก็ดี ยังคงมีเกณฑ์ตลอดจนบทบัญญัติบางประการในกฎหมายที่จำกัดสิทธิสตรีอยู่อีก มีได้รับการพิจารณาแก้ไขให้สอดคล้องกับสภาพของเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งได้วิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงไป
จากสิ่งที่กล่าวไปข้าต้นทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นถึงบทบาทและสถานภาพของสตรีในประวัติศาสตร์ ตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงรัชกาลที่ 6 จนมาเมื่อเปลี่ยนผ่านสังคมในช่วงยุคปัจจุบัน สตรีมีสิทธิและเสรีภาพในด้านต่างๆที่ดูเหมือนจะเท่าเทียมกับบุรุษเพศ แต่แท้ที่จริงแล้วสตรีได้รับสิทธิที่เป็นอิสระอย่างแท้จริงหรือ

สิทธิ หมายถึง สิ่งที่ไม่มีรูปร่างซึ่งมีอยู่ในตัวมนุษย์มาตั้งแต่เกิดหรือเกิดขึ้นโดยกฎหมาย เพื่อให้มนุษย์ได้รับประโยชน์ และมนุษย์จะเป็นผู้เลือกใช้สิ่งนั้นเอง โดยไม่มีผู้ใดบังคับได้ เช่น สิทธิในการกิน การนอน แต่สิทธิบางอย่างมนุษย์ได้รับโดยกฎหมายกำหนดให้มี เช่น สิทธิในการมี การใช้ทรัพย์สิน สิทธิในการร้องทุกข์เมื่อตนถูกกระทำละเมิดกฎหมาย เป็นต้น
              สิทธิสตรี คือ สิทธิขั้นพื้นฐานส่วนหนึ่งของพลเมืองของชาติที่หากไม่ถูกลิดรอนก็คงจะไม่มีการเรียกร้อง สภาพการณ์ที่เป็นความจริงทางสังคม สะท้อนให้เห็นมาโดยตลอดถึงความไม่เท่าเทียมกันระหว่างหญิงและชายในโอกาส สิทธิ และเสรีภาพในด้านต่างๆ ตั้งแต่ครอบครัว การทำงาน และแม้กระทั่งการศึกษา ทำให้เกิดคำถามว่า ความเท่าเทียมกันในสิทธิและเสรีภาพนั้นเกิดขึ้นจากอะไร                       
              ชีวิตของชนในสังคมนั้น จะอยู่ภายใต้กฎหมายที่สำคัญคือรัฐธรรมนูญ อันเป็นกฎหมายหลักสูงสุดที่บ่งบอกแนวและวิถีทางของการอยู่ร่วมกัน ตลอดจนความสัมพันธ์ของประชาชนในชาติ โดยแยกเป็นหมวดเป็นมาตราต่างๆในประเทศไทยตั้งแต่สมัยอดีตเรื่อยมาสถานภาพของสตรีไทย ไม่เป็นที่ยอมรับในสังคม สตรีมักถูกมองเป็นสิ่งที่ด้อยคุณค่า ไร้ความสามารถ ถูกกดขี่ ข่มเหง และกีดกัน ทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ และ การเมือง ไม่มีสิทธิ บทบาท ฐานะใดในทางสังคม ไม่ได้รับความเสมอภาคเท่าเทียมผู้ชาย ทั้งที่สตรีเองก็เป็นมนุษย์เช่นเดียวกันกับผู้ชาย และซึ่งสถานภาพความเป็นมนุษย์นั้นมีอยู่ในตัวของมนุษย์ทุกคน โดยไม่คำนึงถึง เพศ วัย สัญชาติ ศาสนา ทั้งยังเป็นสาระสำคัญตามธรรมชาติความเป็นมนุษย์ ที่ไม่อาจพราก หรือ ทำให้สูญเสียไปด้วยวิธีการใดๆ การไม่เคารพในสิทธิสตรี ตลอดจนการเลือกปฏิบัติต่อผู้เป็นสตรีนั้นแต่เดิมอาจเป็นเพราะสภาพสังคมสมัย โบราณที่มีการถือปฏิบัติสืบต่อกันมาโดยที่ผู้ชายจะมีความรับผิดชอบในฐานะที่ เป็นหัวหน้าครอบครัว เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้บทบาทของสตรีลดลง ในปัจจุบันนั้นสตรีเองก็ได้รับการศึกษาขั้นสูง มีความสามารถ และ มีบทบาทสำคัญอย่างมากทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ และ การเมืองทำให้สิทธิสตรีได้รับการพัฒนา ยอมรับ และคุ้มครองในด้านต่างๆมากมายหลายด้านตามมา
              ปัจจุบัน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทย พุทธศักราช 2540 อันเป็นบทกฎหมายหลักสูงสุดของประเทศ ได้มีการบัญญัติรับรองสิทธิสตรีไว้กล่าวคือ สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทยความเสมอภาค
มาตรา 30 บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตาม กฎหมายเท่าเทียมกันชาย และ หญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน
              การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ จะกระทำมิได้ มาตรการที่รัฐกำหนดขึ้นเพื่อขจัดอุปสรรคหรือส่งเสริมให้บุคคลสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่น ย่อมไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมตามวรรคสาม
สิทธิในกระบวนการยุติธรรม    
มาตรา 40 บุคคลย่อมมีสิทธิในกระบวนการยุติธรรมต่อไปนี้ ฯลฯเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ หรือผู้พิการหรือทุพพลภาพ ย่อมมีสิทธิได้รับความคุ้มครองในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีอย่างเหมาะสม และย่อมมีสิทธิได้รับการปฏิบัติที่เหมาะสมในคดีที่เกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศ
สิทธิในการได้รับบริการสาธารณสุขและสวัสดิการจากรัฐ
มาตรา 52 เด็กและเยาวชน มีสิทธิในการอยู่รอดและได้รับการพัฒนาด้านร่างกาย จิตใจ และสติปัญญา ตามศักยภาพในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนเป็นสำคัญ
เด็ก เยาวชน สตรี และบุคคลในครอบครัว มีสิทธิได้รับความคุ้มครองจากรัฐ ให้ปราศจากการใช้ความรุนแรง และการปฏิบัติอันไม่เป็นธรรม ทั้งมีสิทธิได้รับการบำบัดฟื้นฟูในกรณีที่มีเหตุดังกล่าว การแทรกแซงและการจำกัดสิทธิของเด็ก เยาวชน และบุคคลในครอบครัว จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแหงกฎหมาย เฉพาะเพื่อสงวนและรักษาไว้ซึ่งสถานะของครอบครัวหรือประโยชน์สูงสุดของบุคคลนั้นเด็กและเยาวชนซึ่งไม่มีผู้ดูแล มีสิทธิได้รับการเลี้ยงดูและการศึกษาอบรมที่เหมาะสมจากรัฐ
แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ
แนวนโยบายด้านศาสนา สังคม การสาธารณสุข การศึกษา และวัฒนธรรม
มาตรา 80 รัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบายด้านสังคม การสาธารณสุข การศึกษา และวัฒนธรรม ดังต่อไปนี้
           (1) คุ้มครองและพัฒนาเด็กและเยาวชน สนับสนุนการอบรมเลี้ยงดูและให้การศึกษาปฐมวัยส่งเสริมความเสมอภาคของหญิงและชาย เสริมสร้างและพัฒนาความเป็นปึกแผ่นของสถาบันครอบครัว และชุมชน รวมทั้งต้องสงเคราะห์และจัดสวัสดิการให้แก่ผู้สูงอายุ ผู้ยากไร้ ผู้พิการหรือทุพพลภาพและผู้อยู่ในสภาวะยากลำบาก ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและพึ่งพาตนเองได้ ฯลฯ
แนวนโยบายด้านเศรษฐกิจ
 “มาตรา 84 รัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจดังต่อไปนี้ ฯลฯ
ส่งเสริมให้ประชากรวัยทำงานมีงานทำ คุ้มครองแรงงานเด็กและสตรี จัดระบบแรงงานสัมพันธ์และระบบไตรภาคีที่ผู้ทำงานมีสิทธิเลือกผู้แทนของตน จัดระบบประกันสังคมรวมทั้งคุ้มครองให้ผู้ทำงานที่มีคุณค่าอย่างเดียวกันได้รับค่าตอบแทน สิทธิประโยชน์ และสวัสดิการที่เป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติฯลฯ
และในกฎหมายรัฐธรรมนูญยังได้กำหนดให้รัฐให้การสนับสนุนองค์กรภาคเอกชนที่ให้การช่วยเหลือทางกฎหมายโดยเฉพาะเรื่องความรุนแรงในครอบครัว รวมถึงบัญญัติไว้ในเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนต้องคำนึงถึงสัดส่วนของหญิงชายที่ใกล้เคียงกัน
นอกจากนี้ยังมีกฎหมายหลายฉบับที่ออกมาใช้บังคับเพื่อคุ้มครองสิทธิสตรีโดยเฉพาะ เช่นพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550”  ซึ่งแม้บทนิยามจะคุ้มครองบุคคลในครอบครัวทุกคน แต่ในแนวคิดก็คือ คุ้มครองผู้อ่อนด้อยทางกายภาพ ไม่ว่า เด็กหรือสตรี และกฎหมายบางฉบับก็ถูกออกแบบมา เพื่อให้สตรีมีทางออกในสภาพปัญหาต่างๆเพิ่มมากขึ้น เช่น พระราชบัญญัติชื่อบุคคล พ.ศ.2548 ให้สิทธิในการเลือกใช้นามสกุล หรือ พระราชบัญญัติคำนำหน้านามหญิง พ.ศ.2551 เปิดโอกาสให้ผู้หญิงเลือกใช้คำนำหน้านามว่า นางหรือ นางสาวก็ได้
         “ถึงแม้ว่าในปัจจุบันกฎหมายที่คุ้มครองด้านสิทธิสตรีจะมีอยู่มากมาย แต่ในปัจจุบันข่าวคราวเกี่ยวกับผู้หญิงที่ปรากฏในสื่อมวลชนแขนงต่างๆ ยังคงแสดงให้เห็นว่าผู้หญิงยังคงถูกทารุณกรรม เอารัดเอาเปรียบ ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ล้วนแต่เป็นปัญหาที่สะท้อนถึงรากฐานค่านิยมและทัศนคติของสังคมไทยยุคปัจจุบันที่มองผู้ชายเป็นใหญ่ไม่แตกต่างกับสังคมไทยในอดีตที่ผ่านมา คงจะไม่มีทางใดที่จะดีไปกว่าปลูกจิตใต้สำนึกให้คนเคารพและตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิสตรี ในฐานะที่เป็นผู้หญิงเป็นเพศแม่ที่จะทำให้มนุษยชาติดำรงเผ่าพันธุ์อยู่ต่อไปได้ และเป็นเพศที่มีความสำคัญไม่ต่างกับเพศชาย
ทุกวันนี้ผู้หญิงไทยได้พลิกผันบทบาทตัวเอง จากอดีตที่เคยอยู่กับเย้าเฝ้ากับเรือนเพื่อทำหน้าที่ของความเป็นภรรยาและแม่ในการดูแลสามีและลูกไม้ไม่ให้ขาดตกบกพร่อง แต่ในปัจจุบันทำหน้าที่แม่บ้านอย่างเดียว อาจทำให้ความเป็นอยู่ของสมาชิกในครอบครัวไม่สมบูรณ์นั่นคือ อาจส่งผลต่อความเป็นอยู่และความสะดวกสบายที่พึ่งจะได้รับตามสภาพของสังคมทั่วไป โดยเฉพาะการใช้ชีวิตในสังคมเมืองด้วยเหตุผลดังกล่าวผู้หญิงไทยในปัจจุบัน จึงต้องผันตัวเองไปทำงานเพื่อหาเงินช่วยครอบครัวอีกแรงในขณะเดียวกันเมื่อผู้หญิงมีบทบาทหน้าที่ ไม่ใช่เพียงดูแลความเป็นอยู่ของสมาชิกภายในครอบครัวเท่านั้น แต่ยังจะต้องทำอีกบทบาทเพื่อเพื่อหารายได้เข้าครอบครัวจึงส่งผลให้การทำหน้าที่ของภรรยาและแม่ลดลงซึ่งบางครั้งอาจไม่เป็นไปตามความคาดหวังของผู้ได้ชื่อสามีและสมาชิกภายในครอบครัวเข้าใจและการมีการช่วยเหลือแบ่งเบาภาระภายในบ้านซึ่งกันและกันก็จะไม่มีปัญหาและในทางตรงกันข้ามหากขาดความเข้าใจและมีความคาดหวังโดยไม่คำนึงถึงบทบาทหน้าที่แท้จริงของภรรยาแล้วอาจเกิดปัญหาขึ้นได้
อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าผู้หญิงจะสามารถทำได้ทั้งบทบาทการเป็นภรรยาหรือการเป็นมารดาแล้วแต่ทัศนคติค่านิยมที่หญิงไทยรับรู้เกี่ยวกับตนเองมักมองว่าเป็นบ่วงวัฒนธรรม ทำให้ชีวิตการทำงานนอกบ้านของผู้หญิงที่ต้องเผชิญกับความยุ่งยากนานัปการ อาทิเช่น การเรียกร้องเพื่อความก้าวหน้าการแสวงหาอำนาจ การพึ่งพา ซึ่งดูเหมือนจะเป็นค่านิยมที่ไม่อาจลบล้างไปจากความคิดได้ดังจะเห็นได้จากงานวิจัยที่พบว่าผู้หญิงทำงาน ได้ประเมินตัวเองในทางลบถึงบทบาทการเป็นแม่ที่ดีที่มีความรู้สึกผิดที่ไม่สามารถทำหน้าที่ได้สมบูรณ์แบบ และจากงานวิจัยในกลุ่มผู้บริหารหญิงไทยพบว่า ปัญหาที่พวกเธอให้ความสำคัญไม่ใช่ปัญหาทางเศรษฐกิจแต่เป็นเรื่องลูกและทัศนะที่แสดงออก บ่งบอกถึงค่านิยมดั้งเดิมของสตรีไทยที่ยังคงต้องการทำหน้าที่มารดาที่ดี ได้ดูแลลูก ให้ความสนใจแก่ลูกและเป็นแม่บ้านที่ดีและมีประเด็นที่น่าสนใจ คือหากครอบครัวมีส่วนช่วยส่งเสริมเรื่องงานโดยเฉพาะสามีมีส่วนช่วยเหลือแบ่งเบาภาระงานบ้านและให้กำลังใจแก่ภรรยาจะทำให้หญิงมีโอกาสก้าวหน้าในหน้าที่การงาน
          บนกระแสของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเป็นอย่างมากผู้หญิงต้องช่วยแบ่งเบาภาระทางครอบครัว ทั้งทำมาหากิน เป็นแม่ที่ดี และเป็นภรรยาที่ดีของสามี ในการรับบทบาททางสังคมอันมากมายเช่นนี้ ย่อมมีช่องว่างที่ทำให้ผู้หญิงถูกเอารัดเอาเปรียบ ทั้งจากทางครอบครัวและสังคม ความรุนแรงต่อสตรีปัจจุบันนับว่าเป็นปัญหาหนึ่งของสังคมที่สำคัญของสังคมไทยเลยที่เดียว ส่วนหนึ่งของความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับสตรีนั้นเกิดจากคนในครอบครัวที่เป็นผู้ทำร้าย ทั้งจิตใจก็ดีหรือแม้แต่ร่างกายก็ดี และส่วนหนึ่งของความรุนแรงต่อสตรีเกิดมาจากสังคม เช่น ในที่ทำงาน เป็นต้น
           ปัจจุบันปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิง เป็นปัญหาร่วมกันของผู้หญิงทั่วโลก และได้รับการยอมรับว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้หญิง โดยเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๗ องค์การสหประชาชาติ ได้ออกคำประกาศเพื่อยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง โดยได้ให้นิยามความหมาย"ความรุนแรงต่อผู้หญิง" หมายถึง การใช้ความรุนแรงใด ๆ อันสืบเนื่องมาจากแตกต่างระหว่างหญิงชาย ซึ่งมีผลหรือมักจะมีผล ทำให้เกิดอันตรายหรือความเดือนร้อน ทางกาย ทางเพศ หรือทางจิตใจต่อผู้หญิง ซึ่งความรุนแรงต่อผู้หญิงนั้นเกิดขึ้นได้ในทุกมิติของสังคม ทั้งในครอบครัว ในชุมชน สถานที่ทำงานและสถาบันการศึกษา
           ที่ผ่านมา ความพยายามในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิงทั้งในระดับสากลและระดับประเทศ ได้มีการสร้างมาตรการทางสังคม เช่น การรณรงค์สร้างสรรค์เข้าใจกับสังคม เพื่อตระหนักถึงปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิง และมาตรการทางกฎหมาย เช่น การบัญญัติกฎหมาย ปรับปรุงกฎหมาย เพิ่มบทลงโทษกับผู้กระทำความรุนแรงต่อผู้หญิงในหลายรูปแบบองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านผู้หญิงได้มองเห็นความสำคัญของการออกกฎหมาย และการแก้ไขกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิ และสร้างเสริมความเสมอภาคของหญิงชาย จึงได้ใช้แนวทางแก้ไขกฎหมายเป็นแนวทางหนึ่งในการยุติปัญหาความรุนแรง ควบคู่กับมาตรการทางสังคม จากการทำงานขององค์กรพัฒนาเอกชน ในการทำงานให้ความช่วยเหลือผู้หญิงที่ประสบปัญหา พบว่า ผู้หญิงจำนวนมากได้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวโดยสามี ความรุนแรงที่ผู้หญิงถูกกระทำนั้น ครอบคลุมทั้งความรุนแรงทางร่างกายและทางเพศจากงานวิจัย "ความรุนแรงในชีวิตคู่กับสุขภาพผู้หญิง" ซึ่งศึกษาโดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล และมูลนิธิผู้หญิงร่วมกับองค์กรอนามัยโลก พบว่า หนึ่งในสามของผู้หญิงถูกกระทำรุนแรงทางเพศ รวมถึงถูกบังคับให้มีเพศสัมพันธ์โดยใช้กำลัง และหญิงที่เคยถูกกระทำรุนแรงทั้งทางกายและทางเพศ เคยคิดฆ่าตัวตายสูง รวมทั้งมีการใช้ยานอนหลับและยาแก้ปวดสูงกว่าผู้หญิงที่ถูกกระทำรุนแรง และจากการทำงานช่วยเหลือผู้หญิงที่ประสบปัญหาของมูลนิธิเพื่อนหญิง อันเนื่องมาจากการถูกคุกคามจากภัยทางเพศ สามีทอดทิ้ง ทำร้ายทุบตี (ม.ค. - ก.ย. ๒๕๔๕) มีผู้มาใช้บริการ ๖๔๓ ราย สะท้อนให้เห็นถึงความรุนแรงยังเป็นที่ปรากฏ
             ดังนั้นปัญหาสามีข่มขืนภรรยา จึงเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อตัวตนและจิตใจของผู้หญิงอย่างใหญ่หลวง แต่ปัญหาสามีข่มขืนภรรยานี้กลับไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๖ บัญญัติว่า "ผู้ใดข่มขืนกระทำชำเราหญิง ซึ่งมิใช่ภรรยาตน โดยขู่เข็ญด้วยประการใดๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย... โดยหญิงอยู่ในภาระที่ไม่สามารถขัดขืนได้ หรือโดยทำให้หญิงเข้าใจผิดว่าคนเป็นบุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่แปดพันบาทถึงสี่หมื่นบาท"กฎหมายนี้สะท้อนถึงการมอบสิทธิให้สามีข่มขืนภรรยาของตนโดยไม่ผิดกฎหมาย ซึ่งมีแนวคิดในการบัญญัติกฎหมายว่า "ภรรยาเป็นวิญญาณทรัพย์ของสามี " (หมายถึง ทรัพย์ที่มีชีวิตของสามี) โดยมิได้คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และการเป็นเจ้าของชีวิต และเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิง
การบัญญัติกฎหมายในลักษณะเช่นนี้ เท่ากับเป็นการให้สิทธิพิเศษแก่สามี ในการกระทำความรุนแรงทางเพศต่อภรรยา โดยใช้การขู่เข็ญหรือการใช้กำลังประทุษร้ายบังคับ แม้ภรรยาจะไม่เต็มใจก็ตามสะท้อนให้เห็นถึงการใช้มุมมองของผู้ชายเป็นหลัก ในการบัญญัติกฎหมาย โดยมีพื้นฐานแนวคิดที่ว่า ผู้หญิงที่แต่งงานแล้วต้องตกเป็นสมบัติของสามี ดังนั้นสามีจะกระทำการใด ๆ ทั้งทางกายหรือทางเพศก็ได้
ปัจจุบันสถานการณ์สังคมที่เปลี่ยนไปมาก บทบัญญัติดังกล่าวไม่อาจคุ้มครองผู้เสียหายได้ทุกกลุ่ม เช่น ผู้หญิงซึ่งเป็นภรรยา เด็กชาย หรือ ชายที่แปลงเพศเป็นหญิง เป็นต้น บุคคลดังกล่าวยังขาดโอกาสในการที่จะได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายอาญาทั้งที่ผู้เสียหายถูกล่วงละเมิดทางเพศ ในลักษณะที่ใกล้เคียงกับการข่มขืนกระทำชำเรา
              ความเคลื่อนไหว ด้วยเหตุนี้ จึงได้เกิดความพยายามจากหลายฝ่าย ในการแก้ไขปัญหากฎหมายอาญาในฐานความผิดทางเพศในปี ๒๕๓๘ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานศึกษา และเสนอแนะการดำเนินงานเกี่ยวกับวิธีการพิจารณาความผิดทางเพศ (ดร.สายสุรี จุติกุล) เป็นประธาน มีข้อเสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาในมาตราต่าง ๆ ดังนี้
1. เพิ่มบทนิยามคำว่า "กระทำชำเรา"
2. แก้ไขปรับปรุง มาตรา ๒๗๖ และมาตรา ๒๗๗ ขยายขอบเขตฐานความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา ให้คุ้มครอง ผู้หญิงที่เป็นภรรยาโดยชอบของผู้กระทำ รวมถึงการกระทำแก่ชายและเด็กชายด้วย
3. เพิ่มโทษแก่ผู้กระทำให้ปรากฏภาพและเสียงของเด็กในสื่อลามก ตลอดจนลงโทษผู้มีสื่อลามกไว้ในครอบครอง พร้อมทั้งได้เสนอให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพื่อคุ้มครองเด็กด้วย (ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้ผ่านการพิจารณาของรัฐสภา บังคับใช้เป็นกฎหมายได้ใน พ.ศ. ๒๕๔๒)
ส่วนร่างพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลกฎหมายอาญานั้น คณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานสตรีแห่งชาติ (กสส.) ได้ส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๐ (ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการให้มีการปรับแก้ไขร่างประมวลกฎหมายอาญา) โดยได้จัดทำร่างแก้ไขกฎหมายเพิ่มเติมนิยามคำว่าข่มขืนและเสนอแก้ไขมาตรา ๒๗๖ เป็น "ผู้ใดข่มขืนกระชำเรา ผู้อื่น" เพื่อคุ้มครองผู้หญิง ซึ่งมีสถานะเป็นภรรยาให้ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย รวมถึงกรณีการกระทำต่อเด็กชายและผู้ชายเมื่อร่างกฎหมายดังกล่าว ผ่านเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ทางคณะกรรมการกฤษฎีกา มีมติไม่เห็นด้วยกับร่างแก้ไขกฎหมายดังกล่าว และเสนอร่างกฎหมายขึ้นมาใหม่ โดยให้คงข้อความเดิมที่ระบุว่า " ผู้ใดข่มขืนกระทำชำเราหญิงซึ่งมิใช่ภรรยาของตน .." และให้เพิ่มประเด็นการคุ้มครองหญิงที่เป็นภรรยาในมาตรา ๒๗๖ ทวิ โดยให้ความคุ้มครองการข่มขืนภรรยาสองกรณีเท่านั้นคือ การข่มขืนในขณะที่มีสามีเป็นโรคติดต่อทางเพศอย่างร้ายแรงอาจเป็นภัยแก่อีกฝ่าย หรือเป็นการข่มขืนในขณะที่แยกกันอยู่ โดยความสมัครใจของทั้งสองฝ่าย หรือแยกกันอยู่ตามคำสั่งศาลร่างแก้ไขของคณะกรรมการกฤษฎีกา มาตรา ๒๗๖ คงเดิมเพิ่มมาตรา ๒๗๖ ทวิ
" ถ้าการกระทำตามมาตรา ๒๗๖ วรรคแรก เป็นการกระทำแก่หญิงซึ่งเป็นภริยาของผู้กระทำ และกระทำในขณะที่ตนเป็นโรคติดต่อทางเพศอย่างร้ายแรงอันอาจเป็นภัยแก่อีกฝ่าย หรือได้กระทำในขณะที่แยกกันอยู่โดยความสมัครใจของทั้งสองฝ่ายด้วยสาเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันได้โดยปกติสุข หรือแยกกันอยู่ตามคำสั่งของศาลผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงสามแสนบาท"

แนวร่วมเพื่อความก้าวหน้าของผู้หญิง ซึ่งเกิดขึ้นจากเวทีสัมมนาขบวนยุทธ์หญิงไทยในศตวรรษที่ ๒๑ ในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๔๓ จากองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านผู้หญิง ได้ร่วมกันก่อตั้งขึ้นมาเพื่อปรับยุทธศาสตร์การทำงานให้ทันต่อสถานการณ์ โดยมีองค์กรประสานงานกลางเครือข่ายแนวร่วมเพื่อความก้าวหน้าของผู้หญิง อยู่ที่มูลนิธิผู้หญิง เห็นว่า การคุ้มครองเฉพาะเหตุดังกล่าวเพียงสองประการนั้นยังไม่เพียงพอเป็นการขัดกับเจตนารมณ์ ในกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่เป็นความเสมอภาคในการได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย (มาตรา ๓๐) ให้สิทธิเสรีภาพของบุคคลในชีวิตและร่างกาย (มาตรา ๓๑) ตลอดจนให้ความคุ้มครองแก่เด็ก และบุคคลในครอบครัวจากการทารุณกรรมต่าง ๆ (มาตรา ๕๓)
ดังนั้นแนวร่วมเพื่อความก้าวหน้าของผู้หญิง จังได้รณรงค์ให้รัฐบาลส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน อันได้แก่ สิทธิในร่างกายของตน โดยการแก้ไข กฎหมายอาญามาตรา ๒๗๖ โดยให้ตัดวลี "ซึ่งมิใช่ภรรยาของตน" แก้ไขเป็น " ผู้ใดข่มขืนกระทำชำเราหญิงโดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ ..." เพื่อให้หญิงทุกคนได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายที่เท่าเทียมกัน
กระบวนการรณรงค์ใน มาตรา ๒๗๖แนวร่วมเพื่อความก้าวหน้าของผู้หญิง ได้เปิดประเด็นให้เกิดการแก้ไขกฎหมายอาญา ฐานความผิดทางเพศมาตรา ๒๗๖ ในระยะเริ่มต้นเมื่อวันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๔๕ และได้ประสานงานหน่วยงานภาครัฐคือ สถาบันกฎหมายอาญา สำนักงานอัยการสูงสุด และกลุ่มองค์กรที่ทำงานด้านผู้หญิง เช่น เครือข่ายผู้หญิงกับรัฐธรรมนูญ ฯลฯ รณรงค์ยกเลิกสิทธิที่ให้สามีข่มขืนภรรยา ร่วมแก้ไปกฎหมายอาญามาตรา ๒๗๖ ในพื้นที่ต่าง ๆ โดยได้มีการจัดเวทีสัมมนาทั่วประเทศ ๑๓ ครั้ง ในประเด็น " สังคมไทยพร้อมเพียงใดในการแก้ไขกฎหมายอาญา ( มาตรา ๒๗๖ ) ในฐานความผิดทางเพศ " เพื่อเป็นการรับฟังความเห็นจากภาคประชาสังคมทั้งหญิงและชาย
สรุปผลการเวทีสัมมนา ประสบการณ์เกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศในระดับครอบครัว (ทิชา ณ นคร : เครือข่ายผู้หญิงกับรัฐธรรมนูญ หนังสือพิมพ์มติชน ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๕ หน้า ๑๔ ) ดังตัวอย่างที่พบจากเวทีแลกเปลี่ยน
 - สามีตบตีภรรยาก่อนร่วมเพศ ภรรยาไม่กล้าร้องเพราะอายลูก บางครั้งสามีเมาภรรยาแอบไปพักกับเพื่อนบ้าน แต่สามีกลับพูดว่าภรรยามีชู้
- สามีติดยา เล่นการพนัน เที่ยวและเปลี่ยนคู่นอนจนภรรยากลัวติดโรค แต่ถูกบังคับขืนใจร่วมหลับนอนอยากเลิกกับสามี เคยบอกแม่ แม่บอกว่าช่างมันเถอะทนเอาเราเป็นภรรยา เป็นลูกหญิง
- สามีภรรยาสองคู่ได้แลกเปลี่ยนภรรยาหลับนอนกัน โดยผู้ชายตกลงกันเอง ฝ่ายภรรยาไม่เต็มใจแต่ไม่มีทางเลือก
- สามีข่มขืนร่วมหลับนอนโดยไม่เลือกเวลา ทำให้ท้อใจอยากหย่า แต่กลัวลูกได้รับผลกระทบไม่รู้จะทำอย่างไรก็ต้องทน
- สามีทุบตีภรรยาก่อนร่วมหลับนอนและบางครั้งบังคับให้หลับนอนให้คนอื่นดูภรรยาอายแต่ไม่กล้าบอกใคร
- สามีบังคับให้อยู่แต่บ้านและให้ทำงานทุกอย่าง แต่ตัวเองไปมีภรรยาน้อยเวลากลับมาบ้านจะบังคับข่มขืนภรรยา ไม่ว่าจะทำอะไรอยู่ก็จะให้หยุดทำ
- สามีมีเชื้อซิฟิลิสนำมาติดภรรยา แพทย์ให้ไปรักษาไม่ยอมไป ภรรยาไม่อยากร่วมแต่ถูกทำร้ายทุบตี ขอหย่าก็ไม่ยอมหย่า
- ภรรยาและสามีเลิกรากันไปแล้ว แต่ไม่ได้หย่าขาดจากกันเมื่อมีโอกาสสามีจะข่มขืนภรรยา โดยอ้างสิทธิในการเป็นสามี เมื่อไม่ยินยอมก็ใช้กำลังทำร้าย เมื่อขึ้นโรงพักก็ไม่สามารถเอาผิดสามีได้เพราะมีทะเบียนสมรสและต่อมาภรรยาคนนี้ฆ่าตัวตาย
ผลสรุปจากการสัมมนาในทุกภูมิภาค คือ ต้องการให้แก้ไขกฎหมายอาญามาตรา ๒๗๖ ให้คุ้มครองผู้หญิงที่เป็น ภรรยา เด็กชาย ผู้ชาย และบุคคลทุกเพศทุกวัย และให้แก้ไขนิยาม " ข่มขืนกระทำชำเรา " ที่ยึดตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกา ๑๖๔๔/๒๕๓๒ ที่ระบุว่า" การใช้อวัยวะเพศชายล่วงล้ำเข้าไปในช่วงสังวาสหรืออวัยวะสืบพันธุ์ของหญิง " เนื่องจากไม่ครอบคลุมการละเมิดทางเพศตามความเป็นจริงในปัจจุบัน
นอกจากนี้ แนวร่วมเพื่อความก้าวหน้าของผู้หญิงยังได้ดำเนินการรณรงค์ล่ารายชื่อ (๕๐,๐๐๐ ชื่อ) และผลักดันให้เกิดการแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๖ โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เป็นภารกิจที่สำคัญที่ต้องทำให้หลักการ เรื่องสิทธิเสรีภาพในชีวิตของประชาชนทุกคนในสังคม จะได้รับการคุ้มครองสมกับเจตนารมณ์ในรัฐธรรมนูญ

 ขณะเดียวกันหน่วยงานภาครัฐ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ก็ได้มีการตื่นตัวและรณรงค์เรื่องการยุติความรุนแรงต่อสตรีและเด็ก เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกให้คนไทยตระหนักถึงปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันข้อความที่ใช้ในการรณรงค์คือ " ปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องผู้หญิงต้องเรียกร้อง แต่เป็นเรื่องที่ผู้ชายต้องบอกผู้ชาย ให้มาช่วยกันยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ถือเป็นพันธสัญญาที่ผู้ชายจะมีให้แก่กัน" นอกจากนี้สำนักงานกิจการสตรีและครอบครัว กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้จัดเวทีสัมมนา เรื่อง "การใช้กฎหมายเพื่อขจัดความรุนแรงในครอบครัว" เมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๕ (เดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี) เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนหาข้อเสนอแนะเกี่ยวกับ ร่าง พ.ร.บ. ขจัดความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550

แนวโน้มสถานภาพและบทบาทของสตรีไทยในอนาคต จากลำดับความเป็นมาของค่านิยมของสังคมไทยต่อผู้หญิง แสดงให้เห็นว่าสังคมไทยยังคงมีค่านิยมและทัศนคติเชิงซ้อนต่อผู้หญิงแม้ว่าในบางเรื่องจะได้มีการปรับเปลี่ยนมุมมองและแนวคิด แต่บ้างสถานภาพของผู้หญิงก็ยังไม่เสมอภาคเท่าเทียมกับชาย อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับทัศนคติและค่านิยมของสังคมต่อผู้หญิงในสังคมอื่นแล้ว สถานภาพและบทบาทของผู้หญิงไทยจะดีกว่าในบางประเทศโดยในแถบเอเชียด้วยกัน คนในสังคมส่วนใหญ่เพิ่มความสำคัญของความเสมอภาคทางเพศของหญิงและชาย แนวโน้มบทบาทของผู้หญิงไทยในอนาคต มีแนวโน้มว่าจะได้รับการพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นจากปัจจัยต่างๆ ดังนี้คือ
 (1) ปัจจัยทางการเมือง การปกครอง ปัจจุบันผู้หญิงไทยได้รับบทบาทในทางการเมือง เช่น เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นสมาชิดวุฒิสภา เป็นสมาชิกหรือเป็นตัวแทนในระดับท้องถิ่นเป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นสมาชิกสภาเทศบาล เป็นนายกเทศมนตรี ในกรุงเทพมหานคร เป็นสมาชิกสภาเขต เป็นต้น เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และในอดีตเคยมีผู้หญิงเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เช่น คุณหญิงเลอศักดิ์ สมบัติศิริ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทบวงมหาวิทยาลัย เช่น นางวิมลศิริ ชำนาญเวช และนโยบายของพรรคการเมือง หัวหน้าพรรคก็มีนโยบายในการที่จะพัฒนาและยกสถานภาพและบทบาทของผู้หญิงให้ดีขึ้น และนอกจากนั้น ผู้หญิงในวงราชการก็ได้รับการเลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่งในระดับสูงในกระทรวงมหาดไทย เป็นตำแหน่งระดับสูงในกระทรวงมหาดไทย เป็นตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด ในกระทรวงกลาโหม ผู้หญิงได้รับระดับนายพล เป็นต้น
 (2) ปัจจัยทางสังคม ได้แก่
- การเคลื่อนไหวของนักสิทธิสตรีในแนวคิดสตรีนิยม(feminst)ในประเทศต่างๆ รวมทั้งในประเทศไทยทำให้คนในสังคมมีความตื่นเต้นเกี่ยวกับเรื่องของสิทธิและความเสมอภาคของผู้หญิงเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งความพยายามของนักวิชาการหลายๆฝ่ายที่ทำการศึกษาวิจัย เสนอข้อคิดในเรื่องความไม่เสมอภาคของผู้ชายและผู้หญิงในสังคมได้รับรู้
- การตระหนักในสิทธิของตนเองและสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ทำให้การเรียกร้องในเรื่องความไม่เสมอภาคในด้านต่างๆ เช่น ค่าจ้างแรงงาน การประกอบอาชีพ สิ่งแวดล้อม รวมทั้งเรื่องสิทธิของผู้หญิงด้าย
- การได้รับการศึกษาเพิ่มขึ้นของผู้หญิงไทยทำให้ผู้หญิงได้ตระหนักในการดูแลตนเองและตระหักถึงข้อจำกัดความสามารถของผู้หญิง และเพิ่มโอกาสทางการศึกษา ทำให้ผู้หญิงได้รับการยอมรับเพิ่มมากขึ้น
- การรับรู้ข่าวสารทางสังคมเพิ่มมากขึ้นจากสื่อมวลชนประเภทต่างๆ ทำให้คนในสังคมได้รับรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นเพิ่มมากขึ้นเป็นปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ปัญหาครอบครัวแตกแยก ปัญหาความไม่รับผิดชอบ ปัญหาของสามีต่อภรรยาหรือพ่อแม่ของลูก การทำทารุณเด็กและผู้หญิง การคุกคามทางเพศ(sexual harassment) ต่อผู้หญิงในรูปแบบต่างๆ ทำให้ปัญหาของผู้หญิงและเด็กเป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวาง เกิดความเข้าใจและความรับผิดชอบที่จะช่วยเหลือดูแลซึ่งกันและกันเพิ่มมากขึ้น
(3) หน่วยงานที่รับผิดชอบให้ความช่วยเหลือกับผู้หญิงทั้งหน่วยงานรัฐบาลและองค์ดรเอกชนได้ให้ความสำคัญและเล็งเห็นถึงปัญหาในเรื่องนี้ ก็ได้มีการปฏิบัติงานประสานความร่วมมือดีขึ้นกว่าอดีตที่ผ่านมา
จากปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้นเชื่อว่า แนวโน้มสถานภาพและบทบาทของผู้หญิงไทยน่าจะดีขึ้น ผู้หญิงไทยจะมีโอกาสที่จะได้รับการยอมรับเพิ่มมากขึ้นมีโอกาสในเรื่องต่างๆ เพิ่มขึ้น เช่น โอกาสทางการศึกษา อาชีพ รายได้ ที่เสมอภาคเท่าเทียมกับผู้ชาย รวมทั้งแนวโน้มที่จะมีการปรับปรุงตัวบทกฎหมายบางฉบับ โดยเฉพาะในเรื่องของกฎหมายครอบครัวที่จะให้โอกาสของผู้หญิงได้ดูแลตัวเองเพิ่มมากขึ้น ปัจจัยต่างๆ ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จะทำให้ปัญหาความไม่เสมอภาคลดน้อยลง และจะทำให้สถาบันครอบครัวเข้มแข็งขึ้น และเป็นสถาบันที่มีความหมาย และมีความสำคัญต่อมนุษยชาติต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด




1 ความคิดเห็น: